26 พ.ค.2558 ที่ศาลหลักเมืองซึ่งอยู่ใกล้กับศาลทหาร นักศึกษากว่า 20 คนยืนรอมอบมาลัยและภาพวาดเพื่อแสดงมุทิตาจิตและให้กำลังใจ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานนัดแรกที่ศาลทหาร คดีขัดคำสั่งเรียกรายงานตัวของคสช. เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารไม่อนุญาตให้กลุ่มนักศึกษาเข้าไปรอบริเวณศาลทหาร
ภาพนักศึกษามอบมาลัยและภาพวาดเพื่อแสดงมุทิตาจิตและให้กำลังใจ วรเจตน์
ประชาไทคุยกับ คงสัจจา สุวรรณเพ็ชร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในนักศึกษาที่ร่วมกิจกรรมนี้ถึงเหตุผลเบื้องหลังกิจกรรมและมุมมองของเขาต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
กิจกรรมวันนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
คงสัจจา : เป็นการรวมตัวของนักเรียนนิติศาสตร์ชั้นปีที่4 เป็นหลัก เราอยากแสดงมุทิตาจิต ไปรับอาจารย์ที่ศาล ไปให้กำลังใจอาจารย์ที่ศาล เป็นความตั้งใจในฐานะที่เป็นปีสุดท้ายที่ได้เรียนในคณะนี้ มีนักศึกษาปริญญาตรีประมาณ 20 กว่าคน และนักศึกษาปริญญาโทที่เคยเรียนกับอาจารย์อีกจำนวนหนึ่ง
พวกเราเดินทางมาจากรังสิตตั้งแต่ 7 โมงเช้า และรออยู่ที่ศาลหลักเมืองจนอาจารย์ได้ออกมาช่วงใกล้เที่ยง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารไม่อนุญาตให้กลุ่มนักศึกษาเข้าไปใกล้บริเวณศาลทหาร
ไม่กลัวจะถูกเพ่งเล็งว่าเป็นนักศึกษาที่มาเคลื่อนไหวต่อต้านทหารหรือ ?
ไม่กลัว ผมคิดว่าผมทำในสิ่งที่ถูกต้อง
เคยเรียนกับอาจารย์ไหม ?
เคยเรียนกับอาจารย์ในวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง และนิติปรัชญา
มองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับอาจารย์อย่างไร ?
มองว่าอาจารย์มีเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็น ในฐานะที่อาจารย์เป็นนักวิชาการ สังคมจะเดินหน้าต่อไปได้ นักวิชาการเป็นกลไกสำคัญ เมื่อเรามีการวิพากษ์วิจารณ์ อะไรดีอะไรไม่ดี เราจะได้แก้ไขสิ่งที่ไม่ดีได้ ฉะนั้น มันน่าจะมีกลไกอะไรบางอย่างที่คุ้มครองอาจารย์ได้มากกว่านี้ มีความคุ้มกันบางอย่างมากกว่านี้
หมายถึงมหาวิทยาลัย ?
ไม่ว่ามหาวิทยาลัยหรือภาครัฐก็ตามต้องเคารพเสรีภาพตรงนี้ให้มากกว่านี้ สิ่งที่เป็นอยู่นี้ โอเค อาจจะบอกว่าอาจารย์ขัดคำสั่ง ไม่มารายงานตัว แต่อีกทางหนึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่อาจารย์ต้องไปขึ้นศาลทหาร มันเป็นแรงกดดันอีกทางหนึ่งที่ทำให้อาจารย์ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่
โดยกระแสภาพรวมของนักศึกษานิติศาสตร์ พวกเขาคิดอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับวรเจตน์ ?
จริงๆ ก็เหมือนสังคมไทยทั่วไป มีทั้งที่ชอบและไม่ชอบอาจารย์วรเจตน์ แต่เราต่างกับสังคมทั่วไปนิดหนึ่งคือ เราได้เรียน ได้สัมผัสกับอาจารย์วรเจตน์ บางคนครอบครัวบอกเลยว่าอย่าไปเรียนใน sec พวกนิติราษฎร์ บางคนก็รับไม่ได้ก็มี แต่สำหรับคนที่ลองเรียนจริงๆ จะรู้เลยว่า อาจารย์ไม่ได้ยัดเยียดความคิดอย่างที่คนอื่นว่ากัน อาจารย์สอนตามหลักการทุกอย่าง ท่านเป็นนักวิชาการที่เสมอต้นเสมอปลายมากๆ
อาจารย์สอนสนุกไหม เถียง ไม่เห็นด้วยได้ไหม ถ้าเห็นต่างกับอาจารย์จะสอบตกไหม ?
อาจารย์พูดเสมอว่าไม่ต้องเชื่อที่ผมพูด แต่เมื่อคุณเติบโตขึ้น ไปค้นคว้าเพิ่มจะเห็นต่างจากผมก็ได้ ถ้านักศึกษาไม่เข้าใจหรือคนในสังคมไม่เข้าใจ ท่านจะอธิบายจนกว่าจะเข้าใจ อาจารย์ไม่เคยเหนื่อยกับการอธิบายให้กับนักศึกษาหรือคนภายนอกเข้าใจสิ่งที่อาจารย์จะสื่อ
ภาพนักศึกษามอบมาลัยและภาพวาดเพื่อแสดงมุทิตาจิตและให้กำลังใจ วรเจตน์
ในฐานะนักเรียนกฎหมายมีความหวังไหมกับระบบกฎหมาย การใช้กฎหมายของประเทศนี้?
(นิ่งไปครู่หนึ่ง) มีความหวังนะ ผมคิดว่าสังคมกว่ามันจะมาถึงจุดที่พัฒนา มันต้องผ่านอะไรมาก่อน สังคมไทยก็เหมือนกัน คงต้องมีจุดเปลี่ยนผ่านและการเรียนรู้ ตอนนี้สังคมอาจจะยังไม่เข้าใจว่าการปกครองด้วยกฎหมายมันดียังไง แต่วันหนึ่งถ้าเราเห็นภัย เราตระหนักถึงภัยของการใช้อำนาจอยู่เหนือกฎหมาย ถ้าเราประสบภัยเมื่อไรเราก็จะเข้าใจเมื่อนั้น
ตอนนี้เราประสบภัยรึยัง ?
จริงๆ เราก็ประสบแล้ว แต่บางคนเขาอาจกระทบน้อย ไม่ว่าสถานะทางการเงิน สถานะทางสังคมทำให้เขาไม่กระทบมาก แต่ประชาชนจำนวนหนึ่งที่มีผลกระทบโดยตรงกับเศรษฐกิจและการกินอยู่ ผมว่าเขารู้ดีว่ามันเป็นยังไง
คิดยังไงกับธรรมศาสตร์ ?
คือต้องแยกตัวบุคคลกับสถาบันออกจากกัน ตอนที่ผมเข้ามาผมก็มีอุดมการณ์บางอย่าง ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่ ผมไม่คิดว่าธรรมศาสตร์มันตายแล้วนะ มันยังมีอีกหลายคนที่เข้ามาแล้วอยากให้มันมีชีวิตชีวา ส่วนผู้บริหารหรือใครที่ทำอะไรผิดไปจากเดิม มันเป็นเรื่องตัวบุคคล
สภาพตอนนี้มันผิดไปจากที่คาดหวังไหม?
พูดตรงๆ ก็ผิดหวังเล็กน้อย เพราะคนที่ออกมาเคลื่อนไหว แสดงความคิดเห็นทางการเมืองก็เป็นส่วนน้อย ไม่ใช่คนส่วนใหญ่