เวทีสัมนากฎหมายลูก ระอุปมกฏหมาย กกต. ‘มีชัย’ ระบุทำงานอย่างหนักไม่มีเวลาคิดฟุ้งซ่าน ยันร่างกฎหมายลูก ยึดตามร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ได้กลั่นแกล้งใคร ด้าน กกต. ‘สมชัย’ หวังเวทีวันนี้ไม่ใช่แค่พิธีกรรม ซัดแรง “คนเกิดก่อน ร่างกฎหมายมาหลายฉบับ ไม่ได้แปลว่าเก่งกว่า”
16 พ.ย. 2559 ที่รัฐสภา คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้จัดงานสัมนา “การรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมด้วนว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.” โดย มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้กล่าวถึงการร่างกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า กรธ. ไม่ได้แก้ไขหรือแตะต้องคุณสมบัติ หรือลักษณะต้องห้ามใดๆ อย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจผิดว่า กรธ. กลั่นแกล้ง ทั้งที่เรื่องคุณสมบัติคณะกรรมการ กรธ. ได้คัดลอกมาจากเนื้อหาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ แต่กลับมีคนเข้าใจผิดคิดว่า กรธ. เขียนต่างไปจากกฎหมายแม่ เพื่อต้องการกลั่นแกล้งกัน
มีชัยกล่าวต่อไปว่า คุณสมบัติไม่ว่าของ กกต. หรือองค์กรอิสระอื่น กรธ. เข้าใจว่า กรรมการเหล่านี้มีที่มาตามรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ขณะที่ กรธ. ได้กำหนดคุณสมบัติใหม่ขึ้นมา อาจทำให้หลายคนหงุดหงิดอยากให้ กรธ. ชี้ขาด แต่ กรธ. ทำไม่ได้ เพราะผู้ที่จะทำหน้าที่ชี้ขาดเรื่องนี้คือ คณะกรรมการสรรหา ขณะที่หลายคนอยากให้ผ่อนปรนเรื่องคุณสมบัติกรรมการองค์กรอิสระ ซึ่งกรธ. ได้ผ่อนปรนเอาไว้ในบางส่วนคือ สนช. ที่จำเป็นต้องทำหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะเลือกตั้งเสร็จ มีทั้งเรื่องที่ยกเว้นและไม่ยกเว้นให้ ถ้าไม่มีเหตุผลพอ เช่น ยกเว้นให้ สนช. ที่เป็นเจ้าของกิจการได้ แต่ในกรณีที่ถือหุ้นในกิจการที่เกี่ยวข้องกับสัมปทานรัฐ เราก็ไม่ผ้อนให้ เพื่อเป็นมาตราฐานเดียวกับ ส.ส. แต่ทั้งนี้ผู้ชี้ขาดคือ ศาลรัฐธรรมนูญ สนช. ต้องยื่นถามเรื่องนี้ด้วยตัวเอง ส่วนกรรมการสรรหาที่ลงคะแนนกัน 30 รอบ ไม่ควรเกิดขึ้นอีก เลือกกัน 2-3 รอบควรพอได้แล้ว และหากถูกสภาปฏิเสธ ก็ไม่ควรถูกเสนอเข้ามาอีก เหมือนอย่างการเลือกตรวจการแผ่นดินของ สนช.
“กรธ. ไม่เคยคิดฟุ้งเฟ้อเพ้อเจ้อตามอารมณ์ เราเขียนกฎหมายลูกให้สอดคล้องไปตามหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงการรปฏิรูป ขจัดการทุจริตอย่างจริงจังด้วยการลงโทษอย่างรุนแรง จนทำให้บางท่านที่ตามไม่ทันรับไม่ได้ คิดว่าเป็นการกลั่นแกล้งเฉพาะตัว แต่ยืนยันว่า ข้อกำหนดที่ใช้กับ กกต. ก็จะนำไปใช้กับองค์กรอิสระอื่น รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญด้วย แต่ก็ต้องขึ้นกับรายละเอียดที่แตกต่างกัน มันจึงอาจเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ เพราะกฎหมาย กกต. เกี่ยวกับการเลือกตั้งจึงต้องออกมาก่อน กรธ. ทำงานกันอย่างหนัก ไม่มีเวลาว่างคิดฟุ้งซ่าน” มีชัย กล่าว
กรธ. ยันนวัตกรรมใหม่ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ช่วยจัดการปัญหาการทุจริตเลือกตั้งได้
มีชัย กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่อง กกต.จังหวัด ได้ฟังความเห็นมาแล้วพบว่า มีไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ ที่ กกต.จังหวัดไว้ใจได้ และปัญหามักเกิดมาจาก กกต.จังหวัด ที่ให้เหตุผลว่าต้องดูแลเลือกตั้งท้องถิ่น ก็พบว่า ทำหน้าที่มอบหมายให้ส่วนท้องถิ่นไปจัดการเลือกตั้ง จับการทุจริตไม่ได้สมกับเรื่องเล่าลือ กำนันเงินหมื่น อบต.เงินแสน ประสิทธิภาพการทำหน้าที่กกต.จังหวัดไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด กรธ.จึงเสนอผู้ตรวจการเลือกตั้ง เพื่อลองเปลี่ยนใหม่ ยืนยันว่า ไม่ได้ฟุ้งซ่าน แต่เกิดจากความคิดตรึกตรองกันอย่างดี แล้วเจ้าหน้าที่ กกต. ที่มารับฟัง กรธ. ก็บอกสามารถทำได้ ขณะที่บทบาทของ กกต. ได้เพิ่มอาวุธ ช่องทางหาข้อมูลหลักฐาน และอาจไปไกลถึงให้รางวัลนำจับ แต่ก็ยอมรับว่าอันตรายหากมีการกลั่นแกล้งกัน แต่กำหนดไว้ว่า หากกลั่นแกล้งจะเจอโทษที่รุนแรง สำหรับโครงสร้าง กกต. 7 คน ที่เพิ่มมา 2 คน จากสายศาล เป็นไปเพื่อเน้นป้องกันการทุจริต ต้องใช้คนที่เชี่ยวชาญทางกฎหมาย โดยถอดแบบมาจากองค์คณะผู้พิพากษา
“ภาพรวมของรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกทั้งหมด ที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระทั้ง 5 และศาลรัฐธรรมนูญ จะเป็นเครื่องค้ำยันระบอบการเมืองการปกครองของเราให้ไปข้างหน้าอย่างมีสมเหตุสมผล เพื่อพัฒนาประเทศของเราได้อย่างเต็มที่ อาจดูเข้มงวดรุนแรงบ้าง แต่ทั้งหมดเราเขียนจากสิ่งที่เกิดขึ้น ผมยังแอบฝันถึงวันนึงที่สหรัฐอเมริกาจะต้องมาเลียบแบบอะไรที่แปลกใหม่จากเรา เนื่องจากเรามีประสบการณ์มามาก แล้วก็พยายามแก้ปัญหาทุกรูปแบบมาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก” ประธาน กรธ. กล่าว
กกต. หวังอย่าให้สัมนาเป็นแค่พิธีกรรม ขออนุญาติทำวงแตกปม กกต.จังหวัด-ผู้ตรวจการเลือกตั้ง
ด้านสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารจัดการเลือกตั้ง กล่าวว่า อยากให้การสัมมนาครั้งนี้ไม่ใช่พิธีกรรม กรธ .ควรเอาข้อเสนอแนะที่ได้ ไปปรับใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง พร้อมระบุว่า การออกแบบร่างกฎหมายลูกว่าด้วย กกต.ต้องอยู่บนหลัก 3 ประการ คือ 1.ทำให้ประชาชนเกิดความสะดวกในการเลือกตั้ง เข้าใช้สิทธิ์ได้สะดวกมากที่สุด กลไกของ กกต. ที่ออกแบบจะต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงการเลือกตั้งให้ได้มากสุด ขยายเวลา เปิดโอกาสให้คนที่อยู่ในและนอกประเทศได้ใช้สิทธิ์อย่างเต็มที่ 2.การใช้สิทธิ์ของประชาชนต้องเป็นไปด้วยความรู้ความเข้าใจ รู้จักพรรคและนักการเมืองอย่างแท้จริง ว่ามีคุณภาพมีนโยบายอย่างไร และ 3.ทำให้ กกต. มีกลไกในการจัดการทุจริตการเลือกตั้ง การซื้อเสียงน้อยลง อยู่บนกฎเกณฑ์กติกาเหมือกันไม่แบ่งพรรคใหญ่ พรรคเล็ก
“แต่ร่างที่ กกต. เสนอมาเป็นคนละเรื่องกับที่ กรธ. เขียน ผมอาจทำให้ต้องวงแตกกันนิดนึง เช่น เราเสนอมาให้มี กกต.จังหวัดเหมือนเดิม แต่ กรธ. เขียนกลับไม่มี แล้วมีผู้ตรวจการเลือกตั้งขึ้นมาแทน ซึ่งผมว่ามันเป็นกลไกที่ใช้ไม่ได้ กรธ. ควรเขียนกฎหมายแล้วเปิดให้เราได้วิจารณ์กัน แล้วผมจะวิจารณ์เอง เพราะผมทำเพื่อบ้านเมือง ไม่ได้ทำเพื่อรักษาหน้าใคร กกต. เสนออะไรไม่เหมาะสมก็วิจารณ์ได้ อยากให้สังคมไทยใช้ความจริงมาคุยต่อหน้ากัน ไม่ใช่เกิดมานานกว่า ร่างกฎหมายมาหลายฉบับกว่า แล้วหมายความว่าต้องเก่งกว่า” สมชัย กล่าว
สมชัยระบุด้วยว่า สำหรับกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับ กรธ. ที่จะใช้เกณฑ์คุณสมบัติกรรมการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญใหม่ ในการเปลี่ยนแปลงกรรมการองค์กรอิสระชุดปัจจุบัน ไม่ใช่เพราะตัวเองจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากมั่นใจว่าตัวมีคุณสมบัติตรงตามรัฐธรรมนูญใหม่กำหนด เพราะเคยทำงานภาคประชาสังคมมาไม่น้อยกว่า 20 ปีตนทำงานองค์กรกลางมาตั้งแต่ ปี 2535 ดังนั้นในส่วนตัวปัญหานี้จึงไม่ได้กระทบกับตัวเอง แต่ที่พูดเพราะเห็นว่าเกณฑ์ดังกล่าวไม่เป็นธรรม และจะมีกรรมการองค์กรอิสระอื่นได้รับผลกระทบจำนวนมาก โดยปกติเมื่อมีการร่างกฎหมายใหม่ ก็จะมีการเขียนในบทเฉพาะกาลว่า ให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งอยู่เดิมนั้นอยู่ต่อไปจนครบวาระแต่ในครั้งนี้กลับจะมีการเขียนว่าให้เป็นไปตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ถือว่าไม่เป็นธรรมพอสมควร
"ถ้า กรธ. จะยึดหลักเกณฑ์จริงจะก่อให้เกิดความวุ่นวายกับองค์กรต่างๆ มากมาย การที่บอกว่า กกต. ต้องเป็นองค์กรแรกที่ต้องดำเนินการ ถ้าจะทำต้องทำพร้อมๆ กัน ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ กสม. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ล้วนแต่ทำให้คนอยู่เดิมได้รับผลกระทบทั้งสิ้น ซึ่งในเวลานี้เรากำลังจะเปิดศักราชทางการเมืองใหม่ การทำงานหลายอย่างต้องการทำงานต่อเนื่อง ต้องการคนเก่าที่รู้ปัญหา ผมไม่เชื่อว่าการเอาคนมาใหม่ทั้งหมดจะตอบโจทย์ได้มากกว่า" สมชัย กล่าว
เมื่อถามว่า ตามกฎหมายใหม่ กกต. จะมีอำนาจมาก กรธ. จึงมองว่าจำเป็นต้องได้คนที่มีความรู้ความสามารถพอสมควร จึงกำหนดคุณสมบัติไว้สูง สมชัย กล่าวว่า เป็นความคิดที่ดี แต่การเชื่อว่ากำหนดคุณสมบัติไว้สูงแล้วจะได้คนดีนั้น ตนเห็นว่าผลงานสำคัญกว่าคุณสมบัติ คนไม่จบดอกเตอร์อาจทำงานได้ดีกว่าคนจบดอกเตอร์ หลายคนที่ไม่จบปริญญาก็ทำงาน และประสบความสำเร็จมากกว่าคนจบปริญญา คุณสมบัติจึงเป็นเพียงมายาภาพที่สังคมควรเลิกติดยึดได้แล้ว อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะอยู่แค่ 4 เดือน หรือ 4 ปี จากนี้ก็จะทำงานอย่างเต็มที่ไม่มีลดราวาศอก ถ้าเขาให้อยู่ทำก็ทำ ไม่ให้อยู่ทำก็ไม่ทำ ไม่เป็นปัญหา