วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ศูนย์ทนายสิทธิฯ แถลงกรณีจับกุม 14 ขบวนการ ปชต.ใหม่


ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนแถลงข่าวกรณีจับกุม 14 น.ศ.ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ชี้ จนท.เร่งรัดจับกุม-สอบสวน เผยพิรุธตรวจยึดรถยนต์-มือถือ ส่วน น.ศ.กำลังใจยังดี ฝาก 4 ข้อความผ่านสื่อมวลชน
28 มิ.ย.2558 เวลา 17.00 น.ที่ห้องประชุมจารุพงษ์ ทองสินธุ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดแถลงข่าวกรณีการจับกุม 14 นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ และการที่เจ้าหน้าที่ตรวจค้นและยึดรถยนต์ของทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนที่จอดอยู่ในบริเวณพื้นที่ศาลทหาร
กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า จากการเข้าเยี่ยม 14 นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ขณะนี้นักศึกษาทั้ง 14 คนยังมีกำลังใจดี และยังตั้งใจที่จะต่อสู้เพื่อเสรีภาพ และประชาธิปไตยต่อไปตามที่ตั้งใจเอาไว้ โดยกลุ่มนักศึกษาฝากข้อความผ่านทางสื่อมวลชนว่า
1. ยืนยันว่าทั้ง 14 คน เป็นนักโทษการเมือง เนื่องจากถูกตั้งข้อหาอันเนื่องจากความผิดทางการเมือง
2. ฝากถึงญาติพี่น้องว่า ทั้ง 14 คนยังไม่มีความคิดเรื่องการขอปล่อยตัวชั่วคราว หรือขอประกันตัว มีเงื่อนไขประการเดียว คือ หากคนใดเกิดเจ็บป่วยไม่สบายขั้นรุนแรง จึงจะขอประกันตัวเพื่อออกมารับการรักษาพยาบาล เมื่อหายเป็นปรกติก็จะกลับเข้ามาอยู่กับกลุ่มเพื่อนในเรือนจำ
3. ทั้ง 14 คนไม่ยอมรับอำนาจของศาลทหาร และยืนยันว่าพวกเขาต้องได้รับการดำเนินคดีในศาลพลเรือนเท่านั้น
4. เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษาทั้ง 14 คน รวมถึงนักโทษการเมืองคนอื่นๆ โดยไม่มีเงื่อนไข
กฤษฎางค์ กล่าวว่า เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (27 มิ.ย.) พนักงานสอบสวนพยายามทำการสอบสวนนักศึกษาโดยไม่มีการติดต่อทนาย นักศึกษาทั้งหมดจึงปฏิเสธที่จะให้มีการสอบสวนโดยที่ไม่มีทนายอยู่ด้วย พ.ต.ท.มานิตย์ ทองขาว พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ สน.สำราญราษฎร์ ยืนยันว่าจะทำการสอบสวนนักศึกษาในพรุ่งนี้ (29 มิ.ย.) โดยจะจัดหาทนายจากสภาทนายความมาให้ แต่นักศึกษาปฏิเสธ โดยยืนยันว่าจะใช้ทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนเท่านั้น
กฤษฎางค์ กล่าวว่าโดยหลักแล้ว ผู้ต้องหามีสิทธิได้รับคำปรึกษาจากทนาย เพื่อป้องกันการเสียเปรียบเจ้าหน้าที่ และต้องเป็นทนายความตามที่ผู้ต้องหาระบุเท่านั้น โดยทางศูนย์ทนายฯ ได้ทำหนังสือไปยังสภาทนายความแจ้งถึงความต้องการของนักศึกษาที่ต้องการใช้ทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน
ทางด้าน เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงกรณีที่เจ้าหน้าพยายามทำการตรวจค้นรถยนต์ ซึ่งเป็นของหนึ่งในทีมทนายความของศูนย์ทนายว่า ในระหว่าง 00.30 น.-03.00 น.ของวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา ภายหลังที่ศาลทหารอนุมัติฝากขัง 14 นักศึกษาแล้ว มีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจกว่า 10 คน เข้าล้อมรถยนต์ส่วนบุคคลของทนายจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยแจ้งว่าจะทำการยึดโทรศัพท์มือถือของนักศึกษาที่อยู่ภายในรถ โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าเห็นว่ามีการนำโทรศัพท์ของนักศึกษาไปเก็บไว้ในรถยนต์คันดังกล่าว
เยาวลักษณ์กล่าวว่า การยึดโทรศัพท์มือถือของนักศึกษาต้องกระทำต่อหน้าผู้ต้องหา ไม่ใช่ยึดเอาจากทนายซึ่งได้สิทธิในการเป็นเจ้าของอยู่ในขณะนั้น และในหมายจับกุมตัวของเจ้าหน้าที่ไม่มีการระบุถึงการยึดทรัพย์สิน ทนายจึงไม่สามารถให้เจ้าหน้าทำการตรวจค้นรถและยึดโทรศัพท์ได้ เจ้าหน้าที่จึงทำการล็อคล้อและสั่งห้ามเคลื่อนย้ายรถยนต์ออกจากบริเวณศาลทหาร รวมเป็นเวลากว่า 15 ชั่วโมง
ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า มีความชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่คุกคามการปฏิบัติหน้าที่ของทนาย ทำการกักและตรวจค้นรถโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีการกักขังหน่วงเหนี่ยว ละเมิด ข่มขืนจิตใจ โดยทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้แจ้งดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ สน.ชนะสงครามแล้ว

เยาวลักษณ์กล่าวถึงกรณีการตรวจค้นรถต่อไปว่า หลังจากได้หมายศาล เจ้าหน้าทำการตรวจค้นรถยนต์และยึดเอาโทรศัพท์มือถือจำนวน 5 เครื่อง ในขณะที่แถลงข่าวอยู่นี้ ยังไม่มีการตรวจค้นข้อมูลการใช้โทรศัพท์ โดยเจ้าหน้าที่จะทำการเปิดเครื่องโทรศัพท์ในวันจันทร์ที่ 29 มิ.ย.นี้
ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งข้อสังเกตถึงการจับกุมตัว 14 นักศึกษาในครั้งนี้ด้วยว่า เป็นการกระทำที่เร่งรัด มีการทำบันทึกการจับกุมโดยที่ไม่มีการสอบปากคำและการพิมพ์ลายนิ้วมือ เพื่อรีบเร่งจะส่งไปยังศาลทหาร ซึ่งเปิดการไต่สวนช่วงดึกในเวลา 23.00 น.
สำหรับกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับผู้กำกับการ ซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน นำโทรศัพท์มือถือทั้ง 5 เครื่องขึ้นรถออกไปนานกว่า 10 นาที ก่อนจะนำกลับมาที่ศาลทหารนั้น ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า มีความผิดปรกติและเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยการกระทำของเจ้าหน้าที่ในการค้นและยึดทรัพย์ครั้งนี้ เป็นการกระทำโดยมิชอบ เนื่องจากไม่มีหมายค้นจากศาลอาญา และถือว่าเป็นการขัดขวางกระบวนการยุติธรรม และเป็นการข่มขู่ทนายให้เกิดความหวาดกลัว
กฤษฎางค์ กล่าวในตอนท้ายว่า กระบวนการยุติธรรมจะมีความหมาย ก็ต่อเมื่อมีการปฏิบัติตามกฎหมายโดยชัดแจ้ง ขณะนี้นักศึกษาทั้ง 14 คน ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าการดำเนินคดีจะถึงที่สุด ส่วนพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบนั้น ไม่สามารถนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานได้ และการค้นรถโดยไม่มีหมายศาลถือเป็นความผิดโดยชัดแจ้ง

ทหาร-ตำรวจเรียกบุคคลมาสอบถามต่อเนื่อง ก่อนจัด 'ครม.สัญจร' เชียงใหม่


ก่อนประชุม ครม.สัญจรเชียงใหม่ ทหาร-ตำรวจติดตามความเคลื่อนไหวประชาชนหลายกลุ่มต่อเนื่อง มีทั้งเชิญคุยในค่าย นัดพบร้านกาแฟ เข้าพบที่บ้าน และโทรศัพท์สอบถาม ย้ำไม่ให้มีการเคลื่อนไหวใดๆ
28 มิ.ย.58 - ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. และคณะรัฐมนตรีมีกำหนดการประชุมนอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 72 พระชนมพรรษาในระหว่างวันที่ 29-30 มิ.ย.นี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงก่อนหน้าการประชุมหลายวันที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่รัฐที่ดูแลในพื้นที่ได้มีการติดตามความเคลื่อนไหวของประชาชนหลายกลุ่มในจังหวัดเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยมีการทั้งการโทรศัพท์สอบถาม เข้าไปหาที่บ้าน นัดพบที่ร้านกาแฟ และเชิญตัวไปพูดคุยในค่าย
จากการตรวจสอบเบื้องต้นของผู้สื่อข่าว พบว่ามีนักกิจกรรม นักศึกษา อาจารย์ หรือประชาชนหลายสิบรายในจังหวัดเชียงใหม่ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารหรือตำรวจ ดำเนินการติดตามตรวจสอบความเคลื่อนไหว ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ถูกติดตามหรือเรียกรายงานตัวมาก่อนหน้านี้ โดยได้ถูกสอบถามข้อมูลความคิดเห็น ชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบัน และเจ้าหน้าที่ได้ขอให้ยืนยันว่าจะไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ในช่วงที่มีการประชุมครม.สัญจร
เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.58 ทางมณฑลทหารบกที่ 33 ได้เชิญแกนนำนปช.แดงเชียงใหม่จำนวน 4 ราย นำโดยนายพิชิต ตามูล เข้าไปพูดคุยภายในค่ายกาวิละ โดยมีการขอความร่วมมือไม่ให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงครม.สัญจร จากนั้นยังได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนัดพบพูดคุยสอบถามข้อมูลกับนายพิชิตในวันต่อๆ มาด้วย
ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลเดินทางเข้าไปพบ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อพูดคุยถึงความเคลื่อนไหวช่วงครม.สัญจร ส่วนนักศึกษารายหนึ่งได้มีสันติบาลเดินทางไปพบที่บ้านจังหวัดเชียงราย พร้อมกับผู้ใหญ่บ้าน และอดีตนักศึกษาอีกรายหนึ่งที่เคยถูกเรียกรายงานตัวก่อนหน้านี้ ก็ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรศัพท์ไปสอบถามความเคลื่อนไหวในอาทิตย์ที่ผ่านมาถึงสองครั้ง
ด้านรจเรข วัฒนพาณิชย์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งร้านหนังสือ Book Re:public ได้ถูกทั้งเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจโทรศัพท์สอบถามข้อมูลหลายครั้ง ก่อนจะมีการนัดหมายเพื่อพูดคุยกับทั้งทหารและตำรวจพร้อมกันที่ร้านกาแฟในตัวเมืองเชียงใหม่
ส่วน พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ นักเขียน-นักแปลอิสระ ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบสองนายเดินทางไปพบที่บ้านตั้งแต่เช้า 7.00 น. มีการพูดคุยสอบถามถึงความเคลื่อนไหวและประวัติส่วนตัว โดยเจ้าหน้าที่แจ้งด้วยว่าได้รับคำสั่งให้ตามประกบเพื่อดูความเคลื่อนไหวในช่วงครม.สัญจร และถ้าหากมีความเคลื่อนไหว จะมีหน่วยอื่นนอกเหนือจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่มาติดตามต่อ
เช่นเดียวกับ นิติพงศ์ สำราญคง นักเขียนอิสระ ซึ่งเคยถูกควบคุมตัวปรับทัศนคติก่อนหน้านี้ ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเดินทางไปพูดคุยด้วยถึงที่ทำงาน และนักกิจกรรมวัฒนธรรมอีกรายหนึ่งก็ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางไปพบที่ที่พักเช่นกัน
สำหรับนักเคลื่อนไหวในประเด็นทรัพยากรสิ่งแวดล้อมเองก็ได้มีการติดตามพูดคุยด้วยเช่นกัน โดยดิเรก กองเงิน แกนนำสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ได้มีเจ้าหน้าที่โทรไปพยายามนัดหมายพบปะ ต่อมาก็ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางไปพบที่บ้าน แต่เขาไม่อยู่บ้าน จึงได้สอบถามความเคลื่อนไหวจากภรรยาแทน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทหารยังได้นัดหมายแกนนำของ สกน.สองคนไปพูดคุยที่ร้านกาแฟเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ด้วย
ไทยรัฐออนไลน์ ได้รายงานก่อนหน้านี้ว่า การรักษาความปลอดภัยในการประชุมครม.สัญจรครั้งนี้ มีการระดมเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และอาสาสมัคร ร่วม 2,000 นาย ร่วมรับสถานการณ์ โดยเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ทางทหาร-ตำรวจได้ร่วมกันซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ หากมีกลุ่มผู้ชุมนุมหรือผู้แสดงสัญลักษณ์ เข้ามาในพื้นที่การประชุม นอกจากนี้ตามตึกสูงที่อยู่ใกล้ที่ประชุมยังมีตำรวจและทหารเข้าไปประจำอยู่ และมีการตรวจสอบข่าวผู้ที่จะเข้ามาพักตามอาคารโรงแรมและคอร์ตที่อยู่ใกล้หอประชุมด้วย 

กลุ่มเพื่อนประชาธิปไตยใหม่ จุดเทียน-ปล่อยลูกโป่ง 14 ลูก ให้กำลังใจเพื่อน หน้าเรือนจำ


กลุ่มเพื่อนประชาธิปไตยใหม่ จุดเทียนร้องเพลงให้กำลังใจเพื่อนขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 14 คน ที่ถูกจับกุม หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ พร้อมอ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้เรือนจำไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ไม่เป็นธรรม
28 มิ.ย. 2558 ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เวลา 20.00 น. มีประชาชนจำนวนประมาณ 30 คน มารวมตัวจุดเทียน พร้อมร้องเพลงให้กำลังใจนักศึกษา นักกิจกรรม ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ที่ถูกจับกุม และมีกลุ่มเพื่อนประชาธิปไตยใหม่จำนวนประมาณ 10 คนมาอ่านแถลงการณ์ให้เห็นถึงกระบวนการจับกุมที่ไม่ชอบธรรม และพฤติกรรมของศาลทหารที่ดำเนินการพิจารณาคดี นอกเวลาราชการ พร้อมเรียกร้องให้เรือนจำ และกรมราชทัณฑ์ หากเห็นว่ากระบวนการเหล่านี้ไม่ชอบธรรม ขอให้ไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง และกระบวนการที่ไม่ชอบธรรม 

00000
แถลงการณ์ กลุ่มเพื่อนประชาธิปไตยใหม่
เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 26 มิถุนายน 2558 เจ้าหน้าที่ได้เข้าจับกุม กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ภายหลังการออกไปเคลื่อนไหวทางการเมืองตามสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยพฤติกรรมการจับกุมของเจ้าหน้าที่ไม่มีการแจ้งสิทธิผู้ต้องหา เป็นการจับกุมโดยเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่ไม่แสดงตัวว่ามาจากหน่วยไหน อีกทั้ง ในบันทึกการจับกุม เจ้าหน้าที่ได้ระบุว่าผู้ต้องหามีการหลบหนี ซึ่งไม่สอดคล้องกับการรายงานข่าวและปากคำของผู้ต้องหา ผู้ต้องหาจึงขอให้แก้ไขถ้อยคำว่าไม่ได้หลบหนีแต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอม จึงทำให้กลุ่มผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ยอมเซ็นชื่อ และท้ายที่สุดก็ถูกพาตัวมาฝากขังกับศาลทหารกรุงเทพฯ
และในวันนี้ (28 มิถุนายน 2558) ทางทีมทนายความของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ได้แถลงว่า นักศึกษาทั้งหมดยังไม่ให้ปากคำเพราะยังไม่ได้พบทนายและทนายยังไม่สามารถไปพบได้ แต่ทว่าเจ้าหน้าที่กลับจะเข้าไปสอบสวนในวันพรุ่งนี้โดยมีทนายความจากสภาทนายความเข้าร่วมแทน ทั้งที่นักศึกษาทั้งหมดมีทนายอยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องไม่เหมาะสมและสมควรถูกตั้งคำถามต่อความโปร่งใส่ในกระบวนยุติธรรม
นอกจากนี้ พฤติการณ์ของศาลทหารกรุงเทพฯ ได้ก่อให้เกิดคำถามต่อการทำหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม เพราะศาลทหารทำการไต่สวนและมีคำสั่งให้ฝากขังผู้ต้องหาในเวลา 21.00-24.00 ทั้งที่ไม่ใช่เวลาทำการปกติ อีกทั้งศาลทหารกรุงเทพฯ ได้ยกคำร้องขอคัดค้านการฝากขังผู้ต้องหาจำนวน 14 ราย ทั้งที่ทางกลุ่มประชาธิปไตยใหม่เปิดเผยสู่สาธารณะตลอดมาว่าจะไม่หลบหนีพร้อมยินยอมให้หน้าที่จับกุมตัว และยืนยันว่าการกระทำของตนเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานอีกด้วย จากองค์ประกอบดังที่กล่าวมา จึงไม่มีความจำเป็นที่ศาลจะต้องฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 14 คน เว้นเสียแต่ต้องการจำกัดการใช้สิทธิเสรีภาพที่ทางกลุ่มกระทำการมาโดยตลอด
ด้วยพฤติการณ์เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐกำลังอ้างอำนาจตามกระบวนการยุติธรรมเพื่อจับกุมและดำเนินคดีผู้เห็นต่างทางการเมือง โดยหวังผลประโยชน์ทางการเมือง ขณะที่ศาลทหารก็ทำตัวเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อสนองตอบเป้าหมายทางการเมืองมากกว่าเป็นองค์กรตุลาการที่ใช้ดุลพินิจในกระบวนการยุติธรรม
ดังนั้น เราจึงขอเรียกร้องว่า เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีหน้าที่ต้องรักษาไว้ซึ่งกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และสิทธิเสรีภาพของประชาชน หากกรณีใดที่เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์เห็นชัดเจนว่าหมายขังผู้ต้องหาทางการเมืองออกโดยองค์กรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมก็ไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม

บทความ Foreign Policy Journal วิจารณ์ชาติตะวันตกปล่อยให้เผด็จการไทยเหลิงอำนาจ


นักไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเขียนบทความวิจารณ์รัฐบาลตะวันตกที่ให้ความสนใจประเด็นในไทยแค่เพียงเวลาสั้นๆ โดยมีการประณามแค่หลังจากรัฐประหารใหม่ๆ แต่กลับเงียบเฉยหรือในบางกรณีที่แสดงท่าทีเป็นมิตร แม้ว่ารัฐบาลจะแสดงท่าทีเผด็จการอย่างชัดเจนและมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นการจับกุมผู้เห็นต่าง
คลารา เฮิร์ซเบิร์ก ผู้ให้คำปรึกษาด้านการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่เคยทำงานร่วมกับประเทศในแถบยุโรปและเอเชียมาแล้วหลายประเทศ เขียนบทความในวารสารด้านนโยบายการต่างประเทศ Foreign Policy Journal เรียกร้องให้ผู้นำชาติตะวันตกหันมาร่วมกันกดดันหรือพูดถึงประเด็นการละเมิดสิทธิฯ โดยรัฐบาลเผด็จการทหารในประเทศไทยอีกครั้งหลังจากที่ว่างเว้นจากการพูดถึงมานาน
เฮิร์ซเบิร์ก อธิบายถึงคำว่า "คลื่นความถี่จำกัด" ซึ่งเป็นคำแสลงที่ออกมาจากปากของกลุ่มผู้นำ ผู้ที่เรียกตัวเองว่าเชี่ยวชาญ หรือนักข่าว ที่ยอมรับว่านักการเมืองมักจะให้ความสนใจในเรื่องต่างๆ เพียงระยะเวลาสั้นๆ เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการไม่สนใจประเด็นอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกฉายซ้ำๆ อยู่ในวงจรสื่อ เช่น เรื่องการใช้อำนาจในทางที่ผิดของรัฐบาล ทำให้สิทธิทางประชาธิปไตยในการเอาผิดกับผู้นำที่เป็นอาชญากรถูกแขวนไว้ โดยในบทความของเฮิร์ซเบิร์กเจาะจงระบุถึงเหตุการณ์ปัจจุบันในประเทศไทย
ในบทความของเฮิร์ซเบิร์ก มีการกล่าวหาว่าทางการสหรัฐฯ ปล่อยให้เกิดการยึดอำนาจเมื่อเดือน พ.ค. 2557 ที่ถือเป็นการเหยียบย่ำประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม เฮิร์ซเบิร์กยังได้ระบุถึงท่าทีเผด็จการอย่างเปิดเผยของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมถึงยังไม่มีท่าทีว่าจะลงจากอำนาจง่ายๆ มีแต่เลื่อนการเลือกตั้งไปเรื่อยๆ อีกทั้งยังมีการปิดสื่อ ห้ามการชุมนุม และจับกุมฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองจำนวนมาก
เฮิร์ซเบิร์กยังระบุอีกว่าฝ่ายผู้นำเผด็จการทหารยังพยายามรักษาอำนาจของตนต่อแม้ว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งแล้วเมื่อพิจารณาจากร่างรัฐธรรมนูญที่เคยเผยแพร่เมื่อเดือน เม.ย. ที่จะทำให้ประชาธิปไตยของไทยก้าวถอยหลังไปมาก
บทความของเฮิร์ซเบิร์กระบุว่าถึงแม้ในช่วงที่มีการรัฐประหารใหม่ๆ ประเทศตะวันตกจะร่วมกันประณามอย่างมาก เช่น จอห์น แคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ เคยประณามว่าการยึดอำนาจในไทยเป็นเรื่องที่ไร้ความชอบธรรมและจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไทย อย่างไรก็ตามเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ผู้นำสหรัฐฯ เปิดเผยว่าไทยยังคงเป็นพันธมิตรและผู้ร่วมมือถึงแม้ว่าจะมีรัฐประหารเมื่อปีที่แล้ว ทางด้านสหภาพยุโรปซึ่งมักจะเป็นสาย "พลังอ่อน" ก็เคยออกแถลงการณ์ประณามด้วยคำแรงๆ เมื่อปีที่แล้ว แต่ในตอนนี้พวกเขาตีตัวออกห่างจากประเด็นการรัฐประหารในไทยแล้ว
เฮิร์ซเบิร์กระบุว่า การที่ผู้นำโลกทั้งจากฝ่ายสหรัฐฯ และฝ่ายสหภาพยุโรปต่างพากันอ้างว่ามีความสนใจระยะสั้น ถึงได้เงียบเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ถือเป็นการส่งเสริมความชอบธรรมให้กับผู้นำที่รัฐประหารอย่างผิดกฎหมายไปในตัว และเป็นการแสดงถึงความมือถือสากปากถือศีลของชาติตะวันตกที่อ้าง "ประชาธิปไตย" โดยพร้อมแสดงออกทางการเมืองต่อหน้าคนหมู่มากและวางท่าในเชิงจริยธรรมเฉพาะแต่ตอนที่มีผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์เท่านั้น แต่น้อยครั้งมากที่จะลงโทษรัฐบาลเผด็จการที่อยู่ฝ่ายเดียวกัน

เรียบเรียงจาก
How the West Helped Thailand Became a Dictatorship, Foreign Policy Journal, 26-06-2015
http://www.foreignpolicyjournal.com/2015/06/26/how-the-west-helped-thailand-became-a-dictatorship/

แนวร่วมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ และนักกิจกรรมภาคเหนือ เรียกร้องปล่อยตัว 14 คนจากเรือนจำ


แนวร่วมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่จังหวัดเชียงใหม่ ชูป้ายหลักการ 5 ข้อ พร้อมใส่หน้ากากเพื่อน 14 คน อ่านจดหมายถึงเพื่อน ด้านชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ปล่อยตัว โดยไม่มีเงื่อนไข
คลิปข่าวจากสำนักข่าวประชาธรรม
29 มิ.ย. 2558 เมื่อเวลา 16.30 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณเชิงสะพานเจดีย์ขาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่  กลุ่มเพื่อนนักศึกษาและนักกิจกรรมจำนวน 14 คนที่ถูกจับกุมที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักศึกษาและนักกิจกรรมจำนวน14 คนที่ถูกจับกุมโดยชูป้ายคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ ‘การมีส่วนร่วม’ และ ‘สันติวิธี’ และอ่านจดหมายถึงเพื่อน ขณะเดียวกันกลุ่มชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือได้ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้มีการปล่อยตัว 14 นักศึกษา นักกิจกรรม ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข โดยทั้งจดหมายถึงเพื่อน และแถลงการณ์มีรายละเอียดดังนี้
00000
จดหมายถึงเพื่อน
ในฐานะเพื่อน เราไม่สามารถที่จะอยู่เฉยได้ หากเรารู้ว่าเพื่อนเรากำลังตกอยู่ในความยากลำบากและอันตราย วันนี้มีเพื่อนเรา 14 คน อยู่ในคุก ในข้อหาที่เพื่อนอย่างเราก็ไม่สามารถเข้าใจได้ว่าเพื่อนเราทำผิดอะไร เพื่อนเราต่อสู้เพื่อสิ่งที่พวกเขาเชื่อมั่น เพื่อนเราเสียสละในวันที่เราได้แต่ถามตัวเองว่าคุ้มหรือไม่ที่จะทำอย่างเขา เพื่อนเราทำในขณะที่เราก็รู้ว่าเรากับเขาต่างก็มีภาระหน้าที่ในความเป็น มนุษย์เท่าๆกัน ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรหน้าที่ของเพื่อนก็คือสนับสนุนในสิ่งที่เพื่อนคิดและ สิ่งที่พวกเขาเชื่อ ยอมรับที่จะเป็นเพื่อนกับพวกเขาไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ถึงแม้ตอนนี้เราจะไม่ได้ร่วมทุกข์ แต่การร่วมสุขที่เคยมีกันมา ทำให้เราไม่อาจทำให้โลกนี้ว่างเว้นความสวยงามจากพวกเขาได้
การออก มาเรียกร้องของเราในวันนี้ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการทำหน้าที่ของเพื่อนเวลา ที่เห็นเพื่อนเราโดนรังแกจากความไม่ยุติธรรม เราไม่เข้าใจว่าเพราะเหตุใด รัฐจึงเห็นเยาวชนของชาติที่ยึดถือหลักการ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม การมีส่วนร่วมและสันติวิธีว่าเป็นบุคคลที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของ ประเทศชาติ ความโหดร้ายที่เกิดขึ้นกับเพื่อนของเราวันนี้มันไร้เหตุผลเกินว่าที่จะเชื่อ ว่านี่คือความเป็นจริง
หากนี่เป็นยามค่ำคืนที่มืดมิดในยามที่เราหลับ ตา นี่คือฝันร้ายที่ เพื่อนของพวกเราและคนรุ่นเราต้องพบเจอ เพียงแต่ฝันร้ายที่พวกเราพบเจอนี้ไม่อาจหายไปเมื่อเราตื่นขึ้น มีเพียงทางเดียวที่เราจะหลุดจากฝันร้ายนี้ได้ คือร่วมกันฝ่าฟันฝันร้ายนี้ไปด้วยกัน เราไม่อาจที่ฝันให้โลกของเราสวยงามอย่างที่เราต้องการ ฝันที่ดีสุดของเรา ณ เวลานี้คือ เราอยากให้เพื่อนของเราเป็นเพื่อนกับคนทุกคน เราอยากให้คนทุกคนเข้าใจว่าพวกเขาเป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่งที่พร้อมจะเป็น เพื่อนกับใครก็ตามที่มีความฝันความเชื่อแบบเดียวกับพวกเขา เราหวังเพียงให้ทุกคนเข้าใจว่าพวกเขาไม่เคยทำความผิดเพียงพอที่จะเป็นเหตุผล ให้พวกเขาโดนจำกัดเสรีภาพ  
ใช่ เราทุกคนต่างเคยพลัดพรากจากสิ่งที่เรารัก คนที่เรารัก แต่เราไม่ได้อาลัยพวกเขาเพราะพวกเขาเป็นคนที่เรารักเท่านั้น แต่ความรักที่มากกว่าความรักใครเพียงคนใดคนหนึ่งเพื่อตัวเอง คือ ความรักที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เกินกว่าตัวของเขาต่างหากที่ทำให้ไม่ว่าอย่าง ไรเราก็จะอยู่เคียงข้างพวกเขา เราเพื่อนกัน
แนวร่วมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่จังหวัดเชียงใหม่

แถลงการณ์ จากชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือต่อสถานการณ์การจับกุมนักศึกษาและนักกิจกรรมทั้ง 14 คนที่กรุงเทพมหาคร
ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ เป็นกลุ่มทำงานทางสังคม เรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องสิทธิชุมชน การจัดการสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วม และเห็นว่าสังคมหากต้องการอยู่กันอย่างสงบ สมานฉันท์นั้นจำเป็นต้องดำรงความหลากหลาย เคารพซึ่งความแตกต่างซึ่งกันและกัน อันจะส่งผลให้สังคมอยู่อย่างปกติสุขอย่างแท้จริง
แต่เนื่องด้วยเหตุการณ์นักศึกษาและนักกิจกรรมที่สนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชนอันเป็นสิทธิพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงมี ถูกจับกุมคุมขัง โดยเพียงการแสดงออกนั้นเป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
เราชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ เห็นว่าการออกมาเคลื่อนไหวของนักศึกษา นักกิจกรรม ยืนอยู่บนหลักการที่สังคมไทยยึดถือปฏิบัติร่วมกัน เป็นสากล โดยทั่วไป ในเรื่องของประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม การมีส่วนร่วมและสันติวิธี
ดังนั้นเราชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือต้องการให้รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม สิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ต้องปล่อยตัวนักศึกษา นักกิจกรรม จำนวน 14 คน ที่จับกุมคุมขังไว้ โดยไม่มีเงื่อนไข
คนเท่าเทียมเคารพในความหลากหลาย
ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ

ร้องศาลอาญาตรวจสอบกรณี ตร.ออกหมายค้นรถทนาย 14 ผู้ต้องหา


Mon, 2015-06-29 16:45


จากกรณีพนักงานสอบสวนพยายามค้นรถทนายความของผู้ต้องหา 14 คนซึ่งเป็นนักศึกษาและนักกิจกรรมกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ประกอบมาตรา 83 เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมาและมีการออกหมายค้นรถในวันถัดมา

29 มิ.ย. 2558 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ออกจดหมายเปิดผนึกถึงศาลอาญา ขอให้ศาลอาญาตรวจสอบการขอออกหมายค้นรถยนต์ของทนายความ โดยระบุว่า อาจเป็นการออกหมายค้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เผยแพร่วันที่ 29 มิถุนายน 2558

จดหมายเปิดผนึกถึงศาลอาญา

ขอให้ศาลอาญาตรวจสอบการขอออกหมายค้นรถยนต์ของทนายความ (ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน) ซึ่งอาจเป็นการออกหมายค้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย


สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2558 พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ได้ขออนุญาตออกหมายค้นรถยนต์หมายเลขทะเบียน กค 9966 ยโสธร จากศาลอาญา เนื่องมาจากกรณีที่ผู้ต้องหาที่เป็นนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ทั้ง 14 คน ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ที่ 3/2558 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ประกอบมาตรา 83 ทั้งนี้ รถยนต์คันดังกล่าวเป็นรถยนต์ของนางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ หนึ่งในทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งทำหน้าที่เป็นทนายความให้ความช่วยเหลือคดีดังกล่าว และได้ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมมาโดยตลอดตามหลักวิชาชีพทนายความ

ซึ่งในทางสากลและตามหลักการปฏิบัติหน้าที่ทนายความนั้น ย่อมได้รับการคุ้มครองในการปฏิบัติหน้าที่ทนายความ โดยเฉพาะในการทำหน้าที่ตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ซึ่งมีสาระสำคัญตามข้อ 11 และข้อ 12 ว่า ห้ามเปิดเผยความลับของลูกความที่ได้รู้ในหน้าที่ของทนายความ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากลูกความนั้นแล้ว หรือโดยอำนาจศาล และห้ามกระทำการอันอาจทำให้เสื่อมเสียประโยชน์ของลูกความ ซึ่งออกตามความในมาตรา 27(3)(จ) และมาตรา 51 และด้วยความเห็นชอบของสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วจึงมีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528

ในกระบวนการขั้นตอนการขอออกหมายค้นของพนักงานสอบสวนนั้น พนักงานสอบสวนจำเป็นต้องให้ข้อมูลต่อศาลว่าเป็นการขอออกหมายเพื่อค้นรถยนต์ของทนายความผู้ต้องหา ทั้งนี้ เพื่อให้ศาลมีข้อมูลดังกล่าวประกอบการตรวจสอบการขอออกหมายค้นของพนักงานสอบสวน ตามระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยแนวปฏิบัติในการออกหมายจับและหมายค้นในคดีอาญา พ.ศ.2545 ข้อ 18 ซึ่งระบุว่า “ในกรณีที่การจับหรือการค้นมิอาจจะกระทำได้เพราะมีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นให้เอกสิทธิ์หรือความคุ้มกันแก่บุคคลหรือสถานที่ใดไว้ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบว่าด้วยการนั้น”

ซึ่งตามระเบียบดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ทนายความ ย่อมได้รับความคุ้มครองตามระเบียบข้าราชการตุลาการฯ ข้อ 18 ดังกล่าวด้วย
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) จึงขอเรียกร้องต่อศาลอาญาขอให้มีการตรวจสอบ ทบทวนการขอออกหมายค้นดังกล่าว ว่าพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อมูลต่อศาลหรือไม่ว่าขอออกหมายค้นเพื่อค้นรถยนต์ของทนายความ เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลสำคัญเพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจของศาลว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ออกหมายค้น หากไม่มีการแจ้งข้อมูลดังกล่าวให้ศาลทราบ อาจมีผลให้การออกหมายค้นดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย สิ่งของใดๆ ที่ได้มาจากการค้นย่อมไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานตำรวจให้เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อันจะเป็นการคุ้มครองความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความโดยไม่ถูกคุกคามจากอำนาจใดๆ ถือเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรม เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมต่อไป

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)

เลขาฯสภาทนายความ ชี้ค้นรถทนาย คุกคามการทำหน้าที่

ด้านมติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. นิวัฒน์ แก้วล้วน เลขาธิการสภาทนายความฯ กล่าวถึงกรณีการค้นรถของทนายว่า ประเด็นการค้นรถนี้ต้องดูเป็นกรณีไป กฎหมายให้อำนาจค้นในกรณีที่มีเหตุสงสัย หรือความผิดซึ่งหน้า แต่ถ้าไม่มีเหตุอะไรเลยนั้น ทำไม่ได้ ส่วนกรณีการค้นรถของทนายนั้น มองว่า ทนายมีสิทธิของทนายในการปกป้องลูกความของตัวเอง เรื่องนี้มีกฎหมายอนุญาตหรือเปิดช่องไว้

นิวัฒน์ กล่าวว่า การที่ทนายไปเยี่ยมลูกความ แล้วจู่ๆ คุณก็บอกว่ามีเหตุสงสัยว่ามีสิ่งผิดกฎหมายอยู่ในรถทนาย แล้วจะขอทำการค้นรถ พร้อมกับขอยึดรถไว้ก่อนอย่างนี้มุมมองตนเห็นว่าทำไม่ได้ ถ้าทนายไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มนักศึกษาอย่างนี้ก็ว่าไปอย่าง แต่การที่ทนายขับรถมาเพื่อเยี่ยมลูกความแบบนี้น่าจะไม่ได้ ในมุมมองของตน ตนคิดว่าเรื่องนี้เป็นการคุกคามการทำหน้าที่ของทนาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่น่าจะทำอย่างนี้ คุณควรให้เกียรติวิชาชีพทนายที่ทำหน้าที่ในตรงนี้ เพราะหากค้นแล้วไม่เจออะไรคุณจะรับผิดชอบอย่างไร ต้องมอง 2 มุม

จนท. จับกุม เจ้าของร้านชาสนิมทุน พร้อม 2 น.ศ. สงสัยเกี่ยวข้องกิจกรรมของ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยใหม่



Mon, 2015-06-29 21:03


เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจทั้งในและ นอกเครื่องแบบ บุกค้นร้านชาสนิมทุน จ.เชียงใหม่ ไร้หมายค้น พร้อมคุมตัวเจ้าของร้าน และ 2 น.ศ. อ้างสงสัยเกี่ยวข้องกับ กิจกรรมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยใหม่

29 มิ.ย. 2558 18.51 น. ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า ที่จังหวัดเชียงใหม่ นักศึกษา นักกิจกรรม 3 คน ถูกควบคุมตัว ที่ร้านชาสนิมทุน ไปยัง สถานีตำรวจภูธรภูพิงคราชนิเวศน์ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ทั้งในและ นอกเครื่องแบบ โดยเจ้าหน้าที่ ตั้งข้อสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยใหม่ ที่ออกไปชูป้าย และอ่านจดหมายถึงเพื่อน 14 คน ซึ่งถูกฝากขังที่เรื่อนจำพิเศษกรุงเทพฯ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ทั้งนี้ ผู้ควบคุมตัวประกอบด้วย 1.นันทชาติ หนูศรีแก้ว 2.ศศิเทพ ชัยชม 3.พงษ์สวัสดิ์ ขันธะ


ขณะที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 17.00 น.ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจหลายสิบนายบุกเข้าไปตรวจค้นยังร้านน้ำชาสนิมทุน บริเวณใกล้วัดร่ำเปิง โดยไม่มีหมายค้น

ความคืบหน้าล่าสุด เฟซบุ๊กแฟนเพจสำนักข่าวประชาธรรม รายงานว่า เวลาประมาณ 18.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจเสร็จสิ้นการสอบสวนและลงบันทึกประจำวัน โดยไม่ได้ตั้งข้อกล่าวหาอะไร หรือพบข้อความที่เข้าข่ายผิด ม.112 ตามที่มีกล่าวถึงกันก่อนหน้านี้ ขณะนี้อยู่รอการตัดสินใจจากทางทหารว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร

ทั้งนี้ ที่บริเวณ สถานีตำรวจภูธรภูพิงคราชนิเวศน์ มีนักศึกษาและประชาชนจำนวนหนึ่งที่ทราบข่าว เดินทางไปร่วมสังเกตการณ์ ติดตามความคืบหน้า หลายคนแสดงความแปลกใจที่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงพยายามเชื่อมโยงกิจการของร้าน กับกิจกรรมทางการเมือง เนื่องจากโรงน้ำชาสนิมทุน เป็นร้านขายชาไทย ชาเขียว ชาพม่า ที่อาจมีการจัดกิจกรรมแสดงภาพถ่ายศิลปะ และพูดคุยเสวนาในสิ่งแวดล้อม แต่ก็ไม่ได้เป็นพื้นที่เคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อต่อต้านคสช.อย่างที่เจ้า หน้าที่พยายามเชื่อมโยง

ครบหมื่นรายชื่อ เรียกร้อง คสช. ปล่อยตัว 14 คน ขบวนการประชาธิปไตยใหม่




Mon, 2015-06-29 17:25

29 มิ.ย. 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเว็บไซต์ change.org ได้มีการทำแคมเปญรณรงค์ เรียกร้องตัวรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ให้มีการปล่อยตัวนักศึกษาทุกคน โดยไม่มีเงือนไข ทั้งนี้สืบเนื่องจากกรณีที่ 14 นักศึกษา นักกิจกรรม กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2558 โดยมีการเริ่มรณรงค์วันแรกในวันที่ 28 มิ.ย. 2558 จนถึงวันนี้ 29 มิ.ย. เวลา16.50 น. มีประชาชนร่วมลงรายชื่อทั้งหมด 10,445 รายชื่อ

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าว รายงานเพิ่มเติมว่า กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (New Democracy Movement-NDM) เป็นกลุ่มนักศึกษา นักกิจกรรม จากหลากหลายกลุ่มที่มารวมตัวกัน อาทิ กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย(LLTD) กลุ่มประชาคมจุฬาเพื่อประชาชน(CCP) กลุ่มดาวดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น กลุ่มเสรีนนทรี มหาวิทยลัยเกษตรศาสตร์ กลุ่มลูกชาวบ้าน มหาวิทยาลัยบูรพา กลุ่มสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเยาวชนนักเรียนปาตานี PerMAS และสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) รวมทั้งชาวบ้านที่รับผลพวง ผลกะรทบจากการทำรัฐประหาร ทั้งจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จังหวัดเลย กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนามูล-ดูลสาด จังหวัดขอนแก่น และอีกหลากหลายกลุ่มรวม 20 องค์กร