วันเสาร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2556

"วีรพัฒน์" โต้ "อธิบดีศาลอาญา" เมื่อภูผาตระหง่านสง่าแล้วไซร้ เหตุไฉนจึงผวาเกรงก้อนหินมากระทบ?

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์

"วีรพัฒน์" โต้ "อธิบดีศาลอาญา" เมื่อภูผาตระหง่านสง่าแล้วไซร้ เหตุไฉนจึงผวาเกรงก้อนหินมากระทบ?


เรียน อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา

ผมได้ทราบข่าวจากสื่อมวลชนว่า ท่านได้กล่าวถึงบทความของผมว่าเป็นการหมิ่นศาล ซึ่งข่าวมีเนื้อความว่า : 


"อธิบดีศาล" ชี้ บทความนักวิชาการอิสระหมิ่นศาล สั่งตรวจสอบด่วน

           เมื่อ วันที่ 24 มกราคม นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวถึงบทความในเฟสบุ๊ค ของนาย วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักวิชาการกฏหมายอิสระ ว่า จากการที่ได้ทราบถึงเนื้อหาบทความมองได้ว่าเป็นการเเสดงความคิดเห็น ติเตียนวิจารณ์การทำงานเเละมีทัศนคติในเเง่ร้ายเเละมุ่งทำลายความน่าเชื่อ ถือต่อศาล ซึ่งศาลอาญาซึ่งเป็นผู้ใช้กฏหมายมีความเป็นธรรมในการพิจารณาคดีต่างๆ สิ่งที่ผู้เขียนบทความนี้มองเป็นการดูหมิ่นศาล มีการประชดเสียดสีศาลต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่การเเสดงความเห็นทางวิชาการที่มีเหตุผลน่าเชื่อถือ เป็นการเขียนบทความโดยอคติเป็นการส่วนตัว ศาลไม่ขัดข้องเเละพร้อมที่จะรับการวิจารณ์ เเต่ต้องเป็นในวงกว้างไม่ใช่เเเค่นักวิชาการกลุ่มหนึ่งที่มีอคติต่อศาล ในวงกว้าง รวมถึงประชาชน เเละผู้ที่เข้าใจถึงระบบการทำงานของศาล เรื่องบทความหมิ่นเหม่ที่ปรากฏในโลกอินเตอร์เนตนี้ เบื้องต้น ตนได้ให้ผู้พิพากษาที่เกี่ยวข้องตรวจสอบว่ามีบทความใดหมิ่นเหม่ เเละสร้างความเข้าใจผิดต่อศาลอาญามากน้อยเเค่ไหน ส่วนจะมีการพิจารณาดำเนินการใดต่อไปนั้นต้องรอดูผลการตรวจสอบนั้นซะก่อน

         "บท ความนี้เป็นการดูหมิ่นศาล ไม่ใช่การเเสดงออกทางวิชาการ เป็นการเเสดงความคิดเเบบคนไม่เข้าใจระบบ เเละจงใจดิสเครดิตศาล อยากถามกลับไปว่าคนส่วนมากเค้าเห็นด้วยกับผู้เขียนหรือไม่ เเละข้อเท็จจริงก็ไม่ได้เป็นอย่างที่เขียนในบทความ" นายทวีกล่าว

***


หากข่าวนี้ถูกต้องครบถ้วนจริง ผมขอเรียนชี้แจงต่อท่านอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ดังนี้

         ผมขอยืนยันความบริสุทธิ์และสุจริตใจที่ผมมีต่อสถาบันตุลาการ ว่าการแสดงความเห็นของผมทั้งหมดตลอดมานั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความใส่ใจ และความคาดหวังและศรัทธาที่ผมมีต่อสถาบันตุลาการอันต้องเป็นที่พึ่งของ ประชาชน เมื่อใดที่ผมมีความกังขาหรือไม่เห็นพ้องด้วยต่อเหตุผลของศาล ผมย่อมพึงใช้ความพากเพียรในการตรึกตรอง เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ติชมเสนอแนะ ด้วยหวังว่าผมจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาสถาบันตุลาการให้เป็นที่พึ่งของ ประชาชนอย่างแท้จจริง

         ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมได้ใช้ความพากเพียรพยายามในการวิพากษ์วิจารณ์ศาลตามความรู้และหลักวิชา อย่างเต็มความสามารถ โดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนที่อาจต้องเสียไปจากการวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว เห็นได้จากผลงานทางวิชาการซึ่งผมได้แต่งไว้ในขณะศึกษาปริญญาโท ณ Harvard Law School อันมีเนื้อความเชิงวิพากษ์ที่แสดงถึงความศรัทธาและการให้ความสำคัญต่อสถาบัน ตุลาการอย่างเป็นประจักษ์ (โปรดดู http://discovery.lib.harvard.edu/?q=verapat) ตลอดจนบทวิพากษ์คำพิพากษาและคำวินิจฉัยต่างๆ ที่ศึกษาวิเคราะห์เหตุผลของศาลอย่างละเอียด (อาทิ http://bit.ly/Demcase ) และเมื่อมีผู้เสนอให้ยุบหรือแก้ไขอำนาจศาลด้วยเหตุผลที่ผมไม่เห็นพ้อง ผมก็ได้แสดงเหตุผลคัดค้านการยุบศาลเช่นกัน (อาทิhttp://astv.mobi/Azu0SSq )

       ส่วนความเห็นของผมล่าสุดต่อกรณีคำพิพากษาจำคุกนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งเป็นเพียงการแสดงความเห็นในเบื้องต้นนั้น ผมได้แสดงออกด้วยความใส่ใจและคาดหวังศรัทธาต่อศาลดังทุกครั้ง และเมื่อศาลไม่ได้เผยแพร่คำพิพากษาฉบับเต็มต่อประชาชน ผมก็ได้ศึกษาเอกสารย่อคำพิพากษาที่จัดทำโดยศาลอย่างละเอียด จากนั้น จึงตั้งคำถามและแสดงความเห็นในเชิงวิชาการ ตามเสรีภาพที่รับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญไว้ที่ http://bit.ly/somyos112 

        ความเห็นของผมต่อกรณีคำพิพากษานายสมยศดังกล่าว มีสาระสำคัญสองประเด็น กล่าวคือ 

        ประเด็น ที่หนึ่ง ผมตั้งคำถามว่า หากประชาชนประสงค์จะตรวจสอบการพิจารณาคดีของศาล โดยการนำบทความในคดีที่ศาลเห็นว่ามีเนื้อหาผิดกฎหมายมาตรวจสอบวิพากษ์ วิจารณ์ ประชาชนควรจะกระทำได้ ใช่หรือไม่ และหากกระทำไปแล้ว จะถูกศาลพิพากษาว่ากระทำความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ และหากประชาชนไม่อาจกระทำการตรวจสอบศาลด้วยเหตุที่ต้องเกรงกลัวต่อประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 112 แล้วไซร้ ก็ย่อมเกิดคำถามว่า มาตรา 112 มุ่งคุ้มครองผู้ใดกันแน่

        ประเด็น ที่สอง ผมได้แสดงความเห็นเชิงเสนอแนะในทางวิชาการ ถึงวิธีการตีความ มาตรา 112 ว่าศาลควรพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของบทบัญญัติที่มุ่งคุ้มครอง 'ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร' อันเป็นประโยชน์ร่วมกันของประชาชน กล่าวคือ มาตรา 112 มิได้มุ่งคุ้มครองที่ 'ตัวบุคคล' เหมือนความผิดหมิ่นประมาททั่วไป ดังนั้น การตีความบังคับใช้ มาตรา 112 จึงต้องพิจารณาว่า การกระทำตามข้อหานั้น นอกจากจะเป็นการ 'หมิ่น' หรือไม่แล้ว ยังจะต้องพิจารณาให้ลึกซึ้งตามเจตนารมณ์อีกด้วยว่า แม้นหากเป็นการ 'หมิ่น' จริง แต่การหมิ่นเช่นว่านั้น จะกระทบต่อ 'ความมั่นคง' อันเป็นประโยชน์ร่วมกันของประชาชนหรือไม่ อย่างไร ?

        แต่ เมื่อเอกสารย่อคำพิพากษามีเหตุผลที่ไม่ชัดเจน ผมจึงได้ตั้งคำถามในเชิงตรรกะตามหลักวิชาการต่อไปว่า หากศาลนำ มาตรา 112 มาเอาผิดกับผู้ตีพิมพ์บทความเพียงบทเดียวในฐานะภัยต่อความมั่นคงแห่งราช อาณาจักรได้แล้วไซร้ ก็น่าสงสัยว่า ศาลกำลังเห็นว่าพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ไทย อันเป็นที่ยกย่องสรรเสริญทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ แท้จริงแล้วก็สามารถถูกทำลายและล้มครืนลงจนกระทบต่อความมั่นคงได้โดยง่าย เพียงเพราะ 'บทความหนึ่งฉบับ' กระนั้นหรือ ? และหาก 'ตรรกะ' ของ 'ศาลอาญา' เป็นดังนี้ ก็ย่อมน่าสงสัยว่าศาลกำลังดูแคลน 'พระเกียรติยศ' ของพระมหากษัตริย์ไทย อีกทั้งดูถูกสติปัญญาและวิจารณญาณของประชาชนคนไทย อย่างโจ่งแจ้งที่สุดหรือไม่ ?

         หากเปรียบเปรยให้เข้าใจง่าย อาจกล่าวได้ว่า เมื่อภูผาตระหง่านสง่าแล้วไซร้ เหตไฉนจึงผวาเกรงก้อนหินมากระทบ ? 

        ผมขอเรียนท่านอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาว่า การตั้งคำถาม คือหัวใจของการวิพากษ์วิจารณ์ การแสดงความเห็นและการตั้งคำถามทั้งสองประเด็นที่กล่าวมานี้ ได้นำเสนอพร้อมกับบทความทางวิชาการเรื่อง "ตุลาการไทย กับ มาตรา 112" (โปรดดู http://bit.ly/VPon112 ) ตลอดจนบทสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ ซึ่งเสนอการวิเคราะห์พร้อมข้อเสนอแนะเกี่ยวกับวิธีการตีความ มาตรา 112 อย่างละเอียด พร้อมยกตัวอย่างวิเคราะห์เทียบเคียงประกอบ อันล้วนเป็นการนำเสนอทางวิชาการที่สถาบันตุลาการพึงนำไปพิจารณาอย่างเร่ง ด่วนทั้งสิ้น

         ผมจึงขอความกรุณาท่านอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ตลอดจนผู้พิพากษาตุลาการผู้มีใจเป็นธรรมทั้งหลาย ได้โปรดลองพิจารณาถึงเนื้อหาสาระของคำถามและข้อสังเกต ตลอดจนบทความวิชาการดังกล่าว อันเป็นเนื้อเดียวกันของความเห็นทั้งหมดนี้ เพื่อให้ความจริงปรากฏว่า การแสดงความเห็นของผมนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความใส่ใจ ความคาดหวังและความศรัทธาที่ผมมีต่อสถาบันตุลาการอันต้องเป็นที่พึ่งของ ประชาชน และเมื่อใดที่ผมมีความกังขาหรือไม่เห็นพ้องด้วยต่อเหตุผลของศาล ผมย่อมพึงใช้ความพากเพียรในการตรึกตรอง เพื่อตั้งคำถามและเสนอข้อคิดเห็นต่อศาล เพื่อหวังให้ศาลเป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง

          ผมเป็นประชาชนคนไทยคนหนึ่งที่เคารพและเห็นความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ และเมื่อผมเชื่อโดยสุจริตใจตามตรรกะและหลักวิชาว่า ศาลกำลังตีความ มาตรา 112 ไปในทางที่ไม่เป็นคุณต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ย่อมเป็นทั้งสิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของผม ในฐานะประชาชนชาวไทย ที่จะตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์การตีความของศาลดังกล่าว

        หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ อันทรงเป็นที่รักของปวงชนชาวไทย ยังทรงยอมให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์พระองค์ได้ ประชาชนอย่างผมก็ได้แต่เพียงหวังว่า ศาลของประชาชนซึ่งทำหน้าที่ในพระปรมาภิไธย จะยอมให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามต่อศาลเพื่อปกป้องพระเกียรติยศ ของพระมหากษัตริย์ไทยได้ เช่นกัน.

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา 

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์
๒๔ มกราคม ๒๕๕๖

สิ่งที่เราถามหาคือศักดิ์ศรีของวิชาชีพ

ไม่ใช่เรื่องสี ไม่ใช่เรื่องอุดมการณ์ สิ่งที่เราถามหาคือศักดิ์ศรีของวิชาชีพ
Posted: 25 Jan 2013 04:43 AM PST (อ้างอิงจากเวบไซท์ประชาไท)


             หลังศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2556 ลงโทษจำคุก 10 ปี สมยศ พฤกษาเกษมสุข ในฐานะบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ซึ่งตีพิมพ์บทความเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 2 บทต่างกรรมต่างวาระ และอีก 1 ปีข้อหาหมิ่นประมาท พล.อ. สพรั่ง กัลยาณมิตร  แวดวงวรรณกรรมและสื่อไทยดูเหมือนจะ เงียบกริบ  นอกจากรายงานข่าวสั้นๆ แล้วไม่มีการแสดงออกซึ่งท่าที ความเห็นของคนในวงการ หรือแม้แต่บทวิเคราะห์ใดๆ ต่อกรณีนี้เมื่อเทียบกับที่สื่อนานาชาติแสดงความวิตกต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมืองไทย

            ที่น่าเศร้าคือ ไม่มีสมาคมวิชาชีพสื่อไทยออกมาแสดงตัวคัดค้านคำพิพากษาหรือแสดงท่าทีที่จะปกป้องเสรีภาพของเพื่อนร่วมวิชาชีพอย่างคุณสมยศแม้แต่องค์กรเดียว ทั้งที่ข้อหาที่คุณสมยศได้รับนั้น คนทำสื่อล้วนตระหนักดีว่ามันเกี่ยวข้องกับตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

            เป็นได้ว่าพวกเขาไม่นับคุณสมยศเป็นหมู่พวกเดียวกัน เพียงเพราะอยู่ต่างสี เพราะยืนอยู่บนเส้นขนานทางอุดมการณ์  หรือเป็นเพราะไม่อยากแกว่งเท้าออกจากเขตแดนปลอดภัยของตัวเองด้วยเกรงจะโดนหางเลข 

            เป็นได้ว่าพวกเขาเชื่อว่ามีขบวนการทำหนังสือเป็นปฏิปักษ์กับราชวงศ์จริง และพวกนี้สมควรแล้วที่จะได้รับโทษ  ในขณะที่พวกตนกอบโกยผลประโยชน์อยู่บนสายพานการผลิตซ้ำหนังสือประเภทอาเศียรวาทมามิรู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่แล้ว

            หรืออาจจะเป็นได้ว่า วิชาชีพบรรณาธิการมันก็ตัวใครตัวมันมาแต่ไหนแต่ไร ใครพิมพ์หนังสืออะไรก็รับผิดรับชอบกันไปตามสมควร  อย่าได้ถามหาความรับผิดชอบร่วมทางวิชาชีพอย่างสมาคมนักข่าว สมาคมช่างภาพ หรือสมาคมนักเขียน (ซึ่งอันที่จริงสมาคมเหล่านี้ก็ไม่เคยปกป้องคนในวิชาชีพอย่างแท้จริงนอกจากผลประโยชน์ของตัวเอง)

            ผู้เขียนจำได้ว่าไม่นานมานี้ บรรณาธิการสำนักพิมพ์และคนในแวดวงวรรณกรรมต่างตบเท้าเข้าร่วมประท้วงการเก็บค่าบริการศูนย์กระจายสินค้า (DC Fee) ของซีเอ็ด-อมรินทร์กันอย่างคึกคักจนในที่สุดซีเอ็ด-อมรินทร์ต้องยุติการเรียกเก็บค่าบริการดังกล่าว  เมื่อเทียบกับกรณีคุณสมยศซึ่งเกี่ยวข้องกับบทบาทคนทำหนังสือโดยตรง ผู้เขียนกลับได้ยินเพียงเสียงของความเงียบอันโหดเหี้ยม  และอย่าได้อ้างข้างๆ คูๆ ว่าสมาคมทั้งหลายมีข้อกำหนดไม่ยุ่งเรื่องการเมือง เพราะที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวในวิชาชีพนี้ก็ล้วนแต่เป็นเรื่องการเมืองทั้งสิ้นไม่เว้นแม้แต่การประท้วงซีเอ็ด-อมรินทร์ดังกล่าว

             นานมาแล้ว สมัยผู้เขียนเป็นนักศึกษาวารสารฯ  เราเคยพร่ำบ่นกันว่าหากช่วงชิงพื้นที่ข่าวหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์ พื้นที่หน้า cover ในนิตยสาร หรือพื้นที่เล่าข่าวในรายการข่าวได้ ก็มีผลปลุกกระแสสังคมให้ตื่นตัวต่อเรื่องนั้นๆ จนอาจก่อความเปลี่ยนแปลงตามมา  เรามีความฝันกันว่าถ้าได้เข้าไปนั่งในองค์กรสื่อจะใช้ปากกาเป็นอาวุธทำให้ “ข่าวที่ไม่เป็นข่าว” กลายเป็นวาระข่าวให้ได้   

            ในโลกความจริง ครั้นเราได้เข้าสู่วิชาชีพสื่อมวลชน เราเป็นได้แค่นักข่าวไฟแรงในองค์กรสื่อที่กุมบังเหียนโดยบรรณาธิการอาวุโส  เราเป็นได้แค่นักเขียนไฟแรงในนิตยสารที่กุมทิศทางโดยบรรณาธิการอาวุโส  เมื่อไฟเริ่มมอดหลายคนยังมีฝันยิ่งใหญ่ออกไปตั้งสื่อใหม่ของตัวเอง แต่มันก็เป็นได้แค่ “สื่อทางเลือก” ที่ทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นได้แค่ทางเลือกจากสื่อกระแสหลัก

            เพราะเคยร่วมงานกับสำนักพิมพ์ใหญ่แห่งหนึ่ง ผู้เขียนย่อมรู้ดีว่าปัจจุบันสิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่าการถูกเซ็นเซอร์ คือการที่สื่อเซ็นเซอร์ตัวเองก่อนเสมอ (กรณี “เหนือเมฆ” เป็นตัวอย่างชัดเจน) โดยเฉพาะเมื่ออำนาจอยู่ในมือบรรณาธิการอาวุโสผู้ล้วนกังวลต่อประโยชน์และความปลอดภัยของหัวหนังสือรวมถึงแคร์สปอนเซอร์มากกว่าการนำเสนอความจริงตามพันธกิจและอุดมการณ์  แม้แต่พื้นที่ในคอลัมน์แนะนำหนังสือที่ผู้เขียนรับผิดชอบก็ยังถูกร้องขอว่าเป็นไปได้กรุณาหลีกเลี่ยงหนังสือที่เกี่ยวข้องกับ “การเมืองเรื่องสี” 

            หนังสือคือบรรณาธิการ ไม่มีใครปฏิเสธคำนี้  เมื่อคุณสมยศในฐานะบรรณาธิการนิตยสารซึ่งเป็นทางเลือกของผู้อ่านกลุ่มหนึ่ง ถูกจองจำกว่าสิบปีอันเนื่องจากบทความในนิตยสารที่เขาไม่ได้มีส่วนรู้เห็นเป็นแต่เพียงเขากล้าเปิดพื้นที่ให้ตีพิมพ์โดยไม่ได้เซ็นเซอร์ข้อความ และโดยที่การกระทำดังกล่าวก็ไม่ผิด พ.ร.บ. การพิมพ์ฉบับปัจจุบันด้วย  เพื่อนร่วมวิชาชีพสื่อจะทำเมินเฉย เพื่อนร่วมวิชาชีพบรรณาธิการจะยังคงซุกตัวอยู่ในเกราะเซฟโซนของตัวเองอย่างนั้นหรือ   และนี่ก็ไม่ใช่กรณีแรกที่เกิดขึ้น กับคนในวงการสื่อด้วยซ้ำ ในสื่อสังคมออนไลน์ ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท จีรนุช เปรมชัยพร ถูกตัดสินจำคุก 8 เดือน ปรับ 2 หมื่นบาท (คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์)   นั่นหมายความว่ามันย่อมมีอะไรผิดปรกติในกระบวนการยุติธรรม มีอะไรบิดเบี้ยวในการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งสามารถตีความได้อย่างครอบจักรวาลว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

           เรื่องทั้งหมดนี้จึงไม่เกี่ยวว่าสื่อนั้นอยู่ฝ่ายไหน ยืนอยู่บนอุดมการณ์อะไร หากมันเกี่ยวกับเกียรติยศและศักดิ์ศรีในวิชาชีพสื่อมวลชนต่างหาก  ถ้าสังคมใดปล่อยให้บรรณาธิการ นักเขียนหรือนักแปลที่มีเพียงปากกาและกระดาษเป็นอาวุธ ถูกจำคุกเพียงเพราะพิมพ์บทความที่ถึงที่สุดแล้วไม่ได้มีผลบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรแล้วไซร้ สังคมนั้นก็ดูท่าจะพิกลพิการอย่างหาที่สุดมิได้    

            สุดท้ายนี้ หากสมาคมนักข่าว สมาคมผู้จัดพิมพ์ สมาคมนิตยสาร สมาคมนักเขียน หรือสมาคมห่าเหวอะไรที่เกี่ยวข้องกับหนังสือและการพิมพ์ (แน่นอนเรายังไม่มีสมาคมบรรณาธิการและสมาคมนักแปล) ยังคงปิดตาข้างเดียวต่อกรณีนี้ ก็บอกได้คำเดียวว่าศักดิ์ศรีในวิชาชีพสื่อมวลชนถูกพวกคุณบดขยี้เองกับมือ (หรืออันที่จริงวิชาชีพนี้ไม่เคยมีศักดิ์ศรีมาแต่ไหนแต่ไรแล้วก็ตาม)


จากบทความเดิมชื่อ : ไม่ใช่เรื่องสี ไม่ใช่เรื่องอุดมการณ์  สิ่งที่เราถามหาคือศักดิ์ศรีของวิชาชีพบรรณาธิการต่างหาก

ท่าทีข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนยูเอ็น ต่อ *คำพิพากษาสมยศ*

ท่าทีข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนยูเอ็น-สมาพันธ์ผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้-องค์กรสิทธิไทย-เทศ ต่อ *คำพิพากษาสมยศ*
Posted: 23 Jan 2013 09:58 AM PST (อ้างอิงจากเวบไซท์ประชาไท)




        ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กังวลไทยเสื่อมถอยด้านคุ้มครองสิทธิ สมาพันธ์ผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวัน ออกเฉียงใต้ ชี้คำตัดสินคดี ขยายความรับผิดชอบ บก.ไปถึงเนื้อหาของผู้อื่น องค์กรสิทธิสากล-ไทย ร่วมประณาม เตือนไทยห่างไกล ''การปรองดองแห่งชาติ''

         (23 ม.ค.56) ต่อกรณีศาลอาญาพิพากษาให้สมยศ พฤกษาเกษมสุข บก.นิตยสาร Voice of Taksin มีความผิดตามมาตรา 112 ด้วยการจัดพิมพ์ จัดจำหน่ายและเผยแพร่นิตยสารเสียงทักษิณ (Voice of Taksin) ซึ่งมีบทความเข้าข่ายหมิ่นพ ระบรมเดชานุภาพ  ลงโทษจำคุก 10 ปี จากความผิด 2 กรรม  บวกกับโทษเดิมเมื่อปี 2552 คดีหมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ที่รอลงอาญาไว้อีก 1 ปี รวมเป็นจำคุก 11 ปี

          องค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงองค์กรในประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์แสดงความเห็นต่อคำตัดสินในวันนี้ ดังนี้

          นางนาวี พิลเลย์ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อคำตัดสินและการลงโทษที่รุนแรงอย่างที่สุดต่อสมยศ พฤกษาเกษมสุข และเสริมว่า นี่แสดงให้เห็นถึงการเสื่อมถอยในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

           "คำตัดสินและการลงโทษที่รุนแรงอย่างที่สุดต่อสมยศส่งสัญญาณที่ผิดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในประเทศไทย คำพิพากษาของศาลเป็นตัวชี้วัดล่าสุดของแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงอย่างการใช้กฎหมายหมิ่นฯ เพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง"

       "ฉันยินดีและสนับสนุนความพยายามของสมาชิกรัฐสภาและนักวิชาการบางคนที่เสนอการแก้ไขมาตรา 112 เพื่อสื่อถึงความกังวลต่อการบังคับใช้กฎหมาย"

        ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติแสดงความกังวลต่อระยะเวลาที่สมยศถูกควบคุมตัว โดยถูกปฏิเสธการขอประกันตัวถึง 12 ครั้ง โดยระบุว่า "ฉันกังวลใจเมื่อสมยศไม่ได้รับการประกันตัว และหลายครั้งที่ปรากฏตัวในศาลโดยถูกใส่โซ่ตรวน ราวกับเขาเป็นอาชญากรร้ายแรง" เธอบอกว่าและว่า "ผู้ที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกไม่ควรถูกลงโทษตั้งแต่แรกแล้ว"

         ทั้งนี้  เมื่อวันที่ 30 ส.ค.55 คณะทำงานขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องการควบคุมตัวโดยไม่ชอบ ได้สรุปว่า การจับกุมตัวสมยศเป็นการกระทำโดยไม่ชอบและเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อปล่อยสมยศและชดเชยค่าเสียหายต่อสมยศ เพื่อให้เป็นไปตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบัน

"นักกิจกรรม นักข่าว และนักวิชาการ มีบทบาทที่มีพลวัตในการสนับสนุนวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย" พิลเลย์กล่าวและว่า "นี่สะท้อนให้เห็นสังคมไทยในเชิงบวก แต่กรณีของคดีสมยศนั้นเสี่ยงต่อการสวนทางกับความก้าวหน้าที่ประเทศไทยสร้างมา"
 

''ซีป้า'' ชี้คำตัดสินคดี ขยายความรับผิดชอบ บก.ไปถึงเนื้อหาของผู้อื่น
 
            ด้านแถลงการณ์ของสมาพันธ์ผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ชี้ว่า คำตัดสินคดีนี้ได้ขยายความรับผิ
ดชอบของบรรณาธิการไปถึงเนื้อหาที่ตีพิมพ์ หากเนื้อหานั้นละเมิดประมวลกฎหมายอาญา

            การลงโทษสำหรับความรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่คนอื่นเขียนนี้คล้ายกับ คำตัดสินที่จีรนุช เปรมชัยพร ได้รับเมื่อพฤษภาคม 2555 ในความผิดฐาน ฝ่าฝืน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 โดยเธอได้รับโทษรอลงอาญาสองปี จากการนำข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพออกจากเว็บบอร์ด "ไม่เร็วพอ"

            และแม้ทนายของสมยศจะต่อสู้ว่าตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ไม่ได้กำหนดให้บรรณาธิการต้องรับผิดชอบกับบทความที่ผู้อื่นเขียน แต่ศาลก็ชี้ว่าเรื่องนี้ไม่ได้ทำให้เขาพ้นจากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ขณะที่ไม่มีการดำเนินคดีกับผู้เขียนบทความ ซึ่งสมยศได้ให้การต่อศาลว่าคือจักรภพ เพ็ญแข แต่อย่างใด

            นอกจากนี้ ศาลยังระบุว่า แม้ไม่มีการกล่าวถึงพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในบทความ แต่เนื้อหาก็สามารถทำให้เข้าใจได้ว่ากล่าวถึงพระองค์ ซึ่งกรณีนี้ SEAPA ชี้ว่าคล้ายกับคำพิพากษาคดีของยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก ซึ่งถูกตัดสินจำคุกสองปีจากการปราศรัยเมื่อปี 2553 โดยบทความในนิวยอร์กไทมส์ระบุว่า ศาลได้ตัดสิน่า แม้จำเลยจะไม่ได้กล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยตรง แต่คำปราศรัยดังกล่าวไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่นได้

           กายาทรี เวนกิท สวารัน ผู้อำนวยการสมาพันธ์ผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ระบุว่า โทษที่สมยศได้รับ "ไม่ได้สัดส่วน" ทั้งที่สมยศไม่ได้เป็นผู้เขียนบทความดังกล่าว

           การให้ความรับผิดชอบไปอยู่ที่บรรณาธิการ ขับเน้นให้เห็นถึงการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นฯ ที่มีปัญหา ซึ่งองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนหลายแห่งก็ได้ชี้ให้เห็นแล้ว

องค์กรสิทธิสากล-ไทย ร่วมประณาม ชี้ไทยห่างไกล ''การปรองดองแห่งชาติ''

 
           สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล  (International Federation for Human Rights: FIDH) และองค์การสากลว่าด้วยการต่อต้
านการทรมาน (World Organisation Against Torture: OMCT) ภายใต้การทำงานร่วมกันเพื่อคุ้มครองนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมด้วยสมาคมสิทธิเสรีภาพประชาชน (สสส.) ประเทศไทย ออกแถลงการณ์ประณามอย่างรุนแรงต่อคำตัดสินคดีต่อ สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมแรงงาน

           "คำตัดสินวันนี้ไม่เป็นธรรมอย่างชัดเจน การคงไว้ซึ่งกฎหมายเผด็จการและใช้กฎหมายนี้อย่างต่อเนื่อง นำประเทศไทยไปไกลจากการปรองดองแห่งชาติ ซึ่งตั้งอยู่บนการเคารพเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน" แดนทอง บรีน  ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าว

            "แม้ว่าจะมีการเรียกร้องให้ปล่อยตัวสมยศและปฏิรูปกฎหมายหมิ่นฯ จากทั้งพลเมืองไทย ภาคประชาสังคม และสหประชาชาติ หลายครั้ง แต่ประเทศไทยก็ตัดสินใจออกห่างจากมาตรฐานระหว่างประเทศในการปกป้องเสรีภาพในการแสดงความเห็น ทำตัวแปลกแยกจากสังคมประชาธิปไตย" ซิวเฮร์ เบลฮัสสัน ประธานสหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล ระบุ

            "การตั้งข้อกล่าวหาทางอาญากั
บการเสียดสีทางการเมืองก็แย่พอแล้ว แต่การดำเนินคดีกับบรรณาธิการที่ไม่ได้เขียนงานนั้นๆ ทำให้การละเมิดถูกยกระดับขึ้นไปอีก" เจอราด สเตเบอร็อก เลขาธิการองค์การสากลว่าด้วยการต่อต้านการทรมานระบุและว่า "เราเรียกร้องต่อทางการไทยปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะทำงานขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องการควบคุมตัวโดยไม่ชอบ ซึ่งพบว่า การควบคุมตัวสมยศ ขัดต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและมาตรฐานสากล รวมทั้งเรียกร้องให้ปล่อยตัวสมยศ การกลับคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์และการปล่อยตัวสมยศในทันที จะแสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ถึงคำมั่นสัญญาที่ไทยเคยประกาศบ่อยครั้ง เกี่ยวกับหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน"

เหตุใดรัฐจึงกลายเป็นฆาตกร

เหตุใดรัฐจึงกลายเป็นฆาตกร
Posted: 22 Jan 2013 04:40 AM PST (อ้างอิงจากเวบไซท์ประชาไท)



        คนที่สนใจประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่ผ่านมา น่าจะมีอยู่บ้างที่เกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า เหตุใดรัฐจึงกลายเป็นฆาตกร ฆ่าพลเมืองของตน คำตอบแบบทั่วไปที่เรารับรู้กันก็ได้แก่ ความเห็นแก่ตัว  ความกระหายเลือดของนักการเมือง ผู้นำพลเรือนหรือเผด็จการทหารที่ต้องการมีอำนาจปกครองประเทศตลอดกาล ซึ่งก็ไม่ใช่คำตอบที่ผิดแต่ประการใด

       อย่างไรก็ตามบทความนี้ต้องการวิ
เคราะห์ให้เห็นอีกมิติ หรือมิติอื่นๆ โดยผ่านนิยามและธรรมชาติของรัฐเอง

       ถ้าเรามองดูให้ดี คำว่า "รัฐ" หรือ State มีความหมายที่ลึกซึ้งและมีพื้นท
ี่กว้างกว่าตัวบุคคลเป็นยิ่งนัก รัฐไม่ได้มีตัวตนอยู่เฉพาะแค่รัฐบาลอย่างเดียว รัฐยังหมายถึงองค์กรหรือสถาบันอีกมากมายที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของรัฐบาล เช่น เราไม่สามารถกล่าวได้ว่า นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำสูงสุดของรัฐไทย เพราะมีผู้อยู่ในตำแหน่งทรงอำนาจอื่นๆ ซึ่งถึงแม้จะต่ำกว่าหรืออ้างว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ต่างก็เข้ามามีส่งอิทธิพลต่อนโยบายของรัฐอีกมากมาย

       ผู้เขียนยังคิดว่า มีอีกนิยามหนึ่งที่น่าสนใจ คือรัฐคือองค์รวมอันยิ่งใหญ่ทั้
งม วลของชาติ เป็นองคาพยพที่ไม่มีตัวตนหรือ entity เป็นรูปธรรม เป็นสภาวะจิตสูงสุดตามแนวคิดของ จอร์จ ฟรีดริก เฮเกล แต่รัฐในที่นี้ยังเป็นศูนย์รวมหรือ locus ของอำนาจทั้งปวงที่ไร้ใบหน้า คือไม่มีใคร บุคคลใดในฐานะเป็นมนุษย์ที่มีเนื้อหนังซึ่งมีอายุมักไม่เกินศตวรรษที่สามารถเป็น"รัฐ" ได้ เพียงแต่สามารถประกาศตนว่าเป็นรัฐ หรือมีอำนาจเหนือรัฐในระดับหนึ่งหรือเพียงระยะเวลาหนึ่ง

       ทั้งนี้หากเราจะยึดถือแนวคิดของ
แม็กซ์ เวเบอร์ นักสังคมวิทยาชาวเยอรมันที่กล่าวว่า "รัฐคือผู้มีอำนาจผูกขาดในการใช้ความรุนแรง"  (Monopoly of violence) เหนือพลเมืองที่อาศัยอยู่ในขอบเขตของอำนาจตน เช่น การบังคับ คุกคามให้ประชาชนทำอะไรที่ขัดแย้งกับความต้องการหรือสามัญสำนึกของตน การใช้กำลังตำรวจหรือทหารเข้าควบคุมหรือปราบปรามผู้ประท้วง หรือแม้แต่การที่เราได้รับอนุญาตจากกฎหมายในการใช้ความรุนแรงเพื่อจัดการกับผู้ล่วงละเมิดสวัสดิภาพและทรัพย์สินของเราและครอบครัว การใช้รุนแรงสามารถยกระดับไปถึงการให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหายไปจากโลกนี้ ซึ่งก็คือการฆ่าเช่น การวิสามัญฆาตกรรมผู้ร้าย การประหารชีวิตนักโทษ (โดยได้รับการอนุมัติจากศาลซึ่งไม่ได้สังกัดอยู่กับรัฐบาลหรือฝ่าย บริหาร) รัฐสามารถทำให้การฆ่าเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม (legitimate killing) หากมองในด้านบวก การฆ่าแบบถูกต้องชอบธรรมโดยเฉพาะที่ผ่านกรอบของกฎหมายก็เพื่อผลประโยชน์โดยรวมของสังคมหรือการอยู่รอดรัฐ  เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นไม่ว่าใครเป็นผู้นำของรัฐ  การกระทำเช่่นนี้ของรัฐคงต้องเกิดขึ้นเรื่อยๆ  ไม่มากก็น้อย ตามแต่ปัจจัยอื่นเช่นระบอบการปกครอง เช่นประชาธิปไตยเสรีนิยม จะมีแนวโน้มในการสังหารประชาชนน้อยกว่ารัฐเผด็จการ

        อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่า สำคัญต่อการดำรงอยู่ของรัฐไม่น้
อยไปกว่าตัวองค์กรเลย คือวัฒนธรรมทางการเมือง (Political culture) ที่เป็นตัวผลักดันให้ความเป็นรัฐดำเนินต่อไป วัฒนธรรมทางการเมืองหมายถึงทัศนคติ ค่านิยม หรือจารีต ฯลฯของคนในรัฐที่ส่งผลต่อการเมือง วัฒนธรรมการเมืองเอื้อต่อการเป็นฆาตกรทั้งชอบธรรมและไม่ชอบธรรม  (เช่นการฆ่าแบบนั่งยางเผา)  ของรัฐ  ในรัฐที่เป็นเผด็จการอย่างเช่น ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในยุคที่การสื่อสารด้อยประสิทธิภาพและวาทกรรมเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นแค่ลมปากของนักวิชาการต่างประเทศ การฆ่าที่ชอบธรรมและไม่ชอบธรรมจึงมีความเหลื่อมล้ำ ขาดความชัดเจน ผู้ต้องสงสัยว่ามีพฤติกรรมเป็นคอมมิวนิสต์ การแบ่งแยกดินแดน การวางเพลิงเคหะสถานถูกรัฐใช้ตามมาตราที่ 17 คือการประหารชีวิตโดยไม่ผ่านกระบวนการศาล  อันได้รับการยกย่องจากคนยุคหลังผ่านการศึกษาทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ชัดเจนว่า ผู้ที่เสียชีวิตแท้ที่จริงเป็นผู้ผิดหรือผู้บริสุทธิ์กันแน่ และมักมีคนเห็นว่า ช่วงจอมพลท่านนี้สามารถทำให้บ้านเมืองร่มเย็นได้ ทั้งที่ไม่มีใครเข้าไปสืบเสาะสถิติอาชญากรรมในช่วง พ.ศ.2501-2506 ว่าเป็นอย่างไร และผู้ประกอบอาชญากรรมนั้นเป็นคนในเครื่องแบบเสียกี่คน แน่นอนว่าทัศนคติเช่นนี้ย่อมส่งผลให้เกิดผู้นำประเทศอีกหลายคนที่มีพฤติกรรมเหมือนจอมพลสฤษดิ์ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต 

       การโยงสาเหตุของการฆ่ามายังเฉพา
ะรัฐบาลหรือตัวผู้นำเพียงอย่างเดียวก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องไปเสียทั้งหมด ถึงแม้รัฐบาลหรือผู้นำเองพยายามสร้างหรือผลิตซ้ำวัฒนธรรมทางการเมืองที่ยกย่องความรุนแรง แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเองก็ดูเหมือนจะรู้เห็นเป็นใจด้วย เพราะคุ้นชินกับวัฒนธรรมการเมืองเช่นนี้ จนการใช้ความรุนแรงของรัฐเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรา เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ (Normalizing violence) ในขณะที่เสรีภาพการแสดงออกของประชาชนด้วยกันกลับเป็นเรื่องที่ต้องควบคุมต้องจำกัด เป็นเรื่องอันตราย เป็นภัยต่อความมั่นคง เช่น ตอนผู้หญิงใช้นมทาสีบนแผ่นเฟรมในรายการทางโทรทัศน์ เราก็จะบอกว่า มันไม่เหมาะสม เพราะเป็นรายการที่เยาวชนทั่วประเทศรับชม แต่เรากลับไม่วิตกที่จะให้เยาวชนผู้ใสซื่อของเรารับรู้ว่า รัฐฆ่าคนตายได้มากๆ แต่ไม่มีใครต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองก่อได้เลย

      อาจจะจริงที่่ว่ามีการประท้วงหรือแสดงความไม่เห็นด้วยต่อพฤติกรรมของรัฐในหลายยุค แต่กลับปราศจากความต่อเนื่องและชัดเจนเพราะผู้กระทำความผิดเป็นรัฐที่เต็มไปด้วยความชอบธรรมบางประการที่ช่วยห่อหุ้ม ปกป้องไว้ ดังเช่นวัฒนธรรมทางการเมืองที่ได้กล่าวมา เราจึงไม่สามารถสร้างภาพยนตร์เรื่อง  14 ตุลา  6 ตุลา  พฤษภาทมิฬ การฆ่าตัดตอนผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าค้ายาเสพติด กรณีตากใบ หรือการสังหารหมู่ที่มัสยิดกรือเซะ การปราบปรามเสื้อเหลืองอย่างรุนแรง การสังหารหมู่กลางเมืองหลวงเมื่อปี 2553 โดยซื่อสัตย์ต่อความจริงได้

      การด่าว่าหรือซุบซิบพฤติกรรมอัน
ไม่เหมาะสมโดยเฉพาะทางเพศของบุคคลสาธารณะ เช่น ดารา จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายเพราะเป้าหมายเป็นเพียงปัจเจกชนที่สาธารณชนรู้สึกมีอำนาจ  ปลอดภัย ไม่ต้องหวาดกลัวต่อกฎหมายหรืออำนาจมืด  ที่สำคัญเป็นการกระทำที่ทำให้เรารู้สึกได้ว่า เราเป็นคนดี เป็นพลเมืองดี มองอีกแง่หนึ่ง การกระทำของเราคือความสำเร็จของรัฐในการหลอกอย่างแยบยลให้เรายอมรับอำนาจการปกครองของรัฐที่ส่งเสริมให้เราอยู่ในจารีตประเพณีอันดีงาม เราในฐานะพลเมืองจึงถูกคุมขังและกลายเป็นจักรกลหนึ่งของรัฐภายใต้วาทกรรมของ "ความเป็นไทย"  หรือ "วัฒนธรรมไทยอันดีงาม" โดยมีความรุนแรงเป็นกรอบเหมือนกับสระน้ำที่ขุดขึ้นเพื่อล้อมรอบประตูเมืองโบราณ

       ลักษณะโดดเด่นอีกประการหนึ่งของ
ความพยายามของรัฐในการนำพลเมืองมาเป็นนักโทษคือการใช้ศาสนามาเป็นเครื่องมือในการควบคุมพลเมือง เช่น รัฐที่เป็นเผด็จการหรือไม่เผด็จการทั้งหลายมักจะอิงอยู่กับหลักศาสนากลายเป็นรัฐจารีตแบบวิกตอเรียนของอังกฤษ ที่รับไม่ได้กับการแสดงออกของร่างกายอันหลากหลายของพลเมือง (Body Politics)ไม่ว่าการแสดงออกเรื่องทางเพศอย่างเปิดเผย การมีเพศสัมพันธ์นอกสมรส การเป็นพวกรักร่วมเพศ ฯลฯ ที่รัฐถือว่าคุกคามต่อความปกติของร่างกายภายใต้อำนาจของรัฐในระดับหนึ่ง เพราะศาสนาเป็นองค์กรที่สอนให้มนุษย์ละเว้นการแสวงหาความสุขทางร่างกายเพื่อความสุขในระดับทางจิตใจหรือโลกหน้า ซึ่งเป็นเรื่องง่ายของรัฐในการนำอุดมการณ์ของศาสนามาปะปนกับอุดมการณ์ที่ตนวางไว้  จนกลายเป็นว่าเป้าหมายสูงสุดของรัฐคือเป้าหมายสูงสุดของศาสนาเช่นการเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า การทรยศต่อรัฐคือการทรยศต่อพระเจ้า

       รัฐที่ประสบความสำเร็จในการควบค
ุมพฤติกรรมของพลเรือนในเรื่องร่างกายผ่านศาสนา ย่อมไม่รอช้าในการใช้ความรุนแรงเข้าควบคุมพลเมืองจนถึงระดับการปลิดชีพในกรณีที่พลเมืองไม่ประพฤติตนตามกฎที่รัฐได้วางไว้ ที่เห็นชัดเจนในการรัฐในตะวันออกกลางและเอเชียใต้มักใช้หลักทางศาสนา อิสลามเข้ามาเป็นกฎหมาย (เรียกว่าชะรีอะฮ์) เช่น ในอัฟกานิสถานเมื่อปีที่แล้ว สามีจับได้ว่า ภรรยาของตนมีชู้กับพวกตาลีบัน ก็เอาปืนกลยิงภรรยาจนเสียชีวิต รัฐบาลของนายฮามิด คาไซ ประนามการกระทำเช่นนี้ แต่ไม่สามารถทำอะไร เพราะมันเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่ปฏิบัติกันมาช้านาน (อันสะท้อนว่ารัฐบาลไม่จำเป็นต้องเป็นตัวแทนของรัฐเสมอไป) สำหรับรัฐไทยก็ประสบความสำเร็จในการสร้างวาทกรรมของพุทธศาสนาที่อิงอยู่กับหลักชาตินิยมที่ฝึกให้พลเมืองของรัฐยอมรับต่อชนชั้นปกครองและแนวคิดที่ว่า การผิดศีลข้อหนึ่ง คือการห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นสิ่งที่ทนยอมรับกันได้ หากผู้ถูกฆ่า เป็น"ยักษ์มาร" เป็นภัยต่อพุทธศาสนาและประเทศชาติ ดังที่มีพระชื่อดังรูปหนึ่งกล่าวว่า "การฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป" ในช่วง 6 ตุลาคม 2519

       จากทั้งหมดแสดงให้เราเห็นว่าในอ
ีกมิติของรัฐ ร่างกายของเราไม่มีตัวตนอยู่จริง เพราะตัวตนทางการเมืองของเราถูกหลอมเป็นหนึ่งเดียวกับรัฐที่มีสภาพของยักษ์หน้าตาประหลาด (เหมือนกับ Leviathan ของนักปรัชญาการเมืองชื่อดังคือโธมัส ฮอบ์บส์) ร่างกายของเรา คือการทับซ้อนของวาทกรรมมากมายที่ถูกเชิดโดยรัฐ การที่รัฐใช้ความรุนแรงกับพลเมืองในการกำจัดพลเมืองบางส่วนออกไปจึงไม่ใช่เรื่องประหลาดอะไรในจักรวาลขององค์ความรู้มนุษย์ที่มีรัฐเป็นศูนย์กลาง หรือทางการการแพทย์ก็เหมือนกับการผ่าตัดเอาอวัยวะบางส่วนที่ (คิดว่า) เป็นเนื้อร้ายออกไป

        ดังนั้นจึงขอสรุปได้ว่า การที่รัฐเป็นฆาตกร ก็คือเพื่ออำนาจในการการดำรงอยู
่ของตัวรัฐนั้นเอง อย่างไรก็ตามก็เป็นข้อถกเถียงต่ออีกว่า มนุษย์สามารถดำรงตนเป็นตัวละครที่มีเจตจำนงอิสระ (free agent) ในการกำหนดรัฐ หรือสลัดพันธะจากอำนาจของรัฐเพื่อเปลี่ยนแปลงหรือหลีกเลี่ยงความรุนแรงที่รัฐที่มีต่อประชาชนได้หรือไม่ ไม่ว่าบุคคลผู้นั้นจะเป็นผู้นำของรัฐบาล หรือกลุ่มทางสังคม หรือประชาชนธรรมดา

ศาล (ศาสนา) กับการหลอกตัวเอง

าล (ศาสนา) กับการหลอกตัวเอง


เกริ่นนำ

           ศาลศาสนา (Inquisition) หรือในชื่อทางการว่า “กระบวนการไต่สวนผู้ผิดต่อจารี
ต” (Inquisitio Haereticae Pravitatis) ถูกสถาปนาขึ้นในศตวรรษที่ 12 โดยศาสนจักรโรมันคาทอลิกภายใต้การรับรองของสันตะปาปา (Pope)  ซึ่งกระบวนการไต่สวนที่ว่า จะถือว่าจำเลยกระทำความผิดไว้ก่อนและเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องแก้ต่างเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของตน ไม่เช่นนั้น ก็มักจะถูกพิพากษาให้ประหารชีวิตด้วยวิธีการเผาทั้งเป็น (Burn on Stake) หรือกักขังหน่วงเหนี่ยว ที่สำคัญองค์คณะของศาลศาสนาจะผูกขาดการตีความกฎหมายด้วย นั่นหมายความว่า จำเลยจะไม่มีสิทธิ์ตีความกฎหมายเป็นอื่นได้ เพราะประธานและลูกขุนของศาลศาสนา คือ ผู้พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งกฎหมายอันศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง

           ในประวัติศาสตร์ บุคคลที่มีชื่อเสียงมากมาย ไม่ว่าจะเป็น นักบวชของศาสนจักร หรือ นักวิทยาศาสตร์ ล้วนแต่เคยถูกพิพากษาให้
ประหารชีวิตด้วยน้ำมือของ ศาลศาสนามาแล้วทั้งนั้น รายที่น่าสนใจ คือ นักบวชคณะดอมีนิกัน ชื่อ จีออรฺดาโน บรูโน (Giordano Bruno) ในข้อหานอกรีต เพราะ เขียนหนังสือชื่อ On the Infinite Universe and Worlds (1584) ซึ่งศาลศาสนาตีความว่า มีเนื้อหาขัดแย้งกับข้อความเชื่อของศาสนจักร แน่นอนที่สุด เขาถูกเรียกตัวไปไต่สวนและถูกตัดสิน ประหารชีวิตในปี 1600 ควรรู้ ตำราล่าแม่มด (Malleus Maleficarum) ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ไปก่อนหน้า ในปี 1487 ผู้เขียนเป็นนักบวชคณะเดียวกันกับบรูโน และเหตุการณ์นี้อาจทำให้เกิดประโยคที่ว่า “พระเจ้าพร้อมจะหักหลังคุณ?” [1]
 



เนื้อหา

ไม่ใช่ว่าศตวรรษที่ 21 ไม่อยากฆ่า แต่ว่า ฆ่าไม่ได้ตรงๆ เป็นอะไรที่ต้องเน้นย้ำอยู่บ่
อยๆ เพื่อจะได้เข้าใจกลเกมของผู้มีอำนาจซึ่งปรารถนาจะกำจัดผู้ขัดขวางอำนาจเสมอ เพราะประเด็นเรื่อง “ฆ่า” เป็นสิ่งที่ประชาคมโลกซึ่งมีประวัติศาสตร์ของรอยแผลทางใจจากการฆ่ามา มากจะไม่ยอมให้เกิดขึ้น ฉะนั้น “การฆ่า” ต้องกระทำอย่างปิดบัง ซ่อนเร้น และซับซ้อน และบ่อยครั้งอีกเช่นกันที่ “การฆ่า” วิวัฒนาการไปเป็นการลิดรอนเสรีภาพ

อาจกล่าวได้ว่า การลิดรอนเสรีภาพเป็นทางเดียวที่ชอบธรรมในกรณีที่ไม่อาจฆ่าได้  และเรื่องนี้ไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ
้น แต่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาหลายร้อยปีแล้ว ในปี 1633 นักดาราศาสตร์กาลิเลโอ ถูกศาลศาสนาพิพากษาภายใต้การรับรองของสันตะปาปาประมุขของศาสนจักรว่า ให้กาลิเลโอยืนยันสิ่งที่ตนเองพูดว่าไม่ใช่ความจริง มากไปกว่านั้น เขาถูกส่งตัวไปกักบริเวณที่เมืองซีเอนา โดยสันตะปาปาที่เคยเป็นเพื่อนของกาลิเลโอสำทับกับเขาว่า ถ้าพูดและเขียนเรื่องทำนองนี้อีกจะต้องประสบชะตากรรมเดียวกันกับ บรูโน ที่ถูกเผาไปเมื่อ 33 ปีที่แล้วอย่างแน่นอน จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่เราเห็นนี้ แน่นอนว่า ศาสนจักรไม่อาจหลบเลี่ยงความรับผิดชอบต่อเสรีภาพในบั้นปลายชีวิตของกาลิเลโอได้ ฉะนั้น ในปี 1992 สันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ในนามประมุขของศาสนจักร ทรงแสดงความเสียใจเกี่ยวกับความผิดพลาดนี้อย่างเป็นทางการ ต่อมาในปี 2008 ได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ของเขาไว้ที่กำแพงด้านนอกของนครรัฐวาติกันด้วยในโอกาสครบรอบ 400 ปีของการสร้างกล้องโทรทรรศน์ของเขา

จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ทำให้ทุกอย่
างเป็นไป คือ “การตัดสิน” ในกรณีนี้เป็น “การตัดสินของศาลศาสนา” และที่ตามมาอย่างติดๆ คือ “บรรทัดฐานของการตัดสิน” เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า การตัดสินหรือพิพากษาในยุคปัจจุบัน เป็นเรื่องจำเป็นมากที่จะต้องพิจารณาคำพิพากษาในกรณีที่ใกล้เคียงกันในอดีต เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐาน หรือเพื่อสร้างบรรทัดใหม่ ตามวัตถุประสงค์ขององค์ผู้พิพากษาอย่างใดอย่างหนึ่ง และบางครั้ง “การตัดสิน” อาจมีปัญหาก็ได้ เช่นเดียวกับที่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบรูโน หรือ กาลิเลโอ (นั่นเป็นเหตุผลที่ยุคปลดปล่อยพยายามจะพัฒนาระบบกฎหมายเพื่อให้หลุดพ้นจากมรดกของศาลศาสนานี้)

ซาร์ตร (Sartre:1905-1919) นักคิดแนวอัตถิภาวะนิยม เสนอว่า มนุษย์ทุกคนมีแนวโน้มที่
จะหลอกตัวเอง (mauvais foi) กล่าวคือ ความพยายามที่จะไม่รับรู้เสรีภาพของตัวเองด้วยการแสร้งว่าเราไม่มีเสรีภาพ ฉะนั้น มนุษย์ที่หลอกตัวเองแบบนี้จำเป็นต้องอ้างอะไรก็ตามที่เป็นบรรทัดฐานหรือกฎเกณฑ์ตายตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อยืนยันว่าการกระทำของตนเองนั้นถูกต้อง ไม่ว่าจะเทียบกับกฎเกณฑ์ทางศาสนา หรือ กฎหมายก็ตามแต่จริต ฉะนั้น มนุษย์เหล่านี้จะมีข้อแก้ตัวอยู่เบื้องหลังและจะมีการแสดงเหตุผลที่ชอบธรรมอยู่เบื้องหน้าเสมอ [2] สมมติ เราเชื่อข้อเสนอของซาร์ตร นั่นแปลว่า เราไม่อาจตัดสินใครเชิงคุณค่าได้ แม้กระนั้น เรายังพอตัดสินในเชิงตรรกะได้ว่า ใครก็ตามที่เราพิจารณา “หลอกตัวเอง” หรือไม่?  นั่นคือ เราจะรู้ว่า สิ่งที่ใครก็ตามเลือกยืนอยู่บนความผิดพลาด(หลอกตัวเอง)หรือยืนอยู่บนความจริง [3]

กลับมาที่ศาลศาสนา เห็นได้ชัดแล้วว่ามีการอ้
างกฎเกณฑ์ หรือ ปทัสสถาน บางอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ ในที่นี้ บรรดาองค์คณะผู้พิพากษาหรือแม้แต่สันตะปาปาเองต่างอ้างข้อพระคัมภีร์เพื่อตัดสิน และการอ้างนั้นไม่ทำให้พวกเขาต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เลือกเพราะพระคัมภีร์ถูกสถาปนาว่าเป็นความชอบธรรมไว้แล้ว ซาร์ตรเสนอว่า ที่จริงสถานการณ์ไม่ได้กำหนดให้เราตัดสินอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เป็นเราเองต่างหากที่ตัดสินอย่างนี้ แต่อย่างที่กล่าวไป มนุษย์มีแนวโน้มของการโทษสถานการณ์และจะไม่โทษตัวเอง เพราะต้องการปฏิเสธความรับผิดชอบ ฉะนั้นต้องโยนความผิดให้กับกระบวนการ ความจำเป็น หรืออะไรสักอย่างภายนอกที่อ้างว่ามีผลบีบบังคับให้ตัดสินเช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม กระบวนการฆ่
าในนามความชอบธรรมของศตวรรษที่ 21 ซึ่งทำได้ดีที่สุดแค่การลิดรอนเสรีภาพ เป็น “เหตุผลแท้” ที่อยู่เบื้องหลังการอ้างกฎเกณฑ์ที่ดูเหมือนจะดีงามต่างๆ เพราะ ธงได้ถูกตั้งไว้ก่อนหน้านั้นแล้วว่าจะปฏิบัติเช่นนี้และตัดสินเช่นนี้ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ที่สำคัญ เมื่อมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ การโยนความผิดให้กับระบบหรือกระบวนการ หรือแม้กระทั่งตัวบทกฎหมายซึ่งไม่มีชีวิต เพื่อให้มันเป็นผู้รับผิดชอบเสรีภาพและชีวิตคนที่สูญเสียไป? ทั้งที่ ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจได้เลือกใช้เครื่องมือเหล่านั้นเองแท้ๆ แต่ความผิดกลับถูกโน้มน้าวบ่ายเบี่ยงให้ไปตกกับอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่ผู้ตัดสิน แบบนี้ตามความเข้าใจของซาร์ตรจะเรียกว่า “มนุษย์ตระบัดสัตย์ เป็นมนุษย์ที่สร้างกำแพงของข้ออ้างขึ้นมา และไม่รับผิดชอบอะไรเลย” [4]

ความตายของบรูโน? เสรีภาพที่ถูกลิดรอนของกาลิ
เลโอ? ใครเล่าจะรับผิดชอบ? ใช่แล้ว สำหรับมวลมนุษย์ที่ชอบหลอกตัวเอง ความพลาดพลั้งที่เกิดขึ้นทั้งหมดถูกโยนให้เป็นผลมาจากอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่น้ำมือมนุษย์ ทั้งๆที่ รู้อยู่แก่ใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างถูกดำเนินการและสำเร็จไปด้วยน้ำมือมนุษย์? ใครเล่าเป็นผู้สั่งการให้ประหารและลิดรอนเสรีภาพบุคคลเหล่านั้น? ไม่ใช่มนุษย์หรอกหรือ? ซึ่งวิธีคิดลักษณะนี้ กลับดำเนินอยู่ในบางประเทศที่ไม่ยอมรับความจริงอันโหดร้ายและขมขื่นของการถูกสาปให้มีเสรีภาพ นั่นเพราะยังไม่พร้อมที่จะรับผิดชอบภาระอันหนักอึ้ง หากแต่พร้อมจะโยนความรับผิดชอบนี้ให้สิ่งอื่น?

สรุป

สมมติ เราสร้างเหตุการณ์จำลองว่า มีกระบวนการไต่สวนผู้ผิดจารี
ตของสังคมหนึ่ง และกระบวนการดังกล่าวถูกรับรองภายใต้อำนาจชอบธรรมของความดีงาม ซึ่งบรรดาผู้ตัดสินของกระบวนการนั้นต่างอ้างความชอบธรรมที่จะตัดสินทุกอย่างตามกฎกติกาและความเป็นธรรม ต่อมาในยุคหนึ่ง บรรดาผู้ตัดสินกลับมีเจตนาแอบแฝงที่พิสูจน์ไม่ได้ (และไม่มีใครพิสูจน์ได้) ในการที่จะลิดรอนเสรีภาพผู้ผิดจารีตคนหนึ่ง และพฤติกรรมนี้ชัดแจ้งเสียจน มีใครในสังคมตะโกนถามด้วยความ สงสัย แต่คำตอบที่ได้รับกลับมาอยู่แค่ 2 อย่าง คือ 1 เงียบ (ลอยตัวเหนือปัญหา) 2 อ้างปทัสสถานและความจำเป็น เราจะกล่าวได้หรือไม่ว่า เป็นการหลอกตัวเอง? ซึ่งจริงๆ ไม่เห็นน่าอายเลยที่ยอมรับมาเสียตรงๆว่า “ก็ไม่พอใจ ก็อยากฆ่า แต่ฆ่าไม่ได้ตรงๆเลย ต้องอ้างนู่นอ้างนี่”  อย่างน้อยที่สุดการยอมรับนั้นก็แสดงให้เห็นว่าไม่ได้หลอกตัวเอง เช่นเดียวกับศาลศาสนาในประวัติศาสตร์ที่ยุติบทบาทอย่างเป็นทางการไปแล้ว เพราะคงไม่อยากหลอกตัวเองด้วย และคงดีกว่านี้ถ้าเพื่อนที่อยู่ข้างเดียวกันหรือต่อสู้แบบผิดจารีตมาด้วยกันกล้ายอมรับออกมาตรงๆว่า “ผมพร้อมจะหักหลังคุณ ผมจะปล่อยให้คุณตายคนเดียว”
 

ข้อมูลเพิ่มเติม
[1] ธเนศ วงศ์ยานนาวา: เสวนาที่ Book Re:public “การควบคุมศิลปะ” 
http://prachatai.com/journal/2013/01/44535
[2] [3] [4]  Jean-Paul SartreL''existentialisme est un humanism , 
http://www.danielmartin.eu/Textes/Existentialisme.htm
สมยศ พฤกษาเกษมสุข: เมื่อกาลิเลโอเจอข้อหา ไม่จงรักภักดี 
http://blogazine.in.th/blogs/somyot-redpower/post/3786