วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ตร. เตรียมจ่ายภาพละ 500 บ. หากได้คนในภาพต้านรัฐประหารมาปรับทัศนคติ


รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เผยเตรียมรับมือผู้ชุมนุมหน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ฝากเตือนนักศึกษาทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ให้คิดถึงอนาคตของตนเองด้วย
6 มิ.ย. 2557 พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินี และเจ้าหน้าที่ทหาร หลังมีกระแสข่าวว่าในวันนี้จะมี กลุ่มประชาชนออกมาชุมนุมที่บริเวณสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา
พล.ต.อ.สมยศ ยืนยันว่า หากมีผู้ชุมนุมออกมาทำกิจกรรมทางเจ้าหน้าที่ จะไม่ใช้ความรุนแรง ไม่มีการจับกุม แต่ทางตำรวจสันติบาล และเจ้าหน้าที่ทหาร จะบันทึกภาพไว้เป็นหลักฐานเพื่อเชิญตัวมาปรับทัศนคติ แต่หากพบว่าบุคคลใดมีการกระทำผิดซ้ำ ขั้นตอนต่อไป จะให้เจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้ดำเนินการ พร้อมฝากเตือน นิสิต นักศึกษา ที่ออกมาทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ขอให้คิดถึงอนาคตของตนเองด้วย
นอกจากนี้ พล.ต.อ.สมยศ เปิดเผยว่ามีประชาชนทยอยส่งภาพถ่ายบุคคลต่างๆที่ออกมาชุมนุม ฝ่าฝืนคำสั่ง ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ให้กับตำรวจแล้วส่วนหนึ่ง หลังจากนี้จะดำเนินการเรียกตัวมาปรับทัศนคติ และจะส่งมอบเงินรางวัลไปให้ผู้ส่งภาพละ 500 บาท
ขณะที่บรรยากาศด้านหน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา เจ้าหน้ารักษาความปลอดภัยได้นำรั้วเหล็กมากั้นทางเข้าออก พร้อมมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน จากกองบังคับการตำรวจนครบาล 5 / สน.ลุมพินี และตำรวจนอกเครื่องแบบ รักษาความปลอดภัยและความเรียบร้อยโดยรอบพื้นที่

ทนายสิทธิ จี้ คสช.ยกเลิกกฎอัยการศึก ปล่อยตัวธนาพล หยุดส่งพลเรือนขึ้นศาลทหาร


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีความเห็นต่อกรณีการควบคุมตัว  นายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการ สนพ.ฟ้าเดียวกัน โดยทหาร โดยอ้างอำนาจตามกฎอัยการศึกว่าเป็นการจำกัดสิทะิเสรีภาพของประชาชน ขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม ชี้การจับกุมขาดความโปร่งใสและขาดซึ่งกระบวนทาง กม.ที่น่าเชื่อถือ การจำกัดเสรีภาพสื่อออนไลน์ที่ไม่มีการแสดงความเห็นที่ขัดต่อกฎหมายและการควบคุมตัวผู้ที่เคยถูกควบคุมตัวซ้ำอีกครังเป็นการกระทำที่ขาดความชอบธรรม

ในแถลงการณ์ ศูนย์ทนายสิทธิฯ ได้เรียกร้องให้ คณะรัฐประหาร คสช.ยกเลิกกฎอัยการศึกและการเควบคุมตัวหรือเรียกให้มารายงานตัวตามกฎอัยการศึกรวมถึงการยกเลิกการส่งตัวพลเรือนขึ้นพิจารณาคดีในศาลทหาร
๐๐๐๐

แถลงการณ์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
กรณีการควบคุมตัวนายธนาพล อิ๋วสกุล ซ้ำเป็นครั้งที่ 2
อ้างโพสต์ข้อความออนไลน์ขัดเงื่อนไขการปล่อยตัว

 
6 กรกฎาคม 2557

สืบเนื่องจากนายธนาพล อิ๋วสกุล เป็นผู้ถูกเรียกให้ไปรายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 5/ 2557 และได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมาโดยต้องลงนามในเงื่อนไขท้ายประกาศคณะรักษาความสงบที่ 39/2557 เพื่อให้ได้รับการปล่อยตัว ต่อมาเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งไม่ยอมแจ้งชื่อและตำแหน่งได้ขอนัดหมายกับนายธนาพลฯ ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2557 ในสถานที่สาธารณะแห่งหนึ่ง โดยนายธนพลฯ ได้ให้ความร่วมมืออย่างดี

แต่กลับปรากฏว่า นายธนาพลฯ ถูกควบคุมตัวและนำตัวไปค่ายทหารโดยรถยนต์ซึ่งไม่ได้ระบุว่าเป็นรถหรือยานพาหนะของราชการ อีกทั้งผู้ที่ทำการควบคุมตัวนายธนาพลฯ ก็ไม่ได้แสดงตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจหน้าที่จับกุมตามกฎอัยการศึกแต่อย่างใด จนกระทั่งเมื่อเวลาประมาณ 18.30 น. ได้มีการนำตัวนายธนาพลฯ ไปยังกองบังคับการปราบปรามโดยยังไม่การแจ้งข้อกล่าวหาใดๆ แต่มีการอ้างถึงการโพสต์ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ของนายธนาพลฯ หลังการได้รับการปล่อยตัวว่าอาจเข้าข่ายฝ่าฝืนเงื่อนไขของการได้รับการปล่อยตัวตามประกาศดังกล่าวข้างต้น

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีความเห็นต่อกรณีดังกล่าวและกรณีอื่นซึ่งได้รับการปฏิบัติในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน ดังต่อไปนี้
  • 1. การกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวท้ายประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 39/2557 กรณีผู้ไปรายงานตัว และฉบับที่ 40/2557 กรณีผู้ถูกกักตัวตามกฎอัยการศึก ซึ่งให้ผู้ถูกปล่อยตัวระบุที่พักอาศัย ห้ามออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาต และห้ามเคลื่อนไหวหรือประชุมทางการเมืองใดๆ เป็นเงื่อนไขที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั้งในเรื่องความเป็นอยู่ส่วนตัว เสรีภาพในการเดินทาง และเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม การจำกัดสิทธิเสรีภาพดังกล่าวต้องเป็นกรณียกเว้นที่จำเป็นอย่างยิ่งโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้และต้องกระทำอย่างพอสมควรแก่เหตุ โดยต้องไม่เป็นการห้ามหรือจำกัดเสรีภาพไปเสียในทุกกรณีจนเป็นการทำลายเสรีภาพนั้นเสีย อีกทั้งยังต้องมีมาตรการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ตามเงื่อนไขท้ายประกาศดังกล่าวกลับกำหนดมาตรการจำกัดเสรีภาพให้มีผลบังคับเป็นการทั่วไปในทุกกรณีและยังไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกปล่อยตัวโต้แย้งแสดงเหตุผลในการคัดค้านเงื่อนไขอันเป็นผลร้ายต่อบุคคล ไม่มีกำหนดระยะเวลา และหากไม่ลงนามก็จะไม่ได้รับการปล่อยตัว การยินยอมลงนามท้ายเงื่อนไขดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นไปด้วยความสมัครใจ

  • 2. การดำเนินการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลและดำเนินการตามอำนาจกฎอัยการศึกในลักษณะดังกล่าวไม่โปร่งใส่และขาดซึ่งกระบวนการทางกฎหมายที่เชื่อถือได้ อาจเป็นการล่วงเกินสิทธิเสรีภาพจนเกินขอบเขต เช่น การไม่แนะนำตัวและตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งอาจทำให้ประชาชนรู้สึกไม่มีความมั่นคงและปลอดภัยในการดำเนินชีวิต เนื่องจากไม่ทราบว่าการถูกควบคุมตัวของตนนั้นกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐหรืออาชญากร

  • 3. การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งยังไม่ปรากฎว่าการแสดงความคิดเห็นดังกล่าวขัดต่อกฎหมายหรือเป็นการยั่วยุให้นำไปสู่ความรุนแรง โดยอ้างอำนาจตามกฎอัยการศึก นำไปสู่การกักตัวบุคคล เป็นการใช้จำกัดสิทธิเสรีภาพโดยไม่มีเหตุอันควร เกินความจำเป็น ไม่ได้สัดส่วน และถือเป็นการใช้อำนาจโดยอำเภอใจและส่งผลเป็นการละเมิดเสรีภาพของบุคคล

  • 4. การอ้างอำนาจตามกฎอัยการศึกเพื่อกำหนดเงื่อนไขของการปล่อยตัวโดยห้ามมิให้บุคคลแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองอย่างสิ้นเชิงและเพื่อใช้ดุลพินิจควบคุมตัวบุคคลซ้ำอีก 7 วันเป็นครั้งที่สองในกรณีดังกล่าวนี้ จึงเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของบุคคลแบบเหวี่ยงแห (blanket derogation) ซึ่งเป็นการใช้อำนาจเพื่อจำกัดหรือส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนเกินสมควร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งฝ่ายกฎหมายหมายจึงควรทบทวนเงื่อนไขและวิธีการที่ใช้บังคับตามกฎอัยการศึก

                  โดยเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพ เช่น การกักตัว การเรียกให้มารายงานตัว การติดตาม ติดต่อ การเยี่ยม การขอพบปะบุคคล ตลอดจนการกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคล ซึ่งเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่อย่างกว้างขวางโดยปราศจากมาตรการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจ และนำไปสู่การใช้อำนาจโดยอำเภอใจและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะแม้จะอ้างอำนาจตามกฎอัยการศึก แต่ความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของเจ้าหน้าที่ยังต้องอยู่ภายใต้หลักความพอสมควรแก่เหตุ ความโปร่งใส และการตรวจสอบถ่วงดุลโดยฝ่ายตุลาการ

ด้วยเหตุดังกล่าวศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติปล่อยตัวนายธนาพล อิ๋วสกุล จากการควบคุมตัวโดยปราศจากเงื่อนไข และยืนยันข้อเสนอเดิมตามรายงาน 1 เดือนหลังรัฐประหารของศูนย์ทนายความฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอดังต่อไปนี้

  • 1. ให้ยุติการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก โดยยกเลิกประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ เนื่องจากปัจจุบันไม่มีเหตุให้ใช้กฎอัยการศึกอีกต่อไปแล้ว และให้ใช้กฎหมายตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติ

  • 2. ให้ยุติการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกและยุติการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมโดยสงบหรือแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต รวมทั้งให้ยกเลิกประกาศห้ามชุมนุม

  • 3. ให้ยกเลิกการบังคับให้บุคคลมารายงานตัว และการใช้อำนาจควบคุมตัวบุคคลโดยโดยอำเภอใจ

  • 4. ให้ยกเลิกการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารตามประกาศเรื่องความผิดที่อยู่ในอำนาจดำเนินคดีของศาลทหาร

ด้วยความเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

คำสั่ง คสช. 86/2557 เรียก เสธ.อ้าย-วีระ สมความคิด มารายงานตัว


วีระ สมความคิด (ซ้าย) และ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ (ขวา) (ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ/วิกิพีเดีย)

              คำสั่ง คสช. 86/2557 เรียก พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์-วีระ สมความคิด มารายงานตัว 7 ก.ค. 10 โมงเช้า พร้อมชี้แจงว่าการเชิญบุคคลมารายงานตัวกับ คสช. จะใช้เวลาดูแลและทำความเข้าใจไม่เกิน 7 วัน ผู้ที่มีรายชื่อที่มารายงานตัวเกือบทั้งหมดให้ความร่วมมือดีและสามารถกลับบ้านได้

               6 ก.ค. 2557 - คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. มีคำสั่งฉบับที่ 86/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติม โดยเป็นการเรียก พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ และ นายวีระ สมความคิด ซึ่งเพิ่งได้รับอิสรภาพหลังจากถูกคุมขังในประเทศกัมพูชามาตั้งแต่ปลายปี 2553 แต่มีการจัดพบปะสังสรรค์ที่สนามม้า นางเลิ้ง ทำให้ คสช. มีคำสั่งดังกล่าว โดยมีรายละเอียดดังนี้
000
คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ที่ 86/2557
เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติม
               เพื่อให้การรักษาความสงบและการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงให้บุคคลเข้ามารายงานตัว ณ หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ ในวันที่ 7 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557 เวลา 10.00 – 12.00 น. ดังนี้
  • 1. พลเอกบุญเลิศ แก้วประสิทธิ์
  • 2. นายวีระ สมความคิด

สั่ง ณ วันที่ 6 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

              อนึ่ง กรณีการเชิญตัวบุคคลให้เข้ามารายงานตัวตามคำสั่ง คสช.ก่อนหน้านี้ คสช.ขอเรียนชี้แจงทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนว่า การเชิญตัวดังกล่าว เจ้าหน้าที่จะใช้เวลาในการดูแลและทำความเข้าใจเท่าที่จำเป็น ไม่เกิน 7 วัน ทั้งนี้ ผู้ที่มีรายชื่อในคำสั่งให้มารายงานตัวของ คสช.เกือบทั้งหมด ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และสามารถเดินทางกลับได้ ภายในวันที่รายงานตัว จึงเรียนมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

ทำไมแซนด์วิชมีสรรพคุณต้านรัฐประหาร? คุยกับนักศึกษาขอพื้นที่ให้สปิริต ปชต.


รายงานสัมภาษณ์นักศึกษา ศนปท. ผู้ถูก คชส. ควบคุมตัวพร้อมนำไปปรับทัศนคติหลังคิดจะกินแซนด์วิชในวันครบรอบ 1 เดือนรัฐประหาร และนิยาม “ความสุข” ของพวกเขา พร้อมปูมหลังเคยต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
ในวันครบรอบ 1 เดือนรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) 22 มิ.ย. 56 นักศึกษา 6 คน จากศูนย์นิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบบุกควบคุมตัวขณะเตรียมจัดกิจกรรม “ไม่อะไรมว๊าก อยากกินแซนวิช” ที่ห้างสยามพารากอน และอีก 3 คน ซึ่งเป็นตัวแทนเข้าเจรจากับทหารก็ถูกควบคุมตัวไปปรับทัศนคติและออกมาพร้อมเงื่อนไขห้ามเคลื่อนไหวหรือสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยพวกเขามีเพียงแซนด์วิชที่อยู่ในกระเป๋าแต่ละคน เป็นหลักฐานในการเข้าควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่
ประชาไทได้มีโอกาสพูดคุยกับนักศึกษากลุ่มนี้ เพื่อสอบถามที่มาของกิจกรรมในวันนั้น และทำไมต้องไปกินแซนด์วิช รวมทั้งกระบวนการควบคุมตัว การสอบสวนและปรับทัศนคติของเจ้าหน้าที่ทหาร รวมไปถึงทัศนคติต่อความสุขของพวกเขาเหล่านั้น 6 คน (โดยขอสงวนชื่อจริงบางคนเพื่อความปลอดภัย)ซึ่งประกอบด้วย
ภาพนักศึกษาทั้ง 9 คนที่ถูกควบคุมตัว ซ้ายสุดคือเสก ผู้หญิงคนกลางคือลูกเกดและข้างๆคือธี (ที่มาภาพ เพจ กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD)
ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือ ‘ลูกเกด’ นักศึกษาคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ชั้นปีที่ 3 เริ่มทำกิจกรรมจุดเทียนเขียนสันติภาพ เรียกร้องห้มีการเลือกตั้ง ในมหาวิทยาลัย หลังจากนั้นเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มพอกันที ทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มนักศึกษาหลังรัฐประหาร กิจกรรมแรกที่ทำคือ “ตามหานกพิราบ” ร่วมกับนักศึกษากลุ่มอื่นๆ และจากนั้นจึงมีการพูดคุยร่วมกับนักศึกษาหลายมหาลัยตั้งเป็นกลุ่มนักศึกษาขึ้นมาในนาม ศนปท.
โดยลูกเกด เล่าด้วยว่าตนเองเคยออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เขื่อนแม่วงก์ด้วย โดยเธอให้เหตุผลว่า ช่วงนั้นได้มีโอกาสลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ พบว่าการทำเขื่อนมีปัญหาจากการไม่สามารถให้ข้อมูลที่แท้จริงกับชาวบ้านได้อย่างเต็มที่ บางคนยังไม่ทราบว่าตนเองต้องถูกเวนคืนที่ดิน เพราะในตัวต้นฉบับ EHIA ไม่มีการกล่าวไว้ เมื่อเจ้าหน้าที่ลงมาชี้แจงกับชาวบ้านก็ไม่มีการพูดถึงประเด็นนนี้ นอกจากนี้ตนเองก็เคยร่วมการเคลื่อนไหวต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับเหมาเข่งด้วย

ภาพกิจรรม “จุดเทียน เขียนสันติภาพ เพื่อต่อต้านความรุนแรง” ที่ มศว. 9 ม.ค. 57 (อ่านรายละเอียด)
ธีรชัย (สงวนนามสกุล) หรือ ‘ธี’ นักศึกษาคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตร ชั้นปีที่ 3 เริ่มการเคลื่อนไหวทางการเมืองจากการต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กับเพื่อนๆอีกหลายๆกลุ่ม จากนั้นจัดจุดเทียนเขียนสันติภาพ เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งที่มหาวิทยาลัยเกษตรฯด้วย และได้พูดคุยติดต่อกับเพื่อนๆหลายกลุ่มหลายมหาวิทยาลัย หลังรัฐประหารจึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “ตามหานกพิราบ” กับกลุ่มนักศึกษาธรรมศาสตร์ นำมาสู่การติดต่อพูดคุยกับนักศึกษาหลายมหาวิทยาลัยจนก่อเกิดเป็น ศนปท. ขึ้น
เสกสรร สายสืบ หรือ ‘เสก’ นักศึกษาคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ชั้นปีที่ 4 เริ่มทำกิจกรรมทางการเมืองจากการต้องการให้คนไปเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา จึงจัดกิจกรรมจุดพลุ เรือไฟ ชวนคนไปเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกันของนักศึกษา 3 พระจอมฯ และทำกิจกรรมจุดเทียนเขียนสันติภาพ จนกระทั่งหลังรัฐประหารมีการมาร่วมจัดกิจกรรมที่ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีการพูดคุยกับนักศึกษาจากสถาบันอื่นๆจนเข้ามาสู่ ศนปท.
ภาพกิจกรรม จุดพลุ เรือไฟ ชวนคนไปเลือกตั้ง เมื่อ ม.ค. ที่ผ่านมา (ที่มาภาพเพจ ลูกพระจอม ปกป้องประชาธิปไตย)
สลึง (นามสมุติ) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่าในตอนแรกตนเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง โดย จุดพลุ เรือไฟ ชวนคนไปเลือกตั้ง โดย 3 พระจอมฯ พร้อมทั้งจัดกิจกรรมจุดเทียนเขียนสันติภาพ ทั้ง 3 พระจอม คือที่พระนครเหนือ ลาดกระบังและบางมด หลังจากนั้นเมื่อเกิดรัฐประหารจึงติดต่อเพื่อนที่เคยทำงานร่วมกันมาก่อนหน้าเพื่อพูดคุย จนกระทั่งรวมตัวกันเป็น ศนปท.
มีมี่ (นามสมติ) จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าตนติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่สลายการชุมนุม นปช. ปี 53 แต่ไม่ได้ออกหน้าเพราะคิดว่ายังสามารถอยู่ในสังคมนี้ได้ พร้อมทั้งยังมีคนอื่นที่ออกไปขับเคลื่อนแล้ว แต่อย่างไรก็ตามช่วงที่มีการต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้นตนก็เป็นคนหนึ่งที่จัดงานร่วมต้าน พ.ร.บ.ดังกล่าวที่มหาวิทยาลัยฯ และหลังจากนั้นมีการจัดกิจกรรมจุดเทียนเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 ตนเองก็เข้าร่วม หลังจากนั้นตนก็เข้าร่วมกลุ่มจุดเทียนต่อ และได้ร่วมจัดกิจกรรม คืองานต่อต้านรัฐประหารที่ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากนั้นจัดกิจกรรมแจกแซนด์วิชที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ภาพกิจกรรมที่ลานโพธิ์ ธรรมศาสตร์ วันที่ 29 พ.ค. ที่ผ่านมา
00000
ทำไมต้องเป็นแซนด์วิช?
มีมี่ เล่าว่า เริ่มจาก ศนปท. จะจัดกิจกรรมขึ้นมาโดยที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยจัดฉายหนังเรื่องฮังเกอร์เกมส์ อ่านบทกวี และมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อการรัฐประหาร โดยจัดแบบปิคนิค จึงมีการเตรียมแจกแซนด์วิชด้วยเพราะเหมาะกับการปิคนิค แต่วันจริงมีเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจ 350 นาย พร้อมด้วยรถกรงขังอีก 4 คัน มาที่มหาวิทยาลัย จึงไม่สามารถจัดกิจกรรมได้ จึงได้เพียงแจกแซนด์วิช แต่การที่พวกเราแจกแซนด์วิชที่เตรียมไว้ในวันนั้นนักข่าวก็ได้นำไปเขียนข่าวทำนองว่าเป็นแซนด์วิชต้านรัฐประหาร ก็เลยเป็นสัญลักษณ์ของการต้านรัฐประหารไป และเจ้าหน้าที่ก็ออกมากล่าวถึงกรณีนี้อีก กลายเป็นสัญลักษณ์ที่ คสช. สร้างขึ้นมา ซึ่งตัวพวกตนเองก็ไม่ได้คิดว่ามันจะเป็นสัญลักษณ์ต้านรัฐประหารแต่ต้น
ภาพกิจกรรมปิคนิคที่ ม.เกษตรฯ วันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา (อ่านรายละเอียด)

ลูกเกด กล่าวว่า พวกตนก็ไม่ได้คิดแต่ต้นว่าจะใช้แซนด์วิชเป็นสัญลักษณ์ของการต้านรัฐประหาร เพราะมันไม่สามารถหาความเชื่อมโยงอะไรได้เลย เป็นเพียงอาหารที่สามารถกินง่าย ถ้าวันนั้นเตรียมข้าวเหนียวหมูปิ้ง ข้าวเหนียวหมูปิ้งก็อาจกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต้านรัฐประหารไปเหมือนกัน
วันนั้นเมื่อเจ้าหน้าที่มาปิดทำให้พวกตนจัดกิจกรรมไม่ได้ ก็เลยขอแจกแซนด์วิชและกินแซนด์วิชที่เตรียมมาให้หมดแล้วกลับ แต่ที่เป็นสัญลักษณ์ต้านรัฐประหารเพราะส่วนหนึ่งมีนายตำรวจผู้ใหญ่ท่านหนึ่งออกมาพูดประมาณว่าการกินแซนด์วิชก็เข้าข่ายผิดกฏหมายแล้ว ทำให้สังคมตั้งคำถามแล้วว่าทำไมแค่การกินแซนด์วิช ในสถานการณ์ปกติสามารถทำได้ แต่ตอนนี้กลับจะกลายเป็นเรื่องผิด
สลึง กล่าวด้วยว่า ภาพวันนั้นที่ประชาชนได้รับแจกแซนด์วิชจากพวกตน เขามีความสุข เด็กตัวเล็กกิน 3 ชิ้นก็มีความสุขมาก ทหารหรือตำรวจ ตนเองก็ยื่นแซนด์วิชให้ แต่รู้สึกอึดอัดนิดนึงที่พี่ๆ นักข่าวขอให้เรากินหลายครั้ง ทำให้ตนต้องกินไปถึง 4 ชิ้น
"เท่านั้นละความสุขเริ่มล้นมาที่คอหอย(หัวเราะ)" สลึงกล่าว
22 มิ.ย. 57 วันถูกควบคุมตัว หลังเตรียมแจกแซนด์วิชที่สยามพารากอน
มีมี่ เล่าว่า เรามีการวางแผนว่าวันนั้นเราจะไปแจกแซนด์วิชที่สยามพารากอน มีการแบ่งทีมเป็นหลายๆ ทีม มีทั้งทีมที่ไปเรียกคน ทีมที่ไปแจกแซนด์วิช และมีทีมที่สังเกตการณ์อยู่ห่างๆ รวมถึงทีมเจรจาหากมีการติดต่อมาจากทางเจ้าหน้าที่ แต่ก่อนเริ่มงานเจ้าหน้าที่ก็ติดต่อเข้ามาขอเจรจา จึงได้ส่งทีมเจรจาไป แล้วหลังจากนั้นแบ่งทีมไปสยามพารากอน 2 ทีม และถูกจับกุมในเวลาต่อมา
ลูกเกด ในฐานะตัวแทนเข้าเจรจากับเจ้าหน้าที่ในวันเกิดเหตุ กล่าวเสริมว่า ก่อนจัดกิจกรรมมีทหารโทรมาติดต่อขอตัวแทนเจรจาเพื่อยุติการทำกิจกรรม โดยมีตัวแทนไป 3 คน ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล
เมื่อถึงทหารได้พูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติทางการเมือง เช่น ทำไมรอไม่ได้ ทำไมต้องออกมาเคลื่อนไหวเลย เป็นต้น จึงมีการถกเถียงกัน ซึ่งตัวแทนเจรจาชี้แจงพวกตนเองเป็นเพียงแค่ตัวเจรจาไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจทั้งหมดว่า ศนปท. จะยุติการเคลื่อนไหวหรือไม่ เพราะต้องเป็นมติของกลุ่ม เวลาต่อมาเมื่อทางตัวแทนเจรจาขอตัวกลับก็ถูกทหารขู่ว่าตำรวจที่อยู่ด้านนอกจะจับ พวกตนจึงตัดสินในอยู่ต่อที่โรงแรมและโทรติดต่อเพื่อนที่อยู่ด้านนอกว่าพวกตนอยู่ในโรงแรมไม่สามารถออกไปได้
ต่อมาภายหลังทราบว่าเพื่อนในกลุ่ม 6 คน ถูกจับที่ห้างสยามพารากอนก่อนจัดกิจกรรมแจกแซนด์วิช ทหารบอกจะพาพวกตนไปที่ สน.ปทุมวัน เป็นสถานที่ๆ เพื่อน 6 คนอยู่โดยนำทั้ง 3 คน ขึ้นรถตู้ไป โดยจุดหมายที่พาไปนั้นไม่ใช่ สน.ปทุมวัน แต่เป็นสโมสรทหารบก วิภาวดี หลังจากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการสอบสวน
ในการสอบสวนนั้น เจ้าหน้าที่ถามถึงสาเหตุที่ออกมาทำกิจกรรม ข้อมูลส่วนตัว วาดแผนที่พักอาศัย พูดคุยปรับทัศนคติ โดยมุ่งหมายต้องการให้พวกตนยุติการเคลื่อนไหวก่อนเพื่อสร้างความสงบให้ประเทศชาติ  
นอกจากนี้มีการถามโครงสร้างกลุ่มว่าเป็นอย่างไร มีใครบ้าง ใครเป็นคนประสานงาน ใครเป็นแกนนำ โดยระหว่างสอบสวนนั้นได้ยึดเครื่องมือสื่อสารไปด้วย พร้อมทั้งให้เซ็นข้อตกลงว่าจะไม่ออกนอกประเทศยกเว้นได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. และไม่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ให้ความช่วยเหลือการเคลื่อนไหวทางการเมือง หากผิดเงื่อนไขเหล่านี้จะต้องถูกดำเนินคดีและถูกอายัติธุรกรรมทางการเงิน ก่อนจะปล่อยตัวในคืนวันนั้นเวลาตีสอง
ทหารให้พวกตนมารับโทรศัพท์คืนในวันที่ 24 มิ.ย. เวลา 9.00 น. โดยพวกตนได้เดินทางไปรับในวันเวลาดังกล่าวที่สโมสรกองทัพบก วิภาวดี และทหารบอกกับพวกตนด้วยว่ามีผู้ใหญ่คือ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายาอยากพูดคุยด้วย จึงพาพวกตนไปที่สโมสรทหารบกที่เทเวศน์ต่อ

ภาพขณะถูกจับกุมตัว ภาพโดย VICE News  
เสก ซึ่งถูกจับกุมที่ห้างสยาม พารากอน เล่าเสริมด้วยว่า ช่วงที่ตัวแทนเจรจาเดินทางไปเจรจากับทหารนั้น พวกตนที่อยู่ที่ห้องสยาม พารากอน ได้พูดคุยกันว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีข้อสรุปชัดว่าจะจัดกิจกรรมหรือไม่ แต่ขณะที่พูดคุยกันบริเวณห้องโถงของห้างนั้นกลับถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาเชิญตัว และพาไปที่ สน.ปทุมวัน ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการจัดกิจกรรมแต่อย่างไร โดยไม่มีใครสักคนหยิบแซนด์วิชที่อยู่ในกระเป๋ามากิน
"มันเหมือนแซนด์วิชเป็นอาวุธร้ายแรงเลย" เสกกล่าว
 ‘เสก’ เสกสรร สายสืบ
สลึง เล่าถึงสถานการณ์ขณะนั้นที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ แต่คอยมอนิเตอร์ข่าวสารด้านนอก ประสานทนายความ เช่นเดียวกับ มีมี่ ที่ไม่ได้เข้าไปเดินในห้างสยามพารากอน แต่สังเกตการณ์อยู่ด้านนอกห้าง ทำให้ไม่ถูกควบคุมตัวไปด้วย 
เสก เล่าต่อว่า หลังจากถูกจับตัวไปที่ สน.ปทุมวัน มีการทำบันทึกประจำวัน โดยกลุ่มคนที่ดำเนินการจับกุมนั้นตนเองไม่ทราบว่าเป็นใคร เนื่องจากไม่แต่งเครื่องแบบหรือแสดงตัว การล็อคตัวตนไปนั้นเป็นปกติไม่ได้ใช้ความรุนแรงอะไรมาก แต่มีเพื่อนที่ถูกจับกุมที่บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ แม้ฝ่ายปฏิบัติการจะปฏิบัติตัวแข็งกระด้าง แต่ผู้ใหญ่ได้ขอโทษแล้ว
หลังจากนั้นนำตัวไปที่สโมสรกองทัพบอก วิภาวดี และสอบสวนเสร็จ ได้ปล่อยจากที่นั่นเวลา 2.00 น. โดยให้ติดต่อผู้ปกครองมารับตัว นอกจากนี้มีอาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล มาเจรจากับทหารเพื่อให้ปล่อยตัวทหารด้วย
มีคนบอกว่าข้าวสารมันเป็นข้าวสุกแล้ว ต้านไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร ทำไมไม่รอให้เขามีการเลือกตั้งก่อน คสช.ก็มีโรดแมปแล้ว ทำไมยังต้องออกมาต่อต้านอีก?
ลูกเกด กล่าวว่า เวลานี้เราไม่ใช่ประชาธิปไตย เราอยู่ใรประเทศที่ปกครองแบบเผด็จการ เราไม่ได้มีสิทธิเสรีภาพเหมือนเมื่อก่อนแล้ว แต่สิ่งที่เราออกมาทำกิจกรรมในวันนั้นเพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าเราต้องการใช้ชีวิตอย่างที่เราเคยเป็นอยู่ก่อนหน้ารัฐประหาร เราต้องการบอกว่าการทำรัฐประหารเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดอำนาจอธิปไตยของเรา เรามีสิทธิที่จะเลือกตั้ง อย่างกิจกรรมการกินแซนด์วิชมันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเราหรือไม่ ที่เราจะสามารถกินได้ เพราะในตอนที่เราไปเจรจากับเจ้าหน้าที่ทหารเราก็ยอมตกลงว่าการทำกิจกรรมจะไม่มีการพูดถึงการเมือง แต่เราขอแค่ไปนั่งกินแซนด์วิชกันเฉยๆ จะไม่มีการพูดเรื่องการเมือง ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ให้ไว้กับเจ้าหน้าที่ทหารตอนเรียกไปเจรจา แต่อย่างไรก็ตามเขาก็ควบคุมตัวพวกตนอยู่ดี
"กิจกรรมครั้งนี้เราต้องการสะท้อนให้สังคมได้ตระหนักว่า ทำไมแค่การกินแซนด์วิช ซึ่งปกติเป็นสิ่งง่ายๆ ที่ทำได้ แต่ทำไมเวลานี้ หลังรัฐประหาร เรากลับทำมันไม่ได้" ลูกเกดกล่าว
มีมี่ กล่าวว่า ไม่ใช่ว่าการรัฐประหารไม่ดี แต่การแก้ปัญหาทุกอย่างนั้นเราสามารถคิดหาวิธีแก้ได้หลายวิธี มีเพื่อนพูดถึงกรณีการยิงกัน การฆ่ากัน จึงเป็นเหตุจำเป็นของการทำรัฐประหาร ซึ่งตนมองว่าการรัฐประหารไม่ใช่วิธีการเดียวสำหรับการแก้ปัญหาเหล่านี้ เพราะกลไกของระบอบประชาธิปไตยมีตัวแก้ปัญหาตรงนี้อยู่แล้ว เพียงแต่มีคนบางกลุ่มไม่ยอมรับกลไกเหล่านั้นเท่านั้นเอง
หลังรัฐประหารการที่พวกตนยังออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน เนื่องจากอันดับแรกคือ เรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน สอง คือเราไม่สามารถห้ามความคิดความรู้สึกคนได้ เราไม่เห็นด้วยว่าจะทำให้คนไทยจะรักกันได้ สามัคคันได้ ไม่ได้โลกสวยขนาดนั้น เพราะในความเป็นจริงคนเราก็ไม่สามารถรักคนที่เคยด่าตัวเราเองได้ รวมทั้งการรัฐประหารเป็นการรวบอำนาจไว้กับคนเพียงกลุ่มเดียวด้วยอำนาจด้วยอาวุธปืน เพราะฉะนั้นคนกลุ่มนั้นก็จะทำอะไร จะจับใครก็ได้ อาจลืมคำนึงถึงศีลธรรมมนุษยธรรมไปเลยก็ได้
ส่วนอีกข้อหนึ่งเราจะไม่โลกสวย มองเพียงว่าคนนั้นโกง คนนี้ดี ไม่ได้ เพราะคนเราไม่มีใครดีหรือเลว 100% แต่การโกงในระบอบประชาธิปไตยมันมันโกงโดยผิดกฏหมาย โกงแล้วเราสามารถตรวจสอบได้ มีองค์กรอิสระต่างๆ คอยมาตรวจสอบ แต่โกงในรัฐบาลทหารหรือเผด็จการทหารมันเป็นการฉ้อฉลอย่างถูกกฏหมาย เป็นการโกงที่ไม่มีอะไรตรวจสอบได้
อย่างน้อยเรามีประชาธิปไตยก็ได้พูดได้แสดงคว่ามคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่เราต้องการ การรัฐประหารประเทศไทยมีมา 10 กว่าครั้งแล้ว แต่ประเทศไทยก็ไม่ได้ดีขึ้น ถึงแม้กองทัพบอกว่ากองทัพมีบทเรียนเรื่องการรัฐประหารที่ไม่ประสบผลสำเร็จมามากมายก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้
เสก กล่าวถึงเหตุที่ออกมาเคลื่อนไหวนั้น แม้มีคนบอกว่าเมื่อข้าวสารมันสุกไปแล้วจะกลับมาเป็นข้าวสารอีกไม่ได้ รัฐประหารไปแล้วทำอย่างไรก็ไม่สามารถล้มรัฐประหารได้ ตอนนี้ก็เห็นด้วยว่าไม่สามารถล้มได้ แต่ที่ต้องการออกไปก็เพื่อต้องการขอพื้นที่ในการแสดงออกบ้าง เหมือนเราต้มน้ำในหม้อ แต่เอาฝาปิดโดยไม่ให้มีรูออกเลย พอมันเดือด สักวันมันต้องระเบิดไหม กับการปล่อยให้มีพื้นที่น้อยๆ รูเล็กๆ ให้ไอน้ำออก มันย่อมระบายเพื่อไม่ให้หม้อระเบิด อยากน้อยควรมีพื้นที่ให้ประชาชนที่ไม่พอใจได้แสดงออกอย่างสันติ อาจมีช่วงกำหนดระยะเวลาในการแสดงออกก่อนก็ได้ 
ธี กล่าวว่า ตนยอมรับว่าคณะรัฐประหาร คสช. ชนะไปแล้ว ในการรัฐประหาร แต่ก็ยังยืนยันจะออกมา
"ขณะนี้อยู่ในห้วงเวลาของอำนาจเผด็จการอย่างเต็มที่ แต่ที่พวกเราออกมานั้น ต้องการให้เห็นว่ามันยังมีสปิริตของความเป็นประชาธิปไตยหลงเหลืออยู่ คนไม่ได้คล้อยตาม คสช.ทุกคน เราแค่รักษาพื้นที่ที่คนเห็นต่างกันได้ก็เท่านั้น เพื่อให้ประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไปได้ในอนาคต ไม่ให้เราเคยชินกับอำนาจเผด็จการ" ธีกล่าว
สลึง กล่าเสริมด้วยว่า การที่พวกตนออกมาเคลื่อนไหวนั้นเพื่อไม่ให้คนเคยชินกับเผด็จการ เป็นการรักษาสปิริตของคนให้รักษาสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง
ธีและลูกเกด ในกิจกรรมแจกแซนด์วิชที่ ม.เกษตรฯ
นักศึกษามีปฏิกิริยาอย่างไรบ้างกับการรัฐประหาร?
มีมี่ กล่าวว่า สามารถแบ่งได้ดังนี้ ประเภทแรก พวกที่ชื่นชม ยกย่อง ถูกจริต สรรเสริญตัวของทหารและการทำรัฐประหาร ประเภทที่ 2 คือกลุ่มบุคคลที่ไม่มีความคิด คล้อยตามอาจารย์พูดชื่นชม คสช. ก็แห่ไปด้วย ประเภทที่ 3 คือกลุ่มคนที่ไม่ได้เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร มีค่อนข้างมาก แต่ไม่ค่อยกล้าแสดงออกเนื่องจากสถานการณ์การเมืองแบบนี้
สลึง กล่าวเสริมว่า มีกลุ่มคนอีกหนึ่งประเภทคือ กลุ่มคนที่ไม่ค่อยสนใจการเมือง แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์จับกุมผู้ประท้วงการทำรัฐประหาร เช่น เพื่อนบางคนก็สงสัยว่าแค่ไปกินแซนด์วิช ทำไมถึงต้องจับกุมด้วย หลายคนมองว่าเจ้าหน้าที่ทำเกินไปหรือไม่
เสก กล่าวด้วยว่า ปกติถ้าคนเราทำกิจกรรมประจำวันแล้วไม่มีอะไรมาเดือนร้อนถึงเรา เราก็จะไม่ไปเดือนร้อนกับมัน แต่เมื่อเพื่อนเริ่มมาสนใจ เพราะตัวเราโดนเอง ทำให้เพื่อนเราที่อยู่รอบข้างเราเริ่มรู้สึกว่ามันเริ่มเข้าใกล้ตัวพวกเขาแล้ว จึงเริ่มมาศึกษาเพิ่มขึ้น
มีมี่ กล่าวต่อด้วยว่า ตนเองได้เล่าเรื่องเหตุการณ์ที่กลุ่มถูกจับกุมตัวนั้น ทำให้เพื่อนๆ รู้สึกขำกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขำกับพฤติกรรมของทหาร พร้อมทั้งตั้งคำถามว่า คสช.ทำอะไรอยู่ ทำไมมองแซนด์วิชเป็นอาวุธ แม้กระทั่งเพื่อนบางคนเป็นกลุ่มที่สนับสนุนทหาด้วยซ้ำ แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้เพื่อนๆ เหล่านั้นได้ตระหนักรู้ถึงปัญหาการละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน รวมทั้งการมองการรัฐประหารเป็นแฟชั่นและเป็นเรื่องขำขันไป ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณจากประชาชนว่าแม้คนจะเห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่พวกเขาก็รู้สึกขำขันและมองเป็นแฟชั่นกับพฤติกรรมของ คสช.อยู่ดี จึงทำให้คนไม่มองว่าการรัฐประหารสารถแก้ปัญหาได้ เป็นแต่เพียงคนที่มีปืนมาบังคับ
คสช. โชว์สโลแกนว่าจะคืนความสุข แล้วนิยามของคำว่า “ความสุข” ของแต่ละคนในที่นี้คืออะไร?
เสก กล่าวว่า ปกติความสุขของมนุษย์ทุกคน สิ่งที่ต้องการที่สุดคือเสรีภาพ เหมือนใครเอาโซ่มาล่ามเรา เราก็ไม่ชอบ
"วันนี้ผมไม่มั่นใจว่าผมมีเสรีภาพในประเทศนี้ ผมแค่จะไปกินแซนด์วิช เขาก็จับผม จริงๆ เขาสามารถให้เสรีภาพกับคนไทยภายใต้เผด็จการก็ได้ เขาสามารถรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนให้แก้ไขปัญหา ความต้องการต่างๆ ได้เช่นกัน  ผมว่าความสุขเขาไม่ได้คืนให้ ถ้าจะคืนความสุขก็ต้องคืนเสรีภาพ" เสกกล่าว
"ความสุขที่จะคืนให้ประชาชนนั้น ก็ต้องคืนให้กับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน หลายคนที่ถูกตามล่า ไม่มีความสุขจาก คสช. เพียงเพราะเขาคิดต่างจาก คสช. เขาจะมีความสุขได้อย่างไร ในเมื่อพวกเขาเป็นประชาชนเหมือนกัน แล้ว คสช. จะเรียกสิ่งที่ตนเองทำว่าคืนความสุขให้กับประชาชนได้อย่างไร" มีมี่กล่าว
"อีกอย่างคือเมื่อฉันไม่ชอบคุณ คุณมาทำอะไรให้ก็ไม่มีความสุขอยู่ดี และสิ่งที่ คสช. ทำจะยิ่งทำให้คนเกลียดกันมากขึ้น เช่น ให้คนไปดูหนังฟรี มีคนที่สนิทกันทำงานที่โรงหนัง เล่าให้ฟังว่า 250 ที่นั่งที่ให้ดูฟรีนั้น 100 ที่นั่งก็มีรายชื่อแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนไม่ทราบ ทำให้ประชาชนไปแย่งกันดูหนังจำนวนมาก และใช้วัฒนธรรมแบบทหารกับประชาชน เช่น การตะคอกใส่ประชาชน และให้คนจนๆ ไปแย่งกันในโรงหนัง แต่สื่อไม่ทำข่าวเรื่องการแย่งการทะเลาะกันเลย มันยิ่งเป็นการตอกย้ำชนชั้นตอกย้ำความจน ความไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคม ตอกย้ำความน้อยเนื้อต่ำใจกันของคน คสช. ไม่ได้คืนความสุขให้กับคนไทยทุกคน แต่คืนความสุขให้กับคนบางกลุ่มเท่านั้น เพราะฉะนั้นมันไม่มีทางสำเร็จ" มีมี่กล่าว
เสก เปรียบเทียบการคืนความสุขของ คสช.ว่า เหมือนการเลี้ยงสัตว์ไว้ในกรง ปิดรอบด้าน แล้วคอยให้อาหารและบอกว่าสิ่งที่ทำนั้นคือการคืนความสุข ซึ่งไม่ใช่เลย เพราะเราอยู่ในกรงที่ออกไปไหนไม่ได้ เหมือนเราอยู่ในกรงแล้วเขาก็ยัดเยียดว่าสิ่งเหล่านั้นเหล่านี้คือความสุขของคุณ ดังนั้นคุณต้องเอาไปกิน มันคงไม่มีความสุขกับการที่ต้องกินของที่คนอื่นบอกว่ามันอร่อย มันคือความสุขของคุณ แต่เราเลือกเองไม่ได้ ดังนั้นเมื่อใดที่เขาทนไม่ไหวสักวันเขาก็จะพังกรงออกมา
แต่มีบางคนที่ชิน ?
สลึง กล่าวว่า เพราะกลัวคนเคยชิน พวกเราถึงต้องออกมาแสดงให้เห็นมีคนที่เขาไม่เห็นด้วย และทำไม คสช. ไม่มองว่า สิ่งที่พวกเราทำก็เป็นการคืนความสุขให้กับประชาชนเช่นกัน เราออกมาคืนความสุขให้กับประชาชนอีกพวกหนึ่ง และเราไปแจกแซนด์วิชฟรีก็เป็นการคืนความสุขให้กับประชาชนเหมือนกัน
ลูกเกด กล่าวว่า องค์ประกอบของความสุข สิ่งแรกที่ต้องมีคือเสรีภาพ ไม่ว่าจะเป็นการมีเสรีภาพทางความคิด เสรีภาพที่จะตั้งคำถามว่าสิ่งนั้นนี้ดีถูกต้องหรือไม่ และมีเสรีภาพในการกระทำของเราโดยไม่ขัดกับสิทธิของผู้อื่น นอกจากนี้ความสุขยังเกิดได้จากการที่สังคมยอมรับความคิดที่หลากหลายแตกต่างกัน เพราะสังคมที่เราอยู่นี้ความจริงแล้วมีความแตกต่างหลากหลายจนไม่สามารถมาจัดประเภทคนได้อย่างชัดเจน เป็นไปได้หรือไม่ที่สังคมจะยอมรับสิ่งเหล่านี้ การที่ทำให้สังคมคิดเหมือนกันทุกอย่างนั้นถือเป็นสังคมที่มีปัญหา เพราะเมืองมีแต่คนที่คิดตามๆกันไปหมด ทำให้ไม่มีการตรวจสอบ คานอำนาจกัน
ความสุขอีกอย่างคือเรื่องของการที่เรามีสิทธิ มีอำนาจ ที่เราจะกำหนดกรอบและรูปแบบทิศทางการบริหารประเทศ ผ่านการลงคะแนนของพวกเรา และเมื่อเลือกตั้งแล้ว ได้พรรคการเมืองที่ดำเนินนโยบายที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ตามที่ประชาชนคาดหวังไว้ ส่งผลให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปประชาชนก็เรียนรู้แล้วว่าจะเลือกพรรคใหม่ได้
อีกเรื่องคือการที่คนในสังคมมองคนเท่ากัน ไม่ใช่มาตัดสินว่าคนจน คนโง่ มีสิทธิน้อยกว่าคนอื่น แต่ต้องมองว่าสิทธิในความเป็นคนมันมีเท่าเทียมกันแล้วตั้งแต่เกิดมา มันไม่ใช่การบอกว่าคนรวยควรมีสิทธิมากกว่าคนจน คนที่เสียภาษีมากกว่าควรมีสิทธิมากกว่าคนไม่เสียภาษี แต่อย่าลืมว่าในระบบเศรษฐกิจแล้ว แม่ค้าขายส้มตำก็มีส่วนที่ทำให้เงินตราหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ
ธี กล่าวว่า "ง่ายๆ ถ้าจะคืนความสุขให้กับคนในชาติจริงๆ ก็คืนอำนาจอธิปไตยให้กับประชาชน ให้เขาได้ตัดสินใจกันเอง เขามีสมอง เขาคิดเองได้"
เสก กล่าวเสริมด้วยว่า จริงๆ ไม่ใช่เรื่องผิดเลยที่คนรวยต้องเสียภาษีมาก คนจนเสียภาษีน้อย เพราะว่าคนรวยที่รวยนั้นก็เพราะได้รับผลประโยชน์จากสังคม เขาก็ต้องคืนให้กับสังคมมากด้วย เพราะฉะนั้นจะให้แม่ค้าขายส้มตำเสียภาษีเท่าคนรวยก็ไม่ได้ ที่ตนเองและพวกออกมาเรียกร้องครั้งแรกด้วยการจุดเทียนเขียนสันติภาพนั้นก็เพราะพวกผมต้องการ 1 สิทธิ 1 เสียงของผม แม้ตอนนี้มีการทำรัฐประหาร 1 สิทธิ 1 เสียงของพวกตนจะใช้ไม่ได้ ก็ขอแค่ให้เปิดพื้นที่สักเล็กน้อยก็พอ จริงๆ แล้วการจะคืนความสุขให้พวกตนนั้นก็คือคืน 1 สิทธิ 1 เสียง ก็พอ พวกตนไม่ได้ต้องการเสียงที่มากกว่าใคร ขอแค่ 1 เสียงก็เท่านี้เอง ถ้ามาแตะเสียงเพียง 1 เสียงของพวกตนก็ต้องสู้
ขอให้เจ้าหน้าที่แสดงตัวเวลาจับกุม
เสก กล่าวว่า ที่ตนเองรู้สึกแย่ที่สุดคือการเข้าจับกุมตัว แม้ไม่ได้ใช้ความรุนแรงมาก แต่มีท่าทางของเจ้าหน้าที่บางส่วนที่ไม่ดีบ้าง แต่ก็เข้าใจว่าเป็นฝ่ายปฏิบัติการ ซึ่งภายหลังเจ้าหน้าที่ผู้บังคับบัญชาก็กล่าวขอโทษกับพวกตนแล้ว อย่างไรก็ตามตนก็อยากให้เจ้าหน้าที่แสดงบัตร แสดงตนว่าเป็นใครมาจากไหน เพราะตอนนี้ไม่ทราบเลยว่าพวกเขาเป็นใคร การแสดงตัวนั้นจะทำให้เรามั่นใจขึ้นจะได้ปฏิบัติตามที่เขาร้องขอได้ ที่ฝากเรื่องนี้เพื่อเป็นผลดีต่อเจ้าหน้าที่เอง
ขอให้ทหารอดทนให้วัฒนธรรมประชาธิปไตยได้เติบโต
ลูกเกด กล่าวว่า "จากที่ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ทหารขณะถูกควบคุมตัว มีคำที่นายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายท่าน ได้พูดคุยกับเราว่าให้พวกเราอดทนรอสักหน่อยเพื่อให้ประเทศได้ก้าวหน้าไป และได้ประชาธิปไตยที่แท้จริง วันนี้คิดทบทวนมาหลายรอบแล้ว จึงอยากถามกลับไปยังเจ้าหน้าที่ทหารด้วยว่า พวกคุณอดทนได้หรือไม่ ให้วัฒนธรรมประชาธิปไตยมันเติบโตกับคนไทยอย่างแท้จริง ไม่ใช่เมื่อเกิดปัญหาแล้ว เอาปืนเอารถถังเข็นออกมาทำรัฐประหาร แม้จะทำให้สังคมสงบ แต่การสงบตรงนี้เขายอมสงบเพราะยินดีกับรัฐประหาร หรือเขาจำใจที่จะยินยอมเพราะอำนาจจากปลายกระบอกปืน"
ลูกเกิดกล่าวอีกว่า ระหว่างถูกควบคุมตัวนายทหารก็ฝากคำถามพวกตนมาว่าทำอย่างไรให้การเลือกตั้งมีประสิทธิภาพ ตนมองว่าวิธีการเริ่มต้นคือการมองคนให้เท่ากัน ยอมรับการตัดสินใจของประชาชนเท่านั้นการเลือกตั้งก็มีประสิทธิภาพแล้ว
ธี กล่าวว่า "อยากบอกผ่านสังคมไปว่าเผด็จการมันไม่เปิดให้ความคิดที่แตกต่างหลากหลายได้มีโอกาสแสดงตัวได้ ถ้าคุณไม่คิดเหมือนเขาคุณก็โดนปราบโดนจำกัด แต่ประชาธิปไตยต่อให้คุณชอบเผด็จการ อนุรักษ์นิยม เสรีนิยม สังคมนิยมประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้ทุกความคิด"
สลึง กล่าวว่า การเลือกตั้งเป็นวิธีการที่สร้างขึ้นมาเพื่อไม่ให้คนใช้วิธีการฆ่ากันเพื่อแย่งชิงอำนาจกัน ถ้าไม่มีระบบนี้คนก็จะไปใช้วิธีการจับปืนมาโค้นล้มกันไปมา ก็จะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ
มีมี่ กล่าวว่า อยากให้ประชาชนมีสำนึกในชนชั้นถูกต้องในชนชั้นของตนเอง และให้ประชาชนได้เรียนรู้จากเผด็จการแล้วมาตั้งคำถามกัน และตระหนักด้วยว่าในสังคมเผด็จการข้อมูลข่าวสารที่เราได้นั้นก็จะเป็นข้อมูลด้านเดียว จึงไม่อยากให้ฟังอะไรด้านเดียว อยากให้คนไทยยอมรับวิธีการประชาธิปไตยและได้รับข้อมูลหลายๆ ทางในการตัดสินใจ

“เชิญไปกินกาแฟเฉยๆ” รายงานกรณีนายธนาพล อิ๋วสกุล ถูกควบคุมตัวครั้งที่สอง


หนึ่งวันหลังจากรัฐประหารโดย คสช. นายธนาพล อิ๋วสกุล เป็นบุคคลที่สองที่ถูกจับกุมตัวซึ่งหน้าโดยทหารติดอาวุธที่อ้างว่าเขาเป็นผู้จัดการชุมนุมต่อต้านรัฐประหารบริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร แยกปทุมวัน ท่ามกลางสายตาสื่อมวลชนมากมาย 
วันรุ่งขึ้น ชื่อของธนาพลปรากฏในคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 5/2557 ให้บุคคลมารายงานตัว เขาถูกควบคุมตัว 7 วัน ณ ค่ายทหารแห่งหนึ่ง และถูกปล่อยตัวเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 โดยต้องลงนามในเงื่อนไขท้ายประกาศคณะรักษาความสงบที่ 39/2557 เพื่อให้ได้รับการปล่อยตัว
เพียงเดือนเศษหลังจากถูกปล่อยตัว ธนาพล อิ๋วสกุล ถูกควบคุมตัวเป็นครั้งที่สองหลังจากได้รับนัด “เชิญไปกินกาแฟเฉยๆ” ตามสถานที่และเวลาที่เจ้าหน้าที่เป็นผู้โทรศัพท์นัดหมาย
เช้าวันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม 2557 นายธนาพลได้รับนัดจากเจ้าหน้าที่ เดินทางไปคนเดียว โดยเพียงแจ้งให้บุคคลใกล้ชิดทราบเวลาและสถานที่นัดหมาย คือร้าน Coffee Zelection ใต้ตึกยศวดี ถนนพหลโยธิน 7 หรือซอยอารีย์ เวลา 12.30 น.
แหล่งข่าวรายงานว่าเมื่อถึงเวลานัดหมาย นายธนาพลเข้ามาสั่งเครื่องดื่มและอาหารไปนั่งอยู่โต๊ะส่วนด้านนอกร้าน  ผ่านไปเกือบครึ่งชั่วโมง นายทหารนอกเครื่องแบบ ทราบภายหลังชื่อ พ.ท.ภาสกร กุลรวิวรรณ จึงเข้ามาหาธนาพลภายในบริเวณรอบๆ ก็มีลูกค้าคนอื่นๆ นั่งอยู่ด้วย

เวลาประมาณบ่ายโมง เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 1 นาย เป็นชายร่างสูง ผมสั้น เสื้อโปโลสีเทา กางเกงยีนส์ มาสั่งกาแฟภายในร้านและเดินออกไปนั่งโต๊ะที่ธนาพลนั่งรออยู่ก่อนแล้ว 

บทสนทนาเริ่มต้นอย่างเป็นกันเอง เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไม่ได้มีน้ำเสียงข่มขู่และค่อนข้างพูดเบา ขณะที่ธนาพลพูดเสียงดังฟังชัดในทำนองที่ว่า ตัวเองไม่ได้ทำอะไรเกินเลยและไม่เคยแตะเรื่อง 112 “ผมทำตามที่ตกลงไว้ ผมไม่ได้ทำอะไรเลยนะ” เขาพูดย้ำเป็นระยะ
ผ่านไปเพียงประมาณสิบนาทีเท่านั้น นายธนาพลโทรศัพท์แจ้งบุคคลใกล้ชิดว่าตัวเองกำลังจะถูกทหารพาตัวไป นายธนาพลไม่ได้ขัดขืนแต่อย่างใด และได้ถูกคุมตัวขึ้นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลซึ่งแหล่งข่าวแจ้งภายหลังว่าเป็นรถทะเบียน ชล 8106 ขับออกไปจากร้านกาแฟ


หลังจากพูดคุยราว 15 นาทีได้มีการขอย้ายสถานที่ โดย พ.ท. ภาสกรเดินนำธนาพลมายืนรอรถนอกร้าน
และพาตัวขึ้นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล เชฟโรเลต เลขทะเบียน ชล 8106 ซึ่งมีคนขับออกมาจากลานจอด
ภายในรถไม่ทราบว่ามีเจ้าหน้าที่กี่คน นายธนาพลได้ถูกคุมตัวขึ้นรถไปโดยไม่มีการขัดขืนแต่อย่างใด

ขณะอยู่บนรถ นายธนาพลได้โทรแจ้งบุคคลใกล้ชิดว่าตนจะถูกนำตัวไปที่กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (สนามเป้า) และกล่าวเพียงว่าเสร็จแล้วจะโทรหาเอง จากนั้นก็ไม่มีใครติดต่อนายธนาพลได้อีกเลย
จนกระทั่งเวลาประมาณ 18.30 น. ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงได้รับแจ้งว่ามีการนำตัวนายธนาพลไปยังกองบังคับการปราบปรามโดยยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาใดๆ แต่มีการอ้างถึงจากนายทหารระดับสูงว่าเกี่ยวเนื่องกับการโพสต์ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ของนายธนาพลหลังได้รับการปล่อยตัวซึ่งอาจเข้าข่ายฝ่าฝืนเงื่อนไขตามที่ลงนามไป
ก่อนหน้านี้นายธนาพลยืนยันกับบุคคลใกล้ชิดว่า เขาเข้าใจว่าการนัดหมายครั้งนี้เป็นไปเพื่อ “กินกาแฟเฉยๆ” และทางเจ้าหน้าที่ทหารเองก็บอกเพียงว่า “เรียกไปคุย ไม่ได้จับ” เพื่อปรับความเข้าใจให้ตรงกัน เขายืนยันว่าเขาไม่มีเจตนาฝ่าฝืนเงื่อนไข หรือปลุกปั่นยุยงให้เกิดการต่อต้าน คสช. ดังที่เจ้าหน้าที่กล่าวกับเขาเลย เพียงแต่รายงานข่าวและแสดงความคิดเห็นของตนทางเฟซบุ๊กของตนเท่านั้น
และในการนัดหมายครั้งนี้ไม่มีสื่อมวลชนเข้ามาติดตามเหตุการณ์ ไม่มีการขัดขืนทางกายภาพหรือวาจา ซึ่งเป็นการยืนยันได้ว่านายธนาพลยินยอมมาตามนัดเพื่อ “กินกาแฟเฉยๆ” อย่างบริสุทธิ์ใจ โดยไม่รู้ตัวมาก่อนว่าตนจะถูกจับกุมและควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกของคณะรัฐประหาร  อนึ่งรายงานนี้เรียบเรียงขึ้นจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในภายหลัง