วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ม.จ.จุลเจิมแนะทหารตร.หญิงหมอนวดเป็นแนวกันพระ ปิ้งไก่หลังเที่ยงเรียกน้ำลายรอจับสึก


พล.อ.ประวิตร ย้ำรับข้อเสนอเครือข่ายคณะสงฆ์ ไม่ใช้ข้อผูกมัด รมว.ยุติธรรมวอนพระให้เกียรติทหาร เหมือนที่ทหารให้เกียรติพระ ยัน ไม่เลือกปฎิบัติ ขณะที่อธิบดีกรมศาสนา ชี้ จะให้พุทธฯเป็นศาสนาประจำชาติ ต้องฟังทุกภาคส่วนก่อน 'พุทธะอิสระ' งัด กม.ชุมนุม เตือนเตรียมตัวเตรียมใจไปเยี่ยมเยียนกันในคุก
16 ก.พ. 2559 จากเหตุชุลมุนระหว่างพระกับเจ้าหน้าที่ทหารที่พยายามสกัดกั้นไม่ให้รถยนต์พระและประชาชนจากศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย เข้าไปชุมนุมกันในสำนักพุทธ  พุทธมณฑล จ.นครปฐม วานนี้ (15 ก.พ.59) โดยมีข้อเรียกร้องเช่น เสนอให้บรรจุพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ให้รัฐบาลและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเร่งสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 ในทันที โดยให้เป็นไปตามวาระที่เหมาะสม เพื่อเป็นการแสดงพลังให้พระบางรูปที่เป็นปฏิปักษ์ จาบจ้วงประมุขสงฆ์ให้รู้สำนึกว่าการแสดงพลังไม่ได้ทำได้เฉพาะที่แจ้งวัฒนะเท่านั้น และ เพื่อแสดงออกในการปกป้องพระพุทธศาสนาจากภัยความมั่นคงเเละภัยคุกคามตามความเชื่อ นั้น
พล.อ.ประวิตร ย้ำรับข้อเสนอเครือข่ายคณะสงฆ์ ไม่ใช้ข้อผูกมัด
ล่าสุดวันนี้ (16 ก.พ.59) สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงกรณีที่ตัวแทนเครือข่ายคณะสงฆ์ และองค์กรภาคีพุทธบริษัท 4 ทั่วประเทศยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อ โดยระบุเป็นสังฆมติร่วมกันของที่ประชุมคณะสงฆ์จากทั่วประเทศ เพื่อให้นายกรัฐมนตรี ดำเนินการ ว่า ทุกอย่างเรียบร้อยดี ซึ่งรัฐบาลจะพิจารณาทุกข้อเรียกร้อง ยกเว้น ข้อ 5 ที่ให้บัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ เพราะต้องอยู่ที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นผู้พิจารณา
“การรับข้อเสนอเมื่อวานนี้ ไม่ใช่ข้อผูกมัดให้ฝ่ายบริหารต้องดำเนินการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่แต่อย่างใด  แต่ต้องให้นายกรัฐมนตรี ใช้เวลาในการพิจารณาตามมติของมหาเถรสมาคม  เรื่องนี้เป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร และสิ่งที่มหาเถรสมาคมมีมติมา สิ่งใดที่ยังมีความขัดแย้งนายกรัฐมนตรีต้องกลั่นกรองก่อน ไม่ใช่จะเสนอโปรดเกล้าฯ ได้ทันที ต้องสงบก่อน อย่าทะเลาะกัน ทุกอย่างถึงจะเดินไปตามกติกาได้ ทุกเรื่องมีกฎเกณฑ์ และมีระเบียบไว้อยู่แล้ว” พล.อ.ประวิตร กล่าว
 
เมื่อถามว่าการรวมตัวของพระที่พุทธมณฑลจะให้มหาเถรสมาคมตักเตือนอย่างไร  รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พระต้องรู้ว่าควรจะทำอย่างไร ตนคงไม่ต้องบอก บวชเรียนมาแล้วทั้งนั้น หากพูดมากไปคงไม่ดี เพราะพระต้องรู้ว่าท่านบวชมาทำไมเหตุการณ์ทหารเผชิญหน้ากับพระเมื่อวานนี้  (15 ก.พ.)  ไม่ใช่ความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ทหารเพียงแค่ทำหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย ไม่ได้มีความขัดแย้งกับกลุ่มใด
 
รมว.ยุติธรรมวอนพระให้เกียรติทหาร เหมือนที่ทหารให้เกียรติพระ ยัน ไม่เลือกปฎิบัติ
 
ขณะที่ มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่อยู่ระหว่างตรวจสอบพระธัมมชโยในคดีรับเงินบริจาคจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นว่า คาดว่าภายในเดือนนี้จะมีความชัดเจน ซึ่งการฟ้องร้องต่างๆ อัยการได้ส่งเรื่องกลับมาแล้ว และมีการประชุมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ที่เหลือคือการกำหนดฐานความผิดและขั้นตอนการฟ้องร้อง ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย แต่ไม่อยากให้มองเพียงพระธัมมชโย ต้องมองในภาพรวมทั้งระบบ เพราะเป็นการฟ้องร้องทั้งคณะที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ไม่ได้เข้าไปเร่งรัดการทำงานของดีเอสไอแต่อย่างใด ปล่อยให้เป็นหน้าที่และการทำงานของดีเอสไอตามปกติ
 
เมื่อถามถึงกรณีการชุมชนของคณะสงฆ์ ที่เรียกร้องไม่ให้รัฐบาลเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการของสงฆ์ พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า เชื่อว่าการเรียกร้องของคณะสงฆ์จะไม่มีผลต่อการพิจารณาคดีต่างๆ ของพระสงฆ์ เพราะถือเป็นคนละเรื่องกัน ยืนยันว่าทำตามกฎหมาย และพระสงฆ์ไม่ต้องออกมา ทั้งนี้ไม่เข้าใจที่บอกว่าไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพระสงฆ์ เพราะใครก็ตามที่อยู่ภายใต้กฎหมายและทำผิดกฎหมายก็จะต้องไปยุ่ง ไม่มีข้อต่อรองใดๆ ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นสงฆ์หรือฆราวาส ไม่มีใครชอบให้เลือกปฏิบัติ และยืนยันว่าไม่เลือกปฏิบัติแน่นอน ไม่ต้องมากดดัน ส่วนภาพการกระทบกระทั่งระหว่างพระสงฆ์กับเจ้าหน้าที่ทหารนั้น ทุกคนมองไปในทางเดียวกันและคิดว่าเจ้าหน้าที่ทหารต่างเคารพความเป็นพระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์ห่มผ้าเหลืองมา ทหารก็ให้เกียรติให้ความเคารพ ดังนั้น พระสงฆ์เองต้องกลับไปคิดว่าให้ความเคารพเหมือนที่ทหารให้ความเคารพพระสงฆ์หรือไม่
 
อธิบดีกรมศาสนา ชี้ จะให้พุทธฯเป็นศาสนาประจำชาติ ต้องฟังทุกภาคส่วนก่อน
 
มติชนออนไลน์ ยังรายงานด้วยว่า นายกฤษศญพงษ์ ศิริ อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวถึงเหตุการณ์กระทบกระทั่งกันระหว่างเครือข่ายคณะสงฆ์และองค์กรภาคีพุทธบริษัท 4 กับเจ้าหน้าที่ทหาร ที่พุทธมณฑล จ.นครปฐมว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของทางผู้ใหญ่ในรัฐบาลและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ส่วนภาพที่ออกจะกระทบต่อศรัทธาของประชาชนหรือไม่นั้น ปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น คิดว่าทุกคนจะต้องมีส่วนร่วม โดยเฉพาะผู้ที่เป็นผู้นำหรือมีบทบาทในสังคมต้องช่วยกันวิเคราะห์ จำแนก แยกแยะให้ดีว่า ส่วนไหนคือหลักธรรมคำสอน ส่วนไหนคือบทบาทองค์กร ตรงนี้ต้องแยกกัน ขณะที่กรมการศาสนาเองพยายามอย่างยิ่งคือ การนำหลักธรรมคำสอนมาประพฤติปฏิบัติ ซึ่งคือหัวใจและกระบวนการหน้าที่ของกรมการศาสนา ส่วนข้อเสนอของเครือข่ายคณะสงฆ์ที่เรียกร้องให้กำหนดศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาตินั้น ต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน
 
ม.จ.จุลเจิม เสนอให้ทหารตำรวจหญิงหมอนวดเป็นแนวกันพระ ปิ้งไก่หลังเที่ยงเรียกน้ำลายรอจับสึก
 
ด้าน ม.จ.จุลเจิม ยุคล ได้โพสต์แสดงความเห็นในเฟซบุ๊ก Chulcherm Yugala เสนอแนะแนวทางในการจัดการการชุมนุมของพระดังกล่าว โดยเสนอ จัดทหารหญิง ตำรวจหญิง ผู้กล้ายืนบังตั้งแถวเป็นแถวหน้ากระดาน และขอความร่วมมือ หรือจัดจ้าง พวก คุณหมอนวด ทั้งแผนไทย และแผนสมัยใหม่ หญิงงามเมือง โคโยตี้ แม่ค้าปากคลองตลาด มาเสริมกำลัง เป็นแนวกันให้ทหารชายอยู่ด้านหลังคอยจับ ถ้าเป็นพระจริงก็จับสึกได้ ส่วนถ้าเป็นพระปลอม ก็คุมตัวขังคุก เพราะพระจริงๆจะถูกตัวสีกาไม่ได้ รวมทั้งหลังเที่ยงหา แม่ค้า พ่อค้า ไก่ย่างส้มตำ หมูย่าง ไส้กรอกอิสานเอามาย่างกัน สัก 50 เจ้า ตั้งไฟปิ้งๆย่างๆ ให้อยู่เหนือลม ให้กลิ่นไก่ย่าง หมูย่างโชยตลบเข้าจมูกพระคุณเจ้าทั้งหลายที่มาชุมนุม ถ้าพระ แม้กระทั่งแม่ชี ออกไปซื้อ (หลังเที่ยง) ก็ให้ทหารจับไปสึกได้อีกทั้งพระจริง พระปลอม เพราะผิดศีลอุโบสถ
 
โดยมีรายละเอียดดังนี้
 
 
นอกจากนี้ พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'หลวงปู่พุทธะอิสระ (Buddha Isara)' โดยยกเอากฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อกับการชุมนุมมาเตือน พร้อมกล่าวด้วยว่า "บรรดากองเชียร์ของเฮียๆ ลองดูกฎหมายในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว กำหนดเรื่องการชุมนุมเอาไว้กันซักหน่อยนะพี่น้อง เผื่อจะได้เตรียมตัวเตรียมใจไปเยี่ยมเยียนกันในคุก"

ศาลฎีกาแก้ให้รอการลงโทษ 1 ปี 'ประสงค์ สุ่นสิริ' หมิ่นตุลาการศาลรธน. ปมซุกหุ้นปี44


16 ก.พ. 2559 MGR Online และ คมชัดลึกออนไลน์ รายงานตรงกันว่า วันนี้ ที่ห้องพิจารณาคดี 710 ศาลอาญา ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 โจทก์, นายกระมล ทองธรรมชาติ, นายผัน จันทรปาน,นายศักดิ์ เตชาชาญ, นายปรีชา เฉลิมวณิชย์, นายอนันต์ เกตุวงศ์, นายสุจินดา ยงสุนทร และนายจุมพล ณ สงขลา ซึ่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญฝ่ายเสียงข้างมากที่ให้นายทักษิณ ชินวัตร พ้นผิดจากคดีซุกหุ้นเมื่อปี 2544 เป็นโจทก์ร่วมที่ 1-7 ยื่นฟ้อง น.ต.ประสงค์ สุ่นสิริ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์แนวหน้า, นายจีระพงศ์ เต็มเปี่ยม บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นสพ.แนวหน้า (ขณะฟ้องปี 2545), บริษัท หนังสือพิมพ์แนวหน้า จำกัด, นางผานิต พูนศิริวงศ์ และนายวารินทร์ พูนศิริวงศ์ ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจในบริษัท ในความผิดร่วมกันฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร, ร่วมกันดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาคดี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198,326,328
      
ตามฟ้องโจทก์เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2545 ระบุความผิดจำเลยสรุปว่า เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2544 จำเลยทั้งห้าร่วมกันดูหมิ่นและหมิ่นประมาทตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 8 ต่อ 7 เสียง ที่วินิจฉัยชี้ขาดคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศขณะนั้น) ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบว่าไม่มีความผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 295 โดยจำเลยที่ 2 พิมพ์บทความใน นสพ.แนวหน้า ฉบับลงวันที่ 28 ส.ค. 2544 หน้า 3 ซึ่งคอลัมน์ของจำเลยที่ 1 วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้โจทก์ร่วมทั้งเจ็ด ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง
โดยคดีที่อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โจทก์ร่วม ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยสถานหนักและไม่รอการลงโทษนั้น ฎีกาฟังไม่ขึ้น ศาลเห็นว่าจำเลยไม่เคยถูกต้องโทษทางอาญา ประกอบกับพิจารณาวุฒิภาวะการศึกษา อายุ จึงพิพากษาแก้เป็นว่า ให้กำหนดเวลารอการลงโทษจำเลยที่ 1-2 คนละ 1 ปี ส่วนจำเลยที่ 3-5 ให้ยกฟ้องตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
สำหรับคดีนี้ ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2547 ให้จำคุก น.ต.ประสงค์ และนายจีระพงศ์ บก.นสพ.แนวหน้า จำเลยที่ 1-2 ฐานร่วมกันดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาคดี คนละ 1 ปี และปรับ 7,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษเป็นเวลา 1 ปี ส่วนจำเลยที่ 3-5 ผู้บริหารบริษัทแนวหน้าฯ ให้ยกฟ้อง
ต่อมาโจทก์และจำเลยอุทธรณ์ซึ่งศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2551 ยังคงให้จำคุก น.ต.ประสงค์ และนายจีระพงศ์ บก.นสพ.แนวหน้า จำเลยที่ 1-2 คนละ 1 ปี และปรับ 7,000 บาท แต่ให้เพิ่มระยะเวลาการรอลงอาญาจาก 1 ปี ให้เป็นไว้ 2 ปี โดยอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โจทก์ร่วม และจำเลยทั้งสองยื่นฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมหารือกันแล้วเห็นว่า น.ต.ประสงค์ จำเลยที่ 1 ผู้เขียนบทความเบิกความว่า ได้รับจดหมายแสดงความคิดเห็นของคณาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับคดีซุกหุ้น พ.ต.ท.ทักษิณ ว่ามีลักษณะสองมาตรฐาน แม้จะไม่ได้มีการระบุชื่อผู้ให้ความเห็นในจดหมายแต่มีตราของมหาวิทยาลัยประทับ อีกทั้งยังมีความเห็นจากนักกฎหมายหลายคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยในครั้งนี้ รวมถึงยังมีการเสนอข่าวจากสื่อมวลชนถึงคำวินิจฉัยในเรื่องนี้เช่นกัน
      
ขณะที่นายบัณฑิต ศิริพันธุ์ ทนายความของจำเลยยังเบิกความด้วยว่า มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาเล่าให้ฟังว่าคดีซุกหุ้นมีการวิ่งเต้นช่วยเหลือ โดยนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เข้าพบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอเสียงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้นั้น 1 เสียง ซึ่งมีการอ้างว่านางเยาวภามีการให้อามิสสินจ้างประโยชน์แก่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไว้เรียบร้อยแล้ว 4 คน
      
แม้ข้อนี้จะไม่มีใครมาเบิกความยืนยันคำพูดของนายบัณฑิต แต่ก็ไม่มีการดำเนินคดีกลับนายบัณฑิตที่มีการกล่าวอ้างตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้นั้นเช่นเดียวกันด้วย ดังนั้นเรื่องคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นข้อหน้าสงสัย ซึ่งบทความจำเลยเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงตามที่ได้รับฟังพยานหลักฐานมา และเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าบทความนั้นไม่ใช่การใส่ความในเรื่องส่วนตัว อีกทั้งเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น จึงให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1-2 ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา
      
แต่การกระทำของจำเลยที่ 1-2 ผิดฐานดูหมิ่นตุลาการฯ ตาม ม.198 หรือไม่ ซึ่งจำเลยยื่นฎีกาว่าเมื่อมีการยึดอำนาจ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) และได้ออกประกาศ คปค.ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญและสิ้นสุดการทำงานศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ทำให้ไม่เป็นความผิดนั้น เห็นว่า แม้มีประกาศ คปค. ยกเลิกรัฐธรรมนูญสิ้นสุดการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ แต่กฎหมายข้อบังคับเรื่องดูหมิ่นศาลฯ ไม่ได้ถูกยกเลิกไปด้วย ความผิดจึงยังคงอยู่ ฎีกาของจำเลยส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โจทก์ร่วม ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยสถานหนักและไม่รอการลงโทษนั้น ฎีกาฟังไม่ขึ้น ศาลเห็นว่าจำเลยไม่เคยถูกต้องโทษทางอาญา ประกอบกับพิจารณาวุฒิภาวะการศึกษา อายุ จึงพิพากษาแก้เป็นว่า ให้กำหนดเวลารอการลงโทษจำเลยที่ 1-2 คนละ 1 ปี ส่วนจำเลยที่ 3-5 ให้ยกฟ้องตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ภายหลัง น.ต.ประสงค์ กล่าวด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า ขอบคุณศาลฎีกาเป็นอย่างสูงที่พิจารณาและพิเคราะห์แล้วตนไม่มีโทษ ซึ่งตนทำด้วยความบริสุทธิ์ในฐานะสื่อมวลชน

'คำนูณ-กษิต' 2 สปท. เสียงแตกเห็นแย้ง กก.ยุทธศาตร์ชาติ (ไม่)มีอำนาจเหนือรัฐบาล


สปท. ลงมติ 164 เสียง เห็นชอบรายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน เสนอทำยุทธศาสตร์ชาติ สร้างองค์กรกำกับทิศทางการพัฒนา ‘คำนูณ-กษิต’ เสียงแตกเห็นคนละทาง
16 ก.พ. 2559 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติเห็นชอบรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน สปท. เรื่อง การจัดทำ การกำหนด และการขับเคลื่อนกฎหมายว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ และร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. .... ด้วยคะแนนเสียง 164 เสียง ไม่เห็นด้วย 6 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุม 174 คน
โดยพันตำรวจตรี ยงยุทธ สาระสมบัติ ประธานกรรมาธิการฯ ได้กล่าวว่า การพัฒนาของประเทศไทยที่ผ่านมายังขาดความต่อเนื่อง ยึดโยงเพียงเฉพาะกับนโยบายรัฐบาลในแต่ละช่วง ทำให้ไม่สามารถผนึกพลังการพัฒนาจากภาคส่วนต่างๆ ให้มีทิศทางการพัฒนาไปในทางเดียวกันและต่อเนื่อง ดังนั้นไทยจึงจำเป็นต้องปฏิรูปกระบวนการพัฒนาประเทศและการบริหารราชการแผ่น ดิน โดยผลักดันให้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญให้มีความสำคัญ ควบคู่กับนโยบายแห่งรัฐ และมีการตรากฎหมายว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ เป็นกรอบการพัฒนาประเทศ กำหนดวิสัยทัศน์ระยะยาวอย่างน้อย 20 ปี โดยคำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติรองรับให้มีสภาพบังคับใช้ และความเข้าใจร่วมกันของทุกภาคส่วน และกำหนดเป็นแผนพัฒนากลุ่มภารกิจแต่ละช่วงเป็นแผนประเทศระยะกลาง 5 ปี โดยมีการบูรณาการแผนพัฒนากลุ่มภารกิจต่างๆ พร้อมมีกลไกติดตามประเมินผลและปรับแก้ตามความจำเป็น ตามที่กำหนดในร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติฯ อาทิ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ  เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายและมีการใช้ยุทธศาสตร์ชาติเป็นกรอบการขับเคลื่อนการพัฒนาร่วมกัน นำประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
ด้านเดลินิวส์ออนไลน์ รายงานด้วยว่า จากนั้นได้มีการเปิดให้สมาชิก สปท. อภิปรายแสดงความเห็น โดย คำนูณ สิทธิสมาน สปท. กล่าวว่า ตนเห็นด้วยในหลักการ ซึ่งในฐานะที่ตนเคยเป็นอดีตคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยืนยันได้ว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติไม่ใช่อำนาจอธิปไตยใดๆ ทั้งสิ้น เป็นเพียงหน่วยงานของรัฐหน่วยงานหนึ่ง เพราะไม่ได้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีต้องผ่านสภาฯ ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนด้วย ยืนยันว่าคณะกรรมการยุทศาสตร์ชาติไม่ได้แฝงอำนาจของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง (คปป.)
ขณะที่ นิกร จำนง สปท. กล่าวว่า เห็นด้วยยุทธศาสตร์ควรจะต้องมี แต่กรอบนั้นต้องไม่เป็นสิ่งที่กดดันการทำงานของรัฐบาล แต่จะต้องได้รับการยอมรับจากประชาชน ส่วนอำนาจของคณะกรรมการยุทธศาสตร์มีอำนาจมหาศาล เช่นการเสนอให้วุฒิสภาลงโทษ ครม. หรือบุคคลหากไม่ปฏิบัติตามได้ ซึ่งคิดว่าส่วนนี้ทาง กมธ.ควรจะมีการปรับปรุงอยู่บ้าง
กษิต ภิรมย์ สปท. กล่าวว่า เมื่อพิจารณาแผนยุทธศาสตร์ชาติแล้ว พบว่าอำนาจของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ มีอำนาจเหนือกว่าฝ่ายบริหาร ที่จะมาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นการบอกว่าคณะกรรมการชุดนี้ไม่ใช่ คปป. ซ่อนรูปนั้น เป็นการหลอกตัวเองหรือเปล่า อีกทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติไม่มีอะไรที่เป็นส่วนร่วมของประชาชนเลย หากแต่เป็นการเสริมอาณาจักรของข้าราชการเท่านั้น ในเมื่อ ครม.จะทำแผนยุทธศาสตร์ชาติอยู่แล้ว ตนไม่เห็นว่าการออก พ.ร.บ.นี้จะเป็นหน้าที่ใด ๆ ของ สปท. หรือของ กมธ. และตนขอบอกว่าเราควรเอาเรื่องนี้ออกไปจากสภา ในขณะเดียวกันขอเตือนสติเพื่อนสมาชิกว่าเรามาเพื่อปฏิรูปประเทศไทยให้เป็น ของประชาชน ไม่ใช่เสแสร้งว่าปฏิรูป แล้วเสริมอำนาจของข้าราชการ กระจุกอยู่ในส่วนกลาง หรือแค่ใน กทม.เท่านั้น และเราไม่ได้มาเพื่อปรับปรุงให้ขยายอาณาจักรของข้าราชการ“