งวดเข้ามาใกล้สิ้นเดือนมกราคม 2559 ซึ่งเป็นช่วงที่จะมีการเปิดเผยเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ ขณะที่บรรยากาศ การมีส่วนร่วม หรือความสนใจ เป็นไปอย่างเงียบเหงา
ต้นปีนี้เองเว็บไซต์ Prachamati.org เข้าไปพูดคุยกับ บัณฑูร เศรษฐศิโรจน์ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) ชุดบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ถึงสถานการณ์การมีส่วนร่วมของประชาชนบนโลกออนไลน์ ในปี 2558 ซึ่งเขามีบทบาททั้งในฐานะคนใน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และคนนอกที่ผลักดันเว็บไซต์ citizenforum.in.th ซึ่งสร้างเพื่อเป็นพื้นที่แสดงความคิดของประชาชนบนโลกออนไลน์
นอกจากนี้เรายังขอให้เขามองอนาคตของร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างกันอยู่ในขณะนี้ และอนาคตของการออกเสียงประชามติ และทางออกหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องคว่ำไปอีกรอบ
+การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในโลกออนไลน์ของ กมธ.ชุดที่แล้วเป็นอย่างไร
บทบาทของ กมธ.ก็จะมีเครื่องมืออย่าง ไลน์ เฟซบุ๊ก หรือเว็บไซต์ แต่ กรธ.เหมือนกับใช้สิ่งเหล่านี้ไม่ค่อยเข้ากับวัฒนธรรมของคนที่ใช้ ทำให้เป็นการสื่อสารทางเดียวไม่มีปฏิสัมพันธ์ ไม่มีรูปแบบของการให้ข้อมูลสองทาง การอภิปรายให้ความเห็นด้วยหรือเห็นต่าง การสนทนาพูดคุยถกเถียง ในโลกของคนที่ใช้พื้นที่พวกนี้เขาต้องการพื้นที่แบบนี้ด้วย
+และการสร้างการมีส่วนร่วมของ citizen forum เป็นอย่างไร
ความสนใจความตื่นตัวก็มีพอสมควรแต่ไม่ถึงกับที่เราคาดหวัง เราอยากเห็นระดับการมีส่วนร่วมที่เข้มข้นมากกว่านี้ แต่ประเมินก็เข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องของสาระที่เข้มข้น การที่คนจะมาแสดงความคิดเห็นในเชิงคุณภาพกับเว็บที่เพิ่งเปิดตัว ในปริมาณที่อยู่ในระดับหลักพันเราก็ถือว่าน่าพอใจแม้ว่าจะไม่มากเท่าที่เราอยากให้เป็น
มุมมองต่อ citizen forum ที่มีคนพูดถึงคือเรื่องการตั้งโจทย์ของเราเป็นเรื่องที่ต้องการความเข้าใจและคุณภาพพอสมควร การที่จะเพียงแค่กดไลค์ไม่ใช่เป้าหมายของเรา ดังนั้นก็เลยไม่ได้จำนวนตามที่คาดหวัง โจทย์หลายเรื่องเราก็ตั้งยากเกินไป เป็นเรื่องลึกในเรื่องนั้น เช่น ศาลสิ่งแวดล้อมจำเป็นหรือไม่ การปฏิรูปการศึกษา โจทย์อ่านแล้วเข้าใจยาก
+เห็น citizen forum พยายามรวบรวมยื่นแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ผลเป็นอย่างไร
ตอนนั้นเรารวบรวมรายชื่อน่าจะอยู่หลักพันต้นๆ จากการประสานงานกับเครือข่ายที่ไม่ปฏิเสธการเข้าไปเสนอความคิดเห็นต่อกลไกทางการที่มีอยู่ เมื่อความคิดเห็นเข้าไปฝ่ายเลขาธิการของ กมธ.จะประมวลความเห็นจากช่องทางต่างๆ แล้วจับใส่กล่องเทียบห้าความคิดเห็นจากพรรคการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภาคประชาชน และรัฐบาล โดยยึดโยงเกี่ยวกันแต่ละมาตราของร่างรัฐธรรมนูญ หลายเรื่องก็จะเห็นว่าไปในทางข้อเรียกร้องของเรา เช่น การไม่ควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กับผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่สุดข้อพิจารณานี้ก็ไปอยู่บนโต๊ะของ กมธ. และออกมาเป็นร่างล่าสุด ว่าไม่ควบรวมซึ่งเป็นไปตามข้อเรียกร้องที่ส่งเข้าไป
นอกจากนี้ยังมีประเด็นสมัชชาพลเมือง องค์การอิสระสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ องค์การคุ้มครองผู้บริโภค สิ่งเหล่านี้อยู่ในข้อเรียกร้องจากที่ citizen forum ทำอยู่และหลายๆ กลุ่มเห็นตรงกัน ข้อสรุปนี้ท้ายที่สุดก็ยังคงอยู่ในร่างฉบับที่เสนอ สปช.
+แสดงว่าการมีส่วนร่วมและความคิดเห็นของประชาชนมีผลต่อการตัดสินใจของ กมธ.
ผลมีอยู่สองลักษณะที่จะมีอิทธิพล คือหนึ่งในแง่ของจำนวนก็มีนัยแบบหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งถึงไม่มีจำนวนมากแต่เท่ากับเป็นการเปิดประเด็นให้ กมธ. หยิบประเด็นนั้นมาอภิปรายได้ ตัวอย่างเรื่องการควบรวม กสม. มีประเด็นจากภาคประชาชนรวมทั้งหลายองค์กรเสนอมาว่า ไม่ควรควบรวม เราก็สามารถหยิบตรงนี้มาเป็นประตูถกเถียงการอภิปรายในที่ประชุมได้แม้จำนวนจะไม่มาก แต่ถ้าจำนวนมากก็จะมีน้ำหนักเพิ่มข้ึน
มีอยู่เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือการมีส่วนร่วมในรูปแบบสำรวจความคิดเห็น ที่ กมธ.ให้สำนักงานสถิติแห่งชาติทำ จังหวัดละ 1,000 ชุด ทั้งหมด 77 จังหวัดก็ 77,000 ชุด มีประเด็นหนึ่งที่จำได้ชัดเลยคือการเลือกตั้งควรจะเป็นสิทธิหรือหน้าที่ ข้อถกเถียงนี้มีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ก่อนจะถึงร่างสุดท้าย กมธ.กำหนดให้เป็นสิทธิ มีการถกเถียงกันหลายรอบ แต่พอมาเจอผลการสำรวจถ้าจำไม่ผิด ประชาชน 90% บอกว่ารู้สึกภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่เลือกตั้ง สุดท้าย กมธ.ก็ต้องเปลี่ยนตามความเห็นประชาชนว่าให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่
+ทำไมผลโหวตในเว็บไซต์ประชามติส่วนใหญ่ผลไปในทางตรงข้ามกับ กมธ.
น่าจะมาจากสองปัจจัยคือ หนึ่ง ความเห็นทางการเมืองไม่ใช่ข้อเท็จจริง เพราะเป็นความคิดเห็นจึงเห็นต่างกันได้ แล้วก็ไม่ได้บอกว่าใครผิดใครถูก ความเห็นทางการเมืองเห็นต่างกันได้ เป็นธรรมชาติของความเห็นทางการเมือง
อันที่สองไม่รู้ว่าเป็นปัจจัยจากการแบ่งฝ่ายทางการเมืองด้วยหรือเปล่า หลายคนก็ตั้งข้อสังเกตว่าคนที่เข้าไปติดตามเว็บไซต์ต่างๆ ก็มีการแบ่งแยกทางการเมืองอยู่แล้ว ถ้าไม่เห็นด้วยกับกลไกของ คสช. แนวโน้มก็จะเห็นปฏิเสธ หรือเห็นในมุมต่าง ก็เป็นการสะท้อนจุดยืนทางการเมือง ปัจจัยนี้ก็มีอิทธิพลพอสมควร
ประเด็นคือถ้า กมธ.มีความเห็นต่างจากประชาชน หรือจาก คสช. สิ่งสำคัญคือเราต้องอธิบายให้ได้ว่าสิ่งที่เราร่างต่างออกไปนั้นเหตุผลคืออะไร
+บรรยากาศทางการเมืองมีผลต่อการมีส่วนร่วมไหม
มีผลแน่นอนครับ บรรยากาศโดยรวมที่ไม่เปิดกว้างอย่างเต็มที่ ตอนที่ กมธ.กำลังจะร่างรัฐธรรมนูญ เราก็คาดหวังว่าถ้ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น สปช.ทำงานเปิดเวทีจะเป็นตัวที่ช่วยสร้างบรรยากาศการปฏิรูปให้มันคึกคักเต็มที่แต่พอยังมีกติกาบางอย่างของ คสช.ตีกรอบไว้ การมีส่วนร่วมที่เราคาดหวังก็ไม่ถึงจุดที่เราอยากให้เป็น หลายเวทีหรือหลายคนที่เราเจอจะกล่าวถึงปัจจัยเรื่องนี้ว่าต้องการให้มีการผ่อนคลายเพื่อให้การแสดงความคิดเห็นเปิดกว้างกว่านี้ เพราะจะส่งผลทำให้บรรยากาศพื้นที่การมีส่วนร่วมดีกว่าที่เราอยากให้เป็น
+การมีส่วนร่วมที่จำกัดมีส่วนให้ สปช.คว่ำร่างไหม
ปัจจัยที่ทำให้ร่างล้ม เป็นปัจจัยทางการเมืองโดยตรง รายละเอียดก็คงมีการวิเคราะห์กันมากมาย ประเด็นที่ว่า ผลจากพื้นที่การมีส่วนร่วมที่จำกัดส่งผลให้ร่างล้มไปคงเป็นปัจจัยลำดับท้ายๆ เพราะว่าการโหวตจริงๆ มาจากสปช. ยังไม่ไปถึงขั้นประชามติ ถ้าไปถึงขั้นประชามติ ประเด็นการมีส่วนร่วมจะมาเป็นลำดับต้นๆ
+ทำไมบรรยากาศการร่างรัฐธรรมนูญขณะนี้จึงเงียบเหงา
หลักๆ น่าจะมาจากสัญญาณทางการเมืองของ คสช. เห็นได้จากบทเรียนจากการโหวตของ สปช. ที่ผลการโหวตมีนัยทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัดแม้ไม่ใช่คนวงใน ผลจากตรงนั้นก็เลยทำให้การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยากขึ้น
สำหรับร่างฉบับนี้ การเข้ามาดูเนื้อหาให้ตอบโจทย์ทางการเมืองน่าจะเป็นสิ่งที่ คสช.คงให้ความสำคัญอยู่ คนก็เลยคิดว่าเข้าไปหรือไม่เข้าไปให้ความเห็น ก็คงไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร ไม่มีผลต่อการตัดสินใจของ คสช.มากนัก ดังนั้นการตื่นตัวการกระตือรือร้นก็เลยแผ่วไปเยอะ
+เราควรมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไหม
ความจริงการมีส่วนร่วมมีความจำเป็นมากกว่าแน่ๆ รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่จะมีผลต่อชีวิตประจำวันของเราไม่ได้มีแต่ทางการเมือง เรื่องรัฐธรรมนูญมีขอบเขตปริมณฑลที่มากกว่าทางการเมืองในสภาอย่างเดียว สิทธิเสรีภาพ การตัดสินใจนโยบายสาธารณะ อันนี้เป็นความจำเป็นแม้ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบกระบวนการและที่มาของมันก็ตาม
การมีส่วนร่วมจะทำให้ตัวเนื้อหาถูกปรับถูกขยับแม้ว่าจะไม่เต็มที่ อย่างน้อยจะช่วยทำให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมมากขึ้น ท้ายที่สุดเราจะเป็นคนตัดสินใจในขั้นลงประชามติว่าเราจะเอาหรือไม่เอา ถ้าออกมาในทิศทางให้เราตัดสินใจไม่รับ ก็ส่งผลต่อการยืดอายุของกลไกทั้งหลายที่เกิดขึ้นในภาวะไม่ปกติ ฉะนั้นมีความสำคัญแน่ๆ
+กรธ.ยืนยันหนักแน่นประเด็นนายกฯคนนอก กับที่มา ส.ว.ว่าไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง สองประเด็นนี้จะมีผลต่อการตัดสินลงประชามติอย่างไร
รัฐธรรมนูญเป็นโจทย์ทางการเมือง เพราะฉะนั้นประเด็นนายกฯคนนอก ที่มา ส.ว.เป็นโจทย์หลักที่คนหยิบร่างรัฐธรรมนูญมาดู อย่างไรก็ตามคนอีกส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในภาคประชาสังคมไม่ได้เอาประเด็นทางการเมืองเชิงสถาบันเป็นตัวตั้ง เขาก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับโจทย์เหล่านี้มากนัก กลุ่มเหล่านี้จะไปให้ความสำคัญกับการเมืองภาคพลเมืองมากกว่า สิทธิเสรีภาพจะเป็นอย่างไร การมีส่วนร่วม การตรวจสอบ การตัดสินใจนโยบายสาธารณะ ถามว่าการเมืองเชิงสถาบันสำคัญไหม แน่นอน เพราะสื่อให้ความสำคัญ แต่ก็ไม่ใช่ทุกกลุ่มหยิบเรื่องนี้เป็นปัจจัยชี้ขาดในการตัดสินใจ
+รัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติไหม
เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยากว่าเมื่อร่างปรากฏออกมาแล้วลงประชามติ ทิศทางจะออกมาแบบไหน เพราะความรู้สึกมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของก็ไม่มากนัก ดังนั้นจะขึ้นอยู่กับเนื้อหาว่าตอบโจทย์ โดนใจแค่ไหน ถ้าเนื้อหาคนส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ตอบโจทย์ปัญหาทางการเมืองที่เพียงพอ ก็จะยากในการให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน โดยเฉพาะเมื่อความรู้สึกเป็นเจ้าของลดระดับลงไปจากก่อนหน้านี้แล้ว
+ถ้าประชามติไม่ผ่านควรทำอย่างไร
มีหลายโมเดลที่เราเคยเสนอกัน โจทย์ก็มี หนึ่ง องค์ประกอบของผู้ร่างที่ต้องเปลี่ยนไป สอง ที่มาของคนที่เข้าไปร่างรัฐธรรมนูญ อาจจะต้องมีที่มาซึ่งทำให้เกิดการยอมรับมากขึ้น ซึ่งทั้งสองปัจจัยคือที่มาและองค์ประกอบจะส่งผลต่อตัวเนื้อหาที่ร่างออกมา ส่วนที่สามคือกระบวนการร่างควรจะต้องเปลี่ยนไปจากสองครั้งเดิม บรรยากาศการมีส่วนร่วม การสร้างเนื้อหาที่มาจากความหลากหลายของสังคมพหุนิยม ต้องมาคิดกันว่าจะปรับอย่างไรไม่ให้เหมือนสองครั้งเดิม แล้วก็ไม่ให้ตกร่องการไม่ผ่าน
รัฐธรรมนูญชั่วคราวควรจะถูกปรับแก้หรือไม่ เพื่อไม่ให้วนลูปจนเกินไป ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อน โจทย์ของ กมธ.ตอนนั้นคือเราไม่อยากให้มาถึงจุดที่มีการร่างกันใหม่ เราเห็นว่าการกลับสู่ระบบปกติโดยเร็วเป็นเป้าหมายหนึ่งของ กมธ.ว่าจะทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายได้ ไม่ใช่ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันแต่ต้องตอบโจทย์ของทุกฝ่ายในระดับที่พอเหมาะ ไม่ต้องลากยาวในภาวะแบบนี้
+รัฐธรรมนูญไม่ผ่านใครต้องรับผิดชอบ
แน่นอนว่ารัฐบาลหนีไม่พ้นความรับผิดชอบในฐานะผู้ที่กำหนดกติกาคัดเลือกคนมาร่าง สำหรับคนที่ไม่ใช่รัฐบาลความรับผิดชอบคืออะไร การที่เราไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาเราไปตัดสินใจกาไม่รับรัฐธรรมนูญแล้วคนจำนวนมากคิดแบบนี้ถือเป็นการใช้สิทธิตามกติกาที่กำหนดขึ้น และก็เป็นที่ยอมรับร่วมกันว่านี่เป็นกติกาที่จะทำให้เราเดินไปด้วยกัน และเมื่อเราเห็นว่าเราไม่สามารถโหวตรับได้ ก็ไม่น่าจะมีความรับผิดชอบอะไร
+อยากเห็นอะไรที่สุดในการร่างรัฐธรรมนูญ
เรื่องหมวดสิทธิเสรีภาพที่ควรจะวางหลักการสำคัญ แนวทางสาระได้เพียงพอที่จะนำไปสู่การเขียนกฎหมายลูก อันนี้สำคัญเพราะจะทำให้สิทธิเสรีภาพถูกรับรองคุ้มครองไว้ ถ้าเป็นเพียงหลักการสั้นๆ แล้วไปบอกให้เป็นกฎหมายลูกเลยจะสร้างปัญหาตอนร่างกฎหมายลูก เพราะหลายเรื่องในเรื่องสิทธิยังมีข้อถกเถียงอยู่ ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นฐานอิงในการร่างก็จะไปตะลุมบอนกันหนักหน่วงในการร่างกฎหมายลูก เช่น สิทธิชุมชน ความหลากหลายทางเพศยังเป็นสิ่งที่ยังถกเถียงกันอยู่
อันที่สองการส่งเสริมการเมืองภาคพลเมืองที่เป็นพัฒนาการที่เดินทางมาอย่างค่อนข้างมั่นคง มีพัฒนาการที่ยกระดับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ฉะนั้นควรจะต่อยอดจากความเติบโต ซึ่งจะส่งผลต่อการถ่วงดุลการตรวจสอบและทำให้การเมืองภาคสถาบันมีคุณภาพมากขึ้น ที่พูดเช่นนี้ส่วนหนึ่งก็มาจากความเชื่อการประเมินด้วยว่าระบบการเมืองเชิงสถาบันเราเล่นกับมันยากจริงๆ พยายามจะปรับจะแก้อย่างไรก็จะมีนักการเมืองที่หาทางหลุดรอดไปจากกติกา ไม่ว่าจะเป็นระบบเลือกตั้งการตรวจสอบถ่วงดุลทั้งหลาย เพราะฉะนั้นผมให้ความหวังกับการเมืองภาคพลเมืองมากกว่า