วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ศาลฎีกายืนคุก 1 ปี 'พร้อมพงศ์-เกียรติอุดม' ไม่รอลงอาญาคดีหมิ่นอดีตประธานศาล รธน.


24 ก.ค. 2558 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า ที่ห้องพิจารณา 805 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 24 ก.ค.58 เวลา 10.00 น. ศาลอ่านคำพิพากษาฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.1886/2553 ที่นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคเพื่อไทย และนายเกียรติอุดม เมนะสวัสดิ์ อดีต ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย เป็นจำเลยที่1-2ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328
 
 โดยโจทก์ ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.53 ระบุความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่8มิ.ย.53เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองร่วมกันให้ข่าว สื่อมวลชนต่างๆ ว่า โจทก์ให้ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์เข้าพบเป็นการส่วนตัว ระหว่างที่มีการพิจารณาคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ และกล่าวหาว่าโจทก์ประพฤติตนไม่เหมาะสม ไม่น่าเชื่อถือ ขัดต่อจริยธรรมของตุลาการ ขาดความยุติธรรม และขาดความเป็นกลาง อันเป็นเหตุทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังฯ เหตุเกิดที่แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กทม.
 
ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เมื่อวันที่31ก.ค.55ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสอง จึงเป็นการกล่าวหาโดยที่ไม่มีมูลความจริงนั้น ไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนการแถลงข่าว จึงไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ดังนั้นให้จำคุก จำเลยคนละ 1 ปี และปรับคนละ 50,000 บาท แต่จำเลยทั้งสองไม่เคยได้รับโทษทางอาญามาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี โดยให้จำเลยทั้งสอง ร่วมกันเผยแพร่คำพิพากษาย่อใน นสพ.ไทยรัฐ มติชน และ กรุงเทพธุรกิจ เป็นเวลา 7 วันติดต่อกันด้วย
 
 ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดี ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาวันที่ 12 ธ.ค.56 เห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการหมิ่นประมาท ฯ ขณะที่จำเลยที่ 1 จบการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตและเป็นอาจารย์หลายสถาบัน ส่วนจำเลยที่2จบปริญญาตรี เป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.อุดรธานี และยังเป็นกรรมาธิการและรองกรรมาธิการหลายคณะ จำเลยจึงเป็นคนมีเกียรติ มีความน่าเชื่อถือของบุคคลทั่วไป ควรทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดีให้สังคมดังนั้นเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง ศาลอุทธรณ์จึงแก้โทษเป็นว่า ให้จำคุก 1 ปีจำเลยทั้งสอง โดยไม่รอการลงโทษส่วนโทษปรับก็ให้ยกไป
 
 ขณะที่จำเลยทั้งสอง ได้ยื่นฎีกา ต่อสู้ว่า การแถลงข่าวและแจกเอกสารข่าว เป็นการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการพิจารณาคดี โดยขอให้ศาลพิจารณาลงโทษสถานเบาและขอให้รอการลงโทษไว้ก่อน
 
ศาลฎีกา ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่า คดีนี้ตัวโจทก์ เบิกความเอง ซึ่งสอดคล้องกับเลขานุการหน้าห้อง และพยานอื่น ที่ยืนยันได้ว่า วันเกิดเหตุโจทก์ ไม่ได้พบเจอกับนายทศพล เพ็งส้ม ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ แต่อย่างใด การแถลงข่าวของจำเลยจึงเป็นการให้ข้อความอันเป็นเท็จต่อสื่อมวลชนที่ จำเลยเล็งเห็นอยู่แล้วสื่อจะนำไปเผยแพร่ ซึ่งใช้สื่อมวลชน เป็นเครื่องมือในการหมิ่นประมาทโจทก์ ทำให้บุคคลอื่นเข้าใจผิดได้ว่า โจทก์ ไม่มีความเป็นกลาง ที่จำเลยอ้างว่าการแถลงข่าวเป็นการแสดงความคิดนั้น จึงฟังไม่ขึ้น ที่โทษศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นเหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย จึงพิพากษายืนจำคุก1ปี โดยไม่รอลงการลงโทษ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังศาลมีคำพิพากษาแล้ว นายพิชิฎ ชื่นบาน อดีตที่ปรึกษากฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้กอดให้กำลังใจนายพร้อมพงศ์ ส่วนนายเกียรติอุดม วันนี้ก็มีญาติเดินทางมาให้กำลังใจด้วย ขณะที่นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า “ ไม่เป็นไร ยังไหวอยู่ ” 
 
ทั้งนี้เมื่อศาลฎีกา มีคำพำพิพากษายืนให้จำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญาแล้ว เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เตรียมคุมนายพร้อมพงศ์ และนายเกียรติอุดม ไปขังที่เรือนจำต่อไป ในช่วงเวลาประมาณ 12.00 น.

สหรัฐฯ ยินดีอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้อง 'พล.ท.มนัส' คดีค้ามนุษย์


สหรัฐฯ ยินดี อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้อง “พล.ท.มนัส คงแป้น” ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองทัพบก กับพวก รวม 72 คน ในคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา  ขอให้ไทยมีมาตรการที่เข้มงวดต่อไป โดยการดำเนินการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ของไทย หลังวันที่ 1 เมษายน 2558 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐจะนำไปประกอบการประเมินรายงานการค้ามนุษย์ในปีต่อไป
 
24 ก.ค. 2558 สำนักข่าวไทย รายงานว่า น.ส.เมลิสซ่า สวีนีย์ โฆษกสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้อง พล.ท.มนัส คงแป้น ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองทัพบก กับพวก รวม 72 คน ในคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา ว่า ทางสหรัฐมีความยินดีต่อการตัดสินดังกล่าว และขอเรียกร้องให้ทุกประเทศ สืบสวนคดีที่มีความเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำโดยบุคคล หรือเป็นขบวนการก็ตาม
 
โฆษกสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยกล่าวว่า การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างยั่งยืนนั้น ต้องมีความพยายามและความมุ่งมั่นในระยะยาว สหรัฐฯ จึงขอเรียกร้องให้ไทยมีมาตรการที่เข้มงวดต่อไปในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ รวมถึงความพยายามลงโทษผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมและดำเนินคดี โดยการดำเนินการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นหลังวันที่ 1 เมษายน 2558 เป็นต้นมานี้ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯจะได้นำไปประกอบการประเมินรายงานการค้ามนุษย์ในปีหน้าต่อไป

‘รสนา’ อัด ‘เจษฎา’ ร้อนวิชา ปมเซ็งกม.พืชไร่จีเอ็มถูกถอนจาก สปช. แนะรายชื้อคนอื่นดีเบต


หลังจาก เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมา เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณ์สาธารณะ ‘Jessada Denduangboripant’ ระบุเซ็งมาก หลังร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. .... ถูกถอนออกจากการพิจารณาของ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
โดย เจษฎา กล่าวด้วยว่า หลังจากตนกลับมาจากการอบรมดูงานที่อเมริกาเรื่องพืชไร่จีเอ็ม ก็ได้ไปเดินสายอธิบายให้องค์กรต่างๆ เช่น สปช. สนช. มหาวิทยาลัย เกษตรกร ฯลฯ เห็นความสำคัญและจำเป็นของการนำเอาเทคโนโลยีนี้มาช่วยการเกษตรของประเทศไทย ที่ล้าหลังลงไปทุกทีจนเพื่อนบ้านเราจะแซงกันไปหมดแล้ว พร้อมท้า รสนา โตสิตระกูล สปช. มาดีเบตให้ประชาชนฟังกันดีกว่า ว่ารู้เรื่องจีเอ็มโอดีกว่าตนแค่ไหน และใครกันแน่ที่กำลังทำลายโอกาสของเกษตรกรของประเทศไทย (อ่านรายละเอียด)
ด้าน รสนา โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณะสาธารณะเช่นกันว่า เจษฎา ไม่ทราบถึงเหตุผลในการถอนร่าง พ.ร.บ นี้ออกไป และแสดงความไม่พอใจโดยทึกทักว่าตนเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการถอนร่างกฎหมายนี้ออกไป จนถึงกับมาท้าดีเบตกับตนนั้น น่าจะเป็นเพราะไม่ได้ตรวจสอบเหตุและผลของเรื่องให้ดีเสียก่อน ซึ่งอาจทำให้คนมองไปได้ว่า เป็นอาการร้อนวิชาของคนที่ฝันกลางวันจะเป็นรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ก็ได้
รสนา อธิบายถึงเหตุผลที่คณะกรรมาธิการตัดสินใจขอถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออก เพราะ
1) เพราะร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว นั้นน่าจะเป็นเป็นการสอดไส้เข้ามาโดยผู้รับผิดชอบมิได้มีการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน ดังปรากฏในเอกสารใบนำส่งเอกสารถึงประธานสปช. เพื่อนำเข้าสู่วาระการพิจารณาในสภาปฏิรูปแห่งชาตินั้น ไม่มีรายการที่ระบุว่าจะมีร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณา ซึ่งมี สารี อ๋องสมหวัง ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค ได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาอภิปรายทักท้วงและขอให้มีการชี้แจง
อีกประการหนึ่ง การรายงานวาระปฏิรูปครั้งนี้เป็นการรายงานรอบ 2 ซึ่งในรอบแรก ไม่มีประเด็นจีเอ็มโออยู่ในรายงานครั้งแรก
การทักท้วงในประเด็นนี้ จึงเป็นการทักท้วงในเรื่องของนิติกระบวนการที่ถูกต้อง (Due Process of Law) ในการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ
2) ในร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้มีจุดอ่อนหลายประเด็น ที่ร้ายแรงที่สุดคือในมาตรา 52 ที่ระบุว่า "ผู้ประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมไม่ต้องรับผิดในกรณีที่การปลดปล่อยสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมสู่สิ่งแวดล้อมและก่อความเสียหายต่อสุขภาพของมนุษย์หรือสัตว์ หรือเกิดความเสียหายแก่ความหลากหลายทางชีวภาพ ถ้าความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัย หรือเกิดจากการกระทำของผู้เสียหายเอง"
ข้อกำหนดดังกล่าวไม่สอดคล้องกับหลักสากลในพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ และพิธีสารเสริมนาโงย่า-กัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการรับผิดและชดใช้ความเสียหาย ซึ่งพิธีสารดังกล่าวครอบคลุมถึงการคุ้มครองผลกระทบทางสังคมเศรษฐกิจ ดังนั้นมาตรา52 จึงขัดต่อวัตถุประสงค์ของพิธีสารดังกล่าว และเป็นการไม่คุ้มครองผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากพืชจีเอ็มโอ
มาตราที่52 นี้ และอันตรายของพืชจีเอ็มโอ มีสปช. หลายท่านอภิปรายและบางท่านขอให้ตัดมาตรานี้ หรือเห็นควรให้ถอนร่างออกไปก่อน เช่น ดร.ประเสริฐ ชิตพงศ์ อาจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธ์ุ ดร.วินัย ดะห์ลัน รวมตนด้วยคณะกรรมาธิการจึงตัดสินใจขอถอนร่างนี้ออกจากการพิจารณาในที่ประชุม
นอกจากนี้ รสนา ยังได้ระบุรายชื่อ ผู้เชี่ยวชาญในประเด็นความปลอดภัยของพืชจีเอ็มโอต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ เพื่อให้ เจษฏา ร่วมดีเบต เช่น  รศ.ดร.สุรวิช วรรณไกรโรจน์ คณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการปรับปรุงพันธุ์พืช, ดร.ทวีศักดิ์ ภู่หลำ นักปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพด และอุตสาหกรรมข้าวโพดหวานของประเทศไทย, ผศ.ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล คณะนิติศาสตร์ ม.หอการค้าไทย ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง, รศ.ดร.วินัย ดะลันห์ อดีตคณบดีสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญวิทยาศาสตร์ด้านอาหาร และคุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ( Biothai) ผู้เชี่ยวชาญด้านการบังคับใช้กฎหมายสิทธิบัตรทรัพยากรชีวภาพ
เจษฏา รับคุยรายคน ขอเลี่ยงการใช้ความรู้สึก
อย่างไรก็ตาม เจษฏา ได้เข้าไปแสดงความเห็นท้ายโพสต์ของรสนา ด้วยว่า “ผมเชิญมาคุยทีละท่านก็ได้ครับ เพื่อที่ท่านจะได้มีข้อมูลมากขึ้นในการพิจารณาเรื่องนี้ โดยเริ่มจากท่านรสนาก็ได้ครับ อนาคตของชาติและเกษตรกรไทยจะได้ถูกตัดสินบนพื้นฐานของข้อมูล ไม่ใช่จากอคติเขิงลบที่องค์กรต่างชาตินำเข้ามาเท่านั้น โปรดหลีกเลี่ยงการใช้ความรู้สึก อย่างเช่น การบอกว่าผมร้อนวิชา ครับ”

 

ฮิวแมนไรท์วอทช์ ออกแถลงการณ์ต้านรายชื่อกสม.ชุดล่าสุด


ฮิวแมนไรท์วอทช์ออกแถลงการณ์ต่อต้านการคัดเลือกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทยครั้งล่าสุดที่มีคนที่สนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างโจ่งแจ้งรวมอยู่ในนั้นด้วย อีกทั้งยังเสนอให้การคัดเลือกเป็นไปอย่างโปร่งใสและมีหลักการที่ชัดเจนกว่านี้

24 ก.ค. 2558 องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์เรียกร้องให้สภานิติบัญญัติไทยปฏิเสธผู้ได้รับเสนอชื่อเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทย (กสม.)เนื่องจากระบบการคัดเลือกไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล อีกทั้งยังเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อระบุให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมีความน่าเชื่อถือ เป็นอิสระ และตรวจสอบได้ รวมถึงมีขั้นตอนการคัดเลือกที่โปร่งใส เปิดให้มีการตรวจสอบจากสาธารณะ และการมีส่วนร่วมในวงกว้าง
หลังจากที่เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในไทยประกาศผู้ได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการจำนวน 7 คน เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยมีคณะกรรมการคัดเลือกประกอบด้วยผู้พิพากษาอาวุโสและประธานรัฐสภา พิจารณาคัดเลือกจากผู้สมัครจำนวน 121 คนโดยไม่มีหลักการพิจารณาหรือข้อมูลการพิจารณาเปิดเผยต่อสาธารณะ มีเพียงผู้สมัครรายเดียวเท่านั้นที่มีบันทึกประวัติให้เห้นต่อสาธารณะเกี่ยวกับการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน แต่กมีอีกหนึ่งรายที่สนับสนุนการปราบปรามเสรีภาพขั้นพื้นฐานและต่อต้านหลักการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างเปิดเผย
แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทชืแผนกเอเชียกล่าวว่า ประเทศไทยกำลังต้องการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่มีความน่าเชื่อถือและมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่มากขึ้นเพื่อระบุถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายลงกว่าเดิมภายใต้การปกครองของทหาร การคัดเลือกคนที่ไม่มีประสบการณ์และผู้ที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมต่อตำแหน่งเป็นการจงใจทำให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนกลายเป็นสถาบันที่อ่อนแอและไม่มีอำนาจใดๆ
แถลงการณ์ของฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุอีกว่าในกลุ่มผู้ได้รับคัดเลือก 7 คน มีหนึ่งในนั้นเป็นผู้นำกลุ่มรอยัลลิสต์แบบสุดโต่ง นอกจากนั้นเป็นกลุ่มที่มีประวัติทำงานเกี่ยวข้องในทางตุลาการ มีเพียงคนเดียวเท่านั้นคืออังคณา นีละไพจิตร ที่รู้จักกันดีในฐานะผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนและรณรงค์ต่อต้านการอุ้มหาย การทารุณกรรม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากรัฐ
ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า บวร ยสินทร เป็นผู้ที่ต่อต้านเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด จากที่เขาอ้างใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในเชิงก้าวร้าวหลายครั้ง
คณะอนุกรรมการในการประเมินสถานะฯ ของคณะกรรมการประสานงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (International Coordinating Committee on National Human Rights Institutions: ICC) ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 2536 เพื่อทำให้สถาบันด้านสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีความเข้มแข็งขึนเคยออกรายงานเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2557 ที่ผ่านมาระบุถึงปัญหาของคณะกรรมการสิทธิมนุษย์ชนของไทยว่ามักจะมีแต่คนจากในสภาบันกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนด้านสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน หรือทำหน้าช่วยไกล่เกลี่ยปัญหาระหว่างกลุ่มผลประโยชน์หรือภาคประชาสังคมใดๆ
รายงานของ ICC ยังตั้งคำถามถึงความเป็นอิสระและความน่าเชื่อถือของกสม. จากการที่สมาชิกองค์กรแสดงออกในการเลือกข้างทางการเมืองอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นปัญหาจากกระบวนการคัดเลือกและความสามารถในการทำงาน ทำให้มีการลดระดับสถานะกสม.จาก A เป็น B ทำให้กสม.ไม่สามารถเสนอความเห็นในที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
หลักการปารีส (Paris Principles) หรือในชื่อเต็มคือหลักการเกี่ยวกับสภานะของสถาบันแห่งชาติด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้รับการรับรองจากสภายูเอ็นในปี 2536 ระบุว่า สถาบันแห่งชาติด้านสิทธิมนุษยชนไม่ว่าจะมาจากการแต่งตั้งหรือการเลือกตั้งก็ตามจะต้องปฏิบัติงานให้เป็นไปในลักษณะที่พวกเขาจะเป้นตัวแทนของกลุ่มพลเมืองที่มีความหลากหลายในสังคม และมีส่วนร่วมในการปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน
อดัมส์ยังเรียกร้องให้สนช. ปฏิเสธการคัดเลือกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไทยในครั้งนี้และให้มีการคัดเลือกใหม่ และเพื่อป้องกันไม่ให้มีความผิดพลาดแบบเดิมเกิดขึ้นอีกครั้งจึงควรให้มีระบบการคัดเลือกที่โปร่งใส ที่จะเป็นการทำให้แน่ใจว่าสถาบันสิทธิมนุษยชนไทยจะมีความน่าเชื่อถือ มีความเป็นอิสระ และมีประสิทธิภาพ