วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

จับ 'บัณฑิต อานียา' ตั้งข้อหา 112 หลังแสดงความเห็นเวทีปฏิรูป


ตร.รวบนักเขียนวัย 73 ปี บัณฑิต อานียา แจ้งความ 112  หลังแสดงความเห็นเวทีปฏิรูปจัดโดยพรรคนวัตกรรม ทนายเผยเจ้าตัวปฏิเสธข้อกล่าวหา ยันแสดงความเห็นโดยบริสุทธิ์ใจ ล่าสุด ตร.เตรียมค้นบ้านเพิ่ม
27 พ.ย. 2557 เวลา 12.00 น. ภาวิณี ชุมศรี ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์ว่า นายบัณฑิต อานียา นักเขียน วัย 73 ปี ถูกคุมตัวมายังสน.สุทธิสารตั้งแต่ช่วงบ่ายวานนี้ และทำการสอบปากคำในเช้าวันนี้ ก่อนแจ้งข้อกล่าวหา มาตรา 112 กฎหมายอาญา
กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากบัณฑิตได้ไปแสดงความคิดเห็นในเวทีเสวนาที่จัดขึ้นโดยพรรคนวัตกรรม ซึ่งเป็นพรรคตั้งใหม่ยังไม่ได้จดทะเบียน โดยการเสวนานี้เป็นการระดมความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปในประเด็นต่างๆ เช่น กกต. ที่มา ส.ส. สถาบันกษัตริย์ ส่ง สปช. โดยขณะที่บัณฑิตกำลังแสดงความเห็นยังไม่ทันจบประโยคแรกก็ถูกควบคุมตัว
ภาวิณีกล่าวว่า บัณฑิตปฏิเสธข้อกล่าวหาในชั้นสอบสวน โดยให้เหตุผลว่า เป็นการแสดงความเห็นโดยบริสุทธิ์ใจ และพูดถึงสภาพความเป็นจริงในสังคมไทยที่เกิดความแตกแยกเป็นสองฝ่ายชัดเจนรวมถึงแนวคิดสถาบันกษัตริย์นิยมด้วย
รายงานข่าวแจ้งเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารได้คุมตัวบัณฑิตเพื่อไปค้นบ้านเพิ่มเติมในช่วงบ่ายนี้

             สำหรับบัณฑิต เจ้าของฉายา 'กึ่งบ้า กึ่งอัจฉริยะ'  นั้น เคยถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ตาม มาตรา 112 มาแล้ว โดยความผิด 2 กระทง เหตุเกิดเมื่อปี 46 จากกรณีที่ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธาน กกต.(ขณะนั้น) แจ้งความกล่าวหาเขาว่าพูดแลกเปลี่ยนในงานเสวนาและขายเอกสารที่จัดทำขึ้นเองเข้าข่ายหมิ่นฯ โดยเอกสารดังกล่าวมี 2 เรื่อง ได้แก่ สรรนิพนธ์เพื่อชาติ (ฉบับตัวอย่าง) และ วรสุนทรพจน์ (ฉบับร่าง) เนื่องในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร
โดยบัณฑิต เคยถูกคุมขังรวม 98 วันในระหว่างพิจารณาคดีก่อนจะได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 200,000 บาท วันที่ 23 มี.ค.49 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 4 ปี แต่เห็นว่าจำเลยอายุมากและป่วยด้วยโรคจิตเภทจึงให้รอลงอาญา 3 ปีโดยให้โอกาสบำบัดแล้วรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ ต่อมาวันที่ 17 ธ.ค.50 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำคุก 2 ปี 8 เดือนไม่รอลงอาญา เนื่องจากเห็นว่าจำเลยรู้ผิดชอบและสามารถบังคับตนเองได้ทั้งหมด ในชั้นนี้จำเลยได้รับการประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 300,000 บาท
และเมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่สั่งจำคุกโดยไม่รอลงอาญา เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน เป็นว่าให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งพิพากษาจำคุก 4 ปี รอลงอาญา 3 ปี และรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติเป็นเวลา 2 ปี 
นอกจากวัย 73 แล้ว บัณฑิตยังมีโรคประจำตัว คือ ต่อมลูกหมากโต เนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ ปัสสาวะไม่ปกติมีอาการปวดมาก โรคภูมิแพ้ และยังพบว่าเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ กดทับท่อไต  (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : รายงาน: เปิดชีวิต-คำพิพากษาศาลชั้นต้น อุทธรณ์ คดี ‘บัณฑิต อานียา”)

รมว.ศึกษาระบุนักศึกษาชูสามนิ้วคงห้ามไม่ได้-แต่จะดูแลให้แสดงออกเหมาะสม


พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย กล่าวว่าจะดูแลนักศึกษาให้แสดงออกในที่เหมาะสม ไม่รับปากงานอาชีวศึกษา 28 พ.ย. นี้จะมีคนชูสามนิ้วหรือไม่ เพราะคนร่วมงานมีมาก-ต่างจิตต่างใจ ด้านปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เชิญนักศึกษาร่วมแสดงความเห็นเวทีปฏิรูปของรัฐบาล เตือนอย่ายึดติดรัฐประหาร ขอให้มองปลายทางที่ดี
27 พ.ย. 2557 - เว็บไซต์ข่าวสำนักงาน รมว.ศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 25 พ.ย. รายงานว่า พล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้า คสช. ฝ่ายสังคมจิตวิทยา และ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงการแสดงออกของนักศึกษาด้วยการชูสามนิ้วว่า กระทรวงศึกษาดูแลพฤติกรรมของนักเรียนนักศึกษาให้เป็นไปในทางที่เหมาะสมอยู่แล้ว แต่คงจะห้ามไม่ได้ เพียงแต่ดูแลให้มีการแสดงออกในสถานที่ที่เหมาะสม
สำหรับการจัดงานอาชีวศึกษาทวิภาคีไทยที่นายกรัฐมนตรีจะมาร่วมงานในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2557 นั้น ทางผู้จัดงานพยายามเตรียมการอย่างเต็มที่ ส่วนจะเกิดเหตุการณ์อีกหรือไม่ ไม่สามารถคาดเดาได้ แต่จะพยายามอย่างเต็มที่ที่จะไม่ให้เกิดความไม่เหมาะสม เพราะภายในงานมีคนจำนวนมากและต่างจิตต่างใจ ศธ.ทำได้เพียงดูแลภายนอกไม่ให้แสดงออกในทางที่ไม่เหมาะสม และไม่ให้แสดงอะไรที่เป็นการฝ่าฝืนในช่วงเวลานี้เท่านั้นเอง  ทั้งนี้เชื่อว่าทุกมหาวิทยาลัยก็รับทราบและกำชับนักศึกษาอยู่แล้ว
ส่วนกรณีที่นักเรียนชั้น ม.6 รายหนึ่งจากสนามสอบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโทรศัพท์มือถือเข้าไปในห้องสอบวิชาความถนัดทั่วไป (GAT) และได้ถ่ายรูปข้อสอบและกระดาษคำตอบจากห้องสอบ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2557 เพื่อโพสต์แชร์ผ่าน INSTAGRAM โดยระบุชื่อและนามสกุลจริง รวมถึงเลขบัตรประจำตัวประชาชนนั้น พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องอุบัติเหตุ เป็นการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเด็ก ซึ่งไม่มีเจตนาอะไรนอกเหนือไปจากนี้ แต่ในขณะเดียวกันอาจเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ควบคุมห้องสอบ ที่ไม่รอบคอบปล่อยให้เด็กนำเครื่องมือสื่อสารเข้าไปในห้องสอบได้ ซึ่งหน่วยงานจะสอบสวนถึงสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด และมีการว่ากล่าวตักเตือนเจ้าหน้าที่ควบคุมห้องสอบเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก
ในส่วนของมาตรการการคุมสอบ โดยปกติก็เข้มงวดอยู่แล้ว แต่เนื่องจากมีจำนวนเด็กเข้าสอบเป็นแสนคน และมีศูนย์สอบ 19 แห่งทั่วประเทศ อาจเกิดความผิดพลาดขึ้นได้ ซึ่งครั้งนี้ก็ผิดเฉพาะห้องสอบเดียวและเป็นเด็กเพียงรายเดียว ก็ถือว่ายอมรับได้ แต่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต เพราะจะส่งผลเสียต่อตัวเด็กเอง

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเตือนนักศึกษาอย่ายึดติดรัฐประหาร ขอให้มองปลายทาง
ขณะเดียวกันล่าสุด มติชนออนไลน์ รายงานวันนี้ (27 พ.ย.) ว่า สุทธศรี วงศ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่ากรณีที่รัฐบาลจัดเวทีรับฟังความเห็นในการปฏิรูปการเมืองของนักศึกษาว่า ขอให้นักศึกษาทุกคนเข้าร่วมในเวทีรับฟังความเห็นที่รัฐบาลจัดขึ้น ถือว่านักศึกษาทุกคนมีสิทธิ์ โดยกระทรวงศึกษาจะให้ความเป็นอิสระของแต่ละมหาวิทยาลัย ในการดำเนินการ หรือ สถาบันการศึกษาต่างๆ จะส่งตัวแทนนักศึกษาไปเข้าร่วมก็ได้
ยืนยันว่ากระทรวงศึกษาไม่ได้บังคับ และฝากไปยังนักศึกษาที่เคลื่อนไหวและแสดงความเห็นทางการเมืองขณะนี้ ว่า ขอให้นึกถึงความเหมาะสมและกาละเทศะ ในการแสดงออก เช่นกรณีการแสดงออกชู 3 นิ้ว ต่อหน้า นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่ควรกระทำ
ทั้งนี้การที่นักศึกษาหัวรุนแรง เรียกร้อง และอ้างหลักการประชาธิปไตย และ สามารถแสดงออกทางความคิดได้ แต่ขอให้นักศึกษาทุกคน คิดถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ซึ่งสถานการณ์การเมืองจากการรัฐประหารในขณะนี้อาจไม่ใช่ช่วงที่ดีที่สุดของประเทศ แต่ขอให้อย่ายึดติดกับกระบวนการที่มา และมองถึงจุดประสงค์และปลายทางที่ดีของสังคม ว่าจะเป็นอย่างไรดีกว่า
ทั้งนี้ในส่วนผู้กำลังคิดจะแสดงออกทางการเมือง ก็ขอให้คำนึง ว่าทำเพื่อตนเอง หรือ ทำเพื่อส่วนรวมกันแน่ ทั้งนี้เชื่อว่าประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ไม่ใช่การเอาความคิดของนักศึกษาไปแทนความคิดของคนอื่น แต่ให้นำความคิดของเราให้เข้ากับความคิดของคนอื่น

'อภิสิทธิ์' เสนอสูตร รธน. ฉบับใหม่ พร้อมยันยังรักกันดี กับ 'อลงกรณ์'

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนก่อนเข้าให้ควาามคิดเห็น
ต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2557 (ภาพจาก : ข่าวรัฐสภา)
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แนะ กมธ.ยกร่าง อยากเห็นรธน. ที่ยั้งยืน ก้าวหน้า และจัดการปัญหาการใช้อำนาจโดยมิชอบ พร้อมกล่าวถึงการลาออกของ 'อลงกรณ์' ว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล ไม่ได้มีปัญหากับพรรค ยืนยันว่ายังรักกันดี
27 พ.ย. 2557 - ที่รัฐสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เดินทางมาเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต่อคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ตาามที่ทางกมธ. ยกร่าง รธน. ได้เปิดช่องทางให้พรรคการเมืองและกลุ่มเคลือนไหวทางการเมืองได้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยอภิสิทธิ์ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนก่อนเข้าให้ข้อมูล ว่าการเข้าให้ข้อมูลครั้งนี้ถือเป็นความเห็นส่วนตัวไม่ผูกพันกับพรรคประชาธิปัตย์ โดยสิ่งที่ต้องการเห็นคือ รัฐธรรมนูญที่นำไปสู่การปฏิรูปที่ยั่งยืน ดังนั้นจะเสนอใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ทำอย่างไรให้ รธน.มีความยั่งยืน ซึ่งต้องเริ่มต้นจากการทำประชามติ 2.รธน.ไทยไม่ควรถอยหลัง ไม่ควรมีการลดทอนสิทธิ เสรีภาพหรือการมีส่วนร่วมของประชาชน ประชาชนควรมีสิทธิในการเลือกผู้บริหารประเทศและกำหนดทิศทางประเทศ 3.รธน.ต้องแก้ปัญหาหลักของระบบการเมืองที่ผ่านมา ทั้งปัญหาทุจริตคอรัปชั่น การใช้อำนาจโดยมิชอบของฝ่ายการเมือง เพิ่มกลไกการตรวจสอบถ่วงดุล ลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจประชาชน
พร้อมกันนี้จะให้ความเห็นต่อแนวคิดต่างๆ ที่มีผู้เสนอต่อ กมธ.ยกร่างฯ เพราะตนมองว่า บางแนวคิดเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด อาทิ จะเลือกตั้งอย่างไร เราควรมองว่าจะป้องกันไม่ให้คนที่ได้รับเลือกตั้งเข้าไปทำการทุจริต คอรัปชั่นได้อย่างไรมากกว่า และเห็นว่า ควรมีการทำประชามติ เพื่อป้องกันข้อโต้แย้งจนอาจทำให้เสียเวลายกร่าง รธน.กันใหม่
อภิสิทธิ์์กล่าวด้วยว่าการตรวจสอบที่ผ่านมาไม่ได้ผลและเป็นที่มาของวิกฤตการเมือง ระบบรัฐสภา รัฐบาลต้องมีเสียงข้างมาก พรรคการเมืองต้องเป็นสถาบันที่เข้มแข็งแต่เมื่อพรรคการเมืองและนักการเมืองมีอำนาจ จะต้องถูกตรวจสอบ รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น การตรวจสอบ การถ่วงดุล ความรับผิดชอบ ต้องทันต่อเหตุการณ์ เพื่อไม่ก่อให้เกิดวิกฤตการเมือง ส่วนประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรี เห็นว่า ควรมาจากการเลือกตั้ง ขณะที่ ที่มาของ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มองว่า วิธีการได้มาไม่ควรเหมือนกับฐานการได้มาซึ่ง ส.ส. เพราะการเข้ามาทำหน้าที่แตกต่างกัน 
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ควรผ่อนปรนการประกาศใช้กฎอัยการศึกหรือไม่ อภิสิทธิ์กล่าวว่า ควรผ่อนปรน เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย และหากผ่อนปรนแล้วเกิดปัญหาขึ้นก็สามารถประกาศใช้เป็นบางพื้นที่ได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของ คสช.ที่จะชั่งน้ำหนักระหว่างการจำกัดเสรีภาพ กับการเสียโอกาสที่จะรับฟังความเห็นของประชาชนว่าส่วนใดมีความคุ้มค่ากว่ากัน
ขณะเดียวกันอภิสิทธิ์ได้กล่าวถึงกรณีการลาออกของนายอลงกรณ์ พลบุตร ว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งนายอลงกรณ์ให้เหตุผลว่า การลาออกก็เพื่อการทำหน้าที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้อย่างอิสระและเป็นกลาง ซึ่งถือว่าตรงกับจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีแนวคิดไม่ส่งสมาชิกพรรคเข้าร่วมเป็น สปช. เพราะถ้าสังกัดพรรคก็จะถูกมองในอีกแง่มุมหนึ่ง แต่ยืนยันว่าไม่ได้มีปัญหาต่อกันและยังรักกันดี ส่วนที่ว่าหลังจากที่นายอลงกรณ์ พ้นจากการทำหน้าที่ สปช. แล้วจะเข้าร่วมสังกัดพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ขอให้เป็นการตัดสินใจของนายอลงกรณ์เอง

เรียงเรียงจาก : ข่าวรัฐสภา
เอกสารประกอบการให้ความเห็นต่อคณะกรรมรัฐธรรมนูญ
ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ