วันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2558

วีระ สมความคิด โพสต์ทหารปิดล้อมบ้านทั้งคืน สกัดประท้วง 'ฮุน เซน'


18 ธ.ค.2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน ได้โพสต์รูปภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวบัญชีชื่อ 'Veera Somkwamkid' ในลักษณะสาธารณะ ว่า วันนี้ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารกว่าสิบคนมาปิดล้อมบ้านที่นวธานี ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนจนถึงเช้า  วีระ ระบุด้วยว่า จากการสอบถามเจ้าหน้าที่นั้นได้รับคำสั่งจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงให้มาควบคุมเพื่อไม่ต้องการให้ไปประท้วง ฮุน เซนนายกรัฐมนตรีของกัมพูชาในโอกาสเยือนไทย
โดยวีระ ระบุว่าตนไม่เห็นด้วยกับการเดินทางมาของ ฮุน เซน พร้อมตั้งคำถามถึงผลประโยชน์จากกรณีนี้ว่าจะตกอยู่กับประชาชนคนส่วนใหญ่หรือไม่ด้วย
ภาพจากเฟซบุ๊ก 'Veera Somkwamkid
สำหรับ วีระ นั้น เขาถูกศาลกัมพูชาตัดสินจำคุก 8 ปี ปรับ 1 ล้าน 8 แสนเรียล ในความผิดเข้าเมืองผิดกฎหมาย เข้าพื้นที่ทหารโดยไม่ได้รับอนุญาต และ ประมวลข้อมูลอันเป็นภัยต่อการป้องกันประเทศ หรือ จารกรรมข้อมูล เมื่อปี 54 ก่อนที่จะได้รับการอภัยโทษและกลับไทยเมื่อ ก.ค.57 ที่ผ่านมา

เพื่อไทยซัดรัฐบาลสอบทุจริตราชภักดิ์ยังขาดความโปร่งใส แถมอาจละเมิดสิทธิฯอีก


ร้องรัฐบาลชี้แจงข้อเท็จจริงและรายละเอียดการรับบริจาค งบก่อสร้าง แนะตั้งคณะสอบที่เป็นกลาง-อิสระ หยุดขัดขวางการตรวจสอบหรือใช้กฎหมายคุกคามผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบ เคารพพันธกรณีว่าด้วยสิทธิที่ให้ไว้กับสากล
18 ธ.ค.2558 พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์ เรื่อง โครงการอุทยานราชภักดิ์ (ฉบับที่ 7) โดยระบุว่า การดำเนินการของรัฐบาลในการตรวจสอบการทุจริตประเด็นปัญหานี้ ยังขาดความชัดเจน โปร่งใส และมีการกระทำที่อาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกด้วย
โดยพรรคเพื่อไทยเรียกร้องต่อรัฐบาล ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงและรายละเอียดการรับบริจาค งบก่อสร้าง ตั้งคณะสอบที่เป็นกลางและอิสระ เข้ามาตรวจสอบคู่ขนานไป เรียกร้องให้หยุดใช้อำนาจที่มีอยู่เข้าไปขัดขวางการตรวจสอบหรือใช้กฎหมาย เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง คุกคาม จับกุมดำเนินคดีผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวเพื่อกลบเกลื่อนข่าวการทุจริต ต้องปฏิบัติตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และตราสารระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ตามอนุสัญญาฉบับต่างๆ ที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ เป็นต้น
โดยมีรายละเอียดดังนี้
 
แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย
เรื่อง โครงการอุทยานราชภักดิ์ (ฉบับที่ 7)
ตามที่พรรคเพื่อไทยได้ออกแถลงการณ์ เรียกร้องต่อรัฐบาลขอให้มีการตรวจสอบการทุจริต  การก่อสร้างโครงการอุทยานราชภักดิ์ ขณะเดียวกันก็มีประชาชนหลายภาคส่วน ได้ออกมาเรียกร้อง และแสดงความคิดเห็นในกรณีดังกล่าวอย่างกว้างขวาง บางส่วนก็ได้ไปยื่นคำร้องต่อหน่วยงาน  ที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริต เช่น คณะกรรมการ ป.ป.ช. สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน  ให้ตรวจสอบและดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง
เรื่องอุทยานราชภักดิ์ถือเป็นประเด็นสาธารณะ ที่อยู่ในความสนใจของของประชาชนที่รัฐบาลจะต้องเร่งรีบดำเนินการตรวจสอบ และหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ แต่แทนที่รัฐบาลหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะออกมาชี้แจงรายละเอียดและข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ให้แจ้งชัด กลับปรากฏว่า มีการขัดขวาง ควบคุมตัวและกักตัวบุคคล ตลอดการจับกุมบุคคลเพื่อดำเนินคดีโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยใช้อำนาจพิเศษ และตั้งข้อหาทางอาญากับประชาชน แม้แต่นักศึกษาซึ่งประสงค์จะตรวจสอบโครงการดังกล่าวก็ยังถูกจับกุมดำเนินคดี ดังที่ปรากฏเป็นข่าวโดยทั่วไปแล้วนั้น
  พรรคเพื่อไทยเห็นว่าการดำเนินการของรัฐบาลในประเด็นปัญหานี้ ยังขาดความชัดเจน โปร่งใส และมีการกระทำที่อาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกด้วย พรรคจึงเรียกร้องต่อรัฐบาล ดังนี้
  1.  รัฐบาลต้องให้ผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกองทัพบกและ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ประธานผู้รับผิดชอบโครงการฯได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและรายละเอียดการรับบริจาค และงบประมาณในการก่อสร้าง โครงการอุทยานราชภักดิ์ เพื่อความโปร่งใสและลดความเคลือบแคลงสงสัยของประชาชน
  2.  เนื่องจากมีบุคคลในรัฐบาลและ คสช. ที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายเงิน  ที่ไม่โปร่งใสในโครงการนี้ การที่รัฐบาลมอบหมายให้คณะกรรมการตรวจสอบซึ่งเป็นบุคคลที่รัฐบาลหรือ คสช. แต่งตั้งขึ้น อาจจะทำให้ผลการตรวจสอบไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริงและไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน จึงควรแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีความเป็นกลางและมีความเป็นอิสระเข้ามาตรวจสอบคู่ขนานไปกับคณะกรรมการตรวจสอบของรัฐบาลและควรจะต้องรับฟังผลการตรวจสอบจากองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่เป็นส่วนสำคัญด้วย
  3.  รัฐบาลและ คสช. ต้องไม่ใช้อำนาจที่มีอยู่เข้าไปขัดขวางการตรวจสอบหรือใช้กฎหมาย เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง คุกคาม จับกุมดำเนินคดีผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวเพื่อกลบเกลื่อนข่าวการทุจริต หากพบว่าบุคคลใดกระทำความผิดกฎหมายชัดเจนก็ควรใช้กระบวนการยุติธรรมตามปกติเข้าดำเนินการและให้โอกาสผู้นั้นได้ใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมในการต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะสิทธิในการได้รับการประกันตัวนั้นจะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยเสมอภาค
  4.  แม้รัฐบาลนี้จะได้อำนาจมาโดยการทำรัฐประหาร และใช้อำนาจปกครองโดยทหารก็ตาม  แต่เมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้วแม้จะเป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราวแต่ก็ได้มีการรับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ของบุคคลไว้ตามมาตรา 4 และรัฐบาลก็มีพันธกรณี ที่จะต้องปฏิบัติตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และตราสารระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ตามอนุสัญญาฉบับต่างๆ ที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ ดังนั้น การปิดกั้นและจับกุมดำเนินคดีผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและการใช้กระบวนการยุติธรรมพิเศษนั้น อาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ ซึ่งจะส่งผลลบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในสายตาชาวโลก รัฐบาลจึงควรเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องดังกล่าวได้ ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย โดยไม่ปกปิดข้อมูลหรือปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน
  5.  คสช.ได้ประกาศให้ประชาชนทราบว่าได้ทำการรัฐประหารและเข้าบริหารประเทศก็เพื่อ  สร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ หลังจากที่เกิดความขัดแย้งแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันมานาน และเพื่อดำเนินการปฏิรูปในเรื่องต่างๆ แต่นับถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่าหนึ่งปีครึ่งแล้ว ยังไม่เห็นแนวทาง หรือความชัดเจนที่จะนำมาซึ่งความปรองดองของคนในชาติได้ ในทางตรงกันข้ามรัฐบาลกลับถูกมองว่ามีส่วนเป็นผู้สร้างความขัดแย้งและเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนขึ้นเสียเอง พรรคเพื่อไทยเห็นว่าการสร้างความปรองดองจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ตราบใดที่คนในสังคมยังไม่ได้รับความเป็นธรรมและการปฏิรูปก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้เข้ามีส่วนร่วม ดังนั้น กฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการทั้งสองเรื่องดังกล่าว รัฐบาลและ คสช. ควรต้องผ่อนปรนและยกเลิก เพื่อไม่ให้รัฐบาลและประชาชนเกิดการเผชิญหน้า ขณะเดียวกันรัฐบาลควรทำหน้าที่ชี้แจงข้อเท็จจริงกับประชาชน มากกว่าที่จะใช้วาทะ โวหาร ทำสงครามข้อมูลข่าวสารกับประชาชนที่เห็นต่างกับรัฐบาล
  สุดท้ายพรรคเพื่อไทย ใคร่ขอให้คณะกรรมการที่ตรวจสอบโครงการอุทยานราชภักดิ์  ได้ตรวจสอบในเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา และเร่งรัดผลการตรวจสอบให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว
   พรรคเพื่อไทย
   18 ธันวาคม 2558

ทนายคดีเผาศาลากลางอุบล รับให้ข่าวประหารดีเจต้อยคลาดเคลื่อน พร้อมขอโทษศาล


18 ธ.ค.2558 จากกรณีโฆษกศาลยุติธรรมออกมาโต้แย้งการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในคำพิพากษา ตัดสินประหารชีวิตนายพิเชษฐ์ ทาบุดดา หรือดีเจต้อย แกนนำ นปช.จังหวัดอุบลราชธานี และหนึ่งในผู้ต้องหาคดีเผาศาลากลางอุบราชธานี โดยศาลระบุว่าคำตัดสินที่ถูกต้องศาลฎีกาได้พิพากษาแก้จากเดิมจำคุก 1 ปี เป็นจำคุกตลอดชีวิต ไม่ใช่ให้ประหารชีวิต
วัฒนา จันทศิลป์ ทนายความของผู้ต้องหาในคดีนี้และเป็นผู้ให้ข่าวดังกล่าว ชี้แจงว่า การให้ข่าวมีความคลาดเคลื่อนจริง เป็นความเข้าใจผิดของตนเองที่ได้ให้สัมภาษณ์ว่า นายพิเชษฐ์ ได้รับโทษประหารชีวิต และได้รับการลดโทษ 1 ใน 3 เหลือจำคุกตลอดชีวิต ข้อเท็จจริงคือ ศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต โดยไม่ได้รับการลดหย่อนโทษ จากที่ก่อนหน้านี้ในชั้นศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ตัดสินโทษจำคุก 1 ปี เหตุที่ให้ข่าวคลาดเคลื่อนเป็นเพราะในวันพิพากษามีจำเลยฟังคำพิพากษาหลายคน และมีการแก้โทษหลายคน ทำให้เกิดความสับสน แต่พร้อมยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และได้เข้าขอโทษต่อผู้พิพากษาอุบลราชธานีแล้ว

เลื่อนฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์คดีสลายแดงปี53 เหตุส่งหมายให้สุเทพทางไปรษณีย์ไม่ได้


18 ธ.ค.2558 มติชนออนไลน์ สำนักข่าวไทยและ Voice TV รายงานตรงกันว่า ศาลอาญาเลื่อนนัดฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรีและ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. อดีตรองนายกรัฐมนตรี ฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา สืบเนื่องจากการออกคำสั่ง ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ชุมนุมตั้งแต่เดือน เม.ย.- 19 พ.ค.53 ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
 
โดยเมื่อถึงเวลานัด อภิสิทธิ์เดินทางมาศาลตามนัด พร้อมทนายความ แต่นายสุเทพไม่ได้เดินทางมาศาล  เนื่องจากไม่ได้รับหมายศาล
 
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า หมายที่ส่งไปทางไปรษณีย์ให้ สุเทพ จำเลยที่ 2 ปรากฏว่าส่งไม่ได้ เนื่องจากไม่มีผู้มารับตามกำหนด จึงถือว่าจำเลยที่ 2 ไม่ทราบนัดโดยชอบตามกฎหมาย จึงนัดฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์อีกครั้งวันที่ 17 ก.พ. 2559 เวลา 09.00 น. พร้อมให้แจ้งวันนัดให้จำเลยที่ 2 ทราบ หากไม่มีผู้รับให้ปิดหมาย และกำชับให้จำเลยทั้งสองมาศาลหากไม่มาศาลจะสั่งตามที่เห็นสมควร

วางเงินแสน ศาลทหารให้ประกัน 'ธเนตร' หลังถูกฟ้องผิด ม.116 พ.ร.บ.คอมฯ ไม่เกี่ยวผังราชภักดิ์


18 ธ.ค.2558 กรณี ธเนตร อนันตวงษ์ นักกิจกรรมหนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมการตรวจสอบปมทุจริตอุทยานราชภักดิ์ “ส่องแสงหาคนโกง” ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว ตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค. ที่ผ่านมา ขณะเข้ารับการรักษาอาการลำไส้อักเสบในโรงพยาบาล
ล่าสุดวันนี้(18 ธ.ค.58) ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า ที่กองปราบปราม พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ เสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชาฝ่ายกฎหมาย คสช.พร้อมกำลังควบคุมตัว ธเนตร อายุ 25 ปี อาชีพขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ผู้ต้องหาหมายจับศาลทหาร เลขที่ 64/2558 ข้อหากระทำการให้ปรากฏแก่ประชาชน โดยมิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาส่งมอบให้พนักงานสอบสวน บก.ป. สอบปากคำดำเนินคดี ก่อนจะนำตัวไปขออำนาจศาลทหารฝากขัง
ภาพธเนตรถูกนำตัวมาที่กองปราบ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานต่อว่า การยื่นขอฝากขังต่อศาลทหารกรุงเทพ แม้ทนายความได้ยื่นคัดค้าน แต่ศาลอนุญาติฝากขังธเนตรเป็นเวลา 12 วัน
อย่างไรก็ตามภายหลังทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลมีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อน ใช้หลักประกันเป็นเงินสด 1 แสนบาท รอปล่อยตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครค่ำวันนี้ แต่ศาลไม่อนุญาตให้คัดถ่ายกระบวนพิจารณาอ้างอ่านให้ฟังแล้ว และในวันนี้ศาลห้ามสื่อฯร่วมฟังการไต่สวน
นอกจากนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ รายงานด้วยว่ากรณีที่ธเนตรถูกฟ้องนั้น ไม่เกี่ยวผังราชภักดิ์

มาแล้วหมายเรียก 11 คน ‘คณะส่องทุจริตราชภักดิ์’ ข้อหาชุมนุมเกิน 5 คน


18 ธ.ค.2558 ชนกนันท์ รวมทรัพย์ หรือ การ์ตูน นักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ให้สัมภาษณ์ประชาไทว่า ได้รับหมายเรียกของตำรวจที่ส่งไปที่บ้านในวันนี้ จากกรณีที่จัดกิจกรรมนั่งรถไฟไปตรวจสอบการทุจริตที่อุทยานราชภักดิ์ เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา
หมายเรียกดังกล่าวมาจากสถานีตำรวจรถไฟธนบุรี ลงวันที่ 14 ธ.ค.2558 ระหว่าง พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ และตัวเธอพร้อมพวกรวม 11 คน โดยแจ้งข้อกล่าวหาว่า มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ สถานที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปฯ  และนัดหมายให้เธอไปรับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวนในวันที่ 22 ธ.ค. เวลา 9.00 น. ที่สน.รถไฟธนบุรี
ชนกนันท์ กล่าวว่า เท่าที่ได้ตรวจสอบกับกลุ่มเพื่อนทราบว่าในขณะนี้ยังไม่มีใครได้รับหมายเรียก และไม่มีการชี้แจงใดๆ จากเจ้าหน้าที่
เมื่อสอบถามว่าเหตุใดจึงเป็นเธอและพวกรวม 11 คน ชนกนันท์ กล่าวว่า ยังไม่ทราบเหตุผลแน่ชัด เพราะหากนับจำนวนคนที่ไม่ให้ความร่วมมือในการให้ประวัติหรือบัตรประชาชนกับเจ้าหน้าที่ในวันที่มีการควบคุมตัวและสอบสวน ก็มีเพียง 6 คนรวมตัวเธอด้วย หรือจะเป็นการออกหมายเรียกบุคคลที่ไม่ยอมเซ็นข้อตกลงทางการเมืองหรือไม่ ยังไม่แน่ชัด เพราะไม่ทราบว่ามีใครบ้างที่ไม่เซ็นและมีทั้งหมดกี่คน