วิษณุ เป็นประธานการประชุมร่วมหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวง เตรียมการดำเนินการออกกฎหมายให้สอดคล้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ รธน. ฉบับใหม่ ขณะที่ กต. เชิญคณะทูตต่างประเทศเข้าร่วมพระราชพิธี ประกาศใช้ รธน. หวั่งสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศ
5 เม.ย. 2560 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า วันนี้ (5 เม.ย.60) เวลา 13.30 น ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมเตรียมการหน่วยงานภาครัฐเพื่อดำเนินการออกกฎหมายให้สอดคล้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับใหม่ ครั้งที่ 1/2560 โดยมีหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงหรือตัวแทนปลัดกระทรวง และตัวแทนหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
ซึ่ง เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ ประธานได้ชี้แจงต่อที่ประชุมให้มีความรู้ความเข้าใจในแนวทางของการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติ มาตรา 77 ของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับใหม่ ทั้งนี้ เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2560 โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจัดทำขึ้น เพื่อให้หน่วยงานของภาครัฐนำไปถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดต่อไป โดยหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบความจำเป็นในการตราพระราชบัญญัติ ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาปรับปรุงขึ้นนั้น เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบัญญัติ มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2559 เรื่องนโยบายการปฏิรูปกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหารโดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบความจำเป็นในการตราพระราชบัญญัติท้ายทะเบียนว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 และให้หน่วยงานของภาครัฐถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดต่อไป
นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐต้องเตรียมความพร้อมในการดำเนินการเพื่อให้การตรากฎหมายภายหลังรัฐธรรมนูญฯ ประกาศใช้บังคับแล้ว ในวันที่ 6 เม.ย. 2560 เป็นไปอย่างราบรื่นและเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญฯบัญญัติไว้ ซึ่งได้สรุปเป็นมาตราในการตรากฎหมายไว้ 4 มาตรการ ได้แก่ 1. มาตรการทั่วไป รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น ณ หน่วยงานของภาครัฐโดยคำนึงถึงความจำเป็นในการตรากฎหมายและต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาการทบทวนตามความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ. 2558
2. มาตรการก่อนการตรากฎหมาย รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้ง เปิดเผยการรับฟังความคิดเห็น (Public Hearing) และการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน โดยผ่านระบบเว็บไซต์ของหน่วยงานหรือการประชุมชี้แจงของหน่วยงาน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน ต่อไป 3. มาตรการหลังการตรากฎหมาย รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกระยะเวลาที่กำหนดโดยรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมโดยหน่วยงานของภาครัฐ ต้องคำนึงถึงหรือพิจารณาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ. 2558
4. มาตรการควบคุมเนื้อหาของกฎหมาย ต้องสอดคล้องและไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญโดยไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม และมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปโดยไม่เลือกปฏิบัติสอดคล้องและไม่ขัดหรือแย้งกับแนวนโยบายแห่งร่างยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ อีกทั้งมีระบบคณะกรรมการให้กระทำได้เท่าที่จำเป็น ขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงหรือพิจารณาดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักการ และสาระสำคัญของพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ด้วย
จากนั้น รองนายกรัฐมนตรีได้ให้โอกาสผู้เข้าร่วมประชุมได้มีการตอบข้อซักถามเพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของตนเองให้สอดคล้องและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับใหม่ ซึ่งเป็นไปด้วยความเข้าใจและสามารถนำไปปฏิบัติได้ต่อไปภายหลังจากที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับใหม่ ในวันที่ 6 เม.ย. 2560
กต.แจงเชิญคณะทูตเข้าร่วมพระราชพิธีประกาศใช้ รธน.
สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า พระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่จะจัดขึ้นในวันพรุ่งนี้ (6 เม.ย.) ในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศได้เชิญคณะทูตต่างประเทศ ที่ประจำการในประเทศไทยเข้าร่วมพระราชพิธีด้วย ขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศจะนำข้อมูลความคืบหน้า พัฒนาการของประเทศไทย แจ้งกับสถานเอกอัครราชทูตไทยสถานกงสุลใหญ่ไทย ทั่วโลก และทีมไทยแลนด์ของประเทศไทย เพื่อเป็นข้อมูลเชิงประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ตอบคำถามชี้แจงกับต่างประเทศและผู้ที่สนใจเกี่ยวกับพัฒนาการของประเทศไทยไปในทิศทางเดียวกัน
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า พระราชพิธีที่จัดขึ้นจะมีส่วนในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทยมากขึ้น เพราะการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะนำไปสู่การกระบวนการอื่น ๆที่เกี่ยวข้อง เช่น การออกกฏหมายลูก และการเตรียมการที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง ตามความตั้งใจของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่ตั้งใจเดินหน้าตามแผนโรดแมปที่วางไว้