วันเสาร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ประยุทธ์แจงอายัดบัญชียิ่งลักษณ์ เป็นอีกกรณี - วิษณุ ระบุ แค่ฟรีซเอาไว้


ประยุทธ์ ยันอายัดบัญชีธนาคารยิ่งลักษณ์เป็นคนละเรื่องกับกรณีที่ศาลฎีกาฯนักการเมือง จะมีคำพิพากษาในคดีจำนำข้าว 25 ส.ค.นี้ วิษณุ ระบุจำเป็นต้องถูกอายัดไว้ก่อน เพื่อไม่ให้จำหน่ายจ่ายโอน แต่ยังไม่ถูกยึดมาเป็นของหลวง 
27 ก.ค. 2560 จากรณีวานนี้ (26 ก.ค.60) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ชี้แจงกรณีที่กรมบังคับคดีได้อายัดบัญชีของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เนื่องจากคดีโครงการรับจำนำข้าวนั้นว่า ยังไม่มีการยึดทรัพย์ ทั้งนี้ได้สั่งให้กรมบังคับคดีชี้แจงข้อเท็จจริงด้วย รวมถึงให้ระมัดระวังการให้ข้อมูล เพราะไม่เช่นนั้นอาจถูกมองว่าเป็นการไปกลั่นแกล้ง ยิ่งลักษณ์ จนต่อมา ยิ่งลักษณ์ รีทวีตผ่าน @PouYingluck สั้นๆ ว่า "ไม่ใช่แค่อยู่ขั้นตอนการเตรียมการนะคะ แต่ได้ยึดและถอนเงินในบัญชีดิฉันไปแล้วค่ะ"
ล่าสุดวันนี้ (27 ก.ค.60) สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่กรมบังคับคดี กระทรวงการคลังดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์ในบัญชีธนาคารของยิ่งลักษณ์ ว่า เป็นคนละเรื่องกับกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีคำพิพากษาในคดีโครงการรับจำนำข้าวในวันที่ 25 ส.ค.นี้ อย่านำ 2 กรณีมาปนกัน เพราะการยึดทรัพย์โดยกรมบังคับคดี เป็นมาตรการทางปกครอง ซึ่งต้องทำตามเวลาที่กำหนด ส่วนในวันที่ 25 ส.ค.เป็นเรื่องของศาล ซึ่งเป็นคดีอาญา ขณะนี้มี 2 กรณี แต่อาจะมี 3 กรณีก็ได้หากมีมาตรการทางแพ่งให้ชดใช้ความเสียหาย ยืนยันว่ากรณียึดและอายัดทรัพย์ไม่เกี่ยวข้องกับคดีอาญา
เมื่อถามว่า ยิ่งลักษณ์ ได้ร้องต่อศาลปกครองให้ทุเลาการดำเนินการยึดทรัพย์ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า หากศาลรับคำร้องของ ยิ่งลักษณ์ การยึดทรัพย์ก็จะหยุดชั่วคราว ถ้าศาลไม่ให้ทุเลาก็ต้องเดินหน้ายึดทรัพย์กันต่อไป ขึ้นอยู่กับศาลว่าจะให้สิทธิแก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์หรือไม่ ไม่ใช่ว่าเมื่อโดนคำสั่งศาลแล้ว จะไม่สามารถร้องขอความเป็นธรรมได้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และยิ่งลักษณ์สามารถร้องศาลปกครองจนกว่าอายุความจะสิ้นสุด และระหว่างนี้กรมบังคับคดีก็จะดำเนินการยึดทรัพย์จนกว่าอายุความจะสิ้นสุดเหมือนกัน
“ขอว่าอย่าเอา 2 เรื่องมาพันกัน อย่าเอามาจนกลายเป็นประเด็นเพื่อปลุกระดม เพื่อใช้ในการบิดเบือน เอาคนมา หาว่าเราไปรังแก ยึดทรัพย์ เพราะมันคนละเรื่อง เนื่องจากมีกฎหมายตั้งหลายตัว” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

วิษณุ แจงไม่ได้ยึดทรัพย์ แค่ฟรีซเอาไว้

ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนี้ว่า ต้องเข้าใจก่อนว่ามีอยู่หลายคดี คดีอาญาของนักการเมืองนั้นไปขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่จะตัดสินวันที่ 25 ส.ค.นี้ หากศาลฎีกาฯตัดสินว่ามีความผิดจะนำไปสู่การดำเนินคดีแพ่งต่อไป คำถามเรื่องการยึดทรัพย์ที่สื่อถามนายกฯเมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น นายกฯคงเข้าใจว่าเป็นการยึดทรัพย์ในคดีที่อยู่ในศาลฎีกาฯ ซึ่งความจริงยังยึดไม่ได้จนกว่าศาลฎีกาฯจะตัดสินแล้วรอดูผลก่อนจะตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร
วิษณุ กล่าวว่า ส่วนการบังคับคดีปกครองที่พูดกันมาเป็นปีจากการออกคำสั่งทางปกครองออกไปแล้วนั้น หลายคนพยายามมาถามตนว่าทำถึงไหนแล้ว จะยึดอะไรอย่างไรบ้าง ซึ่งตนบอกแล้วว่าถ้าพบก็ยึดและมีอายุความ 10 ปี จึงถือเป็นคนละส่วน ถ้าพบก็ต้องยึดทรัพย์เลย มิฉะนั้นเจ้าหน้าที่จะถือว่าบกพร่อง ทั้งนี้ กระทรวงการคลังในฐานะเจ้าหนี้ของเรื่องดังกล่าวได้ตรวจสอบพบว่ามีทรัพย์สินบางส่วน จึงนำทรัพย์สินดังกล่าวแยกเป็น 2 ส่วน คือ 1.สังหาริมทรัพย์ ได้แก่ เงินฝากอยู่ในธนาคารต่างๆ ที่ตอนนี้ตรวจพบแล้วว่ามีอยู่ 10-20 ธนาคาร รวมแล้วเป็นเงินจำนวนไม่มาก จำเป็นต้องถูกอายัดไว้ก่อน ถูกฟรีซเอาไว้ เพื่อไม่ให้จำหน่ายจ่ายโอน แต่ยังไม่ถูกยึดมาเป็นของหลวง กรณีผู้ต้องหารายอื่นๆ ก็ถูกดำเนินการในลักษณะเดียวกันได้
วิษณุ กล่าวว่า 2.อสังหาริมทรัพย์ คือที่ดิน บ้าน คอนโดฯ เป็นต้น ได้ถูกตรวจพบว่ามีประมาณ 37 รายการ โดยหน่วยงานเจ้าของเรื่องทราบดีว่ามูลค่าจำนวนหนึ่ง แต่ขอไม่ระบุตัวเลข ซึ่งกรมบังคับคดีได้ประสานกับกรมที่ดิน เพื่อขอฟรีซทรัพย์นั้นไว้เช่นกัน เพื่อไม่ให้ทำธุรกรรม จำหน่าย จ่ายโอน แต่ยังไม่ถูกยึดเข้ารัฐเช่นกัน และยังไม่ถูกนำมาขายทอดตลาด และยังเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลนั้นอยู่เช่นเดิม เพียงแต่กรมบังคับคดีแจ้งให้กรมที่ดินทราบว่ามีรายการใดบ้างที่ถูกตรวจพบ
เมื่อถามว่า ยิ่งลักษณ์ ระบุเงินในบัญชีถูกอายัดและถูกถอนออกจากบัญชีไปแล้ว วิษณุ กล่าวว่า เงินที่ถูกอายัดไว้นั้นมี 16 บัญชี โดย 5 บัญชีรวมแล้วมีเงินเป็นหลักแสนบาท ซึ่งถูกกรมบังคับคดีถอนออกมาก่อน ถือเป็นอำนาจตามกฎหมาย แต่ยังไม่ได้ถูกส่งเข้าคลังทันที ทรัพย์ยังอยู่ที่กรมบังคับคดีเนื่องจากยึดตามคำสั่งทางคดีปกครอง ที่เหลืออีก 11 บัญชียังไม่มีการแตะต้อง
เมื่อถามว่าหากศาลฎีกาฯตัดสินว่านยิ่งลักษณ์ไม่มีความผิด จะได้รับเงินที่ถูกกรมบังคับคดีถอนออกไปนั้นกลับคืนหรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า เป็นคนละส่วนกันระหว่างคำตัดสินของศาลฎีกาฯในวันที่ 25 ส.ค. กับคดีแพ่ง ขณะเดียวกันน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ไปยื่นขอทุเลาการบังคับคดี แต่ตอนนั้นศาลไม่รับด้วยเหตุว่าขณะนั้นยังไม่มีการยึดทรัพย์ใดๆ จึงไม่ต้องทุเลาการบังคับคดี แต่ขณะนี้ได้เริ่มมีการบังคับคดีแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็มีสิทธิ์ไปยื่นขอทุเลาการบังคับคดีต่อศาลปกครองได้ ถือเป็นผลดีต่อตัวเขาเอง จากนั้นอยู่ที่ศาลปกครองจะทุเลาการบังคับคดีหรือไม่
วิษณุ กล่าวว่า หากศาลปกครองสั่งทุเลาการบังคับคดีดังกล่าว กรมบังคับคดีต้องหยุดการดำเนินการทั้งหมด ทั้งสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ แต่ถ้าศาลปกครองสั่งไม่ทุเลา ทางกรมบังคับคดีก็ดำเนินการต่อไปได้ตามกฎหมาย แต่ได้หารือกันแล้วว่าจะยังไม่ทำอะไรอีกในช่วงนี้จนกว่าศาลฎีกาฯจะมีคำตัดสินในวันที่ 25 ส.ค. อย่างน้อยการทำเช่นนี้ทำให้รู้ว่าทรัพย์สินทั้งหมดในชื่อของน.ส.ยิ่งลักษณ์ มีอะไรบ้าง อยู่ที่ใดและมีมูลค่าเท่าใด ส่วนทรัพย์สินของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่อาจอยู่ในชื่อบุคคลอื่น ทางกรมบังคับคดียังไม่เข้าไปตรวจสอบ ส่วนจะไปตรวจสอบเมื่อใดนั้นไม่ทราบ
เมื่อถามว่าอาจถูกมองว่ากรมบังคับคดีใช้เวลาสืบทรัพย์นาน แต่เพิ่งมาสืบพบในช่วงเวลาใกล้จะตัดสินคดีในวันที่ 25 ส.ค. วิษณุ กล่าวว่า ไม่ได้เกี่ยวกัน อยู่ที่ว่ากรมบังคับคดีจะสืบทรัพย์พบเมื่อใด เมื่อสืบพบก็ต้องดำเนินการโดยทันทีตามกฎหมาย ถือเป็นเรื่องปกติ ทั้งนี้ กระทรวงการคลังไปแจ้งกรมที่ดิน ธนาคารต่างๆ ตั้งแต่ยังไม่รู้ว่าศาลฎีกาฯจะนัดวันอ่านคำพิพากษาในวันใด เมื่อออกมาเป็นอย่างนี้ก็ไม่มีปัญหา

สนช. ร่างผ่านวาระ 3 พ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดิน ต่ออายุครบวาระ ไม่เซ็ตชีโร่


สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติผ่านวาระ 3 ร่าง พ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดิน ปรับเนื้อหาให้ผู้ตรวจการแผ่นดินยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้จนครบวาระ และไม่มีการเซ็ตซีโร่
27 ก.ค. 2560 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. .... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยพลเอกธีรเดช มีเพียร ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีทั้งหมด 63 มาตรา ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ได้มีการแก้ไขคำส่วนของคำปรารภและอีก 12 มาตรา พร้อมตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกรอบระยะเวลาในการสรรหาตามมาตรา 18 วรรค 6 ที่กำหนดไว้ 90 วัน รวมถึงการกำหนดไม่ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเข้ารับการอบรมในหลักสูตรหรือโครงการใดๆ ในมาตรา 21 และการกำหนดคุณสมบัติของผู้ตรวจการแผ่นดินตามมาตรา 8 ว่า ควรกำหนดแนวทางให้ชัดเจนเพื่อให้เกิดความรอบคอบ
พลเอก มารุต ปัชโชตะสิงห์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งขอแปรญัตติในมาตรา 13 พร้อมสงวนคำแปรญัตติ โดยกล่าวถึงกรณีที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการสรรหารายใด ในการดำเนินการสรรหาใหม่ ไม่ควรให้ผู้ที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาในครั้งนี้ ได้รับการสรรหาใหม่ได้ ซึ่งตนเองมีความเห็นต่างจึงขอแปรญัตติเพื่อเพิ่มข้อความเข้าไปว่า ผู้ที่เคยไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา ไม่ว่าจะในครั้งใดก็ตาม ไม่ควรมีสิทธิ์ที่จะได้รับการสรรหาใหม่ เนื่องจากผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ต้องเป็นผู้ที่ไม่มีมลทิน และเป็นผู้ที่ใสสะอาดจริงๆ
โดยธนาวัฒน์ สังข์ทอง กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงว่า การเข้ารับการสรรหาใหม่ ไม่ควรไปตัดสิทธิ์ผู้ที่เคยไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาในครั้งอื่น แต่ควรกำหนดให้ผู้ที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาในครั้งล่าสุดเท่านั้น เพราะการไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภานั้น มีหลายสาเหตุ
ด้านพลเรือเอกธราธร ขจิตสุวรรณ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ขอแปรญัตติในมาตรา 39เพื่อขอให้เพิ่มข้อความในการจัดทำรายงานประจำปีของผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ควรทำตามหลักเกณฑ์มาตรฐานของระบบการประเมินผลภาคราชการแบบบูรณาการ พร้อมเผยแพร่ให้ผู้สูงอายุและผู้พิการสามารถเข้าถึงได้ด้วย พร้อมขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินคนใดคนหนึ่งต้องมาแถลงรายงานประจำปีต่อรัฐสภาด้วยตนเองเท่านั้น โดยไม่ให้ส่งผู้แทนมามาแถลงรายงานประจำปีแทน
สำหรับการพิจารณาในหมวดที่ 4 เรื่องบทกำหนดโทษ มาตรา 56 มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขอแปรญัตติหลายคน อาทิ ศาสตราจารย์พิเศษนรนิติ เศรษฐบุตร กล้านรงค์ จันทิก มองว่าประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2552โดยขอแปรญัตติให้เพิ่มข้อความว่า “หรือพ้นจากตำแหน่ง” เข้ามาด้วย ขณะที่ สมชาย แสวงการ แปรญัตติให้เพิ่มข้อความที่ระบุให้ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดิน ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 9มาตรา 10และมาตรา 18 (1) (2) พร้อมให้เหตุผลว่า องค์กรอิสระแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน ดังนั้น จึงไม่ควรใช้รูปแบบเหมือนกันทุกองค์กร แต่ควรดูความเหมาะสม และอำนาจหน้าที่ที่ได้รับตามรัฐธรรมนูญ
ด้านธนาวัฒน์ ยอมรับว่าการกำหนดคุณสมบัติผู้ตรวจการแผ่นดินในร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเกณฑ์ที่สูงขึ้น แต่ยืนยันว่ายังอยู่ในกรอบตามที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนด พร้อมให้เหตุผลว่า การกำหนดคุณสมบัติ รวมถึงบทลงโทษต่างๆ ที่มีความเคร่งครัด เข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องการให้ผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน เกิดปัญหาร้องเรียนจากบุคคลอื่นกรณีขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติและที่มา
อย่างไรก็ตาม ประธานได้สั่งให้พักประชุมเพื่อให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้หารือเกี่ยวกับการปรับแก้ถ้อยคำให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกันระหว่างเนื้อหาในมาตรา 56 มาตรา 57 และมาตรา 58 กรณีการคงอยู่และการพ้นจากตำแหน่งของประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยได้ข้อสรุปว่า ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระหรือพ้นจากตำแหน่งได้ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผนดิน พ.ศ. 2552 และตามที่มาตรา 18 ระบุไว้ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ แก้ไขในร่างมาตรา 56 ด้วยคะแนนเห็นด้วย 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 8 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง

ตร. แจ้งความ 'วัฒนา เมืองสุข' โพสต์เฟซบุ๊กยุยง ปมจำนำข้าว


สันติบาลแจ้งความเอาผิด 'วัฒนา เมืองสุข' ที่กองปราบปราม อ้างโพสต์เฟซบุ๊ก ยุยง คดีรับจำนำข้าว พร้อม วิจารณ์ คสช. เจ้าตัวเผยเตรียมแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ในเช้าวันเสาร์ที่ 29 ก.ค. นี้

28 ก.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ภาพพร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Watana Muangsook" ในลักษณะสาธารณะ ระบุว่า เพิ่มอีก 1 คดี มีคนแชร์ข่าวที่ตนถูกตำรวจสันติบาลแจ้งความดำเนินคดี กรณีที่ตนโพสต์ให้กำลังใจ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในการต่อสู้คดีในโครงการจำนำข้าว โดยกล่าวหาว่าตนกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ตามเนื้อข่าวที่ตนแชร์มาให้ดู ตนจะแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ในเช้าวันเสาร์ที่ 29 ก.ค. นี้
ทั้งนี้ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. รายงานว่า พ.ต.อ.ธงชัย อยู่เกษ ผู้กำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม เปิดเผยสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับ วัฒนา ในข้อหากระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือ ไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือ ใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินตามมาตรา 116 โดยนำเอกสารหลักฐานมามอบให้พิจารณา
จากกรณีที่ วัฒนา ได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กส่วนตัว "Watana Muangsook" ถึงกรณีที่ศาลฎีกาพิจารณาคดีโครงการรับจำนำข้าวนัดสุดท้าย ยิ่งลักษณ์ ในลักษณะยุยงให้เกิดความปั่นป่วนอีกทั้งยังวิพากษ์วิจารณ์ คณะ คสช.อีกด้วย จึงเข้าแจ้งความดังกล่าว เบื้องต้นพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 1 อยู่ระหว่างการสอบปากคำเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลที่มาแจ้งความเพื่อรับเรื่องไว้ ก่อนเสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งการต่อไป

ตร.เตรียมใช้กำลังเต็มอัตราศึก รับมือวันตัดสินคดีจำนำข้าว จ่อออกหมายจับ 3 คนยุยงปลุกปั่น


รอง ผบ.ตร.เผยเตรียมแผน 'กรกฏ52' ใช้กำลังเต็มอัตราศึก รับมือวันตัดสินคดีจำนำข้าว พร้อมเตรียมขอศาลออกหมายจับ 3 คนข้อหายุยงปลุกปั่น 'ประวิตร' เชื่อไม่ถูกนำไปขยายผลจนเกิดความรุนแรง ด้าน ผบ.ตร.พร้อมรัษาความปลอดภัยเต็มที่
แฟ้มภาพ
เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา รายงานข่าวระบุว่า พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยการเตรียมรักษาความปลอดภัยในวันแถลงปิดคดีและตัดสินคดีโครงการจำนำข้าวในเดือนสิงหาคมนี้ว่า ตำรวจได้เตรียมใช้แผน "กรกฏ52" ในการดูแลความปลอดภัยบริเวณศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยืนยันพร้อมใช้กำลังเต็มอัตราศึก ทั้งนี้ต้องรอคำสั่งของศาลฎีกาฯว่า จะต้องประเมินและปรับแผนดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างไรบ้าง 
พล.ต.อ.ศรีวราห์ ระบุอีกว่า ขณะนี้พบมีกลุ่มมือที่ 3 คอยยุยงปลุกปั่นประชาชนในวันตัดสินคดี และรู้ตัวบุคคลแล้ว แต่ยังไม่ขอเปิดเผยว่าเป็นกลุ่มหรือบุคคลใด โดยภายในสัปดาห์หน้าเตรียมขอศาลออกหมายจับ 3 คนข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่ยวายในบ้านเมือง ส่วนกลุ่มประชาชนที่จะมาให้กำลังใจนั้นไม่ได้ห้าม ถือว่าเป็นสิทธิ์ แต่ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย หากเป็นการชุมนุมทางการเมืองก็จะเข้าข่ายความผิดทั้งกฎหมายอาญา, พ.ร.บ.ชุมนุม และขัดคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันว่า ไม่กังวลเหตุรุนแรงช่วงตัดสินคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เนื่องจากมีการพูดคุยทำความเข้าใจกับแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงไปแล้วหลายครั้ง จึงเชื่อว่า การตัดสินคดีครั้งนี้จะไม่ถูกนำไปขยายผลทางการเมืองจนเกิดความรุนแรง การพิจารณาคดีเป็นเรื่องของศาลไม่ใช่การสั่งการจากรัฐบาล ยืนยันว่า ไม่มีการสกัดกั้นมวลชน แต่ขอฝ่ายสนับสนุน อย่าเดินทางมาให้กำลังใจ เพราะอาจมีมือที่ 3 สร้างสถานการณ์ จนเกิดความวุ่นวายได้
ขณะที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวว่า ฝ่ายความมั่นคงมีการเตรียมพร้อมรักษาความปลอดภัยอย่างเต็มที่ รวมทั้งเฝ้าระวังด้านการข่าว โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองอย่างใกล้ชิด หากมีการทำผิดกฎหมาย ต้องดำเนินการตามขั้นตอน ส่วนการอายัดบัญชีทรัพย์สินของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยในคดีนี้นั้น เป็นอำนาจของหน่วยที่เกี่ยวข้อง ยืนยันไม่กังวลว่าจะถูกนำมาเป็นประเด็นเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชน เพราะตำรวจเฝ้าระวังทุกประเด็น โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวทางโซเชียลมีเดีย

เลขาฯ ป.ป.ช. ไม่ทราบคดีประกันราคาข้าวของอภิสิทธิ์ ไต่สวนถึงขั้นไหนแล้ว


เลขาฯ ป.ป.ช. เผยการชี้มูลความผิด กรณีกล่าวหา ยิ่งลักษณ์ และครม. อนุมัติจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ใกล้เสร็จสิ้น ระบุไม่ทราบคดีประกันราคาข้าวของอภิสิทธิ์ ดำเนินการไต่สวนถึงขั้นไหนแล้ว อัยการชี้ยึด รธน.ให้สิทธิอุทธรณ์คดีจำนำข้าว

เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา เนชั่นรายงานว่า สรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยถึงกรณีเตรียมชี้มูลความผิด กรณีกล่าวหา ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี รวม 34 ราย กรณีอนุมัติการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองปี 2548-2553 โดยไม่มีกฎหมายรองรับ ภายในเดือน ก.ย.นี้ว่า ปัจจุบันคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการไต่สวน ใกล้เสร็จสิ้นแล้วตามที่ สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป.ป.ช. ระบุ และวันนี้ในที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้หารือกันถึงประเด็นที่ วิญญัติ ชาติมนตรี กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อติง สุภา ว่า การกระทำดังกล่าวอาจสร้างกระแสสอดรับช่วงเวลาที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะพิพากษาคดีจำนำข้าวที่มี "ยิ่งลักษณ์ เป็นจำเลย ทั้งนี้ ตามข้อเท็จจริงแล้วไม่เกี่ยวกัน การไต่สวนของ ป.ป.ช. ดำเนินการไปตามกฎหมาย
 
สรรเสริญ กล่าวว่า ตนไม่ขอพูดถึงคดีเกี่ยวกับข้าวในช่วงนี้ คงต้องรอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำตัดสินออกมาก่อน ส่วนคดีประกันราคาข้าวของ อภิสิทธิ์ ไม่ทราบว่าดำเนินการไต่สวนถึงขั้นไหนแล้ว ทราบแค่ว่า อยู่ในชั้นคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ดำเนินการอยู่ 
ต่อกรณีคำถามถึงความคืบหน้าคดีอื่นๆ ของ ยิ่งลักษณ์ ที่ ป.ป.ช. ไต่สวน 13 คดี  เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.  กล่าวว่า ที่พ้นจาก ป.ป.ช. ไปแล้ว 2 คดี ได้แก่ คดีโครงการรับจำนำข้าวที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดไปแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอฟังคำตัดสินของศาลฯ และคดีขอให้ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งต้องจัดทำข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง และประกาศราคากลางในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่ง ป.ป.ช. มีมติยกคำร้องไปแล้ว ส่วนอีก 11 คดีที่เหลืออยู่ระหว่างการไต่สวนต่อไป
 

อัยการชี้ยึด รธน.ให้สิทธิอุทธรณ์คดีจำนำข้าว

วานนี้ (28 ก.ค.60) Voice TV รายงานว่า ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงสิทธิในการยื่นอุทธรณ์คดี ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีโครงการรับจำนำข้าว ที่ศาลจะพิพากษาในวันที่ 25 ส.ค.นี้ว่า ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 195 วรรค 4 บัญญัติให้คู่ความสามารถอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา โดยไม่ต้องมีพยานหลักฐานใหม่ 
แม้ว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการประกาศใช้  แต่การพิจารณาจะต้องยึดถือรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศเป็นหลัก จะไปตีความกฎหมายตัดสิทธิคู่ความในคดีว่าไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ อันเป็นการใช้สิทธิโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลไม่ได้ 
คู่ความในคดีจึงมีสิทธิในการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ ตามที่รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 195 วรรค 4 บัญญัติไว้

 วิษณุ เตือนให้กำลังใจระวังละเมิดอำนาจศาล

ขณะที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคนที่จะมาให้กำลังใจ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันตัดสินคดีจำนำข้าว 25 ส.ค.นี้ ระวังละเมิดอำนาจศาล
รายงานข่าวระบุด้วยว่า ส่วนวันพรุ่งนี้ วัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะชี้แจงผ่านเฟซบุ๊ก หลังมีรายงานว่าตำรวจเตรียมแจ้งความดำเนินคดี  ฐานความผิดยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากกรณีโพสต์ให้กำลังใจยิ่งลักษณ์

วัฒนาอัดรัฐละเมิดนิติธรรม หลังฟ้อง ม.116 เหตุโพสต์ให้กำลังใจยิ่งลักษณ์-วิจารณ์คสช.


วัฒนาโพสต์เฟซบุ๊กปมถูก ตร.ฟ้องข้อหายุยงให้เกิดความปั่นป่วน กรณีให้กำลังใจยิ่งลักษณ์และวิจารณ์ คสช. ชี้เป็นตัวอย่างของการที่รัฐละเมิดหลักนิติธรรม เพื่อต้องการข่มขู่และปิดปากทุกคนที่ต่อสู้และไม่ยอมรับอำนาจเผด็จการ
<--break- />
29 ก.ค. 2560 จากกรณีตำรวจสันติบาลแจ้งความดำเนินคดีกับ วัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย กรณีโพสต์ให้กำลังใจ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในการต่อสู้คดีในโครงการจำนำข้าว โดยกล่าวหาว่ากระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ซึ่งวัฒนาระบุว่า จะแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ในเช้าวันเสาร์ที่ 29 ก.ค. นี้
ล่าสุด วัฒนา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Watana Muangsook' ในลักษณะสาธารณะภายใต้หัวข้อว่า "...กว่านี้มีอีกไหม" โดยระบุว่า  พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ตำรวจสันติบาลแจ้งความต่อกองปราบปราม ให้ดำเนินคดีกับตนในข้อหาความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 กล่าวหาตนว่าได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ในลักษณะยุยงให้เกิดความปั่นป่วนอีกทั้งยังวิพากษ์วิจารณ์ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
วัฒนา โพสต์ว่า ตามรัฐธรรมนูญบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ฯลฯ รวมถึงการติดต่อสื่อสารถึงกันไม่ว่าในทางใดๆ ข้อความที่ตนโพสต์คือการแสดงความเห็นว่า การไปให้กำลังนายกยิ่งลักษณ์ถือเป็นเสรีภาพ ส่วนที่มีการเชิญชวนประชาชนก็ไม่ผิดกฎหมาย เพราะไม่ได้ชวนมาเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือล้มรัฐบาล หรือสร้างความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่อง หรือทำผิดกฎหมาย แต่เป็นการชวนมาเพื่อให้กำลังใจนายกยิ่งลักษณ์ซึ่งเป็นกิจกรรมตามประเพณีอันเป็นข้อยกเว้นของกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ และที่อ้างว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์ คสช. ก็เป็นการแสดงความคิดเห็นต่อการทำงานของบุคคลสาธารณะ ที่กินเงินเดือนจากภาษีของประชาชนถือเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเช่นกัน จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 116 ตามที่กล่าวหา
"นี่คือตัวอย่างของการที่รัฐละเมิดหลักนิติธรรม ซึ่งถือเป็นความเลวร้ายที่สุดเพราะกระทำโดยอาศัยอำนาจของกระบวนการยุติธรรม ทั้งหมดเพื่อต้องการข่มขู่และปิดปากทุกคนที่ต่อสู้และไม่ยอมรับอำนาจเผด็จการ จึงขอแจ้งไปยัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และ คสช. ว่าผมเป็นบุคคลสาธารณะ มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและไม่เคยคิดหลบหนี พวกคุณรู้ที่อยู่ของผมดีเพราะเคยส่งคนมาอุ้มผมไปควบคุมตัวในค่ายทหารหลายครั้ง ส่วนหมายเลขโทรศัพท์ผมให้ไว้กับเจ้าหน้าที่แล้ว ดังนั้น หากประสงค์จะสอบสวนหรือแจ้งข้อหาให้ติดต่อมาผมจะไปหาพวกคุณถึงที่ สิ่งที่ผมทำไม่เป็นความผิดจึงขอบอกประชาชนอีกครั้งว่าวันที่ 1 และ 25 ส.ค. ใครประสงค์จะไปให้กำลังใจนายกยิ่งลักษณ์ก็ไปได้ไม่ผิดกฎหมาย เพื่อบอกเหล่าเผด็จการว่าประชาชนยืนข้างหลักนิติธรรม รังเกียจเผด็จการที่ทำลายหลักนิติธรรมและทำให้บ้านเมืองเสียหาย ส่วนผมจะไปทั้งสองวัน ยกเว้นผมถูกจับและไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวผมก็จะส่งกำลังใจให้ท่านจากห้องขัง "มีปัญหามั้ย กลัวจัง" วัฒนา โพสต์ทิ้งท้าย

ให้ประกันคดีปาระเบิด แต่ฝากขัง 'แหวน' ต่อคดี 112–วาสนาได้ปล่อยแล้ว


ความคืบหน้า ตร.อายัดตัว 2 ผู้ต้องหาคดีปาระเบิดลานจอดรถศาลอาญาหลังได้ประกันตัว วาสนาได้ปล่อยตัวแล้ว เหตุอายัดซ้ำซ้อนคดีเดิม ส่วนแหวนพยานปากเอกคดี 6 ศพวัดปทุมฯ ศาลทหารอนุมัติฝากขังต่อคดี 112 ทนายชี้ ตร.แจ้งข้อหาไว้ตั้งแต่ 2 ปีก่อนระหว่างถูกขังแต่ไม่ดำเนินการใดๆ เพิ่งขยับหลังประกันตัวได้

25 ก.ค.2560 วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความจากสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้า กรณีณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือแหวน และวาสนา บุษดี ผู้ต้องหา 2 คนที่ถูกอายัดตัวไปคุมขังต่อหลังศาลอนุญาตให้ประกันตัวในคดีปาระเบิดลานจอดรถศาลอาญา (อ่านที่นี่) โดยวาสนานั้นได้รับการปล่อยตัวจาก สน.โชคชัยแล้วเนื่องจากอายัดตัวในคดีที่ศาลอนุญาตให้ประกันตัวแล้วทั้ง 2 คดี ส่วนแหวนนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามนำตัวฝากขังยังศาลทหารกรุงเทพฯ บ่ายวันนี้ ทนายความได้คัดค้านการฝากขัง รวมทั้งยื่นคำร้องขอประกันตัว แต่ศาลไม่อนุญาต โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากพนักงานสอบสวนคัดค้านว่าคดีมีอัตราโทษสูง เกรงจะหลบหนี ศาลทหารพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ต้องหาถูกจับตามหมายจับ ประกอบกับการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น หากปล่อยตัวชั่วคราว เกรงว่าจะหลบหนี จึงไม่อนุญาต
ทั้งนี้ ทั้งคู่ถูกควบคุมตัวในเรือนจำมาแล้ว 2 ปี 4 เดือน จากเหตุการณ์ที่มีผู้ปาระเบิดอาร์จีดี 5 ใส่ลานจอดรถศาลอาญา เกิดขึ้นคืนเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2558 ทำให้ลานจอดรถได้รับความเสียหายทำให้เศษปูนแตกกระจายทั่วบริเวณกว้างตประมาณ 5 เมตร (อ่านที่นี่) เจ้าหน้าที่ทหารจับกุมชายผู้ก่อเหตุในที่เกิดเหตุได้ 2 คน จากนั้นได้จับกุมคนอื่นๆ เพิ่มเติมอีกรวมทั้งสิ้น 16 คน (อ่านที่นี่) ทั้งหมดถูกควบคุมตัวในค่ายทหารหลายวันก่อนจะส่งตัวให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและฝากขังยังเรือนจำ ช่วงสองเดือนแรกมีผู้ได้รับการประกันตัว 2 ราย จากนั้นผ่านไปอีกราว 2 ปีมีการสืบพยานโจทก์ไปแล้วหลายปาก จึงมีผู้ได้รับการประกันตัวเพิ่มอีก 4 ราย ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา มีผู้ได้รับการประกันตัวเพิ่มอีก 4 ราย แต่ ณัฏฐธิดาและวาสนาถูกตำรวจอายัดตัว ขณะนี้ยังเหลือผู้ถูกคุมขังในเรือนจำอีก 6 ราย รวมทั้งณัฎฐธิดาอีก 1 คน
สำหรับกรณีของณัฏฐธิดา วิญญัติกล่าวว่า คดีความผิดตามมาตรา 112 หลักฐานที่ใช้กล่าวหาคือการสนทนาในไลน์ซึ่งตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาแหวนไว้ตั้งแต่เดือนมีนานคม 2558 ขณะที่แหวนถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำด้วยคดีปาระเบิดลานจอดรถศาลอาญาโดยไม่ดำเนินการใด
“เจ้าหน้าที่แจ้งข้อหาตั้งแต่ปี 58 ที่เธอถูกควบคุมตัวในเรือนจำ หากเจ้าหน้าที่พบว่ามีมูลความผิดก็ควรจะดำเนินการสอบสวนและส่งฟ้องในช่วงเวลาที่ถูกควบคุมตัวกว่า 2 ปีที่ผ่านมาแล้ว ไม่ใช่พอเขาประกันตัวจะได้รับอิสรภาพก็ค่อยมาอายัดตัวฝากขังอีก เหมือนการฝากขังซ้ำแล้วซ้ำเล่า” วิญญัติกล่าว
“คดีนี้มีการออกหมายจับไว้ตั้งแต่ 19 มีนาคม 2558 เบื้องต้นทราบว่า พฤติการณ์ที่อ้างการกระทำความผิดจากการโพสต์ข้อความใน LINE เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558 ซึ่งเป็นช่วงเวลาภายหลังจากถูกควบคุมตัวโดยทหารแล้ว มือถือถูกยึดและขอรหัสการเข้าถึงไปตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2558” วิญญัติระบุ
กรณีของวาสนานั้น วิญญัติกล่าวว่า เนื่องจากคดีปาระเบิดฯ นั้นมีการส่งฟ้องแบ่งเป็น 2 คดี และวาสนาซึ่งมีพฤติการณ์อย่างเดียวในการรับจ้างโอนเงินโดยได้ค่าจ้าง 200 บาทนั้นถูกส่งฟ้องทั้ง 2 คดี อย่างไรก็ตาม ในการยื่นประกันตัวทนายความได้ยื่นประกันตัวในทั้งสองคดีดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยและศาลอนุญาต แต่ตำรวจ สน.โชคชัยยังคงมาอายัดตัวในคดีที่สองอาจเป็นเพราะยังไม่ทราบว่ามีการฟ้องศาลแล้ว จึงได้ประสานไปยังอัยการทหารให้แจ้งตำรวจว่าคดีที่สองนั้นก็ได้ส่งฟ้องศาลแล้ว และทนายความได้ยื่นประกันตัวไปแล้ว จนกระทั่งวาสนาได้รับการปล่อยตัวเมื่อบ่ายวันนี้
วิญญัติอธิบายเพิ่มเติมถึงการแยกฟ้องเป็น 2 คดีในศาลทหารว่า คดีแรกมีผู้ต้องหา 14 คน คดีที่สองมีผู้ต้องหา 6 คนซึ่งเป็นส่วนของผู้ที่เกี่ยวพันกับการโอนเงินจ้างวาน อย่างไรก็ตาม มี 2 คนที่โดนฟ้องทั้งสองคดี คือ วาสนา บุษดี และสุภาพร มิตรอารักษ์ ส่วนข้อหาของทั้งสองคดีนั้นแทบจะเหมือนกันคือเป็นความผิดฐานอั้งยี่ซ่องโจร, ร่วมกันก่อการร้าย, มีวัตถุระเบิดในครอบครอง เพียงแต่ในคดีแรกได้เพิ่มเติมข้อหาพยายามฆ่า รปภ.ของศาลที่อยู่ในที่เกิดเหตุเข้ามาด้วย สำหรับความคืบหน้าของทั้งสองคดีนั้น ผ่านมา 2 ปี 4 เดือน คดีแรกสืบพยานโจทก์ไปได้ราว 7 ปากและยังเหลืออีกเกือบร้อยปาก คดีที่สองสืบพยานโจทก์ไปได้ราว 4 ปากและยังเหลือเกือบร้อยปากเช่นกัน

ผู้ตรวจการแผ่นดิน ชี้ซื้อเรือดำน้ำจีน ไม่ขัด รธน. - ไม่รับคำร้อง 'เรืองไกร'


ผู้ตรวจการแผ่นดินยุติการพิจารณาเรื่องซื้อเรือดำน้ำจากจีน เหตุไม่มีได้ขัดรัฐธรรมนูญ การจัดซื้อไม่เข้าข่ายหนังสือสัญญาที่ต้องเสนอสภาฯ  พร้อมกับไม่รับคำร้อง 'เรืองไกร' ปมขอให้ส่งเรื่องให้ศาล รธน.วินิจฉัยว่า พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช.ตราขึ้นโดยชอบหรือไม่ ชี้ เรื่องการตรากฎหมาย ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ 

26 ก.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า รักษ์เกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และ 2550 ขัดรัฐธรรมนูญ  เพราะองค์ประชุมไม่ครบ  ตามที่ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ยื่นคำร้อง เนื่องจากเป็นเรื่องของกระบวนการตรากฎหมาย ไม่เกี่ยวกับเนื้อหากฎหมาย ว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ จึงไม่อยู่ในอำนาจที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะดำเนินการได้ จึงมีมติไม่รับคำร้องของผู้ร้องเรียนไว้พิจารณา  
รักษเกชา กล่าวว่า  นอกจากนี้ คำร้องที่มีผู้ร้องเข้ามาเกี่ยวกับกระบวนการตรากฎหมายฉบับต่างๆ เพื่อขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ถ้าไม่มีอะไรแตกต่าง ก็อาจจะมีผลคำวินิจฉัยออกมาในรูปแบบเดียวกัน แต่ต้องรอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาก่อน เช่น  พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 และ  พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 พ.ศ. 2550 รวมถึง ร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และร่าง พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ด้วย 

ยุติการพิจารณาปมซื้อเรือดำน้ำจีน ระบุไม่ขัด รธน.

ส่วนผลการตรวจสอบโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ S-26T ระหว่างกองทัพเรือกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามคำร้องของ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ นั้น รักษเกชา แถลงว่า ไม่พบเหตุผิดปกติ หรือ มีการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ จึงมีมติให้ยุติเรื่องดังกล่าว  
รักษ์เกชา กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำ ซึ่งมีการก่อหนี้ผูกพัน วงเงิน 13,500 ล้านบาท ได้มีการขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ใช้บังคับแล้ว โดยเสนอ ครม.พิจารณาตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2559 จึงเป็นการดำเนินการตามมาตรา 23 วรรค 3 ของ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 และที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว จึงถือว่าชอบด้วยวิธีการงบประมาณ 
“ส่วนมติคณะรัฐมนตรี วันที่  18 เมษายน พ.ศ.2560 เป็นการรับทราบและเห็นชอบ ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ก่อนดำเนินการเท่านั้น อีกทั้ง การจัดซื้อดังกล่าวยังเป็นไปตามยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพการป้องกันประเทศ ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ. 2537 โดยมีการปรับปรุงโครงการให้สอดคล้องกับสถานการณ์มาโดยลำดับ จึงมิได้เป็นการสร้างภาระแก่ประเทศชาติ หรือประชาชนโดยไม่จำเป็น หรือเกินสมควรแต่อย่างใด” รักษ์เกชา กล่าว  
รักษ์เกชา กล่าวว่า  สำหรับกรณีที่ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำถือเป็นหนังสือสัญญา ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนหรือไม่นั้น คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า ไม่มีลักษณะเป็นสัญญา ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 178 เนื่องจากเป็นข้อตกลงจัดสร้างเรือดำน้ำ เป็นการทำสัญญาซื้อขายเชิงพาณิชย์ ในทำนองเดียวกับการทำสัญญาระหว่างเอกชนกับเอกชน  จึงไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน  อีกทั้ง กรณีนี้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะดำเนินการได้ เนื่องจากเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีที่จะพิจารณาว่า จะเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่  

กสทช. เผยเกือบ 3 เดือน ปิดเพจ 'เฟซบุ๊ก-ยูทูบ' มีเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย 2,907 URL


สำนักงาน กสทช. เผยสามารถปิดเพจที่ผิดกฎหมายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 55.35% เฟซบุ๊กจากเดิมปิดไป 899 URL ปิดเพิ่มเป็น 1,076 URL ยูทูบจากเดิมปิดไปเพียง 180 URL ปิดเพิ่มเป็น 401 URL
27 ก.ค. 2560 รายงานข่าวจาก สำนักสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) แจ้งว่า  ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า จากการรายงานของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเก็ตเวย์ระหว่างประเทศ (ไอไอจี) ถึงความคืบหน้าในการดำเนินการระงับการเผยแพร่เนื้อหาข้อมูลข่าวสารที่ไม่เหมาะสมทางอินเทอร์เน็ต ตามคำสั่งศาลระหว่างวันที่ 1 พ.ค.-16 ก.ค. 2560 ภายหลังจากที่สำนักงาน กสทช. ได้เชิญไอเอสพีและไอไอจีมาประชุมเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2560 เพื่อขอความร่วมมือไอเอสพี ช่วยประสานในการส่งสำเนาคำสั่งศาลไปยังเฟซบุ๊กและยูทูบ และให้รายงานความคืบหน้าภายในวันที่ 7 ส.ค. 2560 พบว่า จนถึงวันที่ 26 ก.ค. 2560 นั้น จากคำสั่งศาลที่ให้ปิดเพจที่มีเนื้อหาที่ผิดกฎหมายทั้งหมด 2,907 URL เป็นของเฟซบุ๊ก 2,082 URL ยูทูบ 672 URL และเพจอื่นๆ 153 URL โดยเฟซบุ๊กจากเดิมที่มีการปิดไป 899 URL มีการปิดเพิ่มเป็น 1,076 URL ยูทูบจากเดิมที่มีการปิดไปเพียง 180 URL มีการปิดเพิ่มเป็น 401 URL และเพจอื่นๆ จากเดิมที่มีการปิดไปเพียง 36 URL ได้มีการปิดเพิ่มเป็น 132 URL
จากผลการดำเนินการดังกล่าว ทำให้เห็นได้ว่าแนวทางของสำนักงาน กสทช. ที่ให้ไอเอสพีช่วยประสานขอความร่วมมือในการส่งสำเนาคำสั่งศาลไปยังเฟซบุ๊กและยูทูบอีกทางหนึ่ง แล้วรายงานสำนักงาน กสทช. เพื่อติดตามผลนอกเหนือจากแนวทางที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้ส่งคำสั่งศาลไปเฟซบุ๊กและยูทูบโดยตรง เป็นแนวทางที่ถูกต้อง ซึ่งทางเฟซบุ๊กและยูทูบต่างก็ให้ความร่วมมือในการดำเนินการระงับการเผยแพร่เนื้อหาข้อมูลข่าวสารที่ไม่เหมาะสมในประเทศไทย อย่างไรก็ตามคงต้องดูว่าเมื่อถึงวันที่ 7 ส.ค. 2560 ผลการดำเนินจะเป็นอย่างไร ซึ่งสำนักงาน กสทช. จะรายงานให้ทราบต่อไป