เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 56 ที่ ห้องราชา โรงแรมรัตนโกสินทร์ ราชดำเนิน กรุงเทพฯ ชมรมโดมรวมใจจัดงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ "เกี้ยเซียะ หรือ กลียุค: อ่านวิกฤตการณ์สยามประเทศ ยามเปลี่ยน(ไม่)ผ่าน" โดยมีวิทยากรคือ ศ.(พิเศษ) ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ ดำเนินรายการ โดย คำ ผกา ซึ่งการเสวนานี้ระบุด้วยว่ารายได้ส่วนหนึ่งหลังหักค่าใช้จ่าย ชมรมโดมรวมใจจะนำไปสมทบทุนสร้างอนุสรณ์สถาน จิตร ภูมิศักดิ์ ที่จังหวัดสกลนคร
0000
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
“..โดยย่อเราน่าจะมีเวลาหายใจได้คล่องขึ้น แล้วก็เตรียมตัวเตรียมใจกันไว้ให้ดีกับเวลาเปลี่ยนผ่านที่กำลังจะมาถึง
การต่อรองช่วงชิงระหว่างอำนาจเดิมบารมีเดิมกับอำนาจใหม่บารมีใหม่
โดยมีคนใหม่ๆ ตัวแทนใหม่ๆ ที่ยังไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไรนั้นจ้องมองดูและเข้ามามีส่วนร่วมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ผมคิดว่าฝ่ายใดอึดฝ่ายใดทนฝ่ายนั้นชนะ เวลาของการเปลี่ยนผ่านกำลังจะมาถึง
สายธารของประวัติศาสตร์จะเป็นผู้บอกกับเรา
กาลเวลา ความเป็นอนิจจัง ความไม่เที่ยง จะเป็นตัวตอบปัญหาทั้งหมด”
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ : TIMES THEY ARE A-CHANGIN'
พระบิดาของประวัติศาสตร์ไทย คือ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวเอาไว้เมื่อปี 2470 ก่อนหน้าการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ท่านบอกว่า คนไทยมีคุณลักษณะพิเศษอยู่ 3 ประการ และท่านก็ให้เป็นภาษาอังกฤษไว้ด้วยว่า
1. คือ “Love of national independence” หรือ ความรักในเอกราช
2. คือ “Toleration” แปลเป็นบาลีว่า “วิหิงสา”
3. คือ “Power of Assimilation” แปลว่าประสานประโยชน์
อันนี้เป็นคุณสมบัติพิเศษของชนชาติสยาม อันนี้เป็นตัวตั้งในการที่จะคุยเรื่อง "เกี้ยเซียะ หรือ กลียุค” อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าก็จะครบ 40 ปี 14 ตุลา 2516 อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าก็จะครบ 37 ปี หลัง 6 ตุลา 2519 ฯลฯ ด้วยคำถามเก่าๆ กับทางออกที่ดูจะเลือนราง และก็ยังอยู่กับเราราวกับว่าบ้านเมืองของเราจะเปลี่ยนไม่ผ่าน และก็ยังมีคนจำนวนมากที่ยังตกเป็นเหยื่ออธรรมอยู่
ตอบคำถามว่าจะเกี้ยเซียะ หรือ กลียุค
ขอฟันธงว่า “เกี้ยเซียะ” เพราะตรงกับวัตรปฏิบัติของชนชั้นนำไทยชาวกรุง หรือผู้ที่ได้มาชุบตัวเป็นชาวกรุง “เกี้ยเซียะ” ก็คือ
“การจัดการปัญหาทางการเมืองด้วยการไกล่เกลี่ยประ ณีประนอม เจรจาต่อรอง ประสานหรือจัดสรรผลประโยชน์ให้ลงตัวในหมู่ชนชั้นนำของสังคม เพื่อรักษาอภิสิทธิ์หรือสถานะดั้งเดิมของพวกตนไว้ ซึ่งนอกจากจะไม่ก่อประโยชน์อันใดต่อประชาชนส่วนใหญ่แล้ว ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย”
อันนี้เป็นคำนิยามศัพท์จากเฟซบุ๊กแฟนเพจ “
พจนานุกรมศัพท์การเมืองไทยร่วมสมัย” ซึ่งน่าสนใจมาก ในพจนานุกรมฯ ยังบอกด้วยว่า
“นี้คือวิธีการยอดนิยมในการแก้ปัญหาทางการเมืองของ ประเทศไทยนับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน. ใช้ในความหมายนี้ครั้งแรกโดย ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากอาเจ๊ข้างมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และ มนุษยศาสตร์”
สรุปนี่เป็นวิธีการแบบไทยๆ เชื้อสายจีน บวกกับความเป็นพุทธแบบเถรวาท แบบไทยๆ
ส่วน “กลียุค” นั้นไม่น่าจะเป็นกลียุคอย่างที่หวั่นวิตกกัน หลายคนมักเอาเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยามาอ่านอยู่เรื่อยที่ว่า
“...จึงเกิดเข็ญเป็นมหัศจรรย์สิบหกประการ. คือเดือนดาวดินฟ้าจะอาเพท อุบัติเหตุเกิดทั่วทุกทิศาน. มหาเมฆจะลุกเป็นเพลิงกาล พระคงคาจะแดงเดือดดั่งเลือดนก อกแผ่นดินเป็นบ้าฟ้าจะเหลือง ผีป่าก็จะวิ่งเข้าสิงเมือง ผีเมืองนั้นจะออกไปสู่ไพร...จะบังเกิดทรพิษมิคสัญญี ฝูงผีจะวิ่งเข้าปลอมคน กรุงประเทศราชธานี จะเกิดการกุลีทุกแห่งหน จะอ้างว้างอกใจทั้งไพร่พล จะสาละวนทั่วโลกหญิงชาย จะร้อนอกสมณาประชาราษฎร์ จะเกิดเข็ญเป็นอุบาทว์นั้นมากหลาย จะรบราฆ่าฟันกันวุ่นวาย ฝูงคนจะล้มตายลงเป็นเบือ..”
ฟังดูแล้วก็น่ากลัวมากถ้าเราดูจากคำพยากรณ์เพลงยาวของกรุงศรีอยุธยา แต่ตนคิดว่าวิธีอธิบายของอยุธยาว่ามันเป็น “กลียุค” ที่เป็นลักษณะฮินดูหรือพราหมณ์ เป็นภาพสะท้อนที่เราจะเห็นได้จากปราสาทขอม ที่ปราสาทเขาพระวิหารหรือพนมรุ้งมากกว่าที่จะเห็นตามวัดแบบไทยๆ และเถรวาทแบบไทย แต่สังคมไทยก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีวิกฤต ที่เราจะฝ่าข้ามไปโดยไม่เสียเลือดเนื้อนั้น คือว่าไม่ใช่ แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าการต่อรองอำนาจจะจำกัดอยู่แค่ชนชั้นนำที่เป็นการต่อ รองระหว่างอำนาจเดิม บารมีเดิม กับอำนาจใหม่ บารมีใหม่ ซึ่งไม่ใช่แล้วในตอนนี้ ถ้าเรามองไปรอบๆ มองไป นอกกรุงเทพ จะเห็นว่าตอนนี้มีกลุ่มคนชั้นใหม่ที่เกิดขึ้นมา จะเป็นชาวกรุงก็ไม่ใช่ จะเป็นชาวบ้านก็ไม่เชิง กลุ่มนี้เป็นลูกผสมระหว่างเมืองกับชนบทบางคนอาจบอกว่าเป็น “ru-ban” อาจจะใช้ “ชาวบ้านกรุง” หรือ “ชาวกรุงบ้าน” กลุ่มนี้ที่เข้ามาต่อรองกับชนชั้นนำเดิมๆ และชนชั้นนำใหม่ๆ ของสยามประเทศไทย
เพราะฉะนั้นวิกฤตทางการเมือง ในแบบเรียนของกระทรวงก็มักจะมองว่าเราไม่ค่อยจะมีปัญหา แต่ว่าถ้าเราจะดูลึกๆ เราจะเห็นมาตั้งแต่กบฏประชาธิปไตย รศ.130 เมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งเมื่อ 80 ปืที่ผ่านมาในการปฏิวัติประชาธิปไตย 2475 มาจนกระทั่งผ่านรัฐประหารนับครั้งไม่ถ้วน รวมถึงอาชญากรรมของรัฐครั้งใหญ่ๆ 4 ครั้ง คือ 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19 พฤษภาเลือด 2535 และล่าสุดคือ เมษา-พฤษภาอำมหิต 2553
คิดว่าเราได้บทเรียนทางประวัติศาสตร์ใน 100 ปีที่ผ่านมานั้นมีมหันตภัยและมันก็ยังไม่หมดไป และเราก็ได้เรียนรู้ว่าประวัติศาสตร์ไทยของเราที่มีไว้ให้เรียนกันนั้น ให้ลืมมากกว่าให้จำ มีไว้ให้ไม่เรียนรู้มากกว่าให้เรียนรู้ ผมอยากจะเชื่อว่ามันจะต้องซ้ำรอยอีกหลายต่อหลายครั้ง กว่าเราจะข้ามไปได้
รัฐประหารยังเป็นสิ่งที่ไม่หมดได้ในเมืองไทยของเรา แม้ว่าการรัฐประหารโดยกำลังทหารจะเป็นไปได้ยากในช่วงสมัยปัจจุบันหรือรัช สมัยปัจจุบันก็ตาม คิดว่ารัฐประหารในรูปแบบอื่นๆ ที่เรารู้จัก ในแง่ของการใช้ศาลหรือตุลาการภิวัฒน์เป็นสิ่งที่ยังมีความเป็นไปได้ต่อตอน นี้ สถานการณ์การเมืองไทยภายในได้เปลี่ยนไปมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการเลือกตั้งมาหลายต่อหลายครั้ง และล่าสุดการที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิงเป็นครั้งแรกซึ่งเป็นปรากฏการณ์ ใหม่มากๆ การเมืองของอาเซียก็เปลี่ยนไปเยอะทีเดียว โดยเฉพาะกรณีของพม่า และที่สำคัญการเมืองระดับโลก ซึ่งไม่น่าจะเอื้ออำนวยให้กับวิธีการเก่าๆ ที่ใช้กันมา
โดยย่อเราน่าจะมีเวลาหายใจได้คล่องขึ้น และก็เตรียมตัวเตรียมใจกันไว้ให้ดีกับเวลาเปลี่ยนผ่านที่กำลังจะมาถึง การต่อรองช่วงชิงระหว่างอำนาจเดิมบารมีเดิมกับอำนาจใหม่บารมีใหม่โดยมีคน ใหม่ๆ ตัวแทนใหม่ๆ ที่ยังไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไรนั้นจ้องมองดูและเข้ามามีส่วนร่วมอย่างหลีก เลี่ยงไม่ได้ ผมคิดว่าฝ่ายใดอึดฝ่ายใดทนฝ่ายนั้นชนะ เวลาของการเปลี่ยนผ่านกำลังจะมาถึง สายธารของประวัติศาสตร์จะเป็นผู้บอกกับเรา กาลเวลา ความเป็นอนิจจัง ความไม่เที่ยง จะเป็นตัวตอบปัญหาทั้งหมด
ขอจบด้วยชื่อเพลงของบ็อบ ดีแลน (Bob Dylan) ที่บอกว่า "
The Times They Are a-Changin"
เกษียร เตชะพีระ
“..ในช่วงที่เปลี่ยนจากประเทศรายได้ปานกลางระดับบนไปเป็นรายได้สูงนั้น กระแสมวลชนขึ้น
ต้องการเสรีภาพมากขึ้น ต้องการประชาธิปไตยมากขึ้น คุณจะเอาทุนนิยมมากขึ้น
มันเรียกร้องประชาธิปไตยมากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง
เพราะถ้าประชาธิปไตยน้อยลงมันจะทำซ้ำอย่างที่สฤษดิ์ทำคือ หาร
กล่าวคือพัฒนาเสร็จความเหลื่อมล้ำยิ่งมาก
สมัยประชาธิปไตยครึ่งใบดีขึ้นมาหน่อยแต่ก็ยังมีปัญหาอยู่ บทเรียนที่เราน่าจะสรุปได้จากการกระโดดใหญ่ 2 ครั้ง
คือ จะพัฒนาทุนนิยมจะต้องมีประชาธิปไตยมากขึ้นเพื่อประกันให้การกระจายรายได้เกิดด้วย
ให้การกระจายโอกาสเกิดจริงด้วย ถ้าไม่มีประชาธิปไตย ไม่มีช่องทางให้คนข้างล่างได้ร้อง
การเติบโตทางเศรษฐกิจมันจะถูกรวมศูนย์ผลประโยชน์รายได้ไปอยู่ที่คนข้างบนหมด
และมันก็จะสอดรับกับการเกี้ยเซียะของอีลิท
ดังนั้นมันสำคัญในเรื่องการผลักให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง”
เกษียร เตชะพีระ: พัฒนาทุนนิยมต้องมีประชาธิปไตยมากขึ้นเพื่อประกันให้เกิดกระจายรายได้
ผมอยากเอา “เกี้ยเซียะ หรือ กลียุค” ไปวางอยู่บนการเปลี่ยนผ่าน 2 อัน ด้านหนึ่งในทางการเมือง อีกด้านหนึ่งในทางเศรษฐกิจ
ในทางการเมือง คือการเปลี่ยนผ่านที่เกี่ยวกับกระบวนการที่คนจำนวนมากในชนบทเลิกเป็นชาวนา ซึ่งเป็นโจทย์ที่ใหญ่มาก และจะอยู่กับเราไปอีกพักใหญ่ไม่ว่าชนชั้นนำจะเกี้ยเซียะกันหรือไม่ก็ตาม
ในแง่ของเศรษฐกิจ จากยุทธศาสตร์ใหญ่ที่รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์อยากจะทำคือ กระบวนการที่พยายามที่จะผลักเศรษฐกิจของไทยให้พ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง คือเราเลิกเป็นประเทศรายได้จนมาพักใหญ่แล้ว ตอนนี้เราถูกจัดอยู่ในประเทศรายได้ปานกลาง แล้วก็เป็นยุทธศาสตร์หลักของรัฐบาลยิ่งลักษณที่จะผลักให้เราเดินไปเป็น ประเทศรายได้สูง “แหม่! ฟังแล้วมันปลาบปลื้ม” ภายในเวลาไม่เกิน 5-10 ปีนี้ ผมคิดว่านี่เป็นการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจที่สำคัญ
ส่วนกรอบใหญ่ที่ล้อมการเกี้ยเซียะ หรือ กลียุค คือ 3 แนวโน้มสำคัญในกระบวนการประวัติศาสตร์ใหญ่ๆ 3 กระบวน ซึ่ง 3 แนวโน้มใหญ่ ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาการเมืองมีการเปลี่ยน 3 เรื่องใหญ่
1. อำนาจย้ายที่ มันยังย้ายไม่สุดแต่เริ่มย้ายแล้ว และไม่คิดว่ามันจะถอยหลังกลับได้ แม้จะมีความพยายามจะดึงจะถ่วงไว้ก็ตาม คือ อำนาจรัฐเริ่มย้ายจากชนชั้นนำแบบเก่าที่เราเรียกหรือใช้ภาษาการเมืองว่า “อำมาตย์” ซึ่งคนเหล่านี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไปสู่ชนชั้นนำกลุ่มใหม่ซึ่งเป็น “นักธุรกิจการเมือง” และมาจากการเลือกตั้ง
2. หน้าตาการเมืองเปลี่ยน สาเหตุที่สำคัญจากชนชั้นนำทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งกำลังแย่งอำนาจกัน ค้นพบว่า “กูโค่นมึงไม่ลง” ต่างฝ่ายต่างค้นพบว่าลำพังตัวเองไม่สามารถเอาอีกฝ่ายลงหรือหยุดได้ ทั้ง 2 ฝ่ายจึงไปเอามวลชนมาเข้าร่วม ฝ่ายอำมาตย์ก็สร้างกระบวนการหรืออุดหนุนขบวนการเสื้อเหลือง ฝ่ายคุณทักษิณก็สนับสนุนและเข้าไปร่วมกับขบวนการมวลชนเสื้อแดง ผลของมันไม่ได้แปลว่าชนชั้นนำทั้ง 2 ฝ่ายคุมขบวนของตนได้หมด จะเป็นเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงก็ดีเขามีข้อเรียกร้องต้องการความมุ่งหวังทาง การเมืองของเขาที่ต่างหากจากรัฐบาลหรือฝ่ายอำมาตย์อยู่ แต่ไม่ว่าจะเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรก็ตาม
การเมืองแบบนั่งอยู่ในหมู่ชนชั้นนำจบแล้ว ไม่ ว่าฝั่งไหนจะชนะหรือแพ้ การเมืองเดินไปในรูปแบบการต่อสู้ที่มวลชนอยู่ตรงนั้นแน่ๆ เรียกว่า Mass politics คุณไล่คนเหล่านี้ออกไปไม่ได้ แม้ว่าคุณจะเกลียดชังเขาปานใดก็ตาม
3. นโยบายเศรษฐกิจเปลี่ยน หลายสิบปีตั้งแต่สมัยสฤษดิ์ พ.ศ.2504 เรื่องหลักสำคัญคือนโยบายการเติบโต การพัฒนาทางเศรษฐกิจ ทุ่มเททรัพย์สิน ทรัพยากร แรงงานทั้งหมดที่เรามีเพื่อผลักให้เศรษฐกิจโตเร็วมาก สิ่งที่เราหายไปในระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจก็คือผลได้มันกระจุก มันไม่ได้กระจายไปให้คนอย่างทั่วถึง
ความ เปลี่ยนแปลงที่สำคัญในสมัยรัฐบาลทักษิณก็คือ เริ่มกระบวนการกระจายดอกผลทางเศรษฐกิจไปให้คนที่ไม่เคยได้มาก่อน นั่นก็คือบรรดาคนชั้นล่างทั้งหลาย เพราะฉะนั้นอันที่ 3 ที่เกิดก็คือ
เกิด การกระจายความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ รายได้ทางเศรษฐกิจลงไปสู่ชนชั้นล่างมากขึ้น นโยบายเศรษฐกิจแบบเทคโนแครตกำหนด เอะอะอะไรก็แล้วแต่ผู้เชียวชาญ เอะอะอะไรก็แล้วแต่สภาพัฒน์ ได้กลายเป็นนโยบายที่เขาด่ากันทั้งบ้านทั้งเมือง “นโยบายประชานิยม” นับวันวิธีการวางนโยบายเศรษฐกิจแบบเทคโนแครตพูดฝ่ายเดียวมันจะเป็นไปไม่ได้ และจะมีน้อยลงเรื่อยๆ นโยบายทิศทางหลักก็คือต้องคิดถึงคนข้างล่างได้อะไรบ้างและพยายามผลักดัน นโยบายทางเศรษฐกิจที่กระจายความมั่งคั่งลงไปข้างล่างมากขึ้น
ทั้ง 3 อย่างนี้มันเกิดขึ้นในกรอบการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ กระบวนการใหญ่ๆ 3 กระบวนการ ซึ่งมันไม่ใช่เกิดขึ้นแบบปีเดียวหรือไม่กี่ปีเห็นผล แต่ 3 อย่างที่ล้อมและทำให้แนวโน้มทั้ง 3 อันข้างต้นมันคลีคลายไปในแบบที่เราเห็น โดย 3 กระบวนการใหญ่ ประกอบด้วย
1. กระบวนการที่คนชนบทเลิกเป็นชาวนา เริ่มต้น พ.ศ.2530 มาถึงปัจจุบัน ประมาณ 25 ปี
2. กระบวนการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตย หลัง 14 ตุลา 16 ถ้าถือสูตรของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ถ้าถือสูตรของเพื่อนรักผมคือคุณสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แกก็จะบอกว่าเริ่มจริงประมาณ 2535 แต่ไม่ว่าจะเริ่มตอนไหน กระบวนการประชาธิปไตย ทั้งในระดับโลกที่สงครามเย็นจบแล้ว ทุกประเทศยอมรับประชาธิปไตย กระแสประชาธิปไตยพัดในระดับโลก จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรักษาระบอบเผด็จการอีกต่อไป จึงเป็นกระแสที่คลี่คลายเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
3. การเกิดขึ้นของพระราชอำนาจนำ คือการที่สถาบันพระมหากษัตริย์ ที่เอาตามอาจารย์ธงชัย(วินิจจะกูล) หลัง 14 ตุลา 16 ถ้าเอาตามอาจารย์สมศักดิ์(เจียมธีรสกุล)ก็เริ่มต้นตั้งแต่ 2535 กลายเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในสังคมการเมืองและรัฐไทย กลุ่มพลังที่อาจจะคุกคามสถาบันกษัตริย์ได้ถ้าเราดูตัวอย่างอย่างประเทศ เพื่อนบ้านในเอเชีย ในเขมรที่โค่นกษัตริย์นั้นคือ ลอน นอล ซึ่งเป็นทหาร นอกจากทหารแล้วใครที่โค่นล้มสถาบันกษัตริย์ คือพรรคคอมมิวนิสต์ ไม่ว่าจะเป็นในลาวหรือย้อนหลังกลับไปในรัสเซีย หรือไม่ก็คือกลุ่มนายทุนชนชั้นกลาง อย่างจีนในกรณี ซุน ยัตเซ็น สถาบันกษัตริย์ในโลกสมัยใหม่และดูจากประเทศที่ล้อมเราภัยคุกคามมาจากพลัง 3 กลุ่มนี้ ทั้ง 3 พลังนี้ในรอบ 20 กว่าปีในเมืองไทยจงรักภักดีเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งสำหรับพรรคคอมมิวนิสต์ก็เลิกกิจการไปแล้ว ทหารก็เปลี่ยนจากทหารของชาติเป็นทหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่วนชนชั้นกลางก็เป็นสลิ่ม รัก ม.112
พระราชอำนาจนำ กล่าวคือในหลวงเป็นประมุขไม่ทรงมีอำนาจบริหารทางการเมือง แต่ทรงนำทั้งสังคมและรัฐ ข้อคิด พระราชดำริ ของพระองค์สามารถโน้มน้าวจูงใจให้สังคมการเมืองและรัฐเดินตามได้โดยไม่ต้อง บังคับ
3 อันนี้มาร้อยเข้ากัน คือ การเลิกเป็นชาวนาที่เป็นคนชนบท สร้างคนกลุ่มใหม่ขึ้นมา ซึ่งเป็นลูกค้าหน้าใหม่และต้องการส่วนแบ่งอำนาจการเมือง สัดส่วนประชากรภาคชนบทกับสัดส่วนแรงงานภาคเกษตร ตั้งแต่ปี 1987-2009 คนชนบทนั้นจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ ปี 1987 คนชนบทเป็นคนจำนวน 70% ของจำนวนคนไทยทั้งประเทศ ปี 1997 เหลือ 69% ปี 2007 เหลือ 67% ปี 2009 เหลือ 66% สัดส่วนของคนที่อยู่ในภาคเกษตรเป็นชาวนาชาวไร่ ในปี 1987 ขณะที่คนชนบทมีอยู่ 70% ของคนไทยทั้งหมด คนไทยทั้งหมดที่ทำงานเกษตรมีเพียงแค่ 64% ปี 1997 ขณะที่คนไทยเป็นคนชนบท 69% คนไทยที่ทำงานภาคเกษตรเหลือแค่ 50% และปี 2007 ขณะที่คนไทยอยู่ในชนบท 67% คนไทยที่ทำงานภาคเกษตรเหลือแค่ 41% ความต่างระหว่าง 2 ตัวเลขนี้คือคนที่อยู่ชนบทแล้วเลิกเป็นชาวนา นี่คือกลุ่มลูกค้าสำคัญทางการเมือง คือฐานเสียงที่อยู่ในชนบทของพรรคเพื่อไทย ของพรรคไทยรักไทย ของพรรคพลังประชาชน ของคุณทักษิณ
คนกลุ่มนี้จะนิยามโดยยืมคำของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรียกคนเหล่านี้ว่า คือคนที่อาจารย์ชาญวิทย์เรียกว่า “ru-ban” อาจารย์นิธิ เรียกว่า คือคนชั้นกลางระดับล่างสุด กลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของชนบทไทย ส่วนใหญ่มีรายได้จากงานจ้างและธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ ไม่ใช่ทำนาทำไร่อีกต่อไป แม้มีรายได้มากกว่าคนจน แต่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจเกี่ยวโยงกับนโยบายของรัฐบาล มากกว่าการพึ่งพาธรรมชาติและความสัมพันธ์ที่ดีทางสังคมอย่างที่เคยเป็นมาใน อดีต แปลว่าคนเหล่านี้แคร์แล้วว่ารัฐบาลมีนโยบายจำนำข้าว แคร์แล้วว่ารัฐบาลมีนโยบายสวัสดิการ เงินที่จะมาถึงหมู่บ้านอย่างไร แคร์แล้วว่ารัฐบาลมีนโยบายเกี่ยวกับค่าแรงอย่างไร เพราะพวกเขาไม่ได้อยู่ในภาคเกษตรแบบเดิมอีกต่อไปแล้ว คนเหล่านี้คือกลุ่มคนที่เป็นฐานเสียงให้แก่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เขาคือคนของ “Mass politics”
คนกลุ่มนี้ชอบประชาธิปไตยพอดีเลย คล้องเข้ากับการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยพอดีเลย แล้วคนอย่างคุณทักษิณและไทยรักไทยก็เห็นว่าคนกลุ่มนี้เป็นฐานเสียงที่เป็นไป ได้ก็ออกนโยบายที่ไปเกาะเกี่ยวกับคนกลุ่มนี้ ดังนั้นการเลิกเป็นชาวนามันบรรจบกับกระบวนการเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย ลูกค้าเจอกับคนขายของพอดี การบรรจบครั้งนี้มันก่อปัญหา เพราะมีกลุ่มที่เคยได้ประโยชน์จากการไม่เปลี่ยนทางนโยบายดังกล่าว กลุ่มชนชั้นนำเก่า กลุ่มชนชั้นกลางระดับกลางและบนเก่า กลุ่มคนเหล่านี้ไม่แฮปปี้กับการเปลี่ยนนโยบายเหล่านี้ ไม่แฮปปี้กับการเป็นประชานิยม คนกลุ่มนี้ไม่รู้จะอ้างเอาอะไรมาค้านเสียงข้างมากจึงอ้างความจงรักภักดี คือไปบรรจบกับกรอบใหญ่ที่ 3 คือพระราชอำนาจนำ เพราะฉะนั้นการเมืองของคนกลุ่มนี้ก็จะวิ่งไปสู่ข้อถกเถียงสมัยที่เคยเจอตอน 14 ตุลา 16 ถึง 6 ตุลา 19 คือความคิดเกี่ยวกับเรื่องราชาชาตินิยม ความคิดเกี่ยวกับเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องเป็นหลักชัย และขยายมาใช้ทางการเมืองเพื่อต้านพวกที่เลิกเป็นชาวนา เพื่อต้านการที่คนกลุ่มนี้จับมือกับทักษิณ แล้วกลายเป็นใช้หรือยึดเอาเวทีประชาธิปไตยไป
ถ้าเราเอาคำถาม “เกี้ยเซียะ หรือ กลียุค” มาวางไว้นี้ คิดว่า “กลียุค” คือแบบ 4-5 ปีที่ผ่านมา คือมีอนาธิปไตยในท้องถนน มีอำนาจนิยมในรัฐบาล เมื่อเจออนาธิปไตยในท้องถนนรัฐบาลปกครองไม่ได้จึงมีแนวโน้มเป็นเผด็จการมาก ขึ้นเรื่อยๆ ประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินแทบจะตลอดเวลา เมื่อเจอเหตุการณ์นี้ตลอด 4-5 ปี จึงเกิดอาการคือ “หักศึก” กูเข็ดแล้ว ไม่ไหวแล้วจะอ้วกแตกแล้ว ดังนั้นคำว่า “เกี้ยเซียะ” จึงเกิดขึ้น คือปรากฏการณ์ที่ชนชั้นนำรู้รักสามัคคี ถ้าเรานิยามแบบนี้เกี้ยเซียะแน่ เพราะกระแสรักสงบ หักศึก ไม่ได้แปลว่าเขาเลิกเป็นเหลือง ไม่ได้แปลว่าเขาเลิกเป็นแดง แต่จะให้ไปยึดทำเนียบและยึดสนามบินต่อไม่ไหว หรือจะให้มายึดราชประสงค์ต่อมันไม่ไหวแล้ว ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเปลี่ยนสีแปรธาตุ แต่ว่าวิธีการสู้แบบ 365 วันต่อปีนี่ไม่ไหวแล้ว ดังนั้นเกิดกระแสรักสงบในสังคม
ขณะเดียวกันหมู่มิตรมหาอำนาจต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโอบามา อเมริกา ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น EU เห็นพ้องต้องกันว่าพี่ไทยเบาๆ หน่อย เพราะทั้ง 4 มหาอำนาจนี้ต้องการให้ไทยเป็นหุ้นส่วนเครื่องจักรขับเคลื่อนการเติบโตทาง เศรษฐกิจในอาเซียนในกรอบการเมืองประชาธิปไตย เพราะพวกเขาป่วยกันหมดแล้วในทางเศรษฐกิจ ดังนั้นเขาหวังพึ่งและพม่าเปิดประเทศพอดี เพราะฉะนั้นเกี้ยเซียะแน่
คำถามคือ “ใครเป็นคนกำหนดเงื่อนไขการเกี้ยเซียะ?”
เท่าที่ดูแนวโน้มที่ผ่านมาจากกระบวนการนี้ คล้ายๆ กับเงื่อนไขการเกี้ยเซียะนั้น พลังเก่าเป็นฝ่ายรับทางการเมือง คือมีการขีดเส้นว่านี่คือเขตที่ตั้งรับแล้วห้ามเข้า เป็นเขตที่นักการเมืองจากการเลือกตั้ง รัฐบาลเสียงข้างมากห้ามเข้า เขตนี้ประกอบไปด้วย รัฐธรรมนูญ 2550 ห้ามแก้ กฎหมายอาญามาตรา 112 ความพร้อมรับผิดของกองทัพ สุดท้ายกรณีหรือกิจการทั้งหลายอันเกี่ยวเนื่องกับสถาบันกษัตริย์ไม่ใช่สิ่ง ที่เปิดให้มวลชนและนักการเมือง คิดว่านี่คือข้อตกลงของฝ่ายพลังเก่าว่านี่คือเขตห้ามเข้า
พลังใหม่มีกระบวนท่าที่รุกในแง่บริหารเศรษฐกิจ น่าสนใจว่าพอน้ำท่วมเกิดมีคณะกรรมการจัดการน้ำท่วมวางแผนเศรษฐกิจประเทศ รัฐบาลยิ่งลักษณ์เพิ่งเสนอยุทธศาสตร์ประเทศ จะสร้างรถไฟความเร็วสูง 4 สาย เพื่อผลักให้ประเทศไทยพ้นภาวะที่เป็นประเทศรายได้ปานกลางไปสู่การเป็นประเทศ รายได้สูง รวมทั้งการนำเสนอนโยบายเศรษฐกิจที่เอาเข้าจริงโดนด่าแหลกเลย ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท หรือ นโยบายจำนำข้าว น่าสนใจที่อันนี้ไม่ถอย จึงคิดว่านโยบายทางด้านเศรษฐกิจกลุ่มพลังใหม่เป็นฝ่ายรุก ขณะที่ด้านการเมืองไม่กล้าเข้าไปในเขตหวงห้ามเหล่านั้น
อะไรที่เป็นตัวกำกับการดีดลูกคิดดีลหรือข้อตกลงว่าจะรับจะรุกอันนั้นอัน นี้ คิดว่าเป็นเรื่องเวลา 2 เวลา คือเวลาของระบอบเลือกตั้งกับเวลาของเครือข่ายอำมาตย์ มันมีนาฬิกา 2 เรือนที่คนหันไปดูแล้วตัดสินใจว่าจะดีลอย่างไร นาฬิกาของระบอบเลือกตั้งประชาธิปไตยมันยาว คือมันเดินหน้าของมันเรื่อยๆ มันมั่นคง แต่กับระบอบเครือข่ายอำมาตย์นี่ดูนาฬิกาแล้วไม่แน่ใจ มันมีเงื่อนไขทั้งด้านชีววิทยา เงื่อนไขของการแพทย์ต่างๆ
แต่คิดว่ามีประเด็นที่น่าสนใจคือในขณะที่ระบอบเลือกตั้งประชาธิปไตยเป็น ระบอบทางการมีกฎหมายรองรับ เครือข่ายอำมาตย์เป็นสิ่งที่ไม่เป็นทางการ ทุกอย่างดำเนินการไปแบบแอบแฝงไม่เป็นทางการตลอด ดังนั้นการคงอยู่ที่แน่นหนาถาวรของเครือข่ายอำมาตย์ในแง่เวลาจึงไม่อยู่ใน ระดับเดียวกับความยืนยันในแง่เวลาของระบอบประชาธิปไตย
ฟังดูเหมือนราบรื่น แต่คิดว่าไม่ราบรื่น ต่อให้เกี้ยเซียะกันได้ คุณก็ไม่ได้แก้โจทย์ เพราะโจทย์ที่สำคัญคือมันมีคนที่เลิกเป็นชาวนากองมหาศาลอยู่ชนบท คนเหล่านี้ต้องการมีอำนาจทางการเมืองเพราะนโยบายรัฐบาลสำคัญกับเขาแล้ว คุณจะเอาเขาไว้ตรงไหน ดังนั้นช่วงเปลี่ยนผ่านนี้อาจจะเปลี่ยนไม่ผ่านถ้าไม่แก้เรื่องนี้ คือการเมืองของการเลิกเป็นชาวนา การเมืองของการที่จะจัดการคนที่หลุดจากชนบทมา คือเขากำลังจะเปลี่ยนตัวเองจากชาวนากลายเป็นพลเมืองที่เอาการเอางานทางการ เมือง คือไม่ใช่ตาสีตาสาอยู่บ้านนอกเจ้านายจะว่าอะไรก็ยกมือไหว้ อันนั้นจบไปแล้ว มันกลายเป็นพลเมืองที่ตื่นตัว รู้สิทธิของตัว พร้อมที่จะท้าทายอำนาจ พร้อมที่จะเรียกร้อง พร้อมที่จะก่อม๊อบ พร้อมที่จะปิดถนน
จะแก้ปัญหาของคน มหาศาลนี้อย่างไร ซึ่งไม่สามารถแก้ได้ด้วยไปเกี่ยวก้อยหรือร้องเพลงกัน มันจะแก้ได้คุณต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างการเมืองประเทศให้เขามีที่ คุณไม่อยากให้เขาม๊อบคุณต้องทำให้เขาได้ในสิ่งที่เขาต้องการต่อรองทางการ เมืองโดยไม่ต้องก่อม็อบ คือมีที่ในระบบให้เขา มีที่ในรัฐธรรมนูญให้เขา มีที่ในสภาให้เขา
ถ้าไม่แก้ไขโครงสร้างระบบการเมือง ช่วงเปลี่ยนนี้ไม่ผ่าน และไม่ว่าใครเกี้ยเซียะกันจบ กลุ่มคนเหล่านี้ก็จะมาพบคุณแล้วจะปิดถนนเสมอ เหมือนวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา ถ้าจะต้องการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ต้องกอดรัดเอาคนที่เลิกเป็นชาวนามหาศาลในชนบท เข้ามาสู่การเมืองในระบบ
3 เรื่องที่ต้องทำในการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง
1.
ต้องยืนยันความเสมอภาคทางการเมือง ในแง่สิทธิและ อำนาจ ในเมื่อเขาเท่ากับคุณ จำนวนเขามากกว่า ประทานโทษที เขาต้องชนะ ถ้าเราไม่เริ่มจากอันนี้ การตกลงทางการเมืองใดๆ ไม่มีความหมายเลย คุณไม่เป็นความเป็นคนเท่าคุณแล้วจะเริ่มตกลงกันได้อย่างไร
2.
ต้องกระจายอำนาจ ไม่ใช่กระจุกรวมศูนย์อยู่ในเมืองอยู่ในกรุง อยู่ในศูนย์กลางตลอด ต้องให้พื้นที่ต่างๆ ในชนบทสามารถตัดสินใจกำกับเหนือตัวเองมากขึ้น โดยกระบวนการแบบนี้พวกเขาสามารถเข้าถึงประชาธิปไตย ใช้อำนาจโดยตรงในพื้นที่ๆ เขาอยู่
3.
ต้องทำให้การรักษาสถาบันกษัตริย์เป็นหนึ่งเดียวกับการรักษาความยุติธรรม การรักษาประชาธิปไตยและการรักษาสิทธิมนุษยชน ถ้า อันนี้ทำได้เปลี่ยนผ่านได้ พูดง่ายๆ ทั้งสถาบันกษัตริย์ ความยุติธรรม ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ยืนข้างเดียวกัน ถ้าทำอันนี้ได้สถาบันกษัตริย์มั่นคงที่สุด
ในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมาปัญหาเกิดเพราะมีคนดึงเอาประชาธิปไตยไปอยู่ตรงข้ามกับสถาบัน กษัตริย์โดยการทำรัฐประหารในนามของการปกป้องสถาบันกษัตริย์ มีการอ้างว่าต้องละเมิดสิทธิมนุษยชนก็เพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ และเราก็เห็นตัวอย่างของการใช้กรณี ม.112 ซึ่งมันยากมากที่คนอื่นในโลกจะเข้าใจว่ามันมีความยุติธรรมอย่างไร คุณก็ได้แต่บอกว่าคุณไม่ใช่คนไทยคุณไม่เข้าใจ ผมฟังอันนี้แล้วก็อึ้งเพราะผมเป็นคนไทยผมก็ยังไม่เข้าใจเลย นับวันคุณไม่สามารถทำเรื่องนี้ให้เป็นที่เข้าใจของคนไทยเองเป็นจำนวนมากขึ้น เรื่อยๆ คุณจะแก้อย่างไร ทำให้ทั้งโลกคิดเหมือนคนไทย? หรือปรับให้คนไทยคิดเหมือนคนทั้งโลก บนฐานของความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย ซึ่งยืนอยู่ที่เดียวกันกับสถาบันกษัตริย์
การเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ ขอยกคำกล่าวของนายกยิ่งลักษณ์ ที่ออกรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า
“ยุทธศาสตร์แรก จากที่เราถูกปรับระดับจากประเทศรายได้น้อยมาเป็นประเทศรายได้ปานกลาง สิ่งที่เราทำต่อคือการที่มีรายได้ปานกลางจะให้อยู่อย่างยั่งยืนหรือมีรายได้ ที่ดีขึ้น คือต้องปรับขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะเราต้องปรับวิถีชีวิตที่ดี แทนที่จะขายของปริมาณมากๆ ต้องปรับคุณภาพให้สูงขึ้น เมื่อรายได้มากขึ้นและอาเซียนจะเข้ามา ประเทศต่างๆ ในอาเซียน เราจะทำอะไรให้เราขายของได้ และจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยเป็นจุดเด่นน่าลงทุนสำหรับนานาชาติด้วย”
นี่คือการประกาศอย่างเป็นทางการในการยกระดับประเทศไทยจากประเทศรายได้ปานกลางไปเป็นรายได้สูง เป็นยุทธศาสตร์หลักของรัฐบาลชุดนี้
การยกระดับประเทศหนึ่งๆ จากประเทศรายได้ปานกลางไปเป็นรายได้สูงยากมาก ทำไมถึงยาก การแบ่งประเทศรายได้ระดับปานกลาง มันมีหลายสูตร ถ้าเอาสูตรของ Michael Spence ที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันที่ได้รับรางวัลโนเบลปี 2001 นั้นว่าประเทศรายได้ระดับปานกลางคือประเทศที่ประชากรในประเทศนั้นมีรายได้ เฉลี่ยต่อหัวประมาณ 5,000 – 10,000 ดอลลาร์ต่อปี เงินเดือนประมาณ 15,000 – 25,000 บาทต่อเดือน ส่วนของธนาคารโลกนั้นเกณฑ์ต่างกันนิดหน่อย ประเทศรายได้ระดับปานกลางคือประเทศที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ย 1,021 – 12,475 ดอลลาร์ต่อปี ซึ่งไทยตอนนี้รายได้เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 4,000 – 5,000 ดอลลาร์ต่อปี
อันสุดท้ายของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย มาจากรายงานที่นักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งทำให้ เขาคำนวณตัวเลขในปี 2010 คือเขารู้ว่าข้าวแกงในไทยถูกแต่ไปกินที่นิวยอร์กแพง ดังนั้นเวลาเขาเทียบรายได้เขาเอา อำนาจซื้อ (Purchasing Power Parity) มาเทียบกันด้วย ไม่ได้คิดเพียงตัวเงินดิบๆ เขาเสนอว่าประเทศรายได้ต่ำนั้น รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่ำกว่า 2,000 ดอลลาร์ต่อปี ในปี 2010 ทั้งโลกมี 40 ประเทศ ประเทศรายได้ปานกลาง มีปานกลางระดับต่ำ กับปานกลางระดับสูง ประเทศปานกลางระดับต่ำอยู่ที่ 2,000 – 7,250 ดอลลาร์ต่อปี ในปี 2010 มี 38 ประเทศ ประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง อยู่ที่ 7,250 – 11,750 ดอลลาร์ต่อปี มีอยู่ 14 ประเทศ ประเทศไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศนั้น ถ้าเป็นประเทศรายได้สูง รายได้ต้องสูงกว่าหัวละ 11,750 ดอลลาร์ต่อปี ในปี 2010 ทั้งโลกมีอยู่ 32 ประเทศ ประเทศไทยนั้นรายได้เฉลี่ยต่อหัวเมื่อเอาอำนาจซื้อมาเทียบ เราอยู่ที่ 9,143 ดอลลาร์ต่อปี เหลืออีกประมาณพันถึงสองพันดอลลาร์ต่อปี เราจะขยับไปสู่ประเทศรายได้สูง
การออกจากประเทศรายได้ปานกลางไม่ง่าย ถ้าออกสำเร็จเราก็เปลี่ยนผ่าน ถ้าไม่สำเร็จก็เปลี่ยนไม่ผ่าน ถ้าเปลี่ยนไม่ผ่านเขาเรียกว่ากับดักรายได้ปานกลาง คือติดกับ ดังนั้นจะเปลี่ยนจากประเทศรายได้ปานกลางไปสู่รายได้สูงอย่างไร โดยที่ไม่ติดกับดัก ไม่ให้หมดแรง เขาเสนออย่างนี้ว่าถ้าคุณเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำ คุณต้องทำให้รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นปีละ 4.7 % และต้องเลื่อนจากประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงภายในเวลาไม่เกิน 28 ปี ถ้าไม่เลื่อนก็ติดกับดัก แต่ถ้าสำหรับประเทศรายได้ปานกลางระดับบนอย่างไทย เราต้องเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อหัวปีละ 3.5 % เพื่อที่จะกลายเป็นประเทศรายได้ระดับสูงในเวลาไม่เกิน 14 ปี ไม่เช่นนั้นก็จะติดกับดัก
เรากลายเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำ ปี 2519 และเราอยู่ที่ประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำ 28 ปี คือพ้นในปี 2547 เดาว่าที่เราหลุดจากประเทศรายได้ระดับต่ำไปได้เพราะแผนพัฒนาเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติของสฤษดิ์ ที่เริ่มแผนเมื่อปี 2504 หลังจากนั้นเราน่าจะหลุดจากประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำเร็วก่อนนั้น แต่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเสียก่อน ที่เราขยับจากรายได้ปานกลางระดับต่ำไปปานกลางระดับบนได้คิดว่าเป็นเพราะ อีสเทิร์นซีบอร์ด เป็นเพราะนโยบายโชติช่วงชัชวาลสมัยพลเอกเปรม และน่าจะขยับได้เร็วกว่านี้หากไม่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งขึ้นมา ใน 28 ปีที่เราอยู่รายได้ปานกลางระดับต่ำเศรษฐกิจเราโตปีละ 4.7%
รอบนี้เราอยู่ที่ราได้ปานกลางระดับบนอยู่ 7 ปี หากนับถึงปี 2010 เรามีเวลาอีก 7 ปีที่จะเลื่อนชั้น ถ้าเลื่อนไม่สำเร็จเราติดกับดัก และถ้าความฝันของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คือทั้งหมดจะเกิดก่อนครบ 7 ปี และทั้งหมดจะเกิดด้วยยุทธศาสตร์ประเทศของแก โดยรถไฟความเร็วสูง ส่วนประเทศที่อยู่ในสภาวะแบบเดียวกับเรามี จีน บัลแกเรีย ฮังการี โปแลนด์ ตุรกี คอสตาริกา เม็กซิโกและโอมาน เป็นกลุ่มที่ยังไม่ติดกับ ยกเว้นจีนกับไทยแล้ว ประเทศที่เหลือล้วนเคยติดกับดักรายได้ปานกลางระดับต่ำมาก่อนร่วม 50 ปี ในบรรดา 9 ประเทศมีประเทศที่เสี่ยงที่จะติดกับดักคือ คอสตาริกา ฮังการี เม็กซิโก โอมานและตุรกี ส่วนอีก 4 ประเทศน่าจะหลุดถ้ารักษาการเติบโตของรายได้ประชากรที่ประมาณ 3.5-3.6% ถ้ารักษาไว้ได้โปแลนด์จะเข้าสู่ประเทศรายได้ระดับสูงในปี 2013 จีน ปี 2015 ส่วนบัลแกเรียกับไทยจะเข้าในปี 2018
เพื่อสิ่งนี้นายกฯ ยิ่งลักษณ์จึงทำโครงการเชื่อมโยงกับอาเซียน เชื่อมโยงกันกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง มันจะนำมาซึ่งการสร้างถนนไฮเวย์ตัดไปมาในประเทศเราหลายสายมาก ที่เฉพาะหน้าคือรถไฟความเร็วสูงซึ่งจะมีอยู่ 3 สายหลัก สายที่ 1 คือ กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สายที่ 2 กรุงเทพฯ – เวียงจันทน์ – คุนหมิง และสายที่ 3 เชื่อมโยงจากประเทศไทยไปทางใต้ ไปสิงคโปร์
ยุทธศาสตร์ประเทศนี้ความหวังของเขาก็คือกระตุ้นให้เศรษฐกิจโต แต่โตแบบมี 3 ลักษณะ
โตแล้วแข่งขันกับต่างประเทศได้ดี โตแล้วเขียวคือหวังว่าจะรักษาสิ่งแวดล้อม อันที่ 3 คือ ให้
คนทั้งหลายได้โตไปด้วยกัน คือ “inclusive growth” เขาไม่ได้บอกให้คนจนคนรวยเสมอภาคกันยิ่งขึ้น คือเขาบอกว่าในกระบวนการที่จะทำให้เศรษฐกิจโตโดยยุทธศาสตร์นี้ เขาจะรวมท่านทั้งหลาย คนที่ไม่เคยได้ประโยชน์จากการโตนี่ให้เข้ามาได้ประโยชน์ด้วยโตไปด้วย แต่เขาไม่ได้บอกว่าคนที่รวยมหาศาลจะลดการโตลงมาอยู่ในระดับเดียวกับท่านทั้ง หลาย คือเราจะนั่งรถไปขบวนเดียวกันแต่ท่านก็จะได้ประโยชน์จากการโตบ้าง แต่ไม่ได้จะรั้งคนที่อยู่ข้างบนลงมาด้วย อันนี้เป็นวิธีการชวนคนให้เข้าร่วมขบวนรถไฟ ความเติบโตทางเศรษฐกิจแบบไม่ทำให้เศรษฐีรู้สึกไม่สบายใจ
ทางรถไฟความเร็วสูงซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หลักอันนี้ ชัดเจนที่คำพูดของรัฐมนตรีจะก่อสร้างตรงจุดที่ GDP (Gross Domestic Product – ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) สูงก่อน แปลว่าเขาเลือกในพื้นที่ๆ เศรษฐกิจเติบโตดีก่อน หวังจะให้เส้นทางรถไฟความเร็วสูงเหมือนกระดูกสันหลักหรือเส้นเลือดใหญ่ แล้วใช้มันกระจายความเจริญ กระจายการจ้างงาน เขาหมายถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์บอกว่าถ้าทำอันนี้ขึ้นมาจะมีงานตำแหน่งใหม่ๆ เกิดขึ้นปีละ 5 แสนตำแหน่งทุกปี สร้างโอกาส
เมื่อมีเส้นเลือดใหญ่มีกระดูกสันหลังอันนี้แล้ว ภาครัฐและเอกชนระดับจังหวัดต้องขานรับ ถ้าคุณอยู่ที่จังหวัดที่รถไฟความเร็วสูงผ่านคุณเงยหน้ามองดูเส้นทางรถไฟแล้ว ปรับทิศทางการพัฒนาจังหวัด ปรับธุรกิจคุณให้ขานรับกับเส้นทางนี้ หน่วยราชการจะต้องตามไปบริการ มหาวิทยาลัย โรงเรียน การแพทย์ต้องตามไป เขาเชื่อว่ามันจะส่งผลสะเทือนเชิงบวก ลดต้นทุนการขนส่งสินค้า ค่าขนส่งจะถูกลง พลังงานจะถูกลง เราจะลดการใช้ตรงนี้ มันจะกระตุ้นราคาที่ดิน เหมือนตอนสมัยสฤษดิ์ที่มีการตัดถนนยุทธศาสตร์ เศรษฐีที่ดินเกิดมากมายและชาวนาไร้ที่ดินก็เพิ่มขึ้น เพราะคนที่รู้แกว กำนัน ผู้ใหญ่ เจ้าหน้าที่รัฐก็ไปซื้อที่ดินจากชาวนาเพราะรู้ว่าเส้นทางจะมาทางนี้ ดังนั้นอะไรทำนองเดียวกันกำลังจะเกิดอีก กระตุ้นธรกิจท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ
สรุปเขาเชื่อว่าความเติบโตทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละ 1% ซึ่งสำคัญ เพราะประมาณ 5 ปีก็จะขยับเป็นประเทศรายได้สูงง่าย พอพูดทั้งหมดเสร็จก็มีการแปรนโยบายทางเศรษฐกิจเป็นทุนทางการเมือง ดังนั้นเมื่อขายฝันเรียบร้อยให้เรารู้สึกเคลิ้มๆ นายกยิ่งลักษณ์ก็สำทับว่า
“แต่ขณะเดียวกันสถานการณ์การเมือง ถ้าสถานการณ์การเมืองมั่นคงแล้วก็สงบ ก็ทำให้บรรยากาศต่างๆ น่าลงทุน คนก็จะมา วันนี้เราต้องช่วยกันในการที่จะรักษาบรรยากาศของการเมืองให้มีความสงบ แล้วเศรษฐกิจก็จะตามมา ต้องเรียกว่าสถานการณ์ในประเทศเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความแข็งแรงของ เศรษฐกิจของประเทศ”
คือกำลังเอาโปรเจ็คท์ทั้งหมดมาบีบมาเป็นแรงกดดันว่าอย่างพึ่งเคลื่อนทาง การเมือง ไม่เพียงเท่านั้น ยังเอามาหาเสียงผู้ว่า กทม.ด้วย คุณภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะ ผอ.ศูนย์การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มีการแปลงยุทธศาสตร์ประเทศเป็นทุนเลือกตั้งผู้ว่า กทม. โดยคุณภูมิธรรมกล่าวว่า
“เพื่อไทยจะต้องเป็นผู้ว่าฯ กทม.ให้ได้เพราะสำคัญมาก เนื่องจากสิ่งที่รัฐบาลคิดที่จะทำในอีก 4-5 ปีข้างหน้ามี 2 เรื่องใหญ่ คือ 1.จัดการระบบน้ำทั้งระบบ 2.โลจิสติกส์ ถ้า กทม.กับรัฐบาลไม่มีเอกภาพจะทำให้การทำงานของรัฐบาลเหนื่อยมาก เพราะระบบการจัดการน้ำเป็นโครงการใหญ่ที่มีงบประมาณจำนวน 2 แสนล้านบาท การแก้ปัญหาน้ำต้องทำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดย กทม.จะต้องเชื่อมโยงกับรัฐบาล ถ้ารัฐบาลเป็นเนื้อเดียวกับ กทม.ก็ทำให้งานของรัฐบาลบรรลุผล โดยเฉพาะใน 6 ปีข้างหน้านี้ รัฐบาลกำลังดำเนินการโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (hi-speed train) โดย 6 ปีข้างหน้าจะเห็นรถไฟความเร็วสูง 3 สาย คือ 1.กรุงเทพฯ-หัวหิน 2.กรุงเทพฯ-พิษณุโลก และ 3.กรุงเทพฯ-นครราชสีมา จากนั้นอีก 6 ปีรัฐบาลจะสร้างส่วนต่อรถไฟความเร็วสูงอีก จากพิษณุโลก-เชียงใหม่ จากโคราช-อุดรธานี จากหัวหิน-หาดใหญ่ โดยจะสร้างรถไฟด้วยการเจาะภูเขาใช้เวลา 2 ชั่วโมงกว่า ความยาว 600 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯถึงเชียงใหม่ โดยมีสถานีรถไฟหัวลำโพง รัฐบาลจะทำให้เป็นบูติคสเตชั่น ขณะที่สถานีรถไฟบางซื่อก็จะเป็นแลนด์มาร์ก ทำให้การท่องเที่ยวจนไปถึงการแก้ปัญหาจราจรทั้งระบบในกรุงเทพฯ”
คือขายพงศพัศ ด้วยรถไฟความเร็วสูง นี่คือโครงการในการจะเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ
"ไร้รอยต่อ" กับรัฐบาลสโลแกนหาเสียงของ "พงศพัศ"
ข้อสังเกต ทุนนิยมมันเป็นอารยธรรมพรมแดนหาเงิน คือทุนนิยมมันจะมีการก้าวกระโดดเติบโตขนานใหญ่มันต้องเปิดบริสุทธิ์ทรัพยากร มันต้องไปถึงพรมแดนความเจริญแล้วเปิดบริสุทธิ์เข้าไป เปิดพรหมจรรย์เข้าไป ตอนนี้พรมแดนนั้นอยู่ที่พม่า ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลจะทำมันเท่ากับเตรียมสิ่งนั้น ในเมืองไทยเรามีก้าวกระโดดใหญ่มาแล้ว 2 ครั้ง และครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งครั้งแรกคือแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 ซึ่งตอนนั้นทำไปโดยระบอบเผด็จการทหาร ก้าวกระโดใหญ่ครั้งที่ 2 ทศวรรษ 2520 คืออีสเทิร์นซีบอร์ด ทำไปภายใต้ระบอบเผด็จการครึ่งใบ มารอบนี้ก้าวกระโดดใหญ่ครั้งที่ 3 โดยทำร่วมกันอาเซียนเป็น AEC คำถามคือคุณจะทำภายใต้ระบอบการเมืองอะไร? ประชาธิปไตยเต็มใบหรือไม่? ไม่รู้
อาจารย์ญี่ปุ่นผมที่เป็นที่ปรึกษารัฐบาลญี่ปุ่น สำหรับญี่ปุ่นอาเซียนมี 2 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย ที่เป็นประเทศใหญ่ กับไทย เพราะไทยทำเลที่ตั้งดี เป็นจุดศูนย์กลางยุทธศาสตร์ สิ่งที่จะเกิดเป็นการชวนคอนติเนนตัลอาเซียน คืออาเซี่ยนส่วนภาคพื้นทวีป ลืมอินโดนีเซีย ลืมฟิลิปปินส์ ลืมพวกเกาะ ซึ่งก็คือไทย ลาว เขมร พม่า เวียดนาม มาเลเซีย ซึ่งประเทศไทยอยู่ที่ตั้งยุทธศาสตร์เป็นประตูเข้าไปเปิดพรหมจรรย์พม่า ใครจะเข้าไปทำอะไรในพม่าจะต้องผ่านไทยเพราะสะดวก เหมือนสงครามโลกที่ญี่ปุ่นจะไปพม่าต้องเดินทัพผ่านไทย ครั้งนี้ก็เช่นกันญี่ปุ่นเดินทัพทุนผ่านไทย โดยอาศัยไทยเป็นประตูและเป็นสี่แยก
แปลว่าการกระโดดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลางของเราหนนี้ไม่ใช่การกระโดดคน เดียว คนเดียวโดดไม่ได้ ต้องโตด้วยกันเป็นขบวนทั้งภูมิภาคยกขึ้นเป็นแผง โดยเราเป็นจ่าฝูง เป็นฝูงห่านน้อยบินที่มีประเทศไทยเป็นจ่าฝูง โดยเราปรับเส้นทางคมนาคม ปรับลอจิสติกส์ แล้วผลัดใบอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมแบบที่เราเคยทำมาแล้วไม่มีอนาคตก็คือโลว์เทค ค่าแรงต่ำ เทคโนโลยีต่ำ ใช้แรงงานเข้มข้น สิ่งทอเสื้อผ้าไม่มีอนาคต ตลาดส่งออกก็แย่ เราทำอย่างไรก็มีการส่งไปลาว เขมร พม่า หลังจากส่งออกไปแล้ว 300 บาทจึงเข้ามาตรงนี้ มันเป็นกระบวนการผลัดใบทางอุตสาหกรรม แล้วเราจะแทนที่ด้วยอุตสาหกรรมที่เน้นทุนเข้มข้น ทุนมนุษย์เข้มข้น ความรู้เข้มข้น ก็คืออุตสาหกรรมไฮเทคมากขึ้น ค่าแรงสูงขึ้น แล้วเน้นตลาดภายในประเทศและตลาดภูมิภาค นี่คือกระบวนการผลัดใบที่กำลังเกิดขึ้น
ปัญหามันอยู่คือการเปลี่ยนผ่าน การปฏิรูปเศรษฐกิจภายในประเทศขนานใหญ่ มันต้องปฏิรูปการเมืองไปในทางเสรีนิยมและประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นด้วย มันไม่มีประเทศไหนที่พ้นประเทศระดับปานกลางไปโดยไม่ถูกกดดันให้ปฏิรูปการ เมืองไปในทางนี้ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ บราซิล ในช่วงที่เปลี่ยนจากประเทศรายได้ปานกลางระดับบนไปเป็นรายได้สูงนั้น กระแสมวลชนขึ้น ต้องการเสรีภาพมากขึ้น ต้องการประชาธิปไตยมากขึ้น คุณจะเอาทุนนิยมมากขึ้น มันเรียกร้องประชาธิปไตยมากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง เพราะถ้าประชาธิปไตยน้อยลงมันจะทำซ้ำอย่างที่สฤษดิ์ทำคือ หาร กล่าวคือพัฒนาเสร็จความเหลื่อมล้ำยิ่งมาก สมัยประชาธิปไตยครึ่งใบดีขึ้นมาหน่อยแต่ก็ยังมีปัญหาอยู่
บทเรียนที่เราน่าจะสรุปได้จากการกระโดดใหญ่ 2 ครั้ง คือ จะพัฒนาทุนนิยมจะต้องมีประชาธิปไตยมากขึ้นเพื่อประกันให้การกระจายรายได้ เกิดด้วย ให้การกระจายโอกาสเกิดจริงด้วย ถ้าไม่มีประชาธิปไตย ไม่มีช่องทางให้คนข้างล่างได้ร้อง การเติบโตทางเศรษฐกิจมันจะถูกรวมศูนย์ ผลประโยชน์รายได้ไปอยู่ที่คนข้างบนหมด และมันก็จะสอดรับกับการ
เกี้ยเซียะของอีลิท ดังนั้นมันสำคัญในเรื่องการผลักให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง