วันพุธที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2558

‘เพื่อไทย’ แนะ คสช. ควรแก้ไขมากกว่าแก้ตัว หลังมติรัฐสภายุโรปเกี่ยวกับไทย


เมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงท่าทีของพรรคเพื่อไทยที่มีต่อกรณีที่รัฐสภายุโรปมีข้อมติในวันที่ 8 ต.ค. 2558 โดยมีเนื้อหาสำคัญว่า รัฐสภายุโรปมีความกังวลอย่างยิ่งต่อความเสื่อมถอยของสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยภายหลัง “การรัฐประหารที่ผิดกฎหมาย”  ในปี 2557, ให้ยกเลิกการจำกัดเสรีภาพและการใช้สิทธิมนุษยชนในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองโดยสันติ, เรียกร้องให้ทางการไทยเริ่มถ่ายโอนอำนาจจากรัฐบาลทหารไปให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยเร็ว, เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ,  สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบ รวมถึงการปฏิบัติตามหลักนิติธรรม (อ่านรายละเอียด อ่านละเอียด มติรัฐสภายุโรปเกี่ยวกับสถานการณ์ในไทย)
ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยขอแถลงในประเด็นที่เกิดขึ้น ดังต่อไปนี้
1. พรรคเพื่อไทยขอให้รัฐบาลและ คสช. ตระหนักและให้ความสำคัญต่อปัญหาที่รัฐสภายุโรปได้ หยิบยกในข้อมติดังกล่าวและควรแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง มากกว่าที่จะใช้วิธีออกแถลงการณ์ว่าทางรัฐสภายุโรปมีความเข้าใจไม่ถูกต้องในสถานการณ์ในประเทศไทย  เพราะประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปรวมทั้งสหภาพยุโรปได้ติดตามปัญหาต่างๆ ในประเทศไทยอย่างใกล้ชิดตั้งแต่มี การรัฐประหารในปี 2557 ดังนั้นรัฐบาลควรตระหนักว่า ข้อมติดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อประเทศอย่างมาก โดยเฉพาะผลกระทบทางเศรษฐกิจ จึงควรใช้วิธีการแก้ไข มากกว่าการ แก้ตัว
2. การค้าและการลงทุนจากประเทศในสหภาพยุโรปมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยและความกินดีอยู่ดีของคนไทย  เนื่องจากสหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าใหญ่เป็นลำดับ 3 ของไทย การที่สหภาพยุโรปชะลอการเจรจาสัญญาการค้าเสรีและปฏิเสธที่จะลงนามสัญญาหุ้นส่วนและความร่วมมือกับไทยตราบเท่าที่รัฐบาลทหารยังอยู่ในอำนาจ  จะส่งผลเสียต่อการค้าการลงทุนของสหภาพยุโรปในไทย  ซึ่งผู้ส่งออกและผู้ประกอบการชาวไทยย่อมจะเสียโอกาสในการส่งสินค้าไปยังสหภาพยุโรป  เกษตรกรและผู้ผลิตจะขายสินค้าได้น้อยลงและได้ราคาต่ำลง  ดังนั้นถ้าความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปเสื่อมทรามลง ก็จะกระทบตลาดการส่งออกในสหภาพยุโรปซึ่งมีมูลค่าปีละประมาณ 750,000 ล้านบาท
3. พรรคเพื่อไทยหวังว่ารัฐบาลและ คสช. จะตระหนักในข้อมติของรัฐสภายุโรปดังกล่าวและจะดำเนินการที่เป็นรูปธรรมอย่างจริงจังในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เสรีภาพทางการเมือง การคุ้มครองหลักนิติธรรมในกระบวนการยุติธรรม การดำเนินการจัดให้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยและการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมโดยเร็ว เพื่อให้คนไทยตัดสินอนาคตของตนเองต่อไปโดยเร็ว ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนอกจากจะเป็นรากฐานของการปรองดอง ยังจะเป็นการป้องกันและหลีกเลี่ยงไม่ให้ประเทศไทยต้องสุ่มเสี่ยงที่จะถูกคว่ำบาตรในทางเศรษฐกิจ หรือการเมือง ซึ่งจะมีผลเสียต่อประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง

ศรีสุวรรณร้องผู้ตรวจการฯสอบจริยธรรม ‘ประยุทธ์-วิษณุ’ ปมตั้งพี่น้อง-เครือข่ายเป็นสปท.


13 ต.ค. 2558 เมื่อเวลา 11.30 น. ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย นำโดยนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมฯ พร้อมคณะ เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินผ่านนายธาวิน อินทรจำนงค์ รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ตรวจสอบจริยธรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้งเครือญาติและบุคคลที่เคยร่วมอาชีพเดียวกันเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เข้าข่ายเป็นการเลือกปฏิบัติ มีผลประโยชน์ทับซ้อนและขัดกันแห่งผลประโยชน์  
ทั้งนี้ นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า รายชื่อสมาชิกสปท.จำนวน 200 คน ที่นายกฯ ได้ประกาศแต่งตั้งเมื่อวันที่ 5 ต.ค. ที่ผ่านมา พบว่ามีบุคคลที่เป็นเครือญาติของนายวิษณุ ที่เป็นรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องกฎหมายและการยุติธรรม คือ พล.อ.ต.เฉลิมพล เครืองาม และนายดุสิต เครืองาม ทั้งสองคนเป็นพี่น้องร่วมสายโลหิตเดียวกับนายวิษณุ ขณะเดียวกัน พบว่า นายกฯ มีการแต่งตั้งบุคคลที่มีอาชีพหรือเคยมีอาชีพเดียวกับตนเองคือนายทหาร หรือตำรวจในและนอกราชการมาเป็นสมาชิกจำนวนถึง 77 คน หรือมากกว่า 38.5 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ทั้งที่ในข้อเท็จจริงสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ควรประกอบไปด้วยบุคคลที่มีความหลากหลายอาชีพ มากกว่าจะเป็นพี่น้อง หรือคนกันเอง จึงถือว่าพฤติกรรมดังกล่าวของรองนายกฯและนายกฯในฐานะผู้ใช้อำนาจแต่งตั้ง ไม่ได้ใช้วิจารณญาณในการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลตามระบบคุณธรรม จริยธรรมที่กฎหมายกำหนด
นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า เข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อนและเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันโดยใช้อำนาจทางกฎหมายเสนอ แต่งตั้งบุคคลใกล้ชิดตนขึ้นมารับตำแหน่งกินเงินเดือน และรับผลประโยชน์ตอบแทนอื่นจากรัฐ ส่อขัดจริยธรรมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาตรา 13 (2) พ.ร.บ.ผู้ตรวจการแผ่นดิน และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการเมือง 2551 จึงขอให้ผู้ตรวจฯดำเนินการตรวจสอบหากพบว่าเป็นกรณีฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงขอให้ดำเนินการส่งเรื่องให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ดำเนินการตามกฎหมายป.ป.ช.ที่เกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมเพื่อนำไปสู่การถอดถอนต่อไป

นักเศรษฐศาสตร์โนเบลปีล่าสุดพูดถึง 'ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้' เป็นภัยต่อ 'ประชาธิปไตย'

แองกัส ดีตัน (ที่มา: nber.org)

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมามีการประกาศรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์แก่ แองกัส ดีตัน นักเศรษฐศาสตร์อังกฤษ-อเมริกัน ผู้วิจัยเรื่องการบริโภค ความยากจน และสวัสดิการ ซึ่งเขาเคยเขียนถึงเรื่องเศรษฐศาสตร์และประชาธิปไตยในหนังสือเขาว่า ความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้ในสังคมถือเป็นภัยต่อประชาธิปไตย
14 ต.ค. 2558 แองกัส ดีตัน นักเศรษฐศาสตร์เพิ่งชนะรางวัลโนเบลเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาในสาขาเศรษฐศาสตร์ เว็บไซต์ vox.com รายงานเกี่ยวกับผลงานทางความคิดของเขาซึ่งมีชื่อเสียงในประเด็นเกี่ยวกับการบริโภคและความยากจน และในหนังสือที่ชื่อ "The Great Escape: Health, Wealth, and the Origins of Inequality" มีเนื้อหาสั้นๆ ส่วนหนึ่งที่ดีตันระบุเกี่ยวกับประเด็นเรื่องความไม่เสมอภาคในสังคมได้อย่างคมคาย โดยระบุว่าความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้ในสังคมถือเป็นภัยต่อประชาธิปไตย
"ความเสมอภาคทางการเมืองที่จำเป็นต่อประชาธิปไตยนั้นกำลังอยู่ในอันตรายจากความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ และยิ่งความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจมากขึ้นก็จะยิ่งเป็นภัยต่อประชาธิปไตยมากขึ้น ถ้าหากประชาธิปไตยถูกทำลายก็จะส่งผลเสียโดยตรงต่อความเป็นอยู่ที่ดี เพราะจากที่ผู้คนเคยมีเหตุผลที่ดีในการเห็นคุณค่าตัวเองที่สามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ ผู้คนก็จะสูญเสียการเห็นคุณค่าในจุดนี้ซึ่งเป็นปัจจัยที่เสี่ยงจะเกิดภัยอื่นๆ ตามมา" ดีตันระบุไว้ในหนังสือดังกล่าว
"คนที่ร่ำรวยมากจะไม่ต้องการการศึกษาจากภาครัฐหรือประกันสังคมจากรัฐเท่าไหร่ ... พวกเขายิ่งมีเหตุผลน้อยมากที่จะสนับสนุนการประกันสุขภาพให้กับทุกคนหรือกังวลเรื่องโรงเรียนของรัฐมีมาตรฐานต่ำที่มีอยู่จำนวนมากในประเทศ พวกเขาจะต่อต้านการควบคุมจัดการธนาคารที่จะเป็นการจำกัดผลกำไรของพวกเขา แม้ว่าการควบคุมจัดการนั้นจะสามารถช่วยเหลือคนที่ไม่สามารถชดใช้หนี้สินจำนองหรือคุ้มครองประชาชนจากการกู้ยืมแบบเขี้ยวลากดิน การโฆษณาหลอกลวง หรือแม้กระทั่งการประสบความล้มเหลวทางการเงินแบบซ้ำๆ ได้ ความกังวลในเรื่องผกระทบจากความไม่เสมอภาคอย่างรุนแรงนี้ไม่ใช่เพราะว่ามาจากความอิจฉาคนรวยเลยแม้แต่น้อย แต่ทั้งหมดเป็นเพราะเกรงว่าการเติบโตอย่างรวดเร็วของกลุ่มคนรายได้ระดับสูงกำลังเป็นภัยต่อความเป็นอยู่ที่ดีของทุกๆ คน" นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปีล่าสุดระบุไว้ในหนังสือของเขา
แองกัส ดีตัน เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีทั้งสัญชาติอังกฤษและอเมริกัน เขาเรียนมาในสายเศรษฐศาสตร์มาโดยตลอด มีวิทยานิพนธ์ชิ้นสำคัญเกี่ยวกับรูปแบบความต้องการของผู้บริโภคและการปรับใช้ในประเทศอังกฤษออกมาในปี 2518 ปัจจุบันเขาเป็นศาตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยปรินสตันและเป็นผู้ช่วยวิจัยที่สำนักวิจัยเศรษฐศาสตร์แห่งชาติ (National Bureau of Economic Research หรือ NBER) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนไม่แสวงหาผลกำไรในสหรัฐฯ
ในเว็บไซต์ของ NBER ระบุว่าในตอนนี้ดีตันกำลังเน้นศึกษาวิจัยเรื่องปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาวะในประเทศร่ำรวยและประเทศยากจน การศึกษาชี้วัดเรื่องความยากจนในอินเดียและที่อื่นๆ ของโลก โดยดีตันมีความสนใจในแง่การวิเคราะห์ผลการสำรวจจากระดับครัวเรือนมาเป็นเวลานานแล้ว
ดีคันเปิดเผยว่าตัวเขาเองเป็น "ผู้ที่เป็นห่วงเกี่ยวกับปัญหาความยากจนของโลกและสนใจว่าผู้คนมีพฤติกรรมอย่างไร และอะไรที่ทำให้พวกเขามีชีวิตที่ดี" เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปีล่าสุดเนื่องจากผลงานการวิเคราะห์เรื่องการบริโภค ความยากจน และสวัสดิการ โดยในเว็บไซต์ของรางวัลโนเบลระบุว่าดีตันเป็นผู้ที่ส่งเสริมความเข้าใจในเรื่องการเลือกบริโภคด้วยการศึกษาวิจัยที่เปลี่ยนโฉมหน้าของวิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาค เศรษฐศาสตร์มหภาค และเศรษฐศาสตร์การพัฒนา ซึ่งผลงานเมื่อไม่นานมานี้ของดีตันยังมีการสำรวจความสัมพันธ์เรื่องรายได้เข้ากับเรื่องข้อมูลโภชนาการและการเหยียดเพศในครอบครัวอีกด้วย
เรียบเรียงจาก
Read 2015 Nobel Economics Prize winner Angus Deaton's amazing take on inequality, Vox, 12-10-2015http://www.vox.com/2015/10/12/9508423/angus-deaton-income-inequality
ประวัติของแองกัส ดีตัน ในเว็บไซต์ของสำนักวิจัยเศรษฐศาสตร์แห่งชาติhttp://www.nber.org/aginghealth/summer07/deaton.html
เว็บไซต์รางวัลโนเบล http://www.nobelprize.org/nobel_prizes/economic-sciences/laureates/2015/press.html
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก