วันอาทิตย์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ทนายสิทธิ จี้ คสช.ยกเลิกกฎอัยการศึก ปล่อยตัวธนาพล หยุดส่งพลเรือนขึ้นศาลทหาร


               ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีความเห็นต่อกรณีการควบคุมตัว  นายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการ สนพ.ฟ้าเดียวกัน โดยทหาร โดยอ้างอำนาจตามกฎอัยการศึกว่าเป็นการจำกัดสิทะิเสรีภาพของประชาชน ขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม ชี้การจับกุมขาดความโปร่งใสและขาดซึ่งกระบวนทาง กม.ที่น่าเชื่อถือ การจำกัดเสรีภาพสื่อออนไลน์ที่ไม่มีการแสดงความเห็นที่ขัดต่อกฎหมายและการควบคุมตัวผู้ที่เคยถูกควบคุมตัวซ้ำอีกครังเป็นการกระทำที่ขาดความชอบธรรม

                   ในแถลงการณ์ ศูนย์ทนายสิทธิฯ ได้เรียกร้องให้ คณะรัฐประหาร คสช.ยกเลิกกฎอัยการศึกและการเควบคุมตัวหรือเรียกให้มารายงานตัวตามกฎอัยการศึกรวมถึงการยกเลิกการส่งตัวพลเรือนขึ้นพิจารณาคดีในศาลทหาร
๐๐๐๐

แถลงการณ์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
กรณีการควบคุมตัวนายธนาพล อิ๋วสกุล ซ้ำเป็นครั้งที่ 2
อ้างโพสต์ข้อความออนไลน์ขัดเงื่อนไขการปล่อยตัว

 
6 กรกฎาคม 2557

                   สืบเนื่องจากนายธนาพล อิ๋วสกุล เป็นผู้ถูกเรียกให้ไปรายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 5/ 2557 และได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมาโดยต้องลงนามในเงื่อนไขท้ายประกาศคณะรักษาความสงบที่ 39/2557 เพื่อให้ได้รับการปล่อยตัว ต่อมาเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งไม่ยอมแจ้งชื่อและตำแหน่งได้ขอนัดหมายกับนายธนาพลฯ ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2557 ในสถานที่สาธารณะแห่งหนึ่ง โดยนายธนพลฯ ได้ให้ความร่วมมืออย่างดี

                     แต่กลับปรากฏว่า นายธนาพลฯ ถูกควบคุมตัวและนำตัวไปค่ายทหารโดยรถยนต์ซึ่งไม่ได้ระบุว่าเป็นรถหรือยานพาหนะของราชการ อีกทั้งผู้ที่ทำการควบคุมตัวนายธนาพลฯ ก็ไม่ได้แสดงตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจหน้าที่จับกุมตามกฎอัยการศึกแต่อย่างใด จนกระทั่งเมื่อเวลาประมาณ 18.30 น. ได้มีการนำตัวนายธนาพลฯ ไปยังกองบังคับการปราบปรามโดยยังไม่การแจ้งข้อกล่าวหาใดๆ แต่มีการอ้างถึงการโพสต์ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ของนายธนาพลฯ หลังการได้รับการปล่อยตัวว่าอาจเข้าข่ายฝ่าฝืนเงื่อนไขของการได้รับการปล่อยตัวตามประกาศดังกล่าวข้างต้น

                 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีความเห็นต่อกรณีดังกล่าวและกรณีอื่นซึ่งได้รับการปฏิบัติในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน ดังต่อไปนี้
  1. การกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวท้ายประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 39/2557 กรณีผู้ไปรายงานตัว และฉบับที่ 40/2557 กรณีผู้ถูกกักตัวตามกฎอัยการศึก ซึ่งให้ผู้ถูกปล่อยตัวระบุที่พักอาศัย ห้ามออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาต และห้ามเคลื่อนไหวหรือประชุมทางการเมืองใดๆ เป็นเงื่อนไขที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั้งในเรื่องความเป็นอยู่ส่วนตัว เสรีภาพในการเดินทาง และเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม การจำกัดสิทธิเสรีภาพดังกล่าวต้องเป็นกรณียกเว้นที่จำเป็นอย่างยิ่งโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้และต้องกระทำอย่างพอสมควรแก่เหตุ โดยต้องไม่เป็นการห้ามหรือจำกัดเสรีภาพไปเสียในทุกกรณีจนเป็นการทำลายเสรีภาพนั้นเสีย อีกทั้งยังต้องมีมาตรการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเคร่งครัด
  2. อย่างไรก็ตามเงื่อนไขท้ายประกาศดังกล่าวกลับกำหนดมาตรการจำกัดเสรีภาพให้มีผลบังคับเป็นการทั่วไปในทุกกรณีและยังไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกปล่อยตัวโต้แย้งแสดงเหตุผลในการคัดค้านเงื่อนไขอันเป็นผลร้ายต่อบุคคล ไม่มีกำหนดระยะเวลา และหากไม่ลงนามก็จะไม่ได้รับการปล่อยตัว การยินยอมลงนามท้ายเงื่อนไขดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นไปด้วยความสมัครใจ
  3. การดำเนินการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลและดำเนินการตามอำนาจกฎอัยการศึกในลักษณะดังกล่าวไม่โปร่งใส่และขาดซึ่งกระบวนการทางกฎหมายที่เชื่อถือได้ อาจเป็นการล่วงเกินสิทธิเสรีภาพจนเกินขอบเขต เช่น การไม่แนะนำตัวและตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งอาจทำให้ประชาชนรู้สึกไม่มีความมั่นคงและปลอดภัยในการดำเนินชีวิต เนื่องจากไม่ทราบว่าการถูกควบคุมตัวของตนนั้นกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐหรืออาชญากร
  4. การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งยังไม่ปรากฎว่าการแสดงความคิดเห็นดังกล่าวขัดต่อกฎหมายหรือเป็นการยั่วยุให้นำไปสู่ความรุนแรง โดยอ้างอำนาจตามกฎอัยการศึก นำไปสู่การกักตัวบุคคล เป็นการใช้จำกัดสิทธิเสรีภาพโดยไม่มีเหตุอันควร เกินความจำเป็น ไม่ได้สัดส่วน และถือเป็นการใช้อำนาจโดยอำเภอใจและส่งผลเป็นการละเมิดเสรีภาพของบุคคล
  5. การอ้างอำนาจตามกฎอัยการศึกเพื่อกำหนดเงื่อนไขของการปล่อยตัวโดยห้ามมิให้บุคคลแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองอย่างสิ้นเชิงและเพื่อใช้ดุลพินิจควบคุมตัวบุคคลซ้ำอีก 7 วันเป็นครั้งที่สองในกรณีดังกล่าวนี้ จึงเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของบุคคลแบบเหวี่ยงแห (blanket derogation) ซึ่งเป็นการใช้อำนาจเพื่อจำกัดหรือส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนเกินสมควร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งฝ่ายกฎหมายหมายจึงควรทบทวนเงื่อนไขและวิธีการที่ใช้บังคับตามกฎอัยการศึก

              โดยเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพ เช่น การกักตัว การเรียกให้มารายงานตัว การติดตาม ติดต่อ การเยี่ยม การขอพบปะบุคคล ตลอดจนการกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคล ซึ่งเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่อย่างกว้างขวางโดยปราศจากมาตรการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจ และนำไปสู่การใช้อำนาจโดยอำเภอใจและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะแม้จะอ้างอำนาจตามกฎอัยการศึก แต่ความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของเจ้าหน้าที่ยังต้องอยู่ภายใต้หลักความพอสมควรแก่เหตุ ความโปร่งใส และการตรวจสอบถ่วงดุลโดยฝ่ายตุลาการ

ด้วยเหตุดังกล่าวศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติปล่อยตัวนายธนาพล อิ๋วสกุล จากการควบคุมตัวโดยปราศจากเงื่อนไข และยืนยันข้อเสนอเดิมตามรายงาน 1 เดือนหลังรัฐประหารของศูนย์ทนายความฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอดังต่อไปนี้

  1. ให้ยุติการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก โดยยกเลิกประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ เนื่องจากปัจจุบันไม่มีเหตุให้ใช้กฎอัยการศึกอีกต่อไปแล้ว และให้ใช้กฎหมายตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติ
  2. ให้ยุติการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกและยุติการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมโดยสงบหรือแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต รวมทั้งให้ยกเลิกประกาศห้ามชุมนุม
  3. ให้ยกเลิกการบังคับให้บุคคลมารายงานตัว และการใช้อำนาจควบคุมตัวบุคคลโดยโดยอำเภอใจ
  4. ให้ยกเลิกการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารตามประกาศเรื่องความผิดที่อยู่ในอำนาจดำเนินคดีของศาลทหาร

ด้วยความเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

'ฉลาด วรฉัตร' ยุติอดอาหาร แต่ยังทำกิจกรรมหน้าสภา


"ฉลาด วรฉัตร" โพสต์เฟซบุ๊กประกาศยุติอดอาหารประท้วง เนื่องจากสภาพร่างกายไม่เอื้ออำนวย แต่ยังทำกิจกรรมหน้ารัฐสภาต่อไป เรียกร้องคนรักประชาธิปไตยตั้งพรรคการเมืองของประชาชนเอง
 
6 ก.ค. 2557 เฟซบุ๊กของ ร.ต.ฉลาด วรฉัตร ได้เผยแพร่ข้อความประกาศยุติการอดอาหารประท้วง โดยฉลาดระบุว่าไม่สามารถทนต่อสู้กับความทรมานซึ่งเกิดขึ้นกับสังขารของร่างกายอีกต่อไปได้ แต่ยังคงทำกิจกรรมทางการเมืองอยู่ที่หน้ารัฐสภาต่อเพื่อเผยแพร่ความจริงและเรียกร้องให้พี่น้องประชาชนผู้รักประชาธิปไตยร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองที่มีประชาชนเป็นเจ้าของที่ไม่ใช่นายทุนหรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง รวมทั้งร่วมร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 10 ธันวามคม 2475 แก้ไขเพิ่มเติม
 
ทั้งนี้ข้อความประกาศยุติการอดอาหารประท้วงของฉลาดทั้งหมดมีดังต่อไปนี้
 
เรียน พี่น้องประชาชนผู้รักประชาธิปไตยทุกท่าน
 
หลังจากเข้ารักษาตัวในร.พ.วชิระ 2 ครั้ง ในเวลา 2 วัน ข้าพเจ้าต้องขอยอมรับและสารภาพกับพี่น้องผู้รักประชาธิปไตยทุกท่านว่า ในวัย 71 ปี กับการอดอาหารมากว่า 45 วัน ข้าพเจ้าไม่สามารถทนต่อสู้กับความทรมานซึ่งเกิดขึ้นกับสังขารของร่างกายอีกต่อไปได้
 
แม้ว่าข้าพเจ้าได้เคยต่อสู้ด้วยวิธีอหิงสา อดข้าว ทรมานตัวเอง เพี่อเรียกร้องให้ได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง จนประสบตวามสำเร็จมาแล้วในอดีตทุกครั้ง แต่ในวันนี้ ข้าพเจ้าได้ทบทวน จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และจากคำแนะนำของพี่น้องประชาชนผู้รักประชาธิปไตยที่ได้ให้คำแนะนำและกำลังใจแก่ข้าพเจ้ามาโดยตลอด จนนำมาซึ่งข้อสรุปได้ว่า การต่อสู้กับเผด็จการในสภาวะการณ์ปัจจุบันนั้น แตกต่างจากอดีตโดยสิ้นเชิง ดังนั้นข้าพเจ้าจึงขอยอมรับการพ่ายแพ้ ในการอดข้าวประท้วงครั้งนี้ 
 
อีกทั้งข้าพเจ้าได้รับคำแนะนำจากแพทย์ว่า ถ้าหากข้าพเจ้ายังคงต่อสู้ด้วยวิธีอดข้าวต่อไป ก็คงต้องมีการให้น้ำเกลือกันที่หน้ารัฐสภาซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่า ไม่ได้มีประโยชน์อันใด ต่อการต่อสู้กับเผด็จการเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยอย่างแท้จริง นอกจากนั้นยังเป็นอุปสรรคในการที่ข้าพเจ้าจะเคลื่อนไหวต่อสู้ อันต้องอาศัยทั้งแรงกายและสมอง เพื่อต่อสู้ภายใต้สันติวิธี ในอนาคตต่อไป
 
อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่ข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่ ข้าพเจ้าจะขอต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยตลอดไป และขอยืนยันและเรียกร้องต่อพี่น้องว่า การต่อสู้แบบอหิงสา เป็นวิธีที่ดีที่สุด ในการต่อสู้เรียกร้องทางการเมือง ส่วนวิธีการใดที่ใช้ความรุนแรง ไม่สามารถนำมาซึ่งระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ เพราะไม่เป็นไปตามหลักสากล
 
สุดท้ายนี้ แม้ข้าพเจ้าขอประกาศยกเลิกการอดข้าว เพื่อขอมีชีวิตอยู่รับใช้ผู้ที่มีจิตวิญญาณประชาธิปไตยร่วมกัน แต่ข้าพเจ้าจะยังคงทำกิจกรรมทางการเมืองอยู่ที่หน้ารัฐสภาต่อไป เพื่อเผยแพร่ความจริงและเรียกร้องให้พี่น้องประชาชนผู้รักประชาธิปไตยทุกท่าน ร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองที่มีประชาชนเป็นเจ้าของ ไม่ใช่นายทุน หรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง รวมทั้งร่วมร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 10 ธันวามคม 2475 แก้ไขเพิ่มเติม... อันเป็นหนทางเดียวที่ข้าพเจ้าเห็นว่าจะนำไปสู่การได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ในอนาคต

กูเกิลยอมคืนลิงก์ที่นำออกเพราะ 'สิทธิในการถูกลืม' หลังถูกกดดัน


ก่อนหน้านี้สำนักข่าวทั้งบีบีซีและเดอะการ์เดียนถูกนำลิงก์บทความออกจากเว็บไซต์กูเกิล หลังมีผู้ร้องเรียนให้นำออกโดยอ้าง "สิทธิในการถูกลืม" ที่มาจากคำสั่งศาลยุโรป แต่ต่อมาก็มีการนำลิงก์กลับคืน ในขณะที่โฆษกรองประธานคณะกรรมการยุโรปติงกูเกิลว่าอย่าให้คนอ้างสิทธินี้ในการ "ตัดต่อข้อมูลชีวิตของตัวเองได้แบบโฟโต้ช็อป"

6 ก.ค. 2557 สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่ากูเกิลบริษัทเว็บไซต์ค้นหาชื่อดังได้ทำให้ลิงก์ที่เคยถูกนำออกไปกลับมาอีกครั้ง หลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง จากการที่กูเกิลนำลิงก์หรือการเชื่อมโยงสู่เว็บไซต์บางแห่งออกตามคำสั่งศาลที่อ้างเรื่อง "สิทธิในการถูกลืม"
ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่แล้ว กูเกิลได้นำลิงก์บางส่วนที่นำไปสู่เว็บไซต์เดอะการ์เดียน ออก แต่ในตอนนี้ได้นำกลับคืนมาแล้ว ซึ่งกูเกิลกล่าวปกป้องการกระทำของตนว่าเนื่องจากกระบวนการมี "ความยากลำบาก" และพวกเขา "กำลังเรียนรู้"
ปีเตอร์ บาร์รอน หัวหน้าฝ่ายการสื่อสารของกูเกิลในยุโรปกล่าวให้สัมภาษณ์ต่อรายการเรดิโอ4 ของบีบีซีว่าพวกเขาไม่ได้จงใจปล่อยผ่านคำร้องขอให้นำลิงก์ออกทุกคำร้องเพื่อเป็นการแสดงความไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินศาลยุโรป แต่พวกเขาพยายามจัดการในเรื่องนี้ด้วยควาามรับผิดชอบมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
"คำตัดสินของศาลยุติธรรมยุโรป (ECJ) ไม่ใช่สิ่งที่พวกเรายินดีหรือต้องการ แต่ในเมื่อมันกลายเป็นกฎหมายในยุโรปแล้วพวกเราก็จำเป็นต้องปฏิบัติตาม" บาร์รอนกล่าว
บาร์รอนบอกอีกว่า ทางกูเกิลต้องพยายามสร้างสมดุลในด้านความโปร่งใสเพื่อปกป้องตัวตนของผู้คน และจะมีการนำลิงก์ออกจากเว็บค้นหา หากข้อมูลเหล่านั้น "ล้าสมัย, ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือเคยมีส่วนเกี่ยวข้องแค่ในอดีต"
นอกจากกรณีของเดอะการ์เดียน แล้ว โรเบิร์ต เพสตัน บรรณาธิการฝ่ายเศรษฐกิจของบีบีซีก็ถูกนำลิงก์บทความในปี 2550 ออกจากกูเกิล ซึ่งไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ยื่นคำร้องให้นำออก แต่กูเกิลบอกว่าสิ่งที่ผู้ยื่นคำร้องต้องการให้นำออกไม่ใช่เนื้อหาตัวบทความเอง แต่เป็นข้อความแสดงความคิดเห็นที่อยู่ใต้บทความนั้น
ทั้งนี้ยังมีบทความอีก 7 หน้าที่ถูกนำลิงก์ออกจากกูเกิล ขณะที่เดอะการ์เดียนถูกนำลิงก์ออกไป 6 บทความก่อนหน้านี้ แต่ต่อมากูเกิลก็นำลิงก์เหล่านี้กลับคืนมาอีกครั้ง
เจมส์ บอล ผู้เขียนบทความในเดอะการ์เดียน ระบุว่าการกระทำของกูเกิลอาจเป็นยุทธวิธีอย่างหนึ่ง เนื่องจากโดยปกติแล้วองค์กรสื่อย่อมไม่อยากให้ข้อมูลของตัวเองถูกปิดกั้นการเข้าถึง ทำให้มีการส่งข้อความอัตโนมัติแจ้งสื่อต่างๆ ว่ามีการนำลิงก์เชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ของพวกเขาออกในบางบทความ แต่ไม่นานหลังจากนั้นการเชื่อมโยงก็กลับคืนมา
ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ศาลยุติธรรมสหภาพยุโรปได้ตัดสินให้กูเกิลต้องแก้ไขข้อมูลหากมีผู้ร้องเรียนไม่พอใจการแสดงผลซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับตนเองและเข้าข่ายข้อมูลล้าสมัยหรือไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัจจุบันของบุคคลนั้นๆ แต่นักกิจกรรมก็เกรงว่าคำสั่งอาจนำมาใช้ลิดรอนเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลหรือการนำเสนอข้อมูลได้
ไรอัน ฮีทธ์ โฆษกของรองประธานคณะกรรมการยุโรปแสดงความคิดเห็นว่าการนำลิงก์ออกในกรณีของเพสตันไม่ใช่การตัดสินใจที่ดี ฮีทธ์กล่าวอีกว่าการตัดสินใจปฏิบัติตามคำร้องพวกนี้ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนมากและไม่ควรทำให้กลายเป็นการอนุญาตให้ผู้คนใช้มันเพื่อ "ตัดต่อข้อมูลชีวิตของตัวเองได้แบบโฟโต้ช็อป"

เรียบเรียงจาก
Google reinstates 'forgotten' links after pressure, BBC, 04-07-2014
http://www.bbc.com/news/technology-28157607

ระเบิดชายแดนใต้ สะท้อน “สัญญาใจ” ประยุทธ์-วลิต บทเรียนกองทัพล้มเหลว แม่ทัพไร้ฝีมือ!




2014-05-19

โดย ประกายฟ้า

ที่มา เว็บไซต์ประชาไท (http://prachatai.com)


          หลังจากชวดและอกหักกับตำแหน่ง “แม่ทัพภาคที่ 1” มาหลายครั้ง ที่สุด “พล.ท.วลิต โรจนภักดี” ก็ได้เป็น “แม่ทัพภาค” สมใจ ถึงแม้จะต้องจรลีหนีกระแสต้านลงไปโตในชายแดนใต้เป็น “แม่ทัพภาคที่ 4” ก็ตาม

          พล.ท.วลิต โรจนภักดี” นายทหารสายบูรพาพยัคฆ์ อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.ร.2 รอ.) ชื่อนี้เป็นที่รู้จักในสังคมไทยจากผลงานชิ้น “โบว์ดำ” ในการคุมกำลังสลาย “คนเสื้อแดง” จนบาดเจ็บล้มตาย

          โดยเฉพาะบทบาทสำคัญในปฏิบัติการขอคืนพื้นที่การชุมนุมจากกลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 บริเวณ “สี่แยกคอกวัว” จนตัวเองได้รับบาดเจ็บสาหัส หลังเหตุการณ์ดังกล่าวได้ขยับเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 เพื่อจ่อขึ้นแม่ทัพภาคที่ 1 รับการ “สมนาคุณ” แต่เพราะชื่อ “วลิต โรจนภักดี” เป็นของ “แสลง” และบาดแผลในความทรงจำของคนเสื้อแดง จึงกลายเป็นแรงกดดันขัดขวางไม่ให้ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 ถึง 2 ครั้งในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ขณะที่กระแสข่าวอีกด้านหนึ่งก็ว่า เป็นเพราะเกมการเมืองใน ทบ.เองด้วยที่ทำให้ พล.ท.วลิต ต้องชวดตำแหน่ง

          ที่สุด พล.ท.วลิต ต้องถูกโยกไปเป็นผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก และแม่ทัพน้อยที่ 1 ตามลำดับ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ “สัญญาใจ” ระหว่าง “พล.ท.วลิต” กับ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผบ.ทบ. ที่จะ หาตำแหน่งแม่ทัพภาคให้หลังจากที่พลาดหวังตำแหน่งมาถึง 2 ครั้ง เมื่อถึงเวลาเหมาะสม พล.อ.ประยุทธ์ จึงพยายามผลักดัน พล.ท.วลิต ลงไปเป็นแม่ทัพภาคที่ 4

          ถึงแม้จะมีเสียงวิจารณ์หรือกังขาในคุณสมบัติของ “พล.ท.วลิต” ที่จะดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 เพียงใด แต่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ตกลงปลงใจจะหนุน ก็ออกโรงปกป้อง กระทั่งฟาดงวงฟาดงาส่งเสียงกร้าวว่า “การแต่งตั้งแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นเรื่องภายในของกองทัพ และ ตนมีสิทธิแต่งตั้งจะให้ใครมาดำรงตำแหน่งอะไร ไม่ใช่เรื่องคนนอกกองทัพจะมาวิจารณ์”

         ที่สุดในการปรับย้ายนายทหารกลางปี 2557 พล.ท.วลิต ก็ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 และเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา การข้ามห้วยลงไปเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 ของ พล.ท.วลิต เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงวิจารณ์และความสงสัยของหลายฝ่าย ไม่ว่าจากคนภายในกองทัพภาคที่ 4 เอง หรือคนที่ติดตามสถานการณ์ชายแดนภาคใต้อย่างใกล้ชิด

         โดยเฉพาะข้อกังขาในคุณสมบัติด้าน “ความรู้ความสามารถ” และ “ประสบการณ์” ต่อปัญหาชายแดนภาคใต้!!  ด้วยปฏิเสธไม่ได้ว่า ตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 ถือเป็น “ตำแหน่งหลัก” และ “สำคัญที่สุด” ในการดับไฟใต้ เพราะบุคคลที่มาเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 จะต้องทำหน้าที่ “ผอ.รมน.ภาค 4” และ “ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า”  ซึ่งถือ “อำนาจ” เหนือหน่วยงานรัฐทั้งหลายในพื้นที่  แล้วยิ่งในสถานการณ์ที่การเมืองส่วนกลางอยู่ในห้วงร้อนแรง อำนาจของ “รัฐบาล” อยู่ในภาวะกระปลกกระเปลี้ย ไร้ตัวจริงรับผิดชอบงานความมั่นคง บทบาทของแม่ทัพภาคที่ 4 จึงยิ่งมีความสำคัญต่อการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้

          แต่ในความเป็นจริงปรากฏว่า พล.ท.วลิต นั้นไม่เคยรับราชการทหารในพื้นที่ภาคใต้มาก่อน มีประสบการณ์สั้นๆ เพียงเคยลงไปทำหน้าที่เป็น “ผบ.ฉก.นราธิวาส” เมื่อครั้งเป็น รองแม่ทัพภาคที่ 1 แค่ “ปีเดียว” เท่านั้น!!  ประสบการณ์และความรู้ความสามารถจึง “ละอ่อน” เมื่อเทียบกับมิติปัญหาชายแดนภาคใต้ที่ “ซับซ้อน”

            มิหนำซ้ำ ช่วงเวลา 1 ปีในตำแหน่ง “ผบ.ฉก.นราธิวาส” นั้นบทบาทของ พล.ท.วลิต ก็ได้รับการพูดถึงว่าเป็นไปในแนวทาง “ตาต่อตาฟันต่อฟัน” ที่ทหาร “สายพิราบ” แอบมองด้วยความกังวลว่า เป็นการเพิ่มเงื่อนไขความขัดแย้งให้สถานการณ์ชายแดนใต้ย่ำแย่ลงไปกว่าเดิม แต่เพราะ “พล.ท.วลิต” ถือเป็น “เด็กนายสายตรง” เสียงสะท้อนจึงเพียงซุบซิบเบาๆ ในวงเล็กๆ

            นอกจากนั้น การส่งนายทหารจากกองทัพภาคอื่นลงไปกุมบังเหียนแทนที่จะให้ “นายทหาร” ที่ทำงานและเติบโตจากกองทัพภาคที่ 4 ได้ขึ้นเป็น “แม่ทัพภาคที่ 4” นั้น ก็เท่ากับเป็นการทำลายขวัญกำลังใจของนายทหารที่ปฏิบัติราชการในสังกัดกองทัพ ภาคที่ 4 ที่ทำงานเสี่ยงชีวิตเสี่ยงตาย แต่กลับไม่เจริญก้าวหน้าในหน้าที่ตำแหน่ง

             อีกเสมือนว่าในพื้นที่นั้นไม่มีคนทำงานที่มีความรู้ความสามารถแล้ว ทั้งที่ความจริงในกองทัพภาคที่ 4 ยังมีนายทหารที่เหมาะสมอีกหลายคนซึ่งเข้าใจบริบทปัญหาชายแดนภาคใต้ เช่น “พล.ท.กิตติ อินทสร” ผช.เสธ.ทบ.ฝ่ายข่าว ที่เคยอยู่พื้นที่ภาคใต้ในตำแหน่งรองแม่ทัพภาคที่ 4 ก่อนถูกเด้งมาอยู่ส่วนกลาง หรือ “พล.ต.ปราการ ชลยุทธ” รองแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งข้ามห้วยมาจากกองทัพภาคที่ 3 ที่ว่ากันว่า “พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยอมรับในฝีมือเมื่อครั้งเป็น ผบ.ฉก.ยะลา รวมทั้ง “พล.ต.ชรินทร์ อมรแก้ว” ที่รับราชการในพื้นที่กองทัพภาคที่ 4 มาทั้งชีวิต ก่อนถูกเตะโด่งจากรองแม่ทัพภาคที่ 4 ไปเป็น ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษทบ. เหล่านี้เป็นต้น

              และที่สำคัญ คือ “ปฏิกิริยา” ของคนในพื้นที่ทั้งจากชาวบ้านและคนทำงานขับเคลื่อนสันติภาพ ที่มองว่ารัฐไทยไม่มี “ความจริงใจ” ในการแก้ปัญหาไฟใต้อย่างแท้จริง เพราะการโยกย้ายในระดับหัวขบวนกองทัพภาคที่ 4 กลับทำไปเพียงเพราะต้องการ “การตอบแทน” ให้คนของตนได้รับตำแหน่งที่สูงขึ้น มากกว่าที่จะพิจารณาเฟ้นหาบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและมีฝีมือมารับผิดชอบ ปัญหา

             โดยประเด็นนี้ถือเป็นเรื่อง “ละเอียดอ่อน” สำหรับคนในพื้นที่ เพราะความขมขื่นจากการถูกกระทำจากรัฐไทยในอดีต ที่เคยโยกย้ายข้าราชการที่กระทำผิด ข้าราชการที่ถูกลงโทษ ลงมาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ซึ่งข้าราชการเหล่านี้ได้กดขี่ข่มเหง เอารัดเอาเปรียบ ดูถูกดูแคลนคนท้องถิ่นในเวลาต่อมา กระทั่งกล่าวได้ว่า คือผู้ที่สร้างเงื่อนปมทางความรู้สึกที่ยังมิอาจเยียวยาได้

           และถึงแม้คุณสมบัติของ พล.ท.วลิต จะแตกต่างกับข้าราชการในอดีตก็ตาม แต่ก็สะท้อนมุมมองของรัฐไทยว่ายังอยู่ในมิติเดิมๆ ที่จะส่ง “ใครก็ได้” ลงมาปฏิบัติงานที่ชายแดนภาคใต้ โดยไม่พิจารณาถึงความเหมาะสม ขาดการตรวจสอบศักยภาพ และความสามารถแล้วยิ่งมีข่าวออกมาตามสื่อหลายสำนักว่า “พล.ท.วลิต” จะมาเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 ชั่วคราวเพียงแค่ 6 เดือน ก่อนจะสไลด์เข้าสู่ตำแหน่ง “5 เสือ ทบ.” ในการโยกย้ายเที่ยวหน้า โดยการผลักดันของ ผบ.ทบ. ก็ยิ่งทำลายความน่าเชื่อถือของกองทัพและตัว “พล.ท.วลิต” เองว่า กำลังใช้กลิ่นคาวเลือดและหายนะของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นบันได ไต่ขึ้นสู่วงโคจรแห่งอำนาจ

           เสียงวิพากย์วิจารณ์เกี่ยวกับการขึ้นเป็น แม่ทัพภาคที่ 4 ของ “พล.ท.วลิต โรจนภักดี” ที่มีมาตั้งแต่ก่อนถูกเสนอชื่อ และยังคงมีต่อเนื่อง เพราะในห้วงเดือนกว่าๆ มานี้ ภายหลังการรับตำแหน่งของ พล.ท.วลิต สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กลับปะทุหนักหน่วงรุนแรง  โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ระเบิดกลางเมืองรุนแรง 3 ระลอกที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน !!

  • ครั้งแรก คือ 6 เมษายน 2557 เกิดเหตุระเบิด 4 จุดบริเวณใจกลางเมืองยะลา
  • จากนั้น ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2557 ก็มีเหตุระเบิดในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จำนวน 2 จุด
  • ล่าสุด ตั้งแต่ช่วงค่ำของวันอาทิตย์ที่ 11 พ.ค.ถึงเช้ามืดวันจันทร์ที่ 12 พ.ค.2557 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นหลายสิบ จุดในพื้นที่ 9 อำเภอของ จ.นราธิวาส และจังหวัดยะลา

            โดยเฉพาะที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญของชายแดนภาคใต้ ต้องลุ้นระทึกกันตลอดคืน เพราะเจอระเบิดเข้าไปกว่า 8 จุด  นี่ยังไม่นับระเบิดที่เก็บกู้ได้อีกบางจุด มิฉะนั้นคงวินาศสันตะโรกันยิ่งกว่านี้!!  และนอกจาก 3 เหตุการณ์ใหญ่ๆ นี้แล้ว ยังมีการก่อเหตุอีกแทบทุกวันที่ไม่เป็นข่าว แต่ล้วนสร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้  หลายฝ่ายจึงอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า เกิดอะไรขึ้นกับมาตรการระวังป้องกันการก่อเหตุของเจ้าหน้าที่ ?  และเมื่อประจวบเหมาะว่าเหุตร้ายแรงที่เกิดขึ้นอยู่ในห้วงเวลาของแม่ทัพ ภาคที่ 4 คนใหม่ ความรับผิดชอบจึงจึงประดังเข้าหาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้จะเพิ่งรับตำแหน่งก็ตาม!!

           ทว่าบทบาทของ “พล.ท.วลิต โรจนภักดี” แม่ทัพภาคที่ 4 กลับอยู่ในภาวะเงียบงันตลอด 1 เดือนกว่าที่เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงติดๆ กัน โดยปราศจากนโยบายแนวทางแก้ไขปัญหาหรือมาตรการป้องกันที่ชัดเจนเปิดเผยออกสู่ สาธารณชนเลย  ทั้งยังจับอาการได้ว่า “พล.ท.วลิต” ไม่มีความมั่นใจ จน “ไม่กล้า” แม้แต่จะออกมาเผชิญหน้าให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนด้วยตนเองหลังเกิดเหตุรุนแรง ติดๆ กัน ต้องใช้โฆษก กอ.รมน. ภาค 4 สน. “พ.อ. ปราโมทย์ พรหมอินทร์” ออกหน้าแทนทุกครั้ง ผิดวิสัยและธรรมเนียมปฏิบัติเมื่อเทียบกับแม่ทัพภาคที่ 4 คนก่อนๆ จึงยิ่งตอกย้ำถึงความ “ไร้ฝีมือ” และไร้บารมีของคนเป็น “แม่ทัพภาคที่ 4” “ผอ.รมน.ภาค 4” และ “ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า”

         นอกจากนั้น บางคนยังตั้งข้อสังเกตถึงความพยายามของ กอ.รมน. ภาค 4 สน. ในการใช้ความสนิทสนมส่วนตัวกับ สื่อบางสำนักที่มี “ศูนย์ข่าวภาคใต้” และมีบทบาทในการรายงานข่าวชายแดนภาคใต้ ในการรายงานและเขียนสกู๊ปข่าวเกี่ยวกับเหตุระเบิดที่เกิดขึ้น เพื่อบิดประเด็นและช่วยกลบเกลื่อนไปในทิศทางอื่น โดยมีการรายงานหรือวิเคราะห์ถึงประเด็นอื่นอย่างรอบด้าน ไม่ว่า การก่อเหตุเพื่อตอบโต้ นายถวิล เปลี่ยนศรี หรือ ก่อเหตุของกลุ่มค้าน้ำมันเถื่อนและสินค้าหนีภาษี, การเมืองที่กรุงเทพฯ หรือปมงบประมาณ เป็นต้น แต่ละเว้นที่จะกล่าวถึงและวิจารณ์บทบาทของแม่ทัพภาคที่ 4 ทั้งที่เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง!!

โดยข้อสังเกตนี้จริงเท็จอย่างไรยังไม่มีข้อพิสูจน์ คงต้องตามติดกันต่อไป

          แต่ที่แน่ๆ ตลอด 1 เดือนครึ่ง ของ “พล.ท.วลิต โรจนภักดี” ในตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 กับเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นกลางเมือง 3 ระลอกติดๆ กันนั้น บ่งชี้ว่ากองทัพกำลังประสบความล้มเหลวในการแก้ไขสถานการณ์ความรุนแรงใน ชายแดนภาคใต้อย่างเห็นชัด อันมีนัยสะท้อนมาจากกระบวนการคัดเลือกบุคคลผ่าน “สัญญาใจ” ของชายชื่อ “ประยุทธ์” ส่วนจะพลิกสถานการณ์กลับมาลบคำปรามาสได้หรือไม่นั้น อีกไม่ช้าเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์

          กระนั้น สำหรับ “พล.ท.วลิต” ที่มีผลงานในการปราบคนเสื้อแดง จนได้รับการปูนบำเหน็จให้ก้าวขึ้นสู่ แม่ทัพภาคที่ 4 นั้น มีข้อควรตระหนักประการหนึ่งว่า การแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ย่อมไม่ง่ายเหมือนปราบคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 อย่างแน่นอน เพราะครั้งนั้นคนเสื้อแดงเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาที่ในมือไร้อาวุธ เปรียบไปก็เหมือนการ “ยิงนกในกรง” แต่สถานการณ์ชายแดนภาคใต้นั้นย่อมแตกต่างจากเดิมชนิดหน้ามือเป็นหลังมือเลย ทีเดียว!!