วันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2555

อายทั่วโลก


อายทั่วโลก 
โดย สมิงสามผลัด  คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


       ควันหลง "บีบีซี" สำนักข่าวยักษ์ใหญ่ของโลกสัมภาษณ์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กรณีที่ถูกตั้งข้อหาร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล 

      ถ้าอ่านอย่างละเอียดก็จะพบว่าประเด็นของพิธีกรสาวก็คือจะรับผิดชอบอย่างไรต่อการสูญเสีย 99 ศพ บาดเจ็บอีก 2 พันคนอันเกิดจากคำสั่งใช้อาวุธสงครามเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมเมื่อปี? 53  

คำตอบของนายอภิสิทธิ์ก็คือไม่รับผิดชอบ  แถมยังอ้างโน่นนี่ไปเรื่อย   บอกว่าม็อบติดอาวุธบ้าง  มีแค่ 2 ศพที่ตายเพราะกระสุนทหารบ้าง ชายชุดดำเป็นต้นเหตุทั้งหมดบ้าง

ทั้งที่ข้อเท็จจริง คือ ผู้เสียชีวิตแต่ละศพไม่มีศพใดมีอาวุธ  บางศพเป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศ  6 ศพในวัดปทุมวนารามก็เป็นพยาบาลอาสา- เจ้าหน้าที่กู้ภัยถูกกระสุนที่ยิงจากบนรางบีทีเอส


นอกจากคดีพัน คำกอง กับลุงชาญณรงค์ พลศรีลา ที่ศาลชี้ว่าเสียชีวิตจากปืนทหารแล้ว ยังมีอีกกว่า 30 คดีในลักษณะเดียวกันรอการตัดสินอยู่ และไม่มีการจับกุมชายชุดดำได้เลย 

ไม่เท่านั้นนายอภิสิทธิ์ยังมีเจตนาเฉไฉออกนอกเรื่อง อ้างเลยเถิดไปถึงเรื่องการประท้วงการประชุมจี-20 ที่อังกฤษที่ก็มีบางคนเสียชีวิต  ทั้งที่ข้อเท็จจริงก็คือผู้ชุมนุมเสียชีวิต 1 รายเพราะหัวใจวาย ไม่ได้ตายเพราะโดนกระสุนปืนเจ้าหน้าที่

ในตอนท้ายนายอภิสิทธิ์ยังบอกด้วยว่า "ผมจะยอมรับ ไม่ว่าคำตัดสินจะออกมาอย่างไร แม้แต่จะเป็นคำตัดสินประหาร ผมก็จะยอมรับ และผมก็ขอให้อดีต นายกฯ และสมาชิกในรัฐบาลชุดนี้ปฏิบัติตามเช่นกัน" 

แบบว่าลากดึงพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร มาเกี่ยวข้อง  

คงต้องการสื่อว่าถ้าตนเองถูกลงโทษ พ.ต.ท. ทักษิณก็ต้องถูกลงโทษด้วย 
อะไรทำนองนั้น

ทั้งที่ข้อเท็จจริง คดีสั่งสลายม็อบจนมีการตาย 99 ศพมันคนละเรื่องกับคดีทุจริตซื้อที่ดินรัชดาฯ 

           ไม่เกี่ยวข้อง เอามาทดแทนกันไม่ได้  เป็นรายการสีข้างถลอกที่เผยแพร่ไปทั่วโลกจริงๆ

มาจากคำสั่งศาล


มาจากคำสั่งศาล
โดย วงค์ ตาวัน  คอลัมน์ ชกไม่มีมุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันพุธที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


ในจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่ ศอฉ.ใช้เจ้าหน้าที่ติดอาวุธจริงปราบม็อบปี 2553 ซึ่งมีถึง 99 ศพ ขณะนี้มีประมาณ 36 ศพ ที่สามารถรวบรวมพยานหลักฐานได้ครบถ้วน แล้วนำขึ้นไต่สวนในชั้นศาล   
เป็นสำนวนไต่สวนชันสูตรศพ เพื่อให้ศาลชี้ว่าใครทำให้ตาย

ทุกสำนวนต้องเบิกตัวพยาน เบิกพยานวัตถุ มาไต่สวนในศาล เป็นไปตามกระบวน การที่เป็นหลักเป็นฐาน ต่างจากกรณีนักการเมืองโทษโน่นนี่ในเหตุการณ์ ซึ่งแค่คำพูดไม่มีหลักฐาน 
จากนั้นศาลจะมีคำสั่งว่า ใครที่ทำให้ตาย  

ใน 36 สำนวนนี้ ศาลได้บทสรุปและมีคำสั่งออกมาแล้ว 2 ศพ คือ นายพัน คำกอง และนายชาญณรงค์ พลศรีลา  
โดยมีคำสั่งว่าตายด้วยปืนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการตามคำสั่งของศอฉ.  
เมื่อศาลชี้แล้ว อัยการจึงส่งสำนวนกลับมาให้ดีเอสไอ เพื่อทำเป็นคดีใหม่หาคนกระทำผิด  
การตั้งข้อหาต่ออภิสิทธิ์และสุเทพ มาจากขั้นตอนนี้  
มาจากสำนวนคดีนายพัน คำกอง ที่ศาลชี้แล้วและอัยการส่งกลับมาแล้ว  
ไม่ได้เกี่ยวกับข้ออ้างว่าทักษิณบีบให้ยอมร่วมนิรโทษกรรมอะไรเลย!?


นี่คดีพัน คำกอง คดีเดียว อีกไม่นานสำนวนชาญณรงค์ พลศรีลา ส่งกลับมาอีก ก็ต้องแจ้งข้อหากับคนทั้งสองอีก  
จะอ้างเรื่องการเมืองอะไรก็ตาม โปรดเคารพขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมบ้าง!  
ศาลเป็นผู้สั่งว่าตายเพราะเจ้าหน้าที่ศอฉ. จากนั้นดีเอสไอจึงมาทำเป็นคดีต่อ  
แล้วทักษิณมาบีบใครตอนไหนไม่ทราบ แทรกอยู่ช่วงไหนของในขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมนี้

ตอนที่มีคนตายใหม่ๆก็โทษชายชุดดำ  
แต่ในการไต่สวนชั้นศาลสำหรับ 2 คดีแรก ไม่มีใครพบชายชุดดำในที่เกิดเหตุเลย  
อีก 30 กว่าคดี แม้ยังไม่สรุป แต่จนบัดนี้ก็ไม่มีเลยที่มีพยานเห็นชายชุดดำอยู่ในจุดยิงคนตาย!  

ล่าสุดพอถึงขั้นตอนตั้งข้อหา ก็มาโยนว่าเป็นเกมการเมือง  
จะพูดอะไรก็พูดเถอะ แต่โปรดเคารพญาติพี่น้องของนายพัน คำกอง และนายชาญณรงค์ พลศรีลา ที่เขาไปนั่งฟังการเบิกความในศาลทุกนัดด้วยความสะเทือนใจ   
ว่าคนเหล่านี้ต้องตายด้วยปืนของรัฐ

ศาลเป็นผู้ชี้ว่าใครทำให้ตาย และพนักงานสอบสวนต้องตั้งข้อหาคนสั่งการ 
ก็ยังชุดดำชุดแม้วอยู่นั่นแหละ!  

แช่แข็งสยาม ยามแผ่นดินอาเพศ ยุคพระเพทราชา

แช่แข็งสยาม ยามแผ่นดินอาเพศ ยุคพระเพทราชา  
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์  คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1687 หน้า 76  


        ประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลางค่อนไปทางปลายนั้น มีสีสันขึ้นมาอย่างแรงตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงเปิดสยามต้อนรับนานาอารยประเทศ ทั้งแขก ฝรั่ง จีน ญี่ปุ่น ถือเป็นการผูกมิตรที่เกินขอบเขตในมุมมองของพระสหายสหชาติร่วมน้ำนมเดียวกัน นั่นคือ "พระเพทราชา" ผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากสมเด็จพระนารายณ์ ให้เป็น "ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" ในบั้นปลายพระชนม์ชีพขณะทรงพระประชวร

       เป็นโอกาสเหมาะที่นำมาซึ่งการก่อรัฐประหารยึดอำนาจ ประวัติศาสตร์หน้านี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันไม่รู้จบ 
มุมมองหนึ่ง มีผู้สนับสนุนแนวคิดนี้เต็มที่ ถึงกับขนานนามพระเพทราชาว่า "พระมหาบุรุษ" กลายเป็นนักบุญผู้ทรงศีลสุขุมล้ำลึก ต้องการปกปักพระศาสนา ช่วยกอบบ้านกู้เมืองให้พ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส  
พระเพทราชา จึงกลายเป็นพระเอกขี่ม้าขาว ในสายตาของนักการศึกษาด้านพุทธศาสน์และนักประวัติศาสตร์สายอนุรักษนิยม

แต่ทว่าอีกมุมหนึ่ง นักประวัติศาสตร์เชิงรัฐประศาสนศาสตร์ กลับมองว่าการสังหารโหดชาวต่างชาติ โดยเฉพาะฝรั่งเศส และการขับไล่ฝรั่งดั้งขอ ให้พ้นหูพ้นตานั้น นำไปสู่ "การแช่แข็งสยามประเทศ" อยู่ช่วงระยะหนึ่ง และต้องใช้เวลาอีกนานทีเดียว กว่าจะก้าวเดินให้ทันเพื่อนบ้านโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การค้า และการศึกษา นั้น เกิดจากวิสัยทัศน์ "ล้าหลังคลั่งชาติ" แท้เทียว

ชวนให้นึกถึงปรากฏการณ์ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2555 ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า ภายใต้การนำของ เสธ.อ้าย ที่ได้ปลุกระดมมวลชนจนเกิดกระบวนการฟื้นฟู "ลัทธิแช่แข็งสยาม" ให้หวนกลับมาคืนชีพอีกครั้ง


พระเพทราชา 
"พระเอก" หรือ "ผู้ร้าย"?

หากตอบคำถามดังกล่าวได้แล้ว หมายความว่าคำตอบที่เหลืออีกหนึ่ง ต้องกลายเป็นฉายาของพระนารายณ์กระนั้นหรือ?  
บางทีทั้งพระนารายณ์และพระเพทราชา ต่างก็ไม่มีใครเป็นพระเอกหรือผู้ร้ายแบบเบ็ดเสร็จ อาจเป็นเพียง "พระเอกในคราบผู้ร้าย" หรือ "ผู้ร้ายที่กลายเป็นพระเอก" ก็ได้

มูลเหตุแห่งการ "แช่แข็งสยาม" ยุคพระเพทราชาเมื่อขึ้นครองราชย์ โดยดำเนินการขับไล่ชาวฝรั่งเศส ออกนอกประเทศ และติดตามด้วยชาวอังกฤษ โปรตุเกส ฯลฯ นั้น อ้างว่าเกิดจากการที่ยุคพระนารายณ์ชอบคบค้ากับประชาคมต่างชาติมากเกินไป ทำให้ไทยต้องเสียดุล  

จริงหรือไม่ที่ไทยเกือบเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสยุคพระนารายณ์ ตามข้ออ้างที่นำไปสู่การรัฐประหารโดยพระเพทราชา

เหตุผลที่พระนารายณ์ดึงฝรั่งเศสเข้ามามีบทบาทสำคัญในราชสำนักอย่างมากมายนั้น สามารถจำแนกได้เป็นสามกรณีกว้างๆ คือ 
เหตุผลแรก เพื่อให้มาคานอำนาจกับ "วิลันดา" (ฮอลันดา) จอมก้าวร้าว ซึ่งเอะอะอะไรก็คอยจ้องจะเอาเรือรบมาปิดปากอ่าวไทยท่าเดียว มองมุมนี้เท่ากับว่าสยามต้องการ "มาเฟีย" รายใหม่ มาเป็นผู้คุ้มครองแทนมาเฟียรายเดิม  

เหตุผลถัดมา น่าจะเกิดจากวิสัยทัศน์กว้างไกลของพระองค์ที่ต้องการพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็นศิวิไลซ์ หนุนเนื่องมาจาก "พระราชนิยมเทศ" ไม่โปรดไทยของพระองค์ ฉะนั้น แผ่นดินอยุธยาจึงเกลื่อนกล่นไปด้วยประชาคมฝรั่ง แขก จีน ญี่ปุ่น  
และเหตุผลสุดท้ายยิ่งน่าคิด หรือว่าแท้จริงแล้วเกิดจากความไม่ปลอดภัย ไม่สามารถไว้วางใจคนไทย ด้วยเกรงว่าขุนนางบางคนอาจกลายมาเป็น "หอกข้างแคร่" เหตุเพราะพระองค์ก้าวมาสู่ราชบัลลังก์ด้วยการปราบดาภิเษกถึงสองครา


การสนิทสนมกับ "ฟอลคอน" ของพระองค์นั้น นอกจากจะใช้เป็น "เครื่องมือ" หรือ "สะพาน" สำหรับนำพาสยามไปรู้จักกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการยกระดับฐานะของสยามให้เป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีประเทศอภิมหาอำนาจที่สุดในโลกคือฝรั่งเศสเป็นพันธมิตรแล้ว

อีกโสดหนึ่ง ยังมุ่งหวังที่จะประกาศศักดานุภาพกดข่มศัตรูภายในราชสำนักที่มองไม่เห็นให้ขลาดกลัวต่อบารมีของพระองค์ โดยที่ทรงแสร้งไม่รับรู้ถึงความเจ็บปวดของพสกนิกรสยามอันหนุนเนื่องมาจากความอำเภอใจของฟอลคอน เช่น การจับพระสึกมาเป็นกรรมกรก่อสร้าง การรีดนาทาเร้นต่างๆ 
ในสายตาของพระองค์ทรงมองว่า "ผู้ชายพเนจรอย่างฟอลคอน" หาได้มีพิษภัยต่อราชบัลลังก์แต่อย่างใดไม่  
ทรงตรัสย้ำแก่ขุนนางให้รู้จักใช้ชายผู้นี้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ ดังเช่นทรงรำพึงว่า "เขาเป็นคนที่คนไทยไม่ควรกลัวเลย เพราะเขาไม่มีความจงรักภักดีต่อมาตุคาม ไม่มีชาติ ไม่มีศาสนา เขามีชีวิตอยู่เพื่อตัวของเขาเอง"

เมื่อฟอลคอนมีนโยบายต่อต้านอิทธิพลของฮอลันดาที่คุกคามสยาม เหตุเพราะเป็นคู่ปฏิปักษ์ทางการค้าของตัวเองด้วยเช่นกันแล้ว ฟอลคอนจึงยินดีที่จะเป็น "คนกลาง" ไปดึงเอามหาอำนาจฝรั่งเศสเข้ามาถ่วงดุล สนองความพอใจให้กับทั้งพระนารายณ์ ตนเองและพระเจ้าหลุยส์ที่ 14

ข้างฝ่ายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ผู้มี "ปม" ด้วยรูปร่างเตี้ย ต้องคอยเดินยกไหล่ตลอดเวลา มีความต้องการเป็นประมุขทั้งฝ่ายราชอาณาจักรและศาสนจักรอย่างแรงกล้า จึงยึดกฎเหล็กสามประการในการแผ่แสนยานุภาพทั่วโลก  
นั่นคือ "Une Fois Une Loi Un Roi!" (อ่านว่า อูนฟัว อูนลัว เอิงรัว) แปลว่า "ศรัทธาหนึ่งเดียว กฎหมายหนึ่งเดียว ภายใต้กษัตริย์องค์เดียว" 

พระองค์ไม่เพียงแต่ดูถูกคนนอกศาสนา แม้แต่ชาวคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ก็ยังถูกปราบเสียราบคาบมาแล้วในฝรั่งเศส พระองค์กำลังเล็งหาประเทศใดประเทศหนึ่งในเอเชียที่สามารถบีบบังคับให้กษัตริย์นับถือคาทอลิกได้ เพื่อใช้เป็นใบเบิกทางไปสู่การเขมือบชาติอื่นๆ ในละแวกใกล้เคียง 
จึงอ้าแขนรับฟอลคอน (ผ่านทางราชทูตและบาทหลวงต่างๆ) ให้เกลี้ยกล่อมเจ้าชีวิตแห่งสยามให้ละทิ้ง "ความเชื่ออันถือว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ" แล้วเข้ารีตมาเป็น "ปฐมบุตรแห่งพระศาสดา"


"ฟอลคอน" นอกจากพระเพทราชาจะมองว่าเป็น "ชายสามโบสถ์" แล้ว (เดิมบวชในนิกายกรีกออร์โธดอกซ์กรีก ต่อมาโอนสัญชาติเป็นอังกฤษ เข้านิกายโปรเตสแตนต์ และสุดท้ายเข้ารีตเป็นคาทอลิก) ยังเป็นนกสองหัว ประจบประแจงพระนารายณ์ทุกวิถีทางเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ จนกลายเป็นอภิมหาเศรษฐีที่ล่ำซำที่สุดในราชอาณาจักรสยาม   
เขาได้รับอภิสิทธิ์ในทุกๆ ด้านอย่างไม่มีข้อยกเว้น  
ฟอลคอนฉลาดพอที่จะเล่นเกมกับพระนารายณ์ โดยไม่เร่งร้อนบีบบังคับให้พระองค์เข้ารีต

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ฟอลคอนกลับขันอาสาพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ว่าจะหาทางทำทุกอย่างให้พระนารายณ์เปลี่ยนใจมาเป็นคาทอลิกให้จงได้ ทั้งๆ ที่พระนารายณ์ได้ทรงประกาศ (วรรคทอง) แก่ราชทูตและบาทหลวงชาวฝรั่งเศสไปแล้วอย่างชัดแจ้งว่า  
"การที่พระเจ้าสร้างมนุษย์ให้มีความแตกต่างหลากหลายทั้งทางเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ และศาสนานั้น นั่นย่อมแสดงว่าพระองค์ไม่ต้องการให้โลกมีเพียงศาสนาเดียว!" 

ก่อนที่วังวนแห่งการชักเย่อจะจบเกม จู่ๆ พระเพทราชาก็เข้ามาเป็นตัวเร้าหรือเป็นผู้ตัดบ่วงบาศนั้นลงเสีย ทั้งพระนารายณ์ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และฟอลคอน จึงต่างก็ฝันสลายลงตามๆ กัน

ในปี พ.ศ.2231จากการประโคมข่าวว่าพระนารายณ์ "ขายชาติ" และ "ฟอลคอน" คือ "ทรราช" อย่างต่อเนื่อง  
เปิดช่องให้พระเพทราชากลายเป็นศูนย์กลางของการต่อต้านอิทธิพลของคริสต์ศาสนาและฝรั่งเศส

คณะรัฐประหารนำโดยพระเพทราชาและออกญาสรศักดิ์ ได้กำจัดผู้มีสิทธิสืบราชสมบัติ 3 ราย คือพระอนุชา 2 องค์ของพระนารายณ์ ได้แก่พระเจ้าอภัยทศ กับเจ้าฟ้าน้อย รวมทั้งโอรสบุญธรรมหัวแก้วหัวแหวน "พระปีย์"  
มีพระสงฆ์จำนวนหนึ่งที่ไม่พอใจบาทหลวงคริสต์ศาสนาเข้าร่วมสนับสนุนการก่อรัฐประหาร รวมทั้งกองกำลังทหารฮอลันดาอาสา  

การก่อรัฐประหารเกิดขึ้นระหว่างพระนารายณ์ทรงพระชวรหนัก และสวรรคตหลังการก่อรัฐประหารนองเลือดปิดฉากลงแล้ว  
บรรดาข้าราชการนำโดยออกญาสรศักดิ์หรือพระเจ้าเสือ เป็นผู้ผลักดันอัญเชิญพระเพทราชาขึ้นครองราชย์ ในปี พ.ศ.2232 เมื่อมีพระชนมายุได้ 56 พรรษา และสถาปนาราชวงศ์ใหม่ คือราชวงศ์บ้านพลูหลวง ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระมหาบุรุษวิสุทธิเดชอุดม

เมื่อพระเพทราชาขึ้นครองราชย์แล้ว ก็ได้ขับไล่กองกำลังทหารฝรั่งเศสออกไปจากกรุงศรีอยุธยา ตัดเป็นตัดตายกับฝรั่งเศสเป็นชาติแรก ความสัมพันธ์ขาดสะบั้นลงตั้งแต่นั้นมา ติดตามด้วยชาวอังกฤษ  
ส่วนญี่ปุ่น โปรตุเกส นั้น หมดบทบาทมาตั้งแต่ยุคต้นสมเด็จพระนารายณ์แล้ว ฝรั่งชาติเดียวที่อยู่ต่อไปได้ก็คือ ฮอลันดา ในฐานะที่ช่วยพระเพทราชากำจัดฝรั่งเศส

แนวความคิดที่มองชาวตะวันตกว่าเป็นยักษ์เป็นมาร เป็นผู้ร้าย ปรากฏอยู่ในภาพจิตรกรรมฝาผนังตอนพระพุทธเจ้าปราบมารผจญ ในตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธสวรรย์ อยุธยา ซึ่งวาดในสมัยพระเพทราชา  
อันเป็นหลักฐานสะท้อนถึง การเป็นคนหัวโบราณขวาจัด รังเกียจเดียดฉันท์ชาวต่างชาติอย่างรุนแรง ไม่ต่างจากขบวนการนาซีที่ปลูกฝังคน "สายเลือดอารยัน" ให้มอง "ยิว" เป็นตัวหนอนเชื้อโรค

การพลิกบทบาทของ "พระเอก" ให้เป็น "ผู้ร้าย" และ "ผู้ร้าย" ให้เป็น "พระเอก" ระหว่างพระนารายณ์กับพระเพทราชานี้ ขึ้นอยู่กับการตีความว่าจะเอาเหตุการณ์ดังกล่าวมารับใช้ประวัติศาสตร์ลัทธิใด   
หากพระนารายณ์ "ขายชาติ" จริงตามข้ออ้างของพระเพทราชา ไฉนจึงถวายราชสมัญญานาม "มหาราช" ถวายแด่พระองค์เล่า

ถามว่า เมื่อพระเพทราชาแช่แข็งประเทศแล้ว เป็นการช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งทั้งภายในและภายนอกประเทศได้หรือไม่

คำตอบ คือ ได้เกิดกบฏขึ้นมากมายตามเมืองต่างๆ หลายแห่ง เช่น กบฏธรรมเถียร มีชาวมอญคนหนึ่งปลอมตัวเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศ ป่าวประกาศแก่คนทั้งหลายว่า เจ้าฟ้าอภัยทศยังไม่ตายจะกอบกู้เอาราชบัลลังก์คืน จึงมีคนเข้าร่วมด้วยเป็นอันมาก 
นอกจากนี้ยังมี กบฏพระยายมราช เจ้าเมืองนครราชสีมา และ กบฏพระยานคร เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งต่างจงรักภักดีต่อสมเด็จพระนารายณ์ ไม่ยอมรับพระเพทราชาเป็นกษัตริย์ สุดท้ายกบฏต่างๆ เหล่านี้แม้จะถูกปราบลงได้ แต่ภาพลักษณ์ของสยามในสายตาต่างชาติก็เสียหาย และทำให้การค้าขายกับต่างประเทศสะดุดหยุดลง

ตลอดรัชกาลของพระเพทราชา เต็มไปด้วยความระแวงระวังว่าขุนนางจะทำการกบฏ จึงได้สั่งลงโทษประหาร เฆี่ยนโบย ลงขื่อคาผู้ขัดคำสั่งแม้เล็กน้อยไม่เว้นวัน  
จะว่าไปแล้ว ทั้งพระนารายณ์และพระเพทราชาต่างก็ขึ้นมาสู่ราชบัลลังก์ด้วยการปราบดาภิเษกทั้งคู่ แต่พระนารายณ์เอาความหวาดระแวงนั้นมาแปรเป็นพลังสร้างความเจริญให้แก่ชาติบ้านเมือง   
ในขณะที่พระเพทราชากลับเอาความเกลียดชังมาแช่แข็งประเทศ

มีเกร็ดเล่าว่า พระเพทราชาเสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.2246 พระชนมายุได้ 71 พรรษา ครองราชย์ได้ 15 ปี ก่อนหน้านั้นทรงอยากเสวยน้ำเต้าหู้ ใช้เด็กไปซื้อมาจากหน้าตลาดวังน้อย ทรงดื่มด้วยความรวดเร็ว ทำให้เม็ดลูกเดือยที่อยู่ในน้ำเต้าหู้ไปจุกพระหลอดลมจนทำให้เกิดเหตุสิ้นพระชนม์  
ในเวลาต่อมา หลังจากนั้นทางการอยุธยาได้มีคำสั่งให้ประชาชนและเหล่าไพร่ งดขายน้ำเต้าหู้ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

เมื่อเจ้าทฤษฎีในอดีตจบชีวิตด้วยเม็ดลูกเดือย  

เจ้าลัทธิแช่แข็งสยามยุคใหม่จบชีวิตด้วยมะละกอ 3 ลูกบนเวทีองค์การพิทักษ์สยาม

ขณะที่รัฐบาลกำลังละล้าละลังไม่กล้าโหวตผ่านรัฐธรรมนูญวาระ 3 และหวาดกลัวที่จะลงสัตยาบันกับ ICC

สยามประเทศก็ยังไม่พ้นผ่าน 300 ปี แห่งความหนาวยะเยือกจากการแช่แข็ง

อีกมุมหนึ่งของแก้หรือไม่แก้ รธน.


นิธิ เอียวศรีวงศ์ : อีกมุมหนึ่งของแก้หรือไม่แก้ รธน.
ในมติชน ออนไลน์  วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เวลา 11:29:06 น. 
( ที่มา บทความกระแสทรรศน์ นสพ.มติชน รายวัน 17 ธันวาคม 2555 ) 


          ความขัดแย้งเรื่องแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญนั้นมีหลายมิติ ที่พูดกันมากคือมิติด้านกฎหมาย และหลักการประชาธิปไตย และถึงจะทำโพลอีกกี่ครั้ง ผมเชื่อว่าคะแนนของสองฝ่ายก็ยังสูสีกันไปอีกนาน 
          คิดดูก็น่าประหลาดนะครับ เหตุใดรัฐธรรมนูญที่ได้รับเสียงประชามติไม่ถึงกับท่วมท้น ซ้ำยังก่อให้เกิดความตึงเครียดทางการเมืองอย่างไม่เคยมีมาก่อนเช่นนี้ จึงสร้างความผูกพันกับผู้คนได้มากถึงเพียงนี้  
          ผมคิดว่า หากเรามองความขัดแย้งนี้ให้พ้นออกไปจากมิติทางกฎหมาย, หลักการประชาธิปไตย และทักษิณ 
          แต่มองจากอีกมิติหนึ่ง คือเรื่องของดุลแห่งอำนาจในการเมืองไทย บางทีเราอาจเข้าใจความขัดแย้ง, โพล และความยึดติดกับรัฐธรรมนูญ ปี 50 ได้ดีกว่า

กลุ่มพลังที่มีความสำคัญทางการเมืองไทยนั้นแบ่งออกได้เป็น 6 กลุ่ม คือ 

1.ขุนนางและทหาร 
2.นักธุรกิจในมหานครและเทคโนแครต 
3.นักธุรกิจหัวเมือง 
4.คนงานคอปกขาว 
5.แรงงาน และ 
6.คนชั้นกลางระดับล่าง (ปรับปรุงจากข้อเขียนของอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร และอาจารย์คริส เบเคอร์, Power in Transition, Thailand in the 1990s) 

        ดุลแห่งอำนาจของคนหกกลุ่มนี้ไม่ได้อยู่คงที่ เมื่อกลุ่มหนึ่งสะสมอำนาจได้เพิ่มขึ้น ก็เป็นผลให้คนอีกกลุ่มหนึ่งสูญเสียอำนาจที่เคยมีไป แล้วต่อมาก็อาจช่วงชิงกลับคืนมาได้ใหม่         ยิ่งกว่านี้ยังอาจมีกลุ่มพลังใหม่เกิดขึ้น เข้ามาร่วมช่วงชิงอำนาจกับกลุ่มอื่นๆ ซึ่งทำให้ดุลแห่งอำนาจทางการเมืองของไทยต้องปรับเปลี่ยนตลอดเวลา

         ช่วงชิงอำนาจไม่ได้หมายความเพียงการลากอาวุธออกมายิงกัน (นั่นก็เป็นวิธีหนึ่ง) แต่มีพื้นที่ของการช่วงชิงอำนาจหลายพื้นที่ เพิ่งผ่านการถวายพวงมาลาแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 10 ไปหยกๆ นั่นก็เป็นพื้นที่ของการช่วงชิงอำนาจทางวัฒนธรรมในวันรัฐธรรมนูญอย่างหนึ่ง ทำรัฐประหารก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งเป็นเวทีค่อนข้างปิด เพราะขุนนางและทหารจับจองไปมาก เปิดให้นักธุรกิจทั้งในมหานครและหัวเมืองเข้าร่วมด้วยได้ในฐานะผู้สนับสนุน การยึดมัฆวาน, ทำเนียบ, สนามบิน และราชประสงค์ ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งของการช่วงชิงอำนาจ

          และที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเราโดยตรงคือรัฐธรรมนูญ ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งมีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลัง 14 ตุลาเป็นต้นมา อันเป็นผลให้การทำรัฐประหารต้องเปิดกว้างแก่คนกลุ่มอื่นๆ มากกว่ากลุ่มขุนนางและทหาร

          รัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับเป็นความพยายามจะจัดสรรดุลแห่งอำนาจระหว่างกลุ่มพลังต่างๆ ที่เก็งกันว่า จะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่าง "ลงตัว" 
          รัฐธรรมนูญไทยไม่ใช่เอกสารประกันสิทธิเสรีภาพของพลเมือง หรือเอกสารที่จำกัดอำนาจรัฐไว้ในระดับที่ไม่อาจล่วงละเมิดเสรีภาพพื้นฐานได้ ดังนั้น จึงไม่มีหลักการอะไร (นอกจากในฐานะเครื่องประดับ) ที่จะต้องยึดถือเป็นการถาวร แต่ดังที่กล่าวแล้วว่าดุลแห่งอำนาจทางการเมืองย่อมไม่หยุดนิ่งกับที่ ในขณะที่รัฐธรรมนูญไปสมมุติว่าดุลแห่งอำนาจต้องอยู่คงที่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง การปรับดุลแห่งอำนาจอย่างเป็นทางการ (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการช่วงชิงอำนาจดังที่กล่าวแล้ว) จึงเป็นผลให้ต้องฉีกรัฐธรรมนุญทุกครั้งไป  
          แต่ฉีกแล้วก็ต้องร่างขึ้นใหม่ โดยมีสมมติฐานเดิมว่า จะจัดสรรอำนาจระหว่างกลุ่มพลังต่างๆ ให้ลงตัวอย่างถาวรตลอดไป อันเป็นสมมติฐานที่ขัดกับความเป็นจริง ภายใต้รัฐธรรมนูญที่หวังว่าจะ "ลงตัว" นั้น กลุ่มพลังต่างๆ ช่วงชิงอำนาจกันผ่านกลไกที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งดุลอำนาจกำลังจะเปลี่ยนไป กระทบต่อกลุ่มอื่นๆ ก็รวมหัวกันยึดอำนาจและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่คิดว่าจะ "ลงตัว" มากกว่า

          ผมคิดว่ากลุ่มพลังที่อ่อนไหวต่อความเปลี่ยนแปลงดุลแห่งอำนาจที่เกิดขึ้นจริงในสังคมมากที่สุดคือ กลุ่มขุนนาง-ทหาร บางครั้งก็ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มพลังอื่นซึ่งไม่พอใจแนวโน้มของความเปลี่ยนแปลงที่ปรากฏในดุลแห่งอำนาจใหม่   
          แนวโน้มอันหนึ่งซึ่งกระเทือนต่อดุลอำนาจอย่างมากสืบมาหลายทศวรรษแล้ว คือการเติบโตของกลุ่มพลังนักธุรกิจหัวเมือง ในระบบเลือกตั้ง คนกลุ่มนี้อาศัยสถานะของตนเองในท้องถิ่นเข้าไปถืออำนาจในสภา ซึ่งเป็นต้นทางที่จะได้ตำแหน่งบริหารใน ครม.ด้วย โดยทางกฎหมายคือ ผู้บังคับบัญชาของกลุ่มพลังขุนนาง-ทหารนั่นเอง ปล่อยไว้นาน คนกลุ่มนี้เข้ามาสลายอำนาจของกลุ่มขุนนาง-ทหารได้ เช่น โยกย้ายข้าราชการ หรือวางนโยบายสาธารณะที่ขัดผลประโยชน์ของกลุ่มขุนนาง-ทหาร
          ตราบเท่าที่กลุ่มขุนนาง-ทหาร สามารถวางตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เอง และนายกฯคนนั้นมีความสามารถและบารมีเพียงพอที่จะถ่วงดุลนักธุรกิจหัวเมืองในพรรคต่างๆ กับระบบบริหารของขุนนาง-ทหารได้ (เช่น พลเอก เปรม ติณสูลานนท์) ก็ถือว่าส่วนแบ่งอำนาจของขุนนาง-ทหารยังมีความปลอดภัยอยู่ แต่เมื่อนายกฯ เช่นนั้นพ้นจากตำแหน่ง ซ้ำยังถูกแทนที่ด้วยหัวหน้าพรรคการเมืองที่รวมนักธุรกิจหัวเมืองไว้มากสุดเช่นพรรคชาติไทย ผลก็คือ รสช.ใน พ.ศ.2534

         อันที่จริงนอกจากกลุ่มพลังขุนนาง-ทหารแล้ว กลุ่มพลังนักธุรกิจมหานครก็ไม่พอใจต่อการเติบใหญ่ทางการเมืองของนักธุรกิจหัวเมืองนัก
         บางส่วนเข้าไปหนุน รสช.มาแต่ต้น แต่อีกบางส่วนก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ค่าต๋งภายใต้เผด็จการทหารจะคุ้มทุนกว่าหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ความไร้เดียงสาทางการเมืองของรุ่น 5 ทำให้ รสช.พังสลายลงในปีเดียวที่ได้อำนาจ
         กลุ่มพลังคนงานคอปกขาวก็เป็นอีกกลุ่มที่ลังเลกับ รสช. ในแง่หนึ่งขจัดการทุจริตของนักการเมืองที่เป็นนักธุรกิจหัวเมืองเสียก็ดี แต่ในอีกแง่หนึ่ง เผด็จการทหารอาจทำลายเสรีภาพของสื่อซึ่งตัวใช้เป็นเครื่องมือต่อรองอำนาจได้
          ความพ่ายแพ้อย่างหมดรูปของ รสช. ทำให้กลุ่มพลังขุนนาง-ทหารต้องปล่อยให้พรรคการเมืองซึ่งเต็มไปด้วยนักธุรกิจหัวเมืองได้ถือส่วนแบ่งอำนาจสูงสุด จาก 2535-40 โอกาสที่ทหารจะทำรัฐประหารไม่มีเลย อย่างไรก็ตาม การตอบโต้ของกลุ่มพลังอื่นๆ ที่สูญเสียส่วนแบ่งอำนาจให้แก่นักธุรกิจหัวเมืองในช่วงนี้นั้นน่าสนใจ เพราะมีสภาวการณ์บางอย่างที่คล้ายกับในตอนนี้ การต่อต้านอำนาจของนักธุรกิจหัวเมืองออกมาในรูปของความร่วมมือกันระหว่างกลุ่มพลังที่เหลือทั้งหมด เพื่อผลักดันให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นั่นคือรัฐธรรมนูญ 2540 
         อาจกล่าวได้ว่า รัฐธรรมนูญ2540ฉบับนี้รวบรวมจินตนาการทางการเมืองกลุ่มพลังอีก 5 กลุ่มไว้ได้มากที่สุด (อาจเป็นเพราะกระบวนการร่างคือเลือกตั้ง ส.ส.ร.) นั่นคือที่มาของสมญา "ฉบับประชาชน" (หากไม่รวมนักธุรกิจหัวเมืองไว้ด้วย) 

          ผมคิดว่าเป้าหมายที่ไม่เปล่งออกมาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ การถ่วงดุลอำนาจของนักการเมืองที่มาจากธุรกิจหัวเมือง แม้ไม่ปฏิเสธที่นักธุรกิจหัวเมืองต้องมีส่วนแบ่งในฝ่ายบริหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็มีกลไกที่ถ่วงอำนาจของฝ่ายบริหารหลายอย่าง นับตั้งแต่วุฒิสภาซึ่งมาจากเขตเลือกตั้งที่ใหญ่มาก, องค์กรอิสระ, ประชาพิจารณ์, สิทธิชุมชน, เสรีภาพของสื่อ, ฯลฯ ทุกกลุ่มพลังได้รับการติดอาวุธในการป้องกันผลประโยชน์ของตนจากกลไกเหล่านี้   
          ผู้นำของฝ่ายบริหารในความหวังของกลุ่มพลังต่างๆ น่าจะเป็นคนที่มาจากขุนนาง-ทหาร, นักธุรกิจมหานคร, เทคโนแครต หรือคนที่กลุ่มเหล่านี้พอรับได้ แต่ในที่สุดคนที่โผล่เข้ามาคือ ทักษิณ ชินวัตร ซ้ำเป็นนายกฯ ที่มี ส.ส.ในสังกัดเกือบครึ่งของสภาผู้แทนฯ ด้วย (ผมอยากเดาว่าการเกิดพรรคใหญ่ในเวลารวดเร็วเช่นนี้เกินความคาดหมายของผู้สนับสนุนรัฐธรรมนูญด้วย)

         ทักษิณ ชินวัตร ไม่ใช่บุคคลที่ผิดจากความคาดหมายทีเดียวนัก เพราะเขาคือคนจากกลุ่มนักธุรกิจมหานครนั่นเอง แต่พรรค ทรท.ไม่ใช่พรรคของนักธุรกิจมหานคร (แม้ได้เงินอุดหนุนจากกลุ่มนี้ด้วย) แต่ประกอบด้วยก๊วนต่างๆ ของนักธุรกิจหัวเมืองนั่นเอง ทรท.ยิ่งเติบโตไปในทางเป็นพรรคของนักธุรกิจหัวเมืองเด่นชัดขึ้น เมื่อควบรวมพรรคอื่นๆ เข้าร่วมมากขึ้น  

         6 ปีของทักษิณสร้างศัตรูไว้มาก จากกลุ่มขุนนาง-ทหาร, บางส่วนของกลุ่มนักธุรกิจมหานครและเทคโนแครต, กลุ่มคอปกขาวซึ่งสูญเสียอำนาจต่อรองทางการเมืองไปมาก, บางส่วนของแรงงานในเมืองซึ่งถูกเขาคุกคามด้วยการขายรัฐวิสาหกิจให้เอกชน แต่เขาได้มิตรจำนวนมหึมาจากกลุ่มคนชั้นกลางระดับล่าง บางส่วนอาจอยู่ในกลุ่มแรงงาน (คอปกน้ำเงิน), ในภาคการเกษตร, ในภาคธุรกิจส่วนตัวระดับย่อยๆ ฯลฯ 
         รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 คือการรวมหัวของศัตรูทักษิณซึ่งมองไม่เห็นทางออกภายใต้รัฐธรรมนูญ 40 ได้อย่างไร แน่นอนโดยมีกลุ่มขุนนาง-ทหารเป็นแกนนำ

         รัฐธรรมนูญปี 50 คือความพยายามใหม่อีกครั้งหนึ่งที่จะสร้างกลไกถ่วงดุลอำนาจของนักธุรกิจหัวเมืองไว้ในรัฐธรรมนูญ ครั้งนี้จึงทำความแน่ใจว่า องค์กรและกระบวนการถ่วงดุลที่สร้างไว้ในรัฐธรรมนูญ 40 จะต้องอยู่ในความควบคุมของฝ่ายขุนนาง-ทหาร หลายองค์กรไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชน แต่ไปผูกไว้กับฝ่ายขุนนางตุลาการ วุฒิสภาต้องถูกถ่วงดุลด้วยสมาชิกที่กลุ่มขุนนางทหาร และกลุ่มธุรกิจมหานคร-เทคโนแครต รวมทั้งคนงานคอปกขาวเลือกสรรเข้าไป สิทธิในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มพลังอื่นๆ ยังคงมีอยู่ หรือขยายมากขึ้นในบางกรณี 

         นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายที่ออกสมัยรัฐบาลรัฐประหาร ที่ป้องกันมิให้อำนาจของนักการเมืองล่วงล้ำมาถึงกองทัพได้ ดังนั้น แม้ว่ารัฐบาลอาจมาจากการหนุนของธุรกิจหัวเมือง (เช่นพรรคเพื่อไทย) ก็ไม่อาจขยับอะไรได้สะดวกนัก  
         เป็นดุลแห่งอำนาจทางการเมืองที่กันมิให้ฝ่ายใดขยับอะไรได้มากนัก ไม่ว่าในทางที่ดี หรือทางที่เลว กลุ่มพลังต่างๆ ปกป้องผลประโยชน์ของตนได้พอสมควร แต่จะผลักดันอะไรที่สร้างสรรค์เชิงปฏิรูปไม่ได้เลย กองทัพไม่อยู่ในฐานะที่จะทำรัฐประหารได้อีก อย่างน้อยในอนาคตที่พอจะมองเห็นได้ ทำให้การเมืองมีเสถียรภาพ แต่ก็เป็นเสถียรภาพที่ไม่นำไปสู่อะไร


          อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มพลังสามกลุ่มที่ไม่ได้รับประโยชน์จากดุลแห่งอำนาจของรัฐธรรมนูญ2550ฉบับนี้คือ แรงงานในเมือง, คนชั้นกลางระดับล่าง และกลุ่มนักธุรกิจหัวเมือง (ที่จริงกลุ่มนี้ก็ได้ประโยชน์ แต่ได้ไม่เต็มที่)

          การต่อสู้เพื่อแก้ หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญในช่วงนี้ คือการต่อสู้ที่จะจัดวางโครงสร้างอำนาจระหว่างกลุ่มพลังทั้งหกนี้ ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า จัดวางโครงสร้างดังที่เป็นอยู่นี้คือจุดสมดุลที่เป็นไปได้ที่สุดแก่สังคมไทย อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าต้องปรับเปลี่ยนใหม่เพื่อลดอำนาจของฝ่ายอื่นลง เพื่อเปิดพื้นที่ให้กลุ่มของตนได้มีอำนาจเพิ่มขึ้น จึงจะเป็นดุลแห่งอำนาจที่เหมาะสมแก่ประเทศ (ดังนั้นถึงทำโพลอีก ก็จะได้คะแนนสูสีกันเช่นนี้)

          ที่พูดทั้งหมดนี้ ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เรียกว่า "อุดมการณ์" ไม่มีความสำคัญเสียเลย "อุดมการณ์" มีความสำคัญแน่ และมีอย่างน้อยสองลักษณะคือ หนึ่งเป็นแรงผลักดันให้คนร่วมรณรงค์ให้แก้ หรือไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญ

         และสอง เป็นข้ออ้างเพื่อบดบังเป้าหมายที่แท้จริงของตนเองไม่ให้ดูน่าเกลียดเกินไป 

ไล่เรียงคำสั่งศาล ตายด้วยฝีมือเจ้าหน้าที่ อีกมากมายคดีข้างหน้า


ไล่เรียงคำสั่งศาล ตายด้วยฝีมือเจ้าหน้าที่ อีกมากมายคดีข้างหน้า
ภาพจากมติชน17 ธ.ค. 2555

        ศาลอาญากรุงเทพใต้อ่านคำสั่งในคดีไต่สวนสาเหตุการเสียชีวิตของผู้อยู่ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองปี 2553 เป็นคดีที่ 3 ว่า

        "ศาลจึงมีคำสั่งว่าผู้ตายคือนายชาติชาย ชาเหลา ถึงแก่ความตายที่ รพ.จุฬาฯ ถ.พระราม 4 เขตปทุมวัน กทม. เมื่อวันที่ 13 พ.ค.2553 เวลา 23.37 น.

         "โดยเหตุและพฤติการณ์การตายสืบเนื่องมาจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) เป็นเหตุให้สมองฉีกขาดร่วมกับกะโหลกศีรษะแตกอย่างมาก

         "วิถีกระสุนปืนมาจากแนวด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงาน ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ถ.พระราม 4 โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ"

ย้อนกลับไปถึงคดีแรกในกรณีคล้ายคลึงกัน

         17 ก.ย.2555 ศาลอาญาอ่านคำสั่งในคดีไต่สวนสาเหตุการเสียชีวิตของผู้อยู่ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองปี 2553 ว่า

          "จึงมีคำสั่งว่าผู้ตายชื่อนายพัน คำกอง ตายที่หน้าสำนักงานขายคอนโดมีเนียมชื่อไอดีโอคอนโด ถนนราชปรารภ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง

         "เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย เกิดจากการถูกลูกกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) จากอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงคราม ที่เจ้าพนักงานทหารร่วมกันยิงไปที่รถยนต์ตู้หมายเลขทะเบียน ฮค 8561 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีนายสมร ไหมทอง เป็นผู้ขับ แล้วลูกกระสุนปืนไปถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย

          "ในขณะเจ้าพนักงานทหารกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบปิดล้อมพื้นที่ควบคุมตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)"

ก่อนจะมาถึงคดีที่ 2

26 พ.ย.2555 ศาลอาญาอ่านคำสั่งว่า

          "อาศัยเหตุผลดังที่ได้วินิจฉัยมาดังกล่าวขั้นต้น จึงมีคำสั่งว่าผู้ตายคือนายชาญณรงค์ พลศรีลา ตายที่ รพ.พญาไท 1 แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2553 เวลาประมาณ 14.00 น.

          "เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือถูกทหารที่มาปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของ ศอฉ. ในการดำเนินการตามมาตรการปิดล้อม และสกัดกั้นกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อขอคืนพื้นที่และผิวการจราจรบริเวณถนนราชปรารภ ยิงด้วยอาวุธปืนความเร็วสูง ขนาด .223 หรือ 5.56 มม.

          "หัวกระสุนปืนลูกโดดถูกที่บริเวณหน้าท้องและแขนขวา เป็นเหตุให้ลำไส้เล็กฉีกขาดหลายตำแหน่ง"

19 ธ.ค.2555

            คณะพนักงานสอบสวนในส่วนของตำรวจกับดีเอสไอนัดประชุมตรวจสอบสำนวนคดีที่มีประชาชนถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัสในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง 2553 ประมาณ 1,500 ราย ซึ่งมีการสอบปากคำไว้หมดแล้ว

           แต่จะไม่มีการลงมติแจ้งข้อกล่าวหาคดีพยายามฆ่าแก่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีตผู้อำนวยการ ศอฉ.

           เนื่องจากยังต้องรอการหารือร่วมกับพนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ ที่ร่วมเป็นพนักงานสอบสวนในคดี

           โดยคดีพยายามฆ่าที่จะนำขึ้นมาพิจารณาเป็นสำนวนแรก คือคดีนายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่ยิงบาดเจ็บสาหัสในเหตุการณ์เดียวกันที่นายพัน คำกอง เสียชีวิต

20 ธ.ค.2555

เวลา 09.00 น.

            ศาลอาญานัดฟังคำสั่งผลไต่สวนชันสูตรศพ ด.ช.คุณากร หรืออีซา ศรีสุวรรณ อายุ 14 ปี ซึ่งถูกยิงที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ หน้าโรงภาพยนตร์โอเอ ถนนราชปรารภ เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2553 ในเหตุการณ์เดียวกับนายพัน คำกอง

           เป็นคดีที่ 4 ซึ่งศาลจะมีคำสั่งต่อจากคดีนายพัน นายชาญณรงค์ และนายชาติชาย

           ที่ศาลมีคำสั่งแล้วว่าเสียชีวิตจากกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง ศอฉ.

           ในจำนวนคดีผู้เสียชีวิตที่พนักงานสอบสวนระบุในเบื้องต้นว่าอาจจะเสียชีวิตจากกระสุนของเจ้าหน้าที่

            รวมกันแล้วทั้งสิ้น 36 คดี

            และคดีผู้ได้รับบาดเจ็บที่เข้าข่ายพยายามฆ่าอีก 1,500 คดี

           ต้องมีผู้รับผิดชอบ

          ต้องมีคำตอบกับสังคม 

---------------------------------------------------------

Source : http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1355973971&grpid&catid=01&subcatid=0100

ไม่มีชายชุดดำฆ่า มีแต่ชายชุดพราง