วันอังคารที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ตร.ออกหมายเรียก 5 นักวิชาการ-น.ศ. ฝืนคำสั่งชุมนุมทางการเมือง ปมกิจกรรมในงานไทยศึกษา




Published on Tue, 2017-08-15 13:05


        ตำรวจ สภ.ช้างเผือก เชียงใหม่ ออกหมายเรียก 5 นักวิชาการ-น.ศ. ฝืนคำสั่งชุมนุมทางการเมือง ปมกิจกรรมชูป้ายข้อความว่า “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ในงานไทยศึกษา




       15 ส.ค. 2560 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายเรียกนักวิชาการและนักศึกษา 5 คน ประกอบด้วย 
  • ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และยังเป็นประธานกรรมการและประธานฝ่ายวิชาการจัดงานประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 ที่ จ.เชียงใหม่เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เป็นผู้ต้องหาที่ 1 กับพวกคือ 
  • ธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโท คณะการสื่อสารมวลชน มช. และยังเป็นบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม, 
  • ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ, 
  • ชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มช. และ
  • นลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรีคณะการสื่อสารมวลชน มช. 
       ซึ่งเป็นหมายเรียกจากสถานีตำรวจภูธรช้างเผือก ลงวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 เรื่องการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย จากกรณีเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในการประชุมวิชาการไทยศึกษาเมื่อเดือนที่ผ่านมา

       หมายเรียกระบุชื่อผู้กล่าวหาได้แก่ พ.อ.สืบสกุล บัวระวงศ์ รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ และรองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 ได้มอบอำนาจให้ ร.ท.เอกภณ แก้วศิริ มาเป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ โดยมี ร.ต.อ.ณัฐวัฒน์ เขื่อนแก้ว รองสารวัตรสอบสวนสถานีตำรวจภูธรช้างเผือกเป็นผู้ออกหมายเรียก หมายเรียกระบุให้ผู้ต้องหาเข้าพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 23 ส.ค.นี้ แต่มีการแก้วันนัดเข้าพบด้วยปากกาใหม่เป็นวันที่ 15 ส.ค. 2560 เวลา 10.00 น.

       ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานด้วยว่า เบื้องต้นในวันนี้ (15 ส.ค.60) ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ได้เข้ายื่นหนังสือขอเลื่อนวันเข้านัดรับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวนออกไป เนื่องจากหมายเรียกดังกล่าวได้กำหนดวันนัดอย่างกระชั้นชิด และ ธีรมล ยังติดภารกิจในวันนี้ ขณะที่ผู้ต้องหารายอื่นๆ ก็ยังไม่ได้รับหมายเรียก โดยมีรายงานว่ามีเพียงดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ได้รับหมายเรียกดังกล่าว เมื่อวันที่ 14 ส.ค. ที่ผ่านมา ต่อมา ทางพนักงานสอบสวนสภ.ช้างเผือกได้อนุญาตให้เลื่อนไปรับทราบข้อกล่าวหาได้ แต่ที่ประชุมคณะกรรมการพนักงานสอบสวนในคดีนี้ระบุให้เลื่อนไปไม่เกินวันที่ 21 ส.ค.นี้ และให้ทางทนายความประสานการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันดังกล่าวต่อไป

       สำหรับงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ที่จ.เชียงใหม่ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 15-18 ก.ค. 2560 ในระหว่างการจัดงาน ทางชุมชนนักวิชาการนานาชาติได้อ่านแถลงการณ์ “ขอคืนพื้นที่ความรู้และสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในสังคมไทย” เมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา





       นอกจากนั้นในวันที่ 18 ก.ค.60 ยังมีนักกิจกรรมและนักศึกษานำป้ายที่มีข้อความ “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” มาติดบริเวณหน้าห้องสัมมนาวิชาการ เนื่องจากเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐนอกเครื่องแบบเข้ามาบันทึกกิจกรรมต่างๆ ในงานโดยไม่มีการลงทะเบียนเข้าร่วมงานและไม่ได้ขออนุญาตผู้จัดงาน โดยที่ระหว่างทีป้ายดังกล่าวติดอยู่ ได้มีผู้ร่วมถ่ายรูปกับป้ายดังกล่าวเป็นจำนวนมากด้วย

       ภายหลังการจัดงาน ได้ปรากฏหนังสือของ พุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ทำหนังสือโทรสารในราชการกรมปกครอง รายงานต่อปลัดกระทรวงมหาดไทย เรื่องความเคลื่อนไหวในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา โดยรายงานว่าเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 60 ได้มีนักวิชาการ นักกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวทางสังคม จำนวน 6 คน ได้เดินทางมาชูป้ายข้อความว่า “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” โดยใช้สถานที่ภายในห้องประชุมสัมมนาและด้านหน้าห้องประชุมเป็นสถานที่ถ่ายภาพ พร้อมกับระบุว่าทางจังหวัดเชียงใหม่ โดยกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) จะเชิญนักวิชาการ 3 คนเข้าพบเพื่อชี้แจง และขอความร่วมมือไม่ให้เคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไป แต่ภายหลังจากนั้นก็ยังไม่มีการเรียกตัวใดๆ เกิดขึ้น จนกระทั่งมีการออกหมายเรียกผู้ต้องหา 5 รายดังกล่าว

ทนายความเผย ไผ่ ดาวดิน เตรียมรับสารภาพคดีแชร์รายงานBBC Thai เรื่องพระราชประวัติ ร.10




Published on Tue, 2017-08-15 12:41


          ทนายความเผย ไผ่ ดาวดิน เตรียมรับสารภาพคดี 112 จากการแชร์รายงาน "พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย" จากเว็บไซต์ BBC Thai โดยศาลจังหวัดขอนแก่นจะอ่านคำพิพากษาบ่ายนี้

          15 ส.ค. 2560 BBC Thai รายงานว่า กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะทนายความของ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า ไผ่ ดาวดิน จะตัดสินใจรับสารภาพในคดีที่ถูกอัยการจังหวัดขอนแก่นยื่นฟ้องในความผิดตาม ประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 112 จากการแชร์บทความเรื่อง "พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย" ของเว็บไซต์บีบีซีไทย ไว้บนเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยฤษฎางค์ เปิดเผยว่า ศาลจังหวัดขอนแก่นจะมีคำพิพากษาในบ่ายวันนี้


          สำหรับประมวลกฎหมายประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี"


เกี่ยวกับ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน


          ‘ไผ่ ดาวดิน’ หรือนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักศึกษาและนักกิจกรรมที่เริ่มเป็นที่รู้จักจากการต่อสู้ร่วมกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการโครงการพัฒนาต่าง ๆ ในภาคอีสาน ในช่วงหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ไผ่และเพื่อนเคยชู 3 นิ้วพร้อมใส่เสื้อที่เรียงกันเป็นข้อความว่า “ไม่เอารัฐประหาร” ต่อหน้าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรัฐประหาร คสช.ที่สนามหน้าศาลากลาง จ.ขอนแก่น

          ในปีต่อมาไผ่และกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาดาวดินก็ได้จัดกิจกรรมรำลึก 1 ปี รัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น ก่อนที่จะลงมาร่วมกับกลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมในนามขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ชุมนุมต่อต้าน คสช. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพฯ จนเป็นเหตุให้ถูกแจ้งข้อหาดำเนินคดีและถูกจับขังอยู่ในเรือนจำ

          ต่อมาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 ไผ่ และกลุ่มกิจกรรมใน ม.ขอนแก่น ได้จัดกิจกรรมพูดเพื่อเสรีภาพฯ เพื่อรณรงค์เรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นประชามติ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น จนถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง หน.คสช. หลังจากนั้นไผ่และเพื่อนอีก 1 คนยังได้ไปแจกเอกสารรณรงค์ประชามติ ที่ จ.ชัยภูมิ จนเป็นเหตุให้ถูกแจ้งข้อหากระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งมีโทษจำคุกสูงถึง 10 ปี

          เหล่านี้คือเหตุการณ์ที่ทำให้ไผ่ถูกจับกุมและดำเนินคดีช่วงหลังรัฐประหาร ซึ่งนับรวมการจับกุมและดำเนินคดีในครั้งนี้ถือได้ว่าไผ่ถูกจับกุมทั้งหมด 5 ครั้ง และถูกดำเนินคดี 5 คดี

           ในส่วนคดีของนายจตุภัทร์ หรือไผ่ ดาวดิน เกิดจากการเข้าแจ้งความดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดย พ.ท. พิทักษ์พล ชูศรี หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษ มณฑลทหารบกที่ 23 จากการที่จตุภัทร์ ได้แชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์ BBC Thai เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2559 ซึ่งมีผู้แชร์บทความดังกล่าวประมาณ 2,800 ครั้ง แต่มีจตุภัทร์เพียงคนเดียวที่ถูกจับกุมดำเนินคดี โดยในวันที่ 3 ธ.ค. 2559 จตุภัทร์ ถูกจับกุมตัวที่จังหวัดชัยภูมิ ขณะกำลังร่วมขบวนธรรมยาตรา กับพระไพศาล วิสาโล โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แสดงหมายจับที่ออกโดยศาลจังหวัดขอนแก่น

          ต่อมาในวันที่ 4 ธ.ค. 2559 ศาลได้พิจารณาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จตุภัทร์ โดยทนาย พร้อมนายประกันได้ยื่นหลักทรัพย์ 4 แสนบาท และให้เหตุผลไว้ในคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวว่า จตุภัทร์ เป็นผู้ต่องหาคดีการเมืองอยู่ 4 คดี แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีพฤติกรรมหลบหนี อีกทั้งในวันที่ 8 ธ.ค. ผู้ต้องหามีสอบเป็นวิชาสุดท้าย หากไม่ได้เข้าสอบวิชาดังกล่าวจะส่งผลให้เขาเรียนไม่จบตามหลักสูตร ศาลจึงพิจารณาให้ประกันตัว

          ต่อมาในวันที่ 22 ธ.ค. 2559 ศาลจังหวัดขอนแก่น ได้นัดพิจารณาคำร้องของพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น ที่ขอให้ศาลเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว จตุภัทร์ โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ต้องหา ได้ทำผิดเงื่อนไขการประกันตัว จึงสั่งให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราว ทั้งยังเห็นว่านายประกัน ซึ่งเป็นบิดา ไม่ได้ทำการห้ามปราบการกระทำดังกล่าวแต่อย่างใด

          ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลได้มีคำสั่งกำชับให้นายประกัน, ผู้ต้องหาให้มาศาลตามนัด ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ พยานหลักฐานในคดี หรือก่อความเสียหายใดๆ หลังปล่อยตัวชั่วคราว หากผิดนัด ผิดเงื่อนไข ศาลอาจถอนประกันและอาจไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวอีก และภายหลังปล่อยตัวชั่วคราว ได้ความจากทางไต่สวนว่า ผู้ต้องหาไม่ได้ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีนี้ในสื่อสังคมออนไลน์บนเฟซบุ๊กของผู้ต้องหา กับทั้งผู้ต้องหาได้แสดงออกถึงพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐ โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ ทั้งผู้ต้องหายังมีแนวโน้มจะกระทำการในลักษณะเช่นนี้ต่อไปอีก ผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มีอายุ 25 ปี ย่อมรู้ดีว่า การกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวข้างต้นเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาล จึงฟังได้ความตามคำร้องว่า ผู้ต้องหาได้กระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหายภายหลังการปล่อยตัวชั่วคราว ประกอบกับนายประกันผู้ต้องหาไม่ได้กำชับหรือดูแลให้ผู้ต้องหาปฏิบัติตามเงื่อนไขศาลที่มีคำสั่ง จนก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าว จึงให้เพิกถอนสัญญาประกันตัวผู้ต้องหา หมายขังผู้ต้องหา ตรวจคืนหลักประกันให้นายประกัน

          ต่อมาวันที่ 10 ก.พ. 2560 ศาลได้รับฟ้องคดีดังกล่าว พร้อมไต่สวนคำให้การของจตุภัทร์ โดยเขาให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และพร้อมที่จะสู้คดี โดยในวันนั้นศาลได้ใช้อำนาจสั่งขังเขาต่อไประหว่างการพิจารณาคดี และได้นัดตรวจพยานหลักฐานอีกครั้งในวันที่ 21 มี.ค. 2560 ทั้งนี้อัยการโจทก์ได้ระบุในคำฟ้องด้วยว่า

          "อนึ่ง หากจำเลยขอปล่อยตัวชั่วคราว โจทก์ขอคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เป็นการกระทำต่อพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งและเทิดทูนของประชาชน และเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี"

          ทั้งนี้จตุภัทร์ ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัด จังหวัดขอนแก่น มาตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค. 2559 โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2560 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว ‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หลังจากเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา ทนายความเข้ายื่นอุทธรณ์ เพื่อคัดค้านคำสั่งศาลจังหวัดขอนแก่นลงวันที่ 21 มี.ค. 2560 ที่ไม่อนุญาตให้ประกันตัวจตุภัทร์ และล่าสุดได้มีการยื่นประกันตัวอีกครั้งเพื่อวันที่ 8 พ.ค. 2560 แต่ศาลยังคงยืนยันคำสั่งเดิม

          ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รายงานว่า ในคดีนี้ อัยการจังหวัดขอนแก่นเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจตุภัทร์ต่อศาลจังหวัดขอนแก่น เป็นคดีหมายเลขดำที่ 301/2560 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3 และ 14 (3) โดยจตุภัทร์ให้การปฏิเสธ และศาลนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 3-4, 15-17 ส.ค. 2560 สืบพยานจำเลยในวันที่ 30-31 ส.ค. และ 5-7 ก.ย. 2560 ในชั้นสอบสวน จตุภัทร์เคยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นเวลา 18 วัน แต่ถูกถอนประกันจากการที่ยังโพสต์แสดงความเห็นในโซเชียลมีเดีย หลังถูกถอนประกัน ทนายความได้ยื่นประกันจตุภัทร์ รวม 9 ครั้ง และอุทธรณ์รวม 2 ครั้ง แต่ไม่เคยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวอีกเลย