คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ไอซีเจ) ประณามการโจมตีกรุงเทพมหานครและเรียกร้องให้มีการสอบสวนอย่าง เป็นกลางและมีประสิทธิภาพ
21 ส.ค. 2558 จากเหตุการณ์ระเบิดศาลพระพรหมณ์เอราวัณเมื่อคืนวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมาคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ไอซีเจ) มีความห่วงกังวลถึงสถานการณ์ดังกล่าวอย่างยิ่งจึงออกหนังสือข่าวเพื่อประณามการกระทำดังกล่าวและเรียกร้องให้รัฐดำเนินการสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพ ไอซีเจจึงขอแสดงความห่วงใยและมีข้อเสนอแนะเพื่อให้เป็นที่รับทราบแก่ประชาชนโดยทั่วไป โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ประเทศไทย : ไอซีเจประณามการโจมตีกรุงเทพมหานครและเรียกร้องให้มีการสอบสวนอย่าง เป็นกลางและมีประสิทธิภาพ
การเกิดระเบิดขึ้นในกรุงเทพมหานครซึ่งคร่าชีวิตประชาชนอย่างน้อย 20 คน และบาดเจ็บมากกว่า 120 คน ถือเป็นการโจมตีสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และเรียกร้องให้มีการสอบสวนคดีที่มีเป็นกลางและมีประสิทธิภาพเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาสู่กระบวนการยุติธรรม คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ไอซีเจ) ระบุ
เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 เวลาประมาณ 19.00 น. ระเบิดแสวงเครื่อง (ไออีดี) ถูกจุดระเบิดขึ้นในบริเวณใกล้เคียงกับศาลเจ้าเอราวัณที่มีชื่อเสียงที่แยกราชประสงค์ในใจกลางกรุงเทพมหานคร
“การมุ่งเป้าไปยังประชาชนธรรมดาโดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวซึ่งมาสักการะศาลเจ้าทางศาสนาเป็นการประทุษร้ายต่อมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนที่เรามีร่วมกัน” นายแซม ซารีฟี ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของไอซีเจกล่าว
“ประเทศไทยต้องตอบโต้ต่อการโจมตีอันชั่วร้ายดังกล่าวด้วยการสอบสวนที่น่าเชื่อถืออันจะมุ่งนำมาซึ่งความยุติธรรมให้แก่เหยื่อ โดยการระบุตัวผู้กระทำความผิดและนำเขามาสู่กระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรม”
เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2558 เวลา 13.00 น. โดยประมาณ ระเบิดแสวงเครื่องลูกที่สองได้ถูกจุดชนวนขึ้นใกล้กับท่าเรือสาทรของกรุงเทพมหานครซึ่งได้ระเบิดขึ้นในน้ำโดยไม่เกิดอันตรายใดๆ ในวันนั้น ไม่มีกลุ่มหรือบุคคลใดแสดงความรับผิดชอบต่อการโจมตีนั้น
“เจ้าหน้าที่ของไทยต้องอดทนต่อความกดดันเพื่อจะแสดงให้เห็นความก้าวหน้าผ่านการสรุปข้อเท็จจริงอย่างเร่งรีบและให้คำมั่นอย่างแน่วแน่ที่จะสอบสวนตามมาตรฐานระหว่างประเทศและเคารพต่อทุกการรับรองทางกฎหมายและกระบวนการตามกฎหมาย (Due Process)” นายแซม ซารีฟี กล่าว “เฉพาะแต่กระบวนการที่น่าเชื่อถือและยุติธรรมเท่านั้นที่จะให้ความจริงและความเป็นธรรมแก่เหยื่อและผู้รอดชีวิตจำนวนมากได้”
ส่วนหนึ่งของการสอบสวนที่มีประสิทธิภาพ ไอซีเจแนะนำประเทศไทยให้
• คุ้มครองสิทธิของเหยื่อรวมถึงโดยการให้ความเชื่อมั่นว่าพวกเขา
o จะได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพ
o ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับความคืบหน้าของการสอบสวนและสิทธิของพวกเขาที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว
o ได้รับทุกการสนับสนุนและความช่วยเหลือที่จำเป็น
• รับรองว่าสมมติฐานในการสอบสวนไม่ได้มีอิทธิพลมาจากการเลือกปฏิบัติหรืออคติที่มีพื้นฐานมาจากชาติพันธุ์ ศาสนา การเมือง หรือภูมิหลังอื่นๆ และ
• แสวงหาและยอมรับข้อเสนอด้านความช่วยเหลือจากรัฐอื่นๆ อย่างจริงจัง ซึ่งรวมถึงในด้าน
o หน่วยสืบราชการลับ
o การตรวจสอบที่เกิดเหตุ ศพ และยานพาหนะ โดยทางนิติวิทยาศาสตร์
o การวิเคราะห์อุปกรณ์โทรศัพท์ รวมถึงข้อมูลการโทรและพื้นที่ที่ใช้ในการสื่อสาร และ
o การวิเคราะห์และทำให้ภาพจากกล้องวงจรปิดชัดเจนขึ้น
ประเทศไทยถูกเรียกร้องให้มีการสอบสวนการโจมตีอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อดำเนินคดีและลงโทษผู้ที่ต้องรับผิดชอบและเพื่อให้การรับรองแก่เหยื่อในการเข้าถึงการเยียวยาและชดเชยที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของพันธะกรณีทางกฎหมายระหว่างประเทศในฐานะที่เป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) รวมทั้งยังเกี่ยวข้องกับสิทธิในชีวิตและสิทธิในความมั่นคงของบุคคลด้วย