พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานการรับฟังการแถลงยุทธศาสตร์ชาติ – ยุทธศาสตร์ทหาร ณ หอประชุมกองทัพเรือ ถนนอรุณอัมรินทร์ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ (ที่มาภาพเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล)
วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรเเถลงยุทธศาสตร์ชาติ-ยุทธศาสตร์ทหาร ระยะ 20 ปี กำหนดวิสัยทัศน์ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างยั่งยืนภายในปี 79 เป็นประตูสู่เอเชียและหัวใจของอาเซียนให้ได้ มีการเสริมสร้างกำลังรบ ทั้งทางบก เรือ อากาศ
1 ก.ย. 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการเเถลงยุทธศาสตร์ชาติ-ยุทธศาสตร์ทหาร ระยะ 20 ปี พ.ศ.2560-2579 ของนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 58 และนักศึกษาวิทยาลัยเสนาธิการทหารรุ่นที่ 57 นักศึกษาวิทยาลัยการทัพบกชุดที่ 61 นักศึกษาวิทยาลัยการทัพเรือ รุ่นที่ 58 และนักศึกษาวิทยาลัยการทัพอากาศรุ่นที่ 50 โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ นักศึกษา วปอ.รุ่นที่ 58 และ 59 ร่วมงานอย่างคับคั่ง
พล.ท.ไชยอนันต์ จันทคณานุรักษ์ ผอ.วปอ. กล่าวว่า ปีนี้ จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เป็นวาระพิเศษ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อมีส่วนสำคัญในการปฏิรูปประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาล ดังนั้นการทำยุทธศาสตร์ชาติในปีนี้จึงแตกต่างจากทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการปรับกระบวนการและขั้นตอนในโครงสร้างยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องรองรับกับภาพสถานการณ์ประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยแบ่งเป็นกลุ่มยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านความมั่นคง ความมั่งคั่ง คุณค่าและค่านิยม และการมีส่วนร่วมในสังคมโลก ซึ่งจะครอบคลุมวิสัยทัศน์และสอดคล้องกับแนวคิดของรัฐบาล คือ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
ด้าน พล.ร.ต.คำรณ พิสณธ์ยุธการ ตัวแทนนักศึกษา วปอ. รุ่นที่ 58 เเถลงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ว่า ในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติในครั้งนี้ได้สร้างภาพสถานการณ์ประเทศไทย 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. ภาพสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด 2. สถานการณ์ตามที่เป็นอยู่ และ 3. สถานการณ์ที่ดีที่สุดเพื่อทำนายอนาคตประเทศไทยใน 20 ปีข้างหน้า จากนั้นจึงกำหนดเป็นความต้องการของคนในชาติ 4 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านความมั่นคงปลอดภัย 2. ด้านความเจริญรุ่งเรืองผาสุกมั่งคั่ง 3. ด้านการเสริมสร้างคุณค่าเกียรติยศค่านิยมความเป็นไทย และ 4. การมีส่วนร่วมและอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกในสังคมโลก โดย วปอ.ได้นำผลประโยชน์ทั้ง 4 ด้านมาเป็นตัวตั้งในการพัฒนายุทธศาสตร์ย่อย โดยได้กำหนดวิสัยทัศน์ของประเทศไทยไว้ว่า “ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างยั่งยืนภายในปี พ.ศ. 2579” โดยประเทศไทยจะต้องเป็นประตูสู่เอเชียและหัวใจของอาเซียนให้ได้ มีการเสริมสร้างกำลังรบ ทั้งทางบก เรือ อากาศ
ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีในด้านความมั่นคงและปลอดภัย ระบุไว้ว่า ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างยั่งยืนได้นั้น ปัจจัยสำคัญที่จะเป็นพื้นฐานที่ทำให้ทุกภาคส่วนราชการสามารถทำตามแผนงานได้ คือ ความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ที่จะเป็นเสมือนฐานรองรับ เป็นกำแพงป้องกันที่แข็งแกร่ง ดังนั้นสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จะต้องได้รับการปกป้อง ธำรงไว้อย่างมั่นคงถาวร การป้องกันประเทศจะต้องมีประสิทธิภาพ พร้อมเผชิญภัยคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ และต้องพึ่งพาตนเองได้ มีความรักความสามัคคีของคนภายในชาติ เป็นสังคมที่มีคุณธรรม ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่น และปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องถูกขับเคลื่อนตามแผนงานและนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะต้องยุติความขัดแย้งภายใน 5 ปี และเกิดความยั่งยืนภายใน 10 ปี คือปี พ.ศ.2569
ในส่วนยุทธศาสตร์ทหาร 20 ปี กำหนดไว้ว่า กองทัพต้องการสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เสริมสร้าวงเสถียรภาพความมั่นคงด้านพลังงาน การเงินและการคลัง การเตรียมกำลังเเละใช้กำลังเพื่อการป้องปรามและการผนึกกำลังเพื่อการป้องกันประเทศ และการป้องกันเชิงรุก รวมทั้งการปฏิบัติการร่วม โดยในอนาคตประเทศไทยจะมีกองทัพไทยในรูปแบบใหม่ เริ่มต้นจากการปรับโครงสร้างกองบัญชาการร่วมกองทัพไทย ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถของศูนย์บัญชาการทางทหาร เพื่อรองรับการเชื่อมโยงและเเลกเปลี่ยนข้อมูลในส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคพื้นดิน ทะเล อากาศ และอวกาศ รวมถึงดาวเทียมทางทหาร ในการปฏิบัติการจำเป็นจะต้องพัฒนาหลักนิยมปฏิบัติการร่วมและผสมที่เหมาะกับบทบาทของกองทัพไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า การแสดงบทบาทต่าง ๆ ของกองทัพไทย การแสดงบทบาทต่าง ๆ ในเวทีสากล เช่น การฝึกร่วมผสมกับมิตรประเทศ การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ การเเพทย์ทหารและการรักษาความมั่นคงทางทะเล การรักษาสันติภาพ ตามกรอบของสหประชาชาติ
ในส่วนของการจัดหายุทโธปกรณ์ จำเป็นต้องดำเนินการในลักษณะพึ่งพาตนเองด้วยอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ตามแนวทางประเทศไทย 4.0 พัฒนาตัวบุคคลให้รองรับแนวทางปฏิบัติการ การพัฒนาองค์บุคคลให้รองรับแนวคิดการปฏิบัติการ โดยจัดทำโครงการศึกษาด้านยุทธศาสตร์และวิชาการทางทหาร ได้แก่ การตั้งศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ ตั้งมหาวิทยาลัยการป้องกันประเทศ และโรงเรียนเสนาธิการร่วม รวมทั้งศูนย์การฝึกทหารอาเซียนด้านต่าง ๆ โดยในส่วนของกำลังทางบก ต้องรองรับการปฏิบัติการจากมิตรประเทศ บทบาทด้านการรบ จะต้องพัฒนาและจัดระเบียบชายแดน มีกำลังเตรียมพร้อมที่มีระบบควบคุมและบังคับบัญชาที่ทันสมัย เชื่อมโยงระบบข้อมูลและข่าวกรองกับทุกเหล่าทัพ มีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีขีดความสามรถ โดยใช้เทคโนโลยีเพื่อลดจำนวนคนที่เข้าปฏิบัติการ และเมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤติ กรมผสมจะเป็นหน่วยดำเนินกลยุทธ์หลัก มีการยิงระดับยุทธการที่มีความเเม่นยำสูงใช้ในที่มีการปฏิบัติร่วม เชื่อมโยงกับกำลังทางอากาศเพื่อโจมตีเป้าหมาย
ส่วนบทบาทที่ไม่ใช่การรบ จะมุ่งเน้นขีดความสามารถในการถวายความปลอดภัยและพระเกียรติของหน่วยทหารรักษาพระองค์ และการเสริมสร้างความมั่นคงร่วม รวมทั้งจัดการกำลังประชาชน ตามแนวทางผนึกกำลังป้องกันประเทศ ในขณะที่หน่วยทหารส่วนภูมิภาคต้องสามารถอำนวยการบรรเทาสาธารณภัยภายในประเทศและช่วยเหลือประชาชน โดยประสานกับกำลังในพื้นที่ ในส่วนกำลังทางเรือจะต้องพัฒนาเป็นกำลังทางเรือ 2 มหาสมุทร โดยการใช้กำลังทางเรือได้ทั้ง 2 ฝั่งอย่างสมดุล โดยไม่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายกำลังขนาดใหญ่ มีการวางกำลังที่มีขีดความสามารถในการลาดตระเวนเฝ้าตรวจให้การคุ้มครองและช่วยเหลือเรือ รวมทั้งแหล่งผลประโยชน์ของชาติ ตลอด 24 ชม.
ส่วนกำลังทางอากาศ จะต้องมีบทบาทสำคัญในด้านการปกป้องเเละใช้ประโยชน์ทางอากาศและในมิติใหม่ในห้วงอวกาศ เพื่อสร้างการรับรู้ในการปฏิบัติการทางอากาศของต่างชาติ การตรวจการณ์ทางอวกาศ การสื่อสารและโทรคมนาคมทางอากาศ และสนับสนุนการปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลางกองทัพไทย เพื่อให้เห็นภาพสถานการณ์รบร่วมกัน ทั้งในมิติทางอากาศและมิติใหม่ในห้วงอวกาศ พร้อมเพิ่มเติมปฏิบัติการสงครามไซเบอร์ สงครามเครือข่าย และการป้องกันไว้ด้วย
ส่วนการใช้กำลังทางรบ จะใช้การปฏิบัติการร่วม ทั้งกำลังทางเรือและทางบก แต่จะต้องบรรจุอากาศยานให้เพียงพอ เพื่อตอบสนองภารกิจที่ไม่ใช่การรบทั้งในและนอกประเทศ ที่สำคัญกองทัพต้องปรับโครงสร้าง มุ่งเน้นการเป็นที่พึ่งของประชาชน มียุทโธปกรณ์ปฏิบัติการร่วมที่ทันสมัย บนพื้นฐานการพึ่งพาตนเองและส่งออก สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ กำลังพลทุกคนต้องเป็นทหารอาชีพ