วันพฤหัสบดีที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2557

"อภิวันท์" อดีตส.ส.เพื่อไทย ป่วยหนัก ล่าสุดอาการดีขึ้น เตรียมระดมทุนช่วยเท่าที่ทำได้


          จากระแสข่าวที่ระบุว่า พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย มีอาการป่วยหนัก โดยมีการปอดบวม เกิดแผลที่ปอด และไอเป็นเลือด ทำให้มีอาการช็อก ต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษา ในห้องไอซียู และต้องได้รับการผ่าตัด โดยพักอาศัยอยู่ ณ ประเทศหนึ่งในแถบภูมิภาคเอเชีย


          ล่าสุด แหล่งข่าวใกล้ชิด รายงานว่า อาการของ ดร.อภิวันท์ มีอาการโดยรวมดีขึ้นแล้ว โดยผลการผ่าตัดร่างกายสามารถตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะได้อย่างดี ไต และ สมอง ทำงานได้ดี ส่วน หัวใจ และ ปอด ยังคงต้องเฝ้าระวัง อยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้รักษาอย่างใกล้ชิด โดยยอมรับว่าสมาชิกครอบครัวอยู่ในสภาวะเครียดมาก

         ทั้งนี้สมาชิกบางส่วนที่ทราบข่าว ต่างมีความกังวลใจ และเห็นว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ควรยุติการกดดันตามล่าตัวพ.อ.อภิวันท์ ปล่อยให้ทำการรักษาตัวก่อน อีกทั้งคาดว่าน่าจะมีพี่น้องที่รู้จักกัน ให้ความช่วยเหลือในนามส่วนตัวบ้าง บางคนกล่าวว่า ไม่รู้จะแสดงน้ำใจกันอย่างไร ก็อยากรวบรวมเงินช่วย คนละเล็กคนละน้อย

        ก่อนหน้านี้ พ.อ.อภิวันท์ ในฐานะแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้ยุติความเคลื่อนไหวทางการเมืองและเงียบหายไปสักใหญ่ หลังจากที่ศาลอาญาอนุมัติหมายจับ ในความผิดตามมาตรา 112

นายกฯ นำรายชื่อ สปช.ขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา มท.1 ยืนยันนำรายชื่อ สปช.ทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว ตามรายชื่อที่กรรมการสรรหาเสนอมา ไม่เปลี่ยนแปลง 
1 ต.ค. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวว่า ได้ลงนามและนำรายชื่อสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. จำนวน 250 คน นำขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว ขณะที่ไม่ทราบว่ารายชื่อที่ถูกเผยแพร่มีที่มาอย่างไร ซึ่งรายชื่อที่ออกมาไม่ตรงกับรายชื่อที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ทั้งหมด โดยเห็นว่าบางรายชื่อพอจะคาดการณ์ได้
ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงความคืบหน้านการเสนอรายชื่อสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และจะไม่เปลี่ยนแปลงรายชื่อที่กรรมการคัดสรรเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ว โดยคสช.พิจารณาตามที่กรรมการสรรหาเสนอมา
พล.อ.อนุพงษ์ รมว.มหาดไทย ยังกล่าวถึงกรณีลูกจ้างองค์การปกครองท้องถิ่น (อปท.) ร้องเรียนถูกเลิกจ้างเพราะได้รับผลกระทบจากการเข้มงวดการใช้งบประมาณว่า เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะไม่ได้ปรับลดงบรายจ่ายประจำ ส่วนงบอุดหนุนต้องให้เกิดประโยชน์กับพื้นที่ ไม่ให้รั่วไหลหรือมีแผนงานที่ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาท้องถิ่น วิธีพิจารณางบอุดหนุนจะต้องมีโครงการการใช้งบประมาณที่ชัดเจน
“ส่วนงบประจำที่เกี่ยวกับเงินเดือน ค่าจ้างไม่น่าจะมีผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาล แต่ต้องดูรายละเอียดเป็นรายๆ ทั้งนี้ในภาพรวมงบประจำที่เกี่ยวกับเงินเดือนของ อปท.ยังคงอยูที่ร้อยละ 40 ของวงเงินงบประมาณ สำหรับผลกระทบจะต้องศึกษาอีกครั้ง จะเหมารวมทั้งหมดไม่ได้ ในหลักการงบฯที่ผ่านสภาได้พิจารณาอย่างดี การควบคุมงบประมาณเพื่อให้เกิดประโยชน์กับพื้นที่ งบประจำที่วางไว้น่าจะพอ การร้องเรียนต้องไปดูเป็นราย อบต.คงไม่ใช่ทั้งหมด " รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าว

เปิดคำอุทธรณ์จากผู้บาดเจ็บ-ญาติคนตาย คดี ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ สั่งสลายแดงปี 53

หนูชิด คำกอง ภรรยาของนายพัน คำกอง (ผู้เสียชีวิต) โจทก์ร่วม (ภาพเมื่อวันที่ 17 ก.ย.2555 ซึ่งศาลมีคำสั่งว่านายพัน เสียชีวิตจากอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงครามที่เจ้าพนักงานทหารร่วมกันยิงไปที่รถยนต์ตู้ หมายเลขทะเบียน ฮค 8561 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีนายสมร ไหม เป็นผู้ขับ แล้วลูกกระสุนปืนไปถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย ในขณะเจ้าพนักงานทหารกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบ ปิดล้อมพื้นที่ควบคุมตามคำสั่งของ ศอฉ. คลิ๊ก อ่านรายละเอียดคำสังศาล)
ผู้บาดเจ็บและญาติคนตายยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นกรณีไม่มีอำนาจพิจารณาคดี ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ สลายการชุมนุม นปช. ปี 53 พร้อมอุทธรณ์คำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม เปิดอ่านคำอุทธรณ์ประวัติศาตร์
เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2557 ที่ผ่านมา ที่ศาลอาญา นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความของของโจทก์ร่วม คือ นายสมร ไหมทอง อาชีพขับรถตู้ ผู้ถูกยิงบาดเจ็บสาหัสคืนวันที่ 14 ต่อวันที่ 15 พ.ค.53 และนางหนูชิด คำกอง ภรรยาของนายพัน คำกอง อาชีพขับรถแท็กซี่ ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์เดี่ยวกัน ช่วงสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (นปช.) โดยศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ได้ยื่นอุทธรณ์ในคดีหมายเลขดำ อ.4552/2556 และ อ.1375/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ อดีต ผอ.ศอฉ. เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59, 80, 83, 84 และ 288 จากกรณีที่ ศอฉ. มีคำสั่งใช้กำลังเจ้าหน้าที่ในการขอคืนพื้นที่จากการชุมนุมของ นปช. ระหว่าง เม.ย.-พ.ค. 53 ส่งผลมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย
คดีดังกล่าวศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ และคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งยกคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมของผู้บาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิตด้วย
นายโชคชัย กล่าวว่า “คดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลอาญา เพราะว่าข้อหาที่ฟ้องเป็นข้อหาความผิดต่อชีวิต ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ไม่มีอำนาจสอบสวนหรือไต่สวนเกี่ยวกับข้อหานี้ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนเฉพาะความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ และเราก็เห็นว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจรับคดีจาก ป.ป.ช. คดีที่เกี่ยวกับความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งคดีนี้ไม่ใช่คดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่”
“แม้จำเลยทั้ง 2 จะกระทำในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ และรองนายกฯ แต่ก็เป็นความผิดนอกเหนือตำแหน่งหน้าที่ เพราะไม่มีกฎหมายใดอนุญาตให้จำเลยทั้ง 2 สั่งการฆ่าผู้ใดได้ทั้งสิ้น ข้อหาฆ่าผู้อื่นตาม ป.อาญา มาตรา 288 จึงไม่ใช่ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เพียงแต่จำเลยทั้ง 2 กระทำความผิดในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ และรองนายกฯ” นายโชคชัยกล่าวและว่า โจทก์ร่วมทั้ง 2 ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลอาญา จึงขออุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลอาญาในประเด็นข้อกฎหมาย โดยขอถือเอาความเห็นแย้งของนายธงชัย เสนามนตรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาและอุทธรณ์ของพนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นส่วนหนึ่งของอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทั้ง 2 ด้วย จึงขอให้ศาลอุทธรณ์โปรดพิจารณาพิพากษากลับคำสั่งของศาลอาญาและให้ศาลอาญารับคดีนี้ไว้พิจารณาและให้รับคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม
โชคชัย อ่างแก้ว ทนายความของของโจทก์ร่วม

โดยคำอุทธรณ์ของผู้บาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิต ดังนี้
อุทธรณ์คำพิพากษา คดีอาญา หมายเลขดำที่ อ.4552/2556 และ อ.1375/2557 หมายเลขแดงที่ อ.2911/2557 และ อ.2917/2557
ด้วยความเคารพอย่างยิ่งต่อคำพิพากษาของศาลอาญา โจทย์ร่วมทั้ง 2 ยังไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลอาญา และขออุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลอาญาในปัญหาข้อกฏหมาย ดังที่จะได้ประทานกราบเรียนต่อศาลอุทธรณ์ต่อไปนี้
1. เนื่องจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้มีความเห็นแย้งดังกล่าวข้างต้น และพนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 17 ก.ย. 2557 คัดค้านคำพิพากษาศาลอาญาแล้ว โจทก์ร่วมทั้ง 2 จึงขอถือเอาความเห็นแย้งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาและอุทธรณ์ของพนักงานอัยการฯ ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทั้ง 2 ด้วย
ตามที่ศาลอาญาได้พิจารณาคำฟ้องและที่โจทก์แถลงรับไว้ในรายงานกระบวนการพิจารณาฉบับวันที่ 24 มี.ค. 2557 และวันที่ 28 ก.ค. 2557 แล้วเห็นว่า การที่เจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนจริงและกระสุนจริงยิงใส่ผู้ชุมนุมเพื่อการผลักดันชุมนุมก็ดี สลายการชุมนุมก็ดี กระชับพื้นที่หรือขอคืนพื้นที่ก็ดี ดังที่โจทก์ฟ้องกล่าวหามานั้น ล้วนแล้วแต่เกิดจากการออกคำสั่งของจำเลยที่ 1 ในฐานนายกฯ จำเลยที่ 2 ในฐานะรองนายกฯ และในฐานะ ผอ.ศอฉ. ในวาระต่างๆ กัน ภายหลังจากที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ทั้งสิ้น กรณีจึงหาใช่เป็นการกระทำโดยส่วนตัวหรือเป็นการกระทำที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่หรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของจำเลยทั้ง 2 ดังข้อคัดค้านของโจทก์ไม่
ทั้งนี้ ตามวัตถุประสงค์ของหารใช้อำนาจตามกฏมายของกฏหมายฉบับนี้ก็เพื่อให้มีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เจ้าน้าที่ฝ่ายพลเรือหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารภายใต้การสั่งการของจำเลยทั้ง 2 ในการร่วมป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้ง ฟื้นฟูหรือช่วยเหลือประชาชนเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผลประโยชน์ของชาติ การปฏิบัติตามกฏหมาย ความปลอดภัย และการดำรงชีวิตโดยปกติสุขของระชาชน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ความสงบเรียบร้อยหรือประโยชน์ส่วนรวม และเมื่อตรวจดูจากคำบรรยายฟ้องของโจทก์ประกอบสำเนาคำสั่งศาลในการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 1 ถึง 7 ก็ปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ที่มีความรุนแรง ลุกลามบานปลายมากขึ้น ทำให้ทั้งเจ้าหน้าที่ทหารและผู้ร่วมชุมนุมได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายคน
จำเลยทั้ง 2 จึงออกคำสั่งตามกฎหมายข้างต้น เพื่อระงับยับยั้งสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือความรุนแรงที่เกิดขึ้น  อย่างไรก็ดีการออกคำสั่งใดๆ ของจำเลยทั้ง 2 นั้น ในการกำหนดมาตรการ หรือข้อกำหนดต่างๆ ไม่ว่าเพื่อเป็นการป้องกัน แก้ไขหรือระงับสถานการณ์ฉุกเฉิน ว่าจะกระทำเช่นใดได้บ้างนั้น จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กฏหมายฉบับนี้บัญญัติไว้ มิใช่จะออกคำสั่งอย่างไรก็ได้โดยอำเภอใจ เฉพาะอย่างยิ่งการออกคำสั่งให้มีการใช้กำลังทหารเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจระงับเหตุการณ์ร้ายแรงหรือควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบโดยด่วนนั้น หากการออกคำสั่งดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กฏหมายกำหนดหรือไม่มีความเหมาะสมหรือให้มีการกระทำเกินกว่าความจำเป็น ไม่พอสมควรแก่เหตุเหมือนดังที่โจทก์ฟ้องกล่าวหา โดยอ้างว่าตามแนวทางปฏิบัติสากลในการควบคุมฝูงชนและปราบจราจล เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติจะไม่ให้ใช้อาวุธปืนและกระสุนปืนจริง ซึ่งขั้นตอนของการใช้กำลังนั้นจะมีเพียงการใช้แก๊สน้ำตา และปืนลูกซองกระสุนยางเท่านั้น
เช่นนี้ การใช้อำนาจของจำเลยทั้ง 2 ซึ่งถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในการออกคำสั่งดังฟ้องจึงอาจเข้าข่ายเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยหน้าที่อันเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฏหมายอาญาและกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ได้ ซึ่งถือว่าเป็นมูลแห่งความผิดคดีหลัก ที่ต่อมาภายหลังจากการออกคำสั่งเช่นว่านั้นได้ก่อผลให้บุคคลจำนวนมากถึงแก่ความตาย อันถือเป็นคดีเกี่ยวเนื่องจากการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยหน้าที่ข้างต้น ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องอ้างว่าเป็นการกระทำโดยประสงค์ต่อผลประโยชน์หรือย่อมเล็งเห็นผลของจำเลยทั้ง 2 ต่อความตายของบุคคลดังกล่าวนั่นเอง แต่ก็หาใช่เป็นการกระทำที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่หรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่และกลายเป็นคดีฆาตรกรรมโดยส่วนเดียวดังที่โจทก์เข้าใจไม่
และที่โดยการวินิจฉัยถึงความรับผิดในทางอาญาของจำเลยทั้ง 2 ต่อความตายและบาดเจ็บของบุคคลต่างๆ อันเป็นคดีเกี่ยวเนื่องดังเช่นกรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 2 มานี้ มีข้อที่พิจารณาในมูลแห่งคดีว่ามีการออกคำสั่งของจำเลยทั้ง 2 ดังเช่นที่มีการฟ้องกล่าวหามานั้นอันเป็นการมิชอบด้วยหน้าที่ตามกฏหมายและถือเป็นการกระทำความผิดต่อตำหน่งหน้าที่ราชการหรือไม่ เสียก่อน กรณีจึงเป็นไปตามบทบัญญัติแหร่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 66 ประกอบด้วยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11/2557 และฉบับที่ 24/2557 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจะต้องเป็นผู้ที่มีหน้าที่ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวน พร้อมทั้งทำความเห็นว่าการออกคำสั่งของจำเลยทั้ง 2 ข้างต้นเป็นการมิชอบดว้ยหน้าที่อันเป็นการกระทำผิดต่อหน้าที่ราชการหรือไม่ ซึ่งหากข้อกล่าวหามีมูลจึงค่อยส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองเป็นผู้พิจารณาพิพากษาต่อไปตามมาตรา 70 แห่งบทบัญญัติของกฏหมายข้างต้นและตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 9(1) ประกอบด้วยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11/2557 และฉบับที่ 24/2557
ด้วยเหตุนี้เมื่อได้พิเคราะคำฟ้องของโจทก์โดยตลอดแล้ว แม้โจทก์จะขอให้ศาลลงโทษจำเลยทั้ง 2 จากผลที่มีคนตายและได้รับบาดเจ็บจากกรณีการผลักดันผู้ชุมนุม สลายการชุมนุมหรือกระชับพื้นที่หรือขอคืนพื้นที่โดยเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนจริงและกระสุนจริงกับผู้ชุมนุมโดยมีเจตนาฆ่า แต่ก็เห็นได้ว่ามูลแห่งคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 2 มานี้ แท้จริงแล้วเป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้ง 2 กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฏหมายอาญาหรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามกฏหมายอื่น คือ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ด้วยการออกคำสั่งอันไม่ชอบด้วยกฏหมายหรือมิชอบด้วยน้าที่ให้เจ้าหน้าที่ทหารดำเนินการผลักดัน สลายการชุมนุมหรือกระชับพื้นที่หรือขอคืนพื้นที่ด้วยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติสากลนั่นเอง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยตรง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 9(1) หาใช่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลอาญาไม่
ส่วนคดีความผิดเกี่ยวเนื่องฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาหรือพยายามฆ่านั้นก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการสั่งการในตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยทั้ง 2 ตาม คือ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ จึงกถือเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวกัน ซึ่งต้องได้รับการพิจารณาพิพากษาโดศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ประกอบด้วยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11/2557 และฉบับที่ 24/2557 ซึ่งทำให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฏหมายนี้ที่ไม่ประสงค์จะให้มีการเลือกฟ้องในฐานความผิดเกี่ยวเนื่องอันมีที่มาจากการกระทำผิดในตำแหน่งหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวกันต่อศาลอื่นได้นอกจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพียงศาลเดียวเท่านั้น
ทั้งนี้ เพื่อให้การตรวจสอบการทำหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองบังเกิดผลเชิงรูปธรรมอย่างจริงจัง ไม่ถูกบิดเบือนไปจนทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมืองนั้นหลุดพ้นไปจากการตรวจสอบโดยอาศัยหลักกฏหมายเรื่องที่บุคคลควรได้รับการพิจารณาและลงโทษเพียงครั้งเดียวจากการกระทำในครั้งเดียวกันนั้นได้ ด้วยเหตุผลดังวินิจฉัยมา
ศาลอาญาจึงมิใช่เป็นศาลที่มีเขตอำนาจในการรับชำระคดีทั้ง 2 สำนวนนี้ไว้ได้ การที่ศาลรับฟ้องโจทก์ทั้ง 2 สำนวนนี้ไว้เพื่อพิจารณาจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฏหมายและโจทก์ร่วมทั้ง 2 ย่อมไม่อาจยื่นคำร้องของเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ นั้น
โจทก์ร่วมทั้ง 2 ขอประทานกราบเรียนต่อศาลอุทธรณ์ที่เคารพว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยทั้ง 2 ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 288 ซึ่งเป็นความผิดในหมวดที่ 1 ว่าด้วยความผิดต่อชีวิต ในลักษณะ 10 ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย มีโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่ 15 ถึง 20 ปี ซึ่งความผิดที่โจทก์ฟ้องและขอให้ลงโทษดังกล่าวมิใช่ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฏหมายอาญาแต่อย่างใด
โดย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 19(2) และ (3) ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เกี่ยวกับอำนาจการไต่สวนและวินิจฉัยโดยมีอำนาจหน้าที่ในการไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมทั้งทำความเห็นเพื่อส่งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามหมวด 6 และไต่สวนวินิจฉัยว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมเท่านั้น ซึ่งความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามประมวลกฏหมายอาญาหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมปรากฏอยู่ในหมวดที่ 2 ว่าดว้ยความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ในลักษณะที่ 2 ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการปกครอง ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 147 ถึงมาตรา 166 ส่วนความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ในลักษณะที่ 3 ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 200 ถึงมาตรา 205
ดังนั้น ป.ป.ช. จึงไม่มีอำนาจไต่สวนการกระทำความผิดในข้อหาความผิดเกี่ยวกับชีวิตร่างกายตามประมวลกฏหมายอาญาแต่อย่างใด
อีกทั้งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9(1) และ(2) ได้กำหนดอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีขอศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำตำแหน่งทางการเมือง ในคดีที่มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาว่านายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. หรือข้าราชการการเมืองอื่น ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฏหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฏหมายอื่น และคดีที่มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาบุคคลตามมาตรา 9(1) หรือบุคคลอื่นเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนให้กระทำความผิดทางอาญาตามมาตรา 9(1) 
จึงเห็นได้ว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีอำนาจพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. หรือข้าราชการการเมืองอื่น เฉพาะคดีอาญาที่กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฏหมายอาญา ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามประมวลกฏหมายอาญาหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ปรากฏอยู่ในหมวดที่ 2 ว่าด้วยความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ในลักษณะที่ 2 ว่าด้วยความผิดเกี่ยกับการปกครอง ส่วนความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมปรากฏอยู่ในหมวดที่ 2 ว่าด้วยความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ในลักษณะที่ 3 ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม เท่านั้น
และในคดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องจำเลยทั้ง 2 ในขอหาการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฏหมายอาญาหรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตตามกฏหมายอื่นแต่อย่างใด
แม้ศาลอาญาจะเห็นว่าความผิดที่โจทก์ฟ้องเป็นความผิดอันมีมูลมาจากการออกคำสั่งของจำเลยทั้ง 2 ในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีก็ตาม แต่การกระทำความผิดในข้อหาที่โจทก์ฟ้องไม่อยู่ในอำนาจการไต่สวนของ ป.ป.ช. และไม่ได้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
และยังปรากฏว่าภายหลังจากศาลจากที่ศาลได้มีคำสั่งไต่สวนการตายของผู้เสียชีวิตตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 โดยเฉพาะการตายของนายพัน คำกอง สามีโจทก์ร่วมที่ 2 และผู้เสียชีวิตคนอื่นๆ และได้สั่งสำนวนไต่สวนของศาลไปยังพนักงานอัยการเพื่อส่งแก่พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจสอบสวนคดี และอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งฟ้องจำเลยทั้ง 2 ในข้อหาตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 288, 83 และ 84 อันเกิดจากการกระทำของจำเลยทั้ง 2 การฟ้องคดีของโจทก์ต่อศาลอาญา ซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ จึงเป็นอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการและตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 143
และโจทก์ร่วมทั้ง 2 ซึ่งเป็นผู้เสียหายมีสิทธิขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ ตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 30 จึงได้ของยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2557 และศาลอาญาได้มีคำสั่งอนุญาตแล้ว อันเป็นการดำเนินกระบวนการพิจารณาที่ชอบด้วยกฏหมาย
2. ในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยทั้ง 2 ในข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 157 ซึ่งอยู่ในระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช. และอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นั้น
ขณะนี้ยังไม่ปรากฏผลการไต่สวนของ ป.ป.ช. และโจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยในข้อหาดังกล่าวแต่อย่างใด เมื่อความผิดตามข้อหาที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 2 ตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 288, 83 และ 84 ต่อศาลอาญา ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแล้ว ศาลอาญาจึงมีอำนาจที่จะพิจารณาคดีนี้ต่อไป ซึ่งไม่เกี่ยวกับข้อหาตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 157
โดยความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 288 และมาตรา 157 ต่างมีองค์ประกอบความผิดที่ไม่เหมือนกัน และมีอัตราโทษที่ไม่เท่ากัน ซึ่งความผิดตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 288 เป็นความผิดที่มีโทษหนักและสูงกว่า และการไต่สวนของ ป.ป.ช. ต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เฉพาะความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเท่านั้น หากจะดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฏหมายมาตรา 157 เพียงข้อหาเดียว ย่อมไม่เป็นธรรมกับผู้เสียหายและทำให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากความผิดไป และความผิดข้อหาที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 2 ในคดีนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะกระทำในขณะดำรงตำหน่งนายกรัฐมนตรี และจำเลยที่ 2 กระทำในขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ก็ตาม แต่เป็นความผิดนอกเหนือตำแหน่งหน้าที่ เพราะไม่มีกฏหมายใดอนุญาตให้จำเลยทั้ง 2 สั่งการฆ่าผู้ใดทั้งสิ้น ข้อหาฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 288 จึงไม่ใช่ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เพี่ยงแต่จำเลยทั้ง 2 กระทำความผิดในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีเท่านั้น
ส่วนในความผิดเกี่ยวกับข้อหาตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 157 หาก ป.ป.ช. จะมีการชี้มูลหรือไม่อย่างไร ก็เป็นเรื่องการดำเนินการอีกส่วนหนึ่ง ตามอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ย่อมไม่เป็นการตัดสิทธิโจทก์หรือผู้เสียหายและโจทก์ร่วมทั้ง 2 ที่จะดำเนินคดีกับจำเลยทั้ง 2 ในข้อหาตามฟ้องนี้ได้
ที่ศาลอาญาวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฏหมายเบื้องต้นแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์และให้ยกคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมทั้ง 2 โดยยังมิได้มีการฟังข้อเท็จจริงจากการสืบพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยทั้ง 2 เสียก่อนว่า จำเลยทั้ง 2 กระทำโดยมีเจตนาฆ่าผู้ตายหรือไม่อย่างไร ซึ่งหากฟังว่าจำเลยทั้ง 2 สั่งการโดยมีเจตนาเล็งเห็นผลถึงการตายของผู้ตาย ย่อมไม่ใช่เป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ แต่เป็นการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ที่ศาลวินิจฉัยว่าการกรทำความผิดในข้อหาที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 2 เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวกับข้อหาปฏิบัติที่มิชอบตามประมวลกฏหมาย มาตรา 157 จึงอยู่ในอำนาจการไต่สวนของ ป.ป.ช. และอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงยังคลาดเคลื่อนต่อข้อกฏหมายอยู่
ด้วยเหตุที่โจทก์ร่วมทั้ง 2 ได้ประทานกราบเรียนต่อศาลอุทธรณ์มาแล้วข้างต้น ขอศ่าลอุทธรณ์ได้โปรดพิจาณาพิพากษากลับคำพิพากษาและคำสั่งของศาลอาญา ให้ศาลอาญารับคดีนี้ไว้พิจารณาและให้รับคำร้องขอเป็นโจทก์ร่วมของโจทก์ร่วมทั้ง 2 ในคดีหมายเลขดำที่ อ.4552/2556 แล้วให้ศาลอาญาดำเนินกระบวนการพิจารณาพิพาษาต่อไป
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สำหรับในคดีนี้ อัยการสูงสุดยื่นอุทธรณืไปก่อนหน้า โดยเมื่อวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา นายวันชัย รุจนวงศ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า อัยการสูงสุดได้ยื่นขออุทธรณ์คดีที่ศาลมีคำสั่งไม่ฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ในความผิดสั่งสลายการชุมนุมทางการเมือง เมื่อปี 2553 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต
โดยอัยการสูงสุดขออุทธรณ์ในประเด็นทางข้อกฎหมาย เพราะก่อนหน้านี้ ได้ยื่นฟ้องความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ไม่ได้ฟ้องในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามกฎหมายอาญามาตรา 157
หากศาลอุทธรณ์พิจารณาสำนวนคดีเสร็จสิ้นแล้ว จะส่งหมายแจ้งนัดวันให้คู่ความทั้ง 2 ฝ่ายรับทราบ เพื่อเดินทางมาฟังคำพิพากษาต่อไป ส่วนจะใช้ระยะเวลาเท่าใด ยังไม่สามารถระบุได้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จะเสร็จสิ้นเมื่อใด    

ครม.ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 เดือน 3.6 แสนล้าน


คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแผนกระตุ้นเศรษฐกิจช่วง 3 เดือน เน้นการสร้างงานเพิ่มรายได้ให้ผู้มีรายได้น้อยงบประมาณรวม 3.24 แสนล้าน งบประมาณเพิ่มรายได้ช่วยต้นทุนด้านการผลิตแก่ชาวนา วงเงิน 4 หมื่นล้าน
1 ต.ค. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ได้ ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใน 3 เดือน คือ เดือนตุลาคมถึง ธันวาคม 2557 ใช้งบประมาณ 364,465.4 ล้านบาท โดยแยกเป็นมาตรการสร้างงาน 324,465.4 ล้านบาท และมาตรการช่วยเหลือชาวนา เรื่องต้นทุนการผลิต 40,000 ล้านบาท เพื่อทำให้เศรษฐกิจภาพรวมกระเตื้องขึ้น ซึ่งจะใช้งบประมาณคงค้างของปี 2557 และปี 2558
ทั้งนี้ ยอมรับว่าตัวเลขการส่งออกของเดือนสิงหาคมต่ำสุดในรอบ 32 เดือน เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลก และการสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ลดลง จึงต้องมีมาตรการออกมาเพื่อช่วยขยายตลาด ซึ่งการแก้ปัญหาจำเป็นต้องใช้เวลา โดยเฉพาะตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ( GDP) ที่ต้องรอติดตามภายหลังเบิกจ่ายงบประมาณแล้ว พร้อมทั้งมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีแต่ละคน กำกับดูแลตรวจสอบแต่ละโครงการในพื้นที่ไม่ให้มีการทุจริต หากพบจะมีมาตรการลงโทษทันที
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแผนกระต้นเศรษฐกิจช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 ที่เน้นการสร้างงานเพิ่มรายได้ให้ผู้มีรายได้น้อยงบประมาณรวม 3.24 แสนล้านบาท ส่วนงบประมาณเพิ่มรายได้ช่วยต้นทุนด้านการผลิตแก่ชาวนา วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยังกล่าวด้วยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 5 มาตรการ เพื่อให้เกิดการสร้างงานทั่วประเทศ ได้แก่
  • 1.ให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม เร่งเซ็นสัญญาจ้างงานโครงการเดิมที่ไม่สามารถดำเนินการทันงบประมาณปี 2557 ซึ่งเป็นงบคงค้าง 142,000 ล้านบาท
  • 2.ให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม เร่งเซ็นสัญญาจ้างงานในงบลงทุนของปี 2558 จำนวน 129,000 ล้านบาท โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน ซึ่งคาดหวังว่าจะมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ร้อยละ 30-40
  • 3.ใช้งบประมาณไทยเข้มแข็ง 15,000 ล้านบาท และงบกลางปี 2555-2557 จำนวน 7,800 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 23,000 ล้านบาท ไปซ่อมโรงเรียน และบ้านพักข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงบ้านพักข้าราชการกระทรวงกลาโหม
  • 4.ให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม จัดทำรายละเอียดของโครงการ เพื่อมาเบิกจ่ายงบกลางปี 2548-2556 จำนวน 24,000 ล้านบาท ซึ่งจะนำมาเก็บไว้
  • 5.มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาที่มีรายได้น้อย โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เบิกจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา จำนวน 40,000 ล้านบาท

สำหรับชาวนาที่มีที่นาไม่เกิน 15 ไร่ ไร่ละ 1,000 บาท แต่หากเกิน 15 ไร่ จะช่วยเหลือเพียง 15 ไร่เท่านั้น โดยมีชาวนาจำนวน 3.4 ล้านครอบครัวที่ได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งจะเริ่มเบิกจ่ายได้ภายในวันที่ 20 ตุลาคมนี้ รวมงบประมาณทั้งหมด 2.9 แสนล้านบาท

นักศึกษา ศนปท. ให้กำลังใจ 'การปฏิวัติร่ม' ในฮ่องกง



1 ต.ค. 2557 - เมื่อเวลา 14.00 น. นักศึกษาจากศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) เดินทางมายังหน้าสถานเอกอัครราชทูตแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในกรุงเทพมหานคร เพื่อให้กำลังใจนักศึกษาและประชาชนในฮ่องกงต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิการเลือกตั้ง มีการติดโปสเตอร์แสดงความสนับสนุนขบวนการนักศึกษาฮ่องกงที่กำแพงหน้าสถานทูตจีนด้วยก่อนเดินทางกลับ
ทั้งนี้ในแถลงการณ์ที่เผยแพร่ในเพจของ ศนปท. ระบุด้วยว่า "เราทราบข่าว และติดตามการลุกขึ้นต่อสู้ของพวกคุณมาตลอด ได้เห็นถึงความกล้าหาญ และมุ่งมั่นของพวกคุณ ซึ่งผมเชื่อว่าอีกไม่นานชัยชนะจะเป็นของพวกคุณ ซึ่งต่างจากในประเทศของผม ที่เพิ่งผ่านการรัฐประหารไปไม่กี่เดือน บรรยากาศที่นี่เต็มไปด้วยความเผด็จการของทหาร และได้แต่ฝันว่าเราจะได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนๆ นักศึกษาของเรา เหมือนที่พวกคุณกำลังทำ ขอให้ปลอดภัย"

นักศึกษารับบริจาคหน้า สน.ปทุมวัน - เสียค่าปรับ 2 พัน ติดป้ายรำลึก 19 กันยา



1 ต.ค. 2557 - เมื่อเวลา 09.45 น. ที่ สน.ปทุมวัน ณัฐิสา ปัทมภรณ์พงศ์ นิสิตคณะครุศาสตร์ และนายฐาปกร แก้วลังกา นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาชิกกลุ่ม ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย หรือ ศนปท. และทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มาที่ สน.ปทุมวัน เพื่อเสียค่าปรับตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง มาตรา 10 ด้วยโทษปรับ 1,000 บาท รวมทั้งสิ้น 2,000 บาท จากกรณีแขวนป้ายผ้ารำลึกถึงการการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 และนายนวมทอง ไพรวัลย์ เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา
โดยในขณะที่นักศึกษาและทีมทนาย อยู่ในห้องสอบสวนตามขั้นตอน มีสมาชิก ศนปท. คนหนึ่งใส่หน้ากาก “นวมทอง ไพรวัลย์” พร้อมถือปี๊บขอรับบริจาคเงินเพื่อนำมาชำระค่าปรับ โดยมีประชาชนร่วมบริจาคเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 8,600 บาท โดย ศนปท. ระบุว่า เมื่อหักเป็นค่าปรับแล้ว ทาง ศนปท. จะนำเงินที่เหลือเข้ากองทุนปติวัฒน์ เพื่อช่วยเหลือผู้ต้องขังที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองต่อไป

ชาวฮ่องกงยังปักหลักประท้วงคู่ขนานไปกับพิธีครบรอบ 65 ปีปฏิวัติจีน

A father stands next to his son as he shouts pro-democracy slogans at a protest site in Hong Kong on 1 October 2014.


ผู้บริหารสุงสุดของฮ่องกงขึ้นปราศรัยในงานวันชาติจีนเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมยอมรับการ 'ปฏิรูป' การเลือกตั้งของทางการจีน ขณะที่ผู้ประท้วงโดยรอบยังคงรวมตัวชุมนุมกันอย่างสงบในช่วงกลางวันโดยโบก 'ธงเสรีภาพ' แทนธงชาติจีน
1 ต.ค. 2557 สำนักข่าวบีบีซี รายงานบรรยากาศการประท้วงในฮ่องกง ช่วงที่มีการเฉลิมฉลองครบรอบการปฏิวัติสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งถือเป็นวันชาติของจีนด้วย โดยระบุว่ามีการเตรียมรับมือกับผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงเอาไว้ด้วย
ในงานพิธีการผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงเหลียงชุนอิงได้กล่าวปราศรัยเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมยอมรับการปฏิรูปการเลือกตั้งที่ทางการจีนกำหนดไว้ โดยทางการจีนต้องการให้พวกตนเป็นฝ่ายคัดเลือกผู้ลงชิงชัยในการเลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดในปี 2560 แทนการรับสมัครทำให้ชาวฮ่องกงจำนวนหนึ่งไม่พอใจเพราะไม่ได้เป็นการเลือกตั้งเสรีตามหลักสากล
พิธีการในช่วงกลางวันดำเนินไปอย่างสงบ อย่างไรก็ตามทางการจีนได้ยกเลิกการจุดพลุเฉลิมฉลอง
เหลียงกล่าวปราศรัยว่า แม้ผู้คนจะมีความต้องการเกี่ยวกับการปฏิรูปการเลือกตั้งในฮ่องกงต่างกันไปแต่การมีสิทธิที่จะได้เลือกตั้งก็ดีกว่าไม่มีเลย อีกทั้งยังเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนในสังคมร่วมมือกับรัฐบาลจีนด้วยความสงบสันติ มีเหตุผล เป็นไปตามกฎหมาย และปฏิบัติได้จริง เพื่อการพัฒนาก้าวต่อไปข้างหน้า
แคร์รี่ เกรซี บรรณาธิการข่าวประเด็นเกี่ยวกับประเทศจีนของบีบีซี รายงานบรรยากาศงานเฉลิมฉลองครบรอบ 65 ปี การปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในงานอนุญาตให้คนที่สวมเสื้อยืดและสวมหมวกแก๊บสีแดงโบกธงชาติจีนเท่านั้นที่เข้างานได้ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจรอบรักษาความปลอดภัยในขณะที่เหลียงชุนอิงผู้บริหารสูงสุดกล่าวปราศรัยเน้นย้ำว่าฮ่องกงอยู่ในสถานะพิเศษภายใต้การปกครอง "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ของจีน
เกรซีรายงานบรรยากาศอีกว่าฝ่ายผู้ประท้วงทางการจีนพยายามแสดงตัวให้เห็น มีบางคนอยู่นอกพิธีการโดยหันหลังให้กับธงชาติจีน ผ้ประท้วงส่วนหนึ่งยังพากันเข้าไปในลานที่ตอนนี้พวกเขาเรียกว่าเป็นจัตุรัสประชาธิปไตย (Democracy Square) ซึ่งเต็มไปด้วยร่มและ "ธงเสรีภาพ" (freedom flags) โดยไม่มีธงชาติจีนอยู่เลย
ผู้ชุมนุมได้ปักหลักอยู่ตามย่านธุรกิจสำคัญในฮ่องกง มีผู้คนเริ่มมารวมตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่คืนวันอังคาร (30 ก.ย.) ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ผู้สนับสนุนกลุ่มยึดครองย่านศูนย์กลาง รวมถึงผู้ที่ไม่พอใจการใช้กำลังของตำรวจเข้าร่วมด้วย
อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์มองว่าทางการจีนคงไม่ยอมทำตามคำเรียกร้องของผู้ประท้วงง่ายๆ เนื่องจากผู้นำมองเป็นเรื่องการเมืองเชิงพื้นที่และกลัวว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยจะลามไปถึงในจีนแผ่นดินใหญ่
ส่วนทางการสหรัฐฯ เริ่มปรับท่าทีต่อการประท้วงในจีน โดยระบุว่าการให้มีตัวเลือกอย่างแท้จริงสำหรับผู้สมัครลงเลือกตั้งผู้บริหารสุงสุดย่อมทำให้การเลือกตั้งในฮ่องกงดูมีความชอบธรรมมากกว่า กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ยังได้แถลงเมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมาอีกว่า จอห์น แคร์รี่ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ต้องการหารือกับ หวางอี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนในเรื่องเกี่ยวกับการประท้วงในครั้งนี้

เลื่อนนัดพร้อมคดี 112 คนขายปุ๋ยเกษตร รอผลตรวจอาการทางจิต

1 ต.ค.2557 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนแจ้งว่า ศาลนัดพร้อม สอบคำให้การ นายธเนศ หรือ ทะเนช (สงวนนามสกุล) จำเลยคดี 112 ในวันนี้ แต่ทางทนายได้ขอเลื่อนนัดสอบคำให้การออกไปเนื่องจากต้องรอผลการตรวจอาการทางจิตของจำเลย ศาลจึงนัดสอบคำให้การครั้งใหม่ในวันที่ 1 ธ.ค.นี้

ทนายความกล่าวด้วยว่า หลังจากศูนย์ทนายได้ส่งตัวแทนทนายเข้าพูดคุยกับจำเลยในเรือนจำเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายทำให้ทราบอาการของจำเลยและได้ทำหนังสือไปยังเรือนจำเพื่อขอให้ส่งตัวจำเลยไปตรวจ ต่อมาเรือนจำได้ส่งตัวจำเลยไปยังสถาบันกัลยาราชนครินทร์ ในวันที่ 22 ก.ย.และ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการตรวจซึ่งแพทย์ผู้ตรวจคาดว่าจะสามารถสรุปผลได้ราวสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ ธเนศ หรือ ทะเนช อายุ 45 ปีพื้นเพเป็นชาวเพชรบูรณ์ มีอาชียขายอาหารเสริมบำรุงพืชผลทางการเกษตรทางอินเตอร์เน็ต เขาถูกเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจจับกุมตัวที่บ้านพักเมื่อวันที่ 2 ก.ค.57 จากนั้นถูกควบคุมตัวที่ค่ายทหารจังหวัดเพชรบูรณ์จนครบ 7 วันก่อนจะส่งตัวมายังกองบังคับการปราบรามอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ (ปอท.) เจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าเขาส่งอีเมล์ข้อมูลที่เข้าข่ายหมิ่นฯ ให้กับผู้ต้องหาที่อาฯยอยู่ประเทศสเปน ชื่อ Emillio Estaban ผู้ใช้นามแฝงว่า stoplesemajeste ซึ่งเผยแพร่ข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่าเขาได้เข้าถึงอีเมล์ของ Estaban และพบการส่งอีเมล์ของทะเนชในช่วงเดือนมิถุนายนปี 2553 เขาถูกฝากขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยญาติไม่มีหลักทรัพย์ยื่นประกันตัว และถูกฟ้องในข้อหาความผิดตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

รองผู้การปัตตานี แจงเหตุค้นบ้านนักข่าวใต้ ยันไม่ได้คุกคามสื่อ-นักกิจกรรม



รองผู้การปัตตานีแจงเหตุค้นบ้านนักข่าวมีเดียสลาตัน เป็นวงรอบการตรวจหอพัก บ้านเช่า ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยันขอเก็บตัวอย่างตรวจ DNA สามารถปฏิเสธได้ พร้อมทำความเข้าใจข้อกฎหมายต่อสาธารณะ ด้านสารวัตรสืบยันไม่ได้คุกคามสื่อหรือนักกิจกรรม
เวลาประมาณ 11.00 น. วันที่ 1 ตุลาคม 2557 ตัวแทนจากเครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ 5 คน นำโดยนายตูแวดานียา ตูแวแมแง ได้เข้าพบ พ.ต.อ.ปราบพาล มีมงคล รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี และ พ.ต.ต.ศิริชัย สุขสารัญ สารวัตรสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี ที่ร้านกาแฟภายในกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี เพื่อพูดคุยหารือกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี จำนวน 5 นาย เข้าตรวจค้นบ้านของนายทวีศักดิ์ ปิ ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุมีเดียสลาตัน พร้อมเพื่อน 3 คน พร้อมกับขอเก็บตัวอย่างน้ำลายเพื่อนำไปตรวจสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ (DNA) โดยไม่มีหมายค้น เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2557 ที่ผ่านมา
ต่อมาวันที่ 25 กันยายน 2557 เครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพได้ยืนหนังสือร้องเรียนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อพ.ต.อ.ต่วนเดร์ จุฑานนท์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร (สภ.) เมืองปัตตานีว่า การตรวจค้นดังกล่าวมีลักษณะการข่มขู่ คุกคามและบังคับให้ประทับลายนิ้วมื้อและให้ลงชื่อในเอกสาร โดยอ้างการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก  แต่ พ.ต.อ.ต่วนเดร์ปฏิเสธว่าไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของสภ.เมืองปัตตานี

ในวันเดียวกันเครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพได้ออกแถลงการณ์กรณีการตรวจค้นดังกล่าวด้วย โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ 1.ให้เอกสารที่นายทวีศักดิ์ได้ลงชื่อกำกับเป็นโมฆะ เนื่องจากไม่ได้มีการเก็บตัวอย่างน้ำลายไปจริง 2.ขอให้เจ้าหน้าที่ชี้แจงเหตุผลในการตรวจค้นดังกล่าว และ 3.ขอให้หน่วยงานภาครัฐชี้แจงถึงอำนาจของเจ้าหน้าที่ในการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจ DNA รวมถึงสิทธิของประชาชนต่อเรื่องนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจตรงกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน
ในการพูดคุยครั้งนี้ พ.ต.อ.ปราบพาล ชี้แจงว่า การตรวจค้นครั้งนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปราบปรามยาเสพติดและนโยบายเร่งด่วนของ คสช. ตามที่เจ้าหน้าที่ชุดตรวจค้นดังกล่าวอ้างถึง แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อจัดระเบียบฐานข้อมูลหอพักและบ้านเช่าตามวงรอบการทำงานตามปกติของเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว หากในหมู่บ้านชนบทเป็นอำนาจหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในการจัดระเบียบดังกล่าว แต่ในเขตเมืองนั้น ทางเทศบาลไม่มีอำนาจในการจัดระเบียบ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงจำเป็นต้องตรวจ จัดระเบียบดังกล่าวเอง เป็นการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน)
พ.ต.อ.ปราบพาล ชี้แจงต่อไปว่า ในการจัดระเบียบนั้น จะต้องมีการจัดเก็บข้อมูล ประวัติบุคคล ลายนิ้วมื้อ และเก็บตัวอย่างเพื่อนำไปตรวจ DNA เพื่อเป็นฐานข้อมูลของเจ้าหน้าที่ แต่ในการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจ DNA ประชาชนมีสิทธิที่จะยินยอมหรือไม่ยินยอมให้เก็บตัวอย่างไปได้ ยกเว้นกรณีที่เป็นผู้ต้องหา หรือหากลงชื่อยินยอมเพื่อให้เก็บตัวอย่างเพื่อตรวจ DNA ไปแล้ว แต่เปลี่ยนใจทีหลังก็สามารถปฏิเสธการเก็บตัวอย่างได้ ดังนั้นหนังสือยินยอมดังกล่าวก็ต้องเป็นโมฆะ เพราะไม่มีการเก็บตัวอย่างจริง
“ในกรณีของนายทวีศักดิ์ ปิ รวมถึงกรณีอื่นๆ ในการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจ DNA เหตุที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ชี้แจงก่อนว่าสามารถปฏิเสธได้นั้น เป็นเทคนิคของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการเพื่อให้การเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจ DNA บรรลุผลสำเร็จอย่างราบรื่นและรวดเร็ว” พ.ต.อ.ปราบพาล กล่าว
พ.ต.อ.ปราบพาล ชี้แจงอีกว่า ในกรณีนี้ เป็นการใช้กฎหมายตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับชั้นสัญญาบัตร ยศร้อยตำรวจตรีขึ้นไปเป็นหัวหน้าชุดในการตรวจค้น ซึ่งทุกคนสามารถขอดูบัตรได้ หากไม่มีก็สามารถที่จะไม่ให้ความร่วมมือได้ ซึ่งหลังจากนี้ต้องกำชับเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติงานให้ดีขึ้น เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน
พ.ต.อ.ปราบพาล กล่าวอีกว่า ในกรณีการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจ DNA นั้น จำเป็นต้องมีการสื่อสารกับสาธารณะเพื่อทำความเข้าใจในข้อกฎหมายแก่ประชาชน รวมทั้งการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และDNA ซึ่งตนยินดีหากจะเชิญให้เป็นวิทยากรพูดคุยเรื่องนี้
พ.ต.อ.ปราบพาล ยังกล่าวถึงกรณีที่มีเว็บไซต์หนึ่ง เขียนบทความลักษณะโจมตีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพว่า การเคลื่อนไหวร้องเรียนดังกล่าวส่อไปในทางให้ความช่วยเหลือครอบครัวผู้ต้องหาคดีความมั่นคงว่า น่าจะเป็นการปฏิบัติการข่าว หรือที่เรียกว่า ไอโอ (IO) ซึ่งเรื่องนี้ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) มีหน้าที่โดยงตรงที่จะประชาสัมพันธ์ชี้แจงต่อสาธารณะเมื่อเกิดกรณีเจ้าหน้าที่รัฐตกเป็นผู้ต้องสงสัยของสังคม
ด้านพ.ต.ต.ศิริชัย สุขสารัญ สารวัตรสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี ยอมรับว่า เจ้าหน้าที่ทั้ง 5 นายที่เข้าไปตรวจค้นในวันนั้น เป็นลูกน้องในสังกัดโดยมี ร.ต.ต.เลิศ บุญอินทร์สุข รองสารวัตรสืบสวนเป็นหัวหน้าชุด ซึ่งตนยอมรับในการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ผิดพลาด อาจจะเกิดอารมณ์ และต้องยอมรับด้วยว่าเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการโดยปกติเมื่อทำหลายคดี ไม่ว่าจะเป็นคดียาเสพติดหรือคดีอาชญากรรรม ทำให้ติดเป็นนิสัยของความเคยชินในการใช้วาจาหรือคำพูดที่ไม่สุภาพ
พ.ต.ต.ศิริชัย ชี้แจงต่อไปว่า การตรวจค้นดังกล่าว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคง เพราะมารู้ทีหลังว่าคนที่ถูกตรวจค้นมีญาติที่เคยตกเป็นผู้ต้องหาคดีความมั่นคง และไม่ใช่เป็นการข่มขู่คุกคามสื่อหรือนักกิจกรรมทางสังคม ซึ่งยืนยันได้เพราะมีบันทึกว่า เจ้าหน้าที่ชุดนี้ได้เข้าตรวจค้นหอพักและบ้านเช่ามาก่อนหน้านั้นแล้วหลายจุด เหตุที่ต้องตรวจหอพักและบ้านเช่าเนื่องจากที่ผ่านมา พบว่ามีหลายคดีที่ผู้ก่อเหตุได้ใช้หอพักหรือบ้านเช่าในเขตเมืองทั้งก่อนและหลังก่อเหตุ ซึ่งจากการตรวจสอบภาพวงจรปิดหลายจุดพบว่ามีหลายคดีเกี่ยวข้องกับหอพักบ้านเช่า