‘อัมมาร สยามวาลา’ ไม่เห็นด้วยแช่แข็งงบบัตรทอง เผยปัจจุบันใช้เงินไม่มาก แต่ถูกสร้างภาพว่าใช้เงินมาก จนเงินไม่พอ แนะลดงบประมาณที่ไม่จำเป็นด้านอื่นจะดีกว่า เสนอต้องเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการด้วย ก่อนจะบานปลายมากกว่านี้
9 ส.ค. 2557 ที่โรงแรมทีเคพาเลซ ถ.แจ้งวัฒนะ กทม. ในเวทีเสวนาเรื่อง “ความมั่นคง ความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพ : ระบบการเงินการคลังที่เป็นธรรมและเหมาะสมกับสังคมไทย” ซึ่งจัดโดยกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามักตกเป็นจำเลยมาตลอดว่ามีเงินไม่พอ แต่นี่ไม่ใช่ความจริง ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยคิดเป็น 4% ของจีดีพี ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง แต่สำนักงบประมาณก็มักจะตัดเงินในทุกปี และ 2-3 ปีที่ผ่านมาก็มีการแช่แข็งงบประมาณไว้ ทั้งที่เงินที่เพิ่มเพียงแค่ 2-4 % เท่านั้น หรือเพิ่มประมาณปีละ 5,000 ล้านบาท ทำไมไม่ประหยัดเงินในส่วนโครงการอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น เช่น จำนำข้าว แต่ทำไมใช้เงินเพื่อสุขภาพประชาชนเพิ่มปีละ 5,000 ล้านบาท จึงกลายเป็นเรื่องยากมาก ทั้งที่กองทุนหลักประกันสุขภาพเป็นการใช้เงินที่เขียมที่สุด จำกัดจำเขี่ยที่สุด
“ผมคิดว่าถ้าจะประหยัดเงิน กรุณาอย่าพุ่งเป้ามาที่งบกองทุนหลักประกันสุขภาพนี้ อย่างเรื่องร่วมจ่ายก็ผลักภาระมาที่นี่ ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการต่างหาก ที่ต้องไปจัดการทำให้มีประสิทธิภาพ ที่สำคัญอีกวิธีหนึ่งคือลดค่าใช้จ่ายเลวๆ ที่อุดมสมบูรณ์มากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา”
นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยนั้น เป็นที่ยกย่องของต่างชาติมาก และเมื่อมาเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียน เรามีรายจ่ายด้านสุขภาพไม่ถึง 4% ของจีดีพี ขณะที่ค่าเฉลี่ยยของอาเซียนอยู่ที่ 5% และเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศ OECD หรือ องค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 9.3% ดังนั้นของไทยยังต่ำมาก ไม่ได้มีปัญหาเรื่องการเงินอย่างที่มีการสร้างความเข้าใจผิด ดังนั้นการที่ถูกแช่งแข็งงบประมาณไว้ จึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เมื่อเทียบกับบริการสวัสดิการสุขภาพที่เราให้ประชาชน และประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ ขณะที่อัตราการเข้าถึงการรับบริการของเราก็ไม่ได้พุ่งสูงและยังอยู่ในค่าเฉลี่ยต่ำกว่าเกณฑ์อย่างมาก
“ตอนนี้งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาจากฐานภาษี เคยมีข้อเสนอว่า เพื่อความยั่งยืนของระบบ ให้กำหนดอัตราภาษีชัดเจน (earmark) เช่น นำไปผูกไว้กับภาษีหุ้นที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์จะดีกว่าหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดคือแนวทางที่จะป้องกันไม่ให้กองทุนนี้ถูกล้มไป ด้วยการสร้างภาพว่าเงินไม่พอ ทั้งที่ข้อเท็จจริง คือเราใช้เงินในสัดส่วนที่น้อยมาก ถ้าอยากจะลดงบประมาณ ไปลดในสิ่งที่ไม่จำเป็นจะดีกว่าหรือไม่ ดีกว่ามาลิดรอนสวัสดิการสุขภาพของประชาชน” นพ.วิโรจน์ กล่าว
นายจอน อึ๊งภากรณ์ กรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ภาคประชาชน กล่าวว่า ปัญหาของเราคือระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นดอกไม้ แต่อยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ โดยเฉพาะระบบเอกชนต้องการทำลายระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ยกตัวอย่างเช่น บริษัทที่ผลิตสเต็นท์หรือขดลวดสายสวนหัวใจ ถ้าไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สามารถขายได้ 8 หมื่นบาท แต่เมื่อมีระบบหลักประกันสุขภาพ ขายได้หมื่นกว่าบาท แต่ก็ยังได้กำไร
นายจอน กล่าวต่อว่า อีกประเด็นที่เป็นปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ ซึ่งสังคมยังขาดความเข้าใจตรงนี้อยู่มาก และผู้ที่ต้องการจะทำลายระบบ ก็ฉวยเอาโอกาสความเข้าใจผิดนี้มาทำลาย แท้จริงเราใช้จ่ายด้านสุขภาพน้อยมาก ในกลุ่มประเทศที่มีระดับรายได้เดียวกัน แต่ก็จะมีการพูดเสมอๆ ว่า รายจ่ายไม่พอ ประเทศจะแย่แล้ว ต้องลดงบหลักประกันสุขภาพลง แต่ไม่เคยพูดเรื่องรายจ่ายด้านอาวุธ แต่กลับมาพุ่งเป้าที่ระบบหลักประกันสุขภาพของประชาชน พูดแต่ว่าของฟรีไม่ดี คนไข้ไปใช้สิทธิ์โดยไม่จำเป็น ตนอยากเห็นหลักฐานตรงนี้ เพราะนี่ไม่ใช่ของฟรี ประชาชนจ่ายผ่านภาษี
นายจอน กล่าวว่า การที่ยกตัวอย่างประเทศอื่นมาบอกว่าเขามีการร่วมจ่าย ตรงนี้ต้องบอกว่าจริงส่วนหนึ่ง แต่เขาไม่ได้ร่วมจ่ายเมื่อมารับบริการ ที่อังกฤษ ระบบหลักประกันสุขภาพที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง และประเทศไทยต้องการเดินแบบนั้น สิ่งที่ต้องจ่ายคือ เมื่อไปหาหมอ แล้วหมอเขียนใบสั่งยา เมื่อไปรับยาที่ร้านขายยา ผู้ป่วยจ่าย 8 ปอนด์หรือประมาณ 400 บาท เป็นการจ่ายแบบเหมาจ่าย ไม่ว่ายาจะแพงอย่างไร ก็จ่ายเท่านั้น ซึ่งค่าเงิน 8 ปอนด์ที่อังกฤษนั้นยังไม่สามารถซื้อหนังสือได้หนึ่งเล่ม แล้วคนที่จ่ายคือคนที่มีงานทำ ส่วนคนที่จะต้องซื้อยาเป็นประจำก็มีข้อยกเว้น
นายจอน กล่าวว่า ความเข้าใจผิดอีกอันคือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าควรช่วยแต่คนจน แบบสงเคราะห์ ส่วนคนชั้นกลางขึ้นเป็นให้ดูแลตัวเอง ตรงนี้เป็นมายาคติอย่างมาก ระบบนี้เป็นสิทธิของทุกคน เป็นการรวมเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข นี่เป็นระบบที่เป็นธรรม ถ้าหากทำให้เป็นระบบสงเคราะห์ จะมีปัญหาเหมือนกับระบบสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกา ที่มีราคาแพงมาก เพราะไม่มีการคุมราคาค่ายา เครื่องมือแพทย์ ทำให้ค่าใช้จ่ายต่อหัวแพงมาก แต่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เรามีขณะนี้ มีความยุติธรรมมากที่สุด เป็นระบบสิทธิ ทั้งการประหยัดค่าใช้จ่าย มีการต่อรองราคายา การทำให้คนไม่ล้มละลาย นี่เป็นระบบที่ยุติธรรมแล้ว แต่คนในสังคมยังไม่เข้าใจ เพราะมีโฆษณาชวนเชื่อมากมาย ถ้าจำเป็นต้องจ่ายเพิ่มก็ให้ไปจ่ายเพิ่มในระบบภาษี แต่ไม่ใช่ทุกข์อยู่แล้ว ไม่สบายอยู่แล้ว ยังต้องไปหาเงินเพิ่มมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลอีก อย่างนี้ไม่ถูกต้อง