วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ทหาร ปตอ.พัน.5 เยี่ยมสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันประจำเดือนสิงหาคม 59


ทหาร 4 นาย จากกองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 5 เยี่ยมสำนักงานฟ้าเดียวกันประจำเดือนสิงหาคม พร้อมสอบถามว่าพิมพ์อะไรเป็นพิเศษหรือไม่ ขณะที่ทางสำนักพิมพ์ตอบว่าไม่เกี่ยวข้องกับปฏิทินทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ตอนนี้เร่งปิดต้นฉบับหนังสือให้ทันตุลาคมนี้
มีรายงานในเพจฟ้าเดียวกันว่า วันนี้ (23 ส.ค.) มีทหารจากกองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 5 หรือ ปตอ.พัน.5 จำนวน 4 นาย เดินทางมากับรถฮัมวี ติดไซเรน มาเยี่ยมสำนักงานฟ้าเดียวกัน ที่ จ.นนทบุรี โดยเป็นการเยี่ยมประจำเดือน
ทั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่สอบถามว่าจะพิมพ์อะไรพิเศษไหม โดยทีมงานสำนักพิมพ์ตอบว่า ถ้าเป็นปฏิทินทักษิณ -ยิ่งลักษณ์ เราไม่เกี่ยวข้อง ถ้าจะมีก็แต่หนังสือของสำนักพิมพ์ที่จะออกเดือนตุลาคมนี้
ด้านธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ยืนยันข่าวทหารตบเท้าเข้าพบดังกล่าว โดยระบุว่าหน่วยงานทหารดังกล่าวมาตรวจเยี่ยมสำนักพิมพ์ทุกเดือน

เรียกแดงบ้านโป่งเป็นพยานคดี ‘น่าเชื่อว่าจะแจก’ หลังพบสติ๊กเกอร์โหวตโนแปะอกหน้าโรงพักวันเกิดเหตุ


ตำรวจเรียกเสื้อแดงบ้านโป่ง มาเป็นพยานคดี 4 NDM- 1 นักข่าว ถูกจับกุมหน้าโรงพัก หลังพบพยานมีสติ๊กเกอร์โหวตโน แปะอยู่ที่หน้าอกเสื้อ ในวันเกิดเหตุ ด้าน 5 ผู้ต้องหาเตรียมเดินทางเข้ารายงานตัวต่อศาล 29 ส.ค. นี้
23 ส.ค. 2559 บริบูรณ์ เกียงวรากูร กลุ่มคนเสื้อแดงบ้านโป่ง ได้เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า ได้รับหมายเรียกพยานจากสถานีตำรวจภูธรบ้านโป่ง เพื่อเป็นพยานในคดีระหว่าง พ.ต.ท.สรายุทธ บุรีวชิระ ผู้กล่าวหา กับปกรณ์ อารีกุล, อนุชา รุ่งมรกต, อนันต์ โลเกตุ สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ และทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวประชาไท ผู้ถูกกล่าวหา ตามข้อกล่าวหาฐานกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง จากกรณีการที่ขบวนการประชาธิปไตยใหม่เดินทางไปให้กำลังใจชาวบ้าน 23 คนที่ถูกเรียกงานตัวฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. จากกรณีการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ ขณะที่ผู้สื่อข่าวได้ติดรถไปทำข่าวด้วย (อ่านข่าวที่นี่)
บริบูรณ์ ให้ข้อมูลว่า ตนได้รับหมายเรียกพยานดังกล่าวเมื่อเช้าของวันที่ 23 ส.ค. 2559 เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งหมายดังกล่าวไปยังที่อยู่ตามทะเบียนบ้านซึ่งตนไม่ได้อาศัยอยู่ที่นั่นแล้ว  เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบว่าตนยังไม่ได้รับหมายเรียก จึงนำหมายเรียกพยานซึ่งออกเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2559 ไปใส่ไว้ในซองจดหมายของที่พักปัจจุบัน ซึ่งหมายดังกล่าวระบุให้ไปพบพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรบ้านโป่งในวันที่ 26 ก.ค. 2559 แต่เนื่องจากเลยกำหนดดังกล่าวมาแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดต่อให้ไปพบในวันพรุ่งนี้แทน (24 ส.ค. 2559) 
ทั้งนี้ในหมายเรียกพยานได้ระบุด้วยว่า เรียกตัวบริบูรณ์มาเป็นพยานครั้งนี้ เนื่องจาก “เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ต้องหา 5 คน ฐานความผิดก่อความไม่สงบฯ มีการแจกจ่ายสติ๊กเกอร์ โหวตโน สีน้ำเงิน จากการสืบสวนทราบว่า พยานมีแผ่นสติ๊กเกอร์ติดอยู่หน้าอกเสื้อ ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในคดีนี้”
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า วันที่ 29 ส.ค. 2559 นี้ ผู้ต้องหาทั้ง 5 คนจะต้องไปรายงานตัวกับศาลจังหวัดราชบุรี ซึ่งวันดังกล่าวเป็นวันครบกำหนดที่พนักงานสอบสวนและอัยการจะต้องทำความเห็นต่อศาลว่า ควรฟ้องหรือไม่
ทวีศักดิ์ เล่าว่า วันที่เกิดเหตุ (10 ก.ค.) หลังจากขบวนการประชาธิปไตยใหม่ได้เดินทางไปให้กำลังใจชาวบ้านที่อำเภอบ้านโป่ง โดยมีตนเองในฐานะผู้สื่อข่าวขอติดรถไปทำข่าวด้วย เวลาประมาณ 11.00 น. ขณะกลับมาที่รถ ซึ่งจอดอยู่หน้าบ้านพักของรองผู้กำกับฝ่ายสืบสวน สภ.บ้านโป่ง ก็พบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบได้ทำการค้นเอกสารต่างๆ ซึ่งอยู่ท้ายรถกระบะ โดยไม่ได้ขออนุญาตเจ้าของรถซึ่งคือ ปกรณ์ อารีกุล ก่อน แต่เมื่อพบว่ามีคนเดินมา เจ้าหน้าที่จึงได้ขออนุญาตค้นอีกครั้ง ซึ่งปกรณ์ได้อนุญาตให้ค้นโดยไม่ขัดขืน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เชิญตัวทั้ง 4 คน ปกรณ์, อนุชา, อนันต์ และทวีศักดิ์ ขึ้นไปทำบันทึกประจำวัน แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นการทำบันทึกการจับกุม
ในขณะที่บันทึกการจับกุม เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุพฤติการณ์การจับกุมว่า "เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้รับแจ้งจากประชาชนอ้างว่าเป็นพลเมืองดีและศูนย์วิทยุ สภ.บ้านโป่ง ว่ามีบุคคลใช้รถยนต์กระบะเชฟโรเลท หมายเลขทะเบียน XXX บรรทุกอุปกรณ์สิ่งของท้ายรถมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าจะมาทำการแจกเอกสาร แผ่นพับ ใบปลิวในเรื่องรณรงค์ต่อต้านการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญในเขต อ.บ้านโป่ง ต่อมาจากการสืบสวนพบว่ารถยนต์คันดังกล่าวจอดอยู่ถนนทรงพล เทศบาลเมืองบ้านโป่ง เจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตัวขอตรวจค้นรถดังกล่าว"
ทั้งนี้ระหว่างที่ทั้ง 4 คนถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สภ.บ้านโป่งเพื่อเตรียมส่งศาลเพื่อขออนุญาตฝากขังเมื่อวันที่ 10 ก.ค. ในเวลา 21.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตามไปควบคุมตัว ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ จากบ้านพักในจังหวัดราชบุรีมายัง สภ.บ้านโป่งเพื่อสอบสวนและแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 61 วรรค 2 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ
ด้านทวีศักดิ์ ระบุด้วยว่า เขาได้แสดงตัวตนกับเจ้าหน้าที่ก่อนจะถูกควบคุมตัวหลายครั้งว่า ตนเองเป็นผู้สื่อข่าว และขอติดรถมาทำข่าวเพียงเท่านั้น ไม่ได้มีส่วนร่วมกับการแจกจ่ายเอกสาร หรือสติ๊กเกอร์ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นว่ามาด้วยกันจึงดำเนินคดีร่วมกัน อย่างไรก็ตามในวันที่ 12 ก.ค. 2559 ที่สำนักงานประชาไท กรุงเทพฯ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาพร้อมหมายค้น เพื่อตรวจและยึดเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์โหวตโน แต่ก็ไม่พบสิ่งใดที่เกี่ยวข้อง
ต่อมาในวันที่ 11 ก.ค. 2559 ศาลได้อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้ง 5 คน โดยผู้ต้องหาแต่ละคนได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 140,000 บาท และมีกำหนดให้ไปรายงานตัวต่อศาลอีกครั้งวันที่ 29 ส.ค. 2559

ศาลทหารรับฟ้อง 8 ผู้ต้องหาแอดมินเพจ 'เรารักพล.อ.ประยุทธ์' ม.116-พ.ร.บ.คอมฯ


23 ส.ค. 2559 ศาลทหาร กรุงเทพ ฯ อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว 8 ผู้ต้องหาเป็นแอดมินเพจ "เรารักพล.อ.ประยุทธ์" โดยก่อนหน้านั้นศาลทหารได้รับฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 8 ราย ในคดียุยง ปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และพระราชบัญญัติคอมพิวตอร์ ด้วยวงเงินประกันตัว จำนวนคนละ 2 แสนบาทตามที่ทนายความได้ยื่นมา
โดย วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ เปิดเผยว่า การปล่อยตัวชั่วคราวครั้งนี้ มีเงื่อนไขคือ ห้ามออกนอกประเทศ และห้ามยุยง ปลุกปั่น การกระทำอันจะก่อไม่สงบต่อบ้านเมือง ซึ่งวันนี้เวลาประมาณ 19.00 น. จะนำหมายปล่อยตัวไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง เพื่อปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 8 ราย
สำหรับการยื่นประกันนั้น วิญญัติ ระบุว่า ใช้หลักฐานเดิมและยื่นประกันหลักทรัพย์คนละ 2 แสนบาท เหมือนที่เคยยื่นเรื่องไปก่อนหน้านี้ พร้อมมั่นใจว่าผู้ต้องหาทั้ง 8 คน ไม่เข้าข่ายกระทำความผิดตามมาตรา 116 เนื่องจากมีข้อขัดแย้งอยู่พอสมควร แต่ทั้งนี้ยังไม่เห็นรายละเอียด และหลักฐานของคำฟ้องที่ชัดเจน
ส่วนการต่อสู้ทางคดีนั้น วิญญัติ ระบุว่า ไม่สามารถให้รายละเอียดได้ เพราะอาจส่งผลต่อรูปคดี ซึ่งมั่นใจในหลักฐาน แต่ไม่มั่นใจในระบบกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด พร้อมเรียกร้องอยากให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจอย่างระมัดระวัง และเป็นไปตามกรอบกฎหมาย
8 ผู้ต้องหาในคดีนี้ประกอบด้วย นพเกล้า คงสุวรรณ, ศุภชัย สายบุตร, วรวิทย์ ศักดิ์สมุทรานันท์, โยธิน มั่งคั่งสง่า, กัณสิทธิ์ ตั้งบุญธินา, ธนวรรธ บูรณศิริ, หฤษฏ์ มหาทน และ ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์

ประยุทธ์แจงปมคำถามพ่วง สภาเลือกรอบ 2 ถึงจะเลือกชื่อนายกฯนอกตะกร้าที่พรรคการเมืองเสนอได้


Tue, 2016-08-23 19:11

ปมคำถามพ่วง ประยุทธ์เผยที่ประชุม ครม.-คสช. เข้าใจว่า 5 ปีแรก 2 สภาร่วมเลือกนายกฯ จากรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอโดยต้องได้เสียงเกิดกึ่งหนึ่งคือ 376 เสียง แต่ถ้าไม่ได้เลือกรอบ 2 ถึงจะเลือกรายชื่อนอกตะกร้าที่พรรคการเมืองเสนอได้ เล็งแก้ รธน.เพิ่ม สนช.อีก 30 คน

23 ส.ค. 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ร่วมกับ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องทำความเข้าใจคำถามพ่วงจากการทำประชามติ
 
"5 ปีแรกในที่ประชุมร่วมของรัฐสภาคือ ส.ส. 500 คนนี่ และ ส.ว. 250 คน จะเป็นผู้ให้ความเห็นชอบเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งแปลว่าเดิมให้ ส.ส.ฝ่ายเดียวเลือก ก็เปลี่ยนเป็นให้ ส.ส. ส.ว. 750 คน เลือกตั้งแต่ต้น แต่รอบแรกจำเป็นต้องเลือกจากรายชื่อในตะกร้าที่แต่ละพรรคเสนอมาพรรคละ 3 คน ตรงนี้เข้าใจไหมรายชื่อในตะกร้าพรรคการเมืองเสนอนะ เออมันมีกติกาอยู่ข้างในเยอะแยะ รอบแรกต้องเลือกจากรายชื่อนี้เท่านั้น พรรคละ 3 คน ถ้าใครได้ถึงครึ่งคือ 376 จาก 750 คน ก็เป็นนายกรัฐมนตรี ถ้ายังไม่ได้ก็เลือกรอบ 2" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ในรอบ 2 นี้ก็คือแก้ปัญหาเดิมก็คืออะไรไปไม่ได้ก็มาตรา 7 จึงต้องแก้ตรงนี้ หากเลือกไม่ได้ก็เลือกใหม่ โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า "เลือกรอบ 2 ทีนี้เลือกจากนอกตะกร้าก็ได้ อันนี้ใครเสนอชื่อผมยังไม่รู้ เป็นเรื่องของ กรธ. เขาพิจารณา มันก็ต้องไปหารือกับ สนช. สนช. ก็ต้องไปดูมติของ สนช.เขาหลายๆ อย่างที่ชี้แจงว่าคำถามพ่วงเขาทำมาเพื่ออะไร เขามีรายละเอียดหมดล่ะ มาพูดกันไปพูดกันมาอย่างนี้อย่างโน้นมันไม่ได้หรอก มันต้องเป็นไปตามตัวบทอักษร และก็ตามความมุ่งหมายที่ออกคำถามพ่วงไป"
 
ประยุทธ์ กล่าวต่อว่าในเรื่องของ 5 ปีที่ว่านั้น ตนเข้าใจว่าจะเลือกกี่ครั้งมันก็อยู่ใน 5 ปีนั้น ส.ว. กับ ส.ส.ก็ต้องเลือกภายใน 5 ปีนั้น 
 
"ถ้าได้คนดีมา แล้ว ส.ส.ก็เสนอมา แล้วใครจะไปปฏิเสธเขาได้ เขาก็ต้องยินยอม แล้วก็ใช้คะแนนเสียงครึ่งหนึ่ง 376 จาก 750 สองสภานั่นล่ะ นี่คือความเข้าใจของผม ของครม.ทั้งหมด แล้วก็ชี้แจงโดยอาจารย์วิษณุ (เครืองาม)ซึ่งเป็นผู้เชื่อมต่อของรัฐบาล เป็นฝ่ายกฏหมายของรัฐบาล เชื่อมต่อ กรธ. อะไรต่างๆ ก็สร้างความเข้าใจร่วมกันเท่านั้นเอง ต่อไปก็ได้หยุดสักที" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า มีเรื่องการแก้ไข ม.6 รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เดิมที่มี สนช.ไม่เกิน 220 ก็เพิ่มอีก 30 คน เป็นไม่เกิน 250 คน เหตุผลเป็นเรื่องการเร่งรัดในเรื่องการทำกฏหมยสำคัญๆ ตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งกฏหมายตามนโยบายรัฐบาล

ศาลแพ่งนัดไต่สวนคำร้องใหม่ 5 ก.ย.นี้ คดี NDM ฟ้องจนท.รัฐละเมิดสิทธิฯหน้าหอศิลป์กทม.


เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลา 13.30 น. ศาลแพ่งกรุงเทพใต้นัดไต่สวนคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล จากกรณีที่กลุ่มนักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) 13 คน ได้ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก และสำนักนายกรัฐมนตรี จากกรณีการใช้กำลังเข้าควบคุมตัวโจทก์โดยใช้ความรุนแรง กรณีกิจกรรมที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 58 โดยฝ่ายโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในการฟ้องร้อง แต่การไต่สวนยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากโจทก์ที่ 6 ได้เดินทางไปต่างประเทศ ศาลจึงให้เลื่อนการไต่สวนออกไปเป็นวันที่ 5 ก.ย.59
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ รายงานด้วยว่า จากกรณีเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 59 นักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ร่วมกันทั้งหมด 13 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กองบัญชาการกองทัพบก และสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1-3 ในคดีละเมิด ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เพื่อเรียกค่าเสียหาย และค่าสินไหมทดแทนเรียก 16,468,583 บาท ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ในการฟ้องคดีร้อยละ 2 ของค่าสินไหมทดแทน เป็นจำนวนเงิน 320,000 บาท จากเหตุเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังควบคุมตัวโจทก์ด้วยความรุนแรง ในระหว่างขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ทำกิจกรรมรำลึกครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร ที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพมหานคร โดยเห็นว่าจำเลยจงใจกระทำการละเมิด จนทำให้ฝ่ายโจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถใช้เสรีภาพในการชุมนุมได้ และเข้าข่ายเป็นการละเมิดต่อร่างกายและเสรีภาพ
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้จึงไต่สวนคำร้องของนักกิจกรรมขบวนการขบวนการประชาธิปไตยใหม่ที่ขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล  ฝ่ายจำเลยได้ขอคัดค้านการยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลของโจทก์ทั้ง 13 คน  โดยให้เหตุผลประกอบว่าโจทก์ที่ 9, 12 และ 13 นั้น มีอาชีพ และมีรายได้ที่จะสามารถชำระค่าธรรมเนียมศาลได้ โดยไม่เดือดร้อนเกินสมควร อีกทั้งโจทก์ที่เหลือแม้จะเป็นนักศึกษา แต่จำเลยเห็นว่าโจทก์สามารถที่จะขวนขวายหาค่าธรรมเนียมได้จากบิดามารดาหรือญาติของตนเองได้ โดยไม่เดือดร้อนเกินสมควร  ดังนั้นจำเลยจึงขอให้ศาลยกคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมของโจทก์ และให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียม หากไม่ชำระก็ขอให้ศาลไม่รับฟ้องของโจทก์
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้ทำการไต่สวน แต่ยังไม่มีคำสั่งใด เนื่องจากโจทก์ที่ 6 ได้เดินทางไปต่างประเทศจึงไม่มาศาลในวันนัดหมาย ทนายความของโจทก์จึงได้ขอเลื่อนการไต่สวนไปในคราวหน้า และศาลได้อนุญาต ให้เลื่อนไปไต่สวนต่อในวันที่ 5 ก.ย. 59 เวลา 13.30 น.