วันอังคารที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ศาลไม่ให้ประกันครั้งที่ 4 สองจำเลยคดี 112 แอบอ้าง ‘พระเทพฯ’


7 มิ.ย. 2559 เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลจังหวัดกำแพงเพชรนัดพร้อมและสอบคำให้การในคดีระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชร กับ อัษฎาภรณ์ และ นพฤทธิ์ (สงวนนามสกุล) ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความผิดในการร่วมกันปลอมเอกสารราชการ จากกรณีการแอบอ้างสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เพื่อเรียกผลประโยชน์กับทางวัดไทรงาม จ.กำแพงเพชร
ภายหลังการสอบคำให้การ ญาติของ นพฤทธิ์ จำเลยที่ 2 ยังได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว ด้วยหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินราคาประเมิน 1.7 ล้านบาท แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว เพราะเห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูง และมีหลายข้อหา หากปล่อยตัวชั่วคราว เกรงว่าจะหลบหนี โดยนับเป็นครั้งที่ 4 แล้ว ที่จำเลยยื่นขอประกันตัวและศาลมีคำสั่งไม่อนุญาต
สำหรับคดีนี้มีจำเลย 4 คน โดย อีก 2 คน คือ กิตติภพ และ วิเศษ (สงวนนามสกุล)  เมื่อวันที่ 22 เม.ย.59 ทั้งคู่ ซึ่งเคยให้การปฏิเสธข้อหา ได้ยื่นขอกลับคำให้การต่อศาล เป็นรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกข้อหา และต่อมาเมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา ศาลได้พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้ลงโทษจำคุก 4 ปี ความผิดข้อหาสวมเครื่องแบบของเจ้าพนักงานโดยไม่มีสิทธิ ให้ลงโทษจำคุก 4 เดือน และความผิดข้อหาร่วมกันปลอมเอกสารราชการ ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี รวมโทษจำคุก 7 ปี 4 เดือน แต่จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือโทษจำคุกคนละ 3 ปี 8 เดือน (อ่านรายละเอียด)
ขณะที่ อัษฎาภรณ์ และ นพฤทธิ์ ยังยืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ศาลจึงให้อัยการโจทก์แยกฟ้องเข้ามาเป็นคดีใหม่ และศาลได้นัดพร้อมคดีใหม่ โดยจำเลยทั้งสองได้จัดทำคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรมายื่นต่อศาล ยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้ขอให้ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในคดี ศาลจึงให้คู่ความนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 8 ส.ค.59 เวลา 9.00 น.

ศาลชี้ข้อ กม.ปมพระเทพไม่ใช่บุคคลตาม ม.112 วินิจฉัยไปไม่ทำให้คดีแล้วเสร็จ 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ รายงานด้วยว่า นพฤทธิ์ จำเลยที่ 2 และทนายความ ยังได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้น ว่าคำฟ้องของโจทก์ไม่ครบองค์ประกอบความผิด เนื่องจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไม่ใช่บุคคลตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งศาลได้วินิจฉัยว่าการขอให้ศาลขี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเรื่ององค์ประกอบความผิดมาตรา 112 เท่ากับจำเลยต่อสู้ว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง ประกอบกับโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ แม้จะวินิจฉัยก็ไม่ทำให้คดีแล้วเสร็จ โจทก์ยังคงต้องนำสืบพยานในข้อหาอื่นอีก จึงเห็นควรให้มีการสืบพยานโจทก์และจำเลยให้เสร็จสิ้นก่อน และรอวินิจฉัยพร้อมกับคำพิพากษา
ทั้งนี้ ในการยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมายในการนัดพร้อมคดีในครั้งแรก ศาลก็วินิจฉัยว่าให้รอไว้พิจารณาพร้อมกับคำพิพากษาเช่นกัน แต่ในการอ่านคำพิพากษาในคดีที่จำเลยทั้งสองรับสารภาพดังกล่าว ศาลไม่ได้อ่านในส่วนรายละเอียดคดีและข้อวินิจฉัยทางกฎหมายต่างๆ จึงยังไม่ทราบรายละเอียดเนื้อหาในส่วนดังกล่าว
 

ศาลแขวงปทุมวันชี้ คดีชุมนุมหน้าหอศิลป์ฯ 1 ปีรัฐประหาร อยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร

ภาพ นัชชชา ขณะถูกอุ้มไป สน.ปทุมวัน เมื่อวันที่ 22 พ.ค.58

7 มิ.ย.2559 เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'iLaw' รายงานว่า วันนี้ (7 มิ.ย.59) เวลา 8.30 น. ศาลทหารกรุงเทพ นัดสอบคำให้การ นัชชชา กองอุดม จำเลยที่ 2 ในคดีชุมนุมฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 เรื่องผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีเข้าร่วมกิจกรรมรำลึก 1 ปี รัฐประหารที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558
นอกจากนี้ ศาลได้อ่านคำวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจศาล ซึ่งศาลแขวงปทุมวันมีความเห็นว่า แม้คำสั่งของ คสช. ไม่ได้คำรับรองจากกษัตริย์หรือรัฐสภา แต่ก็มีศักดิ์เท่าพระราชบัญญัติ เพราะ คสช. เข้าควบคุมอำนาจประเทศได้สำเร็จเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 จึงมีอำนาจในการออกกฎหมายเพื่อให้ประเทศดำเนินต่อไปได้ นอกจากนั้นประกาศ คสช. ที่ 37/2557 ซึ่งกำหนดให้ความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ต่อความมั่นคง และการฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ต้องขึ้นศาลทหาร ไม่ได้ระบุสถานะของจำเลยโดยเฉพาะ ดังนั้นพลเรือนสามารถถูกพิจารณาคดีที่ศาลนี้ได้ จึงทำให้ศาลทหารมีสิทธิ์พิจารณาคดีนี้

ด้านทนายความของนัชชชาได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาการตีความกฎหมาย พร้อมขอเลื่อนการพิจารณาคดีนี้ออกไปก่อน ศาลจึงขอพิจารณาเอกสารคำร้องที่ยื่นเรื่องมาก่อน โดยจะพิจารณาภายใน 30 วัน

ขณะที่จำเลยที่ 1 ธัชพงศ์ แกดำ วันนี้ยังไม่มีความเคลื่อนไหว หลังให้การปฏิเสธและขอต่อสู้คดี ในนัดสอบคำให้การไปแล้ว เมื่อพ.ย. 2558

iLaw ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่าก่อนถูกดำเนินคดี นัชชชาเป็นนักศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เคยถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและควบคุมตัวไปที่สโมสรกองทัพบกหลังแสดงสัญลักษณ์ชูสามนิ้ว จากกิจกรรม ชมภาพยนตร์เรื่อง Hunger Games ที่บริเวณหน้าโรงภาพยนตร์พารากอน ซีนีเพล็ก เมื่อเดือน พ.ย. 2557 และเข้าร่วมกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) เรื่อยมา

ด้านธัชพงศ์เป็นอดีตนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเคยเป็นสมาชิกแนวร่วมเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย(คปท.)

ทั้งสองและนักกิจกรรมรวม 37 คน ถูกจับกุมหลังร่วมกิจกรรมรำลึก 1 ปี รัฐประหาร ที่ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ก่อนถูกนำตัวไปสอบสวนที่สน.ปทุมวันเป็นเวลา 1 คืน ทั้งหมดได้ถูกปล่อยตัวในช่วงเช้าวันที่ 23 พ.ค. 2558 เจ้าหน้าที่แจ้งภายหลังว่า จะมีนักกิจกรรม 8-9 คนถูกตั้งข้อหา ซึ่งมีชื่อนัชชชา และธัชพงษ์ รวมอยู่ด้วย

เผยทหารขอบันทึกประชุมองค์กรสังเกตการณ์ประชามติชายแดนใต้


ประธานองค์กรฯ เผยมีทหารขอเทปบันทึกการประชุมสมาชิกองค์กรสังเกตการณ์ประชามติชายแดนใต้ เหตุสนใจการบรรยายของนิติภูมิ นวรัตน์ไปสอนทหาร ยืนยันทำกิจกรรมภายใต้ พ.ร.บ.ประชามติ
6 มิ.ย. 2559 มังโสด มะเต๊ะ ประธานองค์กรสังเกตการณ์ประชามติชายแดนใต้  ให้สัมภาษณ์ว่า เจ้าหน้าที่โรงแรมไดอิชิ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา แจ้งว่า มีทหารไม่แจ้งสังกัดเข้าไปขอเทปบันทึกภาพการประชุมขององค์กรฯ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2559 โดยการประชุมดังกล่าวเป็นการจัดประชุมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องรัฐธรรมนูญและการลงประชามติแก่เครือข่ายขององค์กรฯ ในจังหวัดสงขลา ผู้ร่วมประชุมประกอบด้วยตัวแทนจากระดับอำเภอและตำบล จำนวนกว่า 70 คน อย่างไรก็ตาม ทหารไม่ได้แจ้งจุดประสงค์ในการขอเทปบันทึกภาพ และโรงแรมไม่ได้ให้ข้อมูลไปเนื่องจากไม่ได้มีการบันทึกไว้
มังโสด กล่าวต่อว่า จากนั้นเจ้าหน้าที่ทหารได้ติดต่อมาหาตนเองโดยตรงโดยแจ้งว่า ต้องการเทปการประชุมดังกล่าวเนื่องจากสนใจข้อมูลในการบรรยายจากนิติภูมิ นวรัตน์ วิทยากร โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่าต้องการข้อมูลดังกล่าวไปสอนทหาร ทั้งนี้ ตนเองได้รับปากจะติดต่อกับวิทยากรให้ 
มังโสด กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทางองค์กรเองก็เคยมีการจัดประชุมลักษณะในคล้ายกันรวมถึงการประชุมระดับอำเภอในจังหวัดอื่นๆ ก็ไม่มีทหารมาคอยสังเกตการณ์แต่อย่างใด  พร้อมยืนยันว่าการทำงานขององค์กรเป็นไปอย่างถูกกฎหมาย ภายใต้ พ.ร.บ.ประชามติ และมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ให้มีความเข้าใจในการลงประชามติและรัฐธรรมนูญฉบับนี้
สำหรับการประชุมขององค์กรนั้นลอกเลียนมาจากรูปแบบการจัดตั้ง ครู ก. ครู ข. ของรัฐ คือมีการประชุมของคณะกรรมการในแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 15 คน หลังจากนั้นก็แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยในระดับอำเภอ อำเภอละ 20 คน โดยประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน เช่น  กลุ่มผู้นำศาสนา หรือกลุ่มครูในโรงเรียนเครือข่าย โดยการประชุมจะเป็นการเปรียบเทียบเนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ปี 2550 และฉบับปัจจุบัน เพื่ออธิบายว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร อีกทั้งข้อความที่ต่างกันในแต่ละฉบับจะส่งผลอย่างไร โดยเฉพาะมาตรา 67 ซึ่งเป็นเรื่องของศาสนา และมาตรา 54 เรื่องการศึกษา โดยองค์กรมีจุดมุ่งหมายว่า หลังจากการประชุมทางกลุ่มผู้นำศาสนาและครู จะสามารถนำความเข้าใจไปเผยแพร่ให้กับประชาชนต่อไป
ทั้งนี้ทางประธานองค์กรฯ ยืนยันว่าการประชุมที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการสร้างความเข้าใจกับรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่การตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับนั้นยังเป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะตัดสินใจเอาเอง การประชุมที่เกิดขึ้นนั้นมีจุดมุ่งหมายเพียงที่ว่า ผลของการลงประชามติในครั้งนี้จะเป็นคะแนนที่บริสุทธิ์ยุติธรรม และมาจากความเข้าใจในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญจากประชาชน
มังโสดได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทางองค์กรฯ จะยังมีการทำกิจกรรมต่อไป และวางแผนว่าในอนาคตจะไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อขอให้เครือข่ายองค์กรได้เข้าไปเป็นผู้สังเกตการณ์ในหน่วยประชามติอีกด้วย
สำหรับองค์กรสังเกตการณ์ประชามติชายแดนใต้ เปิดตัวเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2559 ที่โรงแรมไดอิชิ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
  • 1. เพื่อให้ประชาชนเข้าใจเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ
  • 2. เพื่อเชิญชวนประชาชนออกไปใช้สิทธิ์ลงประชามติ
  • 3. เพื่อให้การลงประชามติเป็นไปตามกฏหมาย และเกิดความยุติธรรม
  • 4. เพื่อป้องกันและดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนไม่ให้กระทำผิดกฏหมายประชามติ
  • 5. เพื่อสังเกตการณ์และเฝ้าระวังไม่ให้มีการทุจริตในการนับคะแนนลงประชามติ
  • 6. เพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นไปตามกฏหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการเผยแพร่ฯ อาทิ ก่อนเผยแพร่ต้องตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลวิจัย รวมถึงที่มาก่อนนำมาประกอบความเห็นหรืออ้างอิงงานวิจัยตามหลักวิชาการ เป็นต้น

ทั้งนี้ องค์กรสังเกตการณ์ประชามติชายแดนใต้ มีเครือข่ายครอบคลุม 8 จังหวัด ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา สตูล พัทลุง นครศรีธรรมราช และกระบี่ โดยประกอบไปด้วยองค์กรภาคีร่วม 34 องค์กร ตัวอย่างเช่น กลุ่มสตรีมุสลิม จังหวัดสงขลา สมาคมมุสลิมะฮ์อาสาพัฒนา จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น

เพนกวิ้น ถาม 'ลุงตู่-กรธ.' ทำไมไม่เขียนเรียนฟรีถึง ม.ปลายไว้ในร่าง รัฐธรรมนูญ


7 มิ.ย. 2559 จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ไปทำความเข้าใจ และสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนในเรื่องการเรียนฟรี 15 ปี และให้จัดทำกฎหมายให้ชัดเจนนั้น โดยระยะเร่งด่วนหากต้องการให้เกิดกฎหมายโดยเร็วก็ต้องใช้ ม. 44 ซึ่ง  รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดศธ. ระบุว่า ศธ. จะเสนอให้รัฐบาลอุดหนุนการจัดการศึกษาครอบคลุม 15 ปี เพื่อให้สังคมเกิดความมั่นใจว่ารัฐจะไม่ทอดทิ้ง ไม้ว่าเด็กจะเรียนอยู่ระดับใดก็ตาม ในสถานศึกษาของรัฐและเอกชน และแม้จะเปลี่ยนรัฐบาลก็แก้ไขไม่ได้ หรืออย่างช้าก็แก้ไขตามกระบวนการปกติ ซึ่งเวลานี้มีการแก้ไข พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... ซึ่งต้องไปดูว่ามีการกำหนดการเรื่องนี้ไว้อย่างไร หากไม่มีก็จะทำข้อเสนอแนะไปมอบให้ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
ล่าสุดวันนี้ (7 มิ.ย.59) พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิ้น นักเรียนชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 5 จากกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ผู้รณรงค์เรียกร้องให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ รับรองสิทธิในสวัสดิการการเรียนฟรีถึงมัธยมปลายกลับคืนมา ได้โพสต์จดหมายเปิดผนึกผ่านเฟซบุ๊ก 'Parit Chiwarak' ในลักษณะสาธารณะถึง พล.อ.ประยุทธ์ กระทรวงศึกษาธิการ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระบุว่าเดิมทีสิทธิเรียนฟรีดังกล่าว ได้รับประกันในรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ อยู่แล้ว ทำไมไม่ดำเนินการให้รับประกันสิทธิการศึกษาในตัวร่างรัฐธรรมนูญเสียตั้งแต่แรก 
"รัฐธรรมนูญนั้นเป็นแม่ของกฎหมายทั้งปวง เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ จะแก้ไขบิดเบือนใด ๆ ก็เป็นการยาก หากรัฐบาลใดคิดจะริดรอนสิทธิดังกล่าวของปวงชน ก็จะต้องพบอุปสรรคมากมาย เมื่อเป็นเช่นนี้ ชะตาชีวิตของเด็กไทยจึงมีความมั่นคงมากขึ้น หากลดฐานะการคุ้มครองจากระดับรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงระดับพระราชบัญญัติซึ่งแก้ไขได้ง่ายกว่า ความมั่นคงของอนาคตเด็กไทยนับล้านย่อมสั่นคลอน" พริษฐ์ กล่าว ถึงกรณีการลดการคุ้มครองสิทธิการเรียนฟรีจากระบุไว้รัฐธรรมนูญ เปลี่ยนมาอยู่ใน พ.ร.บ.แทน

โดยจดหมายของ พริษฐ์ มีรายละเอียดดังนี้
ถึง ท่านลุงประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมถึงกระทรวงศึกษาธิการ กรธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 
ดังที่ได้ปรากฎข่าวว่า ท่านลุงประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้สั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการศึกษาแนวทางแก้ไขพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติเพื่อรับประกันสวัสดิการการศึกษาเรียนฟรีจนถึงชั้นมัธยมปลายและอาชีวศึกษา ตัวผมในฐานะนักเรียน ซึ่งจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจของท่าน คงจะต้องขอชื่นชมความพยายามแก้ไขความผิดพลาดอันไม่น่าให้อภัยในมาตราการศึกษาของร่างรัฐธรรมนูญนี้ ผมจะพยายามทำใจเชื่อว่าท่านลุงมีความใส่ใจและจริงใจต่อการศึกษาของประเทศอย่างจริงแท้
 
การสั่งการของท่านลุงประยุทธ์นั้น พอจะเข้าใจได้ว่าเป็นไปเพื่อสร้างหลักประกันให้รัฐบาลชุดใหม่จัดสวัสดิการเรียนฟรีดังกล่าวต่อไป แม้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ (อาจ) จะได้บังคับใช้ของท่านปู่มีชัยนั้น จะไม่ได้บัญญัติบังคับไว้ก็ตาม การกระทำครั้งนี้ของท่านลุงนั้นน่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง แต่เมื่อลองคิดใคร่ครวญดูแล้ว กระผมก็เผลอคิดไปได้ว่า สิทธิที่ท่านลุงพยายามรับประกันนั้น เดิมทีก็รับประกันในรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ อยู่แล้ว ผมจึงไม่เข้าใจว่า ในเมื่อท่านลุงได้ดำเนินการให้มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ เหตุใดเล่า ท่านลุงจึงไม่ดำเนินการให้รับประกันสิทธิการศึกษาในตัวร่างรัฐธรรมนูญเสียตั้งแต่แรก จะได้ไม่จำเป็นจะต้องออกกฎหมายลูกกำกับภายหลัง
 
สิทธิที่จะได้เข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้นเป็นสิทธิที่ยิ่งใหญ่ เพราะจะเปิดโอกาสให้ทุกคนได้พัฒนาตัวเองไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีกว่าได้ตลอดชีวิต นับแต่ปี 2540 เป็นต้นมา สิทธิดังกล่าวจึงได้รับการรับรองในตัวรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด ด้วยเหตุว่ารัฐธรรมนูญนั้นเป็นแม่ของกฎหมายทั้งปวง เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ จะแก้ไขบิดเบือนใด ๆ ก็เป็นการยาก หากรัฐบาลใดคิดจะริดรอนสิทธิดังกล่าวของปวงชน ก็จะต้องพบอุปสรรคมากมาย เมื่อเป็นเช่นนี้ ชะตาชีวิตของเด็กไทยจึงมีความมั่นคงมากขึ้น หากลดฐานะการคุ้มครองจากระดับรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงระดับพระราชบัญญัติซึ่งแก้ไขได้ง่ายกว่า ความมั่นคงของอนาคตเด็กไทยนับล้านย่อมสั่นคลอน ยิ่งช่วงมัธยมปลายเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต จำต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ ควรจะได้รับการรับรองในตัวรัฐธรรมนูญอย่างยิ่ง ส่วนการศึกษาช่วงก่อนวัยเรียนนั้น มีความจำเป็นต้องกระทำในโรงเรียนน้อยกว่า หากลดระดับการรับรองไว้ในเพียงระดับพระราชบัญญัติก็จะเกิดความเสียหายน้อยกว่าอย่างมาก
 
ท่านลุงประยุทธ์อาจมิได้คำนึงถึงประเด็นนี้มาก่อน แต่ผมก็ไม่บังอาจจะกล่าวหาท่านพล่อย ๆ ได้เช่นนั้น ผมได้แต่เพียงหวังว่า ท่านลุงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะช่วยไขข้อสงสัยผมให้ชัดเจนขึ้นได้ หวังว่าท่านจะได้ช่วยให้วิทยาทานให้นักเรียนอย่างผมสักครั้งหนึ่ง
 
ด้วยความเคารพอย่างสูง
พริษฐ์ ชิวารักษ์, นักเรียนธรรมดา
7 มิถุนายน 2559