วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2559

ศาลอุทธรณ์เพิ่มอีกให้ 'เก่ง การุณ' จ่าย 1 ล้าน 'อี้ แทนคุณ' เหตุปราศรัยหาเสียงหมิ่น

การุณ โหสกุล (ซ้าย) แทนคุณ จิตต์อิสระ (ขวา) (ที่มา: tpd.in.th/วิกิพีเดีย)

ศาลอุทธรณ์แก้เพิ่มให้ 'การุณ' อดีต ส.ส.เพื่อไทย จ่าย 1 ล้าน 'แทนคุณ' อดีต ส.ส.ปชป. เหตุปราศรัยหมิ่นช่วงเลือกตั้งปี 54 จากชั้นต้นลง 5 แสน โดยปีที่แล้ว 'การุณ' ยังถูกลงโทษจำคุก 1 ปี 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญาในกรณีเดียวกัน
เมื่อวันที่ 26 ม.ค. ที่ผ่านมา สำนักข่าวไทย รายงานว่า ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีที่นายแทนคุณ หรืออี้ จิตต์อิสระ อดีต ส.ส.กทม. เขตดอนเมือง พรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายการุณ หรือเก่ง โหสกุล อดีตส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย เป็นจำเลย เรื่อง ละเมิด เรียกค่าเสียหายจำนวน  5 ล้านบาท กรณีที่นายการุณ  จากการกล่าวปราศรัย โจมตี ให้ร้ายนายแทนคุณ  โจทก์ ต่อหน้าประชาชนจำนวนมาก ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ที่เขตเลือกตั้งดอนเมือง ส่งผลกระทบถึงสิทธิ ชื่อเสียง หรือเกียรติคุณ ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง
คดีนี้โดยศาลชั้นต้น พิพากษาให้นายการุณ จำเลย ชดใช้เงิน 500,000 บาทแก่โจทก์ ต่อมา นายแทนคุณโจทก์ และนายการุณ จำเลย  ต่างยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า โจทก์และจำเลยลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เขตเลือกตั้งดอนเมือง ด้วยกัน โดยการปราศรัยของจำเลยที่กล่าวถึงลักษณะคู่แข่งเป็นนัยนั้น มีลักษณะตรงกับโจทก์มากกว่าคนอื่น ๆ และพึงรู้ได้ว่าเป็นโจทก์ ต่อประชาชนจำนวนมาก ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง เกียรติคุณของโจทก์ ซึ่งกำลังรณรงค์ให้ประชาชนเลือกโจทก์เป็น ส.ส.ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญอย่างยิ่งในระบอบประชาธิปไตย จึงสมควรกำหนดค่าเสียหายให้นายแทนคุณ โจทก์เพิ่มอีก 500,000 บาท
ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาแก้ เป็นว่าให้นายการุณ จำเลย ชำระเงิน 1 ล้านบาท แก่นายแทนคุณ โจทก์
สำนักข่าวไทย รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า สำหรับกรณีการปราศรัยช่วงเลือกตั้งดังกล่าว นายแทนคุณ ก็ได้ ยื่นฟ้องคดีอาญากับ นายการุณ ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 เมื่อปี 2555 ต่อศาลอาญาด้วย โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 3 และ 12 มิ.ย.54 นายการุณ ได้กล่าวปราศรัยหาเสียงในการลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส.กทม. ที่ตลาดนัดบุญอนันต์ และตลาดโกสุมรวมใจ เขตดอนเมือง เกี่ยวกับชาติตระกูล การเปลี่ยนชื่อ นามสกุล และยังอ้างถึงการถ่ายภาพในหนังสือเกย์
โดยศาลอาญา ได้มีคำพิพากษาเมื่อเดือน ม.ค.58 ให้จำคุกนายการุณ 1 ปี 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ฐานหมิ่นประมาทฯ ตามมาตรา 328 เนื่องจากเห็นว่าพฤติการณ์ปราศรัยหมิ่นประมาทโจทก์ผ่านเครื่องกระจายเสียงในบริเวณสาธารณะต่อหน้าประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จงใจทำให้กระทบความน่าเชื่อถือและคะแนนนิยม เป็นการทำลายคู่แข่งทางการเมือง ทำให้การเลือกตั้งส.ส.ในเขต 12 ไม่เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม ก่อให้เกิดความเสียหายต่อกระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งขณะนี้คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ โดยนายการุณ ได้รับการประกันตัว วงเงิน 300,000 บาท และจากกรณีปราศรัยโจมตีคู่แข่งทางการเมืองดังกล่าว นายการุณ ยังได้ถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง 5 ปี โดยศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งที่มีคำสั่งเมื่อเดือน พ.ค.56 ด้วย 

ศาลตราด ยกฟ้อง 3 จำเลยข้อหาร่วมกันฆ่า คดีระเบิดเวที กปปส. ศูนย์ทนายฯ ระบุจำเลยถูกซ้อมทรมาน


ส่วนข้อหาครอบครองอาวุธสงคราม ศาลสั่งจำคุกจำเลยที่หนึ่ง 5 ปีไม่รอลงอาญา คดีปาระเบิดเวที กปปส.จนมีผู้เสียชีวิต 3 ราย ศาลยกฟ้องแต่ให้ขังไว้ระหว่างรออุทธรณ์ ระบุโทษหนักถึงประหารต้องมีพยานชัดแจ้ง พยานโจทก์ที่ให้การซัดทอดยังไม่มีน้ำหนักมากพอ ด้านศูนย์ทนายฯ สัมภาษณ์จำเลยระบุโดนซ้อมทรมานหนักก่อนขึ้นศาล
26 ม.ค.2559 ศาลจังหวัดตราดนัดอ่านคำพิพากษาคดีปาระเบิดบริเวณที่ชุมนุม กปปส.จังหวัดตราด มี นายวัชระ กระจ่างกลาง เป็นจำเลยที่ 1 นายสมศักดิ์ พูลสวัสดิ์ เป็นจำเลยที่ 2 และ นายสมศักดิ์ สุนันท์ เป็นจำเลยที่ 3 ในข้อหาความผิดต่อชีวิตและพยายามฆ่า โดยศาลพิพากษาให้มีการยกฟ้องจำเลย
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2557 กลุ่มคนร้ายใช้รถยนต์กระบะ 2 คัน พร้อมอาวุธสงครามและระเบิดขว้างไปยังสถานที่ชุมนุมจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย ซึ่งจำนวน 2 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตเป็นเด็กผู้หญิง และนอกจากนั้นยังได้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากความรุนแรงดังกล่าวอีก 39 คน  
สมภพ โชติวงษ์ ทนายอาวุโสจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้กล่าวโดยสรุปว่า เบื้องต้นว่าศาลชั้นต้นได้อ่านคำตัดสินว่าจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ศาลได้วินิจฉัยความผิดตามที่โจทก์ฟ้องเห็นว่า เนื่องจากเป็นคดีร้ายแรงที่มีอัตราโทษสูงถึงประหารชีวิต โจทก์จึงจำต้องมีพยานโจทก์มาสอบจนเป็นที่ชัดแจ้ง แต่พยานที่โจทก์ได้นำมาสืบนั้นเป็นพยานซัดทอด โดยที่โจทก์ไม่ได้มีพยานปากอื่นมาประกอบ ศาลจึงต้องพิจารณาด้วยความระมัดระวัง จึงทำให้ศาลไม่สามารถรับฟังปากคำของพยานเพียงลำพังได้ ส่วนหลักฐานผลการพิสูจน์ดีเอ็นเอของจำเลยที่ 1 และ 2 ที่พบในหลายสถานที่นั้น แต่กลับไม่มีผลการพิสูจน์ดีเอ็นเอ จากที่เกิดเหตุจึงไม่สามารถทำให้มีความน่าเชื่อถือได้ว่าจำเลยทั้งสองมีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ประกอบกับการที่โจทก์ไม่ได้สืบพยานเจ้าหน้าที่ทหารที่เข้าทำการตรวจค้นและจับกุม จึงไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดจริง ศาลจึงยกผลประโยชน์ให้จำเลยโดยตัดสินให้ยกฟ้องจำเลยในคดีทั้ง 3 คน แต่ให้จำคุกไว้ก่อนระหว่างรออุทธรณ์ หากโจทก์ไม่อุทธรณ์ในกำหนดเวลา 30 วัน หรือไม่ขอขยายเวลาอุทธรณ์ให้ถือว่าคดีสิ้นสุดแล้วให้ปล่อยตัว
สำหรับข้อกล่าวหาเรื่องการครอบครองอาวุธสงครามของนาย วัชระ กระจ่างกลาง จำเลยที่ 1 ฟังจากการสืบพยานฝ่ายโจทก์แล้วศาลเชื่อว่านายวัชระมีความผิดจริง มีคำสั่งให้ลงโทษจำคุกนายวัชระ กระจ่างกลาง เป็นเวลา 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการนำสืบเรื่องการซ้อมทรมานผู้ต้องหาหรือไม่ ทนายความกล่าววว่า ในการสืบพยานได้ซักถามจำเลยเรื่องการซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่ด้วย แต่ในคำพิพากษาไม่ปรากฏการพิจารณาเรื่องนี้แต่อย่างใด
นางเชาวลักษณ์ ภรรยาของนายสมศักดิ์ พูลสวัสดิ์ จำเลยที่ 2 กล่าวว่าขณะนี้ทางครอบครัวของผู้ต้องขังทั้ง 3 รายอยู่ในระหว่างการรวบรวมหลักทรัพย์เพื่อยื่นขอประกันตัวอีกครั้ง เนื่องจากเป็นห่วงสวัสดิภาพของผู้ต้องขังในเรือนจำ และอยากให้พวกเขาได้กลับคืนมาอยู่กับครอบครัวโดยเร็ว

เว็บไซต์ MGR online รายงานว่า โจทก์ร่วมทั้ง 7 คนที่เป็นญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิต และผู้ได้รับบาดเจ็บที่เป็นโจทย์ร่วมเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย ไม่สามารถเรียกร้องได้เนื่องจากศาลจังหวัดตราดพิพากษายกฟ้องในคดีพยายามฆ่า ด้านนายสมคะเน แสงทอง อัยการจังหวัดตราด เจ้าของคดี กล่าวว่า ในส่วนของการยื่นอุทธรณ์นั้นไม่สามารถตัดสินใจได้ต้องให้ทางอัยการจังหวัดตราดทำเรื่องไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดภาค 2 เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง
เว็บศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รายงานการสืบคดี และกระบวนการจับกุมผู้ต้องหาในคดีนี้ โดยระบุถึงการร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมานผู้ต้องหาในคดีนี้ว่า จากการสัมภาษณ์ผู้ต้องหาทั้ง 3 รายทราบว่าในการสอบสวนระหว่างที่ถูกควบคุมตัวในชั้นกฎอัยการศึกมีการทำร้ายร่างกายและข่มขู่เพื่อรับสารภาพ โดยให้รายละเอียดไว้ดังนี้
กรณีของนายสมศักดิ์ พูลสวัสดิ์ เจ้าหน้าที่ทหารได้พยายามข่มขู่ให้นายสมศักดิ์รับสารภาพว่าเป็นเจ้าของอาวุธที่ทหารยึดมาได้จากสวนแห่งหนึ่ง เขาถูกควบคุมตัวเป็นเวลา 8 วัน ซึ่งถือว่าเกินกว่าที่กฏอัยการศึกให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารไว้ โดยระหว่างการสอบสวนเจ้าหน้าที่ทหารได้คลุมศีรษะนายสมศักดิ์ด้วยถุง และทำร้ายร่างกายจนกระทั่งปัสสาวะราด รวมถึงสร้างสถานการณ์จำลองว่าเจ้าหน้าที่ทหารจะมีเจตนาฆ่านายสมศักดิ์ เพื่อให้นายสมศักดิ์เกิดความหวาดกลัว โดยมีเป้าหมายคือบังคับให้นายสมศักดิ์ยอมให้ข้อมูลและรับสารภาพว่าเป็นผู้ก่อเหตุ
นายวัชระ กระจ่างกลาง ถูกสอบสวนโดยตลอด และช่วงเย็นของแต่ละวัน เจ้าหน้าที่ทหารจะปิดตานายวัชระด้วยผ้า บางครั้งก็มีปิดปากและจมูกเพื่อทำให้นายวัชระขาดอากาศหายใจ และทำร้ายร่างกายด้วยวิธีต่างๆ เพื่อบังคับนายวัชระยอมรับสารภาพว่าเป็นผู้ก่อเหตุ
ส่วนในกรณีของนายสมศักดิ์ สุนันท์ หลังได้ปล่อยตัวชั่วคราวที่กองปราบปรามฯ และถูกควบคุมตัวต่อโดยเจ้าหน้าที่ทหารทันที นายสมศักดิ์ถูกคลุมศีรษะและถูกนำตัวไปที่สถานที่แห่งหนึ่ง นายสมศักดิ์ถูกขังไว้ในห้องมืดทึบ ไม่มีเครื่องปรับอากาศและพัดลม วันที่ 21 ก.ค 2557 นายสมศักดิ์ถูกเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกาย นำถุงพลาสติกมาครอบศีรษะให้ขาดอากาศหายใจ และช็อตด้วยกระแสไฟฟ้าเพื่อบังคับให้ยอมรับสารภาพว่าเป็นผู้ก่อเหตุ นอกจากนั้นสมศักดิ์ถูกควบคุมตัวอยู่กับเจ้าหน้าที่ทหารตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค ถึงวันที่ 12 ส.ค 2557 รวมทั้งสิ้นเป็นเวลา 26 วัน

มีชัยยันยังไม่บ้าที่จะเอา รธน.57 มาใช้ถาวร ชี้ถ้าไม่มีของใหม่ก็ใช้ของเดิมไปก่อน


จากรณีที่ ไทยรัฐฉบับพิมพ์  รายงานว่า วันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาหมวดบทเฉพาะกาล โดยนายมีชัยให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมตอนหนึ่งถึงกรณี กรธ.จะส่งเรื่องให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เรื่องการทำประชามติหรือไม่ นายมีชัยตอบว่า ถ้ารัฐบาลเข้าใจตรงกันว่า นับคะแนนเฉพาะผู้มาใช้สิทธิก็ไม่จำเป็นต้องแก้ แต่ถ้าอยากจะแก้ก็แก้ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องของ กรธ. เมื่อถามว่า ถ้าไม่แก้แล้วมีฝ่ายที่ไม่เข้าใจนำประเด็นนี้ไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความ จะทำให้ผลประชามติล่าช้าหรือไม่ นายมีชัยตอบว่า รัฐบาลต้องปรึกษาศาลรัฐธรรมนูญก่อน ได้ผลอย่างไรค่อยดำเนินการ
เมื่อถามว่า ต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อหาทางออกกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติหรือไม่ นายมีชัยตอบว่า ส่วนนั้นทำไม่ได้ ถ้าระบุทางออกไว้คนจะไม่ดูเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าหากไม่รับร่างฯก็ไม่มีรัฐธรรมนูญใช้ และจะได้รัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้ในปัจจุบันมาแทน หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านค่อยไปคิดกันอีกที เมื่อถามว่า การไม่เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพราะกลัวไม่ผ่านประชามติใช่หรือไม่ นายมีชัยตอบว่า ไม่ใช่ เพราะถ้าทำอะไรแล้วไปตั้งเงื่อนไข แสดงว่าสิ่งที่เราทำก็ไม่ใช่ของดี
'วิษณุ' เชื่อ 'มีชัย' แค่ประชด ชี้ รธน.ชั่วคราว ไม่มีเรื่องเลือกตั้ง 
ความคลุมเครือส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษณ์วิจารณ์ว่า นายมีชัย เสนอว่าหาก ร่าง รธน. ไม่ผ่านประชามติ จะใช้รธน. ของ คสช. เช่น เดลินิวส์ รายงานเมื่อวันที่ 26 ม.ค. ที่ผ่านมา ถึงความเห็นต่อกรณีของ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนี้ โดย นายวิษณุ กล่าวว่า ว่า นายมีชัย คงประชด แต่จะใช้ได้อย่างไร เพราะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว บทบัญญัติทั้งหมดเขียนเอาไว้ชั่วคราว ไม่มีเรื่องเลือกตั้ง ไม่มีเรื่องแถลงนโยบาย และอีกหลาย ๆ เรื่อง หากจะบอกว่า ถ้าไม่มีก็เติมเข้าไป รวมแล้วก็เกือบเท่า 261 มาตราของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยแล้ว ซึ่งก็คือการทำใหม่ หรือแม้แต่จะเอารัฐธรรมนูญปี 2540 มาเป็นตัวตั้ง ก็ไม่ได้หมายความว่าลอกมาทั้งหมด ต้องดัดแปลง โดยตัดออก 20 มาตรา แล้วใส่เข้าไปใหม่ 40 มาตรา ซึ่งก็เป็นตัวตั้ง เพียงแต่มันจะมองเห็นทิศทางว่าจะไปในแนวไหน ดังนั้นอย่าไปตื่นเต้นกับเรื่องเหล่านี้
ชี้หากเขียนทางออกกรณีประชามติไม่ผ่าน เท่ากับกำหนดล่วงหน้า เผยเตรียมคำตอบเอาไว้แล้ว
ต่อกรณีที่นายมีชัย ระบุว่าไม่ควรเขียนทางออกเรื่องประชามติไม่ผ่าน เพราะจะทำให้คนไม่สนใจเนื้อหานั้น นายวิษณุ กล่าวว่า คล้ายกับสิ่งที่ตนเคยพูด เพราะเท่ากับเป็นการไปกำหนดล่วงหน้าว่ากลายเป็นการเตรียมทางออกหากไม่ผ่าน แต่ในแง่ของ คสช. และรัฐบาล คงต้องคิดว่าจะแก้หรือไม่แก้ เพียงแต่ต้องมีคำตอบให้กับประชาชนเท่านั้น ว่าถ้าไม่ผ่านแล้วจะทำอย่างไรต่อ ทีนี้คำตอบมันอาจจะมาโดยการแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งถ้าแก้ก็ไม่อึมครึม แต่ถ้าไม่แก้ก็ต้องมีคำตอบ แต่ว่าอาจจะยังประกาศไม่ได้ ดังนั้นตอนนี้อย่าเพิ่งพูดอะไรเลย เอาเป็นว่าคนที่เกี่ยวข้องกำลังคิดหาหนทางที่ดีที่สุด ซึ่งต้องเตรียมคำตอบเอาไว้ แม้แต่ถ้าผ่านประชามติก็ต้องเตรียมคำตอบว่าจะทำกฎหมายลูกอย่างไร
 
มีชัย ยันยังไม่บ้าที่จะเอา รธน.57 มาใช้ถาวร ชี้ถ้าไม่มีของใหม่ก็ใช้ของเดิมไปก่อน
 
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด วันนี้ (27 ม.ค.59) สำนักข่าวไทย และมติชนออนไลน์ รายงานว่า นายมีชัย กล่าวถึงกรณีนี้ว่า เป็นข้อมูลคลาดเคลื่อน เป็นเรื่องที่เข้าใจผิด เพราะไม่ได้จะให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ไปตลอด แต่ต้องใช้จนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขณะที่รัฐบาลชุดปัจจุบัน ยังคงทำหน้าที่บริหารประเทศต่อไป จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง
 
"แล้วถ้าประชามติไม่ผ่าน แล้วจะเอารัฐธรรมนูญที่ไหนใช้ ผมก็บอกว่ารัฐธรรมนูญปี 2557 มันยังใช้อยู่ ไม่ได้ถูกยกเลิก ส่วนต่อไปหลังจากนั้นจะคิดอ่านทำไงก็ค่อยไปคิดกัน โอ๋ คนก็จ้องเลยว่าผมบ้าแล้วล่ะ ว่าไปเอารัฐธรรมนูญ 57 มาใช้ถาวร ผมยังไม่บ้า มันก็ใช้ของมันเรื่อยไปจนกว่าใครจะไปยกเลิก ถ้ารัฐธรรมนูญนี้ออกมันก็ยกเลิก" นายมีชัย กล่าว
 
ประธาน กรธ. กล่าวว่า  แม้จะดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็จะไม่ส่งข้อเสนอไปยัง คสช.เกี่ยวกับเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ประเด็นการทำประชามติเพื่อให้มีความชัดเจน ทั้งเรื่องเสียงที่จะผ่านการทำประชาติ และเรื่องที่จะทำอย่างไรต่อไปหากประชามติไม่ผ่าน เพราะเป็นอำนาจของ คสช. ไม่ใช่หน้าที่ตน