แม้จะปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว แต่ในโอกาสครบรอบ 6 ปี การสลายการชุมนุมที่สี่แยกคอกวัว-ถนนดินสอ ในวันที่ 10 เมษายน 2553 ปฐมบทแห่งความรุนแรงและโศกนาฏกรรมทางการเมืองครั้งสำคัญ ‘ประชาไท’ นำเสนอคำพิพากษาโดยละเอียดของทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ยกฟ้องคดีที่สื่อเรียกสั้นๆ ว่า “คดี 93 ศพ’ สำคัญยิ่งคือ คำโต้แย้งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาที่แนบท้ายไว้ว่า “ไม่เห็นด้วยกับการยกฟ้อง”
คดีนี้อัยการสูงสุดฟ้อง 1 สำนวน และอีกสำนวนหนึ่งประชาชนอีก 2 คนขอเป็นโจทก์ร่วม โดยฟ้อง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นจำเลยที่ 1 และ สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และผอ.ศอฉ.ในขณะนั้นเป็นจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานเป็นผู้ก่อหรือผู้ใช้ให้คนอื่นกระทำความผิดข้อหาฆ่าคนตาย ซึ่งศาลนำมาพิจารณารวมกันในคราวเดียว
ต้องอธิบายก่อนว่า ก่อนที่อัยการสูงสุดจะดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลอาญาดังกล่าว มีการ “ไต่สวนการตาย” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 อยู่อย่างต่อเนื่องภายหลังเหตุการณ์ มีการสืบพยานกันหลายปาก หลายคดีศาลชี้ว่ากระสุนมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ทหาร ขณะที่อีกบางส่วนศาลระบุว่ายังไม่ทราบแน่ชัดว่ากระสุนมาจากที่ใด เมื่อไต่สวนได้ความแล้วอัยการต้องสั่งฟ้องเป็นคดีอาญาตามกฎหมาย
ระหว่างที่อัยการส่งฟ้องต่อศาล จำเลยทั้งสอง อภิสิทธิ์-สุเทพ ก็ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษไม่มีอำนาจสอบสวนคดีนี้ โดยผู้ที่มีหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริงคดีนี้คือ ป.ป.ช. เนื่องจากเป็นกระทำการในฐานะนายกฯ และรองนายกฯ ต่อมาทั้งอภิสิทธิ์และสุเทพยังได้ฟ้อง ‘ธาริต เพ็งดิษฐ์’ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และพนักงานสอบสวนรวม 4 คน ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และมีเจตนากลั่นแกล้งผู้อื่นให้ได้รับโทษทางอาญา ทั้งที่ดีเอสไอไม่มีอำนาจ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง ต่อมาศาลรับฎีกาของทั้งคู่ไปเมื่อพ.ย.2558 ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณา
หลังการรัฐประหารของ คสช. ไม่นาน ในวันที่ 28 สิงหาคม 2557 ศาลชั้นต้นยกฟ้อง 'คดี 93 ศพ' ดังกล่าว โดยมี 'ความเห็นแย้ง' ของธงชัย เสนามนตรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา แนบท้ายไว้ จากนั้นทั้งโจทก์และจำเลยต่างอุทธรณ์ วันที่ 21 สิงหาคม 2558 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้องตามศาลชั้นต้น
เราจะเริ่มต้นจากการอ่านคำโต้แย้งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ซึ่งจะว่าเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ก็อาจจะไม่ผิดนัก คำโต้แย้งของเขานำเสนอข้อกฎหมายและเหตุผลไม่เห็นด้วยกับการยกฟ้องของศาลชั้นต้น
คำโต้แย้งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา "ศาลไม่ควรยกฟ้อง"
“ข้าพเจ้านายธงชัย เสนามนตรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้ตรวจสำนวนคดีหมายเลขดำที่ อ.4552/2556 และคดีหมายเลขดำที่ อ.1375/2557 ทั้งสองคดีแล้ว ข้าพเจ้าไม่เห็นชอบกับคำพิพากษาทั้งสองสำนวนดังกล่าว จึงอาศัยอำนาจตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 11(1) ทำความเห็นแย้ง ดังต่อไปนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า คดีทั้งสองสำนวนอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลอาญาหรือไม่ เห็นว่า ก่อนฟ้องคดีนี้พนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพ และทำคำสั่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 150 ศาลอาญามีคำสั่งว่า ผู้ตายถูกกระสุนปืนความเร็วสูงจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหรหรือกระสุนปืนยิงมาจากด้านเจ้าพนักงาน ..ตามสำเนาคำสั่งแนบท้ายคำฟ้อง เมื่อศาลไต่สวนและมีคำสั่งดังกล่าวแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 วรรคสิบเอ็ด ให้ศาลส่งสำนวนการไต่สวนของศาลไปยังพนักงานอัยการเพื่อส่งให้แก่พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป ทั้งมาตรา 150 วรรคสิบ ให้คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ถึงที่สุด แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิฟ้องร้องและการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล หากพนักงานอัยการหรือบุคคลอื่นได้ฟ้องหรือจะฟ้องคดีเกี่ยวกับการตายนั้น จึงเท่ากับว่าการดำเนินการขอให้ไต่สวนชันสูตรพลิกศพกรณีที่ปรากฏว่าบุคคลใดตายอันเนื่องมาจากการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติหน้าที่ราชการตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรคสาม เมื่อศาลชี้ขาดว่าเจ้าพนักงานเป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงหรือยิงมาจากเจ้าพนักงาน พนักงานอัยการมีหน้าที่ต้องส่งสำนวนการไต่สวนให้แก่พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป คือ สอบสวนหาผู้กระทำผิด ทั้งยังบัญญัติในมาตรา 150 วรรคสิบ ให้พนักงานอัยการหรือบุคคลอื่นฟ้องคดีเกี่ยวกับการตายดังกล่าวได้ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า พนักงานอัยการส่งสำนวนดังกล่าวให้แก่พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นผู้สอบสวนตามพ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ซึ่งต่อมาพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษได้เสนอความเห็นสั่งฟ้องจำเลยทั้งสองแล้วส่งสำนวนให้แก่พนักงานอัยการ พนักงานอัยการโดยอัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งฟ้องจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 143 ซึ่งระบุว่า “ในคดีฆาตรกรรม ซึ่งผู้ตายถูกเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ฆ่าตาย..อธิบดีกรมอัยการหรือผู้รักษาการแทนเท่านั้นมีอำนาจออกคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง” การสั่งฟ้องของอัยการสูงสุดจึงเป็นการสั่งฟ้องในข้อหาฆาตรกรรม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 84 อันเนื่องมาจากการดำเนินการไต่สวนชันสูตรพลิกศพดังที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งมาตรา 150 วรรคสิบ ให้อำนาจพนักงานอัยการหรือบุคคลอื่นรวมทั้งผู้เสียหายฟ้องคดี เกี่ยวกับการตายดังกล่าวนั้นได้ โจทก์จึงยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับโทษฐานเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดข้อหาฆ่าคนตาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288,80,83,84 หาใช่ฟ้องขอให้ลงโทษในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการแต่อย่างใด แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องในตอนแรกว่าจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าพนักงาน แต่ก็เป็นเพียงการบรรยายเพื่อให้ปรากฏที่มาของการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดเท่านั้น นอกจากนี้การที่เจ้าพนักงานใช้อาวุธสงครามยิงผู้ตาย ย่อมเป็นการกระทำนอกเหนือตำแหน่งหน้าที่ราชการของจำเลยทั้งสอง เพียงแต่ตามคำฟ้องระบุว่าจำเลยที่ 2 มีคำสั่งอนุมัติใช้อาวุธและกระสุนจริง และมีการใช้พลแม่นปืนปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งจำเลยทั้งสองมีเจตนาเล็งเห็นผลว่า เจ้าพนักงานจะใช้อาวุธสงครามยิงประชาชนได้ จึงเป็นเรื่องการกระทำนอกเหนือตำแหน่งหน้าที่ราชการ เป็นการก่อหรือใช้ให้เจ้าพนักงานกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ส่วนพยานหลักฐานจะรับฟังได้หรือไม่เพียงใดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง นอกจากนั้นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นฆ่าคนตายตามมาตรา 288,84 ซึ่งต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี แต่คดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีอำนาจไต่สวนเป็นความผิดต่อหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ความผิดที่โจทก์ฟ้องฐานใช้หรือก่อให้ฆ่าผู้อื่นจึงเป็นบทหนักโทษสูงกว่าความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการอย่างมาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 66 จึงได้บัญญัติให้คณะกรรมการป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนการกระทำผิดต่อหน้าที่ราชการของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น มิได้มุ่งหวังให้ดำเนินการไต่สวนความผิดฐานอื่น โดยเฉพาะความผิดฐานฆ่าผู้อื่นซึ่งเป็นความผิดร้ายแรง ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการ เนื่องจากเป็นคดีอาญาแผ่นดินที่พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอยู่แล้ว แม้คณะกรรมการป.ป.ช.จะเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ในขณะนี้ แต่ไม่ใช่องค์กรศาล ไม่มีอำนาจชี้ขาดหรือพิพากษาลงโทษผู้ใดได้ เพียงแต่ให้อำนาจตามมาตรา 66 ในการใช้ดุลยพินิจว่าสมควรไต่สวนหรือไม่เท่านั้น หากเห็นว่าไม่มีมูลก็ยกคำร้องไป หากเห็นว่ามีมูลก็ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป ซึ่งเป็นความมุ่งหมายให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการเฉพาะความผิดที่ระบุไว้ตามมาตรา 66 คือ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญาเท่านั้น แต่ความผิดที่โจทก์ฟ้องเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นอันสืบเนื่องมาจากการไต่สวนชันสูตรพลิกศพแล้วฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า เจ้าพนักงานเป็นผู้ใช้อาวุธสงครามยิงผู้ตายโดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้กระทำความผิดจึงเป็นความผิดคนละฐานแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการไม่มีมูลก็ย่อมทำให้ความผิดฐานก่อหรือใช้ให้ฆ่าผู้อื่นยุติไปด้วย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทำหน้าที่เป็นศาลในเวลาเดียวกันด้วย ซึ่งหาใช่ความมุ่งหมายของมาตรา 66 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ดังกล่าวไม่ นอกจากนี้ยังเป็นการตัดสิทธิของผู้เสียหายซึ่งเป็นบิดา มารดา หรือญาติของผู้ตายที่จะใช้สิทธิของตนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรสิบ อีกด้วย นอกจากนี้บิดา มารดาของนายสุวรรณ ศรีรักษา และ นายอัฐชัย ชุมจันทร์ ผู้ตายได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองคดีนี้ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ตามคดีหมายเลขดำที่ อ.724/2557 โดยศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งนัดไต่สวนมูลฟ้องเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2557 ต่อมาโจทก์คดีนี้ยื่นคำร้องลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2557 ขอให้นำคดีของศาลอาญากรุงเทพใต้ดังกล่าวมารวมพิจารณากับคดีนี้ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนนี้จึงมีหนังสือไปยังศาลอาญากรุงเทพใต้ว่า หากศาลอาญากรุงเทพใต้ไม่ขัดข้องก็ขอให้มีคำสั่งโอนสำนวนมารวมพิจารณากับคดีนี้ ศาลอาญากรุงเทพใต้จึงมีคำสั่งให้โอนคดีมารวมพิจารณากับคดีนี้ ศาลอาญาออกหมายเลขคดีใหม่เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.1694/2557 โดยคดีดังกล่าวนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยทั้งสองคดีนี้ โดยอ้างเหตุเนื่องมาจากการไต่สวนชันสูตรพลิกศพตามคดีหมายเลขแดงที่ ช.5/2556 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้เจ้าพนักงานใช้อาวุธสงครามยิงบุตรของโจทก์ทั้งสองจนถึงแก่ความตาย จึงเป็นกรณีที่บิดามารดามีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองอันเนื่องมาจากการไต่สวนชันสูตรพลิกศพตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรคสิบ ซึ่งหาได้เกี่ยวกับความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการแต่อย่างใด หากอำนาจการชี้ขาดไปอยู่ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังคำพิพากษาที่วินิจฉัยมาย่อมเป็นการตัดสิทธิไม่ให้ผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในข้อหาก่อหรือใช้ให้ฆ่าผู้อื่นซึ่งเป็นการแปลความกฎหมายที่ปราศจากความยุติธรรมและขัดต่อหลักกฎหมาย เมื่อจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธว่าตนเองไม่ได้กระทำความผิด จำเลยทั้งสองก็ควรเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม โดยการต่อสู้คดีกันจนถึงที่สุดเพื่อความยุติธรรมทั้งสองฝ่าย มิใช่วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายตัดสิทธิฟ้องของโจทก์และผู้เสียหายเช่นนี้ นอกจากนี้แม้การกระทำดังกล่าวจะเป็นความผิดกรรมเดียวกันระหว่างความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ซึ่งเป็นบทเบาระงับแล้วมีผลให้ความผิดบทหนักต้องระงับหรือยุติไปด้วย คดีนี้เหตุเกิดปี 2553 และปัจจุบันคดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการยังอยู่ในระหว่างการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 66 โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ได้มีคำสั่งไปในทางใดทางหนึ่ง ดังนั้นผลการไต่สวนจะเป็นเช่นใดจึงไม่อาจคาดคะเนได้ หากผลการไต่สวนได้ข้อยุติว่าไม่มีมูล ย่อมมีผลเฉพาะข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเท่านั้น หามีผลต่อความผิดฐานก่อหรือใช้ให้ฆ่าผู้อื่น ซึ่งเป็นความผิดที่โจทก์ฟ้องแต่ประการใดไม่ ดังเหตุผลที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้นแล้ว แต่หากคณะกรรมการป.ป.ช. มีมติว่าข้อหาดังกล่าวมีมูลความผิดตามมาตรา 66 ก็ให้ส่งรายงานและเอกสารพร้อมทั้งความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามมาตรา 70 ซึ่งหากศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองรับฟ้องไว้ก็จะมีเฉพาะข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเท่านั้น ศาลอาญายังคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาความผิดก่อหรือใช้ให้ฆ่าผู้อื่นต่อไป แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวกันก็เป็นเรื่องที่ศาล โจทก์ หรือจำเลยทั้งสองจะแถลงต่อศาลดังกล่าวว่า เป็นการกรทำความผิดกรรมเดียวกัน สมควรรวมการพิจารณาเข้าด้วยกัน ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นศาลสูงสุด มีอำนาจสั่งให้โอนสำนวนมารวมพิจารณาหรือมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งได้อยู่แล้ว จึงไม่ใช่กรณีที่ศาลทั้งสองข้างต้นมีอำนาจขัดแย้งกัน ทั้งข้อเท็จจริงในเรื่องดังที่กล่าวมาข้างต้นก็ยังไม่ได้เกิดขึ้น ดังนั้น ตราบใดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ชี้มูล ก็ไม่มีเหตุที่จะคาดการล่วงหน้าแล้ววินิจฉัยว่าศาลอาญาไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ โดยยกอำนาจเด็ดขาดของศาลไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้ขาดเสียเอง ด้วยเหตุผลดังได้วินิจฉัยมาข้างต้น จึงมีความเห็นแย้งว่าการสอบสวนของพนักงานสอบสวนกรมคดีพิเศษอันสืบเนื่องจากการไต่สวนชันสูตรพลิกศพตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ซึ่งต่อมาอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลอาญาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288,80,83,84 นั้นเป็นการปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นอำนาจของศาลอาญาที่จะพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวได้ จึงไม่เห็นชอบกับคำพิพากษาดังกล่าว
จึงควรมีคำสั่งว่า ศาลอาญามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ และผู้เสียหายมีสิทธิเข้าเป็นโจทก์ร่วมในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ อ.4552/2556 แล้วให้ดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาต่อไป
นายธงชัย เสนามนตรี
อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ผู้ทำความเห็นแย้ง”
เหตุผลการยกฟ้องของศาลชั้นต้น
“.........
พิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงจากที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องและที่โจทก์แถลงรับไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับวันที่ 24 มีนาคม 2557 และ 28 กรกฎาคม 2557 ว่า สาเหตุที่มีบุคคลถึงแก่ความตายตามฟ้อง... เกิดจากการปฏิบัติการทางทหารในการผลักดันผู้ชุมนุม สลายการชุนุม กระชับพื้นที่หรือขอคืนพื้นที่โดยเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนจริงและกระสุนปืนจริงยิงใส่ผู้ชุมนุมโดยมีเจตนาฆ่า ตามคำสั่งของจำเลยที่1 ที่ปรากฏตามกระดาษเขียนข่าว ลับ-ด่วนที่สุดที่ กห 0407.45/148 ที่ให้ ศอฉ.ดำเนินการควบคุมการคมนาคมที่มุ่งเข้าสู่พื้นที่สีลมและมีการจัดวางกำลังเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อสกัดกั้นการเคลื่อนย้ายของกลุ่มผู้ชุมนุมและให้มีการกำหนดแนวห้ามผ่านเด็ดขาดและให้ทำเครื่องหมายหรือประกาศให้ผู้ชุมนุมที่มากดดันทราบ รวมทั้งกำหนดให้สามารถใช้อาวุธปืนประจำกายได้กรณีจำเป็นเมื่อมีการบุกรุกแนวห้ามผ่านเด็ดขาด ทั้งนี้โดยก่อนหน้านั้น จำเลยที่2 รองนายกรัฐมนตรีซึ่งได้รับแต่งตั้งจากจำเลยที่1 ให้เป็นผอ.ศอฉ.มีคำสั่งอนุมัติไว้ในท้ายหนังสือลับ-ด่วนมาก สยก.ศอฉ.ที่ กห 0407.45 (สยก.)/130 ลงวันที่ 17 เมษายน 2553 ให้เจ้าหน้าที่ของ ศอฉ.สามารถใช้อาวุธปืนและกระสุนจริงและให้ใช้พลแม่นปืนในการปฏิบัติหน้าที่ได้ กับต่อมาเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 จำเลยที่1 ยังมีคำสั่งปรากฏตามกระดาษเขียนข่าวลับ ด่วนที่สุด ที่ กห 0407.45/717 ให้ ศอฉ.ดำเนินการตามมาตรการปิดล้อมสกัดกั้นกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อขอคืนพื้นที่บริเวณสวนลุมพินีและพื้นที่ต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เวลา 3 นาฬิกา โดยให้เข้าปฏิบัติการต่อเนื่องในเวลากลางคืนต่อเนื่องจนถึงเช้า ทั้งนี้โดยการออกคำสั่งดังกล่าวจำเลยที่1 กระทำในฐานะนายกรัฐมนตรี ส่วนจำเลยที่2 กระทำในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและในฐานะผู้อำนวยการ ศอฉ. ที่ใช้อำนาจสั่งการตามพ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าการที่เจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนจริงและกระสุนจริงยิงใส่ผู้ชุมนุมเพื่อการผลักดันชุมนุมก็ดี สลายการชุมนุมก็ดี กระชับพื้นที่หรือขอคืนพื้นที่ก็ดี ดังที่โจทก์ฟ้องกล่าวหามานั้น ล้วนแล้วแต่เกิดจากการออกคำสั่งของจำเลยที่1 ในฐานะนายกรัฐมนตรี จำเลยที่2ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและในฐานะผู้อำนวยการ ศอฉ.ในวาระต่างๆ กันภายหลังจากที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งสิ้น กรณีจึงหาใช่เป็นการกระทำโดยส่วนตัว หรือเป็นการกระทำที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่หรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของจำเลยทั้งสอง ดังข้อคัดค้านของโจทก์ไม่ ทั้งนี้ ตามวัตถุประสงค์ของการใช้อำนาจตามกฎหมายฉบับนี้ก็เพื่อให้มีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารภายใต้การสั่งการของจำเลยทั้งสองในการร่วมกันป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งฟื้นฟูหรือช่วยเหลือประชาชนเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ผลประโยชน์ของชาติ การปฏิบัติตามกฎหมาย ความปลอดภัยในการดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ความสงบเรียบร้อยหรือประโยชน์ส่วนรวม และเมื่อตรวจดูจากคำบรรยายฟ้องของโจทก์ประกอบสำเนาคำสั่งในการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข1 ถึง 7 ก็ปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มนปช.ที่มีความรุนแรงลุกลามบานปลายมากขึ้น ทำให้ทั้งเจ้าหน้าที่ทหารและผู้ร่วมชุมนุมได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายคน จำเลยทั้งสองจึงออกคำสั่งดังฟ้องโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายข้างต้นเพื่อระงับยับยั้งสถานการณ์ฉุกเฉินหรือความรุนแรงที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดีการออกคำสั่งใดๆ ของจำเลยที่1 และจำเลยที่ 2 ในการกำหนดมาตรการหรือข้อกำหนดต่างๆ ไม่ว่าเพื่อป้องกัน แก้ไข หรือระงับสถานการณ์ฉุกเฉินว่าจะกระทำเช่นใดได้บ้างนั้นจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กฎหมายฉบับบนี้บัญญัติไว้ มิใช่จะออกคำสั่งอย่างไรก็ได้โดยอำเภอใจ เฉพาะอย่างยิ่งการออกคำสั่งให้มีการใช้กำลังทหารเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจระงับเหตุการณ์ร้ายแรงหรือควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบโดยด่วนนั้น หากการออกคำสั่งในกรณีดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดหรือมีความไม่เหมาะสมหรือให้มีการกระทำเกินกว่าจำเป็น ไม่พอสมควรแก่เหตุเหมือนดังเช่นกรณีที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาโดยอ้างว่าตามแนวทางปฏิบัติสากลในการควบคุมฝูงชนและปราบจลาจลเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติจะไม่ใช้อาวุธปืนและกระสุนจริงซึ่งในขั้นตอนของการใช้กำลังนั้นจะมีแค่เพียงการใช้แก๊สน้ำตาและใช้ปืนลูกซองกระสุนยางเท่านั้น เช่นนี้ การใช้อำนาจของจำเลยทั้งสองซึ่งถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ตามพ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งถือว่าเป็นมูลแห่งความผิดคดีหลัก ที่ต่อมาภายหลังจากการออกคำสั่งเช่นว่านั้นได้ก่อผลให้บุคคลจำนวนมากถึงแก่ความตายอันถือเป็นคดีเกี่ยวเนื่องจากการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยหน้าที่ข้างต้น ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องอ้างว่าเป็นการกระทำโดยประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของจำเลยทั้งสองต่อความตายของบุคคดังกล่าวนั่นเอง แต่ก็หาใช่เป็นการกระทำที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่หรือนอกเหนือจากอำนาจหน้าที่และกลายเป็นคดีฆาตรกรรมโดยส่วนเดียวดังที่โจทก์เข้าใจไม่และที่โดยการวินิจฉัยถึงความรับผิดในทางอาญาของจำเลยทั้งสองต่อความตายและการการบาดเจ็บของบุคคลต่างๆ อันเป็นคดีเกี่ยวเนื่องดังเช่นกรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองมานี้ มีข้อที่ต้องพิจารณาในมูลแห่งคดีว่าได้มีการออกคำสั่งของจำเลยทั้งสองดังเช่นที่มีการฟ้องกล่าวหามานั้นอันเป็นการมิชอบด้วยหน้าที่ตามกฎหมายและถือเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชหารหรือไม่เสียก่อน กรณีจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 66 ประกอบด้วยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉับที่ 11/2557 (การสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญ 2550-ประชาไท) และฉบับที่ 24/2557 (ให้พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 2550 มีผลบังคับต่อไป –ประชาไท) ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจะต้องเป็นผู้ที่มีหน้าที่ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมทั้งทำความเห็นว่าการออกคำสั่งของจำเลยทั้งสองข้างต้นเป็นการมิชอบด้วยหน้าที่อันเป็นการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือไม่ ซึ่งหากข้อกล่าวหามีมูลจึงค่อยส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นผู้พิจารณาพิพากษาต่อไปตามมาตรา 70 แห่งบทบัญญัติของกฎหมายข้างต้น และตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9(1) ประกอบด้วยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11/2557 และ 24/2557 ด้วยเหตุนี้เมื่อได้พิเคราะห์คำฟ้องของโจกท์โดยตลอดแล้ว แม้โจทก์จะขอให้ศาลลงโทษจำเลยทั้งสองจากผลที่มีคนตายและได้รับบาดเจ็บจากกรณีของการผลักดันผู้ชุมนุมสลายการชุมนุมหรือกระชับพื้นที่หรือขอคืนพื้นที่โดยเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนจริงและกระสุนจริงกับผู้ชุมนุมโดยมีเจตนาฆ่า แต่ก็เห็นได้ว่ามูลแห่งคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองมานี้แท้จริงแล้วเป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเยที่1 ในฐานะนายกฯ กับจำเลยที่2 ในฐานะรองนายก และผอ.ศอฉ.กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามกฎหมายอื่น คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้วยการออกคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมิชอบด้วยหน้าที่ให้เจ้าหน้าที่ทหารดำเนินการผลักดันผู้ชุมนุมสลายการชุมนุมหรือกระชับพื้นที่หรือขอคืนพื้นที่ด้วยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติสากลนั่นเอง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยตรง ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (1) หาใช่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลอาญาไม่ ส่วนความผิดเกี่ยวเนื่องฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาหรือพยายามฆ่านั้นก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการสั่งการในตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยทั้งสอง ตามพ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงถือเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวกันซึ่งต้องได้รับการพิจารณาโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเช่นเดียวกัน ซึ่งทำเห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ที่ไม่ประสงค์ให้มีการเลือกฟ้องในฐานความผิดเกี่ยวเนื่องอันมีที่มาจากการกระทำผิดในตำแหน่งหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวกันต่อศาลอื่นได้นอกจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพียงศาลเดียวเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้การตรวจสอบการทำหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองบังเกิดผลในเชิงรูปธรรมอย่างจริงจัง ไม่ถูกบิดเบือนไปจนทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นหลุดพ้นไปจากการตรวจสอบโดยอาศัยหลักกฎหมายเรื่องที่บุคคลควรได้รับการพิจารณาและลงโทษเพียงครั้งเดียวจากการกระทำในครั้งเดียวกันนั้นได้ ด้วยเหตุผลดังวินิจฉัยมา ศาอาญาจึงมิใช่เป็นศาลที่มีเขตอำนาจในการรับชำระคดีทั้ง 2 สำนวนนี้ไว้ได้ การที่ศาลรับฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวนนี้ไว้พิจารณาจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย และโจทก์ร่วมทั้งสองย่อมไม่อาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้
พิพากษายกฟ้องทั้งสองสำนวนและยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของโจทก์ร่วมทั้งสองในสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.4552/2556”
เหตุผลการพิพากษายืนของศาลอุทธรณ์
“เหตุคดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อปลายปี 2551 ขณะที่จำเลยที่1 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จำเลยที่2 ดำรงตำแหน่งรองนายกฯ มีประชาชนบางส่วนที่เรียกตนเองว่า กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้ชุมนุมทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดเพื่อเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ยุบสภาผู้แทนราษฎรหรือลาออก ต่อมาวันที่ 9 มีนาคม 2553 จำเลยที่1ในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้ออกประกาศเรื่องปรากฏเหตุกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรตามพ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 และได้มีคำสั่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรที่ 103/2553 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2553 จัดตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในราชอาณาจักรขึ้น โดยมอบหมายให้จำเลยที่2 เป็นผู้อำนวยการ เพื่อดำเนินการรักษาความสงบเรียบร้อย การชุมนุมยังคงมีต่อเนื่องและรุนแรงขึ้น วันที่ 7 เมษายน 2553 รัฐบาลจึงได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยแต่งตั้งจำเลยที่2 เป็นผู้อำนวยการ ให้มีอำนาจหน้าที่กำกับการปฏิบัติงานของหัวหน้า ผู้รับผิดชอบ พนักงานเจ้าหน้าที่และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งมีอำนาจแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงที่กำหนดไว้ในพ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน วันที่ 18 เมษายน 2553 จำเลยที่2 มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ของศอฉ.สามารถใช้อาวุธปืนและกระสุนปืนจริงในการปฏิบัติหน้าที่ได้ วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 จำเลยที่1 มีคำสั่งให้ดำเนินการมาตรการปิดล้อม สกัดกั้นผู้ชุมนุมเพื่อขอคืนพื้นที่ บริเวณสวนลุมพินีและพื้นที่ต่อเนื่อง ตั้งแต่เวลา 3 นาฬิกาต่อเนื่องจนถึงเช้า เห็นได้ว่าการดำเนินการต่างๆ ของจำเลยทั้งสองในระหว่างวันที่ 7 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 นั้น จำเลยทั้งสองดำเนินการในฐานะเป็นนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เป็นเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติตามพ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งในการออกคำสั่งต่างๆ มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สินประชาชน ทั้งเพื่อป้องกันตนเองของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติตามคำสั่งตามกฎหมายดังกล่าว ผลจากการปฏิบัติการตามกฎหมายดังกล่าวของเจ้าหน้าที่เป็นเหตุให้ต่อมาปรากฏว่าประชาชนผู้ร่วมชุมนุมดังกล่าวถึงแก่ความตายและได้รับบาดเจ็บ อันเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ โดยกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนานั้น การออกคำสั่งทั้งหมดของจำเลยทั้งสองตามคำฟ้องโจทก์เป็นการออกคำสั่งในฐานะที่จำเลยที่1 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และจำเลยที่2 ในฐานะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ที่จำเลยที่1 มีคำสั่งตั้งให้เป็นผอ.ศอฉ.ซึ่งเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในพ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยของประเทศ รักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นส่วนรวม กรณีจึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสองกระทำไปในฐานะส่วนตัวตามที่โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองอุทธรณ์ แต่เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองกระทำไปในฐานะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การสอบสวนเพื่อเอาโทษแก่จำเลยทั้สองจึงเป็นอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.ตามมาตรา 19 ประกอบมาตรา 66 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราปรามการทุจริต และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 มาตรา 250(2) ประกอบมาตรา 275 การที่โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองฟ้องจำเลยโดยอาศัยสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งไม่มีอำนาจในการสอบสวนดังกล่าว การฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบ ศาลอาญาจึงไม่ใช่ศาลที่มีเขตอำนาจในการชำระคดีทั้ง 2 สำนวน อุทธรณ์โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองฟังไม่ขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์มาชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย ส่วนปัญหาว่า โจทก์ร่วมทั้งสองมีสิทธิร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้หรือไม่นั้น เมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วว่า ศาลอาญาไม่มีอำนาจในการรับชำระคดีทั้ง 2 สำนวนไว้พิจารณาพิพากษา กรณีจึงไม่มีโจทก์ที่จะให้โจทก์ร่วมทั้งสองร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของโจทก์ร่วมทั้งสองมานั้นชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธร์ของโจทก์ร่วมทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองข้ออื่น เช่น โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการก็ดี หรือการที่พนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพและต่อมาศาลมีคำสั่งว่าการตายเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ อัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ก็ดี หรือ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจไต่สวนคดีตามที่โจทก์และโจกท์ร่วมทั้งสองฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ก็ดี อุทธรณ์โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองทั้งหมดดังกล่าว ไม่มีผลทำให้คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เปลี่ยนแปลง จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน”