วันศุกร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2558

'คำนูญ' ชี้ประชามติ รธน. ขึ้นกับ 'ครม.-คสช.' ตัดสินใจ


คำนูญ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยืนยัน พร้อมรับฟังความเห็นทุกข้อเสนอจากทุกฝ่าย เพื่อแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สมบูรณ์  พร้อมชี้จะทำประชามติหรือไม่อยู่ที่การตัดสินใจของ ครม. และ คสช.
20 มี.ค. 2559 สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภารายงานว่านายคำนูญ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ขณะนี้กรรมาธิการยกร่างฯ ได้พิจารณาทบทวนรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราไปแล้วทั้งสิ้น 205 มาตรา จาก 315 มาตรา  โดยในวันนี้จะเริ่มทบทวนในหมวดว่าด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมือง ข้าราชการ และประชาชน

นายคำนูญ ยังได้กล่าวว่า  กรรมาธิการยกร่างฯ ได้ประสานงานกับสปช.มาตลอด และพร้อมรับฟังความเห็นจากสปช. ในทุกเรื่อง  โดยเฉพาะ ประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรีที่เปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจาก ส.ส. ที่ยังเป็นข้อถกเถียงอยู่ในขณะนี้   ทั้งนี้  ในวันที่ 25 พ.ค. -23 ก.ค. เป็นช่วงที่กรรมาธิการยกร่างฯ จะพิจารณาข้อเสนอจากทุกฝ่าย มาพิจารณา เพื่อแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สมบูรณ์  โดยขอย้ำว่า กระบวนการทุกอย่างเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557  กำหนดไว้ ที่ให้อำนาจการแก้ไขอยู่ที่กรรมาธิการยกร่างฯ   ขณะที่ สปช. มีอำนาจลงมติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในขั้นตอนสุดท้าย   ส่วนจะมีการทำประชามติหรือไม่ ยอมรับว่าที่ประชุมกรรมาธิการยกร่างฯ ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าควรทำประชามติ  แต่การตัดสินใจเรื่องดังกล่าวเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่จะเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557  ให้เสร็จก่อนสิงหาคม เพื่อให้สอดรับกับการทำประชามติ

พล.อ.ประยุทธ์ให้โอวาท: ถ้าไม่รู้ว่าคนไทยมาจากไหน ก็ไม่รู้จะรักชาติไทยอย่างไร

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมงานมอบรางวัลผู้ชนะการแข่งขันประกวดเรียงความ "ค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ" ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ในภาพมี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีร่วมด้วย (เว็บไซต์รัฐบาลไทย)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มอบรางวัลนักเรียน-นักศึกษา เขียนเรียงความ "ค่านิยม 12 ประการ" โดยย้ำว่าไม่ทิ้งเพลงยุคจอมพล ป. "หน้าที่เด็ก"เพียงแต่เมื่อเริ่มของใหม่ก็อย่าลืมของเก่า และขอให้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ถ้าไม่รู้ว่าคนไทยมาจากไหน ก็คงไม่รู้ว่าจะรักชาติไทยกันอย่างไร
20 มี.ค. 2558 - เมื่อเวลา 10.30 น. วันนี้ที่ ณ ตึกสันติไมตรี เว็บไซต์รัฐบาลไทย รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีมอบรางวัลผู้ชนะการแข่งขันประกวดเรียงความ “ค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ” จัดโดยกรมประชาสัมพันธ์ โดยมี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายอภินันท์ จันทรังษี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ผู้บริหาร เยาวชนที่ได้รับรางวัล และสื่อมวลชนเข้าร่วมงานในครั้งนี้
อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมประกวดเรียงความหัวข้อ “ค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ” เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่จัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นสะท้อนแนวคิดผ่านการประกวดเขียนเรียงความ ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวันได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ การจัดประกวดเรียงความฯ แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา ส่งผลงานเข้าประกวด รวมทั้งสิ้น 5,731 ผลงาน จากประถมศึกษา 1,718 ชิ้น มัธยมศึกษา 3,683 ชิ้น และอุดมศึกษา 330 ชิ้น ผ่านการคัดเลือกและตัดสินของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจนถึงรอบสุดท้าย มีผู้ชนะการประกวดเพื่อเข้ารับรางวัลในวันนี้ รวม 34 ผลงาน จากประถมศึกษา 12 รางวัล มัธยมศึกษา 10 รางวัล และอุดมศึกษา 12 รางวัล
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การแข่งขันประกวดเรียงความเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ เพื่อรณรงค์และส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนทั่วประเทศนำค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการมาใช้ในชีวิตประจำวัน อีกทั้ง ยังเป็นการส่งเสริมให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้า จะได้เห็นสังคมที่เป็นระเบียบเรียบร้อย มีความรักชาติ บ้านเมือง มีความสามัคคี มีวินัย มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย และเป็นคนดีมีคุณภาพของประเทศ ดังนั้น เยาวชนทุกคนต้องยึดถือเป็นแบบอย่างที่ดี และการดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งการมีความรู้ควบคู่คุณธรรม เพราะการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมต้องอาศัยคุณธรรม จริยธรรมเป็นพื้นฐาน เพื่อความรัก ความสามัคคีของคนในชาติ และความสงบสุขของบ้านเมือง อนาคตของประเทศไทยอยู่ที่เยาวชนไทยทุกคน นอกจากนี้ ค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ ตามนโยบายของ คสช. ไม่ได้ไปขัดแย้งหรือไปเลิกใช้เพลงหน้าที่เด็ก "เด็กเอ๋ยเด็กดี" ผมไม่ไปขัดแย้งกับเด็กเอ๋ยเด็กดีนะ ทำมาก่อนหลายปีแล้ว ซึ่งต้องบอกว่าเราต้องเริ่มของใหม่แต่อย่าลืมของเก่าที่เขาทำไว้แล้ว
“สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเคยสั่งสอนไว้ว่า ต้องให้คนไทยเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ไม่ได้ให้เขามารักเรา ไม่ให้รักกษัตริย์อย่างเดียว ต้องสอนให้เขาเรียนรู้ว่าประวัติศาสตร์ชาติไทยมีความเป็นมาอย่างไร มีความยากลำบากอย่างไร เสียเลือดเสียเนื้อกันมากเท่าใด กว่าที่จะมีดินแดนผืนนี้มาให้ทุกคนอยู่ในประเทศไทย ถ้าหากว่าเราไม่รู้ว่าเราเป็นคนไทยมาจากไหนต่อสู้อะไรมาบ้าง เราก็คงไม่รู้ว่าเราจะรักชาติไทยกันอย่างไรและความภาคภูมิใจอยู่ที่ตรงไหน” นายกรัฐมนตรีกล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นโยบายข้อหนึ่งของรัฐบาล คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีพทุกวัย ซึ่งต้องปรับระบบทุกระบบ ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับสภาพ ความเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ ด้าน ทั้งการค้า การลงทุน เศรษฐกิจภายในประเทศ เศรษฐกิจภายในชนบทและชายแดนต่างๆ การสร้างความเชื่อมโยงสาธารณูปโภคพื้นฐานต้องเริ่มดำเนินการทั้งหมด เพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC ในปี 2558
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินงานทุกอย่างในการวางอนาคตและแก้ปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับรูปแบบการศึกษาของไทย โดยนำเด็กเป็นศูนย์กลางคือ ทุกอย่างต้องกลับไปที่เด็ก เพราะจะสร้างเด็กเป็นอนาคตของชาติ อาจจะเริ่มตั้งแต่เตรียมอนุบาลจนถึงประถมศึกษา ให้อ่านออก เขียนได้ เพราะเด็กไทยสมัยใหม่ไม่สามารถอ่านออก เขียนได้ รวมถึงครูและผู้ปกครองต้องร่วมกันผลักดันให้เด็กตั้งใจใฝ่เรียน ใฝ่ศึกษาหาความรู้ นอกจากนี้ ต้องการให้เด็กไทยมีความอดออม พอเพียง พอประมาณอีกด้วย
สำหรับเพลง "หน้าที่ของเด็ก" หรือเพลง "เด็กเอ๋ยเด็กดี" ที่ พล.อ.ประยุทธฺ กล่าวถึง เป็นเพลงที่ประพันธ์คำร้องโดย ชอุ่ม ปัญจพรรค์ นักเขียนนวนิยายชื่อดังคนหนึ่งของไทย และเป็นพี่สาวของอาจินต์ ปัญจพรรค์ โดย ที่มาของเพลง "หน้าที่ของเด็ก" นั้นใน วิกิพีเดีย ระบุว่า เมื่อ ปี พ.ศ. 2498 ทางสหประชาชาติได้ประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิของเด็ก โดยนาย วี.เอ็ม. กุลกานี ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ ได้เชิญชวนให้ทุกประเทศทั่วโลกร่วมจัดงานวันเด็ก เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญและความต้องการของเด็ก
รัฐบาลไทย ซึ่งมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จึงได้จัดให้มีคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ขึ้นมาคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชน กำหนดให้มีการฉลองวันเด็กแห่งชาติ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จุดประสงค์เพื่อให้เด็กทั่วประเทศ ทั้งในระบบโรงเรียนและ นอกระบบโรงเรียน ได้รู้ถึงความสำคัญของตน เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย ที่มีต่อตนเองและสังคม มีความยึดมั่นในสถาบันชาติ และ ศาสนา
โดย ชอุ่ม ปัญจพรรค์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติคนหนึ่ง ของกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้นำเนื้อหาดังกล่าว มาแต่งเป็นกลอนให้คล้องจองกัน และขอให้ครูเอื้อ สุนทรสนานแต่งทำนองให้ จากนั้น ก็ได้มีการนำเพลงนี้ ไปเปิดทางสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ ในวันเด็กแห่งชาติทุกปี จนถึงทุกวันนี้

ทหารพบอธิการ-อาจารย์ มรภ.ลำปาง หลังป้ายผ้า 'พลเรือนต้องไม่ขึ้นศาลทหาร' โผล่

ทหาร มทบ.32 นัดพบอธิการบดี-อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง หลังป้ายผ้า “พลเรือนต้องไม่ขึ้นศาลทหาร” โผล่สะพานลอยหน้ามหาลัย โดยเตือนว่าหากทราบตัวนักศึกษาที่ทำ พร้อมเรียก “ปรับทัศนคติ”

20 มี.ค.58 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง จากกรณีที่มีการพบป้ายผ้าที่มีข้อความว่า “พลเรือนต้องไม่ขึ้นศาลทหาร” ติดอยู่บริเวณสะพานลอยหน้ามหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่ทหารปลดป้ายออกในทันทีนั้น
ในวันนี้ทางเจ้าหน้าที่ทหารมณฑลทหารบกที่ 32 (มทบ.32) ได้มีการนัดเข้าพบกับ ผศ.เล็ก แสงมีอานุภาพ อธิการบดีของมหาวิทยาลัย และอาจารย์ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจ
ภิญญพันธุ์ กล่าวว่าเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ได้มีโทรศัพท์จากหน้าห้องอธิการบดี แจ้งมาว่าทาง รอง.ผบ.มทบ.32 ค่ายสุรศักดิ์มนตรี จังหวัดลำปาง ได้เชิญให้ตนพร้อมกับอธิการบดีไปพบ ในช่วงเช้าวันที่ 20 มี.ค. โดยนัดหมายที่อาคารโอฬาร โรจน์หิรัญ ภายในมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ในตอนแรกไม่ได้มีการแจ้งเหตุผลแน่ชัดว่าให้เข้าพบด้วยสาเหตุอะไร
ในวันนี้ ทาง รอง ผบ.มทบ. 32 พร้อมกับเจ้าหน้าที่ทหารอีกนายหนึ่ง ได้เดินทางมาพบกับเขาและอธิการบดี โดยเนื้อหาการพูดคุยเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแสดงความกังวลถึงการเคลื่อนไหวติดป้ายผ้าบริเวณสะพานลอยหน้ามหาวิทยาลัย เพราะส่วนกลางมีการจับตาอยู่ พร้อมกับเตือนห้ามเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ ในมหาวิทยาลัย โดยเจ้าหน้าที่ทหารกล่าวด้วยว่าได้มีการดำเนินการเก็บรอยนิ้วมือจากป้าย และหากพบว่านักศึกษาคนใดเป็นผู้ติดป้าย จะดำเนินการเรียกตัวไปปรับทัศนคติต่อไป การพูดคุยเป็นไปด้วยดี ใช้เวลาราว 30 นาที
ภิญญพันธุ์ได้สอบถามเจ้าหน้าที่ในตอนท้ายด้วยว่าเรื่องนี้เกี่ยวอย่างไรกับเขา ถึงได้เรียกมาพบ เจ้าหน้าที่ทหารได้กล่าวว่ามีการประสานงานผิดพลาด เพราะตอนแรกตั้งใจจะพูดคุยกับอธิการบดี และอาจารย์ในส่วนของฝ่ายกิจการนักศึกษา
ก่อนหน้านี้ ผู้จัดการออนไลน์รายงานด้วยว่าในวันที่ 15 มี.ค.ซึ่งมีการติดป้ายผ้า มีผู้เดินทางมาที่มหาวิทยาลัยเพื่อสอบนักเรียนนายสิบตำรวจกว่าหมื่นคน เจ้าหน้าที่ทหารจึงได้รีบปลดป้ายออกทันที และได้ส่งสายข่าวเพื่อติดตามหาผู้ที่นำป้ายมาติด เนื่องจากเห็นว่าจะเพิ่มความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองได้

ศาลทหารสั่งจำคุก 1 ปี 6 เดือน คดี 112 ลุงเขียนผนังห้องน้ำ

20 มี.ค. 2558 ศาลทหารลงโทษจำคุก 3 ปี คดีนายโอภาส อายุ 67 ปี เขียนผนังห้องน้ำห้างสรรพสินค้า ผิดมาตรา 112 จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษจำคุกลงกึ่งหนึ่งเหลือ 1 ปี 6 เดือน โดยศาลพิจารณาโทษสถานเบาตามคำร้องที่จำเลยยื่นประกอบคำรับสารภาพ แต่เนื่องจากเป็นคดีร้ายแรง จึงไม่อาจรอลงอาญาตามที่จำเลยยื่นคำร้องได้
อนึ่ง คดีนี้นับเป็นคดีแรกที่ศาลทหารลงโทษเบาที่สุด และเป็นการพิจารณาโดยเปิดเผย ผู้สังเกตการจากองค์การสหประชาชาติ ผู้สื่อข่าวต่างประเทศและญาติ สามารถเข้าฟังได้แต่ไม่สามารถจดบันทึกได้
สำหรับโอภาสถูกคุมขังมาแล้วตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.2557 โดยเจ้าหน้าที่ของห้างซีคอนสแควร์เป็นผู้นำตัวส่งทหาร หลังเขายอมรับและเสียค่าปรับฐานทำห้องน้ำห้างสกปรก 2,000 บาท ต่อมา พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญได้นำตัวโอภาสมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่กองบังคับการปราบปรามก่อนนำตัวไปขอฝากขังที่ศาลทหาร และถูกคุมขังมาจนปัจจุบัน
ทั้งนี้ ทนายความผู้ต้องหาเคยยื่นประกันตัวทั้งสิ้น 4 ครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาต ด้วยเหตุผลว่า เป็นคดีร้ายแรงและเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง โดยในครั้งล่าสุด ทนายยื่นประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์เดิม พร้อมเหตุผลประกอบด้านปัญหาสุขภาพ เนื่องจากผู้ต้องหาเป็นโรคเส้นเลือดในจอรับภาพบวมซึ่งอาจแตกและทำให้ตาบอด ซึ่งโดยปกติผู้ต้องหาต้องพบแพทย์ทุก 2-3 เดือนหากพบว่ามีอาการจะยิงเลเซอร์เพื่อทำการรักษา ซึ่งศาลมีคำสั่งว่า ผู้ต้องหามีสิทธิไดรัการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเกิดอาการอยู่แล้ว ข้ออ้างจึงฟังไม่ขึ้น และศาลเคยมีคำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวมาก่อนแล้ว ไม่มีเหตุให้กลับคำสั่ง

พิพากษาจำคุก 50 ปี 4 มือระเบิดหน้าราม

20 มี.ค. 2558 เว็บไซต์คมชัดลึกรายงานว่าเมื่อเวลา 11.15 น. ที่ห้องพิจารณา 814 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก  ศาลอ่านคำพิพากษา คดีลอบวางระเบิดย่านรามคำแหง หมายเลขดำ อ.3723/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 6 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายอัฟฟาฮัม สะอะ ชาวปัตตานี , นายอิดริส สะตาปอ ชาวนราธิวาส , นายคัมคีร์ ลาเต๊ะ ชาวปัตตานี และนายอิลรอเฮ็ง แวแม ชาวปัตตานี เป็นจำเลยที่ 1 - 4 ในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน , กระทำให้เกิดระเบิดเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ทรัพย์ของผู้อื่น , ร่วมกันทำและมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน โดยไม่มีเหตุสมควร

ตามฟ้องโจทก์ บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 56 เวลากลางคืน จำเลยทั้งสี่ ได้ร่วมกันประกอบวัตถุระเบิดแสวงเครื่อง แล้วนำไปวางไว้ บริเวณจุดทิ้งขยะ หน้าร้านทำผม รามคำแหง จนระเบิดขึ้น ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 7 ราย และมีร้านค้าแผงลอย อาคารบริเวณใกล้เคียงได้รับความเสียหาย เป็นเงิน 402,000 บาท หลังเกิดเหตุทั้งหมดพากันหลบหนีไป ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และได้จับกุมจำเลยดำเนินคดีตามกฎหมาย เกิดเหตุที่หน้าร้านทำผม รามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กทม. ชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพ แต่ให้การปฏิเสธชั้นพิจารณาคดี

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว อัยการโจทก์ มีพนักงานสอบสวนหลายปาก เป็นพยาน เบิกความว่า จากการตรวจสอบภาพกล้องวงจรปิดที่บันทึกเหตุการณ์วันเกิดเหตุ พบจำเลยที่ 1 , 2 และ 4 ได้เดินย้อนไปมาบริเวณจุดเกิดเหตุ โดยจำเลยที่ 3 สวมหมวกแก๊ป ผ้าปิดปาก อำพรางใบหน้า เดินถือถุงหิ้วไปที่จุดเกิดเหตุ และหลังจากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการใช้โทรศัพท์มือถือของจำเลย รวมทั้งเมื่อได้ประสานงานศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดภาคใต้ ก็พบความเชื่อมโยงการติดต่อระหว่างจำเลยทั้งสี่ ซึ่งในชั้นสอบสวน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพว่า เป็นผู้ลงมือก่อเหตุ และยังให้การสอดคล้องกับภาพในกล้องวงจรปิด โดยหลังจากก่อเหตุ จำเลยที่ 2 - 4 ได้แยกย้ายกันหลับหนีไปจังหวัดยะลา

นอกจากนี้ ยังได้ความอีกว่า ในชั้นสอบสวน พวกจำเลยให้การรับสารภาพว่า ได้เดินทางโดยรถไฟจาก จ.ยะลา มาที่สถานีหัวลำโพง โดยนำสารระเบิดใส่ในกระป๋องแป้งมาด้วย แล้วมาอาศัยอยู่ภายในบ้านพัก ซ.รามคำแหง 53 ต่อมาวันที่ 25 พ.ค. 56 จำเลยได้ไปซื้อ ตะปู ท่อน้ำ สี แอลกอฮอล์ และนาฬิกาตั้งเวลา ซึ่งเป็นอุปกรณ์ประกอบระเบิด ที่ร้านค้า และห้างสรรพสินค้าย่านรามคำแหง โดยหลังเกิดเหตุแล้ว จำเลยได้แยกย้ายกันหลบหนีด้วยรถไฟกลับไป จ.ยะลา

จากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาตามบันทึกชั้นสอบสวน แม้จะเป็นเพียงการบันทึกจากคำบอกเล่า แต่ก็มีรายละเอียดเกี่ยวกับสาระสำคัญเรื่องการประกอบระเบิด ซึ่งจำเลยทั้งสี่ให้การในชั้นสอบสวนอย่างละเอียด หากจำเลยไม่ได้เป็นผู้ให้การไว้จริง ก็ยากที่พยานโจทก์จะบันทึกคำให้การขึ้นมาเอง นอกจากนี้ คำให้การยังสอดคล้องกับหลักฐานที่พบในที่เกิดเหตุ และในห้องพักที่พวกจำเลยใช้ประกอบระเบิด การที่จำเลยนำระเบิดแสวงเครื่องที่มีความรุนแรง ระยะทำลายรัศมี 10 - 15 เมตร ไปวางบริเวณ ม.รามคำแหง ซึ่งเป็นสถานที่มีผู้คนพลุกพล่าน จำเลยย่อมเล็งเห็นผลที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต

จึงพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.221 , 222 , 224 , 289 , 371 และ พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 55 , 78 วรรคท้าย ประกอบประมวลกฎหมายอาญา ม.80 และ 83 ซึ่งการกระทำของจำเลยทั้งสี่ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรม

ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และกระทำให้เกิดระเบิดจนเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์สินของผู้อื่น อันเป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้จำคุกตลอดชีวิตจำเลยทั้งสี่ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งเป็นบทหนักสุด และให้จำคุกตลอดชีวิตอีก ฐานร่วมกันทำและมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไว้ในครอบครอง และให้ปรับจำเลยที่ 1 - 4 อีกคนละ 90 บาท ฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านฯ

โดยคำให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษเห็นควรลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยทั้งสี่ คนละ 33 ปี 4 เดือน ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นฯ และจำคุกอีกคนละ 33 ปี 4 เดือน ฐานกระทำให้เกิดระเบิดฯ โดยปรับคนละ 60 บาท ฐานพาอาวุธไปในเมืองฯ แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงตามกฎหมายแล้ว ให้จำคุกจำเลยที่ 1 - 4 คนละ 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.91 (2) และให้ริบของกลาง รวมทั้งให้จำเลยทั้งสี่ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ได้รับบาดเจ็บ ร้านค้า และหน่วยงานรัฐ ที่ได้รับความเสียหายด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังฟังคำพิพากษาแล้ว จำเลยทั้งสี่คนมีใบหน้าเรียบเฉย โดยวันนี้มีญาติจำนวนหนึ่งเดินทางมาให้กำลังใจด้วย ขณะที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ได้ควบคุมตัวจำเลยทั้งหมดไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไป

'ไพบูลย์' จึ้ กต. ตามผู้ต้องหา ม. 112 หลบต่างประเทศ 30 ราย

20 มี.ค. 2558 พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาคดีความมั่นคงในราชอาณาจักรและคดีความผิดตามมาตรา 112 ว่าที่ประชุมได้จัดกลุ่มภารกิจโดยพิจารณาหมายจับผู้ต้องหาที่หลบหนีไปต่างประเทศทั้งในแถบยุโรปและประเทศเพื่อนบ้านจากเดิมที่มีการประสานขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนผู้ต้องหาจำนวน 40 รายนั้น ล่าสุดที่ประชุมปรับลดเหลือ 30 ราย ซึ่งเป็นบุคคลที่ถูกออกหมายจับแล้ว ส่วนอีก 1รายอยู่ระหว่างดำเนินการขออนุมัติหมายจับ โดยรัฐบาลยืนยันต้องการตัวบุคคลเหล่านี้กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย จึงมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ รับไปดำเนินการอย่างจริงจังแม้บางประเทศจะติดขัดข้อกฎหมายก็ขอให้ทำความเข้าใจว่าคดีดังกล่าวไม่ใช่คดีหมิ่นประมาท ไม่ใช่คดีการเมือง แต่เป็นคดีเกี่ยวข้องกับความมั่นคงที่ส่งผลกระทบกับคนไทยทั้งประเทศ

พล.อ.ไพบูลย์ ยังระบุว่าหลังจากนี้เชื่อว่าการสอบสวนปราบปรามจะทำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร บังคับให้ต้องลงทะเบียนเบอร์โทรศัพท์ทุกระบบ เพื่อพิสูจน์ตัวตนผู้ใช้โทรศัพท์แต่ละเลขหมาย และให้สำนักข่าวกรองแห่งชาติที่มีข้อมูลภาพรวมความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ กำหนดเป้าหมายในการปฏิบัติงานได้ชัดเจน ซึ่งจะนำเสนอแผนกันอีกครั้งในการประชุมเดือนเมษายน อย่างไรก็ตามจากการทำงานอย่างจริงจังทำให้สามารถปิดกั้นเว็บไซต์ได้เพิ่มกว่าเท่าตัว และการทำความเข้าใจกับต่างประเทศ อย่างนิวซีแลนด์ การเคลื่อนไหวของผู้ต้องหาคดีนี้ก็เคลื่อนไหวน้อยลง