วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

มหาไพรวัลย์ เผยทหารนัดถวายภัตตาหารเพล เผยมาแล้ว 5 ครั้งเหตุกังวลแสดงความเห็นการเมือง


12 พ.ค.2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลาประมาณ 14.00 น. ไพรวัลย์ วรรณบุตร หรือ พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ผู้แสดงจุดยืนสนับสนุนประชาธิปไตยและไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เวลาประมาณ 10.00 น. ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณะสาธารณะว่า “มีนายทหารโทรมาบอกอยากถวายภัตตาหารเพลอาตมา จะขอเข้ามาถวายให้ได้ วันที่ 14 นี้ ใครอยากจะมาทานร่วมกับอาตมาบ้าง เชิญได้นะ 555” พร้อมระบุว่าก่อนหน้านี้ทหารมาพบมากกว่า 5 ครั้ง เพราะกังวลเรื่องการแสดงความเห็นหรือเคลื่อนไหวทางการเมือง
ในโพสต์สเตตัสดังกล่าว พระมหาไพรวัลย์ ได้แสดงความคิดเห็นว่า “จริงไม่อยากบอกว่า ทหารมาพบอาตมามากกว่า 5 ครั้งแล้ว ก็ไม่เห็นจะว่ายังไง บางทีเราก็รำคาญ คืออยากจะบอกอะไรก็ไม่บอก อยากจะทำอะไรก็ไม่ทำ มาขอเราถ่ายรูปอย่างกับว่าเราเป็นดาราแล้วก็กลับ”
ผู้สื่อข่าวประชาไทสอบถามเพิ่มเติม โดย พระมหาไพรวัลย์ เปิดเผยว่า เมื่อเดือนที่แล้วเจ้าหน้าที่ทหารทำทีมาขอถ่ายรูป บอกว่าอยากคุยและอยากมากราบเจ้าหน้าที่ทหารใช้คำพูดดีมาก เจ้าหน้าที่ทหารก็ยอมรับว่ารู้ว่าเคยเขียนบทความเฉียดไปเฉียดมาเมื่อปีที่ผ่านมาจึงอาจมีรายชื่อที่ต้องระวัง เจ้าหน้าที่กลัวว่าจะเคลื่อนไหวทางการเมือง จึงพูดในลักษณะขอร้องว่าบ้านเมืองกำลังวุ่นวาย ไม่อยากให้โพสต์อะไรเพื่อเพิ่มความแตกแยก เจ้าหน้าที่ทหารที่มาพบในวันนี้มีอายุและยศประมาณร้อยตรี ซึ่งเข้ามาพูดด้วยภาษาสุภาพเพื่อขอให้ระมัดระวังการแสดงความคิดเห็นสาธารณะ เพราะกังวลว่าจะทำสังคมแตกแยก

ทหาร-ตร.บุกค้นเมืองปากน้ำ 'วรชัย-ประชา-จำเลยคดีผังราชภักดิ์' โดนด้วย แถมถอดกล้องวงจรปิด


ทหาร-ตร. เปิดปฏิบัติการ ‘ปากน้ำปลอดภัย ขจัดภัยผู้มีอิทธิพล’ตรวจค้น 13 จุด บ้าน 'ประชา-วรชัย' โดนด้วย จำเลยคดีผังราชภักดิ์-เสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง ก็โดน พ่อเผยมียึดโน้ตบุ๊ก ‘วรชัย’ โวยถูกทหารงัดห้อง-รื้อข้าวของ-ถอดกล้องวงจรปิด ยันภาพอาวุธไม่ใช่ของตน 'สมบัติ ทองย้อย' ถูกยึดแม้กระทั่งบันทึกในคุกของนพเก้า ผู้ต้องหาทำเพจล้อประยุทธ์
12 พ.ค.2559 จากกรณีเมื่อช่วงเช้าของวันนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) สั่งการพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร.ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามผู้มีอิทธิพลและมือปืนรับจ้าง สำนักงานตำรวจแห่งชาตินำกำลังตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครอง เปิดปฏิบัติการ ‘ปากน้ำปลอดภัย ขจัดภัยผู้มีอิทธิพล’ เข้าตรวจค้นปราบปรามผู้มีอิทธิพล อาวุธสงคราม ยาเสพติดในพื้นที่จ.สมุทรปราการและจ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 13 จุด ในอำเภอพระประแดง พระสมุทรเจดีย์ เมือง ปากพลี บางเสาธง จ.สมุทรปราการ และอ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา
โดยพื้นที่เป้าหมายใน จ.สมุทรปราการ รวมบ้านของ วรชัย เหมะ และประชา ประสพดี อดีต สส.พรรคเพื่อไทย ด้วย
โดย คมชัดลึกออนไลน์ รายงานว่า จุดที่ 1 พบว่าเป็นพัก ประชา อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ พบ ประชา แสดงตัวเป็นเจ้าบ้าน จากการตรวจค้นภายในบ้านพักและสามารถตรวจยึดอาวุธปืนได้ดังนี้ 1. ปืนกึ่งอัตโนมัติ ขนาด 9 มม. ยี่ห้อ spp-11-042 b&t หมายเลขทะเบียน กท 5405747 จำนวน 1กระบอก  2. ปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติ ขนาด 7.65 m1122 ซีแซด หมายเลขทะเบียนปืน กท 55205483 จำนวน 2 กระบอก 3. ปืนออโตเมติก ขนาด 9 มม. ยี่ห้อซิก หมายเลขทะเบียน กท 3209704 จำนวน 1 กระบอก  4. ปืนออโตเมติกขนาด 9 มม. ยี่ห้อ hkหมายเลขทะเบียน กท 4095509 จำนวน 1 กระบอก  5. ปืนรีวอลเวอร์ ขนาด.38 ยี่ห้อโคลท์ ทะเบียน กท 2802583 จำนวน 1 กระบอก  6. ปืนลูกซอง 8 นัด ขนาด 12 หมายเลขทะเบียน กท 5057840 จำนวน 1 กระบอก  7.ปืนยาวไรเฟิล 10 นัด ทะเบียน ส4/667 จำนวน1กระบอก 8.ปืนยาวลูกกรด ขนาด.22 ยี่ห้อรูเกอร์ เลขทะเบียน กท 5450098 จำนวน 1 กระบอก  9.ปืนพกกึ่งอัตโนมัติ ขนาด 9 มม. ยี่ห้อซิกซาวเออร์ ทะเบียน กท 4602148 จำนวน 1 กระบอก 10.ปืนพกกึ่งอัตโนมัติ ขนาด 9 มม. ยี่ก้อซิกซาวเออร์ ทะเบียน กท 4692148 จำนวน 1 กระบอก 11.วิทยุสื่อสาร ยี่ห้อ alinco dr-135 สีดำพร้อมเตรื่อวแปลงไฟฟ้า จำนวน 2 เครื่อง โดยเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจยึดไปทำการตรวจสอบ 

‘วรชัย’ โวยถูกทหารงัดห้อง-รื้อข้าวของ-ถอดกล้องวงจรปิด ยันภาพอาวุธไม่ใช่ของตน

มติชนออนไลน์ รายงานว่า วรชัย กล่าวว่า เมื่อเวลา 06.00 น. ทหารได้บุกบ้านของตน ที่จังหวัดสมุทรปราการ โดยไล่คนในบ้านออก ไม่ให้มีการถ่ายรูปใดๆ แล้วงัดห้องนอนของตน รื้อข้าวของภายในห้อง คาดว่าจะบุกมาจับตัว แต่บังเอิญตนและภรรยาไม่อยู่บ้าน ทั้งนี้จริงๆ จะพร้อมไปรายงานตัวที่ไหนก็ได้ขอให้นัดมาเลย อยู่ดีๆ จะมารวบตัวทำเหมือนตนเป็นโจรห้าร้อย ทำให้ประเทศล่มจม ฝากบอก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ว่ามีอะไรให้ส่งคนมาคุยกับตนได้หรือเชิญไปที่ไหนก็ได้ การมีอำนาจต้องใช้ให้ถูก อย่าใช้เฉพาะกับคนเห็นต่าง หรือคนไม่มีอาวุธ จะทำให้คนรู้สึกไม่ดีกับรัฐบาล ซึ่งแค่พูดติติงบอกรัฐบาลไม่ได้ปลุกระดมเลย อะไรที่เห็นว่าไม่มีประโยชน์หรือประชาชนต้องการอะไรก็บอกผ่านสื่อไป ส่วนตัวไม่ได้โกรธ พล.อ.ประยุทธ์ แต่การเป็นคนสาธารณะ ก็ต้องให้คนพูดได้บ้าง
วรชัย กล่าวว่า ส่วนประเด็นเรื่องภาพถ่ายอาวุธ ตนเห็นภาพแล้ว และยืนยันว่า อาวุธดังกล่าวไม่ใช่ของตนเอง และไม่ทราบว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร เนื่องจากตอนที่เจ้าหน้าที่ค้นบ้าน ตนเองไม่ได้อยู่ที่บ้าน นอกจากนี้ ยังอาจมีเจตนายัดเยียดอาวุธดังกล่าวให้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้ถอดกล้องวงวรปิดที่บ้านออกหมดและไล่คนในบ้านออกไปข้างนอกขณะทำการตรวจค้น
“ผมไม่ใช่คนมีอิทธิพล ผมทำมาค้าขาย ผมไม่เคยใช้อาวุธ อย่ามายัดเยียดให้ผม ชายชาติทหารเขาไม่ทำกันแบบนี้ผมไม่ใช่มาเฟียไม่จำเป็นต้องใช้อาวุธ” วรชัย กล่าว
 
อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวด้วยว่า อดีตส.ส.วรชัย เห็นภาพแล้ว ยืนยันว่า อาวุธดังกล่าวไม่ใช่ของตนเอง และไม่ทราบว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร เนื่องจากตอนที่เจ้าหน้าที่ค้นบ้าน ตนเองไม่ได้อยู่บ้าน อาจเจตนายัดเยียดอาวุธดังกล่าวให้ เนื่องจาก เจ้าหน้าที่ได้ถอดกล้องวงวรปิดที่บ้านออกหมดและไล่คนในบ้านออกไปข้างนอกขณะทำการตรวจค้น
 
"ผมไม่ใช่คนมีอิทธิพล ผมทำมาค้าขาย ผมไม่เคยใช้อาวุธ อย่ามายัดเยียดให้ผม ชายชาติทหารเขาไม่ทำกันแบบนี้ ผมไม่ใช่มาเฟียไม่จำเป็นต้องใช้อาวุธ" วรชัย ฝากชี้แจง
 

จำเลยคดีผังราชภักดิ์-เสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง โดนด้วย พ่อเผยมียึดโน้ตบุ๊ก

ขณะที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า บิดาของฐนกร ศิริไพบูลย์ จำเลยในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา 116 และมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 ฐานโพสต์ภาพเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง กดไลค์ข้อความในสื่อออนไลน์ที่มีภาพหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และเผยแพร่ภาพกราฟฟิค “เปิดปมทุจริตอุทยานราชภักดิ์” กล่าวกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า ในเช้าวันนี้เวลา 06.00 น. มีเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 20 นาย นำโดยนายตำรวจยศพันตำรวจโทแสดงตัวและขออนุญาตตรวจค้นบ้านของเขาโดยไม่มีหมายค้นหรือเอกสารใด ๆ แต่อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557  ในการขออนุญาตเข้าตรวจค้นซึ่งเป็นบ้านที่นายฐนกรอาศัยอยู่ และตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการด้วย
 
บิดาของนายฐนกรกล่าวต่อไปว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารให้เหตุผลในการรื้อค้นบ้านของเขาเพราะได้รับเบาะแสว่า มีวัตถุหรือสิ่งของที่ผิดกฎหมายจึงเข้ามาตรวจค้นบ้านทุกจุด ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง อีกทั้งยังตรวจสอบมือถือของเขาและยึดเอาโน้ตบุ๊กของ ฐนกร ไว้ไปตรวจสอบเพิ่มเติม และระบุว่าจะนำมาคืนหากไม่พบหลักฐานหรือเบาะแสที่ผิดกฎหมาย แล้วหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจรื้อค้นบ้านเสร็จก็วิทยุแจ้งไปยังปลายทางว่า จากการรื้อค้นในบ้านหลังนี้ไม่พบวัตถุหรือสิ่งผิดกฎหมายใด ๆ
“หลังจากเจ้าหน้าที่ทหารตรวจค้นบ้านก็สอบถามข้อมูลหลายอย่างเช่น ทำอาชีพอะไร ซึ่งก็ตอบไปว่าตอนนี้เกษียณแล้ว และหลังจากเจ้าหน้าที่ตรวจค้นข้อมูลในมือถือก็สอบถามว่า ในภาพคือนายฐนกรกำลังบวชอยู่ใช่หรือไม่ แล้วนายฐนกรบวชที่วัดใด ผมจึงบอกไปว่า ใช่ตอนนี้กำลังบวชอยู่ที่วัดแห่งหนึ่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ตรวจสอบพิกัดของวัดดังกล่าวว่า ตั้งอยู่ที่ไหน ตอนนี้จึงมีความเครียดและกังวลใจว่า เจ้าหน้าที่จะจับพระสึกและควบคุมตัวไว้” บิดาฐนกร กล่าว
ด้านน้องสาวของฐนกรซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ด้วยกล่าวว่า ขณะที่กำลังนอนหลับอยู่ในห้อง ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเปิดประตูเข้ามารื้อค้นภายในห้องของตัวเอง และสอบถามถึงนายฐนกรว่า ไปทำอะไรอยู่ที่ไหน แล้วโน้ตบุ๊กของนายฐนกรที่เจ้าหน้าที่ยึดไปนั้น ก็เป็นโน้ตบุ๊กที่พี่ชายมอบไว้ให้ใช้ทำงาน ยืนยันว่าไม่มีข้อความหรือสิ่งใดๆ ที่ผิดกฎหมายอยู่ในนั้น จะมีก็เพียงเอกสารหรือรายงานที่ไว้ใช้สำหรับประกอบการหาความรู้และพิมพ์รายงานเท่านั้น

สมบัติ ทองย้อย โดนด้วย ถูกยึดแม้กระทั่งบันทึกในคุกของนพเก้า

วันเดียวกัน เมื่อเวลา 8.57 น. สมบัติ ทองย้อย นักกิจกรรมเสื้อแดง โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณะสาธารณะและระบุสถานที่ว่าอยู่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ว่า "โดนทหารหิ้ว" 
 
โดย คมชัดลึกออนไลน์ รายงานด้วยว่า ต่อได้เข้าตรวจค้น  บ้านเลขที่ 8/320 หมู่ 13 ต.บางแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นจุดที่ 5 เจ้าหน้าที่ พบ สมบัติ แสดงตัวเป็นเจ้าของบ้าน เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจค้นและสามารถยึดอาวุธปืนและวิทยุสื่อสารได้ดังนี้  1. ปืน บีบีกัน ยี่ห้อ กล็อค จำนวน 1 กระบอก  2. ชุดแต่งปืน บีบีกันจำนวน 1 ชุด 3. ซองปืนพกใน สำหรับใส่ปืน .38 จำนวน 1 ซอง 4. ซองปืนพกนอก ขนาด 9 มม. จำนวน 1 ซอง 5. บัตรประจำตัวการ์ด นปช. จำนวน 1 ใบ  6. แผ่น ซีดี เกี่ยวกับการชุมนุมของ นปช. จำนวน 4 แผ่น 7. วิทยุสื่อสาร ยี่ห้อ ยาอิสุ จำนวน 1 เครื่อง พร้อมแท่นชาร์ท
 
8. กล่องใส่เครื่องกระสุนปืน ขนาด 81 มม. จำนวน 1 กล่อง  โดยอาวุธที่พบ หมายเลข 1 ถึงหมายเลข 8 ได้บริเวณชั้นบนของบ้าน 9. วิทยุสื่อสารติดรถยนต์ ยี่ห้อ ยาอิสุ จำนวน 1 เครื่อง ตรวจค้นและพบในรถยนต์ ยี่ห้อ อีซูซุ สีเทา หมายเลขทะเบียน ภฐ 1642 กทม. 10. วิทยุสื่อสารแบบมือถือ ยี่ห้อ ยาอิสุ จำนวน 1 เครื่อง พบในรถยนต์ ยี่ห้อ อีซูซุ สีเทา หมายเลขทะเบียน ภฐ 1642 กทม. 11. แผ่นซีดีเพลงเกี่ยวกับการชุมนุม จำนวน 8 แผ่น พบบริเวณชั้นเก็บของข้างบ้าน 12. สมุดจดบันทึกของ นพเก้า คงสุวรรณ ผู้ต้องหาซึ่งเป็นข้อความจดบันทึกในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ จำนวน 2 เล่ม ตรวจค้นพบที่บนโต๊ะ บริเวณภายในบ้านชั้นล่าง 13. ประกาศนียบัตรประชาธิปไตย เข้าร่วมเหตุการณ์รำลึกและไว้อาลัย ต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุม (เข้าร่วมเมื่อ 19 พ.ย.54 ) จำนวน 4 แผ่น 14. โทรศัพท์ ยี่ห้อโนเกีย สีแดง หมายเลขโทรศัพท์ 063 717 3940 จำนวน 1 เครื่อง พบในรถยนต์ ยี่ห้อ อีซูซุ สีเทา หมายเลขทะเบียน ภฐ 1642 กทม. 15. โทรศัพท์ ยี่ห้อ ซัมซุง หมายเลขโทรศัพท์ 081 306 2500 และ 086 047 9900 วางอยู่บนโต๊ะ
 
สำหรับ สมบัติ นั้น ก่อนหน้าเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2557 ได้เดินทางเข้าพบ ตำรวจ สน.บางนา เพื่อแจ้งความ กรณีพบข้อความกล่าวหาบนโลกออนไลน์กล่าวหาว่าเป็นคนร้ายที่ยิง สุทิน ธราทิน แกนนำ กปท. ซึ่งโดยสมบัติได้ระบุในครั้งนั้นว่า มาพบตำรวจเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ืใจว่าไม่ได้เป็นคนร้ายยิง สุทิน โดยวันเกิดเหตุขับรถมาทำธุระ จนมาถึงจุดเกิดเหตุได้ลงไปดูสถานการณ์และเห็นผู้ชายที่ใส่เสื้อลายทหารมีทีท่าจะทำร้ายประชาชน จึงเข้าไปห้ามและแยกออกมาโดยที่ขณะนั้นสื่อมวลชนได้บันทึกภาพและกล่าวหาว่าเป็นคนร้ายยิง สุทิน
 

นพเก้า แจงบันทึกที่ทหารยึดจากสมบัติไปเป็นของตนและนิยายของหฤษฎ์ 

ภายหลัง นพเก้า ได้โพสต์ชี้แจงกรณีสมุดบันทึกดังกล่าวที่ถูกยึดด้วยว่า จริงๆ สมุดบันทึกในรถของสมบัติ ทองย้อย (พี่หนุ่ม) ที่ตนลืมทิ้งไว้กับพี่หนุ่ม นั้น ตนลืมไว้ ในวันที่ศาลอนุญาติให้ตนได้รับการประกันตัว ซึ่ง เป็นของตนเล่มเดียว คือ "เล่มสีเหลือเท่านั้น" ซึ่งเป็นการเขียนบันทึกเหตุการณ์ในวันเวลาที่อยู่ในนั้น ในช่วงถูกจับกุม เขียนไปเพียงสองสามหน้ากระดาษแล้วก็หยุดเขียนไป เพราะไม่รู้จะเขียนอะไร
 
ส่วนเล่มสีชมพู เป็นของ หฤษฎ์ มหาทน (ผู้ต้องหาในคดีเดียวกันและคดี ม.112) ซึ่งมันเขียนนิยายของมันไปเรื่อยเปื่อยในเล่ม และตนก็ไม่ได้ละลาบละล้วงเปิดอ่าน ซึ่งไม่มีอะไรเป็นภัยต่อความมั่นคง และไม่มีเจตนาที่จะทำลายความมั่นคงของประเทศ หรือมีอิทธิพลใดๆ อยู่ในนั้น

ปมสคริปต์ครูอวย “นายกสู้ๆ” ประยุทธ์ฝากบอกไม่ต้องเอาใจขนาดต้องเขียนในกำหนดการ


กำหนดการประชุมใหญ่ “นายกพบเพื่อนครู” ที่มีการนัดหมายกล่าว “นายกสู้ๆ” จนเกิดกระแสวิจารณ์ ล่าสุด สรรเสริญ บอกท่านนายกฯ ฝากไปยังทีมผู้จัดงานว่า ไม่ต้องเอาใจท่านจนถึงขนาดต้องเขียนไว้ในกำหนดการ ระบุหวังกิจกรรมกระตุ้นพลังสร้างสรรค์
12 พ.ค.2559 จากกรณีวานนี้ที่มีการเผยแพร่กำหนดการประชุมใหญ่ “นายกพบเพื่อนครู” ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 13 พ.ค. นี้ เวลา 11.00 – 16.30 น. ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งมีการนัดมาย เช่น เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ พูดจบ จะมีการให้สัญญาณมือเพื่อให้ครูที่เข้าร่วมประชุมกล่าวโดยพร้อมเพียงกันว่า “นายกสู้ๆ” จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมในโซเชียลเน็ตเวิร์ก
ล่าสุดวันนี้ (12 พ.ค.59) ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า  พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ คาดหวังว่ากิจกรรมนายกรัฐมนตรีพบเพื่อนครูซึ่งจะจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในวันพรุ่งนี้ที่ศูนย์ประชุมอิมแพค เมืองทองธานี จะมีส่วนช่วยกระตุ้นและปลุกเร้าเพื่อนข้าราชการครูให้เกิดพลังสร้างสรรค์ และเข้าใจพันธกิจของครูในยุคใหม่ที่ต้องส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ได้อย่างเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก เพิ่มศักยภาพเด็กไทยให้พร้อมสำหรับเป็นทรัพยากรอันมีคุณภาพของประเทศ
 
“ท่านนายกฯ ฝากแง่คิดถึงคุณครูทุกท่านว่า ครูดีคือครูที่ให้ความรู้ ครูที่ยอดเยี่ยมคือครูที่ให้ปัญญา ครูที่ยิ่งใหญ่คือครูผู้ให้แรงบันดาลใจ และครูไทยในความปรารถนาคือผู้ที่ทำได้ทุกสิ่งที่กล่าวมา เพื่อให้เด็กไทยหลุดจากวงจรของการเรียนแบบท่องจำ สู่การใช้ความคิด ความเข้าใจ และต่อยอดความคิดไปสู่การเปลี่ยนแปลงตนเอง สังคม และประเทศได้”
พล.ต.สรรเสริญ กล่าว ต่อว่า ท่านนายกฯ ยังได้ฝากไปยังทีมผู้จัดงานว่า ไม่ต้องเอาใจท่านจนถึงขนาดต้องเขียนไว้ในกำหนดการให้ผู้เข้าฟังปรบมือตามช่วงเวลาหรือส่งเสียงเชียร์ท่านนายกฯ ตามที่มีข่าวกระจายทางโซเชียลมีเดียดังกล่าว
      
“ทุกครั้งที่ท่านนายกฯ มีโอกาสพบปะพี่น้องประชาชน ไม่ว่าในโอกาสหรือสถานที่ใด สิ่งเดียวที่ท่านต้องการคือ ความเข้าใจจากพี่น้องประชาชน โดยท่านเอาความจริงใจของท่านมาแลก จะได้ความเข้าใจมากหรือน้อย ท่านก็ไม่เคยปริปาก ขอให้พี่น้องประชาชนมอบให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจท่านก็ยินดีมากแล้ว และที่สำคัญไม่เคยต้องการทำให้พี่น้องประชาชนลำบากเดือดร้อน ท่านเอ่ยในที่ประชุม ครม.เสมอว่าเราทุกคนไม่ได้มาจากการเมือง แต่ก็มาเพื่อทำให้ประเทศมั่นคงก้าวหน้า ประชาชนมีความสุข ไม่ต้องการคะแนนนิยม ไม่ต้องการสร้างภาพ แต่ต้องสร้างประเทศที่มั่นคง เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชนอย่างแท้จริง” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว 
สำหรับกำหนดการดังกล่าวมีการเผยแพร่จากเว็บไซต์ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 1 เว็บ http://www.sesao1.go.th โดยดาวน์โหลดผ่านเว็บได้ที่ http://www.sesao1.go.th/media/files/meeting1.pdf

ตร.สั่งฟ้องทนาย NDM คดีไม่ให้ค้นรถ อัยการนัดฟังคำสั่ง 27 ก.ค.นี้ หลังขอความเป็นธรรม


ตร.มีความเห็นสั่งฟ้อง ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนาย NDM คดีซ่อนเร้นพยานหลักฐานและและทราบคำสั่งเจ้าพนักงานแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง กรณีไม่ยอมให้ค้นรถ ขณะที่อัยการนัดฟังคำสั่ง 27 ก.ค.นี้ หลังทนายขอความเป็นธรรมให้สอบพยานเพิ่ม
12 พ.ค. 2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศิริกาญจน์ เจริญศิริ หรือทนายจูน ทนายความศูนย์ทนายฯ เข้าพบพนักงานอัยการที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 (ดุสิต) ในคดีซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐานซ่อนเร้นพยานหลักฐานและและทราบคำสั่งเจ้าพนักงานแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่งตามมาตรา 142 (โทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 3 ปี)  และมาตรา 368 (โทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 1 เดือน)ประมวลกฎหมายอาญา เนื่องจากพนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนและมีความเห็นสั่งฟ้องแล้ว พนักงานอัยการเลื่อนไปนัดฟังคำสั่งในวันที่ 27 ก.ค. เวลา 9.30 น. เพื่อทำการสอบพยานเพิ่มเติม
โดยเวลาประมาณ 11.30 น. ขณะรายงานตัว ศิริกาญจน์ ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการ ซึ่งหนังสือขอความเป็นธรรมได้เสนอข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะเข้าตรวจค้นรถของศิริกาญจน์ในคืนวันที่ 27 มิถุนายน 2558 โดยไม่มีหมายค้นและความยินยอมนั้นไม่ได้มีอำนาจสอบสวนในพื้นที่ที่เกิดเหตุ อีกทั้งยังทราบดีว่าตนไม่มีอำนาจจะกระทำการดังกล่าว ซึ่งศิริกาญจน์ได้แจ้งความร้องทุกข์แล้วว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำการละเมิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา และหากมีการสอบสวนพบว่าผู้กล่าวหาได้กระทำผิดจริง ย่อมแสดงว่า ศิริกาญจน์ ไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด รวมถึงการดำเนินคดีกับศิริกาญจน์ซึ่งถูกตั้งข้อหาจากการปฏิบัติหน้าที่เพื่อปกป้องสิทธิของลูกความ ยังจะทำให้กระทบกระเทือนถึงภาพลักษณ์และผลประโยชน์ของประเทศ   นอกจากนี้หนังสือขอความเป็นธรรมยังขอให้มีการสอบสวนพยานเพิ่มเติม คือ สมาชิกกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ที่เป็นลูกความของศิริกาญจน์, เยาวลักษ์  อนุพันธุ์  หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และพนักงานสอบสวนที่ได้รับเรื่องแจ้งความร้องทุกข์ของศิริกาญจน์ ว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ
นอกจากนี้ แซม  ซาริฟี ตัวแทนจากคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล ในประเทศไทย และเจ้าหน้าที่จากสถานทูตสวีเดน ประจำประเทศไทยได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ในขั้นตอนดังกล่าว ได้ให้ความเห็นว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีที่ได้รับความสนใจในระดับระหว่างประเทศ เพราะเกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ของทนายความที่ทำหน้าที่ปกป้องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม
ด้าน ภาณุพงษ์ เจริญยิ่ง อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ ศาลแขวง 3 ได้ชี้แจงกับผู้สังเกตการณ์ว่า ขั้นตอนแรกอัยการต้องพิจารณาก่อนว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจศาลใด  จากนั้นจึงพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามสำนวนและหนังสือขอความเป็นธรรม ซึ่งคดีนี้จะตั้งเป็นคณะทำงานซึ่งจะมีตนเป็นหัวหน้าคณะ  อย่างไรก็ตามคดีนี้ถือเป็นคดีสำคัญตามระเบียบของสำนักงานอัยการ ดังนั้นคนที่จะพิจารณาความเห็นว่าสั่งฟ้องหรือไม่จะเป็นอธิบดีอัยการศาลแขวง ซึ่งพนักงานอัยการนัดมาฟังคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องอีกครั้งในวันที่ 27 ก.ค.นี้ เวลา 9.30 น. ที่สำนักงานอัยการศาลแขวง 3 (ดุสิต) ในระหว่างนี้พนักงานอัยการจะทำการสอบพยานเพิ่มเติม ซึ่งหากอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง จะต้องขออนุญาตอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีก่อน
ทั้งนี้ ศิริกาญจน์ เป็นหนึ่งในคณะทำงานคดี 14 นักศึกษาขบวนประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ถูกดำเนินคดีจากการทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในการคัดค้านการฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 14 คนต่อศาลทหารในคืนวันที่ 26-27 มิ.ย.58 ภายหลังจากการพิจารณาในศาลทหารเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าขอค้นรถศิริกาญจน์เพื่อยึดโทรศัพท์มือถือของนักศึกษาทั้ง 14 คนซึ่งฝากทีมทนายความไว้ก่อนเข้าเรือนจำ ศิริกาญจน์ปฏิเสธไม่ให้ค้นรถยนต์เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่มีหมายค้นและปราศจากเหตุอันสมควรที่จะค้นรถได้ ทำให้เจ้าหน้าที่ทำตรวจได้ยึดรถยนต์ศิริกาญจน์ไว้ข้ามคืนจนนำหมายศาลมาตรวจค้นในวันที่ 27 มิ.ย.58 ภายหลังจากนั้นศิริกาญจน์ได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าพล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดชและพวกเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญาในการยึดรถไว้ ต่อมาพนักงานสอบสวนเจ้าของคดี 14 นักศึกษาจึงเข้าแจ้งความว่าศิริกาญจน์ซ่อนเร้นพยานหลักฐานและทราบคำสั่งเจ้าพนักงานแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่งตามมาตรา 142 และมาตรา 368 ประมวลกฎหมายอาญา และแจ้งความเท็จตามมาตรา 172 และมาตรา 174 ประมวลกฎหมายอาญา แต่คดีมาตรา 172 และมาตรา 174 นั้นยังอยู่ระหว่างการสอบสวน

หลัง UPR กลุ่มนักสิทธิไทยเรียกร้อง รบ.ไทย ทำตามข้อเสนอแนะ


11 พ.ค. 2559 กลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทย (ดูรายชื่อด้านล่าง) ออกแถลงการณ์หลังการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนรอบสองของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กรณีประเทศไทย ที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยอมรับปฏิบัติตามข้อเสนอแนะทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออก การวิพากษ์วิจารณ์ การแสดงความเห็น การชุมนุมโดยสงบ รวมทั้งการประท้วง และเสรีภาพของสื่อ
รวมถึงเรียกร้องให้รัฐภาคีทุกแห่งขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะ 11 ประเทศซึ่งได้แสดงข้อกังวลเกี่ยวกับการคุ้มครองและเสรีภาพของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่จะดำเนินงานของตน เพื่อประกันไม่ให้มีการตอบโต้แก้แค้นกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รัฐภาคีต้องร่วมมือกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเพื่อดูแลให้มีการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่มีต่อรัฐบาลไทย

รายละเอียดแถลงการณ์ มีดังนี้

เมื่อวาน รัฐภาคีขององค์การสหประชาชาติได้ประชุมกันที่กรุงเจนีวา เพื่อทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนรอบสองของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Universal Periodic Review - UPR) กรณีประเทศไทย
นักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับชุมชนและหน่วยงานภาคประชาสังคม ยินดีกับถ้อยแถลงของผู้แทนไทยที่นำโดยกระทรวงยุติธรรม โดยมีการยอมรับว่า “เป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทยที่จะดูแลให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและทนายความสามารถปฏิบัติหน้าที่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเกื้อหนุน”
เราขอตั้งข้อสังเกตว่ามีอย่างน้อย 11 ประเทศรวมทั้งออสเตรเลีย เบลเยียม บอตสวานา สาธารณรัฐเช็ก ไอซ์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ โรมาเนีย สวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร มีข้อเสนอแนะโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
      
สาธารณรัฐเช็กเสนอให้ไทยประกันให้มี “การยุติการคุกคามและข่มขู่ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคน และดำเนินการตามมาตรการอย่างเป็นผล เพื่อป้องกันความรุนแรงและอาชญากรรมต่อพวกเขา”
โบลิเวียเสนอเป็นการเฉพาะให้คุ้มครองสิทธิของเกษตรกรและผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท
นิวซีแลนด์แสดงความเห็นว่า “....มีข้อกังวลอย่างหนักแน่นว่าการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิทางพลเรือนและทางการเมือง อ่อนแอลงในประเทศไทย ภายหลังการทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557...”
      
ไม่มีประเทศใดเสนอแนะเป็นการเฉพาะต่อกรณีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง ซึ่งมีบทบาทอย่างสำคัญในการต่อสู้กับความอยุติธรรมด้านสิทธิมนุษยชนในไทย มีแต่สเปนที่เสนอให้บังคับใช้ตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 โดยไม่มีข้อยกเว้นทั้งด้วยเหตุผลด้านศาสนาหรือความมั่นคงในราชอาณาจักรอย่างที่กฎหมายบัญญัติอยู่ในขณะนี้
     
แม้ว่าเจตจำนงที่มีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องดี แต่รัฐบาลไทยต้องเปลี่ยนเจตจำนงนั้นให้เป็นการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมโดยทันที
      
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างน้อย 60 คนถูกสังหาร โดยไม่มีการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ
บอตสวานาเสนอว่า รัฐบาลไทยต้อง “สอบสวนและประกันให้เกิดความยุติธรรมต่อกรณีการข่มขู่คุกคามและทำร้ายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและผู้สื่อข่าวตามที่มีการรายงานข่าว...”
โรมาเนียเสนอว่า “ต้องนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ”
ในแง่การใช้เสรีภาพในการแสดงออก นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายคนได้ตกเป็นเป้าหมายโจมตี พวกเขาถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาททางอาญา “ถูกบังคับให้เข้ารับการปรับทัศนคติ” ในค่ายทหาร และมีทหารไปพบถึงที่บ้าน ในการปรับทัศนคติยังมีการควบคุมตัวบุคคลโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก และเป็น “การล้างสมอง” และ/หรือถูกบังคับให้ประกาศต่อสาธารณะว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมืองอีกต่อไป เป็นเหตุให้พวกเขาต้องยุติการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน
      
สหราชอาณาจักรเสนอให้ไทยประกันว่าจะ “ไม่มีการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก โดยเฉพาะสำหรับสื่อมวลชนและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และต้องไม่มีการข่มขู่และคุกคามบุคคลใดที่แสดงความเห็นของตน รวมทั้งการเรียกตัวไปปรับทัศนคติ...และประกันให้กฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออกมีเนื้อหาสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ ตามข้อเสนอแนะของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในปี 2559”
      
นิวซีแลนด์ยังเรียกร้องให้ “ยุติการใช้วิธีเรียกตัวไปปรับทัศนคติและการจัดตั้งค่ายเพื่อฝึกอบรม”
      
เบลเยียมเสนอว่ารัฐบาลไทย “ต้องนำข้อเสนอแนะของผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออกไปปฏิบัติ...”
ในขณะที่รัฐภาคีอื่นๆ ได้เรียกร้องแบบเดียวกันให้มีเสรีภาพด้านความเห็นการแสดงออก การชุมนุมโดยสงบ และเสรีภาพของสื่อ
      
สหรัฐอเมริกา เรียกร้องเป็นการเฉพาะให้ยกเลิกมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งให้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จกับรัฐบาลทหารและเป็นเหตุให้ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ กรณีที่กระทำผิดต่อเสรีภาพและอิสรภาพในขั้นพื้นฐาน
      
นายสมชาย นีละไพจิตร นายพอละจี รักจงเจริญ (“บิลลี่”) และนายเด่น คำหล้า (ซึ่งหายตัวไปตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2559 เป็นตัวอย่างของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกบังคับให้สูญหาย สมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) และนายสวาท อุปฮาด นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิในที่ดินจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็ถูกคุกคามซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยทหารที่ขู่ว่าจะอุ้มหายตั้งแต่ภายหลังรัฐประหารปี 2557
ประเทศส่วนใหญ่เสนอให้ปฏิบัติตามอย่างเต็มที่ เมื่อคำนึงถึงอนุสัญญาต่อต้านการบังคับบุคคลให้สูญหาย รวมทั้งการออกกฎหมายระดับประเทศเพื่อเอาผิดกับการบังคับบุคคลให้สูญหายและการทรมาน และการยอมรับสิทธิของครอบครัวผู้เสียหายที่จะเรียกร้องความยุติธรรม นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทยทั้งหญิงและชาย ซึ่งต่อสู้อย่างกล้าหาญเพื่อปกป้องความยุติธรรมโดยไม่หวาดกลัวหรือไม่เข้าข้างฝ่ายใด ต่างยินดีกับข้อกังวลที่รัฐภาคีสหประชาชาติได้แสดงออก แสดงว่าประเทศเหล่านี้ได้ยินเสียงของพวกเขา
เราเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ยอมรับปฏิบัติตามข้อเสนอแนะทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออก การวิพากษ์วิจารณ์ การแสดงความเห็น การชุมนุมโดยสงบ รวมทั้งการประท้วง และเสรีภาพของสื่อ
เราเรียกร้องให้รัฐภาคีทุกแห่งขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะ 11 ประเทศซึ่งได้แสดงข้อกังวลเกี่ยวกับการคุ้มครองและเสรีภาพของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่จะดำเนินงานของตน เพื่อประกันไม่ให้มีการตอบโต้แก้แค้นกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รัฐภาคีต้องร่วมมือกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเพื่อดูแลให้มีการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่มีต่อรัฐบาลไทย

ผู้ลงนาม:
Protection International (PI)
สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.)
ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน (ศสส.)
Front Line Defenders
MADPET (Malaysians Against Death Penalty and Torture)
Franciscans International
Legal Action for Women, London & US  

HRW: กรณียูเอ็นทบทวนสิทธิมนุษยชนในไทยเผยให้เห็นภาวะ 'มือถือสากปากถือศีล' ของรัฐบาลทหาร

เหตุการณ์ชุมนุมหน้า พล.ม.2 รอ. เมื่อ 24 พฤษภาคม 2557 (แฟ้มภาพ)

ฮิวแมนไรท์วอทช์แถลงเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2559 กรณีรัฐบาลไทยให้คำมั่นต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ที่อ้างวารัฐบาลไทยเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและจะคืนประเทศสู่ประชาธิปไตยนั้น ช่างเป็นคำพูดที่แทบจะไร้ความหมายและแสดงให้เห็นถึง "ความมือถือสากปากถือศีล" ของรัฐบาลเผด็จการทหาร
12 พ.ค. 2559 คำแถลงของฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่าโดยก่อนหน้าที่จะมีการประชุมทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เรียกว่า Universal Periodic Review (UPR) ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตซ์เซอร์แลนด์เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ส่งรายงานทบทวนสถานการณ์ต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุว่าพวกเขา "จัดให้เรื่องการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนทุกกลุ่มเป็นเรื่องสำคัญที่สุด" แต่ฮิวแมนไรท์วอทช์ก็ระบุว่าที่ผ่านมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างรุนแรงโดยลอยนวลไม่ต้องรับผิด มีการใช้อำนาจทหารหนักขึ้น และละเลยข้อผูกพันด้านสิทธิมนุษยชนนานาชาติโดยสิ้นเชิง
จอห์น ฟิชเชอร์ ผู้อำนวยการรณรงค์ของสำนักงานฮิวแมนไรท์วอทช์สาขากรุงเจนีวากล่าวว่าการโต้ตอบของไทยต่อกรณีที่สหประชาชาติประเมินไทยนั้นไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงการให้สัญญาอย่างจริงจังต่อการลดการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือให้การคุ้มครองเสรีภาพพื้นฐานมากขึ้น ในขณะที่หลายประเทศเริ่มแสดงความกังวลต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ตัวแทนจากประะเทศไทยก็ไม่ได้พูดอะไรที่จะขจัดความกังวลต่อวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นได้เลย
ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่าหลังจากที่เกิดการรัฐประหารเมื่อปี 2557 และการเข้ามามีอำนาจของ คสช. นำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีการใช้อำนาจโดยอ้าง ม.44 ที่ไม่ผ่านการตรวจสอบหรือขั้นตอนตามกฎหมาย มีการร่างรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจกองทัพในการแทรกแซงการเมือง รวมถึงมีการสั่งเซนเซอร์สื่อ ทำการสอดส่องโลกออนไลน์ และลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ปราบปรามคนที่วิจารณ์หรือทำกิจกรรมต่อต้านเผด็จการทหาร โดยมักจะอ้างข้อหายุยงปลุกปั่น อีกทั้งยังมีการอ้างใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพิ่มขึ้นมากและมีการลงโทษรุนแรงที่สุดจากที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ไทย นอกจากนี้ยังมีการเรียกตัวนักกิจกรรมหรือผู้เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองเข้า "ปรับทัศนคติ" อีกนับพันราย มีการใช้ศาลทหารที่ทำการกักขังหน่วงเหนี่ยวผู้คนโดยไม่มีข้อหาหรือมีการไต่สวนรวมถึงไม่ให้พวกเขาสามารถเข้าถึงทนายความได้เลย
ในแถลงการณ์ของฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุต่อไปว่าฝ่ายความมั่นคงของไทยยังคงละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงต่อไปโดยไม่ต้องรับผิด ยังไม่มีใครเลยที่ต้องรับผิดในกรณีการใช้กำลังปราบปรามและสังหารประชาชนช่วงการชุมนุม 2553 ในกรณีละเมิดสิทธิในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงในกรณี "สงครามยาเสพติด" สมัย ทักษิณ ชินวัตร ที่มีคนถูกวิสามัญฆาตกรรมมากกว่า 2,000 ราย รวมถึงการสังหารและอุ้มหายนักกิจกรรมด้านสิทธิชุมชนอย่าง 'บิลลี' หรือกรณีนักสิทธิมนุษยชนอย่าง 'ทนายสมชาย'
แถลงการณ์ของฮิวแมนไรท์วอทช์ยังระบุอีกว่าทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกหลายข้อทั้งที่มีการลงนามอนุสัญญาไว้เช่น เรื่องการต่อต้านการอุ้มหาย อนุสัญญาเรื่องการต่อต้านการทารุณกรรมซึ่งรัฐบาลไทยล้มเหลวในการออกกฎบังคับใช้และยังไม่มีกฎหมายใดระบุให้มีการชดเชยเหยื่อที่ถูกทารุณกรรม อีกทั้งยังทำได้ไม่ดีพอในกรณีของการปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยและการต่อต้านการค้ามนุษย์
"ไม่มีใครควรที่จะถูกหลอกโดยรัฐบาลไทยที่ให้คำสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนแบบเพียงแค่ลมปาก" ฟิชเชอร์ กล่าว
"ประเทศสมาชิกสหประชาชาติควรกดดันไทยให้ยอมรับข้อเสนอของพวกเขาเพื่อหยุดยั้งไม่ให้เกิดภาวะตกต่ำทิ้งดิ่งลงเหวด้านสิทธิมนุษย์ชน โดยต้องทำให้ไทยยกเลิกการข่มเหงปราบปราม ให้เคารพในหลักเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และคืนประเทศสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยภายใต้พลเรือน" ฟิชเชอร์ กล่าว