วันพุธที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2558

เลิศรัตน์ เผยมี กม. ที่ต้องออกตาม รธน. อีก 26 ฉบับ

โฆษก กมธ.ยกร่างฯ เผย เตรียมดันกม.26 ฉบับตามรธน.ใหม่ พร้อมเตรียมเชิญ กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดิน กสม.ให้ข้อคิดเห็นต่อร่าง รธน. 12 มี.ค. นี้ และยันว่าเพื่อไทยเข้าใจผิดที่วิจารณ์ว่า รธน. ใหม่ให้อำนาจศาล รธน. มากเกินไป
10 มี.ค. 2558 เว็บข่าวรัฐสภา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงข่าวภายหลังการประชุม กมธ.ยกร่างฯว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการทบทวนร่างรัฐธรรมนูญ โดยคาดว่าจะเสร็จเรียบร้อยภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ และจะส่งร่างให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ศึกษาและเสนอความเห็น ขณะเดียวกันได้กำหนดประเภทและจำนวนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ที่จะเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อย่างน้อย 26 ฉบับ โดยเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 12  ฉบับ อาทิ
  • ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว.
  • ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะรัฐมนตรี
  • ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
  • ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ
  • ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ
  • ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
  • ขณะเดียวกันยังมีร่าง พ.ร.บ.อีก 14 ฉบับ ที่ต้องตราขึ้นตามร่างรัฐธรรมนูญ อาทิ
  • พ.ร.บ.สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ
  • พ.ร.บ.สมัชชาพลเมือง
  • พ.ร.บ.ว่าด้วยหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ

รวมถึงพ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ตามมาตรา 66 ของร่างรัฐธรรมนูญ ที่ประชาชน 1 หมื่นคนสามารถเข้าชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ได้ ทั้งนี้ยังกำหนดว่าสนช.จะต้องตั้ง กมธ.ที่มาจากกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างน้อยคณะละ 2 คนในการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว
เลิศรัตน์ กล่าวด้วยว่า ในวันที่12 มี.ค. 58 จะเชิญคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมาชี้แจงและให้ข้อคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญที่ให้คณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง จัดการเลือกตั้งแทน กกต. และการควบรวมผู้ตรวจการแผ่นดินกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตามการจัดการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ จะยังเป็นหน้าที่กกต.ในการจัดการเลือกตั้ง เพราะการสรรหา กจต.มาทำหน้าที่จะต้องใช้เวลา
ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์วิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญนั้น พล.อ.เลิศรัตน์  กล่าวว่า นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้ให้ทำหนังสือชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว โดยเฉพาะประเด็นที่มองว่าร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมากเกินไป ถือเป็นความเข้าใจที่คาดเคลื่อน เพราะการจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จะต้องเข้าเงื่อนไขว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

เริ่มสืบพยานคดี บก.ลายจุด โพสต์กระทบความมั่นคง-กระด้างกระเดื่อง

ศาลนัดสืบ พ.ต.อ.ปรัชญา ประสานสุขอดีต อดีตรองผบ. ปอท. หัวหน้าชุดจับกุม บก.ลายจุด ในข้อหาสร้างความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนและโพสต์ข้อความกระทบความมั่นคงฯ
10 มี.ค. 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลทหาร กรมพระธรรมนูญ กรุงเทพฯ ศาลนัดสืบพยานโจทก์ คือพ.ต.อ.ปรัชญา ประสานสุข ในคดีของนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ซึ่งในขณะเกิดเหตุมีตำแหน่งเป็นรองผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) และเป็นผู้กล่าวหานายสมบัติในคดีนี้
พยานเบิกความว่าระหว่างวันที่ 30 พ.ค. ถึง 4 มิ.ย. 2557 ระหว่างที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก พยานได้รับคำสั่งฉบับที่ 65/2557 จากกระทรวง ICT ให้เข้าร่วมเป็นคณะทำงานด้านสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับการนำข้อมูลที่ผิดกฎหมายเข้าสู่สังคมออนไลน์ หลังจากนั้นพยานได้ติดตามพฤติกรรมการโพสต์ข้อความของนายสมบัติ
โดยในวันที่ 30 พ.ค. นายสมบัติ มีการโพสต์ข้อความลงในทวิตเตอร์ 4 ข้อความ มีลักษณะต่อต้านการรัฐประหาร และเขียนต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์
วันที่ 31 พ.ค. นายสมบัติ โพสต์ข้อความลงทวิตเตอร์อีก 3 ข้อความ เชิญชวนให้มีการต่อต้านการรัฐประหารอีกและวันที่ 3 มิ.ย. อีก 1 ข้อความ และวันที่ 4 มิ.ย. โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก 6 ข้อความ มีลักษณะเชิญชวนให้มีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ซึ่งข้อความทั้งหมดไม่ใช่การติชมโดยสุจริตทำให้ประชาชนต่อต้านการปกครองประเทศของ คสช. และท้าทายเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นการสร้างความปั่นป่วนในราชอาณาจักรซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง
ซึ่งพยานสืบทราบโดยได้ IP address ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่าเป็นบ้านของประชาชนรายหนึ่ง จากนั้นได้ประสานกองทัพภาคที่ 1 ขอกำลังทหารเพื่อเข้าตรวจค้นบ้านหลังดังกล่าวตามอำนาจกฎอัยการศึก และเข้าตรวจค้นในวันที่ 5 มิ.ย. เวลา 20.30 น. โดยพยานเป็นหัวหน้าชุดนำกำลังตำรวจ 20 นาย เข้าตรวจค้น โดยเจ้าของบ้านได้ออกมาเปิดประตูและพาพยานเข้าตรวจค้นบ้านและพบห้องที่ล๊อคอยู่ทางเจ้าหน้าที่เกรงว่าอาจมีคนที่มีอาวุธอยู่ในห้องจึงทำลายเข้าไปพบนายสมบัติ และพบคอมพิวเตอร์ของนายสมบัติอยู่และเปิดเฟซบุ๊กที่พิมพ์ข้อความสุดท้ายว่า "ผมโดนจับแล้ว" ทางเจ้าหน้าที่จึงได้ยึดของกลางไว้
โดยจะมีการถามค้านพ.ต.อ.ปรัชญาต่อในวันศุกร์ที่ 30 มี.ค. นี้เนื่องจากการสืบในวันนี้ยังไม่สิ้นสุด และในวันศุกร์นี้ (13 มี.ค.) จะมีการสืบพยานร.อ.เมธาสิทธิ์ ผู้กล่าวหาที่ 2

อัยการยื่นฟ้อง ม.112 พ่อแม่ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์

อัยการยื่นฟ้องมาตรา 112 มารดาและบิดาท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี ฐานหมิ่นเบื้องสูง และค้านการประกันตัว ระบุเป็นคดีสำคัญ มีอัตราโทษสูง เกรงหลบหนี
10 มี.ค.2558 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10  เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางวันทนีย์ สุวะดี อายุ 66 ปี และนายอภิรุจ สุวะดี อายุ 72 ปี มารดา และบิดาของท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี  เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกัน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
โดยคำฟ้องบรรยายพฤติการณ์สรุปว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ น.ส. แสงระวี (สงวนนามสกุล) ได้แอบอ้างว่ารู้จักกับจำเลยที่ 2 ซึ่งต่อมา มีเหตุชาวบ้านในเขต ตำบลและอำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี โจษขานกันว่า น.ส.แสงระวี มีความสัมพันธ์ ชู้สาวกับจำเลยที่ 2 ที่ให้การอุปการะเลี้ยงดูกัน และเมื่อจำเลยที่ 1 ทราบข่าวได้เกิดความไม่พอใจ น.ส.แสงระวี โดยเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 46 จำเลยทั้งสองได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ไปนำเอาตัว น.ส.แสงระวี รวมทั้งบิดา มารดา และญาติมาพบกับจำเลยทั้งสองที่บ้านพักในจังหวัดราชบุรี แล้วจำเลยทั้งสองก็ได้ร่วมกัน หมิ่นประมาทและดูหมิ่นต่อองค์รัชทายาท โดยคำพูดสื่อความหมายให้เข้าใจว่า เรื่องดังกล่าวได้มีการกราบทูลฯ องค์รัชทายาทแล้ว  โดยน.ส.แสงระวี จะต้องรับโทษอย่างหนัก ซึ่งทำให้ น.ส.แสงระวี และครอบครัวเกิดความเกรงกลัว จากนั้น จำเลยทั้ง 2 ได้ให้เจ้าพนักงานตำรวจนำตัว น.ส.แสงระวี ไปดำเนินคดีฐานฉ้อโกง ซึ่งด้วยความเกรงกลัว น.ส.แสงระวี จึงได้จำยอมให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหา  และถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 24 เดือน ซึ่งการกระทำของจำเลยทั้ง 2 เป็นการแสวงหาประโยชน์เพื่อข่มขู่และกลั่นแกล้งผู้อื่นและเสื่อมเสียพระเกียรติยศต่อองค์รัชทายาท ต่อมาวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 48 เจ้าพนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาภายหลังจำเลยทั้ง 2 เข้ามอบตัวในชั้นสอบสวนจำเลยทั้ง 2 ให้การปฏิเสธ เหตุเกิดที่ตำบลและอำเภอวัดเพลงจังหวัดราชบุรี
ท้ายฟ้องพนักงานอัยการโจทก์ได้ขอคัดค้านการให้ประกันตัวจำเลยทั้ง 2 ด้วย เนื่องจากเกรงว่าหากปล่อยชั่วคราวจำเลยจะไปยุ่งกับพยานหลักฐานในคดี และเป็นคดีสำคัญที่เป็นความผิดต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี และองค์รัชทายาท ซึ่งมีอัตราโทษสูงจึงเกรงว่าจะหลบหนี
โดยศาลได้ประทับรับฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อ.838/2558 และให้เบิกตัวจำเลยทั้งสองจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ และทัณฑสถานหญิงกลาง บางเขน มาเพื่อสอบคำให้การในวันที่ 11 มีนาคม เวลา 9.00 น.

ฟ้องแล้ว ! แกนนำ พธม.ผิด พ.ร.บ.มั่นคง ชุมนุมเขาพระวิหารปี 54

อัยการส่งฟ้อง 10 แกนนำพันธมิตรฯ-คนไทยหัวใจรักชาติ กรณีชุมนุมปกป้องปราสาทพระวิหารสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์เมื่อปี 54 ฐานผิด พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ หลังรายงานตัว-ทำประวัติ ศาลปล่อยตัวชั่วคราว ไม่ต้องยื่นประกัน
10 มี.ค.2558 ที่ศาลแขวงดุสิต ถนนบรมราชชนนี พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 (ดุสิต) ยื่นฟ้องแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มประชาชนคนไทยหัวใจรักชาติ รวม 10 คน ความผิดฐานร่วมกันฝ่าฝืนประกาศและข้อกำหนดห้ามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเข้าหรือให้ออกจากบริเวณพื้นที่หรือสถานที่ที่กำหนดตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551
โดยแกนนำทั้ง 10 คน ประกอบไปด้วย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายสนธิ ลิ้มทองกุล, นายประพันธุ์ คูณมี, นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, สมณะโพธิรักษ์ หรืออดีตพระโพธิรักษ์, นายสุริยะใส กตะศิลา, นายเทิดภูมิ ใจดี, นายพิภพ ธงไชย, นายรัชต์ยุตม์ หรืออมร ศิรโยธินภักดี และนายทศพล แก้วทิมา
เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า อัยการซึ่งเป็นโจทก์ยื่นฟ้องระบุความผิดของแกนนำทั้ง 10 คน สรุปว่า เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2554 คณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ได้ประกาศให้พื้นที่เขตพระนครเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตปทุมวัน เขตดุสิต และเขตวังทองหลาง เขตวัฒนา และเขตราชเทวี เป็นพื้นที่มีเหตุการณ์กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งจำเลยทั้ง 10 คนได้ร่วมกันตั้งเวทีชุมนุมและปิดการจราจรบนถนนถนนราชดำเนินนอกบริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ์ โดยใช้ชื่อ ”กลุ่มเครือข่ายประชาชนคนไทยหัวใจรักชาติ” ขณะที่ “กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ตั้งเวทีชุมนุมที่บริเวณเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ และบรรดาแกนนำได้สลับกันขึ้นเวทีปราศรัยโจมตีการบริหารประเทศของรัฐบาลอภิสิทธิ์ในประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชากรณีข้อพิพาทเขาพระวิหาร อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย โดยชั้นสอบสวนจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ
ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า ในวันเดียวกันนี้ จำเลยทั้ง 10 คนได้เดินทางมาที่ศาลแขวงภายหลังพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว โดยศาลอธิบายคำฟ้องให้จำเลยทั้งหมดฟังและนัดให้มาสอบคำให้การอีกครั้งในวันที่ 20 เม.ย.นี้ เวลา 10.00 น. ทั้งนี้ ศาลเมตตาโดยไม่ได้ให้ทนายดำเนินการยื่นเรื่องประกันตัวจำเลยทั้งสิบคนแต่อย่างใด เพียงแต่ให้ทำประวัติไว้ ก่อนจะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้
ด้านนายประพันธ์ คูณมี หนึ่งในผู้ที่ถูกฟ้องในวันนี้กล่าวว่า กลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ ได้ชุมนุมรวมพลังปกป้องแผ่นดิน และเรียกร้องให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ปกป้องอธิปไตยของชาติ และเรียกร้องให้ประเทศไทยถอนตัวจากการเป็นภาคีมรดกโลกจากกรณีข้อพิพาทปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งหลังจากทางกลุ่มได้ชุมนุมมาสักระยะหนึ่งทางรัฐบาลขณะนั้นก็ได้ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ โดยมีกำหนดห้ามชุมนุมและห้ามเข้าไปใช้พื้นที่ดังกล่าว ทั้งที่เป็นการชุมนุมโดยสงบ และเป็นการให้ข้อมูลกับประชาชน และได้ยุติการชุมนุม เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2554 นายประพันธ์กล่าวว่า เหตุการณ์ผ่านมา 4 ปีแล้ว และทราบว่าตอนแรกว่าอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง แต่ทางพนักงานสอบสวนมีความเห็นแย้ง จึงส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดชี้ขาด และที่สุดอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้อง ซึ่งคดีนี้เป็นความผิดเล็กน้อย มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท นายประพันธ์เห็นว่า รัฐบาลคงมีนโยบายให้ดำเนินคดีกับทุกฝ่าย และวันนี้ศาลได้เมตตาไม่ต้องให้ทำเรื่องยื่นขอประกันตัวเพียง แต่ให้ทำประวัติไว้ก่อนจะมีคำสั่งให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งหมด

ควันหลง : เปิดตัวนิทรรศการ 'คนชื่อป๋วย'

ชมบรรยากาศส่วนหนึ่งจากงานเปิดนิทรรศการ “คนชื่อป๋วย” (A Man Called Puey) เพื่อแสดงประวัติ ผลงาน และเกียรติยศในโอกาสครบ 99 ปี ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องกับ ศ.ป๋วย มาร่วมกล่าวเปิดนิทรรศการด้วย อาทิ จอน อึ๊งภากรณ์, ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
งานเปิดนิทรรศการ “คนชื่อป๋วย” มีขึ้นเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2558 ที่บริเวณโถงทางเข้าหอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

สุรชัย ชี้ 12 มี.ค. ฟันธงคดีถอดถอนอดีต 38 ส.ว. ด้วยการลงคะแนนลับ คาด 3 ชม. รู้ผล

รองประธาน สนช.เผย ลงมติถอดถอนอดีต 38 ส.ว. พรุ่งนี้ โดยจะความผิด 4 กลุ่ม ส่วนอดีต ส.ว. ที่เป็น สนช. หากมีมติถูกถอดถอนจะต้องสิ้นสภาพลงหรือไม่ ขอให้รอผลก่อน<--break- />
11 มี.ค. 2558 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 เปิดเผยถึงการลงมติตามกระบวนการถอดถอนอดีต ส.ว. จำนวน 38 คน จากกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้(12 มี.ค. 2558) ว่า จะใช้การลงมติด้วยวิธีลงคะแนนลับ โดยสมาชิก สนช. แต่ละคนจะได้รับบัตรคนละ 4 ใบ แบ่งออกเป็น 4 สี ส้ม เขียว ขาว ฟ้า เพื่อออกเสียงตามฐานความผิดที่ ป.ป.ช. ชี้มูลอดีต ส.ว.ทั้ง 38 คน ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มฐานความผิด แต่ละฐานความผิดประกอบด้วยอดีต ส.ว. จำนวนกลุ่มละ 22 คน 13 คน 2 คน และ 1 คน ทั้งนี้สมาชิก สนช. ต้องเข้าคูหากาบัตรในคราวเดียวกัน 4 ใบ และหย่อนบัตรลงในกล่องตามสีของบัตร ส่วนการตรวจนับคะแนนจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจนับจำนวน 3 ชุด กระบวนการทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง
สุรชัย ตอบข้อถามเพิ่มเติมด้วยว่า หากมีอดีต ส.ว. ที่เป็น สนช. ถูกลงมติถอดถอน จะต้องสิ้นสภาพทันทีหรือไม่ ว่าขอให้รอผลการลงมติในวันพรุ่งนี้ก่อน
ทั้งนี้ฐานความผิดทั้ง 4 กลุ่มนั้นเป็นไปตามรายงานของ ป.ป.ช. ซึ่งได้แบ่งผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 38 คน เป็น 4 กลุ่มความผิดประกอบด้วย 1.ข้อกล่าวหา ภารดี จงสุขธนามณี และพล.ท.พงศ์เอก อภิรักษ์โยธิน กรณีร่วมลงชื่อเสนอญัตติร่างรัฐธรรมนูญและลงมติในวาระที่ 3 แต่ไม่ได้พิจารณาลงมติในวาระที่1 ขั้นรับหลักการ และวาระที่ 2 ขั้นพิจารณาเรียงลำดับรายมาตรา โดยเฉพาะมาตรา 6 ที่มีการแก้ไขหลักการสำคัญ มีผลทำให้บุคคลผู้เคยดำรงตำแหน่งส.ว.ที่สิ้นสุดสมาชิกภาพลงสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ว.ได้อีก โดยไม่ต้องรอให้พ้นระยะเวลา 2 ปี  
2.ข้อกล่าวหา ประสิทธิ์ โพธสุธน, สมชาติ พรรณพัฒน์, พล.ต.ต.องอาจ สุวรรณสิงห์, ดิเรก ถึงฝั่ง, ประวัติ ทองสมบูรณ์, กฤช อาทิตย์แก้ว, พล.ต.ท.พิชัย สุนทรสัจบูลย์, ภิญโญ สายนุ้ย, ไพบูลย์ ซำศิริพงษ์, สุเมธ ศรีพงษ์, พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์, สุรพงษ์ ตันธนศรีกุล, พีระ มานะทัศน์, สิทธิศักดิ์ ยนต์ตระกูล, สุรชัย ชัยตระกูลทอง, สุวิศว์ เมฆเสรีกุล, รักพงษ์ ณ อุบล, บวรศักดิ์ คณาเสน, จตุรงค์ ธีระกนก, สิงห์ชัย ทุ่งทอง, ยุทธนา ยุพฤทธิ์ และชูชัย เลิศพงศ์อดิศร รวม 22 คน กรณีร่วมลงชื่อเสนอญัตติร่างรัฐธรรมนูญและลงมติในวาระที่ 1, 2 และ 3 
3.ข้อกล่าวหา ประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์, โสภณ ศรีมาเหล็ก, ต่วน อับดุลเล๊าะ ดาโอ๊ะมารียอ, พล.ต.อ.โกวิท ภักดีภูมิ, ประดิษฐ์ ตันวัฒนะพงษ์, พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์, วรวิทย์ บารู, สุโข วุฑฒิโชติ, ทวีศักดิ์ คิดบรรจง, สุริยา ปันจอร์, ถนอม ส่งเสริม, บุญส่ง โควาวิสารัช และวรวิทย์ วงษ์สุวรรณ์ รวม 13 คน กรณีร่วมลงชื่อเสนอญัตติร่างรัฐธรรมนูญและลงมติในวาระที่ 1 และ 3 และ 4.ข้อกล่าวหา วิทยา อินาลา กรณีร่วมรายมือชื่อเสนอญัตติร่างรัฐธรรมนูญและลงมติในวาระที่ 1 และ 2

จำคุก 5 ปี ‘พ่อ-แม่’ ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ คดี 112 ลดโทษกึ่งหนึ่ง ไม่รอลงอาญา



ศาลพิพากษาจำคุกคดี ม.112 ‘พ่อ-แม่’ ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ 5 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่ง ไม่รอการลงโทษ ฐานแอบอ้างและกลั่นแกล้งผู้อื่นให้ติดคุกเมื่อปี 46
หลังจากวานนี้ (10 มี.ค.58) พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10  เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางวันทนีย์ สุวะดี อายุ 66 ปี และนายอภิรุจ สุวะดี อายุ 72 ปี มารดา และบิดาของท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี  เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกัน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (อ่านรายละเอียด)
ล่าสุด วันนี้ (11 มี.ค.58) ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้เบิกตัวนายอภิรุจ จำเลยที่ 2 มาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และเบิกตัวนางวันทนีย์ จำเลยที่ 1 มาจากทัณฑสถานหญิงกลาง เพื่อสอบคำให้การ ต่อมาศาลได้อธิบายคำฟ้องให้จำเลยทั้งสองเป็นที่เข้าใจและสอบถามจำเลยว่าจะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธ โดยจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพและไม่ต้องการทนายความ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยกระทำผิดจริงตามฟ้อง ลงโทษฐานหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้ลงโทษจำคุกจำเลยคนละ 5 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง คงเหลือจำคุกคนละ 2 ปี 6 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ
ทั้งนี้ ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำตัวจำเลยทั้งสองขึ้นรถตู้ของเรือนจำกลับไปควบคุมยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และทัณฑสถานหญิงกลางทันที
คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อประมาณปี 2546 น.ส.แสงระวี (สงวนนามสกุล) ได้แอบอ้างว่ารู้จักกับจำเลยที่ 2 ต่อมาชาวบ้านในเขตตำบลและอำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี ต่างพากันลือทำนองว่า น.ส.แสงระวีมีลักษณะความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 2 ที่ให้การอุปการะเลี้ยงดูกัน และเมื่อจำเลยที่ 1 ทราบข่าวจึงเกิดความไม่พอใจ น.ส.แสงระวี โดยเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2546 จำเลยทั้งสองได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปนำเอาตัว น.ส.แสงระวี รวมทั้งบิดา มารดา และญาติมาพบกับจำเลยทั้งสองที่บ้านพักในจังหวัดราชบุรี แล้วจำเลยทั้งสองก็ได้ร่วมกันหมิ่นประมาทและดูหมิ่นต่อเบื้องสูง จนทำให้ น.ส.แสงระวี และครอบครัวเกิดความเกรงกลัว จากนั้นจำเลยทั้งสองได้ให้เจ้าพนักงานตำรวจนำตัว น.ส.แสงระวีไปดำเนินคดีฐานฉ้อโกง ด้วยความเกรงกลัว น.ส.แสงระวี จึงจำยอมให้การรับสารภาพ ไม่กล้าโต้แย้ง และถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 24 เดือน การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการแสวงหาประโยชน์เพื่อข่มขู่และกลั่นแกล้งผู้อื่นและเสื่อมเสียพระเกียรติยศต่อองค์รัชทายาท ต่อมาวันที่ 9 ก.พ. 2548 เจ้าพนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาภายหลังจำเลยทั้งสองเข้ามอบตัวในชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสองให้การปฎิเสธ เหตุเกิดที่ตำบลและอำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี