วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2556

รายงาน: ชำแหละรายงาน กสม. ความตายในอุ้งมือนักสิทธิมนุษยชน


รายงาน: ชำแหละรายงาน กสม. ความตายในอุ้งมือนักสิทธิมนุษยชน

Thu, 2013-08-15 22:55

ปราชญ์ ปัญจคุณาธร

          สรุปความเห็นของ กสม. เกี่ยวกับการกระทำของผู้ชุมนุม นปช. และการกระทำของรัฐบาล/เจ้าหน้าที่รัฐ กับ 8 ข้อวิจารณ์รายงาน กสม. ว่าด้วยการชุมนุม-สลายชุมนุม 53


            สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้เผยแพร่ "รายงานผลการตรวจสอบเพื่อมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กรณีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ระหว่างวันที่ 12-19 พฤษภาคม 2553" ออกมาอย่างเงียบๆ (อ่านรายงานดังกล่าวที่นี่) หลังจากใช้เวลาเขียนรายงานฉบับนี้ถึง 3 ปี. กสม. แบ่งเนื้อหารายงานออกเป็น 8 ประเด็น. ในแต่ละประเด็น กสม. ให้ความเห็นเกี่ยวกับการกระทำของผู้ชุมนุม นปช. และการกระทำของรัฐบาล/เจ้าหน้าที่รัฐ (ยกเว้นในประเด็นแรก ซึ่ง กสม. พูดถึงเฉพาะการกระทำของผู้ชุมนุม) ตารางต่อไปนี้ สรุปความเห็นของ กสม. ในแต่ละประเด็นโดยสังเขป.


ความเห็นของ กสม. เกี่ยวกับ ผู้ชุมนุม
ความเห็นของ กสม. เกี่ยวกับ รัฐบาล/เจ้าหน้าที่รัฐ
1. กรณีสถานการณ์ก่อนวันที่ 7 เมษายน 2553

"ผู้ร่วมชุมนุมส่วนหนึ่งได้เคลื่อนย้ายไปชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์… ส่งผลกระทบต่อธุรกิจสําคัญ  รวมทั้งก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อการประกอบอาชีพและการดํารงชีวิตตาม  ปกติสุขของประชาชนโดยทั่วไป  อันเป็นการใช้เสรีภาพที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น […] โดยเหตุการณ์นี้นํามาซึ่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเวลาต่อมา" (หน้า 30)
-
2.1 กรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น)ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและสั่งจัดตั้งศูนย์อําานวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553

"ปรากฏภาพและเสียงการปราศรัยของแกนนํากลุ่ม นปช. ที่มีลักษณะเป็นทํานองยั่วยุ ปลุกระดมผู้ชุมนุมให้ก่อความรุนแรงในบ้านเมืองเรื่อยมา" (หน้า 35)

"มาตรการที่มีผลเป็นการจําากัดสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวอยู่ภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายให้อํานาจไว้  และเป็นการจํากัดเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนส่วนรวมในระหว่างที่สถานการณ์  บ้านเมืองเกิดความไม่สงบ อันมีเหตุความจําเป็นและเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว" (หน้า 38)
2.2 กรณีที่ศอฉ. สั่งระงับการออกอากาศสถานีโทรทัศน์พีเพิลชาแนล(PTV)

"การปราศรัยของแกนนําานปช. หลายคร้ัง  ที่มีลักษณะเป็นทําานองยั่วยุปลุกระดมผชุมนุมให้ก่อ  ความรุนแรงและความไม่สงบในบ้านเมืองอันเป็นภัยต่อความมั่นคง  ในขณะที่สถานการณ์บ้านเมือง  เกิดความวุ่นวายและเหตุการณ์ไม่สงบอย่างต่อเนื่อง  อันเข้าข่ายเป็นการกระทําให้ปรากฏแก่ประชาชนซึ่งมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน  หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง" (หน้า 40)
"[การปิด PTV] เป็นการกระทําภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายให้อําานาจไว้แล้ว และเป็นการกระทําเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างที่สถานการณ์บ้านเมืองเกิดความไม่สงบ ประกอบกับเมื่อพิจารณาจากเจตนารมณ์ในการใช้มาตรการดังกล่าวแล้วก่อให้เกิดผลต่อประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าผลกระทบที่มีต่อกลุ่มบุคคลที่ถูกจํากัดสิทธิและเสรีภาพ กรณีจึงเป็นการจำเป็นเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว" (หน้า 40)

2.3 กรณีที่ศอฉ. สั่งระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออินเทอร์เน็ตบางสื่อ

"มีเว็บไซต์  ที่ถูกปิดก้ันหลายเว็บไซต์  นอกจากมีเนื้อหาที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแล้ว ก็ยังมีเนื้อหาสาระอื่นที่หลากหลายซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารที่ต้องห้าม" (หน้า 43)

(รายงาน กสม. ไม่ได้กล่าวถึงสื่อสิ่งพิมพ์ แต่อย่างใด)
"มาตรการของรัฐที่มีผลเป็นการระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตเป็นการใช้อํานาจ ภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายให้อําานาจไว้  อย่างไรก็ตามการดําาเนินการตามอํานาจดังกล่าวของรัฐเป็นการจํากัดเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชนที่เกินความเหมาะสมและเกินกว่ากรณีแห่งความจําเป็น" (หน้า 43)
3. กรณีการชุมนุมและปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับกลุ่ม นปช. เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553

"ผู้ชุมนุมใช้เด็กและสตรีเป็นโล่มนุษย์ ใช้ไม้ปลายแหลม ก้อนอิฐตัวหนอน หนังสติ๊กที่ใช้นอตเป็นลูกกระสุน รวมทั้งมีพยานบุคคลยืนยันว่า ผู้ชุมนุมบางรายมีอาวุธปืนทำการต่อต้านการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และยังมีกลุ่มชายชุดดำมีอาวุธที่พร้อมจะใช้ความรุนแรงได้ตลอดเวลาปะปนอยู่กับกลุ่มผู้ชุมนุม อันอาจก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ทหารและประชาชนทั่วไปได้" (หน้า 47)
"เจ้าหน้าที่ทหาร[...]มีความจําเป็นต้องป้องกันตนเองและผู้อื่นให้พ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงตัว ที่รุนแรงอาจทําให้ถึงแก่ชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บได้ โดยไม่สามารถใช้วิธีป้องกันอย่างอื่นได้" (หน้า 47)
"การกระทํา[ของเจ้าหน้าที่รัฐ]ที่เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจํานวนมาก  การกระทําของรัฐจึงเป็นการกระทําโดยประมาทและประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาด" (หน้า 48)
"รัฐบาลจึงต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดจากความประมาทน้ัน  ตลอดจนดําเนินการให้ความช่วยเหลือและเยียวยา ตามสมควรแก่ผู้ที่ได้รับความสูญเสีย" (หน้า 48)
4. กรณีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากระเบิดเอ็ม ๗๙ บริเวณแยกศาลาแดง เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2553

"การชุมนุมของกลุ่ม นปช. เป็นการชุมนุมที่ส่งผลทำให้เกิดความรุนแรง การสูญเสียชีวิต บาดเจ็บ  และทรัพย์สินได้รับความเสียหายต่อเนื่องมาโดยตลอด" (หน้า 52)
"การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ในเหตุการณ์นี้[...]เป็นการชุมนุมที่เกินกว่าสิทธิและเสรีภาพ ที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธ [...] มีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคลอื่นที่มิได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุม" (หน้า 52-53)
"รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตํารวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในเหตุการณ์  ดังกล่าวละเลยการกระทําาอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน  ซึ่งรัฐบาลควรดําาเนินการปกป้อง  สิทธิของประชาชนทีไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมให้มากกว่านี้" (หน้า 53)

5. กรณีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติเมื่อวันที่ 28เมษายน 2553
"ผลจากการปะทะกันระหว่างกลุ่มนปช. กับเจ้าหน้าที่ทหารในเหตุการณ์ดังกล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่ง  การที่มีเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต ๑ นายจากอาวุธปืน  และประชาชนตลอดจนเจ้าหน้าที่ทหาร  จํานวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ จึงถือได้ว่ามีการกระทําอันเป็นการกระทบต่อสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งได้รับบาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต" (หน้า 56)
"การกระทําของรัฐบาลได้ใช้ดุลยพินิจเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ และเพื่อรักษาความเรียบร้อยในระหว่างที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน อันเป็นข้อยกเว้นที่จะจํากัดการใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้" (หน้า 55)
6. กรณีการชุมนุมของกลุ่ม นปช.บริเวณรอบโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และการเข้าไปตรวจค้นโรงพยาบาลจฬุาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2553

"กรณีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. บริเวณรอบโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และการเข้าไปตรวจค้นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ […] ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน  และยังเป็นการกระทําที่ควรมีการสืบสวนสอบสวนผู้มีส่วนร่วมในการกระทําดังกล่าวตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาต่อไป" (หน้า 61)

"รัฐปล่อยให้มีการชุมนุมถึงขั้นก่อให้เกิดความเดือดร้อนทั้งเรื่อง  มลภาวะทางเสียงที่รบกวนผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลด้านที่อยู่ติดกับถนนราชดำริ  การตั้งด่านด้วยยางรถยนต์และไม้ไผ่ปิดกั้นกีดขวางทางเข้า-ออกโรงพยาบาล การตรวจค้นกระเป๋าของผู้ที่จะเดินทางเข้าออกโรงพยาบาล ตลอดจนการเข้าไปใช้พื้นที่ด้านหน้าตึก ภปร. เพื่อชุมนุมในเวลากลางคืนนั้น  จึงถือได้ว่ารัฐปล่อยปละละเลยการกระทําอันเป็นการละเมิดสิทธิมนษุยชนด้วย" (หน้า 60)

7. กรณีการเกิดเหตจุลาจล ปะทะ และทำลายทรพัย์สินของราชการและเอกชน ระหว่างวันที่ 13-19พฤษภาคม 2553
"ผลของการชุมนุมในช่วงระยะเวลาดังกล่าวข้างต้นได้เกิดผลกระทบต่อชีวิตร่างกาย  และการประกอบอาชีพ ตลอดจนทรัพย์สินของบุคคลอื่น ดังนั้น การใช้เสรีภาพในการชุมนุมของกลุ่ม นปช. จึงยังไม่สอดคล้องและเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญ" (หน้า 70)
"การกระทําในการเผาอาคารทรัพย์สินนั้น  ได้แผ่ขยายไปถึง การเผาศาลากลางในหลายจังหวัดในเวลาต่อมา [...] เป็นการกระทําาผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น วางเพลิงเผาทรัพย์  อันเป็นสถานที่ราชการ  ทําลายทรัพย์สินราชการและทรัพย์สินเอกชน  รวมทั้งลักทรัพย์ของผู้อื่น  การกระทําดังกล่าวจึงเป็นการกระทําที่กระทบต่อสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลอื่น อันเป็นการละเมิด สิทธิมนุษยชน" (หน้า 72)


"มีผู้บาดเจ็บ จํานวน ๔๐๔ คน  เสียชีวิต จํานวน ๕๑ คน [...] ยังไม่มี พยานหลักฐานยืนยันได้ว่าผู้ใดฝ่ายใดเป็นผู้ยิงผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บดังกล่าว  และกลุ่มบุคคลผู้ติดอาวุธที่แฝงตัวในกลุ่มผู้ชุมนุมคือใคร [แต่] ผลที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งย่อมเป็นไปได้ว่า อาจเกิดจากการกระทำของฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้อาวุธด้วย รัฐบาลจึงมีหน้าที่รับผิดชอบในการเยียวยาช่วยเหลือแก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บดังกล่าว" (หน้า 71)

8. กรณีมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ บริเวณวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ภายหลังจากแกนนํากลุ่ม นปช.ประกาศยุติการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553

"ไม่มีพยานยืนยันที่ปรากฏชัดว่า ศพของผู้เสียชีวิตบางศพได้เสียชีวิตนอกวัด  บางศพเสียชีวิตหน้าวัด  และบางศพไม่รู้ว่าเสียชีวิตบริเวณใด  แต่ศพทั้ง ๖ ศพได้ถูกเคลื่อนย้ายเข้าไปในวัดภายหลังที่ถูกยิงเสียชีวิตแล้ว" (หน้า 76)
"คงสรุปได้ว่า ถูกยิงในระยะเกินมือเอื้อม ไม่อาจรู้ถึงระยะใดเพียงใด" (หน้า 76)
"มีกลุ่มบุคคลติดอาวุธวิ่งหลบหนี ไปมาและหลบเข้าไปในวัดปทุมวนารามฯ แล้วยิงอาวุธใส่เจ้าหน้าที่  เจ้าหน้าที่จึงมีความจําเป็นต้อง ป้องกันตนเอง" (หน้า 75)
"มาตรการที่รัฐบาลกำหนดปฏิบัติการนั้นเป็นกรณีจำเป็นสมควรตาม กฎหมาย  แต่ในทางปฏิบัติได้เกิดความเสียหายขึ้นแล้ว  และความเสียหายนั้นเกิดจากสถานการณ์ ยิงปะทะที่วุ่นวายระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับผู้ติดอาวุธที่แฝงตัวในที่ชุมนุม  ความเสียหายส่วนหนึ่ง ย่อมอาจเกิดจากการกระทําของเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย" (หน้า 76)
วิจารณ์รายงาน กสม. ว่าด้วยการชุมนุม-สลายชุมนุม 53

           1. กสม. ไม่เข้าใจความต่างระหว่างการละเมิดสิทธิมนุษยชน กับการละเมิดกฎหมาย

           รายงานของ กสม. แสดงให้เห็นว่า กสม. นั้นไม่เข้าใจเลยว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับการละเมิดกฎหมายนั้นเป็นคนละเรื่องกัน การที่บุคคลทำผิดกฎหมายนั้นไม่ได้หมายความว่าเขาละเมิดสิทธิมนุษยชน และการที่บุคคลทำถูกกฏหมายก็ไม่ได้หมายความว่าเขาทำถูกหลักสิทธิมนุษยชน แต่ในหน้า 52-53 กสม. เขียนว่า:

        "การชุมนุม [ของกลุ่ม นปช. ในวันที่ 22 เมษายน 2553] มีการกระทำอันเป็นความผิดกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหลายประการ ตลอดจนผลของความเดือดร้อนเสียหายที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมในเหตุการณ์นี้ ทำให้ถือได้ว่าการชุมนุมของกลุ่ม นปช. มีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน" (หน้า 52-53) 

         เราจะเห็นได้ว่า กสม. ยก "การกระทำอันผิดกฎหมาย" ของกลุ่ม นปช. มาอ้างเป็นเหตุผลให้ข้อสรุปที่ว่ากลุ่ม นปช. "ละเมิดสิทธิมนุษยชน" ในความเป็นจริงแล้ว การละเมิดกฎหมายไม่ได้หมายความว่าจะต้องละเมิดสิทธิมนุษยชน

        นอกจากนี้รายงานของ กสม. ซึ่งควรจะตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กลับใช้เนื้อที่จำนวนมากบรรยายว่าผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐนั้นละเมิดกฎหมายและรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่เกี่ยวกับสิทธิ มนุษยชนเลย

        รายงานของ กสม. นั้นแบ่งเนื้อหาออกเป็น 8 หัวข้อตามประเด็นการตรวจสอบ. แต่หัวข้อที่ 1 และ 2 นั้นไม่มีคำว่า "สิทธิมนุษยชน" ปรากฏอยู่แม่แต่คำเดียว (ยกเว้นที่ปรากฏอยู่ในวลี "คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน")


            ในหัวข้อแรก ซึ่งเกี่ยวกับการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการตั้ง ศอฉ. นั้น กสม. ใช้เนื้อที่ทั้งหมดไปกับการให้เหตุผลว่าเหตุใดการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการตั้ง ศอฉ. 

         จึง "เป็นการใช้อํานาจตามกฎหมายภายใต้ขอบเขตที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้สามารถกระทําได้" โดยที่ไม่ได้พูดถึงแง่มุมด้านสิทธิมนุษยชนแม้แต่น้อยว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้นให้สิทธิเจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิมนุษยชนได้โดยไม่ต้องรับผิด ในทำนองเดียวกัน ในประเด็นเรื่องการปิดสถานีโทรทัศน์พิเพิลแชนนัล (PTV) กสม. ก็ใช้เนื้อที่ทั้งหมดให้เหตุผลว่าทำไมการปิด PTV นั้นจึง "เป็นการกระทําภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายให้อํานาจไว้" และ "จําเป็น เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว" โดยไม่เอ่ยคำว่า "สิทธิมนุษยชน" แม้แต่ครั้งเดียว.

          2. กสม. ไม่เข้าใจความต่างระหว่างการละเมิดสิทธิมนุษยชน กับหรือการละเมิดเสรีภาพทั่วไป

          รายงานของ กสม. แสดงให้เห็นว่า กสม. ไม่เข้าใจเลยว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น ต่างจากการสร้างความเดือดร้อนรำคาญ หรือการละเมิดเสรีภาพทั่วไป. กสม. ใช้พื้นที่จำนวนมากในรายงาน บรรยายเกี่ยวกับการสร้างความเดือดร้อนรำคาญและการละเมิดสิทธิเสรีภาพทั่วไป เช่น สิทธิเสรีภาพในการในยานพาหนะ, สิทธิเสรีภาพในการประกอบธุรกิจ และสิทธิในทรัพย์สิน ราวกับว่าการกระทำเหล่านี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

          ตัวอย่างเช่น ในหน้า 30 กสม. เขียนว่า: "ผู้ร่วมชุมนุมส่วนหนึ่งได้เคลื่อนย้ายไปชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์ อันเป็นแหล่งธุรกิจที่สําคัญ เป็นการชุมนุมที่มุ่งปิดก้ันกีดขวางเส้นทางคมนาคมและการใช้ยานพาหนะของประชาชนทั่วไป เพราะเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางสําคัญในใจกลางกรุงเทพมหานคร ท้ังเป็นการชุมนุมที่ใช้ระยะเวลานานต่อเนื่องกันหลายวันและไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดที่แน่นอน ส่งผลกระทบต่อธุรกิจสําคัญ รวมทั้งก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อการประกอบอาชีพและการดํารงชีวิตตามปกติสุขของประชาชนโดยทั่วไป" (หน้า 30) ในความเป็นจริง เสรีภาพการใช้ยานพาหนะโดยไม่ถูกกีดขวาง และเสรีภาพในการทำธุรกิจและประกอบอาชีพโดยไม่ถูกขัดขวางโดยการชุมนุม นั้นเป็นเสรีภาพทั่วไป แต่ไม่ใช่สิทธิมนุษยชน

         กสม. เขียนอีกว่า: "การ[ที่ผู้ชุมนุม]ไปเทเลือดที่หน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทําเนียบรัฐบาล และบ้านพักนายกรัฐมนตรี เป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่เจ้าของและผู้ครอบครองสถานที่ และเป็นสัญลักษณ์ที่ก่อให้เกิดความรุนแรง" (หน้า 30) ในความเป็นจริง ไม่มีองค์กรสิทธิมนุษยชนใดถือว่า การเทสิ่งสกปรกใส่หน้าบ้านหรือที่ทำงานผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน


         ในหน้า 72 กสม. เขียนว่า: "การชุมนุมของกลุ่ม นปช. เป็นการชุมนุมที่มีลักษณะเป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองและเผาทำลายทรัพย์สินของบุคคลอื่น รวมทั้งทรัพย์สินของทางราชการได้รับความเสียหายจำนวนมาก จึงเป็นการกระทำละเมิดสิทธิในทรัพย์สินผู้อื่น ซึ่งรัฐธรรมนูญให้การคุ้มครองไว้ ตามมาตรา ๔๑ และเป็นการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น วางเพลิงเผาทรัพย์ อันเป็นสถานที่ราชการ ทำลายทรัพย์สินราชการและทรัพย์สินเอกชน รวมทั้งลักทรัพย์ของผู้อื่น การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิในทรัพย์ สินของบุคคลอื่น อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน" (หน้า 72)

        เสรีภาพที่จะไม่ต้องอยู่กับ "ความวุ่นวาย" นั้นไม่ใช่สิทธิมนุษยชน. และเสรีภาพในการไม่ถูกทำลายทรัพย์สิน แม้จะเป็นสิทธิที่ปกติแล้วรัฐให้การคุ้มครอง ก็ไม่ใช่สิทธิมนุษยชนเช่นกัน (หรือหากจะนับเป็นสิทธิมนุษยชน ก็เป็นสิทธิมนุษยชนที่มีความสำคัญต่ำมาก จนนักสิทธิมนุษยชนในโลกส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญ)

         3. กสม. จัดลำดับความรุนแรงของการละเมิดสิทธิมนุษยชนผิด

            การละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นมีหลายรูปแบบ แต่ทั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนและคนทั่วไปต่างเห็นพ้องกันว่ารูปแบบที่รุนแรงที่สุดคือการละเมิดต่อชีวิตหรือศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ (ได้แก่ การฆ่า, การบังคับเป็นทาส) รองลงมาคือการละเมิดต่อร่างกาย (ได้แก่ การทำให้บาดเจ็บหรือพิการ, การซ้อม ทรมาน) ส่วนการละเมิดต่อทรัพย์สินนั้นโดยปกติมักไม่นับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือหากจะนับก็ต้องนับว่าอยู่ในระดับความรุนแรงต่ำกว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนแบบอื่นๆ

         แต่รายงานของ กสม. กลับให้ความสนใจเป็นพิเศษกับการละเมิดต่อทรัพย์สิน และให้ความสนใจค่อนข้างน้อยกับการละเมิดต่อชีวิต. การจัดลำดับความสำคัญแบบกลับหัวกลับหางเช่นนี้ อาจเกิดขึ้นจากการที่ กสม. ไม่เข้าใจเรื่องระดับความรุนแรงของการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรืออาจเกิดขึ้นจากการที่ กสม. จงใจให้ความสำคัญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ และพยายามลดทอนความรุนแรงของการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยอีกกลุ่ม

         ในจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองช่วง มีนาคม-พฤษภาคม 2553 ประมาณ 100 คนนั้น มีราว 60 คนที่เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมในช่วงวันที่ 13-19 พฤษภาคม 2553 แต่ กสม. กลับใช้พื้นที่พูดถึงเรื่องนี้เพียง 11 หน้าจากรายงานทั้งหมด 92 หน้า ปริมาณพื้นที่นี้ยิ่งดูน้อยลงไปอีกเมื่อเราพิจารณาว่า กสม. ใช้พื้นที่ถึง 6 หน้ากระดาษพูดถึงเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมบุกเข้าไปตรวจค้นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งไม่มีผู้เสียชีวิตหรือผู้บาดเจ็บแม้แต่รายเดียว

        นอกจากนี้ การแบ่งหัวข้อรายงานของ กสม. ก็สะท้อนว่า กสม. ต้องการลดทอนน้ำหนักของเหตุการณ์การสลายการชุมนุมในเดือนพฤษภาคมอยู่แล้ว. กสม. แบ่งประเด็นตรวจสอบออกเป็น 8 ประเด็น โดยให้เหตุการณ์สลายการชุมนุมในเดือนพฤษภาคมเป็นเพียงประเด็นหนึ่งในจำนวน 8 ประเด็นเท่านั้น ทั้งๆ ที่ผู้เสียชีวิตกว่าครึ่งมาจากเหตุการณ์นี้


       4. กสม. ละเลยที่จะกล่าวถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรงหลายกรณี

          นอกจาก กสม. จะพยายามลดทอนความรุนแรงของการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว กสม. ก็ยังเลือกที่จะไม่พิจารณากรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรงในหลายกรณี โดยกล่าวข้ามกรณีเหล่านี้ไปเลยด้วย. และน่าสนใจว่ากรณีที่ กสม. เลือกไม่พิจารณาเหล่านี้นั้น เป็นกรณีที่ผู้ชุมนุมเสียชีวิตทั้งสิ้น

          ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ความรุนแรงวันที่ 10 เม.ย. 2553 นั้นมีผู้เสียชีวิต 27 คน ในจำนวนนี้เป็นทหารเพียง 5 คน และผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ชุมนุม แต่รายงานของ กสม. ส่วนที่พูดถึงเหตุการณ์นี้ (ความยาว 6 หน้่า) กลับใช้พื้นที่เกือบทั้งหมดกล่าวถึงการเสียชีวิตและบาดเจ็บของทหาร แล้วกล่าวถึงการตายของผู้ชุมนุมเพียงประโยคเดียวเท่านั้น คือ: "ส่วนกรณีการเสียชีวิตของกลุ่ม นปช. ขณะนี้กรณีดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนตามกระบวนการยุติธรรมแล้วจึงไม่จําเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้". แต่น่าสนใจว่า กรณีอื่นๆ ที่คดีอยู่ในขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม แต่มีเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเหยื่อนั้น กสม. กลับอธิบายในรายงานอย่างละเอียด เช่น กรณีของนายเจ็มส์ สิงห์สิทธิ์ ผู้ต้องหายิงระเบิด M79 ที่ศาลาแดง เป็นต้น


          ในทำนองเดียวกัน รายงานของ กสม. ส่วนที่ว่าด้วยเหตุการณ์การสลายการชุมนุมช่วงวันที่ 13-19 พฤษภาคมนั้น แทบไม่กล่าวถึงการตายของผู้ชุมนุมที่เสียชีวิตราว 60 คนเลย กสม. กล่าวถึงการบาดเจ็บและผู้เสียชีวิตแบบรวมๆ ว่า "ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจาก สถานการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม 2553 มีผู้บาดเจ็บจำนวน 404 คน เสียชีวิตจํานวน 51 คน". (ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขเก่าของศูนย์เอราวัณ ข้อมูลใหม่ของ ศปช. ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 59 คน ทราบชื่อแล้ว 58 คน.) กสม. ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการเสียชีวิตของเหยื่อเหล่านี้แม้แต่รายเดียว

          หากพิจารณาเฉพาะกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เป็นการละเมิดต่อชีวิต เราจะพบว่า กสม. ละเลยกรณีเหล่านี้ไปถึง 81 กรณี (กล่าวคือ กรณีผู้เสียชีวิตในวันที่ 10 เมษายน ที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ 22 กรณี และผู้เสียชีวิตระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม อีก 59 กรณี)


          5. กสม. ละเลยข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องบางประการ

          นอกจาก กสม. จะละเลยที่จะพิจารณาการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรงหลายกรณีแล้ว กสม. ยังละเลยที่จะเอ่ยถึงข้อเท็จจริงสำคัญบางประการ ที่เป็นตัวบ่งชี้ถึงความรุนแรงของการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐด้วย

        ตัวอย่างเช่น ความจริงที่ว่าพลเรือนที่เสียชีวิตในวันที่ 10 เมษายนและระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคมนั้น ส่วนใหญ่ถูกยิงที่ศีรษะหรือจุดสำคัญในลำตัวด้านบนด้วยกระสุนนัดเดียว ข้อเท็จจริงที่ว่าพลเรือนที่เสียชีวิตในการปะทะกับเจ้าหน้าที่นั้น เกือบทั้งหมดไม่ได้ใส่ชุดดำและไม่มีอาวุธในมือ ข้อเท็จจริงทีว่่าทหารมีการใช้พลซุ่มยิงระยะไกล และข้อเท็จจริงที่ว่าทหารใช้กระสุนจริงไปกว่า 117,000 นัด และในจำนวนนี้เป็นกระสุนปืนซุ่มยิง (สไนเปอร์) กว่า 2,500 นัด (คิดจากจำนวนกระสุนที่เบิกไปใช้ ลบกับจำนวนกระสุนที่ส่งคืนหลังสลายการชุมนุม)

         ข้อเท็จจริงเหล่านี้ล้วนเป็นตัวบ่งชี้สำคัญของความรุนแรงของการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ กสม. กลับไม่นำมาพิจารณาหรือกล่าวถึงในรายงานแม้แต่น้อย ทั้งๆ ที่เป็นข้อเท็จจริงที่ทั้ง คอป. ศปช. และสื่อมวลชน ต่างเผยแพร่อย่างกว้างขวาง


         6. กสม. คาดเดาแรงจูงใจในการกระทำผิดของแต่ละฝ่ายเอาเอง อย่างไร้หลักฐานและมีอคติ

         ในขณะที่ กสม. หลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ในกรณีที่ กสม. จำเป็นต้องกล่าวถึง กสม. ก็กล่าวถึงโดยคาดเดาเจตนาของเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านั้นอย่างมองโลกแง่ดีอย่างยิ่ง ในทางตรงกันข้าม เมื่อ กสม. กล่าวถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยผู้ชุมนุมหรือผู้ต้องหาที่ กสม. เชื่อว่าอยู่ฝ่ายผู้ชุมนุม กสม. กลับมองเห็นเจตนาร้ายของคนเหล่านั้นได้อย่างง่ายดาย

         ตัวอย่างเช่น ในการบรรยายถึงการปะทะระหว่างทหารกับผู้ชุมนุมและ "กองกำลังไม่ทราบฝ่าย (ชายชุดดำ)" นั้น กสม. กล่าวว่าทหารต้องใช้อาวุธจริงยิงใส่ผู้ชุมนุมเพราะ "เจ้าหน้าที่ทหาร[...]มีความจําเป็นต้องป้องกันตนเองและผู้อื่นให้พ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงตัว ที่รุนแรงอาจทําให้ถึงแก่ชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บได้ โดยไม่สามารถใช้วิธีป้องกันอย่างอื่นได้" (หน้า 47)

         กสม. ยังคาดเดาเจตนาของทหารที่ยิงผู้ชุมนุมอย่างมองโลกในแง่ดีว่า เป็น "การกระทําโดยประมาท" (หน้า 48) ในทางตรงกันข้าม กสม. เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ทหารที่เสียชีวิตในวันที่ 10 เม.ย. นั้นเสียชิวิตจากการ "วางแผนเพื่อฆาตกรรมเจ้าหน้าที่ทหาร" (หน้า 50) และคาดโทษผู้กระทำผิดไว้เสร็จสรรพว่า "กระทําผิดอาญาฐานฆ่าคนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน"


          7. รายงาน กสม. เต็มไปด้วย "ความจริงครึ่งเดียว"

            รายงานของ กสม. เต็มไปด้วยความจริงครึ่งเดียว ที่มุ่งลดทอนบทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐในการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเสนอภาพความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐว่าเป็นความรุนแรงระหว่างสองฝ่ายที่ตอบโต้กัน ความจริงครึ่งเดียวเหล่านี้ หากพิจารณาโดยเคร่งครัดแล้วถือว่าเป็นเท็จ

           ตัวอย่างเช่น ในหน้า 4 กสม. บรรยายว่า: "กลุ่ม นปช. ได้ขยายพื้นที่การชุมนุมจากบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดําเนิน ไปยังสี่แยกราชประสงค์และพื้นที่โดยรอบ นอกจากนั้นยังได้มีการเคลื่อนการ ชุมนุมไปยังพื้นที่อื่นๆ ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทําให้เกิดความวุ่นวาย สถานการณ์เริ่มรุนแรงมากขึ้น ทําให้มีการบาดเจ็บและสูญเสียชีวิตใน หลายกรณี เช่น กรณีเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน 2553 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สี่แยกคอกวัวและพื้นที่โดยรอบ กรณีความรุนแรงที่แยกศาลาแดง ถนนสีลม เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2553 กรณีความรุนแรงที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2553 และกรณีกลุ่ม นปช. บุกเข้าตรวจค้นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2553 เป็นต้น"

         คำบรรยายนี้สื่อว่า การที่ นปช. ขยายพื้นที่ชุมนุมไปยังแยกราช ประสงค์นั้นทำให้ "สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น" อันทำให้เกิด "การบาดเจ็บและสูญเสียชีวิต" ในเหตุการณ์ต่างๆ ในเดือนเมษายน 2553 ในแง่หนึ่ง คำบรรยายนี้ก็จริงอยู่ เพราะความรุนแรงจะเกิดขึ้นไม่ได้หาก นปช. ไม่ชุมนุมตั้งแต่แรก. แต่การสังหารหมู่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก็เกิดขึ้นไม่ได้เช่นกันหากนักศึกษาไม่ชุมนุมกันในมหาวิทยาลัย และเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ก็คงเกิดขึ้นไม่ได้หากประชาชนไม่ชุมนุมตั้งแต่แรก ข้อบกพร่องสำคัญของคำบรรยายของ กสม. คือ มันละเลยที่จะพูดถึงบทบาทของคู่ขัดแย้งอีกฝ่ายหนึ่ง ในการทำให้เกิด "การบาดเจ็บและสูญเสียชีวิต" นั่นคือ บทบาทของกองกำลังของรัฐและมวลชนฝ่ายตรงข้าม ดังนั้น แม้ว่าคำบรรยายของ กสม. จะจริงหากตีความแบบหลวมๆ แต่หากตีความแบบเคร่งครัดแล้วก็ถือว่าเป็นเท็จ

          คำบรรยายที่ยกมาข้างต้น เป็นตัวอย่างของกรณีที่ กสม. พยายามลดรูปความรุนแรงที่ฝ่ายรัฐมีส่วนสำคัญ ให้เหลือเป็นความรุนแรงที่ก่อโดยผู้ชุมนุมเพียงฝ่ายเดียว แต่ก็ยังมีกรณีที่ กสม. พยายามพูดถึงความรุนแรงของฝ่ายรัฐ แบบรวมๆ ให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเป็นความรุนแรงระหว่างสองฝ่ายด้วย

         ตัวอย่างเช่น ในรายงานหน้า 56 กสม. เขียนว่า: "ผลจากการปะทะกันระหว่างกลุ่มนปช. กับเจ้าหน้าที่ทหารในเหตุการณ์ดังกล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่มีเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 1 นายจากอาวุธปืน และประชาชนตลอดจนเจ้าหน้าที่ทหาร จํานวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ จึงถือได้ว่ามีการกระทําอันเป็นการกระทบต่อสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งได้รับบาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต"


         ถ้อยคำนี้สื่อว่า ผู้ชุมนุมมีส่วนทำให้ "มีเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 1 นายจากอาวุธปืน" และสื่อว่าผู้ชุมนุม "กระทำการอันเป็นการกระทบต่อสิทธิมนุษยชน" แต่ในความเป็นจริง ทหารหนึ่งรายที่เสียชีวิตนั้นคือ พลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ ซึ่งศาลอาญาได้วินิจฉัยแล้วมีคำสั่งมาแล้วว่าเสียชีวิตจากอาวุธของทหารด้วยกันเอง บางคนอาจสงสัยว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ กสม. อาจเขียนรายงานโดยไม่ได้อ่านคำวินิจฉัยของศาล? คำตอบคือ คงเป็นไปไม่ได้ เพราะ กสม. ก็มีเขียนถึงคำสั่งศาลนี้อยู่ด้วยในหัวข้อเดียวกัน ดังนั้น กสม. ก็ย่อมรับรู้คำสั่งศาลอยู่แล้ว

         8. รายงานของ กสม. ใช้ศัพท์ที่ออกแบบมาเพื่อบิดเบือนสาระสำคัญของเหตุการณ์

        รายานของ กสม. ใช้ภาษากำกวมที่สื่อความหมายให้ผู้อ่านเข้าใจผิด และศัพท์ที่ออกมาแบบมาเพื่อบิดเบือนสาระสำคัญของเหตุการณ์ อยู่ตลอดทั้งฉบับ

        กสม. รับเอาศัพท์เลี่ยง (euphemisms) ของ ศอฉ. และรัฐบาลขณะนั้นมาใช้ด้วย. รายงานของ กสม. ใช้คำว่า "กระชับพื้นที่" 9 ครั้ง และใช้คำว่า "ขอคืนพื้นที่" หรือ "ขอพื้นที่คืน" 8 ครั้ง


        นอกจากนี้ กสม. ยังออกแบบถ้อยคำที่บิดเบือนสาระสำคัญของเหตุการณ์ ขึ้นมาเองด้วย ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์การสลายการชุมนุมระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคมนั้น มีสาระสำคัญคือการสังหารคนราว 60 คน โดยเกือบทั้งหมดเป็นผู้ชุมนุมที่ถูกส่องยิงจุดสำคัญ และไม่มีอาวุธในมือขณะเสียชีวิต (ในมุมมองด้านสิทธิมนุษยชน การดูว่า "สาระสำคัญ" ของเหตุการณ์คืออะไร ต้องดูจากว่าในเหตุการณ์นั้น มีเหตุการณ์ย่อยใดที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนรุนแรงที่สุด) แต่ กสม. กลับเรียกการสลายการชุมนุมนี้ว่า "กรณีการเกิดเหตุจลาจล ปะทะ และทำลายทรัพย์สินของราชการและเอกชน ระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม 2553"  ถ้อยคำนี้สื่อว่าสาระสำคัญของเหตุการณ์คือการที่ผู้ชุมนุมก่อจลาจล ต่อสู้เจ้าหน้าที่ และทำลายทรัพย์สิน (คำว่า "ปะทะ" นั้นสื่อว่าเป็นการเข้าชนกันของ คนสองกลุ่มซึ่งมีกำลังเท่าๆ กัน ซึ่งต่างจากการ "สลาย" หรือ "ปราบ" ที่มีฝ่ายหนึ่งรุก อีกฝ่ายหนึ่งรับ โดยที่ฝ่ายรุกมีกำลังเหนือกว่า)


นักวิเคราะห์ฮาร์วาร์ดชี้ หลังรัฐประหารในอียิปต์ "ประชาธิปไตยก็เป็นแค่ฝัน"

นักวิเคราะห์ฮาร์วาร์ดชี้ หลังรัฐประหารในอียิปต์ "ประชาธิปไตยก็เป็นแค่ฝัน"

             หลังการรัฐประหารในอียิปต์ที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเสรีนิยมผู้หวั่นเกรงอำนาจการเมืองของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมนำมาซึ่งการปราบปรามผู้ชุมนุมอีกฝ่ายจำนวนมาก โนอาห์ เฟล์ดแมน อาจารย์ ม.ฮาร์วาร์ด วิเคราะห์ว่ากลุ่มทหารจะลิดรอนเสรีภาพทั้งกับกลุ่มเสรีนิยมเองด้วยเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง
           เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมา หลังเกิดเหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างหนักในอียิปต์รวมถึงมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โนอาห์ เฟล์ดแมน ศาตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้เขียนบทความวิเคราะห์เหตุการณ์ในอียิปต์ไว้ โดยกล่าวว่าผู้ที่คิดว่าการรัฐประหารในอียิปต์จะนำไปสู่ประชาธิปไตยได้เป็นเรื่องฝันหวาน โดยมีบทพิสูจน์คือการแต่งตั้งผู้นำทหาร 19 นายเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดและการปราบปรามผู้ชุมนุมกลุ่มภราดรภาพมุสลิมซึ่งทั้งสองเหตุการณ์เกิดขึ้นใกล้กันมาก
           โนอาห์ ไม่เชื่อว่ากลุ่มทหารที่ขึ้นมามีอำนาจจะทำให้เกิดประชาธิปไตยได้ เนื่องจากพวกเขาจะยึดติดอยู่กับการพยายามกุมอำนาจ และในขณะที่ชาวตะวันตกบางกลุ่มอาจเทใจให้กับกลุ่มเสรีนิยมในอียิปต์ที่ช่วยโค่นล้มฮอสนี มูบารัค แต่กลับโค่นล้มประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งอย่างโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ไปด้วย
           หลังจากที่มีการรัฐประหารโดยกองทัพอียิปต์อีกครั้งในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ก็มีเรื่องให้ชวนตั้งคำถามมากมาย เช่นว่าทำไมผู้ที่เชื่อในประชาธิปไตยบางคนในอียิปต์ประท้วงเพื่อเปิดทางให้ทหารมาโค่นล้มมอร์ซี และอียิปต์จะสามารถฟื้นฟูประชาธิปไตยได้จริงหรือไม่ ด้วยวิธีใด
           บางคนในกลุ่มต่อต้านมอร์ซีอาจจะคิดว่าหลังรัฐประหารครั้งหลังนี้ทหารอียิปต์ก็จะจัดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมเช่นเดียวกับตอนหลังโค่นล้มมูบารัค แต่โนอาร์กลับคิดว่าแนวคิดนี้ 'โลกสวย' เกินไปเนื่องจากจริงๆ แล้วกองทัพอียิปต์ไม่ได้ต้องการให้มีการเลือกตั้งโดยทันทีหลังจากโค่นล้มมูบารัคแต่ถูกกดดันจากกลุ่มภราดรภาพมุสลิมซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการจัดตั้ง มีวินัยและมีประสิทธิภาพกลุ่มเดียวนอกเหนือจากกองทัพ ซึ่งกองทัพก็ยอมตามเพราะกลัวเสียการสนับสนุนจากมวลชนในช่วงที่ปรากฏการณ์ 'อาหรับสปริง' กำลังเกิดขึ้น
           โนอาห์กล่าวอีกว่าการประท้วงของกลุ่มเสรีนิยมในอียิปต์กลายเป็นข้ออ้างให้ทหารออกมาจัดการกับกลุ่มภราดรภาพมุสลิม และถ้าหากคิดอย่างมองในแง่ร้ายกลุ่มผู้ชุมนุมในอียิปต์รู้ด้วยซ้ำว่าทหารจะพยายามบีบคั้นกลุ่มภราดรภาพฯ และต้องการให้เป็นเช่นนั้น ซึ่งฝ่ายภราดรภาพฯ แม้จะชนะการเลือกตั้งได้ง่ายๆ แต่ก็พยายามหลักดันกฎหมายอิสลามและพยายามจำกัดเสรีภาพ ทำให้ฝ่ายเสรีนิยมในอียิปต์ที่รู้ว่าเอาชนะการเลือกตั้งไม่ได้หันมาพึ่งพากองทัพ
           แล้วอียิปต์จะกลับมามีประชาธิปไตยได้เช่นเดิมหรือไม่ โนอาห์ตอบคำถามนี้ไว้ในบทความว่ากองทัพอียิปต์อาจจัดการเลือกตั้งเพื่อเอาใจกลุ่มนักการเมืองในสหรัฐฯ เท่านั้น โดยที่แม้ว่าอาจจะไม่แบนกลุ่มภราดรภาพมุสลิมอย่างเป็นทางการ แต่ผู้นำระดับสูงของกลุ่มก็ถูกขับกุมหรือถูกตัดสิทธิ์ไปก่อนแล้ว และสมาชิกกลุ่มก็อาจจะบอยคอตต์การเลือกตั้งใหม่ด้วย
          โนอาห์วิเคราะห์อีกว่าหากผู้แทนของฝายเสรีนิยมได้รับเลือกเป็น ส.ส. หรือประธานาธิบดีฝ่ายกองทัพก็จะไม่ขัดขวาง แต่ก็ต้องการควบคุมผู้นำทางการเมืองในประเด็นที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของพวกเขาแทนการช่วยกำราบฝ่ายภราดรภาพมุสลิม ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องทางกลาโหมหรือการต่างประเทศเท่านั้น แต่รวมถึงนโยบายในประเทศเพื่อคงสิทธิพิเศษในการควบคุมธุรกิจขนาดใหญ่ภายในประเทศ และมีการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการชุมนุมเพื่อปิดปากชาวมุสลิม
         "สุดท้ายแล้วผู้ประท้วงก็ไม่ได้รับสิทธิเสรีภาพตามที่ต้องการ ไม่เพียงแค่ฝ่ายภราดรภาพฯ เท่านั้น รวมถึงฝ่ายเสรีนิยมเองด้วย" โนอาห์กล่าว

กรรมการสิทธิเสียงแตก 'พล.ต.อ.วันชัย' ชี้รายงานเสื้อแดงชุมนุมไม่ได้มาตรฐาน

กรรมการสิทธิเสียงแตก 'พล.ต.อ.วันชัย' ชี้รายงานเสื้อแดงชุมนุมไม่ได้มาตรฐาน

       พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชี้รายงานเสื้อแดงชุมนุมเสนอข้อมูลไม่รอบด้าน เป็นรายงานที่ให้คุณให้โทษกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและเข้าไปยุ่งเกี่ยวทางการเมืองมากเกินไป ระบุตนเองไม่ได้เซ็นชื่อรับรอง หากสร้างความเสียหายคนที่เซ็นชื่อลงนามเป็นคนรับผิดชอบ
 
         16 ส.ค. 56 - แนวหน้ารายงานว่า พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า กรณีรายงานการตรวจสอบของ กสม. เพื่อเสนอแนะเชิงนโยบายกรณีการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ( นปช.) ระหว่างวันที่ 12 มี.ค.ถึง 19 พ.ค.53 ที่ได้เผยแพร่ออกไป จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าบิดเบือนข้อเท็จจริง ตนซึ่งเป็นเสียงข้างน้อย ไม่ได้ลงนามรับรองเห็นด้วยกับรายงานฉบับนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นรายงานที่ไม่ได้มาตรฐาน? ไม่ได้นำเสนอข้อมูลอย่างครบถ้วน 

         ถ้าหากรายงานฉบับนี้เผยแพร่ออกมาหลังเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมภายใน 3 เดือน ตนจะถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่นี่มาเผยแพร่ในตอนที่เหตุการณ์ผ่านมา 3 ปีแล้ว ข้อมูลเนื้อหาในรายงานกลับไม่ได้มีการปรับปรุงตามสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น กรณีที่ศาลพิพากษาคดี 6 ศพวัดปทุมวนาราม ว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร อีกทั้งเหยื่อที่เสียชีวิตไมได้ใช้อาวุธตอบโต้ 

         หรือแม้แต่คดีที่ศาลยกฟ้องกลุ่มคนเสื้อแดงที่ถูกกล่าวหา ทางกรรมการสิทธิฯเสียงข้างมากก็ไม่ได้นำข้อมูลเหล่านี้มาพิจารณาแต่อย่างใด ซึ่งตนก็ได้ทำหนังสือโต้แย้งเสนอไปยังที่ประชุมให้พิจารณา แต่ที่ประชุมก็ไม่ได้นำคำโต้แย้งมาพิจารณา ส่วนเหตุผลที่จำเป็นต้องโต้แย้ง เนื่องจากเห็นว่าผู้ชุมนุมมีหลายระดับ มีทั้งแกนนำ ประชาชนทั่วไป และผู้ก่อเหตุรุนแรง ดังนั้นกรรมการสิทธิฯควรจำแนกว่าใครได้กระทำการใด ไม่ใช่เหมารวมไปทั้งหมด อีกทั้ง ข้อเสนอในรายงานที่เป็นเชิงนโยบาย ตนมองว่ามันยังไม่เป็นรูปธรรมที่สามารถนำไปใช้จริงได้
 

         “โดยรวมแล้วผมคิดว่ารายงานฉบับนี้ยังไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาได้พยายามท้วงติงก่อนที่รายงานจะเผยแพร่ แต่กลับไม่มีใครรับฟัง จึงไม่แปลกอะไรที่หลังเผยแพร่รายงานฉบับนี้ออกมาแล้วจะถูกหลายฝ่ายต่อต้าน ซึ่งผมก็แสดงความไม่เห็นด้วยกับรายงานฉบับนี้ด้วยการไม่ลงนามเซ็นชื่อรับรอง แต่หากรายงานนี้สร้างความเสียหายอย่างไรก็คงต้องให้คนที่เซ็นชื่อลงนามเป็นคนรับผิดชอบ” พล.ต.อ.วันชัยกล่าว

 
           ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายงานดังกล่าวนำเสนอข้อมูลไม่รอบด้าน ซึ่งเห็นว่าเป็นรายงานที่ให้คุณให้โทษกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและเข้าไปยุ่งเกี่ยวทางการเมืองมากเกินไป ทั้งที่กรรมการสิทธิได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีบุคคลจากฝ่ายต่างๆ อาทิ นักวิชาการ กลุ่มมวลชนที่เคลื่อนไหวทางการเมือง และองค์กรต่างๆ มาร่วมกับพิจารณาและให้ข้อมูล แต่ปรากฏว่าคณะกรรมการชุดนี้กลับไม่ได้ทำงาน เหมือนตั้งขึ้นมาเฉยๆ เท่านั้น

'หมอเหวง' ยื่นเเปรญัตติ นิรโทษฯ ครอบคลุมก่อน รปห.2549

'หมอเหวง' ยื่นเเปรญัตติ นิรโทษฯ ครอบคลุมก่อน รปห.2549

"นพ.เหวง โตจิราการ" ระบุยื่นเเปรญัตตินิรโทษครอบคลุมกลุ่มพันธมิตรฯ เสนอเปลี่ยนเวลาตั้งเเต่ปี 2548 ยันประกาศใช้ในราชกิจจาฯ ยันแกนนำ-ผู้สั่งการไม่ได้อานิสงส์ ด้าน “อภิสิทธิ์” วอนสังคมจับตาการขยายเวลาร่าง พ.ร.บ.เกินกว่า 19 ก.ย.49 ปัดเล่นแผนซ้อนแผนเพิ่มข้อความถึงตัวเองตามที่ ส.ส.เพื่อไทยกล่าวหา
 
16 ส.ค. 56 - โพสต์ทูเดย์รายงานว่าเมื่อเวลา 12.30 น.ที่รัฐสภา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย นพ.เหวง โตจิราการ นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ และนายชินวัฒน์ หาบุญพาด ร่วมแถลงความคืบหน้าการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนายวรชัย เหมะ สส.สมุทรปราการพรรคเพื่อไทย โดย นพ.เหวง ระบุว่า ตนและเพื่อนสส.จำหนวนหนึ่งได้ยื่นขอแปรญัตติในร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เพื่อขอขยายเวลาช่วงเหตุการณ์ที่จะได้รับการนิรโทษกรรม จากเดิมในมาตรา 3 ที่ระบุระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 2549 ถึงวันที่ 10 พ.ค. 2554 เป็นระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2548 ไปจนถึงวันที่ประกาศพ.ร.บ.ฉบับนี้ในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้ครอบคลุมการชุมนุมของประชาชนทุกกลุ่มสี
 
นพ.เหวง กล่าวต่อว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2548 มีการประกาศใช้พ.ร.บ.มั่นคงฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หลายครั้งมาก ซึ่งเมื่อนับรวมแล้วมีประชาชนที่ผิดตามประกาศหลายพันคน หากดูประวัติบุคคลเหล่านี้ก็จะมีประวัติถูกออกหมายเรียก ถูกออกหมายจับ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้จะได้รับผลประโยชน์ทันทีเมื่อมีการประกาศใช้พ.ร.บ.ฉบับนี้
 
“มีการครหาว่า ร่าง พ.ร.บ.ช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งหลังเหตุการณ์รัฐประหาร แต่ว่าก่อนหน้ารัฐประหารมีกรณีที่เ กิดขึ้นจากแรงจูงใจทางการเมือง เช่น การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือเหตุการณ์ของภาคประชาชนที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ยึดบริเวณสวนจตุจักรเป็นที่ชุมนุมเมื่อเดือนมี.ค.ปี 2549  ดังนั้นขอยืนยันว่าพ.ร.บ.ดังกล่าวทุกกลุ่มทุกสีเสื้อจะได้รับอานิสงค์และจะไม่มีการนิรโทษแกนนำหรือผู้สั่งการ”นพ.เหวงกล่าว
 
“อภิสิทธิ์” วอนสังคมจับตาการขยายเวลาร่าง พ.ร.บ.เกินกว่า 19 ก.ย.49 ปัดเล่นแผนซ้อนแผนเพิ่มข้อความถึงตัวเองตามที่ ส.ส.เพื่อไทยกล่าวหา
 
ด้าน ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการประชุมกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นนัดแรกว่า การที่กรรมาธิการในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ไม่รับตำแหน่งใดๆ ในกรรมาธิการนั้น แต่ว่าการทำหน้าที่ในฐานะกรรมาธิการ หรือว่า ส.ส.ก็ทำได้เต็มที่ ไม่ได้มีปัญหาอะไร ทั้งนี้ขอให้สังคมอย่าละสายตาจากเรื่องนี้ และช่วยกันสะท้อนความคิดเห็นต่างๆ ไปที่กรรมาธิการ ซึ่งพวกตนก็จะทำหน้าที่อย่างดีที่สุดในการเป็นตัวแทนของประชาชน ตามคำพูดที่เราบอกว่าจะมาสู้ในสภาก็ต้องทำกันเต็มที่ต่อไป
       
ส่วนการที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยบางคนพูดทำนองว่าอาจจะขยายระยะเวลาไปเกินกว่า 19 ก.ย. 2549 และอาจจะมาถึงปี 2556 ด้วยนั้น ก็ยังไม่ได้มีการลงไปในเนื้อหา แต่ตนคิดว่าว่าจะต้องมีข้อมูลว่า ตกลงมีคดีความอะไรอย่างไรบ้าง ที่น่าจะอยู่ในข่ายว่าจะได้รับหรือไม่ได้รับการนิรโทษกรรม ซึ่งตนก็ได้เสนอในกรรมาธิการว่ากรณีม็อบ เสธ.อ้าย หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคงที่ผ่านมา ก็ต้องมาพิจารณาด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ไม่มีการเลือกปฏิบัติ แต่ที่บอกว่าจะเสนอเหมาเข่งอะไรนั้น ตนพึ่งเห็นในข่าวหนังสือพิมพ์
       
เมื่อถามว่า นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ออกมาระบุว่าการขยายให้เหมาครอบคลุม พรรคประชาธิปัตย์ว่าอาจจะเล่นแผนซ้อนแผน ด้วยการเพิ่มข้อความให้ครอบคลุมถึงตัวนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพด้วย นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่รู้ว่าเอาอะไรคิด เพราะถ้าจะซ้อนแผนอย่างนั้น ทำไมพวกตนไม่ประกาศหนุน พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงานไปตั้งแต่แรก ซึ่งตนยืนยันว่ามีสำนึกในการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ไม่ทำอะไรที่เป็นเรื่องผลประโยชน์ขัดแย้งโดยเด็ดขาด และขอเรียกร้องว่า ในการพิจารณาต่อไปนี้ ใครที่มีผลประโยชน์ขัดแย้งในเรื่องนี้ ก็ไม่ควรที่จะพิจารณาเพราะจะเป็นเงื่อนไขไปสู่การที่จะทำให้กฎหมายฉบับนี้ขัดรัฐธรรมนูญ
 

'จารุพรรณ' ส่งจดหมายแจงสหประชาชาติ ชี้รายงาน คอป.ให้ความจริงครึ่งเดียว


'จารุพรรณ' ส่งจดหมายแจงสหประชาชาติ ชี้รายงาน คอป.ให้ความจริงครึ่งเดียว


Fri, 2013-08-16 19:40

          จารุพรรณ กุลดิลก ส.ส.เพื่อไทย ส่งจดหมายถึงข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ระบุการจัดทำรายงาน คอป. เขียนโดยฝ่ายตรงข้ามกับคนเสื้อแดงซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นเหตุให้ OHCHR ได้รับข้อมูลเพียงด้านเดียว
16 ส.ค. 56 - น.ส.จารุพรรณ กุลดิลก ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ได้เผยแพร่ Press release แปลไทย:จดหมายส่งถึงข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN OHCHR) ผ่านหน้าเฟซบุ๊กของตนเอง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

         Press release แปลไทย:จดหมายส่งถึงข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ(UN OHCHR)
ที่มา: เฟซบุคจารุพรรณ กุลดิลก

           ดิฉัน สส. จารุพรรณ กุลดิลก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ทำจดหมายถึงข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติชี้แจงในสองเรื่อง ได้แก่
  • (1)รายงานฉบับสมบูรณ์คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.) และ 
  • (2) สถานภาพของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งดำรงอยู่โดยขัดกับหลักการปารีส (Paris Principles)

           ในประเด็นแรก จากการศึกษาการทำงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) พบว่าการจัดทำรายงานมีพื้นฐานมาจากข้อมูลที่เขียนโดยฝ่ายตรงข้ามกับคนเสื้อแดงซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นเหตุให้ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้รับข้อมูลเพียงด้านเดียว และตัวคณะกรรมการของคอป. ก็มาจากการเสนอชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในขณะนั้น ตัวกรรมการในอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้แสดงความลำเอียงตั้งแต่ต้น อนุกรรมการสองท่านเคยทำงานเป็นการ์ดให้กับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) ซึ่งเป็นกลุ่มชาตินิยมสุดโต่ง ที่เรียกร้องให้มีการทำรัฐประหารเมื่อปี 2549 ได้แก่ นายเมธา มาสขาว และนายชัยวัฒน์ ตรีวิทยา โดยอนุกรรมการชุดนี้มีนายสมชาย หอมลออ เป็นประธาน เป็นเรื่องที่ทำให้คนทั้งประเทศตกใจ เมื่อทราบว่านายสมชายแต่งตั้งสมาชิกกลุ่มพธม.เข้ามาทำงานและเป็นผู้จัดทำรายงาน และบุคคลทั้งสองยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ พลตรีจำลอง ศรีเมือง แกนนำหลักของพธม.

            ถือได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของคอป. ขัดต่อหลักกระบวนการอันควรตามกฎหมายและหลักนิติธรรม เป็นการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ ผู้เขียนรายงานของ คอป.จงใจละทิ้งประเด็นสำคัญที่เป็นเนื้อหาสาระและยังเขียนรายงานอย่างขาดความเป็นกลาง ดิฉันขอย้ำว่าคนไทยต้องการความปรองดอง แต่ที่ผ่านมากระบวนการดังกล่าวได้ถูกขัดขวางโดยหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นผลพวงจากการรัฐประหาร

           เกี่ยวกับสถานภาพของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งขัดกับหลักการปารีส ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2550 ได้กำหนดให้เลือกผู้ซึ่งมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ และไทยเป็นหนึ่งใน 10 ประเทศแรก ที่ให้การรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน(Universal Declaration of Human Rights - UDHR) เมื่อวันที่10 ธันวาคม 2491 รวมทั้งยังให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (International Bills of Human Rights) ได้แก่ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจสังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights - ICESCR)

          แต่ที่ผ่านมาสถาบันตุลาการในประเทศไทยไม่ให้ความใส่ใจ ที่จะพิจารณาเนื้อหาของกฎหมายระหว่างประเทศไม่มีการนำมาตรฐานระหว่างประเทศเหล่านี้มาใช้ในการตัดสินอรรถคดีต่างๆ ในขณะที่ระบบกฎหมายและระเบียบวิธีพิจารณาความของระบบกฎหมายไทยยังไม่ได้สะท้อนมาตรฐานการไต่สวนคดีอย่างเป็นธรรมซึ่งได้รับการรับรองจากกติกา ICCPR

       หลักการปารีสมีการรับรองตามมติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติตามมติที่ 48/134 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2536 โดยในหลักการดังกล่าวกำหนดไว้ว่า เนื่องจากสถาบันสิทธิมนุษยชนเป็นสถาบันระดับชาติ จึงต้องเป็นหน่วยงานที่มีความเป็นอิสระและมีความเป็นพหุนิยม แต่ในทางตรงกันข้าม บรรดาสมาชิกของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ล้วนแต่ได้รับการคัดเลือกจากบุคคลเพียงไม่กี่คน เป็นเหตุให้ขาดความเป็นพหุนิยม บรรดากรรมการกสม. ล้วนแต่มีอุดมการณ์ที่ล้าสมัย หลักเกณฑ์การคัดเลือกกรรมการกสม. ไม่สอดคล้องกับมติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติตามมติที่ 48/134 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2536 และไม่สอดคล้องกับหลักการปารีส ด้วยเหตุดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่ากสม.เป็นสถาบันระดับชาติที่ชอบด้วยกฎหมาย

          ข้างต้นเป็นเพียงข้อมูลโดยย่อ โดยดิฉันจะจัดส่งเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้กับทางข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติทางจดหมายด่วนอีกครั้งหนึ่ง

          ดิฉันหวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยแก้ไขความเข้าใจผิดของประชาคมนานาชาติที่มีต่อรายงานของ คอป. และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และหวังว่าจะช่วยให้สามารถเอาชนะอุปสรรคและเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนไทย ที่มีต่อบรรทัดฐานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ปัญหาหลายประการในปัจจุบันเกิดขึ้นจากการขาดธรรมาภิบาล ขาดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ หลายหน่วยงานปฏิบัติหน้าที่โดยพลการ ไม่คำนึงถึงกระบวนการอันควรตามกฎหมายเป็นเหตุให้ประเทศไทยมีสภาพใกล้เคียงกับ“สงครามกลางเมือง” จึงมีความจำเป็นที่ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจะต้องแสดงออกถึงความไม่ลำเอียงและมีการปฏิบัติตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนอย่างเข้มงวด และงดเว้นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นความจริงซึ่งมีแต่จะทำให้สถานการณ์การเมืองเลวร้ายลง

ดิฉันยังเชื่อมั่นในอุดมการณ์ของท่านไม่เปลี่ยนแปลง

ด้วยความนับถือ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย

จุฬาเตรียมจัดละคร 'เพื่อชาติ เพื่อ HUMANITY' รำลึก 'จำกัด พลางกูร'

จุฬาเตรียมจัดละคร 'เพื่อชาติ เพื่อ HUMANITY' รำลึก 'จำกัด พลางกูร'

ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง และชมรมศิษย์เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันจัดละครเวที “เพื่อชาติ เพื่อ HUMANITY” รำลึกวีรบุรุษที่โลกลืม “จำกัด พลางกูร” เสรีไทยหนุ่มผู้กล้ารับหมายภารกิจอันสำคัญยิ่งกว่าชีวิตของเขา รอบสื่อมวลชน 30 ส.ค. นี้  
 
   
 
16 ส.ค. 56 - ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง และชมรมศิษย์เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันจัดละครเวทีเรื่อง “เพื่อชาติ เพื่อ HUMANITY” ว่าด้วยวีรกรรมของนายจำกัด พลางกูร  หนึ่งในขบวนการเสรีไทย (ในประเทศ) ที่กล้าปฏิบัติภารกิจสำคัญในการเดินทางผ่านเขตทหารกองทัพญี่ปุ่น เพื่อไปเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรที่ประเทศจีน ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยไม่ถูกปรับให้เป็นประเทศผู้แพ้สงคราม ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ วีรกรรมของเขาจึงถือเป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ แต่ชื่อเสียงและภารกิจนี้ กลับไม่เป็นที่รับรู้ในสังคมเท่าที่ควร ละครเวทีประวัติศาสตร์เรื่องนี้ จัดแสดงโดยศิษย์เก่าและนิสิตปัจจุบันของคณะเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ผู้เขียนต้นฉบับแรกของบทละคร กล่าวว่า “ในการค้นคว้าเรื่องขบวนการเสรีไทย ผมพบว่าคุณจำกัด พลางกูร มีความสำคัญอย่างมากต่อประวัติศาสตร์ชาติไทย เพราะเขาคือผู้ที่ยอมสละชีวิต เสี่ยงภัยเดินทางไปยังเมืองจีนเพื่อขอเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตร ให้รับทราบการเกิดขึ้นของขบวนการเสรีไทยในประเทศ และให้การยอมรับสถานะของขบวนการจนกระทั่งส่งผลให้ประเทศรอดพ้นจากการตกเป็นประเทศผู้แพ้สงครามในที่สุด”  
 
การปฏิบัติภารกิจของนายจำกัด ได้รับมอบหมายจากนายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำขบวนการเดินทางเสี่ยงการถูกฝ่ายทหารญี่ปุ่นจับตัว เพื่อไปยังแผ่นดินจีนและหาโอกาสเจรจากับนายพลเจียงไคเช็ค ผู้นำกองกำลังทหารพรรคก๊กมินตั๋ง และประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร โดยเฉพาะอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ให้ถือคำประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรโดยรัฐบาลไทยขณะนั้น ซึ่งนำโดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นโมฆะ และขอให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองความชอบธรรมของขบวนการเสรีไทยที่กำลังต่อต้านฝ่ายอักษะ นอกจากนี้ ยังขอการสนับสนุนหาทางให้นายปรีดี พนมยงค์ จัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในประเทศอินเดียด้วย 
 
บันทึกประจำวันเขียนด้วยลายมือความหนานับพันหน้าของนายจำกัด พลางกูร และจดหมายโต้ตอบนับหลายฉบับระหว่างเขากับ พ.ท.ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัฒน คณะกู้ชาติสายอังกฤษ ได้เผยความนึกคิดและสภาพความเป็นอยู่อันยากแค้นของเขาระหว่างปฏิบัติภารกิจนี้อย่างโดดเดียวในแผ่นดินจีนจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต ที่สำคัญที่สุด จากบันทึกฉบับนี้ ความจริงหลายเรื่องในประวัติศาสตร์ช่วงปี พ.ศ.2486 ก็ปรากฏชัดขึ้น ความจริงเบื้องหลังที่ทำให้ชาติไทยธำรงเอกราชไว้ได้
 
“คุณูปการ 3 ข้อ จากบันทึกประจำวันของนายจำกัดฉบับนี้ ชี้ให้สังคมไทยเห็นว่า หนึ่ง จีนเป็นประเทศแรกของฝ่ายสัมพันธมิตรที่รับปากว่าจะให้การรับรองเอกราชของไทย ซึ่งนี่น่าจะเป็นข้อมูลที่บอกว่า จีนมีบทบาทสำคัญพอๆ กับสหรัฐฯ ที่ให้การสนับสนุนอาวุธแก่ขบวนการเสรีไทยเลยทีเดียว  สอง เรื่องราวในจดหมายระหว่างนายจำกัดกับ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ พระเชษฐาในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระราชินีในรัชกาลที่ 7 สะท้อนให้เห็นการประนีประนอมยอมรับระบอบการปกครองใหม่ ระหว่างฝ่ายเจ้ากับคณะราษฎรอย่างมีนัยยะสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยคือ การที่ฝ่ายเจ้าก็ให้การยอมรับหลักการของคณะราษฎรที่ชูความสำคัญของรัฐธรรมนูญ และการนำของนายปรีดี ด้วยคำพูดบางตอนของ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ในบันทึกที่ว่า ‘ถึงผมจะเป็นเจ้า แต่ก็บูชาประชาธิปไตย’ และคุณูปการข้อสุดท้ายคือ การทำให้พลังประชาชนในชาติมีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองไทยครั้งนั้น จำต้องอาศัยความรักและความร่วมมือของคนในชาติอย่างแท้จริง ลำพังการประกาศจุดยืนของเสรีไทยนอกประเทศที่ขาดกำลังคน ย่อมไม่อาจบรรลุผล”  ศ.ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา กล่าวย้ำ 
 
พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกูล กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย ในฐานะประธานชมรมศิษย์เศรษฐศาสตร์การเมืองและนักแสดงหลักในละครเรื่องนี้ เผยว่า “เราทุกคนได้อ่านเรื่องของนายจำกัดแล้วจากหนังสือชื่อ เพื่อชาติ เพื่อ HUMANITY เขียนโดยท่านอาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา แล้วรู้สึกภูมิใจมากที่ประเทศไทยมีคนกล้า ยอมเสียสละแม้ชีวิตเพื่อชาติ เสี่ยงภัยที่ไม่อาจคาดเดาได้ จนฟันฝ่าไปถึงจุดหมายและมุ่งมั่นจัดการภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้ลุล่วง ถ้าขาดเขา ปานนี้ไม่รู้ประเทศไทยจะเป็นอย่างไรเลย”
 
โดยคณะผู้จัดงานและการแสดงละครเวทีคาดหวังว่าการจัดการแสดงละครครั้งนี้จะลบข้อครหาที่เคยมีผู้กล่าวว่านายจำกัด พลางกูร ที่ได้มอบชีวิตของเขาให้แก่ประเทศชาติ แต่ทุกวันนี้กลับมีคนน้อยมากที่รับรู้และสัมผัสได้อย่างลึกซึ้งถึงความรักชาติและความกล้าหาญของเขา โดยการแสดงรอบสื่อมวลชนจะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม 2556 เวลา 18.30 น.  ณ โรงละครสดใส พันธุมโกมล  ชั้น 6 อาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 

"พานทองแท้" ติง "ทีมโฆษกประชาธิปัตย์" ยิ่งโพสต์คะแนนยิ่งตก

"พานทองแท้" ติง "ทีมโฆษกประชาธิปัตย์" ยิ่งโพสต์คะแนนยิ่งตก

          15 สิงหาคม 2556 go6TV - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.00น. ที่ผ่านมา นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัวhttps://www.facebook.com/oakpanthongtae โดยมีข้อความดังนี้




         รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ว่า จะให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ เอาผิดพานทองแท้เรื่องที่โพสต์เฟสบุ๊ครูปนายอภิสิทธิ์ฯ โดยระบุว่าคำว่า "ห้ามตะโกนในโรงหนัง กรุณาใช้เสียงในระบบรัฐสภา" เนื่องจากเป็นการกระทำที่ทำให้ พรรคประชาธิปัตย์เสื่อมเสียครับ

เนื่องจากรูปนายอภิสิทธิ์ฯ และข้อความดังกล่าวผมเป็นคนสั่งให้ทีมงาน "รีทัชเองกับมือ" แต่มาโดนขู่จะเอาเรื่องเป็นคดีความแบบนี้ ผมก็ต้องหาข้อมูลกันนิดหน่อยครับ ว่าอีแค่คำว่า "ห้ามตะโกนในโรงหนัง" และคำว่า"กรุณาใช้เสียงในระบบรัฐสภา" มันมีความหมายอะไรสำคัญกับนายอภิสิทธิ์ฯและพรรคประชาธิปัตย์ ถึงขั้นจะเอาผิดกันเป็นคดีพิเศษ

หาข้อมูลไปมาจึงมาเจอข้อมูล ที่เกี่ยวข้องกับพรรคประชาธิปัตย์ และการตะโกนในโรงหนัง ใน "วิกิพีเดีย"ครับ ถ้าทีมโฆษกพรรคฯจะร้อนท้อง จะเป็นจะตายขนาดนี้ แปลว่า ต้องเป็นสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ ไม่อยากให้ใครพูดถึงแน่ๆ แต่เมื่อจะฟ้องร้องกัน ผมก็ต้องขอรีมายด์ให้กับบรรดาสาบสลิ่ม ความจำสั้นได้ฟังกันนะครับ เป็นบทความที่เขียนถึง พณฯปรีดี พนมยงค์ โดยมีส่วนที่เกี่ยวพันถึงพรรคประชาธิปัตย์ และการตะโกนในโรงหนัง มีใจความโดยย่อตอนหนึ่งว่า

"ศัตรูทางการเมืองของ นายปรีดี พนมยงค์ กลุ่มต่างๆ ซึ่งรวมถึงพรรคฯฝ่ายค้านนำโดย พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มอำนาจเก่า ฉวยโอกาสนำกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 มาใช้ทำลายปรีดีทางการเมือง โดยการกระจายข่าวไปตามหนังสือพิมพ์ ร้านกาแฟ และสถานที่ต่าง ๆ รวมทั้งส่งคนไปตะโกนในศาลาเฉลิมกรุงว่า "ปรีดีฆ่าในหลวง" จนกระทั่งปรีดีต้องลาออกจาก ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในที่สุด"

ส่วนเรื่อง "กรุณาใช้เสียงในระบบรัฐสภา" นั้น ก็อย่างที่เราเห็นๆกันอยู่ครับ สส.พรรคฯที่ประชาชนจ้างให้เข้าไปทำงานในสภา ได้ทำงานคุ้มเกินหน้าที่ไปเยอะเลยครับ ทั้งเดินสายปลุกระ..เอ๊ย..!! เดินสายผ่าความจริง จนชาวบ้านเขาขับไล่ไปทั่วประเทศ เดินนำม๊อบไปเผชิญหน้าเจ้าหน้าที่บ้านเมือง การบอกให้ใช้ระบบรัฐสภา เช่นเดียวกับที่ประเทศที่เจริญแล้วเขาทำกัน โดยใช้คำนำหน้าว่า "กรุณา"นั้น ถือว่าสุภาพเกินเหตุแล้วครับ

ถ้าการที่จะพูดถึงข้อเท็จจริงในอดีต แล้วจะทำให้คนบางพรรคฯยอมรับไม่ได้นั้น ควรจะแก้ไขด้วยการออกมาชี้แจงครับ ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยใช้ให้ใครไปตะโกนในโรงหนัง ก็ควรจะชี้แจงว่าไม่เคยทำ ถ้าเคยทำและสำนึกตัวว่าเป็นสิ่งชั่วร้าย ก็ควรออกมาขอโทษคนไทยทั้งประเทศ และสัญญาว่าจะไม่แอบอ้างสถาบันมาทำลายคู่แข่งทางการเมืองอีก ง่ายๆแค่เนี้ย.. ผมว่ามันดีกว่าให้ทีมโฆษกฯออกมาพูดจาแสดงสีหน้าท่าทางให้ชาวบ้านเขา...(ขอ3คำ)....เปล่าๆ

ขอบคุณทีมโฆษกพรรคปชป.นะครับ ที่ขยันเปิดประเด็นหาคะแนนลบให้กับพรรคตัวเองตลอด  55555555555555

"ปานเทพ" แฉ! "พรรคประชาธิปัตย์" ดอดพบหารือโค่นรัฐบาล ย้ำข้อเสนอให้ ส.ส.ประชาธิปัตย์ลาออกทั้งสภา


"ปานเทพ" แฉ! "พรรคประชาธิปัตย์" ดอดพบหารือโค่นรัฐบาล ย้ำข้อเสนอให้ ส.ส.ประชาธิปัตย์ลาออกทั้งสภา



นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้เขียนเฟสบุ้คส่วนตัวยืนยันว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้ส่งตัวแทน 3-4 คนเข้าเจรจากับฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยมีข้อเสนอแนะให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์แสดงความกล้าหาญด้วยการลาออก จากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนฯ แต่ทางตัวแทนของพรรคประชาธิปัตย์ได้ขอนำคำเสนอแนะนี้ไปชี้แจงให้กับทางคณะกรรมการบริหารพรรคได้รับทราบและพิจารณาข้อเสนอดังกล่าว


นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ได้เขียนข้อความบนเฟสบุ้คดังนี้


“ตามที่คุณนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ได้ให้สัมภาษณ์ว่าวันนี้มีการคุยกันระหว่างพันธมิตรฯกับคนของพรรคประชาธิปัตย์ 3-4 คน ผมจึงขอเรียนให้ทราบว่าเรื่องดังกล่าวผมกับคุณประพันธุ์ คูณมี ได้นัดพบกับ ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์เป็นความจริง เป็นการหารือเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ที่เอาผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นตัวตั้ง โดยผมได้เสนอความคิดตามข้อเสนอของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ที่ขอให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ลาออกมาเพื่อหยุดความชอบธรรมของระบบเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้งนี้ เพื่อมาร่วมกับพี่น้องประชาชนคนทั้งประเทศ ไม่ใช่เพื่อการเปลี่ยนขั้ว แต่มาร่วมกันต่อสู้เพื่อปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประโยชน์ต่อคนไทยทั้งประเทศ 65 ล้านคน ซึ่งคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ก็พร้อมจะเข้าร่วมเดิมพันที่จะมีความคุ้มค่าครั้งนี้ด้วย เพื่อเอาชาติเป็นตัวตั้ง แม้จะยังไม่ได้ข้อสรุปวันนี้เพราะเป็นการพูดคุยครั้งแรก แต่พรรคประชาธิปัตย์น่าจะต้องไปพิจารณาข้อเสนอนี้ในพรรคต่อไป


การพบปะในวันนี้ ฝ่าย ปชป. มี คุณนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ , คุณเฉลิมชัย ศรีอ่อน, คุณกษิต ภิรมย์, ส่วนคุณหญิงกัลยา โสภณพานิช เข้ามาช่วงแรกแต่ติดภารกิจอภิปรายงบประมาณในสภา ส่วนผมไปกับคุณประพันธุ์ คูณมี โดยภาพรวมดูเหมือนคิดตรงกันหลายเรื่อง (ในความคิดของผม) เพียงแต่พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคใหญ่อย่างไรเสียก็ต้องกลับไปหารือในพรรคอีกครั้ง ให้เวลาพวกเขาหน่อยครับ และพวกเราเห็นพ้องต้องกันว่าเรื่องการพูดคุยครั้งนี้แม้จะยังไม่ได้ข้อยุติแต่ก็สามารถให้ข่าวได้เพื่อให้ประชาชนได้ทราบว่ามีการเคลื่อนไหวและการพูดคุยนี้เกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้ยินดีและมีความหวังที่จะก้าวต่อไปครับ


คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ไม่ได้ชวนพรรคประชาธิปัตย์มาเพียงแค่คัดค้าน พรบ.นิรโทษกรรม และไม่ได้ชวนให้มาร่วมกันโค่นระบอบทักษิณ แต่ชวนลาออกมาเพื่อหยุดระบอบเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้ง มาร่วมมือเปลี่ยนประเทศนี้ด้วยกันเพื่อผลประโยชน์ของคนไทย 65 ล้านคน



มีบางคนคนถามผมว่าไปเจรจากับ คนพรรคประชาธิปัตย์ได้อย่างไร ไว้ใจได้หรือ ยังไม่เข็ดอีกหรือ โง่หรือเปล่า ผมก็ขอตอบว่า ไม่ลองก็ไม่รู้ และอย่างน้อยก็ได้ลองทำแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอของคุณสนธิ ลิ้มทองกุลครั้งนี้เกิดปัญญาและคิดได้ในขณะกำลังสวดมนต์ ไม่ว่าประชาธิปัตย์จะ ปฏิเสธ ตอบรับ หรือตอบรับแต่ไม่จริงใจ เชืี่อเถอะครับ เมื่อถึงเวลานั้นประชาชนจะเห็นเองและตัดสินได้เองว่าควรจะทำอะไรต่อไปหลังจากนั้น”