วันพุธที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

จับตาสืบพยานคดี ม.116 ติดป้ายผ้าขอแยกประเทศล้านนา ที่ศาลจังหวัดเชียงราย


ศาลจังหวัดเชียงรายนัดสืบพยานกรณีแขวนป้ายผ้า “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กูขอแยกเป็นประเทศล้านนา” พร้อมสั่งห้ามผู้สังเกตุการณ์จดบันทึกระหว่างการพิจารณา นัดสืบพยานครั้งต่อไป 14 15 และ 19 พ.ค. นี้
12 พ.ค.58 เฟซบุ๊กศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมานุษยชน รายงานว่า ศาลจังหวัดเชียงรายนัดสืบพยานในคดีระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดเชียงราย กับนายออดและพวกรวม 3 คน ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากกรณีการร่วมกันติดป้ายที่มีข้อความในลักษณะขอแบ่งแยกเป็นประเทศล้านนา เมื่อช่วงเดือน ก.พ.57
สำหรับเหตุในคดีนี้ เกิดขี้นระหว่างวันที่ 26 ก.พ.57 ได้ปรากฏป้ายไวนิลขนาดยาวที่มีข้อความว่า “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กูขอแยกเป็นประเทศล้านนา” ติดอยู่บริเวณสะพานลอยข้ามถนนพหลโยธิน หน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่าเชียงราย
ในวันที่ 2 มี.ค.57 ทางสารวัตรป้องกันปราบปรามสภ.เมืองเชียงรายได้เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ ติดป้ายดังกล่าว ในความผิดจากการทำให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึง ขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรตามมาตรา 116 ต่อมา ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเชียงรายในเวลานั้นยังได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ ทหารฝ่ายข่าวเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนอีกด้วย
จนกระทั่งภายหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.57 พนักงานสอบสวนได้ขออนุมัติหมายจับบุคคลสามคนที่ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ติดป้าย ดังกล่าว จากนั้นจึงได้มีการติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหา ได้แก่ นายออด นางถนอมศรี และนายสุขสยาม ทั้งสามคนเป็นกลุ่มคนเสื้อแดงในอำเภอแม่สรวย และยังเคยถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวในค่ายภายหลังการรัฐประหารด้วย ทั้งสามได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์คนละ 1.2 แสนบาท และให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา
การสืบพยานโจทก์ในวันแรกได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสภ.เมืองเชียงราย ผู้แจ้งความร้องทุกข์, เจ้าหน้าที่ทหารหัวหน้าฝ่ายข่าวจากค่ายเม็งรายมหาราช, พนักงานรักษาความปลอดภัยของห้างเซ็นทรัลพลาซ่า และกลุ่มคนขับรถตุ๊กตุ๊กบริเวณหน้าห้าง ขึ้นเบิกความต่อศาล
ในการพิจารณาคดีช่วงบ่าย ศาลยังได้ห้ามไม่ให้ผู้สังเกตการณ์จดบันทึกระหว่างการพิจารณาด้วย เนื่องจากเห็นว่าศาลได้บันทึกถ้อยความเบิกความของพยานอยู่แล้ว และสามารถให้ทนายความขอคัดสำเนาบันทึกคำเบิกความได้
การสืบพยานโจทก์จะมีต่อเนื่องไปในวันที่ 14 และ 15 พ.ค. ตามด้วยการสืบพยานจำเลยในวันที่ 19 พ.ค.นี้

กมธ.ยกร่างฯ เผย เห็นด้วยกับการทำประชามติ พร้อมเตรียมส่งหนังสือให้ นายกฯ ด้านวิป สปช. เอาด้วย


โฆษก กมธ. ยกร่างฯ เผยที่ประชุมเห็นควรทำประชามติร่าง รธน. เพราะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ย้ำถ้าได้ทำต้องส่งเอกสารให้ ปชช. ศึกษาก่อน 90 วัน ด้านวิป สปช. เห็นด้วยกับประชามติทั้งฉบับ
13 พ.ค. 2558 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า คำนูณ สิทธิสมาน พร้อมด้วย พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ที่ประชุมมีมติให้ส่งหนังสือเสนอความเห็นของ กมธ.ยกร่างฯ ที่เห็นตรงกันว่าควรให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ไปยังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายในวันนี้ (13 พ.ค. 58)   
ด้านพลเอกเลิศรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ จึงควรให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการให้ความเห็นชอบและเพื่อให้สอดคล้องกับ การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่เป็นของทุกคนและฉบับที่ผ่านมาก็เคยทำประชามติ เช่นกัน ทั้งนี้การทำประชามติจะต้องส่งเอกสารให้ประชาชนได้ศึกษาก่อนลงเสียงประชามติ ใน 90 วัน โดยคาดว่าน่าจะมีการทำประชามติหลังวันที่ 6 สิงหาคม ส่วนเงื่อนไขที่ทุกฝ่ายจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พลเอกเลิศรัตน์ กล่าวว่า มีหลายช่องทางที่จะสามารถดำเนินการและใช้เป็นทางออกในการแก้ปัญหาได้ แต่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นผู้เสนอหรือกำหนด เพียงแต่เห็นควรให้มีการทำประชามติเท่านั้น
ขณะเดียวกัน เว็บข่าวรัฐสภา อลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) แถลงข่าวภายหลังการประชุมวิป สปช.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นว่าควรมีการออกเสียงลงประชามติร่าง รธน.หรือไม่ว่า จากการหารือร่วมกับคณะกรรมาธิการ 18 คณะและคณะกรรมาธิการวิสามัญ 5 คณะของ สปช. ที่ประชุมได้มีมติเห็นด้วยให้มีการออกเสียงทำประชามติ และเห็นควรให้ทำประชามติทั้งฉบับภายหลัง สปช.ให้ความเห็นชอบ โดยกระบวนการจะต้องรอบครอบ รอบรู้ มีการทำความเข้าใจในสาระของรัฐธรรมนูญให้ประชาชนได้ใช้สิทธิออกเสียงอย่าง เข้าใจในตัวบทบัญญัติของ รธน. ซึ่ง สปช. และ กมธ.ยกร่างฯ พร้อมที่จะเป็นหน่วยงานสำคัญที่ให้ความรู้กับประชาชน ขณะเดียวกันหน่วยงานที่จะดำเนินการจัดทำการออกเสียงประชามติจะต้องวางกติกา กฎเกณฑ์การออกเสียงอย่างโปร่งใส ยอมรับได้

‘อภิสิทธิ์-อดีตส.ส.เพื่อไทย’ ค้าน ‘ประชามติ’ ปฏิรูปอีก 2 ปี ก่อนเลือกตั้ง


หลังจากวันนี้(13 พ.ค.58) นายไพบูลย์ นิติตะวัน คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา และนายศิระ เจนจาคะ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ร่วมกันแถลงเพื่อขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 308 โดยเพิ่มข้อความในวาระเริ่มแรก นับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงประชามติภายใน 90 วัน โดยให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 มาใช้บังคับอนุโลม เพื่อให้พลเมืองทั้งประเทศเป็นผู้พิจารณาเห็นควรให้มีการปฏิรูปประเทศและการบริหารราชการแผ่นดินให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศก่อนที่จะจัดการเลือกตั้งหากพลเมืองออกเสียงประชามติเสียงข้างมากให้ความเห็นชอบ เมื่อครบกำหนดระยะเวลาสองปี นับจากวันที่มีการออกเสียงประชามติเห็นชอบแล้วจึงจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ทั้งนี้ ในกรณีผลการออกเสียงประชามติเสียงข้างมากไม่ให้ความเห็นชอบ ให้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไป
นายไพบูลย์กล่าวว่า ที่ต้องเสนอให้ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง 2 ปีนั้นคิดว่า เป็นเวลาที่เหมาะสม ฝ่ายที่ไม่ชอบก็พอทนได้ เพราะถือว่าไม่นานจนเกินไป ถ้านานกว่านี้ประเทศจะเสียหาย
‘อภิสิทธิ์’ ค้านทำประชามติถามประชาชนเรื่องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า โดยหลักแล้วการเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.)  แต่เชื่อว่าทุกคนห่วงใยเรื่องการปฎิรูปที่จะทำให้สามารถดำเนินการไปได้อย่างราบรื่น  โดยไม่ถูกกดดันจากต่างประเทศหรือจากปัจจัยต่างๆ  แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เชื่อว่าคสช. จะเดินไปตามโรดแมปที่วางไว้
“หากเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ  ควรจะเสนอแก้ไขให้ทำประชามติจะดีกว่า  โดยร่วมกันสนับสนุนกติกาและวางกรอบที่เป็นที่ยอมรับ รวมถึงวางการปฎิรูปประเทศให้รัฐบาลต่อๆ ไปมาสานต่อที่จะให้คณะบุคคลมาทำหน้าที่ต่อ  เพราะการทำประชามติที่เกี่ยวกับตัวบุคคล  รัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาเขียนไว้ชัดแจ้งว่าไม่ควรทำและเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม  ผมขอยืนยันว่าวิธีที่ดีที่สุดคือมาร่วมกันพิจารณากรอบและกติกาการทำประชามติในร่างรัฐธรรมนูญ  แต่ต้องไม่ใช่กรอบเดิม ที่หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านแล้วต้องมาเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ ทุกอย่างที่ทำมาไม่มีประโยชน์  จึงต้องมาวางกติกากันใหม่ว่าจะทำประชามติอย่างไรที่แม้ว่าจะไม่ผ่าน แต่ประเทศต้องเดินไปข้างหน้า ไม่ถอยหลัง  และไม่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญที่พิจารณากันมาสูญเปล่า” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสนับสนุนให้ทำประชามติและเคยเสนอให้นำรัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2550 เป็นตัวตั้ง และเปรียบเทียบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือ กำหนดวิธีการที่แตกต่างไปจากเดิม ในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ผ่าน  เช่น ให้ทุกฝ่ายมาคุยกัน  เชื่อว่าเมื่อถึงเวลานั้น ทุกฝ่ายจะมาช่วยกันสร้างกติกาที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน  เพราะไม่ว่าใครจะมีความคิดเห็นอย่างไรหากทุกฝ่ายไม่ยอมรับก็ไม่มีทางทำให้ยั่งยืนได้ การที่เสนอการทำประชามติ เพราะเห็นว่าเป็นวิธีที่จะสร้างความชอบธรรมและการยอมรับจากทุกฝ่ายที่ดีที่สุด  รวมทั้งไม่อยากเห็นประเทศหยุดอยู่กับที่หรือถอยหลังไปมากกว่านี้
“ปีกว่า ๆ หลังจากที่ประเทศจะต้องเดินตามโรดแมปแล้ว ยังมีเรื่องที่ต้องแก้ไขอีกมากมายทั้งเศรษฐกิจ การลงทุน การท่องเที่ยว การแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตร และปัญหาการค้ามนุษย์ รวมทั้งการเปิดประชาคมอาเซียน เพราะฉะนั้น คสช.มีหน้าที่รักษาความสงบ และวางรากฐานให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้  โดยให้รัฐบาลต่อไปมาสานต่อ แต่ไม่ควรวางแนวทางให้ปฎิรูปต่ออีก 2 ปี เพราะอาจถูกมองได้ว่าต้องการสืบทอดอำนาจ และจะมีการถกเถียงเรื่องรัฐธรรมนูญไม่จบสิ้น  อีก2-3 ปีก็ไม่หลุดพ้น หากเป็นอย่างนั้นประเทศจะถอยหลัง หากต้องการหลุดวังวนเดิม ๆ ต้องหากติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับ คือการทำประชามติ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว
อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ค้านประชามติปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง
นายสมคิด เชื้อคง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงข้อเสนอดังกล่าวด้วยว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะเป็นการมัมือชกประชาชน  โดยนำกฎหมายมากำหนดกันเองเพื่อประโยชน์ส่วนตน  สะท้อนเจตนารมณ์ผู้เสนอที่ต้องการสืบทอดอำนาจต่อไป  ทั้งที่หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน จะมีสมาชิก สปช. เข้าร่วมการปฎิรูปตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้วถึง 60 คน
นายสมคิด กล่าวว่า ขอให้สปช.คำนึงถึงกฎกติกาสากล  เคารพสิทธิ์ประชาชน เพราะประเทศไม่ใช่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง  ขณะนี้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญต้องคิดอย่างเดียวว่า ทำอย่างไรจะทำให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นเร็วที่สุด  ยิ่งทอดเวลาไว้นาน ยิ่งสะท้อนว่าอยากอยู่ในอำนาจต่อ ผมเชื่อว่านักการเมืองส่วนใหญ่รอได้ หากจะเกินระยะเวลาการเลือกตั้งตามโรดแมปไปบ้างและมีเหตุผลรองรับ เช่น ต้องร่างรัฐธรรมนูญให้ดีที่สุด เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายก่อนหรือต้องทำประชามติ  ซึ่งเป็นสิ่งที่รับได้ แต่หากล่าช้าเพราะต้องการสืบทอดอำนาจแบบนี้ เชื่อว่าไม่มีฝ่ายใดรับได้แน่นอน