วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2558

นักการเมือง-นักวิชาการ-นักเคลื่อนไหว ทยอยไปสโมสรทัพบก ตามคำเชิญ ผอ.ศูนย์ปรองดอง



23 เม.ย. 2558 กรณีศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) เชิญนักวิชาการ นักศึกษา สื่อมวลชน ประชาชนหลายคนให้เข้าร่วมการหารือเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้ง ในวันนี้ (23 เม.ย.) ที่สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีรังสิต เวลา 9.30 น. โดยผู้ที่ถูกเชิญหลายคนแจ้งว่าเพิ่งทราบข่าวเมื่อวานและไม่สามารถเข้าร่วมได้

ล่าสุด วันนี้ นักศึกษาสองคนโพสต์แจ้งในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า เจ้าหน้าที่ทหารเพิ่งโทรแจ้งเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา
"ทางทหารโทรมาเมื่อกี้บอกขอเชิญร่วมเข้าประชุม ขอเชิญเข้าประชุมด้วยวันนี้เวลา9 โมง แต่โทรมา 7:50 น. คืออะไร ??" นัชชชา กองอุดม นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
"ตอนเก้าโมงที่ผ่านมา เพิ่งทราบว่าเป็นหนึ่งในคนที่มีรายชื่อถูกเชิญไปประชุมด่วนที่สโมสรทหารบก วิภาวดี วันนี้ตอนเก้าโมงครึ่ง ให้ตายยังไงก็ไปไม่ทัน แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือมันไม่ได้มีความชอบธรรมอะไรให้เราต้องสนใจ..........." ชลธิชา แจ้งเร็ว นักศึกษาคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ส่วนบรรยากาศที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ ตั้งแต่ช่วงเช้า บรรดานักการเมือง นักวิชาการ คอลัมนิสต์ ที่ได้รับหนังสือเชิญ ต่างทยอยเดินทางมายังสโมสรทหารบก ทั้งในส่วนของแกนนำพรรคเพื่อไทย แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ แกนนำ นปช. โดยผู้มาถึงคนแรกคือนายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย อย่างไรก็ตาม ไม่มีตัวแทนจากกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็น ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. เข้าร่วม
ผู้ที่เดินทางเข้าร่วม อาทิ
  • ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย 
  • พงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกฯ
  • วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีต รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 
  • วรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย 
  • อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ 
  • จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. 
  • ธิดา ถาวรเศรษฐ แกนนำ นปช. 
  • พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
  • เอกชัย ไชยนุวัต รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม 
  • นัชชชา กองอุดม นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
  • สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักศึกษา มธ.
  • วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความจากกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน
  • ปิยรัฐ จงเทพ นักศึกษา กลุ่ม ศนปท.

สำหรับการรักษาความปลอดภัยเป็นไปอย่างเข้มงวด โดยเจ้าหน้าที่ทหาร ได้กันสื่อมวลชนให้อยู่เฉพาะบริเวณด้านหน้าทางเข้าสโมสรทหารบก และไม่อนุญาตให้เข้าไปรับฟังการประชุมแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด ทั้งนี้มีรายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับผู้ที่ถูกเชิญให้แสดงความเห็น จะต้องผ่านเครื่องสแกนและตรวจสอบอาวุธก่อนเข้าห้องประชุม และห้ามนำโทรศัพท์มือถือ เครื่องมือติดต่อสื่อสารเข้าห้องประชุมโดยเด็ดขาด

ออกมาแล้ว 'นัชชชา' ชี้หากประเด็นที่เสนอไม่คืบ ไม่ร่วมเวทีกองทัพอีก


นัชชชา เผย พล.อ.ฉัตรเฉลิม ขอ มีข้อเสนออะไรให้เสนอในเวที อย่าไปพูดผ่านสื่อ เล็งเข้าร่วมเวทีกองทัพอีกเพื่อติดตามประเด็นเสรีภาพการแสดงออกที่ตัวเองเสนอไป ชี้หากไม่ได้รับการนำไปปฏิบัติ ไม่เข้าร่วมอีก
23 เม.ย. 2558 นัชชชา กองอุดม นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ หนึ่งในผู้ได้รับเชิญจาก ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ให้เข้าร่วมการหารือเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้ง ที่สโมสรกองทัพบก ให้สัมภาษณ์ว่า ในเวทีมีผู้เข้าร่วมประมาณ 30-40 คน จากที่นั่งที่จัดไว้ประมาณ 80 ที่ พลเอกฉัตรเฉลิมเป็นผู้ดำเนินรายการ เริ่มอธิบายเท้าความตั้งแต่สถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาจนถึงรัฐประหารและได้แจ้งถึงผลงานทางการเมืองของทหารได้ทำอะไรไป จากนั้นจึงเปิดให้ผู้เข้าร่วมอภิปรายแสดงคความคิดเห็น ซึ่งในเวทีได้มีกลุ่มบุคคลที่หลากหลายเข้าร่วมอภิปราย อาทิ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, จาตุรนต์ ฉายแสง, จตุพร พรหมพันธุ์, ธิดา ถาวรเศรษฐ, ศุภชัย ใจสมุทร, พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์, เอกชัย ไชยนุวัติ, พะเยาว์ อัคฮาด, วิญญัติ ชาติมนตรี สำหรับในส่วน น.ศ. ได้เข้าร่วมสามคนคือ ตนเอง สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และปิยณัฐ จงเทพ จากศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) 
นัชชชาเล่าว่า ในวงได้พูดคุยไปในแนวทางเดียวกันก็คือ จำเป็นที่จะต้องมีความยุติธรรมก่อนจึงสามารถจะเกิดความปรองดองในสังคมไทยได้ ซึ่งเป็นเรื่องเดิมๆ ไม่มีอะไรใหม่ ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมส่วนหนึ่งก็ได้ขอตัวกลับในช่วงเที่ยงโดยเหลือผู้ร่วมเวทีภาคบ่ายประมาณยี่สิบกว่าคน
เธอเล่าว่า ท้ายที่สุด พล.อ.ฉัตรเฉลิมได้กล่าวว่าการคุยครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นนำไปสู่ความปรองดอง จะมีการจัดเวทีอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ โดยมีความคิดข้อเสนอทางการเมืองอย่างไรขอให้นำมาพูดในเวที โดยขออย่าให้เอาไปพูดผ่านสื่อ พร้อมกันนี้ พล.อ.ฉัตรเฉลิมได้กล่าวขอความร่วมมือให้ผู้เข้าร่วมเวทีปรองดองเป็นตัวแทนเป็นวิทยากรเพื่อนำแนวคิดเรื่องการปรองดองลงไปเผยแพร่ในพื้นที่ต่อไป
ในเวทีตัวแทน ศนปท.ได้พูดถึงการเชิญเข้าร่วมแบบกระชั้นชิดว่ามีเหตุผลอย่างไร แต่ผู้จัดงานไม่ได้ให้คำตอบ
เมื่อถามว่าจะเข้าร่วมกิจกรรมที่ทางทหารจะจัดครั้งต่อไปหรือไม่ นัชชชากล่าวว่า โดยส่วนตัว จะเข้าร่วมอีกหนึ่งครั้งเพื่อติดตามประเด็นเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองที่เธอและผู้เข้าร่วมอีกหลายคนเสนอจะได้รับการนำไปปฎิบัติหรือไม่ ถ้าไม่ได้รับการนำไปปฏิบัติ เธอก็จะไม่เข้าร่วมกิจกรรมอีกต่อไป

ศาลรับฟ้อง 'ประธานศาลปกครองสูงสุด' ฟ้อง 'พุฒิพงศ์' หมิ่นประมาท-พ.ร.บ.คอม


ศาลอาญารับฟ้อง หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด (อยู่ระหว่างถูกสั่งพักราชการ) ฟ้อง พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล นักวิชาการอิสระ ข้อหาหมิ่นประมาท-พ.ร.บ.คอม นัดสมานฉันท์ 14 พ.ค.นี้

23 เม.ย. 2558 ที่ศาลอาญา รัชดา อัยการมีคำสั่งฟ้องคดี พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล อายุ 22 ปี นักวิชาการอิสระด้านกฎหมาย ข้อหาหมิ่นประมาทโดยโฆษณา และนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14(1) สืบเนื่องจากการโพสต์ภาพและข้อความพาดพิง หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด (อยู่ระหว่างถูกสั่งพักราชการ) เมื่อปี 2556
ต่อมา ศาลรับฟ้องและพุฒิพงศ์ถูกคุมตัวฝากขัง ระหว่างรอคำสั่งอนุมัติประกันตัว ล่าสุด เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว โดยใช้กรมธรรม์ประกันอิสรภาพ 12,000 บาท
ทั้งนี้ ศาลนัดสมานฉันท์ วันที่ 14 พ.ค. 2558
คดีนี้สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2556 พุฒิพงศ์ โพสต์ภาพ 2 ภาพลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ภาพแรกเป็นภาพหัสวุฒิใช้มือแตะศีรษะผู้หญิงรายหนึ่ง นั่งหลับตาทำท่าเหมือนบริกรรมคาถา ภาพที่สองเป็นภาพหัสวุฒิกำลังยืนกุมมือพระสงฆ์รูปหนึ่งแล้วทำท่าเหมือนบริกรรมคาถาเหมือนภาพแรก พร้อมคำบรรยายใต้ภาพว่า “นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด กำลังใช้อิทธิฤทธิ์รักษาโรคภัยไข้เจ็บ ไล่ผีเป่ากระหม่อม ให้แก่ภิกษุและชาวบ้านผู้นับถือศรัทธาท่าน ช่วงนี้มักเฮี้ยนอยู่ตามต่างจังหวัด” และในภาพยังวางตัวบทของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 21 ว่าด้วยเรื่อง ตุลาการศาลปกครองพ้นจากตำแหน่งเมื่อเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ไว้ใต้ภาพด้วย
ต่อมา เดือนพฤศจิกายน 2556 หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ก็ทำหนังสือมอบอำนาจให้อโนชา ชัยวงศ์ นิติกรสำนักงานศาลปกครอง แจ้งความดำเนินคดีข้าพเจ้าที่ สน.ทุ่งสองห้อง ตั้งข้อหาหมิ่นประมาทโดยโฆษณา และนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14(1) 

“ทำไมความจริงยังไปไม่ถึงความยุติธรรม” เผยข้อค้นพบจากการสำรวจกลไกยุติธรรม เพื่อสร้างความพร้อมสู่สันติภาพ


แต่กรณีเหตุรุนแรงที่สังคมรู้สึกเคลือบแคลงสงสัยว่าเจ้าหน้าที่รัฐอาจใช้อำนาจเกินกว่าเหตุหรือเกี่ยวข้องกับการสังหารนอกกฎหมาย จนรัฐต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาเป็นการเฉพาะในหลายกรณี แต่ก็ยังไปไม่ถึงการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด
กระทั่งกรณีล่าสุดที่มีการปิดล้อมตรวจค้นที่บ้านโต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน ซึ่งคณะกรรมการที่รัฐตั้งขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงก็ได้แถลงยืนยันแล้วว่าผู้เสียชีวิตไม่ใช่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบและไม่เชื่อว่าอาวุธปืนที่พบที่ศพจะเป็นของผู้เสียชีวิต
แต่กระนั้นก็ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า กรณีนี้อาจเป็นเช่นเดียวกับกรณีอื่นๆ ที่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้นมา คือไปไกลสุดแค่การเยียวยาแต่ไปไม่ถึงการนำคนผิดมาลงโทษ หรือ ยิง ตาย จ่าย จบ
มูลนิธิเอเชียเองก็อยากรู้เช่นกันว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น จึงพยายามค้นหาคำตอบโดยศึกษาบทเรียนจากการตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงหลายชุดในช่วงที่ผ่านมา ที่สำคัญคือ พยายามมองว่ากระบวนการค้นหาความจริงนั้นจะนำไปสู่การสร้างสันติภาพได้อย่างไรบ้าง
เมื่อความจริงคือจุดเริ่มต้นของความเป็นธรรม
แม้มูลนิธิเอเชียไม่ได้มีบทบาทโดยตรงในการค้นหาความจริงจากหลายกรณีที่เกิดขึ้น แต่โครงการศึกษาเรื่อง “เมื่อความจริงคือจุดเริ่มต้นของความเป็นธรรม : กรณีศึกษาคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในบริบทความขัดแย้งชายแดนใต้” ของมูลนิธิเอเชียก็พบเรื่องข้อเท็จจริงจากรายงานการศึกษาเบื้องต้นหลายประการ
โครงการนี้ดำเนินการระหว่างเดือนพฤษภาคม – กันยายน 2557 โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกและการวิเคราะห์เนื้อหาจากเอกสารของคณะกรรมการค้นหาความจริงในแต่ละชุด ผู้ศึกษาหลักคือนางรุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช ซึ่งแม้ศึกษาเสร็จแล้วแต่ตัวรายงานผลการศึกษายังต้องรอแก้ไขปรับปรุงและคาดว่าจะสามารถเผยแพร่ได้ในเร็วๆ นี้
โครงการนี้เป็นการศึกษากรณีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จในเหตุรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ตั้งขึ้นในช่วงปี 2553 – 2557 เพื่อตรวจสอบเหตุการณ์ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะกรณีที่สงสัยว่าเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจเกินกว่าเหตุหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารนอกกฎหมาย รวม 10 กรณี
นายสันติ นิลแดง เจ้าหน้าที่โครงการมูลนิธิเอเชีย เปิดเผยถึงโครงการศึกษานี้ว่า มี 2 ประเด็นหลักที่ต้องอธิบาย คือ 
  • 1.มูลนิธิเอเชียกับการศึกษาเรื่องคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในปริบทความขัดแย้งชายแดนใต้ และ 2.คณะกรรมการค้นหาความจริงในจังหวัดชายแดนใต้กับวัฒนธรรมคนผิดลอยนวล


สันติ นิลแดง
เพื่อหนุนสันติภาพและสำรวจกลไกยุติธรรมเพื่อการเปลี่ยนผ่าน
นายสันติ อธิบายว่า เหตุผลที่มูลนิธิเอเชียให้มีการศึกษาเรื่องนี้ มี 2 ข้อด้วยกัน คือ
เหตุผลข้อที่ 1 เพื่อสนับสนุนกระบวนการเจรจาสันติภาพ เนื่องจากในช่วงนั้นรัฐบาลไทยได้แสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง (political will) และสื่อสารกับประชาสังคมและประชาชนในพื้นที่อย่างชัดเจนว่าจะใช้วิถี “การเมืองนำการทหาร” โดยผ่านศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นเลขาธิการขณะนั้น ซึ่งในช่วงที่ศึกษาเรื่องนี้ที่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงหลายชุด
เหตุผลที่ 2 คือ การริเริ่มสำรวจทบทวนกลไกยุติธรรมเชิงเปลี่ยนผ่าน หรือ transitional justice - TJ ที่ดำเนินการอยู่ในพื้นที่ ซึ่งเป็นแนวคิดหนึ่งที่มีบทบาทในการเจรจาสันติภาพทั่วโลก เพื่อหาข้อมูลว่ากลไกไหนที่สามารถนำมาใช้ให้เหมาะสมกับบริบทจังหวัดชายแดนภาคใต้
พบ 3 ประการ “ศักยภาพไม่พอ-องค์ประกอบไม่เหมาะ-ไปไม่ถึงคดี”
ผลการศึกษาของมูลนิธิเอเชียในเรื่องนี้ นายสันติ ระบุว่า มีข้อค้นพบหลักๆ อยู่ 3 ประการ ได้แก่
  • 1.ศักยภาพของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ซึ่งยังขาดทักษะความสามารถอย่างเพียงพอ จึงควรมีเจ้าหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพ เช่น ทักษะการซักถาม การเขียนรายงาน ความรู้และเข้าใจเรื่องพยานหลักฐานประเภทต่างๆ รวมทั้งพยานหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
  • 2.องค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ควรมีการตั้งคณะกรรมการถาวรขึ้นมาและมีขนาดไม่ใหญ่มาก คือ ประมาณ 5 - 7 คน และไม่ควรเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง แต่ก็ควรให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ญาติผู้เสียชีวิตหรือผู้ได้รับผลกระทบมีบทบาทในการคัดเลือกกรรมการที่เป็นคนที่ตนไว้ใจ และควรมีโอกาสได้ร่วมสังเกตการทำงานของคณะกรรมการด้วย
  • 3.รายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงถูกคาดหวังค่อนข้างสูงว่า น่าจะนำไปใช้ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้ แม้หลายกรณีระบุวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งคณะกรรมการคือการแสวงหาความจริงเบื้องต้นเท่านั้นก็ตาม

“ขณะเดียวกันก็มีข้อถกเถียงว่า รายงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงยังมีข้อจำกัดหลายประการ จะกลายเป็นการตัดสินคดีล่วงหน้าได้อย่างไร และเป็นการแทรกแซงการค้นหาข้อเท็จจริงและการรวบรวมพยานหลักฐานตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติของประเทศได้หรือไม่”
ต้องขจัดวัฒนธรรมปล่อยคนผิดลอยนวล
จากผลการศึกษาดังกล่าว นายสันติให้ความเห็นในฐานะผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ด้วยว่า ถามว่ารายงานผลของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงควรจะนำไปสู่การนำผู้กระทำผิดมาลงโทษหรือขจัดวัฒนธรรมคนผิดลอยนวลได้เลยหรือไม่ หรือทำไมข้อสรุปของรายงานจึงไปไม่ถึงคดีความ
เขาบอกว่า ในเรื่องนี้พบว่ายังมีความเห็นที่หลายฝ่ายมองต่างมุมกัน และมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก เช่น ในเชิงข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการนำผลของการค้นหาความจริงที่นอกเหนือจากกระบวนการยุติธรรมปกติมาใช้กับการดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เป็นต้น
“อย่างไรก็ตาม การขจัดวัฒนธรรมปล่อยให้คนผิดลอยนวล (Impunity) เป็นปัญหาสำคัญของกระบวนการยุติธรรมภาคใต้ที่มูลนิธิเอเชียพยายามทำงานทั้งกับภาครัฐและภาคประชาสังคมมาตลอด เช่น พยายามสนับสนุนให้เกิดมาตรฐานในการนำพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ในกระบวนการยุติธรรม เพื่อคุ้มครองทั้งสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาและผู้เสียหายอย่างเท่าเทียมกัน แต่เราก็พบว่ามันยากจริงๆ”
“เหตุที่ยากเพราะมันเป็นทั้งประเด็นข้อกฎหมาย ทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งต้องอาศัยแรงผลักสำคัญจาก Political will ของรัฐบาล ความมุ่งมั่นของภาคประชาสังคมและการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากหลายฝ่าย รวมทั้งสื่อด้วย”
แต่เส้นทางยาก-ต้องปลดล็อคกฎหมาย ป.ป.ช.
เขายกตัวอย่างกรณีที่เห็นได้ชัดในประเด็นนี้ ก็คือคดีอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ที่เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวภายในฐานทหาร ซึ่งตามกฎหมายระบุว่า ผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อกระทำผิดต้องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ดำเนินคดี ซึ่งมีกระบวนการและขั้นตอนที่ยาวนาน และเป็นที่ทราบกันดีว่า ป.ป.ช.เองก็มีคดีค้างอยู่จำนวนมาก
“ยังไม่นับกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นทหาร ซึ่งต้องนำเข้าพิจารณาคดีในศาลทหารอีก ซึ่งแน่นอนว่าความล่าช้าของความเป็นธรรมก็ทำให้คนยิ่งรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม”
สันติบอกว่า ส่วนการนำรายงานการตรวจสอบของข้อเท็จจริงคณะกรรมการในรูปแบบนี้มาใช้ในการดำเนินคดีโดยอัตโนมัติ คิดว่าขณะนี้คงยังทำได้ยาก แต่ในอีกมุมหนึ่งก็น่าจะเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับภาคประชาสังคมที่ผลักดันเรื่องนี้ ซึ่งมูลนิธิเอเชียเองก็พยายามฟังทุกฝ่ายว่า ทิศทางการขับเคลื่อนควรเป็นอย่างไร
เขายกตัวอย่างแนวทางในการผลักดันเรื่องนี้ เช่น ควรเริ่มจากการศึกษาต่อเนื่องจากการศึกษาของรุ่งรวีอย่างไร หรือจะมีช่องทางใดบ้างที่ผลของกระบวนการค้นหาความจริงตามกลไกลักษณะนี้จะสามารถเชื่อมต่อหรือนำเข้าไปสู่การพิจารณาและดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้หรือไม่ หรือมีตัวบทกฎหมายใดที่เอื้อกับการนำผลรายงานนี้ไปใช้ได้บ้าง เป็นต้น
“เพราะฉะนั้น แม้คนจะคาดหวังมากที่การค้นหาความจริงแบบนี้จะนำคนผิดมาลงโทษให้ได้ ไม่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐหรือใครก็ตามคงต้องอาศัยการผลักดันอีกมาก เช่น ให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอยู่ รวมถึงเปิดช่องให้การค้นหาความจริงลักษณะนี้นำไปสู่การดำเนินคดีได้ ถ้าต้องการลด Impunity (การปล่อยคนผิดลอยนวล) เพื่อสร้างสังคมนิติรัฐให้เกิดขึ้นจริงให้ได้” สันติ กล่าวทิ้งท้าย
ตั้งมาแล้ว 10 คณะ แต่ไปไกลสุดแค่เยียวยา
ขณะที่นางสาวรุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช ผู้ศึกษาหลักของเรื่องนี้ คณะกรรมการค้นหาข้อเท็จจริงที่มีการตั้งขึ้นเฉพาะกิจนี้ ในภาษาอังกฤษมักเรียกกันว่า Fact-Finding Mission หรือ Commission of Inquiry (COI) COI เป็นคำศัพท์ที่ใช้เรียกคณะกรรมการค้นหาความจริงที่ตั้งขึ้นโดยสหประชาชาติ ซึ่งมีมากกว่า 30 คณะในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2448 – 2555
COI หมายถึงคณะกรรมการค้นหาความจริงที่มิใช่กลไกของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจในสถานการณ์ความขัดแย้งเพื่อสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ความรุนแรงและประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ
ในกรณีของภาคใต้ การตั้งคณะกรรมการนั้นอยู่ในระดับท้องถิ่นโดยหน่วยงานรัฐในพื้นที่ตั้งขึ้น เช่น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใต้ ภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และ สภาที่ปรึกษาฯ ของ ศอ.บต. เป็นต้น
นางสาวรุ่งรวี ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2553-2557 มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 10 คณะ กรณีที่จดจำกันได้ดีคือ การเสียชีวิตในค่ายทหารของนายสุไลมาน แนแซ (แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จวันที่ 22 มิถุนายน 2553) กรณีการกราดยิงชาวบ้านในรถกระบะที่ ต.ปุโล๊ะปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี   (แต่งตั้ง 4 กุมภาพันธ์ 2555) กรณีสุดท้ายก่อนการรัฐประหาร คือกรณีกราดยิงครอบครัวนายเจ๊ะมุ มะมันที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส (แต่งตั้ง 6 กุมภาพันธ์ 2557)
ไม่เปิดเผยผลรายงาน–เสียโอกาสสร้างบทเรียนป้องกันซ้ำรอย
นางสาวรุ่งรวี กล่าวว่า ข้อสรุปจากการศึกษาเรื่องนี้ คือ กลไกการตรวจสอบข้อเท็จจริงนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งในการทำความจริงให้ปรากฏ ซึ่งหลายๆกรณีเกิดขึ้นได้ยากในกลไกการสืบสวนสอบสวนปกติของตำรวจ แต่วัตถุประสงค์หลักของการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ผ่านมาคือการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเพื่อลดความรู้สึกไม่เป็นธรรม แม้บางคณะจะมีข้อเสนอในเชิงนโยบายด้วย แต่ก็มักจะไม่ได้ถูกผลักดันให้เป็นจริง
“แม้ว่ากลไกนี้ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม แต่สามารถเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการนำไปสู่การดำเนินคดีกับผู้ต้องหา เพื่อเป็นการขจัดวัฒนธรรมผู้กระทำผิดไม่ถูกลงโทษ (Impunity) แต่น่าเสียดายที่ผู้ถูกคณะกรรมการระบุว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำเกินกว่าเหตุหรือกระทำการนอกกฎหมายมักไม่ถูกดำเนินคดีอาญาในศาล
“มีกรณีเดียวที่มีการดำเนินคดีถึงชั้นศาล คือกรณีอาสาสมัครทหารพรานสองนายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกราดยิงครอบครัวมะมัน แต่ศาลชั้นต้นเพิ่งตัดสินยกฟ้องไปเมื่อเดือนมกราคม ที่ผ่านมาบนฐานว่าหลักฐานไม่เพียงพอ”
นอกจากนี้ รายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงส่วนใหญ่ไม่ได้มีการเผยแพร่ต่อสาธารณชน จึงทำให้เสียโอกาสที่จะใช้กรณีเหล่านี้เป็นบทเรียนในการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต
TJ คืออะไร เกี่ยวอะไรกับการค้นหาความจริง
แพทริค แบรอน ผู้อำนวยการภูมิภาค โครงการความขัดแย้งและการพัฒนา มูลนิธิเอเชีย อธิบายเรื่องนี้ในบทความของเขา ซึ่งกล่าวโดยสรุปได้ว่า TJ หรือ Transitional Justice คือชุดของกลไกชั่วคราวที่ช่วยรัฐและสังคมในการจัดการกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายภายหลังความขัดแย้ง ซึ่งแนวทางนี้ถูกนำมาใช้มากขึ้นในฐานะเครื่องมือหนึ่งในการสร้างสันติภาพ เช่น ในข้อตกลงสันติภาพในบังซาโมโร ประเทศฟิลิปปินส์, อาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย และติมอร์ ได้บรรจุเรื่อง TJ ไว้ในข้อตกลงสันติภาพทั้งสิ้น
TJ ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า การขาดความยุติธรรมคือสาเหตุรากเหง้าของความขัดแย้ง และหากจะสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นก็ต้องจัดการกับความอยุติธรรม ดังนั้น TJ จึงมุ่งส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมใน 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.ความยุติธรรมแบบแก้แค้นทดแทน (Retributive Justice) : มุ่งลงโทษผู้กระทำผิดโดยกระบวนการยุติธรรม 2.ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice): มุ่งชดเชยเยียวยาแก่ผู้สูญเสียจากการละเมิด และ 3.ความยุติธรรมเชิงกระบวนวิธี (Procedural Justice): แก้ไขปรับปรุงระบบยุติธรรมและการคุ้มครองความปลอดภัยเพื่อไม่ให้ความอยุติธรรมเกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว TJ จะดำเนินการผ่าน 4 กลไก ได้แก่ 1.การดำเนินคดี (prosecutions) 2.กระบวนการค้นหาความจริง (truth-seeking) 3.การชดเชยเยียวยา และ 4.การปฏิรูปสถาบัน ซึ่งในที่นี้หมายถึงสถาบันด้านความมั่นคงและสถาบันด้านยุติธรรม
จะช่วยสร้างสันติภาพได้อย่างไร?
TJ จะช่วยสร้างสันติภาพได้อย่างไรนั้น แพทริค ระบุว่า ประการแรก คือ ช่วยส่งเสริมสันติภาพโดยการให้การชดเชยแก้ไขความเดือดร้อนคับข้องใจ (grievances) ของคนในพื้นที่ซึ่งสามารถเป็นปัจจัยให้เกิดการต่อต้านรัฐได้
ประการที่สอง มีศักยภาพในการช่วยฟื้นฟูความชอบธรรมของรัฐ (State legitimacy) โดยแสดงให้เห็นว่ารัฐมีพันธะผูกพันที่จะต้องทำให้เกิดการปฏิรูป และประการสุดท้าย อาจเป็นมาตรการสำคัญอย่างหนึ่งในการสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจ (confidence-building) ซึ่งจะช่วยเป็นตัวเชื่อมให้คู่กรณีฝ่ายต่างๆ เดินหน้าเข้าสู่การพูดคุยสันติภาพ
เหมาะสมกับบริบทชายแดนใต้หรือไม่?
แพทริค อธิบายว่า ประสบการณ์จากหลายประเทศแสดงให้เห็นว่า ความยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่านช่วยเปลี่ยนผ่านจากสงครามไปสู่สันติภาพได้จริง ซึ่งจำเป็นต้องมีเงื่อนไขอย่างน้อยที่สุด 3 ประการ แต่ขณะนี้ยังไม่มีเงื่อนไขใดปรากฏในภาคใต้ของไทย
ประการแรก เจตจำนงทางการเมือง (Political will) ประการที่สอง ต้องไม่มีการกระทำผิดต่อเนื่อง ประการที่สาม ข้อตกลงระหว่างชนชั้นนำหรือการตกลงทางการเมือง คือระหว่างรัฐบาลและผู้นำทหารกับผู้ต่อต้านรัฐ
ถ้าอย่างนั้น จะทำอะไรได้บ้าง? แพทริค เสนอว่า สิ่งที่ทำได้ตั้งแต่ตอนนี้คือการเตรียมความพร้อมซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์ในอนาคต ได้แก่
  • 1.เริ่มศึกษาวิจัยเพื่อค้นหาว่า กรอบกฎหมายไทยเปิดโอกาสให้นำเอากระบวนการยุติธรรมเพื่อการเปลี่ยนผ่านมาใช้ได้แค่ไหนและอย่างไร มีข้อกฎหมายใดที่เปิดช่องให้ดำเนินคดีย้อนหลัง หรือภายใต้เงือนไขใดที่การนิรโทษกรรมสามารถกระทำได้
  • 2.เริ่มใคร่ครวญว่า จากประสบการณ์การใช้ความยุติธรรมเพื่อการเปลี่ยนผ่านในต่างประเทศ มีองค์ประกอบใดบ้างที่เหมาะสมกับบริบทของชายแดนใต้
  • 3.ต้องเสริมสร้างศักยภาพของคนในพื้นที่เพื่อให้งานในอนาคตได้ เช่น การแสวงหาข้อเท็จจริงและการสร้างการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งงานด้านนี้มีการดำเนินการอยู่บ้างแล้ว แต่ยังมีอีกมากที่สามารถทำเพิ่มได้
  • 4.การปฏิรูปสถาบันมีความสำคัญ เพราะมักถูกละเลยจนถึงช่วงระยะท้ายๆ ของกระบวนการสันติภาพ แต่การให้ความช่วยเหลือด้านหลักๆ เช่น การดำเนินคดีอาญา การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และการดูแลความสงบในชุมชน สามารถเป็นฐานการปรับโครงสร้างสถาบันของรัฐในอนาคตได้