นักสิทธิเด็ก-แอดมินเพจดังหนุนกฎเหล็กไอจี-โซเชียลฯ ย้ำเจตนาดี พบประถมกว่า 80% แหกกฎเฟซบุ๊ก เสี่ยงภัยอาชญากรอินเทอร์เน็ต จิตแพทย์ชี้เกิดเหตุล่อลวงแล้ว นักกฎหมายจี้รัฐและสถานศึกษาเร่งบรรจุทักษะเท่าทันสื่อเข้าระบบการสอน
ประเด็นร้อนในโลกออนไลน์ขณะนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องบัญชีอินสตาแกรมของน้องสาวบุญธรรมนักแสดงหนุ่มช่องน้อยสี ที่ถูกทางอินสตาแกรมให้เหตุผลการระงับบัญชีผู้ใช้งาน เนื่องจากละเมิดนโยบายห้ามผู้ใช้งานอายุต่ำกว่า 13 ปี เป็นเจ้าของบัญชี และไม่ได้ใช้งานบัญชีเองซึ่งงานนี้เหล่าแฟนคลับถึงกับช่วยกันถล่ม IG ของผู้บริหาร Instagram ว่า Please, Don't delete พร้อมกับแฮชแท็ก ให้กำลังใจจากพี่ชายสุดหล่อ #supportxxxเพื่อให้ยุติการระงับใช้งานบัญชีอินสตาแกรมดังกล่าว
ยังคงกินพื้นที่สื่อจนเป็นกระแสสังคมได้อย่างต่อเนื่อง กรณีน้องสาวบุญธรรมสุดท้องของพระเอกสามพี่น้องช่องน้อยสี ที่อยู่ในความสนใจของสังคมตลอดเวลา ตั้งแต่งรับเข้าอุปการะ โดยจากการใช้งานอินสตาแกรมที่ผ่านมาของครอบครัวดังกล่าว มีการลงรูปครอบครัวและกิจกรรมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มรับเด็กน้อยคนดงกล่าวเข้ามาอุปการะ รวมถึงอัพเดทกิจกรรมและพัฒนาการอันน่ารักน่าชังต่อเนื่องเกือบทุกวัน จนมีแฟนคลับจำนวนถึง 1 ล้าน 1 แสนคนภายในเวลา 2 ปี
ความฮอตฮิตของเด็กน้อยและภาพลักษณ์ที่ดีของครอบครัวสามารถดึงดูดให้เจ้าของผลิตภัณฑ์สินค้าในกลุ่มเป้าหมายครอบครัวใช้บริการครอบครัวคนดังได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการใช้พื้นที่ทางอินสตาแกรมของสมาชิกครอบครัวและเด็กน้อยคนดังในการเป็นอีกช่องทางในการโปรโมตด้วย
ก่อนหน้านี้ หนูน้อยคนดังกล่าว เป็นประเด็นของการวิพากษ์วิจารณ์เมื่อที่นิตยสารแฟชั่นฉบับหนึ่งนำน้องมาขึ้นปก นำเสนอในลักษณะเป็น “คู่จิ้น” และมีภาพประกบปากกับพระเอกสุดฮอตจาก แม้คนไทยจะมองในมุมน่ารัก จนถึงกับตั้งกลุ่มแฟนคลับจับคู่เด็กน้อยวัยไม่เพิ่งครบ 2 ขวบกับนักแสดงชาย อายุ 21 ปี แต่ถ้าหากมองในอีกมุมหนึ่งในต่างประเทศค่อนข้างเคร่งครัดกับการนำเสนอภาพของเด็กในลักษณะดังกล่าว ซึ่งล่อแหลมต่อการถูกมองว่าเป็นการการสนับสนุนทางอ้อมให้เกิดการละเมิดสิทธิเด็ก เมื่อภาพที่ลงไปในนิตยสารสื่อออกมาในเรื่องของการละเมิดสิทธิเด็กแบบที่คนไทยมองข้าม ในกลุ่มแฟนคลับมีการใช้สื่อสังคมออนไลน์นำเสนอกันจับคู่กันอย่างสาธารณะ ในลักษณะที่สื่อสารออกมากลายเป็นเรื่องของการละเมิดสิทธิเด็กอย่างชัดเจนโดยไม่รู้ตัว
และหนึ่งสัปดาห์ก่อนที่ทางอินสตาแกรมจะทำการระงับบัญชีเด็กน้อยคนดัง ผู้ปกครองได้ทำการการลงวิดีโอเด็กในลักษณะห่มผ้าเช็ดตัวทาครีม แม้หลายคนจะมองว่าวิดีโอที่อัพโหลดลงสื่อออกไปเป็นในมุมของความน่ารัก แต่ถ้ามองในเรื่องของสิทธิเด็กถือว่าผู้ปกครองนั้นละเมิดเด็กเองแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เป็นสิ่งที่ทำให้คนไทยต้องกลับมาอ่อนไหวต่อประเด็นดังกล่าวอย่างหนัก เพราะผู้ใช้สื่อนั้นคือผู้ที่มีประชาชนติดตามหลักล้านและเป็นบัญชีสาธารณะ ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ แม้แต่ผู้ที่ไม่ประสงค์ดีต่อตัวเด็ก ในหลายภาคส่วนคงต้องกลับมาคำนึงอย่างหนักโดยเอาความรู้สึกของตัวเด็กเป็นที่ตั้ง ถ้าหากเมื่อถึงช่วงอายุที่ตัวของเด็กนั้นเริ่มมีวุฒิภาวะมากพอ ตัดสินใจอะไรเองได้ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จะรู้สึกอับอายต่อรูปภาพ วิดีโอ ที่ถูกนำเสนอออกไปอย่างสาธารณะนั้นมากน้อยแค่ไหน คงเป็นสิ่งที่กลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว เพราะในช่วงเวลาที่ชีวิตของเด็กได้ถูกนำเสนอเป็นรูปแบบของเรียลลิตี้รายวันนั้น ตัวเด็กเองยังไม่มีสถานะที่สามารถรับรู้ได้ว่าสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำคือการถูกละเมิด เพราะฉะนั้นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะผู้คุ้มกันทักษะเท่าทันสื่อเองก็ต้องเอาเรื่องความความรู้สึกของเด็กเป็นหลักมากกว่า จะทำเพื่อตอบสนองแต่ความต้องการของตัวเอง จนกลายเป็นเรื่องละเมิดสิทธิเด็กแบบไม่ตั้งใจ
นักพิทักษ์เด็กชี้หากเกิดปัญหาในอนาคตลบไม่ได้ ย้ำปิดมีเจตนาดี
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงการใช้อินสตาแกรมของผู้ปกครองว่าเป็นละเมิดเด็กผ่านการใช้สังคมออนไลน์ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก วาสนา เก้านพรัตน์ กล่าวว่า ไม่อยากให้มองเป็นการเจาะจงเป็นเรื่องของเด็กคนดัง แต่ควรจะมองเป็นภาพรวม เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิเด็ก ทำเพื่อการปกป้อง จะพูดถึงเรื่องของเด็กที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นเจ้าของแอคเคาท์เมื่อเด็กมีวุฒิภาวะมากพอ สามารถเลือกในสิ่งที่รับรู้ได้ ซึ่งในปกติถ้าเด็กอายุน้อยเกินไปวุฒิภาวะยังไม่มี และสิ่งที่มีการโพสต์เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ทำ ส่วนเด็กไม่รู้ผลที่ตาม หน่วยงานอาจมองภาพของเด็กไปปรากฏอยู่ตามสื่อ เป็นเรื่องของผลกระทบที่มองได้สองมุม มุมหนึ่งเป็นเรื่องการนำเสนอข้อมูลเคลื่อนไหวรายวันของเด็ก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจะมีความเป็นห่วง เพราะว่าผลกระทบของการที่เด็กมีภาพไปปรากฏในออนไลน์ ในอีกมุมคือคนที่เป็นผู้ใหญ่แล้วรู้เท่าทันสามารถลุกขึ้นมามองในแง่ของการปกป้อง เป็นการดูในเรื่องของละเมิด โดยส่วนตัวอยากให้ดูที่เจตนารม ถ้าเกิดว่าการที่ไปปรากฏภาพแบบนั้น แล้วมีโอกาสที่ได้รับผลกระทบจากการไปโพสต์ว่าอยู่ที่ไหนทำอะไรวันไหนคนที่คิดร้ายอยู่ ก็จะเกิดความเสี่ยง แบบนี้ถือว่ามองต่างมุม แต่ถ้ามองในแง่ของเรื่องสิทธิเด็ก ในเรื่องของสิทธิการตัดสินใจ แบบนั้นก็ต้องไปดูเรื่องของวุฒิภาวะ เป็นเรื่องวุฒิภาวะโดยตรงหรือเป็นการกระทำของผู้ใหญ่ต่อเด็ก ทำเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเราเองหรือทำเพื่อตอบสนองความต้องการของเด็ก
“การที่ผู้ใหญ่โพสต์ภาพเด็กลงไปในออนไลน์การลงรูปแล้วลงเลย ถ้าเกิดเป็นภาพที่ดีแง่บวกก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเกิดจริงๆเด็กเขาไม่รู้เรื่องด้วยไง ถ้าเกิดปัญหามันตามมาในอนาคตเป็นอย่างไร มันไปลบตรงนั้นมันไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นมองในมุมของการที่ไปละเมิดเด็กในสิทธิในเรื่องของไอจี แต่ว่าเอาเข้าจริงๆคนที่เขาคุมระบบแล้วเค้าปิด เขาก็มีเจตนาดี” ผอ.มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก กล่าว
พลเมืองเน็ตฯ ชี้เป็นแค่เรื่องละเมิดนโยบายของผู้ให้บริการ
ขณะที่ อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต ได้แสดงความคิดเห็นต่อกรณีเด็กคนดังถูกปิดอินสตาแกรมว่า อยากให้มองเฉพาะประเด็นในเรื่องการถูกทางอินสตาแกรมปิดบัญชี เนื่องจากละเมิดนโยบายผู้ใช้งานอายุต่ำกว่า 13 ปี เป็นเจ้าของบัญชี และไม่ได้ใช้งานบัญชีเอง เป็นแค่เรื่องของการผิดนโยบายของทางผู้ให้บริการ ไม่อยากให้มองในเรื่องเป็นการละเมิดเด็กของผู้ปกครอง
แอดมินเพจดังหนุนกฎจำกัดอายุเด็กไอจีและสื่อโซเชียลฯ
ด้านเพจแอดมินเพจ ‘
ความรู้สนุกๆแบบหมอแมว’ โพสต์แสดงความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่าเนื่องจากอายุน้อยกว่า 13 ปี เกิดข้อสงสัยว่าทำไม IG เข้มงวด เพราะคนที่โพสต์และดูแลก็คือผู้ปกครอง หลายคนเกิดการโมโหเรียกร้อง Instagram ให้ยกเลิกกฎนี้ ในความเป็นจริงไม่ใช่กฎของ Instagram แต่คือกฎหมาย The Children's Online Privacy Protection Act หรือ COPPA เป็นกฎหมายของสหรัฐที่ใช้ในปี 2000 เพื่อควบคุมอายุของเด็กที่ใช้โซเชียลมีเดียกฎหมายนี้ร่างในปี1998หลังกรณีเด็กวัย12ปีถูกเพื่อนกลั่นแกล้งอย่างรุนแรงผ่านทางโซเชียลมีเดียจนฆ่าตัวตาย
แอดมินเพจ‘ความรู้สนุกๆแบบหมอแมว’กล่าวเสริมด้วยว่า กฎหมายนี้มีการสร้างขึ้นมาบนหลักการที่ว่า
- มีงานวิจัยว่าเด็กที่อายุน้อยกว่า 12 ปี มีความเติบโตทางสมองในแง่การตัดสินใจและรับรู้ที่ยังไม่สมบูรณ์ มีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดต่อสื่อสารที่ผิดพลาดและส่งผลเสียต่อตนเองและผู้อื่นได้
- เด็กอายุ 12 ในเมื่อยังไม่เดียงสาพอ ภาพและข้อมูลที่ออกไปจากตัวเด็กมีโอกาสส่งผลต่อความลับและความเป็นส่วนตัวของเด็กในอนาคต ดังนั้นหากจะเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ต้องมีผู้ดูแล(ผู้ปกครอง) รวมทั้งทางผู้จัดหาบริการsocial media รายนั้นๆ จะต้องจัดการระบบให้คุ้มครองความลับของเด็ก รวมทั้งต้องจัดการให้อยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
“ในปัจจุบัน Social media หลายตัวเช่น Facebook Twitter Instagram ต่างก็มีกฎนี้อยู่ในตอนสมัครและในYoutube ห้ามไปถึง 18 ปี โดยถ้าอายุน้อยกว่า18แต่มากกว่า13ปี สร้างได้หากผู้ปกครองจัดการให้” แอดมินเพจความรู้สนุกๆแบบหมอแมวกล่าว
ตัวอย่างนโยบายข้อกำหนดผู้ใช้งานเจ้าของบัญชี ของเฟซบุ๊ก
ประถมโกงปีเกิดเล่นเฟซบุ๊ก
จากกรณีที่เฟซบุ๊กมีนโยบายจำกัดการใช้งานของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปี ดังกล่าว ซึ่งเกณฑ์อายุการเข้าใช้งาน มาจากทางสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก เนื่องจากปัญหาอาชญากรรมเกี่ยวกับเด็กค่อนข้างบ่อย เช่น เรื่องการละเมิดเด็ก ปัญหาเด็กหายและการขโมยเด็ก เป็นต้น(ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ สมบัติ บุญงามอนงค์ ประธานมูลนิธิกระจกเงา) โดยการใช้งานเฟซบุ๊กเป็นการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้ผู้อื่นเข้าถึงตัวผู้ใช้ได้ง่าย ดังนั้นทางเฟซบุ๊กจึงออกนโยบายเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว (Privacy) โดยไม่มีการเปิดเผยข้อมูลของเด็กที่อายุต่ำกว่า 13 ปี เป็นการป้องกัน ถึงกระนั้นในประเทศไทยเราสามารถพบเห็นการใช้ของเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ได้จำนวนมาก ซึ่งเกณฑ์อายุอยู่ในสภาวะเสี่ยงถูกล่อลวง ล่วงละเมิด หรือการแสวงหาผลประโยชน์จากตัวเด็กได้ในทุกรูปแบบ
เด็กประถมกทม.กว่า80%เล่นเฟซบุ๊ก
การสำรวจของหนังสือพิมพ์ “หอข่าว” ปีที่ 22 ฉบับที่ 1 ประจำวันที่ 27 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2557 ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยสุ่มสอบถาม ระหว่างวันที่ 24 - 27 ธ.ค. 2556 ถึงการใช้งานเฟซบุ๊กของเด็กนักเรียนอายุต่ำกว่า 13 ปี ในระดับประถมศึกษา จำนวน 100 คน โรงเรียนละ 20 คน จาก ทั้งหมด 5 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนแสงอรุณ โรงเรียนวิชูทิศ โรงเรียนราชวินิต โรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ โรงเรียนประชาราษฎร์ บำเพ็ญ ในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครพบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี จำนวน 100 คน มีบัญชีและมีการใช้งานเฟซบุ๊ก จำนวน 86 คน โดยสมัครเองด้วยวิธีโกงปีเกิดจำนวน 78 คน ผู้ปกครองสมัคร ให้จำนวน 5 คน และมีเพียง 3 คนเท่านั้นที่เพื่อนสมัครให้ ใน ด้านการใช้งานส่วนใหญ่เด็กบอกเพื่อติดต่อพูดคุยกับเพื่อน ตาม มาด้วยเล่นเกมส์ และสุดท้ายคือติดตามข่าวในเรื่องที่ตนสนใจ
เด็กนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาจำนวนมากเข้าถึงการใช้งานเฟซบุ๊กผ่านสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต ผู้สื่อข่าวจึงได้ทำการลงพื้นที่สุ่มสอบถามการใช้งานเฟซบุ๊กของเด็กประถมที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปี จำนวน 100 คน พบว่า มีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กจำนวน 86 คน โดยสมัครเองด้วยการโกงปีเกิดจำนวน 78 คน ผู้ปกครองสมัครให้จำนวน 5 คน เพื่อนสมัครให้จำนวน 3 คน การใช้งานเฟซบุ๊กของเด็กโดยส่วนใหญ่เพื่อติดต่อพูดคุยกับเพื่อน เล่นเกมส์ ติดตามข่าวที่สนใจ
ในเฟซบุ๊กมักมีการโพสต์ข้อความคอมเมนต์พูดคุยกันด้วยภาษาที่ไม่เหมาะสม ใช้ถ้อยคำที่รุนแรง หยาบคาย หรือการแชร์รูปภาพและข้อความที่มีลักษณะไปทางลามก อนาจาร ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น รวมไปถึงเพจอันตรายในเฟซบุ๊ก เช่น การพนัน ยาเสพติด ขายอาวุธเถื่อน ลามก เป็นต้น
รายงานของหนังสือพิมพ์ “หอข่าว” ดังกล่าวยังระบุจากการสุ่มสัมภาษณ์ถามเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปี ที่ใช้งานเฟซบุ๊กโดยปัญหาส่วนใหญ่คือ ทราบว่าเฟซบุ๊กมีเพจที่ไม่เหมาะสมอะไรบ้าง แต่ไม่เห็นถึงความเสียหายหรือภัยอาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้นกับตนแฝงมากับการใช้งานเฟซบุ๊ก ที่สำคัญคือเด็กเหล่านั้นไม่ทราบเรื่องกฎหมายการกระทำความผิดเกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ตที่เป็นส่วนสำคัญมากในการใช้งานโซเชียลมีเดียหรือการท่องโลกออนไลน์
รวมทั้งจากการสัมภาษณ์ของอาจารย์ประจำวิชาสารสนเทศและผู้อำนวยการโรงเรียนพร้อมพรรณพิทยานั้นได้กล่าวไปในทำนองเดียวกันว่า การห้ามไม่ให้เด็กใช้งานนั้นเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ แต่ทางกระทรวงศึกษาธิการควรเร่งบรรจุทักษะเท่าทันสื่อเข้าระบบการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กรู้จักใช้สื่อและเท่าทันสื่อ เช่นเดียวกันกับประธานเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า การกรอกแค่ วัน เดือน ปีเกิด ในการสมัครเข้ารับบริการเฟซบุ๊กนั้นเป็นมาตรการที่ไม่สามารถดูแลหรือป้องกันได้ เพราะว่าใครจะโกงอายุก็ได้การป้องกันที่ดีคือการสร้างภูมิคุ้มกันด้านการรับสื่อให้กับเด็ก ผู้สื่อข่าวได้พูดคุยกับจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลรามคำแหงและทราบข้อมูลกรณีตัวอย่างของคนไข้ที่มาปรึกษากับจิตแพทย์นั้นเป็นเด็กอายุ 11 ขวบ ที่ถูกล่อลวงทางเฟซบุ๊ก ในด้านกฎหมายที่ควบคุมอาชญากรรมในอินเทอร์เน็ตที่อาจเกิดขึ้นผ่านเฟซบุ๊กนั้น อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ชี้แจงในเรื่องนี้ว่า ช่องโหว่ทางกฎหมายเยอะมากและไม่ครอบคลุม ทางที่ดีที่สุดที่จะยับยั้งการเกิดปัญหาคือ พ่อแม่ สถานศึกษา และภาครัฐต้องร่วมกันให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชน
จิตแพทย์เตือนเด็กอาจถูกล่อลวงทางเพศ
พญ.เมทินี ทับทิมไทย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลรามคำแหง เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์หอข่าวฉบับดังกล่าวว่า มีข้อมูลตัวอย่างผู้ป่วยอายุ 11 ปี ถูกล่อลวงให้ถ่ายภาพลามกลงเฟซบุ๊ก โดยบุคคลที่เข้าหาผู้ป่วย ผ่านเฟซบุ๊กนั้นมีพฤติกรรมอันตราย เช่น การเชิญชวนให้นัดเจอ กับคนแปลกหน้าโดยที่ไม่รู้จักกันมาก่อน การล่อลวงให้ผู้ป่วย มีเพศสัมพันธ์แบบผ่านการสนทนาทางข้อความส่วนตัวในเฟซบุ๊กลามไปถึงรูปแบบเซ็กส์โฟน ผู้ป่วยโต้ตอบคู่สนทนาโดยไม่รู้ว่า ตนกำลังถูกหลอก ส่วนในเรื่องของภาษาถ้อยคำที่ใช้สนทนา ระหว่างเพื่อนในเฟซบุ๊กจะเกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศทั้งหมด ผู้ป่วยเปิดใช้บัญชีเฟซบุ๊ก 6 บัญชี และมีผู้อื่นมาติดตามเป็น จำนวนมาก ชื่อที่ใช้ทั้งหมดเป็นไปทางด้านไสยศาสตร์และเซ็กส์
พญ.เมทินีกล่าวต่ออีกว่า สภาวะเด็กอายุ 9 ขวบขึ้นไป เป็นสภาวะเริ่มต้นเข้าสู่วัยรุ่น ถ้าหากผู้ปกครองไม่สามารถสร้าง ความสัมพันธ์แบบใกล้ชิดสนิทสนมได้ เด็กจะมีพฤติกรรมไม่ไว้ใจ พ่อแม่ การเลี้ยงลูกเป็นสิ่งที่ทิ้งไม่ได้ผู้ปกครองหรือพ่อแม่ต้อง คอยเฝ้าระวัง สอดส่อง ดูแลบุตรหลานเรื่องการใช้งานเฟซบุ๊ก อย่างใกล้ชิดเสมือนเป็นเพื่อน การห้ามไม่ให้ใช้งานเฟซบุ๊กเป็น เรื่องที่ไม่สามารถทำได้ เฟซบุ๊กยังมีด้านที่เป็นประโยชน์อยู่ เช่น การสอนหนังสือ ติวข้อสอบ เป็นต้น
แนะครู-ผู้ปกครอง ติดปีกความรู้สื่อออนไลน์
ขณะที่ จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้แจงเรื่องการ บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับอาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้นในเฟซบุ๊กว่า ด้านกฎหมายยังไม่มีกฎหมายที่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการ ป้องกันเหตุตรงนี้ ทำได้ดีที่สุดคือการให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชน การป้องกันในปัจจุบันยังเป็นเรื่องยาก การใช้กฎหมายจะเป็น ในลักษณะของการเกิดคดีขึ้นมาก่อนตำรวจรู้ถึงค่อยดำเนินการ คดีเหล่านี้ไม่ ค่อยถูกเผยแพร่ไม่ ปรากฏอยู่บนหน้าหนังสือเพราะ สื่อให้ความสนใจน้อย คดีล่อลวงเด็กในเฟซบุ๊กไม่ใช่ปัญหาใหม่ ในอดีตเคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงของเอ็มเอสเอ็นและไอซีคิว เพียงแต่ในปัจจุบันถูกพัฒนารูปแบบมาเรื่อยๆ
ทั้งนี้ จอมพล ฝากไปยังผู้ ปกครอง คุณครู และภาครั ฐเกี่ยวกับเฟซบุ๊กว่า ผู้ปกครองต้องติดความรู้ให้ตนเองก่อน และ ทางภาครัฐ สถานศึกษา ต้องช่วยกันเผยแพร่ความรู้ว่าเฟซบุ๊ก คืออะไร ทำงานอย่างไร ครูและผู้ปกครองต้องช่วยกันเฝ้าสังเกต พฤติกรรมและปลูกฝังเด็กให้รู้จักระวังตัวอยู่ตลอดกับการใช้ คอมพิวเตอร์ เฟซบุ๊ก อินเทอร์เน็ต ในตอนนี้ยังอยู่ในยุคเฟซบุ๊กและ ยังไม่รู้ว่ายุคถัดไปจะเป็นอย่างไร สุดท้ายแล้วต้องกลับมาสู่จุดเดิม คือการให้ความรู้เป็นเรื่องสำคัญหรือการบังคับใช้กฎหมาย เด็ก ต้องรู้ว่าการใช้งานโซเชียลมีเดียมีความเสี่ยง ความเสี่ยงบาง อย่างอาจถึงแก่ชีวิตได้และการให้ความรู้ถึงจุดๆหนึ่งก็ต้องปล่อย ให้เขาตัดสินใจเองเพราะอย่างน้อยเขารู้แล้วว่าตรงนี้มีความเสี่ยง
ส่วนเรื่องวิธีการป้องกันไม่ให้บุคคลอื่นนำข้อมูลส่วนบุคคล ในเฟซบุ๊กไปใช้ในทางที่ไม่ดีนายจอมพลแนะนำว่า อันดับแรกเฟซบุ๊ก สามารถตั้งค่าความปลอดภัย (Security) ให้สูง โดยมองเห็นได้ เฉพาะเพื่อนและต้องเป็นเพื่อนที่เราเคยเห็นหน้า รู้จัก มีตัวตน การรับแอดเพื่อนที่ไม่รู้จักย่อมทำได้แต่ต้องระมัดระวัง อันดับที่ สองอย่าโพสต์รายละเอียดส่วนบุคคลของตนเองมาก เช่น ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ การเช็คอินตามสถานที่ทั่วไป เป็นการเปิดโอกาส ให้ผู้ที่ไม่ประสงค์ดีรู้ว่าเราทำอะไร อยู่ที่ไหน จึงอาจเกิดอันตราย ต่อตนได้ อันดับที่สามรูปที่โพสต์ควรตั้งค่าพิกเซล (Pixel) ให้ต่ำลงเพื่อลดความคมชัดของภาพ ป้องกันผู้ที่ไม่ประสงค์ดีนำรูปไป ใช้ในทางที่เสียหาย
จอมพล กล่าวเสริมอีกว่า หากผู้กระทำความผิดคือเด็กและเยาวชนที่ยังไม่มีความรู้มากเท่า ที่ควร รัฐบาล สถาบันการศึกษาและผู้ปกครอง ต้องร่วมกันให้ ความรู้อย่างน้อยที่สุดต้องให้เด็กรู้ว่าการใช้สื่อแชร์รูป ข้อความ วีดีโอ ถ้าเกิดผลเสียขึ้นมาจะเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท มีโทษจำคุกและโทษปรับถือเป็นความผิดทางกฎหมายอาญา
“ภาระที่จะทำให้เด็กและเยาวชนใช้อินเทอร์เน็ตได้อย่าง ถูกต้องเหมาะสมอยู่ที่ผู้ปกครอง สถาบันการศึกษา ส่วนภาค รัฐทำหน้าที่เป็นได้แค่ผู้เสริม เพราะปัจจุบันทำหน้าที่ไล่บล็อค เพจและเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมอย่างเดียว ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าไม่มี ประสิทธิภาพเท่าไหร่” จอมพลกล่าว
เตือนภัยโลกออนไลน์ ภัยแฝงคุกคามเด็ก
เด็กเล็กจำนวนมากกระโดดเข้าสู่โลกออนไลน์และ ใช้งานสื่อดิจิทัลโดยไม่ทราบถึงภัยอันตรายต่างๆที่แฝงมา ดังนั้นเรื่องเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญหลักๆที่เด็กควรเรียนรู้
1.การเผยแพร่ประวัติส่วนตัว การที่เด็กๆโพสต์ทุกอย่าง ทั้งที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ข้อมูลส่วนตัวอย่างละเอียดเป็นการเปิด โอกาสให้ผู้ไม่ประสงค์ดีนำข้อมูลไปใช้ได้
2.ไวรัสทางคอมพิวเตอร์ ถูกแฝงมาในรูปแบบลิงก์ เมื่อคลิกเข้าไป ไวรัสจะเริ่มทำงานและฝังตัวอยู่ในระบบ คอมพิวเตอร์
3.การเลือกรับ-กลั่นกรอง-ตีความ ข้อมูลของสื่อในโลก ออนไลน์ที่มีเพจและเว็บไซต์ไม่เหมาะสมอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น เว็บไซต์ลามก การพนัน สิ่งเสพติด แบบไร้การเซ็นเซอร์ หรือจำกัดอายุเข้าใช้งาน ทำให้เด็กเข้าถึงสื่อที่ไม่ดีได้ง่ายและ อาจเกิดปัญหากับเด็กในภายหลัง
4.การตกเป็นเหยื่ออาชญากรในอินเทอร์เน็ต เช่น ด้านพาณิชย์ (ถูกหลอกให้ซื้อสินค้าและบริการที่หลอกลวงผู้ บริโภค) ด้านเพศ (การถูกล่อลวงไปทำอนาจาร ล่วงละเมิด ทางเพศ ลักพาตัว ฯลฯ) เป็นต้น
5.การรับบุคคลในโลกออนไลน์เป็นเพื่อน เด็กไม่ควร รับทุกคนโดยเฉพาะคนที่ไม่รู้จักในโลกแห่งความเป็นจริงเพราะผู้ไม่หวังดีมักจะสร้างบัญชีผู้ใช้ปลอมขึ้นมาและแฝงตัว เข้ามาเป็นเพื่อนเพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัวเราไปใช้ในทาง ที่ไม่ดีได้
6.การทำผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิด เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ การที่เด็กแชร์ข้อมูล โพสต์ข้อความ รูปภาพ วิดีโอ แม้จะไม่รู้ โดยเป็นข้อมูลที่สร้างความเสียหาย ต่อบุคคลอื่น ความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศที่ ทำให้ประชาชนตื่นตระหนก ข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยว กับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับ การก่อการร้าย ข้อมูลลามก อนาจาร หรือข้อมูลที่ทราบ อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยบุคคลใดกระทำความผิดที่ระบุ ไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่ เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้อาจยังมีภัยร้ายอื่นอีกมากมาย ในเมื่อการ ป้องกันไม่สามารถทำได้ครอบคลุม ผู้ปกครอง ครู คน ใกล้ชิด จึงต้องคอยดูแลให้ข้อมูล ความรู้ แนะนำวิธีการ ใช้งานที่ถูกต้องเหมาะสมกับวัยเพื่อเป็นเกราะป้องกันให้กับ ตัวเด็กเอง
|
หมายเหตุ:
เนื้อหาในส่วนประเด็น ‘ประถมโกงปีเกิดเล่นเฟซบุ๊ก’ เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ “หอข่าว” ที่ผู้สื่อข่าวจัดทำโดยในฐานะนักศึกษาสาขาวิชาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยปีที่ 22 ฉบับที่ 1 ประจำวันที่ 27 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2557