ประชาไทสำรวจหน้าตาการเมืองไทยหลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ เผยโฉมไปเมื่อ 29 มีนาคมที่ผ่านมา อนาคตประชาธิปไตย อนาคตประเทศไทยจะเดินไปทางไหน แลกเปลี่ยนพูดคุยผ่านมุมมองและประสบการณ์นักวิชาการหลายคน
รศ.สุขุม นวลสกุล นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ คือผู้ผ่านประสบการณ์การเมืองยุครัฐธรรมนูญ 2521 รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งในฐานะที่มีความละม้ายคล้ายคลึงกับร่าง’มีชัย มากที่สุด เพราะส.ว.มีบทบาทอย่างสูง เขาบอกเล่าบรรยากาศการเมืองในช่วงนั้น
บทเฉพาะกาล รธน.2521 ใช้ ส.ว. ค้ำอำนาจนายกฯ คนนอก
สุขุม อธิบายว่า หลังจากมีรัฐธรรมนูญปี 2521 และมีการจัดเลือกตั้งปี 2522 ในเวลานั้นมีบทเฉพาะกาล 4 ปีเช่นเดียวกับตอนนี้ โดยบทเฉพาะกาลกำหนดให้ข้าราชการมีอำนาจทางการเมืองหลายอย่าง เช่น สามารถเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหาร ซึ่งส่งผลให้พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ สามารถขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้
“พอเลือกตั้งกันเสร็จเรียบร้อย วุฒิสภาซึ่งมีอำนาจร่วมตั้งนายกฯ ด้วย ผลก็เลยออกมาเป็นเกรียงศักดิ์”
สภาพตอนนั้นต้องยอมรับว่าพรรคการเมืองเป็นพรรคขนาดกลางเป็นหลัก ยังไม่มีพรรคประชาธิปัตย์ที่ครองภาคใต้หรือพรรคเพื่อไทยครองภาคอีสาน พรรคที่ได้จำนวน ส.ส. สูงๆ อยู่ที่ประมาณ 70-40 ที่นั่ง การจัดตั้งรัฐบาลจึงเป็นรัฐบาลผสมอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่เนื่องจากพลเอกเกรียงศักดิ์มีวุฒิสภาเป็นกำลังหลัก พลเอกเกรียงศักดิ์จึงเป็นรัฐบาลที่มีเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร โดยพรรคขนาดกลางอย่างกิจสังคม ชาติไทย ประชาธิปัตย์ ประชากรไทย จับมือกันไม่เอารัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร
“เกรียงศักดิ์จึงจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย แต่ไม่ต้องห่วงเพราะรัฐธรรมนูญมีบทเฉพาะกาลอยู่ว่า กฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน ความมั่นคง กฎหมายเร่งด่วน ให้ ส.ว. โหวตด้วย ซึ่งก็อาศัยตรงนี้ผ่านไปได้ กระทั่งผ่านไปเกือบปี บริหารประเทศไม่เป็นที่ถูกใจของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจ ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เกรียงศักดิ์ต้องลาออกคือการขึ้นราคาน้ำมัน”
“พอสี่พรรคนี้ขออภิปราย เกรียงศักดิ์ก็รู้ตัว เพราะเขามาด้วย ส.ว. ก่อนหน้าจะถึงวันอภิปราย เขาก็เรียก ส.ว. มาประชุม ส.ว. 200 กว่าคนมาประชุมไม่ถึง 20 คน เพราะสมัยก่อน ส.ว. ก็คือพวกข้าราชการ แม่ทัพ แนวคิดเดียวกันคือให้มาอยู่ตรงนี้จะได้ไม่ปฏิวัติ เกรียงศักดิ์ก็รู้ชะตา วันที่ต้องถูกอภิปราย ฝ่ายค้านไม่ได้อภิปราย เพราะเขาแถลงลาออก ก็มาเลือกนายกฯ ใหม่ พลเอกเปรมก็ขึ้นมา”
ระบบเลือกตั้งเอื้อพรรคขนาดกลาง ทำการเมืองป่วน
ยุคตั้งแต่พลเอกเกรียงศักดิ์จนถึงยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จึงถูกเรียกว่า ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ที่นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งต้องแบ่งอำนาจให้กับทหารและข้าราชการที่เข้ามามีอำนาจทางการเมืองผ่านวุฒิสภา บวกกับที่ระบบเลือกตั้งเอื้อให้มีแต่พรรคการเมืองขนาดกลางก็ทำให้ต้องหา ‘คนนอก’ อย่างพลเอกเปรมขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี
“เมื่อก่อนนี้ก็ต้องพูดกันตรงๆ ว่านักการเมืองไม่ได้สนใจเรื่องนโยบาย สนใจแต่การเข้าสู่ตำแหน่ง เวลาหาเสียงไม่ได้ขายนโยบายเป็นหลัก ก็มีแต่พรรคกิจสังคมนี่แหละที่พยายามเสนอนโยบาย ขณะที่พรรคขนาดกลางทุกพรรคก็หวังจะเป็นนายกฯ เมื่อมารวมกัน เขาต้องตีกันไม่ให้หัวหน้าพรรคใดพรรคหนึ่งขึ้นมาเป็นนายกฯ ไม่อย่างนั้นจะทำให้พรรคนั้นเด่นกว่าพรรคตัวเอง จึงทำให้ต้องหาคนกลาง
“ตัวอย่างที่เด่นชัดคือการเลือกตั้งปี 2526 เป็นการเลือกตั้งที่อยู่ภายใต้บทเฉพาะกาล แต่ว่าอีก 3 วันจะหลุด ตอนนั้นฝ่ายทหาร คือพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก บีบให้เลือกตั้งก่อนหมดบทเฉพาะกาล เพราะเขาขอแก้รัฐธรรมนูญให้บทเฉพาะกาลมันยืด แต่ทำไม่สำเร็จ เขาก็บีบจนเลือกตั้งก่อนหมดบทเฉพาะกาล 3 วัน ผลออกมาไม่เป็นอย่างที่เขาคิด พรรคการเมืองสี่พรรคขนาดกลางได้ แต่ไม่มีพรรคไหนได้เสียงข้างมาก หัวหน้า 2 พรรคก็แย่งกัน คือพรรคชาติไทยกับพรรคกิจสังคม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กับประมาณ อดิเรกสาร 3 วันก่อนหมดบทเฉพาะกาล ส.ส. 60 คนไม่ได้สังกัดพรรค เพราะสมัยนั้นไม่ได้สังกัดพรรคก็ลงได้ แต่พอบทเฉพาะกาลยกเลิก ส.ส. ทุกคนต้องสังกัดพรรค ก็วิ่งหาพรรคกัน ย้ายพรรคกัน ปรากฏว่าผลเปลี่ยน”
“ผลเลือกตั้งครั้งแรก กิจสังคมมาที่หนึ่ง ชาติไทยแพ้สี่ห้าเสียง แต่พอ ส.ส. วิ่งกันไปมา ชาติไทยมาที่ 1 ร้อยกว่า พอดีเปรมพูดว่าไม่เอาแล้ว คุณประมาณกับคุณคึกฤทธิ์ก็สู้กันเต็มที่ ปรากฏว่าประมาณรวบรวมคะแนนได้มากกว่า ดึงประชากรไทยกับชาติประชาธิปไตย โหวตประธานสภาได้อุทัย พิมพ์ใจชน คึกฤทธิ์เห็นท่าไม่ดี ชนะกันอยู่ไม่กี่เสียง ไม่ต้องทำอะไรกันแล้ว ต้องนั่งคุมเสียงกัน เขาจึงเชียร์เปรม เชิญคุณเปรม”
“คุณเปรมบอกว่ามีข้อแม้หน่อยเดียวว่า อาจารย์ต้องเชิญผมต่อสาธารณะ แกก็พาดหัวสยามรัฐเลย ‘หม่อมป้าถามหาคุณเปรมอยู่ไหน’ ต่อมา กิจสังคมก็ต่อสายถึงประชากรไทย อยู่ฝั่งไหนก็ได้เป็นรัฐบาลเหมือนกัน แต่ถ้าอยู่กับฝั่งนี้อยู่นานนะ ทางนั้นอยู่ไม่นาน ถ้าทหารเขาไม่เอาด้วย ประชากรไทยก็มาเลย แต่คุณสมัครก็โทรไปบอกคุณประมาณเองว่าผมต้องไปเชียร์ทางนั้นแล้วนะ ถ้าคุณประมาณอยากเป็นรัฐบาลต้องไปเชียร์ทางนั้น”
ส.ว.แต่งตั้งคุมการเมืองยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ
สุขุม กล่าวว่า ในยุคนั้น ข้าราชการสามารถเป็น ส.ว. ได้ มาจากการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีคนเดียว พลเอกเกรียงศักดิ์เป็นคนตั้ง ส.ว. ชุดแรก อำนาจของ ส.ว. ตอนนั้นมีอยู่ 2 ช่วง ช่วงแรกมีอำนาจเท่ากับ ส.ส. คือร่วมโหวตในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี รวมทั้งโหวตกฎหมายสำคัญๆ และการแก้รัฐธรรมนูญ กล่าวได้ว่าเป็นดุลพินิจของรัฐบาลที่จะให้ ส.ว. ร่วมโหวตในเกือบทุกเรื่อง ส่วนช่วงที่ 2 ส.ว. เหลือเฉพาะหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายเท่านั้น แต่ ส.ว. ก็ยังมีบทบาทสูงในทางการเมือง
“ก็ตัวประธานรัฐสภามาจาก ส.ว. สมัยก่อนการเลือกนายกฯ ไม่ได้ระบุว่าต้องทำในที่ประชุมสภา อย่างตอนปี 2526 ที่คุณอุทัยได้เป็นประธานสภาผู้แทน คุณจารุบุตร เรืองสุวรรณ เป็นประธานวุฒิสภาและก็เป็นประธานรัฐสภาด้วย คุณอุทัยออกมาบอกว่าเดี๋ยวเราจะประชุมเลือกนายกฯ กันแล้วเอาชื่อไปให้ประธานรัฐสภาเพราะต้องเป็นคนรับสนองพระบรมราชโองการ คุณจารุบุตรบอก เปล่า ผมไม่มีสิทธิ์เรียกประชุม ส.ส. ผมเป็นคนหานายกฯ เพราะฉะนั้นขอให้หัวหน้าพรรคมาเสนอชื่อกับผมว่าจะให้ใครเป็นนายกฯ ผมจะดูคะแนนตามที่พรรคต่างๆ เสนอ คือเขาไม่ให้ประชุมสภาผู้แทนเพื่อเลือกนายกฯ”
“เรื่องวิ่งเต้นเป็น ส.ว. ไม่ต้องห่วงเลย ทุกยุคทุกสมัย ยุคผม ผมไม่ทราบหรอกครับว่าเขาวิ่งเต้นกันยังไง แต่ว่าก็เคยทราบมา เช่น อาจารย์บางคนในมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้เป็นอธิการบดีก็ได้เป็น ส.ว. มีคนพูดว่า อาจารย์ไม่รู้เหรอว่าเขาทำยังไงถึงได้เป็น เขาไปกราบเมียของของนายพลคนหนึ่ง ปวารณาตัวรับใช้ ซึ่งบางทีเราก็นึกไม่ถึงว่าคนเราจะขายศักดิ์ศรีได้ถึงขนาดนั้น”
พรรค ส.ว. พรรคใหญ่สุดหลังรัฐธรรมนูญ 2559
รศ.สุขุม วิเคราะห์ว่า ตอนนี้ สิ่งที่ผู้ถืออำนาจพยายามทำคือไม่ให้พรรคเพื่อไทยมีโอกาสเป็นรัฐบาล ซึ่งด้วยระบบเลือกตั้งที่วางเอาไว้ไม่สนับสนุนให้มีพรรคขนาดใหญ่ พรรคที่จะมีที่นั่งมากสุดก็ไม่น่าเกินร้อยหกสิบ ร้อยเจ็ดสิบ แต่การจะเป็นรัฐบาลพรรคเดียวต้องมีที่นั่ง 260 ขึ้นไป
“ผมไม่แน่ใจว่าพรรคการเมืองขนาดกลางจะมีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้นหรือเปล่า แต่ผมว่าจะทำอะไรไม่ค่อยได้ ถ้ารัฐธรรมนูญผ่าน แล้วมีการเลือกตั้ง มันจะได้รัฐบาลที่ว่านอนสอนง่าย รัฐบาลที่จะถูกควบคุมโดย ส.ว. ถ้า ส.ว. มองดูว่าไม่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่เขาร่างไว้และกำหนดให้รัฐบาลต้องรายงานทุก 3 เดือน ถ้าไม่ทำก็ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ จบ รอบนี้ ดูแล้วเขาจะใช้ ส.ว. นี่แหละ ไม่ให้นายกฯ ไม่ให้รัฐมนตรีกระดิกได้ ในยุคชาติชายไม่มีกฎบังคับว่ารัฐบาลต้องทำอะไรบ้าง แต่รอบนี้มียุทธศาสตร์บอกว่าต้องทำอะไรๆ บ้าง คือถ้า คสช. ตั้งนายกฯ เองอาจจะถูกต่อต้าน จึงมาใช้วิธีคุมด้วยกฎ แล้วเอาองค์กรมากำกับ ก็ต้องคอยดูกันว่าอีกฝั่งเขาจะดิ้นยังไง ถ้าเขาได้ขึ้นมา”
“การเมืองไทยหลังรัฐธรรมนูญ 2559 พรรค ส.ว. น่าจะเป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุด เพียงแต่ว่าเขาใช้ในทางนิติบัญญัติและควบคุม ไม่ได้ใช้อำนาจบริหาร”
“วันก่อนมีคนให้ผมไปทอล์คโชว์เรื่องประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า ผมบอกว่าถ้าผมปิดตาทุกคน แล้วเดินจูงไป ท่านทั้งหลายก็จะรู้สึกว่าก้าวไปข้างหน้า แต่ทันทีที่ผมเปิดผ้าปิดตาออก พวกท่านก็จะหันมาต่อว่าผม ทำไมพามาเจอของเก่าแบบนี้ เพราะมันไม่ได้ก้าวไปข้างหน้า แต่เดินเป็นวงกลม”
หน้าตาการเมืองไทยมีโอกาสย้อนหลังกลับสู่ปี 2521 ถึงแม้อำนาจหน้าที่ของ ส.ว. ในร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กับในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบจะมีความแตกต่างกันในรายละเอียด แต่หลักการแย่งยื้ออำนาจจากนักการเมืองและการควบคุมการเมืองไม่ได้แตกต่างกัน ทว่า สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนคือบริบทแวดล้อมต่างจากเมื่อ 40 ปีก่อนมาก คำถามคือระบบการเมืองที่ถอยหลังไป 4 ทศวรรษจะตอบโจทย์ประชาชนได้อย่างไร และหากตอบไม่ได้ มันจะนำไปสู่อะไร