วันพุธที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2557

เดือนตุลา กับวัฒนธรรมการเมืองไทย และคำถามว่าทำไมเราจำ ‘ตุลา’ ไม่เหมือนกัน

Tue, 2014-10-28 20:53

ถอดบทเรียนจากวงเสวนาฯ เรื่องราวความทรงจำร่วมสมัยในเดือนตุลา การทำงานของเรื่องเล่าขนาดใหญ่ ที่ทุกฝ่ายต่างเข้าครอบครอง การถอดรื้อความศักดิ์สิทธิ์ในเดือนตุลา และตุลาที่ถูกลืม
27 ต.ค. 57 กลุ่มนักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดกิจกรรมเสวนาวิชาการในหัวข้อ “เดือนตุลา กับวัฒนธรรมการเมืองไทย” ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยมีวิทยากรคือ อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และภาคิไนย์ ชมสินทรัพย์มั่น นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้า ดำเนินรายการโดย กวินวุฒิ เล็กศรีสกุล ซึ่งงานเสวนานี้เป็นการเสวนาภายใต้การเฝ้าดูของเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล โดยทางเจ้าหน้าฯ ได้ประสานกับทางผู้จัดกิจกรรมเพื่อเข้ามาบันทึกวีดีโอตลอดการเสวนา ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ฯเข้าร่วมฟังเสวนาเข้ามาด้วยท่าทีที่เป็นมิตร และไม่ได้แสดงออกซึ่งการกระทำอันการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการในทางตรงแต่อย่างใด
‘ประชาไท’ ถอดความมานำเสนอ
“มันไม่มีหรอกคำว่า “วัฒนธรรม” ตัวใหญ่ๆ หรือ “วัฒนธรรมทางการเมือง” จะมีก็แต่สภาวการณ์ที่ซึ่ง ความปรารถนาผลประโยชน์ หรือระบบคุณค่า ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มันได้รับการสถาปนาขึ้นมาให้เป็นระเบียบหลัก ให้คนในสังคมยอมรับและปฏิบัติตาม” อุณโณ อุณโณ
เดือนตุลา ในฐานะเรื่องเล่าที่ถูกลดทอน
อนุสรณ์ เริ่มต้นด้วยการเล่าถึงเรื่องที่คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีนโยบายให้งดจัดกิจกรรมเสวนาวิชาการในวันที่ 6 ต.ค. 2557 ซึ่งแต่เดิมมีการจัดขึ้นทุกปี ทว่าในปีนี้ได้มีคำสั่งให้ลดทอนกิจกรรมลงให้เหลือเพียงกิจกรรมทางศาสนาในช่วงเช้าของวันที่ 6 ตุลาคม เท่านั้น อย่างไรก็ดีได้มีผู้บริหารท่านหนึ่ง เสนอในที่ประชุมคณะผู้บริหารว่า ให้มีการจัดงาน 14 ตุลา และ 6 ตุลา รวมกันไปในครั้งเดียว โดยอนุสรณ์มองว่าวิธีคิดลักษณะนี้เป็นการกดทับความซับซ้อนของปัญหา และลดทอนให้กิจกรรมเป็นเพียงประเพณีเท่านั้น พร้อมชี้ให้เห็นข้อแตกต่างระหว่าง 14 ตุลาคม 16 กับ 6 ตุลาคม 19 ว่าทั้งสองเหตุการณ์นี้มีแกนหลักของเรื่องที่ต่างกันคือ ประวัติศาสตร์ 14 ตุลา เป็นเรื่องราวชัยชนะของนักศึกษาเหนืออำนาจเผด็จการทหาร ขณะที่ 6 ตุลา กลับเป็นชัยชนะของขบวนการฝ่ายขวา และนักศึกษาเป็นผู้แพ้พ่าย
อนุสรณ์กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนักที่ สังคมไทยจะจดจำและให้ความสำคัญกับ 14 ตุลา 16 มากกว่า 6 ตุลา 19 และมากไปกว่านั้นก่อนหน้านี้ 6 ตุลา 19 มีปัญหาเรื่องที่ทางในทางประวัติศาสตร์มาโดยตลอด อย่างไรก็ตามหากมองกลับมาที่การผลิตซ้ำความทรงจำของเหตุการณ์ 14 ตุลา ก็จะพบว่ามีปัญหาในตัวมันเองอยู่ ประการแรกคือเราจะมองไม่เห็นอุดมการณ์แบบอื่นนอกจากประชาธิปไตย ในขบวนการนักศึกษาครั้งนั้น ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วในขบวนการนักศึกษาไม่ได้มีความคิดเห็นหรือมีอุดมการณ์ไปในทางเดียวกัน แต่ว่ามีอุดมการณ์ทุกรูปแบบอยู่ในนั้น ซึ่งนี่เป็นการลดทอนความซับซ้อนของปัญหาให้เหลือเพียงปรากฏการณ์ที่เข้าใจได้ง่ายๆ ประการที่สองคือ เราแทบจะมองไม่เห็นการตื่นตัวทางการเมืองของคนในต่างจังหวัด เราเห็นแค่เพียงเรื่องราวของนักศึกษาในเมืองเท่านั้น ซึ่งนี้ก็เป็นการมองที่เป็นปัญหา เพราะเอาเข้าจริงแล้วความตื่นตัวทางการเมืองไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่กรุงเทพฯเท่านั้น และหากเราไม่เข้าใจเรื่องพวกนี้ก็ไม่สามารถเชื่อมโยง หรือมองเห็นความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัดในช่วง 14 ตุลา 16 ได้
วัฒนธรรมทางการเมือง กับเดือนตุลา ในแว่นตานักมานุษยฯ
อนุสรณ์ชวนให้คิดว่า เวลาเราพูดถึงวัฒนธรรม เราจะรู้สึกว่ามันมีความหมายที่กว้างมาก หรือมันเป็นคำที่ใหญ่เกินไป แต่ในทางมานุษยวิทยา เวลาพูดถึงวัฒนธรรมจะมีมุมมองที่เล็กกว่านั้น คือจะเป็นการมองไปที่เรื่องราวของคนเล็กคนน้อยว่า เขามีวัฒนธรรมอย่างไร มีชีวิตมีการต่อสู้ดิ้นรนอย่างไร มีการรับวัฒนธรรมและสร้างวัฒนธรรมอย่างไร ในวัฒนธรรมหนึ่งๆ จึงมีการต่อสู้และช่วงชิงกันตลอดเวลา เพื่อสนองผลประโยชน์ และทำให้คุณค่าที่ตนเชื่อนั้นได้รับการเชิดชู  ฉะนั้นเราจึงเห็นความซับซ้อนของคำว่า “วัฒนธรรม” และมองมันได้หลากหลายแบบ หากมองในทางมานุษยวิทยาจึงไม่มีคำว่า “วัฒนธรรม” ตัวใหญ่ๆ หรือ “วัฒนธรรมทางการเมือง” จะมีก็เพียงแค่ สภาวการณ์ที่ซึ่งความปรารถนาผลประโยชน์  คุณค่า ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มันได้รับการสถาปนาขึ้นมาให้เป็นระเบียบหลัก ให้คนในสังคมยอมรับและปฏิบัติตาม
ด้วยเหตุนี้ อนุสรณ์ชี้ให้เห็นว่าเวลาจะพูดถึงเหตุการณ์เดือนตุลา กับวัฒนธรรมการเมืองไทย สิ่งที่เราควรจะพูดถึงและทำความเข้าใจก็คือ เหตุการณ์เดือนตุลาถูกหยิบใช้ หรือสถาปนา เพื่อตอบโจทย์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งขึ้นมาอย่างไร และการสถาปนาระบบคุณค่า และผลประโยชน์ของคนกลุ่มนั้นได้ปิดกั้น ระบบคุณค่าของคนกลุ่มอื่นหรือไม่ หรือมีการเปิดโอกาสให้คนกลุ่มอื่นเข้าไปหยิบฉวยระบบคุณค่านั้นๆเพื่อประโยชน์ของพวกเขาได้หรือไม่
เมื่อพูดเช่นนี้แล้ว อนุสรณ์ได้ตั้งคำถามที่ชวนคิดต่อไปว่า ภายใต้การสถาปนาเรื่องเล่าเดือนตุลาขึ้น ใครกันที่ได้ใช้ประโยชน์จากมันมากที่สุดในตอนนี้  ซึ่งคำตอบที่ได้ก็คือ “คนเดือนตุลา” ด้วยเหตุว่าการนำพาชีวิตผ่านเรื่องราวเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลา 16 มันเป็นการสร้างทุน สังคม ทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางสัญลักษณ์ และสามารถจะแปลงเปลี่ยนเป็นทุนแบบอื่นๆได้อีก ฉะนั้นปัจจุบันเราจึงเห็นคนเดือนตุลาประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แทบจะในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างในด้านที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะเขามีประสบการณ์ที่เคยผ่านเรื่องราวที่กลายมาเป็นเรื่องเล่ากระแสหลัก หรือระเบียบหลักของสังคม และตัวพวกเขาเองก็ได้เข้าไปอยู่ในระเบียบหลักของสังคมด้วย
ซึ่งแน่นอนอนุสรณ์ เห็นว่าการผ่านประสบการณ์ 14 ตุลา กับ 6 ตุลา ให้คุณค่าที่แตกต่างกัน เพราะในขณะที่คนรุ่น 14 ตุลา สถาปนาเรื่องเล่าของตนเองและเข้าไปอยู่ในระเบียบหลักของสังคม คนรุ่น 6 ตุลา แม้จะมีส่วนหนึ่งที่เข้าไปอยู่ในระเบียบอำนาจหลัก แต่คนรุ่น 6 ตุลาอีกส่วนหนึ่ง ดูจะตั้งคำถามกับระเบียบอำนาจหลักมากกว่า ฉะนั้นหากมองทั้งสองเหตุการณ์ในฐานะเรื่องเล่าที่ถูกหยิบใช้ จะเห็นว่าทั้งสองเหตุการณ์ต่างก็ทุกหยิบมาใช้หมด แต่เรื่องเล่า 14 ตุลา ถูกหยิบไปใช้มากกว่า เพราะมีเรื่องราวของประชาธิปไตย ซึ่งถูกสถาปนาเป็นอุดมการณ์หลักในตัวเรื่องเล่า ทว่าเมื่อมองกลับในปัจจุบันคนที่เรียกว่าตัวเองว่า “คนเดือนตุลา” โดยเฉพาะ 14 ตุลา กลับมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่โน้มเอียงไปทางอุดมการณ์อนุรักษนิยมอย่างมาก หรือพูดได้ว่าในช่วงสมัยที่เขาเรียกร้องประชาธิปไตย เมื่อปี 16  ก็ได้มีการเรียกร้องโดยมีการยึดโยงกับจารีตบางอย่างอยู่แล้วแต่กลับไม่ได้ถูกพูดถึงนัก เพื่อที่จะต่อสู้กับเผด็จการทหาร เช่นเดียวกับในสมัยนี้พวกเขาก็อ้างว่าเรียกร้องประชาธิปไตย  โดยอาศัยทุนของการเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในสมัยนั้น แต่กลับไม่สนใจว่าหน้าตาของประชาธิปไตยที่เรียกร้องนั้นเป็นอย่างไร พูดอีกนัยหนึ่งก็คือเป็นการเคลื่อนไหวที่เป็นเพียงการอาศัยเสื้อคลุมประชาธิปไตย ในการเคลื่อนไหวชูเชิดอุดมการณ์ในเชิงจารีต หรืออนุรักษนิยม
อนุสรณ์ ชี้ให้เห็นว่าเหตุใดคนเดือนตุลาที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่ออุดมการณ์เชองจารีต จึงยึดโยงตนเองกับเหตุการณ์ 14 ตุลา ประการแรกมันเป็นทุนการเมืองที่ถูกทำให้มองเห็นว่าบริสุทธิ์กล่าวคือ การที่เขามีภาพของนักศึกษาเมื่อวันที่ 14 ตุลา 16 ติดตัวอยู่แม้ตอนนี้เขาจะไม่ได้เป็นนักศึกษาแล้ว แต่ภาพลักษณ์ที่ถูกสถาปนาว่านักศึกษาเป็นผู้บริสุทธิ์ออกมาเรียกร้องในทางการเมือง ต่อต้านเผด็จการและเป็นผู้หวังดีกับประเทศยังคงติดตัวพวกเขาอยู่ตลอด แม้จะไม่ได้เรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยแล้วก็สามารถใช้ทุนก้อนนี้ได้อยู่ ประการต่อมาเขาสามารถทำให้เรื่องเล่านี้เป็นอมตะ ไม่มีวันตายจากสังคมไทย เพราะมีการฝังเรื่องเราเหล่านี้ไว้ในสถานศึกษา และสามารถจะผลิตซ้ำได้ทุกๆ ปี ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ภาพลักษณ์ดำรงอยู่อย่างไม่สิ้นสุด ขณะเดียวกันก็มีการสร้างมุมมองในเชิงเปรียบเทียบระหว่างนักศึกษาในยุค 14 ตุลา 16 กับยุคปัจจุบัน โดยมีการมองอย่างปรามาตรว่า นักศึกษาในยุคปัจจุบันไม่สนใจการเมือง ไม่เห็นออกมาประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรม มัวแต่สนใจเรื่องของตัวเอง ซึ่งด้วยมุมมองแบบนี้เองก็ยิ่งเป็นการดึงให้สถานะของคนเดือนตุลาสูงขึ้นไปอีกในการรับรู้ของคนในสังคม
อุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบอำพราง กับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
“อุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบอำพราง” เป็นคำที่อนุสรณ์ใช้เรียกอุดมการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ซึ่งผู้คนต่างยึดมั่นเชื่อถือ แน่นอนรวมทั้งคนเดือนตุลาบางส่วนด้วย อย่างไรก็ตามเขาเห็นว่า  “อุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบอำพราง” นี้ไม่มีทางไปได้กับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ในรอบ  20 ปี ที่ผ่านมา เพราะมีการเติบโตของคนกลุ่มใหญ่ในสังคมซึ่งก่อนหน้านั้นเคยเป็นเพียงผู้เฝ้าดูการเคลื่อนไหวทางการเมืองของบรรดาปัญญาชน นักศึกษาและชนชั้นกลางในเมือง คนเหล่านั้นลุกขึ้นมาเรียกร้องและอยากจะเข้ามามีส่วนมากขึ้น
อนุสรณ์เทียบระหว่าง เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ กับเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างสีว่า เหตุการณ์พฤษภาทมิฬนั้นเป็นการตื่นตัวทางการเมืองของชนชั้นกลางในเมืองที่มีการศึกษา ซึ่งมีลักษณะสืบทอดมาจากคนเดือนตุลา  และหลังจากเหตุการณ์นี้ เราได้เห็นการเติบโตของภาคประชาชนเพิ่มมากขึ้น โดยคนที่เข้ามามีส่วนในการจัดการให้เกิดการเติบโตแบบนี้ได้ก็คือ NGO ซึ่งส่วนมากก็เป็นพวกนักกิจกรรมฝ่ายซ้ายเก่าที่ออกมาจากป่า โดยเข้าไปทำให้เกิดการขยายตัวของภาคประชาชนเพิ่มมากขึ้น แต่สำหรับการเมืองในยุคเสื้อสีนั้น อนุสรณ์มองว่าเป็นการบรรจบกันของ NGO ที่ทำงานกับชาวบ้านเข้าร่วมขบวนการเสื้อเหลือง และมีชาวบ้านเข้าร่วมจำนวนมาก กลุ่มขบวนการเสื้อแดงเองก็เช่นกัน ในแง่ที่เป็นการเรียกร้องทางการเมืองของคนจำนวนมากซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม ปัญหาที่เกิดขึ้นคือการเรียกร้องทางการเมืองที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เป็นการเรียกร้องเฉพาะของกลุ่มชนชั้นกลางในเมือง กลุ่มคนมีการศึกษา หรือปัญหาชนอีกต่อไป  แต่มันเป็นการเมืองของคนส่วนใหญ่ เป็นประชาธิปไตยของมวลชน ฉะนั้นเรื่องเล่าเดือนตุลาที่ผูกอยู่กับนักศึกษา ปัญญาชนคนเดือนตุลา จึงไม่สามารถไปกันได้กับสภาวะสังคมแบบนี้
และยิ่งไปกว่านั้น อนุสรณ์ชี้ว่า “อุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบอำพราง” ที่ยึดโยงกับจักรวาลวิทยาแบบพุทธเถรวาท ซึ่งมีการแบ่งช่วงชั้นความดีงามตามลำดับความละเอียดของจิต พูดให้ง่ายคือมีวิธีการมองคนไม่เท่ากัน ไม่มีทางที่จะไปกันได้กับการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ และคนเหล่านั้นต้องการโอกาสเข้าร่วมในทางการเมืองอย่างเสมอหน้ากัน
“คนรุ่นเรารับรู้เหตุการณ์ทางการเมืองผ่านความทรงจำของคนอื่น เรารับรู้ความทรงจำและตีความเรื่องราว… จนมันกลายเป็นวัฒนธรรมทางการเมือง ซึ่งนี่เรียกว่าการเมืองของความทรงจำ”ภาคิไนย์ ชมสินทรัพย์มั่น
วัฒนธรรมการต่อต้าน และกับความทรงจำที่ต่างกัน
ภาคิไนย์เริ่มต้นด้วยชี้ให้มองวัฒนธรรมทางการเมืองในเดือนตุลา ว่าคือวัฒนธรรมการต่อต้าน ซึ่งปัจจุบันในความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมต่อต้านเช่นกัน ทว่ากลุ่มต่อต้านในปัจจุบันไม่ได้มีเพียงกลุ่มเดียว แต่แบ่งแยกออกไปอย่างน้อยได้สองกลุ่มใหญ่ๆ คือกลุ่มเสื้อเหลือง นับรวมไปถึงกลุ่มกปปส. และกลุ่มเสื้อแดง ภาคิไนย์ชวนตั้งคำถามสำคัญต่อไปว่า คนทั้งสองกลุ่มนี้ต่อต้านอะไร และมีความทรงจำกับเหตุการณ์ใดมากกว่ากันระหว่าง 14 ตุลา 16 กับ 6 ตุลา 19 และเพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น
ภาคิไนย์กล่าวว่า สิ่งที่คนเสื้อเหลืองต่อต้านมากที่สุดก็คือทักษิณ ระบอบทักษิณ หรือสิ่งที่เกษียร เตชะพีระให้คำนิยามว่าเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิทุนจากเลือกตั้ง ฉะนั้นภาพลักษณ์ของทักษิณ รัฐบาลทักษิณ หรือแม้กระทั่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์  จึงถูกมองว่ามีลักษณะที่เป็นเผด็จการรัฐสภา  ในชุดความคิดของคนเสื้อเหลือง รวมทั้งกลุ่มกปปส. ฉะนั้นเหตุการณ์ทางการเมืองในเดือนตุลาที่พวกเขายึดโยงด้วยมากที่สุดจึงเป็น 14 ตุลา 16 เพราะภายในความทรงจำแบบนี้มีภาพของการต่อสู้เพื่อต่อต้านเผด็จการทหาร สำหรับพวกเขายุคนี้ก็เป็นการต่อสู้เพื่อขับไล่เผด็จการเหมือนกันแต่เป็นเผด็จการรัฐสภา
ในขณะเดียวสิ่งที่กลุ่มเสื้อแดงต่อต้านมากที่สุด แม้ภายในกลุ่มเสื้อแดงจะมีหลากหลายความคิดมากก็ตาม แต่มีจุดร่วมที่ตรงกันคือ การต่อต้านอำมาตย์  โดยภาคิไนย์อธิบายว่า แม้ว่าการรวมกลุ่มกันของคนเสื้อแดงจะมีที่มาที่หลากหลาย บางกลุ่มเป็นฝ่ายซ้ายเก่า บางกลุ่มเป็นคนที่นิยมทักษิณ บางกลุ่มเป็นแดงสายฮาร์ดคอร์ ทว่าพวกเขามีประสบการณ์ร่วมกันในช่วงการสลายการชุมนุมเดือนพฤษภา 53 และเหตุการณ์นี้เองเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาตั้งคำถามทำไมพวกเขาถึงตกไปผู้ถูกกระทำ โดยที่ผู้กระทำไม่ต้องแสดงความรับผิดชอบใดๆ พฤษภา 53 เป็นบาดแผลร่วมกันสำหรับพวกเขา ฉะนั้นเหตุการณ์ทางการเมืองที่พวกเข้าคิดถึงมากที่สุด คือ 6 ตุลา 19 และไม่ใช่เพียงการมีลักษณะเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลเหมือนกันแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทว่าอุดมการณ์ที่กระทำกับคนทั้งสองเหตุการณ์ยังคงเป็นอุดมการณ์เดิม คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์  นักศึกษาที่ถูกฆ่าแขวนคอ และถูกฟาดด้วยเก้าอี้เมื่อปี 19 ถูกมองว่าเป็นมารของสังคมในตอนนั้น ถึงที่สุดคือ ถูกมองว่าไม่เป็นไทย ภายใต้อุดมการณ์หลักของสังคม กลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงเมื่อปี 53 ก็ถูกมองและถูกทำให้เป็นมารของสังคมไม่แตกต่างกัน และที่สำคัญมุมมองของสังคมไทยการกำจัดมาร หรือฆ่ามารเป็นสิ่งที่ถูกต้องและควรกระทำ
ตุลาที่ถูกลืม กับความรู้สึกร่วมที่ไม่ถูกนับรวม
ในขณะที่เราพูดถึงเหตุการณ์เดือนตุลา ดูเหมือนว่าจะมีเพียงมุมมองต่อเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19 เท่านั้น กลับไม่ได้มีการพูดถึงเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐสลายการชุมนุมที่ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 แต่อย่างใดในการร่วมรำลึกเดือนตุลา อนุสรณ์ได้ชี้ให้เห็นความน่าสนใจอยู่หลายประการ อย่างแรกเหตุที่เรื่องราวที่ตากใบไม่ค่อยจะเป็นที่รับรู้หรือ ถูกลืม ส่วนหนึ่งเพราะเป็นเรื่องราวของคนกลุ่มเล็กๆในสังคม ที่ถึงที่สุดแล้วเข้ากันไม่ได้กับระเบียบหลักของสังคม  ประการต่อมาคือ มีความน่าสนใจว่าคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีการรับรู้และมีแนวโน้มทางการเมืองที่เข้ากันได้กับกลุ่มเสื้อแดงมากกว่ากลุ่มเสื้อเหลือง เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับกลุ่มคนเสื้อแดง เป็นสภาวการณ์ร่วมกัน คือมีความรู้สึกที่ถูกส่งถึงกัน มีความรู้สึกว่าถูกกระทำจากคู่ปะทะ คู่ขัดแย้ง แบบเดียวกัน
ด้านภาคิไนย์เห็นว่า เหตุการณ์ตากใบนั้น แท้จริงแล้วสะท้อนให้เห็นถึง ‘สันดานของรัฐไทย’ ที่ยึดมั่นในเรื่องความมั่นคง โดยต้องการมองเห็นสังคมเป็นแบบเดียวกัน คือมีระบบระเบียบชุดเดียวกัน และหากมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาท้าทายรัฐก็พร้อมที่จะใช้ความรุนแรงเสมอ ขณะเดียวกันการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในวันที่ 7 ต.ค. 2551 เองก็เข้าข่ายภาพสะท้อน 'สันดานของรับไทย' เช่นกัน แตกต่างกันก็ตรงที่เปลี่ยนจากกองกำลังของทหารมาเป็นกองกำลังของตำรวจเท่านั้น ทว่าผลสะเทือนหลังจากเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 นั้นภาคิไนย์ ขอละไว้ในฐานที่เข้าใจ

ครม.ประยุทธ์ตั้ง ผวจ. 18 จังหวัด ย้าย 4 รอง ผวจ. เข้ามหาดไทย



            ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่มหาดไทยเสนอแต่งตั้งข้าราชการ 22 ตำแหน่ง โดยให้รองผู้ว่าราชการ 4 จังหวัด รับตำแหน่งผู้ตำรวจราชการกระทรวง และให้รองผู้ว่าราชการ 18 จังหวัด รับตำแหน่งผู้ว่าราชการ
            28 ต.ค. 2557 - เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า ในการประชุม ครม. ประจำวันที่ 28 ต.ค. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง จำนวน 22 ราย ดังนี้
  • 1. นายธานี ธัญญาโภชน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดนครปฐม ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
  • 2. นายยุทธนา วิริยะกิตติ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดสุรินทร์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
  • 3. นายวรวิทย์ สายสุพัฒน์ผล รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดชลบุรี ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
  • 4. นายอำนวย ตั้งเจริญชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดนครสวรรค์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
  • 5. นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดกระบี่
  • 6. นายวงศศิริ พรหมชนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดชุมพร
  • 7. นายณรงค์ ธีรจันทรางกูร รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดตราด ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดตราด
  • 8. นายชาติชาย อุทัยพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดชุมพร ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดนครปฐม
  • 9. นายพงษ์ศักดิ์ ปรีชาวิทย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดชลบุรี ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดบึงกาฬ
  • 10. นายวีรพงค์ แก้วสุรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดนราธิวาส ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดปัตตานี
  • 11. นายประยูร รัตนเสนีย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดพังงา ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดพังงา
  • 12. นายบัณฑิตย์ เทวีทิวารักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดเพชรบูรณ์
  • 13. นายศักดิ์ สมบุญโต รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดกำแพงเพชร ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดแพร่
  • 14. นายชยาวุธ จันทร รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดนครราชสีมา ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดมหาสารคาม
  • 15. นายสามารถ วราดิศัย รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดยะลา ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดยะลา
  • 16. นายสุริยันต์ กาญจนศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดกาญจนบุรี ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดระนอง
  • 17. นายณรงค์ อ่อนสอาด รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดสิงห์บุรี ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดลำพูน
  • 18. นายปัญญา งานเลิศ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดอ่างทอง ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดสมุทรสงคราม
  • 19. นายปิติ แก้วสลับสี รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดสุโขทัย ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดสุโขทัย
  • 20. นายสุชาติ นพวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดหนองคาย ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดหนองคาย
  • 21. นายสุทธินันท์ บุญมี รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดอุดรธานี ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดอำนาจเจริญ
  • 22. นายสมชาย เลิศพงศ์ภากรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดสุพรรณบุรี ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดอุทัยธานี

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เป็นต้นไป

ซับสิไดซ์เหมือนยื่นปลาไม่ยั่งยืน-พล.อ.ประยุทธ์จะยื่นทั้งปลายื่นทั้งเบ็ด

การแถลงข่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 57 

(ที่มาของภาพ:เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เผยผลประชุม ครม. มีการอนุมัติงบดูแลเกษตรกร เน้นงบขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-จ้างงานเพื่อลดการทำนาปรังและเพาะปลูก ชี้การแก้ปัญหาด้วยการซับสิไดซ์ไม่ยั่งยืน เปรียบเหมือนการให้ปลา รัฐบาลจึงให้ปลาด้วยแต่เป็นปลาตัวเล็ก และให้เบ็ดเพื่อให้ไปหาปลาเอง
29 ต.ค. 2558 - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีมีการประชุมพิจารณาถึง 28 วาระ มีวารจร 6 วาระ โดยส่วนใหญ่คือเรื่องการแต่งตั้งข้าราชการในตำแหน่งต่างๆ ซึ่งเป็นการกลั่นกรองไปตามกระบวนการขั้นตอนในการแต่งตั้ง และได้ให้ความเป็นธรรมกับข้าราชการเพราะต้องดูแลเขา
ในส่วนที่สอง มีเรื่องการอนุมัติงบประมาณต่างๆ ตามนโยบายและมติที่ประชุม ครม. ในครั้งที่ผ่านมา เกี่ยวกับการดูแลเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจะต้องมีการปรับแก้งบประมาณต่างๆ ก็ไปการขออนุมัติ ครม.เพื่อให้มีการเบิกจ่ายได้
เรื่องงบประมาณอันที่สาม มีเรื่องการอนุมัติหลักการงบประมาณ เพื่อที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนในเรื่องเศรษฐกิจ อย่างที่เคยเรียนว่างบประมาณใน 3 เดือนแรกต้องการขับเคลื่อนงบประมาณไปสู่การจ้างงานให้สอดคล้องกับแนวคิดลดการทำนาปรัง หรือการเพาะปลูกต่างๆ ที่ไม่ได้ผล เพราะฉะนั้นจึงมีมาตรการช่วยเหลือให้คนมาช่วยกันทำงาน คงไม่ใช่งานใช้แรงงานทั้งหมด ก็คนแก่คนเฒ่าทำไมไหวอยู่แล้วก็ให้ลูกหลานมาทำ เพื่อให้มีรายได้และมีการจับจ่ายเกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ
ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดไม่ใช่วันนี้สั่งได้แล้ววันพรุ่งนี้งบประมาณจะออก ไม่ใช่ แต่ต้องทำรายละเอียดว่าจะต้องทำอะไรบ้าง โดยจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน ซึ่งวันนี้หมดไปแล้วเดือนหนึ่งใช่ไหม พฤศจิกายนหน้าเราจะต้องรู้แล้วว่าจะมีการจับจ่ายในเรื่องใดบ้าง ทั้งนี้ยอดรวมทั้งหมดก็อยู่ที่ประมาณหนึ่งแสนล้านบาท
นอกจากนี้ก็การประชุมเตรียมการประชุมเอเปค ที่จะกลับมาที่พม่า เป็นเรื่องอาเซียนด้วยกัน ให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม เตรียมการในทุกประเด็น เมื่อเวลาผมไปต้องเตรียมว่าจะต้องพูดคุยในเรื่องใดบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้าขาย การยกระดับราคาสินค้า การสร้างความเข้มแข็งให้อาเซียนด้วยกัน เพราะประเทศส่วนใหญ่มีการเพาะปลูกเหมือนกัน จึงต้องมีการสร้างความรับรู้ให้กับประชาคมอื่นๆ ด้วยว่าจะทำอย่างไรเมื่อเราเป็นประเทศที่มีรายได้จำนวนน้อยจากการทำเกษตรที่มีความจำเป็นของประชากรโลกจะทำอย่างไรให้เขาเห็นคุณค่าของเราและจะรวมกลุ่มอาเซียนให้ได้ ในเรื่องการควบคุมราคาสินค้าเหล่านี้ให้สูงขึ้นในอนาคต นี่เป็นแนวคิดที่รัฐบาลปัจจุบันคิดไว้
ซึ่งถ้าแก้ปัญหาด้วยการซับสิไดซ์ (Subsidize = มาตรการอุดหนุน) ไปตลอด มันก็คือความไม่ยั่งยืนนะ คงแก้ได้เพียงปีเดียวแหละ การจ่ายเงินก็จ่ายได้ครั้งเดียว พอครั้งต่อไปก็จ่ายยากแล้วนะ มันจะกลายเป็นการเพาะนิสัย มันก็เหมือนการให้ปลานะ อันนี้เราให้ทั้งปลาด้วยแต่ตัวเล็กหน่อยและให้เบ็ดไป สำหรับที่จะหาปลาเพิ่มนะ ก็เป็นทำนองนั้น

พล.อ.ประยุทธ์แจง 3 ล้านล้านต่างจาก 2 ล้านล้าน-เพราะไม่กู้มาสร้าง


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงข่าวเมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2557 ที่ทำเนียบรัฐบาล 

(ที่มา: เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล)

           พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชี้แจงแผนก่อสร้างคมนาคมเชื่อมโยงอาเซียนว่าจะเริ่มสร้างสิ่งที่จำเป็นก่อนทั้งรถไฟรางคู่ 1 เมตร และราง 1.435 เมตร และจะก่อสร้างทีละสัญญาตามที่มีงบประมาณประจำปี ไปไม่ใช่กู้มาสร้าง รถไฟความเร็วสูงถ้ายังไม่ควรเกิดก็ชะลอไว้ก่อน แต่ก็อยู่ในแผน ส่วนผลตรวจโกดัง 10% ข้าวคุณภาพ 70% ข้าวคุณภาพต่ำ
แผน 3 ล้านล้าน ไม่เหมือน 2 ล้านล้าน เพราะไม่ได้กู้มาสร้าง

             28 ต.ค. 2557 - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเรื่องการเชื่อมโยงภายในภูมิภาคอาเซียนว่า ต้องดูประเทศเพื่อนบ้านว่าสามารถเชื่อมโยงกับประเทศใดได้บ้าง โดยจะกำหนดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งต่อเนื่องประเทศเพื่อนบ้าน ลาว กัมพูชา พม่า มาเลเซีย พัฒนาระบบการขนส่ง พัฒนาเส้นทางเพื่ออำนวยความสะดวก รวมไปถึงการบริหารจัดการช่องทางของศุลกากรให้ดีขึ้น ให้รวดเร็วขึ้น จะเพิ่มช่องทางการขนส่งสินค้า และมุ่งเน้นเศรษฐกิจชายแดนให้มาก นี่คือวางแผนทางถนน
สำหรับทางราง ต้องดูว่าประเทศของเรามีพอหรือยัง ถ้ายังไม่เพียงพอ ก็ต้องเพิ่มเส้นทางคู่ คำว่าทางคู่คือคู่กับเส้นทางเดิม เพราะวันนี้มันสวนกันไม่ได้ รถวิ่งเร็วไม่ได้ ต้องไปจอดรอ แต่ไม่ใช่สร้างทางเอารถใหม่มาวิ่งอย่างเดียว ต้องพูดถึงระบบสัญญาณควบคุม สะพาน ทางลอดต่างๆ ระบบทั้งระบบต้องปรับปรุงหมด นี่คืออันที่หนึ่งที่จะต้องปรับปรุง
อันที่สองก็คือคำว่า "Connectivity" นี้จะทำอย่างไร เราต้องดูแผนมารอบบ้านว่ามีการสร้างเครือข่ายมาอย่างไร ทางเหนือใต้ออกตกมีไหม วันนี้ก็มีทางด้านเหนือผ่านทางลาวบ้าง ทางเวียดนามบ้าง ต้องดูว่าจะไปต่อกับเขาอย่างไร เพราะฉะนั้นเส้นทางนี้จะต้องเกิดขึ้นก่อน ก็จะเกิดขึ้นโดยรัฐบาลต่อรัฐบาล ต้องไปเจรจาพูดคุยกับคู่เจรจาว่าใครที่จะให้การสนับสนุนช่วยเหลือเราบ้าง ต้องไปดูว่าเรามีสินค้าอะไรบ้างที่จะแลกเปลี่ยนกับเขา
"ส่วนเรื่องการลงทุนสามล้านล้านบาทนั้น ไม่ใช่ทำวันนี้ ที่แตกต่างจากที่ผ่านมาคือ เมื่อเรามาดูทั้ง ทางบก คือถนนกับราง ทางอากาศ เครื่องบินกับสนามบิน ทางน้ำ ก็ขุดคูคลอง แหล่งน้ำ ท่าเรือ ต้องสอดคล้องกับรอบบ้านเราด้วย วันนี้เราเอามาทบทวนทั้งหมดว่าอันไหนจำเป็น อันไหนไม่จำเป็น รถไฟทางคู่ 1 เมตร กับรถไฟ 1.435 เมตร เพื่อจะไปเชื่อมโยง"
"และอันที่สามเรื่องรถไฟความเร็วสูง มันควรจะเกิดหรือยัง ถ้ายังก็ชะลอไว้ก่อน แต่อยู่ในแผน เพราะฉะนั้นแผนงานที่ว่าสามล้านล้านบาท มากขึ้นกว่าสองล้านล้านบาท ต่างกันตรงที่ว่า เราวางไว้เป็นเม็ดเงินนี้แต่ยังไม่ได้ทำ เข้าใจหรือยังว่ายังไม่ได้ทำ จะทำเป็นล็อตๆ ไป อาจจะหกหมื่นล้าน และแสนล้านในช่วงสอง ช่วงสาม เอางบประมาณประจำปีใส่เข้าไป ถ้ามีใครช่วยสนับสนุนเรา ก็ทำได้ยาวขึ้น เร็วขึ้น นี่คือแผนงานเรา ไม่ใช่เรากู้ทั้งก้อนแล้ววางล่วงหน้าเลย เข้าใจหรือยัง บางคนบอกไม่เห็นต่างกันเลย สองล้านล้านทำเป็นสามล้านล้าน มันแปดปี แล้วทำทีละสัญญา เราไม่ได้กู้เงินล่วงหน้ามา"
เผยผลตรวจโกดัง 10% ข้าวคุณภาพ 70% ข้าวคุณภาพต่ำ
ส่วนเรื่องการตรวจสอบสต็อกข้าวนั้น เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานคำแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ระบุว่า เบื้องต้นได้มีการสรุปยอดข้าวทั้งหมดที่รับมาจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมาจำนวน 18 ล้านตัน โดยได้มีการคัดกรองและตรวจสอบแล้วเป็นข้าวที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน จำนวน 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ เป็นข้าวคุณภาพต่ำ จำนวน 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ และส่วนที่เหลือเป็นจำนวนยอดที่หายไป และเป็นข้าวที่เสื่อมราคาไม่สามารถนำมาบริโภคได้
ขั้นตอนต่อไปจะเป็นเรื่องการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในการตรวจสอบถึงความผิดพลาด และสอบสวนหาผู้รับผิดชอบ พร้อมดำเนินการตามกฎหมาย โดยหลังจากนี้ รัฐบาลจะทำเรื่องขออนุมัติจาก ปปช.เพื่อจำหน่ายข้าวที่มีคุณภาพต่อไป ซึ่งรัฐบาลจะพยายามทำให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ ราคาข้าวจะต้องไม่ตกต่ำกระทบกับข้าวใหม่ ราคาข้าวต้องมีราคาสูง รวมไปถึงการจำหน่ายยางพาราด้วย
สำหรับมาตรการการเก็บรักษาข้าว รัฐบาลจะเก็บข้าวไว้ในยุ้ง ฉางของเกษตรกร โดยรัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณในการดูแลยุ้ง ฉาง ซึ่งรัฐบาลจะจ่ายเงินให้เกษตรกรจำนวน 90% ของราคา แต่ถ้าราคาท้องตลาดสูงกว่าเกษตรกรก็สามารถเปลี่ยนใจขายข้าวให้พ่อค้าตามท้องตลาดได้ แต่ถ้าราคาต่ำกว่าที่รัฐบาลจ่ายก็ให้เกษตรกรเป็นผู้ดูแลข้าวในยุ้ง ฉางของแต่คน ซึ่งถือว่าเป็นการลดภาระการเก็บรักษาข้าวของรัฐบาล ลดภาระการขายขาดทุนอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับราคาขายที่เป็นธรรม

แฟนเพจ ‘PostToday’ โวย หลังโพสต์ข่าว ‘สั่งย้ายผู้กำกับพญาไทหลังเหตุรถขับตัดหน้าขบวนเสด็จฯ’



แฟนเพจเฟซบุ๊ก ‘PostToday’ โวย “นำมาเป็นข่าว ต้องการอะไรจากสังคม” หลังโพสต์ข่าว ผู้บังคับการตำรวจนครบาล1 เซ็นคำสั่งย้าย ผู้กำกับ สน.พญาไท หลังเกิดเหตุรถขับประชิด-ตัดหน้าขบวนรถยนต์พระที่นั่งสมเด็จพระเทพ
 วานนี้(28 ต.ค.57) เวลา 18.10 น. เฟซบุกแฟนเพจ ‘PostToday’ ของหนังสือพิมพ์รายวันโพสต์ทูเดย์ ซึ่งมีผู้ถูกใจกว่า 1.3 ล้าน ได้โพสต์ข่าวกรณีสั่งย้ายผู้บังคับการตำรวจนครบาล1 ได้ลงนามในคำสั่งให้ ย้าย ผู้กำกับการ สน.พญาไท หลัง หลังเกิดเหตุรถขับประชิด-ตัดหน้าขบวนรถยนต์พระที่นั่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี  2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกัน
โดยในเฟชบุ๊กแฟนเพจ ‘PostToday’ มีผู้กดถูกใจการโพสต์ดังกล่าว ประมาณ 25,000 ถูกใจ แชร์ต่อประมาณ 1,300 แชร์ และแสดงความเห็นท้ายโพสต์ประมาณ 1,200 ความเห็น ซึ่งในจำนวนนั้นมีหลายความเห็นตั้งคำถามถึงการนำเสนอข่าวนี้ เช่น "งง คำสั่งแบบนี้ก็นำมาเป็นข่าว youต้องการอะไรจากสังคม" “อย่าเอาข่าวแบบนี้มาลงให้ คนแสดงความคิดเห็น เพราะมันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน” “ถามจริงๆสื่อพาดหัวข่าวเพื่อ? เพื่อให้มีการคอมเม้นหมิ่นใช่ไหม..” “ควรสแปม โพสต์ทูเดย์มาก ลงข่าวกำกวม สร้างความแตกแยก เสี้ยม เปิดช่องให้คนโจมตีกัน เป็นสื่อที่ไม่มีความผิดชอบต่อสังคม” และ “นำเสนอข่าวแฝงจุดประสงค์เพื่อ? ไร้จรรยาบรรณ! สื่อที่ไม่มีสามัญสำนึก ถึงสิ่งที่ควรไม่ควรนำเสนอแก่สังคม..” เป็นต้น
สำหรับรายละเอียด โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ต.ค. พล.ต.ต.พงษ์พันธุ์ วรรณภักตร์ รักษาราชการแทน ผู้บังคับการตำรวจนครบาล1 ได้ลงนามในคำสั่งให้ พ.ต.อ.สมาน รอดกำเนิด ผู้กำกับการ สถานีตำรวจนครบาลพญาไท ไปปฏิบัติราชการ กองบังคับการตำรวจนครบาล1 และให้ พ.ต.อ.ปิยะวัฒน์ บุญยืนอนนต์ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล1 รักษาราชการแทน ผู้กำกับการ สถานีตำรวจนครบาลพญาไท อีกหน้าที่หนึ่ง โดยไม่ขาดจากต้นสังกัดเดิม
ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 28 ต.ค. 2557 ถึง วันที่ 26 พ.ย. 2557 หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
ในคำสั่งโยกย้ายระบุว่า ด้วยกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 ได้รับรายงานจากสถานีตำรวจนครบาลพญาไทว่าเมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2557 มีเหตุรถจักรยานยนต์ ขับเข้ามาประชิดท้ายขบวนรถยนต์พระที่นั่งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี และเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2557 มีเหตุรถยนต์ขับตัดหน้าขบวนรถยนต์พระที่นั่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี โดยทั้งสองเหตุการณ์เกิดขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกัน
เพื่อให้การปฏิบัติราชการในภาพรวมของ กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 เป็นไปด้วยความเรียบร้อยต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพสมตามความมุ่งหมายของทางราชการและไม่เกิดความเสียหาย จึงมีคำสั่งให้ข้าราชการตำรวจปฏิบัติหน้าที่ราชการและรักษาราชการแทน

ประธาน สนช. เผยนัดประชุม ถอดถอน ‘ยิ่งลักษณ์’ ปมจำนำข้าว 12 พ.ย.นี้


พรเพชร วิชิตชลชัย แถลงนัดประชุมสนช.นัดพิเศษในวันที่ 12 พ.ย.นี้ พิจารณาถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คดีโครงการรับจำนำข้าว ส่วนในวันพรุ่งนี้จะคัดเลือก สนช. 5 คน เข้าไปเป็นกรรมาธิการยกร่าง รธน.
29 ต.ค.57 นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงว่า เตรียมบรรจุวาระการประชุม สนช. นัดพิเศษ วันพุธ ที่ 12 พฤศจิกายน เพื่อพิจารณาสำนวนถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีโครงการรับจำนำข้าว ที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งมาให้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม ที่ผ่านมา  โดยได้พิจารณาสำนวนตามข้อกฎหมายอย่างละเอียดแล้วเห็นว่า ป.ป.ช.ส่งเรื่องการไต่สวนข้อเท็จจริงว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ มีพฤติการณ์และจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 178  ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 11 และขัดต่อพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มาตรา 158   ดังนั้น เมื่อมีการอ้างความผิดตามข้อกฎหมายดังกล่าวครบถ้วน  จึงเห็นว่า สนช. สามารถดำเนินการได้ตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ  พร้อมกันนี้ยังได้ส่งสำเนาที่เกี่ยวข้องกับคดีให้น.ส.ยิ่งลักษณ์และสมาชิก สนช. ทุกคนแล้ว
ประธาน สนช. กล่าวว่า  การพิจารณาเรื่องถอดถอนดังกล่าว ไม่มีการยืดเยื้อ หรือดึงเรื่องไว้ตามที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนจะมีการนัดแถลงเปิดคดีเมื่อใดนั้น ยังไม่ขอลงรายละเอียด และให้เป็นไปตามกระบวนการ
ส่วนการพิจารณาเรื่องการถอดนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว. นั้น นายพรเพชร กล่าวว่า  สนช. จะมีการประชุมวันที่  6 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นการพิจารณาต่อเนื่องจากการประชุมครั้งก่อนในประเด็นว่าความผิดตามคำร้องยังอยู่ในอำนาจของ สนช. หรือไม่