วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559

'เปรมโมเดล' จตุพร ชี้ที่มาอำนาจต่างกัน ระวังจบสิ้นอำนาจแบบเผด็จการทรราชย์


28 ส.ค. 2559 จากกรณีวานนี้  (27 ส.ค.59) วันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)  กล่าวว่า อย่าไปกังวลตกอกตกใจกับคำเสี้ยมเหน็บแนมตามสันดานนักการเมือง อย่าไปหลงลมคำพูดนักการเมือง ไม่เคยจริงใจกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯอยู่แล้ว ถามว่าวันนี้จำเป็นหรือไม่ที่ พล.อ.ประยุทธ์จะมาตั้งพรรคการเมืองลงเลือกตั้งเองนั้น ตนคิดว่า ถ้ารัฐสภา ส.ส. ส.ว.สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ท่านก็ควรจะรับ อย่าปฏิเสธ เป็นความสง่างาม ในรัฐสภา ส.ส. หรือ ส.ว.มีทั้งตัวเเทนประชาชน จากสาขาอาชีพ ต้องใช้เสียงข้างมากของคนเหล่านี้ ไม่ใช่เลือกกันส่งเดช พล.อ.ประยุทธ์ไม่จำเป็นต้องตั้งพรรค หากท่านตั้งก็เท่ากับว่ากำลังจะเดินไปหลุมพลางทางการเมือง อาจไปไม่ถึงดวงดาวได้ อาจจะถูกโจมตีกล่าวหาต่างๆ นานา โดยสะดุดขาตัวเองเปล่าๆ นอกจากนี้ยังมีอดีตให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า คนที่ทำปฏิวัติแล้วตั้งพรรคลงเล่นการเมือง ไม่เคยไปรอด ล้มกลางคันเเทบทุกราย
“หรือ พล.อ.ประยุทธ์จะดูตัวอย่างสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษก็ได้ ที่ไม่จำเป็นต้องลงเลือกตั้ง แต่ก็อยู่เป็นนายกฯถึง 8 ปี ขอให้บริหารจัดการประนีประนอมอำนาจทั้งในและนอกสภาให้ได้ทุกฝ่ายก็น่าจะเดินได้ เห็นได้จากผลประชามติที่ประชาชนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์กลายๆ อยู่แล้ว หากนับจากวันนี้ยิ่งสร้างผลงานไปเรื่อยๆ ถึงเวลาเลือกตั้งจะมีเสียงเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯสานต่อภารกิจต่อไปอีก 4 ปีแน่ๆ” วันชัย กล่าว

จตุพร เตือนประยุทธ์อย่าฟังแต่กองเชียร์ ชี้ที่มาต่างจากเปรม

ล่าสุดวันนี้ (28 ส.ค.59) จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ต่อข้อเสนอ "เปรมโมเดล" ว่า ที่มาอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ แตกต่างจาก “เปรมโมเดล” อย่างชัดเจน และถ้าคล้อยตามเสียงเชียร์ให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกแล้ว มีโอกาสจบสิ้นอำนาจแบบเผด็จการทรราชย์ได้
จตุพร กล่าวว่า เปรมโมเดลเป็นรูปแบบที่มาอำนาจของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองค์มนตรี และรัฐบุรุษ เมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกตั้งแต่ปี 2523 แล้วอยู่ยาวนานต่อเนื่องถึง 8 ปี จนประกาศวางมือทางการเมือง โดยเปล่งคำพูดว่า “ผมพอแล้ว” ดังนั้น จึงมีความแตกต่างจากประยุทธ์โมเดลตามเสียงเชียร์ของที่ วันชัย สอนศิริ ที่สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ สืบทอดอำนาจ
จตุพร ตนเห็นว่า ที่มาอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ มีความแตกต่างที่เด่นชัดจากเปรมโมเดล เพราะพล.อ.เปรม ไม่ได้ก้าวขึ้นไปเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก โดยมาจากการยึดอำนาจ ไม่ได้แต่งตั้ง ส.ว. เพื่อปูทางไปสู่อำนาจ แต่พล.อ.เปรม ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองด้วยเสียงข้างมากในสภา หลังจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลาออกจากนายกรัฐมนตรีคนนอกแล้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยการยึดอำนาจจากรัฐบาล ธานินทร์ กรัยวิเชียร เมื่อ 20 ตุลาคม 2520 แล้วร่างรัฐธรรมนูญ 2521 ซึ่งเป็นต้นกำเนิดการปกครองแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ ด้วยการแต่งตั้ง ส.ว. มาปูทางให้นายกรัฐมนตรียึดอำนาจได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกภายหลังการเลือกตั้งเมื่อ 22 เมษายน 2522 กระทั่งถูกพรรคการเมืองเสียงข้างมากอภิปรายไม่ไว้วางใจ จึงลาออกจากนายกรัฐมนตรีก่อนถูกอภิปรายฯ เมื่อกุมภาพันธ์ 2523
จากนั้น พล.อ.เปรม ได้รับการสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกติดต่อกันนานถึง 8 ปี สะสมบารมีมากมายจนมีความน่าเชื่อถือ ได้รับความเคารพทั้งจากฝ่ายทหารและพรรคการเมือง สิ่งสำคัญรู้จักพอทางการเมือง แม้ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติไทย ชนะเลือกตั้งเมื่อปี 2531 ไปเชิญให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกอีกครั้ง แต่ปฏิเสธ ด้วยการเปล่งวาจาว่า “ผมพอแล้ว”
จตุพร กล่าวต่อว่า ในช่วงปลายอำนาจการเมืองของพล.อ.เปรมนั้น กระแสประชาธิปไตยสูงมาก นักวิชาการ 99 คน ลงชื่อให้ พล.อ.เปรม วางมือทางการเมือง เพราะต้องการให้นายกรัฐมนตรีมาจาก ส.ส. และไม่ต้องการให้ทหารแทรกแซงทางการเมือง เมื่อพรรคชาติไทยชนะเลือกตั้งปี 2531 มาเป็นอันดับหนึ่ง ไปเชิญ เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก พล.อ.เปรม จึงปฏิเสธ แล้ววางมือทางการเมือง
จตุพร กล่าวว่า การวางมือทางการเมืองนั้น พล.อ.เปรม ถูกวิจารณ์จากนักวิชาการ 99 คน เรียกร้องไม่ให้ทหารเข้ามายุ่งการเมือง และกระแสนายกรัฐมนตรีจาก ส.ส. มาแรงอีกครั้งในช่วงปี 2535 สมัย พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่ยึดอำนาจจาก พล.อ.ชาติชาย แล้วต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกภายหลังการเลือกตั้งปี 2535 แต่ถูกชุมนุมต่อต้านในเหตุการณ์พฤษภา 2535 ดังนั้น ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก คงเป็นประยุทธ์โมเดล ไม่ใช่เปรมโมเดล เพราะภาพลักษณ์ สถานการณ์บ้านเมืองคนละเรื่องกับสมัยพล.อ.เปรม อีกทั้งพล.อ.ประยุทธ์ คงไม่ได้เปล่งวาจา ผมพอแล้ว แต่จะเปล่งวาจาว่า ผมพังแล้ว
“พล.อ.ประยุทธ์ จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม แต่ผมขอพยากรณ์ท่านว่า ท่านจบไม่สวย แต่จะจบลงด้วยเผด็จการทรราชย์ ท่านต้องคิดให้มากกับเสียงเชียร์ของพวกแวดล้อมอำนาจ เมื่อถึงวันนั้นพวกเชียร์ท่านจะหนีไปหมด เมื่อท่านไม่ได้มาจากประชาชน ย่อมไม่มีความสง่างาม เพราะท่านมาจากกระบอกปืน หากเดินตามวิถีกองเชียร์แล้วสุดท้ายท่านจะได้เปล่งวาจาว่า ผมพังแล้ว" จตุพร กล่าว

อัยการสั่งฟ้อง 'ประเด็นสติ๊กเกอร์โหวตโน' 4 นักกิจกรรม 1 นักข่าว กรณีราชบุรี


อัยการสั่งฟ้องคดี 4 นักกิจกรรมและ 1 นักข่าว ผิด ม.61 พ.ร.บ.ประชามติ จากประเด็นสติ๊กเกอร์โหวตโน ที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ทั้งหมดยื่นประกันด้วยหลักทรัพย์เดิมที่ใช้ในชั้นสอบสวนคนละ 1.4 แสนบาท ศาลราชบุรีให้ประกันตัว นัดสมานฉันท์ 21 ก.ย.นี้ 

 

ปกรณ์ อารีกุล พร้อมนักกิจกรรม-นักข่าวและทนายความ ให้สัมภาษณ์หลังได้รับการประกันตัวในชั้นศาล
 
29 ส.ค.2559 ที่ศาลจังหวัดราชบุรี อัยการสั่งฟ้องนักกิจกรรม-นักข่าว 5 คนในความผิดมาตรา 61 วรรคสองของพ.ร.บ.ประชามติ โดยทั้ง 5 คนเดินทางมารายงานตัวกับศาลจังหวัดราชบุรีและทั้งหมดให้การปฎิเสธข้อกล่าวหา จากนั้นยื่นประกันตัวด้วยหลักทรัพย์เดิมในชั้นตำรวจ คือ เงินสด คนละ 1.4 แสนบาท ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวและนัดสมานฉันท์วันที่ 21 ก.ย.2559 นัดพร้อมตรวจพยานหลักฐาน 17 ต.ค.2559 เวลา 8.30 น.ที่ศาลจังหวัดราชบุรี
ทนายความจำเลยอธิบายว่า นัดสมานฉันท์เป็นนโยบายบริหารจัดการคดีของศาลยุติธรรมเพื่อให้คดีเสร็จรวดเร็ว กระบวนการก็คือจะถามอีกครั้งหลังสอบคำให้การไปแล้วว่า จำเลยจะรับสารภาพหรือปฏิเสธ
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ภายหลังได้รับการประกันตัว ศาลเรียกทนายจำเลยทั้งหมดพูดคุยราว 15 นาที ภายหลังเสร็จสิ้นการพูดคุย ทนายระบุว่า เป็นการชี้แจงระเบียบปฏิบัติของการนัดสมานฉันท์ และทำความเข้าใจการดำเนินคดีในศาลราชบุรี
5 คนประกอบด้วย นักกิจกรรม 4 คน และนักข่าว 1 คน ได้แก่ ปกรณ์ อารีกุล, อนุชา รุ่งมรกต, อนันต์ โลเกตุ สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ และทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวประชาไท เหตุเกิดสืบเนื่องจากนักกิจกรรม 4 คนเดินทางเดินทางไปให้กำลังใจชาวบ้าน 23 คนที่ถูกเรียกรายงานตัวฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. จากกรณีการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ ส่วนผู้สื่อข่าวได้ติดรถไปทำข่าวดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา จากนั้นตำรวจได้ตรวจค้นรถที่ทั้งหมดโดยสารมาและพบเอกสารความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญ และรณรงค์โหวตโนหลายรายการในรถดังกล่าวจึงจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาโดยระบุว่ามีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าจะแจกจ่ายเอกสารดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตามในคำสั่งฟ้องของอัยการระบุถึงสติ๊กเกอร์โหวตโนเพียงรายการเดียว โดยเขียนว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำความผิดโดยการแจกจ่ายสติ๊กเกอร์ข้อความ "7 สิงหา Vote No ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก" ซึ่งเป็นการเผยแพร่ข้อความในช่องทางอื่นใดที่ผิดจากข้อเท็จจริง มีลักษณะปลุกระดม โดยมุ่งให้ไม่ไปใช้สิทธิ ออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นการร่วมกันกระทำความผิดของคณะบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ในการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย มาตรา 61 วรรคสอง พ.ร.บ.ประชามติ โดยอัยการขอให้ลงโทษเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปีและริบของกลางทั้งหมด
ส่วนในบันทึกการจับกุมของตำรวจก่อนหน้านี้ระบุถึงของกลางที่ตรวจพบบนรถว่า พบของกลาง คือ แผ่นไวนิลข้อความ "นายกไทยใครๆ ก็โดนล้อ" 1  แผ่น ไมโครโฟน ลำโพง ที่่คั่นหนังสือ "โหวตโน", จุลสาร การออกเสียง จำนวน 66 ฉบับ, แผ่นเอกสาร ปล่อย 7 นักโทษประชามติโดยไม่มีเงื่อนไข 21 แผ่น, แผ่นเอกสาร ความเห็นแย้ง 2 ฉบับ, เอกสารแถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ ฉบับลงประชามติ 9 ฉบับ, เอกสารจะใช้สิทธิลงประชามตินอกเขตจังหวัดทำอย่างไร 70 ฉบับ และสติ๊กเกอร์โหวตโนจำนวนมาก
ภายหลังได้รับการประกันตัวในชั้นศาล อนันต์ โลเกตุ หนึ่งในจำเลยคดีให้สัมภาษณ์ว่า ดูจากสำนวนแล้ว ไม่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะตนเองไม่ได้ทำตั้งแต่แรก วันดังกล่าวมีเจตนามาเยี่ยมผู้ต้องการคดีศูนย์ปราบโกง ที่บ้านโป่ง ซึ่งถูกกล่าวหาว่าผิดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/25583/58 เช่นเดียวกับตนเอง (คดีที่สภ.บางเสาธง)
"ประชามติน่าจะอิสระกว่านี้ ในทางสากลเขาก็รณรงค์ได้ เราไม่สามารถบังคับให้ใครออกเสียงเหมือนเราได้" อนันต์กล่าว

ปกรณ์ อารีกุล หรือแมน หนึ่งในจำเลยคดีนี้ให้สัมภาษณ์ว่า เห็นคำฟ้องอัยการแล้วรู้สึกแปลกใจที่ระบุว่าจำเลยแจกสติ๊กเกอร์ ขัด พ.ร.บ.ประชามติ ไม่ใช่เรื่องเนื้อหา แผ่นพับ หรือเอกสารความเห็นแย้งเลย จึงคิดว่าสำนวนค่อนข้างอ่อน เพราะข้อความในสติ๊กเกอร์คือ “7 สิงหา Vote No ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก” ไม่ใช่ข้อความเท็จ เมื่ออ่านร่างรัฐธรรมนูญย่อมเห็นว่าถ้าร่างนี้ผ่าน จากทั้งประเด็นเรื่อง ส.ว.สรรหา และยุทธศาสตร์ชาติ จะทำให้เกิดรัฐซ้อนรัฐ ส่วนการมองว่าเป็นการปลุกระดม การปลุกระดมตามที่อัยการตีความนั้นจะสำเร็จต่อเมื่อประชาชนเขารับสติ๊กเกอร์แล้วไปโหวตโน คำถามคือจะพิสูจน์อย่างไรถ้าฟ้องเช่นนี้ ตอนนี้จำเลยทุกคนปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดเพราะคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นความผิด แม้ประชามติจบแล้วแต่คดียังเดินหน้า วันนี้ศาลรับฟ้องแต่มีนัดไกล่เกลี่ยศูนย์สมานฉันท์ซึ่งจะไกล่เกลี่ยได้ก็ต้องรับสารภาพก่อนแต่ทุกคนยืนยันจะปฏิเสธ ที่ตกใจคือ ท้ายคำฟ้องอัยการขอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งสิบปีด้วยถือว่ารุนแรงมาก
“คนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองแบบเรา การตัดสิทธิทางการเมืองสิบปี รุนแรงกว่าการติดคุกสิบปี เพราะเราเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนคือการที่เรามีสิทธิทางการเมืองในการกำหนดอนาคตตัวเอง และอนาคตประเทศด้วยการมีสิทธิเลือกตั้ง” ปกรณ์กล่าว