แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย เรื่องไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ยอมรับอำนาจของประชาชน
ตามที่พรรคเพื่อไทยได้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่า เป็นร่างฯ ที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตยหลายส่วน และยังจะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสร้างปัญหาให้กับประเทศมากยิ่งขึ้น จึงมีความเห็นว่า ไม่อาจที่จะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้ด้วยเหตุผลดังนี้
• ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม
“ระบอบประชาธิปไตย” เป็นระบอบการปกครองที่ถือว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของประชาชน เมื่อรัฐธรรมนูญเป็นกติกาสูงสุดซึ่งใช้ในการปกครองประเทศที่ส่งผลโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนในสังคม จึงต้องให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการยกร่างฯ
แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นผลมาจากการรัฐประหารของ คสช. และ คสช. เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างขึ้นเอง เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญจึงเป็นไปตามความต้องการของ คสช. เป็นหลักมากกว่าเพื่อประโยชน์ของประชาชน
• ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะสร้างปัญหาทางการเมืองให้เพิ่มมากขึ้น
ระบบการเมืองและการเลือกตั้งมีผลโดยตรงต่อการพัฒนาการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ถ้าการเมืองมีปัญหา พรรคการเมืองอ่อนแอ รัฐบาลไร้เสถียรภาพก็ไม่อาจที่จะพัฒนาประเทศชาติ และคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เจริญก้าวหน้าและอยู่ดีกินดีได้
บทพิสูจน์นี้ยืนยันได้จากรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ได้สร้างเสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดีของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้สร้างกลไกที่จะนำไปสู่ปัญหาการเมืองหลายประการ เช่น สร้างระบบเลือกตั้งที่ไม่เคยมีใช้ที่ใดในโลก เอาประเทศและประชาชนเป็นตัวประกันเพื่อลองผิดลองถูก ซึ่งระบบนี้จะสร้างให้เกิดรัฐบาลผสมหลายพรรค รัฐบาลไร้เสถียรภาพและประสิทธิภาพในการบริหาร วางกลไกเพื่อเปิดช่องให้บุคคลที่ไม่ได้เป็น ส.ส.มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งที่การเรียกร้องให้นายกฯ มาจาก ส.ส.นั้น กว่าจะได้มาต้องเสียเลือดเสียเนื้อของพี่น้องประชาชนไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งระบบเลือกตั้งดังกล่าวประชาชนไม่มีสิทธิในการ “เลือกคนที่รัก” และ “เลือกพรรคที่ชอบ” ได้เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 แต่ถูกบังคับให้เลือกทั้งคนและพรรคด้วยบัตรเลือกตั้งใบเดียว นอกจากนี้ยังนำคะแนนของผู้แพ้การเลือกตั้งมาคำนวณเพื่อเพิ่มจำนวน ส.ส.ให้พรรคที่แพ้เลือกตั้ง ขัดหลักประชาธิปไตย ในที่สุดรัฐบาลที่ได้มาจะเป็นรัฐบาลที่อ่อนแอไร้เสถียรภาพและประสิทธิภาพ เกิดปัญหาขัดแย้งกันได้ง่าย อายุรัฐบาลสั้น สูญเสียงบประมาณในการเลือกตั้งบ่อยครั้ง รัฐบาลจะสนใจแต่จะแก้ปัญหาตนเองมากกว่าปัญหาของประชาชน
• ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ที่อำนาจการปกครองประเทศไม่ได้เป็นของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้สร้างกลไกที่ลดทอนอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นผู้แทนของปวงชน แต่เพิ่มอำนาจให้ ส.ว. ซึ่งมาจากการสรรหา ยิ่งระยะ 5 ปีแรกหลังใช้รัฐธรรมนูญ ส.ว. 250 คนล้วนมีที่มาจาก คสช. ทั้งสิ้น โดยอ้างว่าเพื่อปฏิรูปและวางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศทั้งที่เรื่องดังกล่าวควรเป็นอำนาจหน้าที่ของตัวแทนประชาชน ส.ว. 250 คนจะเป็นกลไกในการยับยั้งกฎหมายของรัฐบาลที่มาจากประชาชน ยังสามารถลงมติร่วมกับ ส.ส. เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มิได้เป็น ส.ส. ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การปกครองประเทศจึงยังคงเป็นของ คสช.โดยทางอ้อม และหากคนของ คสช. ได้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยก็จะเป็นการควบคุมอำนาจการปกครองแบบเบ็ดเสร็จ ทิศทางของประเทศจึงเป็นไปตามความคิดของ คสช. มากกว่าที่จะเป็นไปตามความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่
• ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะนำพาเศรษฐกิจของประเทศดิ่งเหวยิ่งขึ้น
เมื่อรัฐธรรมนูญไม่มีความเป็นประชาธิปไตย มีแนวโน้มที่จะสร้างปัญหาทางการเมืองมากขึ้น ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของต่างประเทศ การลงทุนในประเทศจะลดลง การส่งออก ยิ่งเกิดวิกฤต ทั้งที่ขณะนี้ประเทศและประชาชนก็ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจมากอยู่แล้ว หลังใช้รัฐธรรมนูญ วิกฤตทางเศรษฐกิจจะมีมากยิ่งขึ้น
• ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ที่สร้างให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเหนือสภาและรัฐบาล
ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ไม่มีความเชื่อมโยงกับอำนาจของประชาชน แต่กลับมีอำนาจมากล้นในการตรวจสอบอำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรีและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ สามารถถอดถอนรัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. โดยอาศัยเพียงเสียงข้างมาก ในอนาคตการทำหน้าที่ของ ส.ส. และรัฐบาลจะติดขัดไปหมด เพราะคนที่ไม่พอใจจะไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยง่าย ทั้งที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญได้สร้างวิกฤตศรัทธาให้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง
• ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ที่สร้างภาพว่าเพื่อปราบโกง โดยมุ่งสกัดกั้นนักการเมืองและพรรคการเมือง แต่มิได้ปฏิรูปและวางระบบเพื่อแก้ปัญหาฉ้อราษฎรบังหลวงเลยแม้แต่น้อย
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อ้างเสมอว่าเพื่อปราบโกง แต่แท้จริงแล้ว กลับสร้างกลไกให้ข้าราชการประจำเข้ามามีอำนาจทางการเมือง ดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่คนใน คสช. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ รัฐบาล รวมทั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ก็เป็นข้าราชการในกองทัพและข้าราชการประจำอื่นๆ กินเงินเดือนจากภาษีของประชาชนหลายตำแหน่งหลายทาง และรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นก็เปิดช่องทางให้แต่งตั้งข้าราชการประจำดำรงตำแหน่ง ส.ว. ด้วย ไม่ปรากฏให้เห็นว่าได้มีความพยายามที่จะปฏิรูปและวางแนวทางแก้ไขปัญหาทุจริตอย่างเป็นระบบ ไม่มีการปฏิรูปองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ผ่านมาได้สร้างวิกฤตให้แก่ชาติหลายครั้ง
• ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ที่สร้าง “ยุทธศาสตร์บังคับเดิน 20 ปี”
รัฐบาลที่มาจากการตัดสินใจของประชาชนไม่สามารถกำหนดนโยบายในการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนได้โดยอิสระ หรือตามสภาพความเป็นจริง เพราะต้องปฏิบัติหรือดำเนินการบริหารบ้านเมืองตามกรอบยุทธศาสตร์ 20 ปีของ คสช. ซึ่งยังไม่เคยมีประสบการณ์ หรือยังไม่เคยพิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถและความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาของประชาชนจนเป็นที่ประจักษ์ชัด อาจกล่าวได้ว่า “2 ปีที่ผ่านมา ยังไม่ได้ทำให้ประชาชนรู้สึกว่ามีอะไรดีขึ้น ถ้าจะให้บริหารต่อไปอีก 5 ปี ชีวิตของเราจะดีขึ้นกว่านี้อย่างไร ยิ่งถ้าต้องให้เดินตามต่อไปอีก 20 ปีตามแผนยุทธศาสตร์ นึกไม่ออกจริงๆ ว่า จะเป็นอย่างไร”
• ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ที่ทำประเทศถอยหลัง
โลกยุคปัจจุบันและอนาคต แข่งขันกันที่ความเร็วและความเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา
“วิธีคิดตามรัฐธรรมนูญ” ที่จัดทำขึ้น ไม่สามารถตามทันโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประชาชนได้ทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นซึ่งรังแต่จะทำให้ “ประเทศถอยหลังและตกเป็นเหยื่อของการเปลี่ยนแปลง” จนถึงกับมีบางคนกล่าวเปรียบเทียบว่า “อนาคตของไทย คือ อดีตที่ผ่านพ้นมากว่า 20 ปีของพม่า”
• ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญที่จะสร้างความขัดแย้งให้เพิ่มมากขึ้นในสังคม ความปรองดองก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้
ปัญหาความแตกแยกทางความคิดของคนในสังคม เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ รัฐบาล คสช. เข้ามาบริหารประเทศ 2 ปี กลับไม่ได้สร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น แต่กลับมีความขัดแย้งเพิ่มขึ้น แทนที่จะใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาดังกล่าว กลับมีกลไกที่สร้างปัญหาความขัดแย้งเพิ่มขึ้นหลายประเด็น เช่น ปัญหาความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาล ปัญหาระหว่างศาลรัฐธรรมนูญ ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ความขัดแย้งระหว่าง ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งกับสภาผู้แทนราษฎร อาจจะได้เห็นการใช้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเป็นเครื่องมือทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองขึ้นอีกเหมือนเช่นที่ผ่านมา จนเกิดวิกฤตศรัทธาต่อศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ
เมื่อเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย สร้างปัญหาทางการเมือง จำกัดโอกาสของประเทศในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ลดทอนสิทธิและโอกาสของประชาชน ให้คนเพียงกลุ่มเดียวกำหนดทิศทางคนทั้งประเทศ ทั้งที่ไม่ใช่ตัวแทนประชาชน สร้างอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ มีอำนาจเหนือตัวแทนของประชาชน วางกลไกให้มีการสืบทอดอำนาจต่อไป จึงสมควรที่ประชาชนจะร่วมกัน “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ
กล่าวโดยสรุป พรรคเพื่อไทยมีข้อเสนอแนะต่อพี่น้องประชาชน ดังนี้
1) พรรคเพื่อไทย ขอให้พี่น้องประชาชนร่วมกันออกมาลงประชามติ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ยอมรับอำนาจของประชาชน และขาดความเป็นประชาธิปไตย
2) พรรคเพื่อไทย เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ก่อนการลงประชามติ เนื่องจากไม่ได้กำหนดว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติแล้วจะดำเนินการอย่างไร อันเป็นการเอาเปรียบประชาชน
โดยให้แก้ไขอย่างชัดเจนว่า “หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ให้นำรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มาปรับแก้และประกาศใช้เป็นการชั่วคราว” พร้อมกับ “จัดให้มีการเลือกตั้งภายในไม่เกิน 6 เดือน” เพื่อให้การบริหารประเทศ และการแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชน ไม่สะดุด หรือกระทบกระเทือน หลังจากนั้น “ให้รัฐบาลจัดให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการยกร่างจนถึงการให้ความเห็นชอบด้วยการลงประชามติ เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยทั้งในส่วนของเนื้อหาและกระบวนการได้มา
3) พรรคเพื่อไทย เข้าใจถึงการรอคอยของประชาชนที่ต้องการให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว แต่การเลือกตั้งภายใต้กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และสร้างปัญหาในอนาคตนั้น จะสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนและประเทศชาติจนยากที่จะแก้ไขได้
อย่างไรก็ตาม แม้ประชาชนจะลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยมั่นใจว่าจะต้องมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นภายในปี 2560 เพราะหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีได้ประกาศไว้ต่อสาธารณชนและนานาประเทศหลายครั้งหลายหน ยืนยันว่าจะต้องมีการเลือกตั้งภายในกำหนดเวลาดังกล่าวอย่างแน่นอน
จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
พรรคเพื่อไทย 30 มีนาคม 2559