วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

เหตุใดบรรดาเหล่าคนดีจึงทำนกหวีดหายไป



เป็นปริศนาอันน่าฉงนระดับเดียวกับความสงสัยที่ว่าพญานาคมีจริงหรือไม่ หรือฐานทัพ Area 51 ของสหรัฐอเมริกาเกี่ยวข้องกับมนุษย์ต่างดาวอย่างไร เมื่อบรรดาคนดีทั้งหลายซึ่งเคยรวมพลังกันภายใต้ชื่อปฏิวัตินกหวีด (Whistle Revolution) อันมีกลุ่ม กปปส.เป็นตัวจักรสำคัญ ล้วนประพฤติตนเหมือนนกกระจอกเทศซุกหัวของตัวเองลงทราย เมื่อข่าวไม่ดีไม่งามเกี่ยวกับรัฐบาลและกองทัพในปัจจุบันโชยกลิ่นมาอยู่ไม่ขาด แน่นอนว่าหากเกิดกรณีเหล่านี้ขึ้นกับรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรหรือนักการเมืองคนอื่น ๆ ในเครือข่ายทักษิณแล้วไซร้ เราคงเห็นกลุ่มคนดีร่วมกันทะยานดุจดังราชสีห์ออกมาเป่านกหวีดเพื่อขับไล่คนชั่วให้พ้นไปจากผืนแผ่นดินไทยโดยพลัน  ปริศนาที่ว่าก็คือเหตุใดในนาทีนี้บรรดาเหล่าคนดีจึงทำนกหวีดหายไป
ต่อไปนี้เป็นปัจจัยที่นำไปสู่การไขปริศนาในระดับหนึ่ง

1. ผู้ปลุกระดม (Agitator) และกลุ่มอำนาจซ่อนเร้น (Power that be)
การระดมมวลชนหรือคนจำนวนมากออกมาประท้วงพร้อมกันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ  แม้ว่าสถานการณ์บางอย่างทางการเมืองจะเอื้ออำนวยเช่นรัฐบาลเต็มไปด้วยการทุจริตคอรัปชั่นโดยเฉพาะประเทศไทยที่มีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบเฉื่อยชาแม้แต่ในบรรดาชนชั้นกลางเองก็ตาม มวลชนมักขาดความใส่ใจเรื่องการเมืองหรือแม้จะทราบหรือสนใจการเมืองอยู่บ้างแต่ก็ขาดการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างสม่ำเสมอ การออกมาประท้วงจึงต้องอาศัยคนกลางหรือ นักปลุกระดม  ในการเร่งเร้ามวลชน
นักปลุกระดมสำหรับบรรดาคนดีเป่านกหวีด ย่อมเป็นตาสีตาสาไปไม่ได้ เพราะจะต้องเป็นคนดังหรือคนน่าเชื่อถือในแวดวงต่างๆ ที่ชนชั้นกลางชื่นชอบหรือให้การนับถือ เช่นแวดวงการเมือง อย่างกำนันสุเทพและสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นแกนนำของกลุ่มกปปส.  แวดวงบันเทิงเช่นดร.เสรี วงษ์มณฑา สินใจและฉัตรชัย เปล่งพานิช พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ศรัญญู วงศ์กระจ่าง นิติพงษ์ ห่อนาค ฯลฯ แวดวงผู้อาวุโสที่น่าเลื่อมใสอย่างเช่นวิสิษฐ เดชกุญชร หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล  ปราโมทย์ ไม้กลัด ฯลฯ  แวดวงนักวิชาการเช่น สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ บรรเจิด สิงคะเนติ  ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ สุลักษณ์ ศิวลักษณ์  ฯลฯ อีกทั้งยังไม่นับนักวิชาการระดับรองๆ ลงมาในมหาวิทยาลัยที่มักลงชื่อในการประท้วงผ่านจดหมายเปิดผนึกถึงยิ่งลักษณ์ เช่นเดียวกับผู้นำในแวดวงอื่นๆ ไม่ว่าเอ็นจีโอ พระสงฆ์ ทหาร ตำรวจ แพทย์ ฯลฯ โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าวต่างมีอุดมการณ์ค่อนข้างแตกต่างกันตั้งแต่อนุรักษ์นิยม ศาสนานิยมจนไปถึงหัวเสรีนิยม สังคมนิยม อนุรักษ์ธรรมชาติ ฯลฯ จึงสามารถดึงดูดฝูงชนที่หลากหลายความคิดได้
นักปลุกระดมเหล่านี้มีแรงจูงใจอันต่างกันเช่นบางกลุ่มอาจมาเองด้วยความบริสุทธิ์ใจคือต้องการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยไปในทางที่ดีขึ้น หรือบางกลุ่มอาจได้รับการว่าจ้างและการสนับสนุนจาก กลุ่มอำนาจซ่อนเร้น ที่เป็นปรปักษ์กับทักษิณและเครือข่ายโดยนอกจากจะสนับสนุนในด้านทีมงานและค่าใช้จ่ายสำหรับการประท้วงด้วยแล้ว สมาชิกของกลุ่มอำนาจซ่อนเร้นหลายคนยังสวมบทบาทนักปลุกระดมด้วยจากระยะทางที่ห่างไกลหรือแสดงสัญลักษณ์บางอย่างที่ทำให้กลุ่มเป่านกหวีดรับรู้ได้  
ปัจจุบันนักปลุกระดมจำนวนไม่น้อยได้ผสมเป็นหนึ่งเดียวกับระบอบทหารโดยการรับตำแหน่งในคณะกรรมการต่างๆ หรือการรับภารกิจที่รัฐบาลชุดปัจจุบันหรือกองทัพมอบหมายให้ หรืออย่างน้อยก็มักด่าทักษิณและเครือข่ายทางโซเชียลมีเดีย หรือในทางกลับกันก็เลิกยุ่งเกี่ยวกับการเมืองโดยการลงรูปตัวเองกับแฟนหรือครอบครัวไปเที่ยวต่างประเทศ  อัพเดตการเจริญเติบโตของลูกตัวเอง ธรรมะสวัสดี สดุดีเจ้า หรือ ช่วยเหลือสังคมเล็ก ๆ น้อย ๆ  ฯลฯ  ผ่านเฟซบุ๊คหรืออินสตราแกรม ท่ามกลางข่าวทหารตำรวจจับกุมตัวนักศึกษาที่ทำการประท้วงรัฐบาลหรือโดนคดีอาญามาตรา 112  อย่างไร้ความยุติธรรม สำหรับกลุ่มอำนาจซ่อนเร้นไม่ต้องกล่าวถึงเพราะพวกเขาไม่มีทางจะจับมือกับทักษิณและเครือข่ายได้จริงๆ    
ดังนั้นในปัจจุบัน แม้จะมีคนจำนวนมากที่เคยออกมาเป่านกหวีดจะรู้สึกเสื่อมศรัทธากับรัฐบาลก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถรวมตัวกันได้เหมือนเดิม เพราะ ไม่มีนักปลุกระดมและกลุ่มอำนาจซ้อนเร้นดังกล่าว นักเป่านกหวีดสามัญชนจึงได้แต่ก่นด่ารัฐบาลทางโลกโซเชียลมีเดียจนกลายเป็นนักประท้วงบนคีย์บอร์ดเท่านั้น แม้ว่ามีบางกลุ่มที่ยังออกมาประท้วงอยู่แต่ก็เป็นไปในลักษณะหัวเดียวกระเทียมลีบและยังถูกจำกัดบทบาทหรือปราบปรามโดยระบบราชการที่ภักดีต่อรัฐบาลปัจจุบัน (ดูปัจจัยข้อ 3) สำหรับนักปลุกระดมที่สนับสนุนทักษิณและเครือข่ายก็ถูกกองทัพเข้าจัดการจนหมดบทบาทไป สมมติว่าคนเหล่านั้นยังคงมีบทบาททางการเมืองอยู่ พวกคนดีก็คงทำใจได้ยากที่จะก้าวเดินตามคนอย่างนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อหรือนายจตุพร พรหมพันธุ์ได้ยาก ส่วนนักวิชาการที่อยู่ตรงกันข้ามกับรัฐบาลก็ไม่สามารถแสดงความคิดทางการเมืองอย่างเสรีได้มากนักจึงไม่สามารถชี้นำมวลชนให้ขบถต่อรัฐบาลได้เหมือนกับกลุ่มกปปส.

2.การครอบงำของสื่อมวลชน (Media manipulation)
ผู้เขียนเคยได้ยินนักวิชาการของกลุ่มกปปส.ท่านหนึ่งบอกว่าสื่อมวลชนถูกผูกขาดโดยทักษิณ ซึ่งผู้เขียนคิดว่าค่อนข้างคลาดเคลื่อนอยู่ไม่น้อย เป็นเรื่องจริงที่ว่าตอนทักษิณมีอำนาจในช่วงแรก สื่อมวลชนจำนวนมากต่างพร้อมใจกันสนับสนุนรัฐบาล แต่ในช่วงหลังจากนั้นสื่อมวลชนก็เริ่มตีตนออกจากห่างทักษิณและเครือข่าย จะมีกรณีที่ภักดีอย่างเช่นกรมประชาสัมพันธ์ซึ่งเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในทุกยุคทุกสมัย และ ไอทีวีซึ่งเคยเป็นของทักษิณ หรือสื่อของคนเสื้อแดงและสื่อในท้องถิ่นอย่างสถานีวิทยุชุมชนซึ่งภาพลักษณ์และอิทธิพลไม่สามารถเทียบได้กับสื่อมวลชนกระแสหลักภายใต้กลุ่มอำนาจซ่อนเร้น ที่มีอิทธิพลต่อชนชั้นกลางไม่ว่าสถานีโทรทัศน์ วิทยุ นิตยสารไฮโซ หนังสือ รวมไปถึงสื่อทางอินเทอร์เน็ตที่หันมาโจมตีทักษิณและเครือข่ายตอนช่วงท้าย ๆ ก่อนจะเกิดรัฐประหารปี 2549  ด้วยข้อมูลที่เน้นไปทางเท็จภายใต้กระบวนการทำทักษิณและเครือข่ายให้เป็นปีศาจ (Demonization) สื่อมวลชนกระแสหลักยังประสบความสำเร็จในการสร้างวัฒนธรรมชนชั้นกลางหัวขบถต่อรัฐบาลที่แสนชั่วร้ายจนกลายเป็นตัวดึงดูดมวลชนจำนวนมาก แม้แต่ชนชั้นรากหญ้าเองก็มีความปีติไม่ได้น้อยที่จะถูกผนวกเข้ากับการเป็นชนชั้นกลาง นั่นคือได้เดินเคียงบ่าเคียงไหล่กับคนดังหรือคนมีฐานะดีที่พวกเขาทั้งอิจฉาและให้ความทึ่งอยู่เสมอมา
ในปัจจุบันสื่อมวลชนเหล่านั้นจำนวนมากสมัครใจสงบเงียบอยู่ใต้รองเท้าบูท มีสื่อจำนวนหนึ่งสนับสนุนรัฐบาลอย่างน่าละอายใจอย่างเช่นสถานีวิทยุในเครือ อสมท. เช่นเดียวกับสำนักโพลหลายสำนักที่มักอ้างทัศนคติของประชาชนมาประจบประแจงรัฐบาล แต่ก็มีสื่อมวลชนอีกพอสมควรที่กล้าวิจารณ์รัฐบาล (ตลกที่ว่าหนึ่งในนั้นมีหนังสือพิมพ์อย่างบางกอกโพสต์อยู่ด้วย) หรือเปิดเผยข้อมูลอันไม่ดีไม่งามของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งมีวัตถุประสงค์คือติเพื่อก่อเสียมากกว่าจะมุ่งเน้นการวิจารณ์รัฐบาลอย่างรุนแรงเหมือนยุคทักษิณและเครือข่าย เพราะสามารถถูกแบนโดยกสทช.ในที่สุด อันส่งผลให้เกิดความเงียบสงบของมวลชนที่เฝ้ามองการบริหารประเทศของรัฐบาลทหารด้วยความรู้สึกปะปนกัน แม้บ้างจะหูตาสว่าง (disillusioned) แต่คงมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังมองรัฐบาลอัศวินขี่ม้าขาวด้วยความศรัทธาอันไม่ผันแปร[1] ซึ่งทำให้การก่อการประท้วงเป็นเรื่องเป็นไปได้ยากยิ่ง

3. พลังอันยิ่งใหญ่แห่งระบบราชการ  (Supremacy of Bureaucracy)
ระบบราชการของไทยก็เหมือนกับของประเทศโลกที่ 3 นั่นคือมีพลังอันยิ่งใหญ่ที่สามารถต่อรองจนไปถึงคุกคามนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งได้เสมอมา โดยเฉพาะฝ่ายตุลาการและกองทัพซึ่งทรงพลังเหนือสังคมไทยไม่ว่ายุคใด พ.ศ.ไหน ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ตอนปลายถือได้ว่าถูกกระหน่ำรอบด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากระบบราชการซึ่งน่าจะเป็นแขนขาให้ แต่กลับกลายกลายเป็นตัวทำลายภูมิต้านทานของรัฐบาลจากกลุ่มผู้ต้องการโค่นล้มเหมือนเชื้อเอชไอวี (ยกเว้นบางกลุ่มเช่นตำรวจและกรมประชาสัมพันธ์) ดังเช่นการขัดขืนคำสั่งของนายกรัฐมนตรี หรือการเอื้อโอกาสให้กับกลุ่มประท้วง จนไปถึงการเข้าร่วมการประท้วงหรือแม้แต่เป็นนักปลุกระดมด้วยตัวเอง  ปรากฏการณ์เช่นนี้สำหรับประเทศประชาธิปไตยเสรีนิยมคงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ด้วยข้าราชการประจำมักเชื่อฟังนักการเมืองซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน แต่สำหรับไทยซึ่งยังมีการผลิตซ้ำความเชื่อที่ว่าข้าราชการคือเจ้าคนนายคนหรือบุคคลที่น่าเคารพเชื่อถือ เช่นเดียวกับ การผลิตซ้ำภาพตัวตาย  (Stereotype) ของนักการเมืองว่าโลภโมโทสัน เต็มไปด้วยความชั่วร้าย ข้าราชการที่หาญสู้กับนักการเมืองจึงเปรียบได้ดังอัศวินต่อสู้กับมังกรไฟ โดยไม่ต้องสงสัยว่าพวกเขาได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอำนาจซ่อนเร้นในข้อ 1 อีกเช่นกัน  
ในปัจจุบัน ไม่ว่ากลุ่มใดก็ไม่สามารถออกมาประท้วงในประเด็นการเมืองระดับประเทศได้อีกต่อไป แม้จะเป็นคนดี เพราะระบบราชการดังที่ได้กล่าวมาต่างมีความภักดีและได้สร้างความเข้มแข็งให้กับรัฐบาลเสียแล้ว พวกเขาจึงเป็นแขนขาให้กับรัฐในการจัดการกับกลุ่มกระด้างกระเดื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังเช่นบรรดานักศึกษาที่ประท้วงรัฐบาลทหาร รวมไปถึงกลุ่มประท้วงในเรื่องเฉพาะด้านอย่างกลุ่มประท้วงโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือกลุ่มวัดพระธรรมกาย

4. ลัทธิราชานิยมอย่างล้นเหลือ (Ultra-Royalism)
ลัทธิราชานิยมอย่างล้นเหลือ (หรือคลั่งเจ้า) หมายถึงการยกย่อง จงรักภักดีอย่างสุดจิตสุดใจต่อเจ้าและไม่ยินยอมรับฟังถึงคำวิจารณ์หรือข้อโต้แย้งต่อสถาบันในทุกกรณี อันถือได้ว่าเป็นอุดมการณ์หลักของกลุ่มคนดีเป่านกหวีด ดังจะเห็นได้ว่าปัจจัยข้างบนคือข้อ 1. ผู้ปลุกระดมและกลุ่มอำนาจซ่อนเร้น และข้อ  2.การครอบงำของสื่อมวลชน ล้วนแต่ได้รับการเสริมแรงจากลัทธิราชานิยมอย่างล้นเหลือ  แม้แต่ข้อ 3. พลังแห่งระบบราชการเองก็เห็นได้ว่า ข้าราชการจำนวนมากยกตัวตัวเองว่าเป็นข้าราชการสังกัดพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่ของรัฐบาล  สำหรับทักษิณและเครือข่ายมักถูกสร้างภาพโดยนักปลุกระดมและสื่อมวลชนกระแสหลักว่าเป็นผู้อยู่บนฝั่งตรงกันข้ามกับเจ้า ผ่านการแบ่งโลกออกเป็น 2 ส่วนตามโลกทัศน์แบบมานิเคียน (Manichean Worldview) นั่นคือมีฝั่งเทพและฝั่งปีศาจ
ดังนั้นทักษิณจึงเปรียบได้กับปีศาจ หรือผู้ปรารถนาจะโค่นล้มเจ้าและตั้งตัวเป็นประธานาธิบดี[2] หรือกลุ่มเสื้อแดงซึ่งนอกจากจะเผาบ้านเผาเมืองแล้วยังหมิ่นเบื้องสูงอยู่เป็นนิจ ความเชื่อดังกล่าวไม่สามารถพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงอย่างเป็นทางการ เพราะอิทธิพลของลัทธิราชานิยมอย่างล้นเหลือที่รัฐใช้ครอบงำสังคมผ่านกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่มายาคติดังกล่าวก็ได้กระตุ้นเร่งเร้าให้ชนชั้นกลางจำนวนมากออกมาเป่านกหวีดเพื่อขับไล่ปีศาจและบรรดาสมุนอย่างกระตือรือร้นยิ่ง[3] เพื่อป้องกันไม่ให้นำสังคมไทยเข้าสู่โลกแห่งความวิบัติหรือโลกที่ไม่มีเจ้า (dystopia)       
เมื่อปีศาจและบรรดาสมุนถูกกำจัดออกไปแล้ว พวกคนดีก็ตระหนักว่าพวกเขาได้กลับมาสู่โลกอันมั่นคงและอบอุ่นโดยมีสถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์กลางและขับเคลื่อนโดยระบบราชการและนายทุนซึ่งไม่ได้ชั่วร้ายเท่าทักษิณดังเดิม อีกทั้งยังปราศจากความขัดแย้งที่จะนำไปสู่สงครามกลางเมืองเหมือนซีเรียหรือเยเมน หรืออย่างน้อยก็เป็นโลกปกติซึ่งมีความชั่วร้ายในขอบเขตที่พวกเขาพอยอมรับได้ เหมือนคำพูดปลุกระดมของเสรี วงษ์มณฑาทำนองว่าการทุจริตคอรัปชั่นของคนอื่นนั้นพอยอมรับได้แต่ของเครือข่ายทักษิณเป็นที่ยอมรับไม่ได้ กล่าวอีกแง่มุมหนึ่งคือพวกเขากลับมาสู่วัฒนธรรมแบบไพร่ฟ้าอีกครั้งภายใต้ระบบการปกครองรัฐที่เปรียบได้ดังบิดาผู้มีเมตตา[4] พวกคนดีจำนวนมากจึงเปรียบได้ดังคนที่มี “ดวงตาเบิ่งกว้างแต่มองไม่เห็น” (ดังวลี Eyes Wide Shut ซึ่งเป็นชื่อภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของสแตนลีย์ คิวบริก) คือเห็นความชั่วร้ายของผู้มีอำนาจในแต่ปัจจุบันแต่ก็ไม่ใส่ใจ แม้จะมีคำถามเชิงเยาะเย้ยของฝ่ายตรงกันข้ามมาอยู่เรื่อยๆ  
ตามความจริงแล้วบรรดาคนดีอาจไม่ได้ทำนกหวีดหายไปก็ได้ พวกเขาได้แต่เก็บมันอย่างทะนุถนอมไว้ในกล่องเพื่อรอหยิบมันขึ้นมา เมื่อปัจจัยข้างบนได้ส่งอิทธิพลอีกครั้งหนึ่งภายหลังจากที่นักการเมืองได้กลับขึ้นมามีอำนาจอีกครั้ง    

เชิงอรรถ         

[1] เนื่องจากปัจจุบันการทำโพลที่ซื่อสัตย์ต่อความเป็นจริงนั้นหาได้ยากมากหรืออาจไม่มีเลย ทำให้ผู้เขียนนึกไม่ออกว่าจะยังมีคนที่ศรัทธาอย่างแท้จริงต่อรัฐบาลกี่คนบนความเชื่อที่ว่ารัฐบาลเต็มไปด้วยคนดีและความมุ่งมั่นในการปฏิรูปการเมืองให้ใสสะอาดอย่างแท้จริง ส่วนข่าวอันไม่ดีไม่งามนั้นเกิดจากความชั่วร้ายของฝ่ายตรงกันข้ามที่ต้องการใส่ร้ายป้ายสีรัฐบาลของลุงตู่
[2] ประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐในประเทศที่เป็นสาธารณรัฐ นั่นคือประเทศที่ไม่มีระบอบกษัตริย์ อนึ่งตัวอย่างโดดเด่นอันอื่นๆ ได้แก่นักวิชาการท่านหนึ่งซึ่งกล่าวหาว่าทักษิณทำตัวเหมือนกับเป็นฮิตเลอร์ ซึ่งอาจสมเหตุสมผลในระดับหนึ่งที่ว่าทักษิณพยายามรวบอำนาจเหมือนกับผู้นำนาซี แต่ดูเหมือนนักวิชาการท่านนั้นจะพยายามสร้างความเข้าใจให้ถึงขั้นว่าทักษิณสามารถสร้างความพินาศให้กับประเทศไทยเหมือนกับการที่ฮิตเลอร์ผลักดันให้เยอรมันเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งปราศจากมูลความจริงทั้งสิ้น และท่านก็ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรกับคำพูดของตัวเองแม้แต่น้อยทั้งที่ท่านมีความรู้ในด้านกฎหมายอย่างดี
[3] การทำให้ทักษิณเป็นปีศาจยังฟอกตัวพวกเขาให้กลายเป็นคนดี เพราะสำนึกของชนชั้นกลางเต็มไปด้วยปมด้อยจากการถูกโจมตีอยู่เสมอว่าไม่สนใจการเมืองและชะตากรรมของชาติเลย  ผู้เขียนจึงมองว่าการประท้วงของกลุ่มกปปส.จึงเปรียบได้ดังพิธีกรรมแห่งการล้างบาปของศาสนาคริสต์ แม้คุณธรรมหรือโลกทัศน์ทางการเมืองของพวกเขาจะไม่ต่างอะไรกับฝ่ายตรงกันข้ามเลย (บางทีอาจแย่ยิ่งกว่าด้วยซ้ำ) จนถึงปัจจุบัน
[4] เป็นเรื่องจริงที่ว่าข้าราชการบางกลุ่มเช่นตำรวจถูกสังคมประณามอย่างมากจากเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นและความบกพร่องในการปฏิบัติงาน (รวมถึงทหารในปัจจุบัน) กระนั้นเองสาธารณชนอีกจำนวนไม่น้อยยังให้ความไว้ใจอยู่หากเทียบกับนักการเมืองซึ่งถูกผลิตซ้ำภาพว่าแสนฉ้อฉลแล้ว

ปม 7 สนช. วีระชี้หากเป็นญี่ปุ่น-เกาหลี ลาออกไปแล้ว 'พิชัย' แนะ 'ประธาน สนช.' โชว์สปิริตลาออก



Mon, 2017-02-27 14:42


วีระ ถาม 7 สนช.ละอายใจบ้างไหม? ปมโดดร่ม ไม่เข้าประชุมเพื่อลงมติ ชี้หากเป็นญี่ปุ่น-เกาหลี เขาลาออกไปแล้ว ขณะที่ ปู่ พิชัย อดีต หน.ประชาธิปัตย์ แนะ 'ประธาน สนช.' โชว์สปิริตลาออก ชี้อยู่ต่อไร้ศักดิ์ศรี เหตุปล่อยให้สมาชิกทำผิดรัฐธรรมนูญ



27 ก.พ. 2560 จากกรณีที่ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ได้เปิดเผยผลสำรวจ เกี่ยวกับการเข้าประชุมของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พบว่า ตามข้อบังคับกำหนดให้สมาชิกต้องมาลงมติอย่างน้อย 1 ใน 3 ของทุกรอบ 90 วัน แต่พบสมาชิกอย่างน้อย 7 คน ที่ขาดประชุมเป็นประจำ จนอาจจะเป็นเหตุให้สิ้นสภาพการเป็นสมาชิกสนช. (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) นั้น โดยต่อมา ประธานคณะกรรมการจริยธรรม สนช. ตั้งอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีดังกล่าว พร้อมระบุด้วยว่าจะทราบผลใน 30 วัน


ล่าสุดวันนี้(27 ก.พ.60) มติชนออนไลน์ รายงานว่า พิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตประธานรัฐสภา กล่าวถึงการลาประชุมของ 7 สมาชิก สนช.จนขาดการลงมติเกิน 1 ใน 3 ตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 9(5) กำหนดไว้ว่า ที่ผ่านมาสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติ ที่มาตามระบอบประชาธิปไตย ไม่เคยกำหนดกฎเกณฑ์ในลักษณะนี้ไว้ แต่พอมาถึงการรัฐประหารโดย คสช. เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ก็ต้องการแสดงให้เห็นว่าบุคคลที่ถูกแต่งตั้งเข้ามาเป็นสมาชิก สนช.ที่ส่วนใหญ่เป็นทหาร จะทำงานได้อย่างดี มีระเบียบวินัย จึงวางกฎดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญ จากประสบการณ์การเป็นนักการเมือง ตามระบอบประชาธิปไตย เมื่อมีข้อครหาทางการเมืองเกิดขึ้น ก็จะมีการแสดงความรับผิดชอบ อย่างตนก็เคยลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เพราะเป็นเรื่องสปิริตในทางการเมือง


“ถ้าผมเป็นประธาน สนช.ตอนนี้ ก็จะขอลาออก ในเมื่อมีการปล่อยให้สมาชิกทำผิดรัฐธรรมนูญ แม้จะมีข้อบังคับ สนช.กำหนดให้ขาดลงมติเท่าไรก็ได้หากยื่นใบลา แต่ผู้ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมายไปบังคับใช้ในสังคม ต้องมีความรับผิดชอบ ยึดหลักการทำหน้าที่ตามกฎหมายสูงสุดคือรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ดีกว่าอยู่ทำหน้าที่ต่อไปภายใต้อาณัติของผู้มีอำนาจ แต่ไร้ศักดิ์ศรี ประธาน สนช.ที่เป็นถึงอดีตผู้พิพากษาน่าจะทราบดี เหตุการณ์นี้จะช่วยทำให้คนเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยที่ให้ประชาชนเลือกผู้แทนเข้ามาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติในสภา แม้จะมีความขัดแย้ง แต่มันก็ยังตรวจสอบได้” อดีตประธานรัฐสภากล่าว



       วันเดียวกัน วีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก 'Veera Somkwamkid' กรณีนี้ด้วยว่า ตามที่เลขาธิการวุฒิสภา ซึ่ง ทำหน้าที่เลขาธิการ สนช. ได้นำสถิติการเข้าประชุมและการลาในรอบปี 2559 ของ 7 สนช.ออกมาแถลงยืนยันว่าเป็นไปอย่างถูกต้องแล้ว นอกจากนี้ พีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยังกล้าพูดอย่างไม่อายปากว่า “ข้อมูลการลงมติไม่ใช่ความลับ เป็นข้อมูลเปิดเผยเข้าไปดูได้ ไม่ต้องมาเถียงกันเรื่องตัวเลข เพราะตัวเลขราชการน่าจะถูกต้องกว่า สิ่งที่เลขาธิการวุฒิสภาแถลงอาจเป็นภาพรวมทั้งปี” ข้อมูลของไอลอว์ได้นำสถิติ 2 ช่วงมาเปิดเผย คือ ช่วงระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค. และ 1 เม.ย.-29 มิ.ย. อันเป็นช่วงเวลาครั้งละ 90 วัน ตามรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.2557 มาตรา 9 (5) ที่บัญญัติว่า “ถ้าสมาชิกไม่มาแสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เกินจำนวนที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุม ให้สมาชิกภาพการเป็น สนช.สิ้นสุดลง” และตามข้อบังคับการประชุมสภา สนช. พ.ศ.2557 ข้อ 82 ที่กำหนดว่า “สมาชิกที่ไม่แสดงตน เพื่อลงมติในที่ประชุมสภาเกินกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนครั้งที่มีการแสดงตน เพื่อลงมติทั้งหมด ในรอบระยะเวลา 90 วัน ให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลง

     2“ความจริง ทั้งประธาน สนช. เลขาธิการรัฐสภา และสมาชิก สนช.ทั้ง 7 คน ไม่ต้องออกมาอุ้ม ไม่ต้องออกมาเถียง ไม่ต้องออกมาแถว่า สนช.ทั้ง 7 ไม่ผิด เรื่องอื้อฉาวในทางไม่ดี ถ้าเป็นต่างชาติ เช่นญี่ปุ่น เกาหลี นักการเมืองหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ถูกเปิดโปงเขาจะไม่ดาหน้ากันออกมาช่วยคนทำผิดเหมือนของไทย คนที่ทำความผิดของเขาจะไม่รอให้มีผู้ใดมาตรวจสอบเพื่อลงโทษ ผู้ที่ทำความผิดจะรีบออกมาแสดงความรับผิดชอบโดยการลาออกเองทันที บางคนที่หน้าบาง รู้สึกละอายแก่ใจในความผิดที่ทำ ไม่อาจทนอยู่สู้หน้าผู้ใดได้ จะเลือกการฆ่าตัวตาย ก็ต้องรอดูว่า 7 สนช.ที่โดดร่ม ไม่เข้าประชุมเพื่อลงมติ จะมีผู้ใดลาออกเป็นคนแรก หรือจะมีผู้ใดไปผูกคอตายเป็นคนแรก หรือเลือกที่จะอยู่อย่างไม่สะทกสะท้านใดๆ ทั้งสิ้น ที่เรียกกันว่าไอ้พวกหน้าด้านหน้าทน ท่านผู้อ่านมาทายกันไหมครับว่า พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา และ สนช.ที่โดดร่มอีก 6 คนจะเลือกใช้วิธีใด?” วีระ โพสต์

วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

สำนักข้าหลวงใหญ่สิทธิยูเอ็นเรียกร้องปล่อย 'สมยศ' ชี้โทษยังแรงเกินไป


สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียกร้องปล่อยตัว "สมยศ พฤกษาเกษมสุข" ชี้โทษรุนแรงเกินไป
23 ก.พ. 2560 หลังศาลฎีกามีคำพิพากษาลดโทษ สมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin วัย 56 ปี จากเดิมจำคุก 10 ปี เป็น 6 ปี สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวสมยศทันที พร้อมย้ำจุดยืนเดิมที่เรียกร้องมาตลอดคือ ขอให้รัฐบาลไทยดำเนินการตามคำแนะนำของคณะทำงานยูเอ็นว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการที่ให้ปล่อยตัวสมยศและจ่ายค่าชดเชยให้กับเขา
โลคอง เมย์ยอง (Laurent Meillan) รักษาการตัวแทนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า แม้ว่าคำพิพากษาจะทำให้การปล่อยตัวสมยศเร็วขึ้น แต่เรายังกังวลเรื่องโทษที่รุนแรงอย่างสุดขั้ว
ก่อนหน้านี้ ในปี 2556 ข้าหลวงใหญ่สิทธิฯ ได้แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการลงโทษที่รุนแรงสุดขั้วต่อสมยศ และระบุว่า การตัดสินเช่นนี้จะส่งสัญญาณต่อเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทยในแบบผิดๆ กลไกสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นเรียกร้องให้รัฐบาลไทยหยุดการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อยับยั้งการวิพากษ์วิจารณ์และย้ำว่า การลงโทษทางอาญาที่รุนแรงภายใต้กฎหมายนี้ไม่จำเป็นและไม่ได้สัดส่วน
ในเดือนสิงหาคม 2555 คณะทำงานยูเอ็นว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ ชี้ว่า การคุมขังสมยศเป็นการกระทำโดยมิชอบและเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็น เพื่อปล่อยสมยศและจ่ายค่าชดเชยให้เขา เพื่อให้เป็นไปตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

13 ประเด็นสำคัญในคดี 112 สมยศ พฤกษาเกษมสุข



23 กุมภาพันธ์ 2560 

1.สมยศ เป็นใคร

สมยศเป็นนักรณรงค์เรื่องสิทธิแรงงานมาตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เน้นการให้ข้อมูลเรื่องสิทธิแรงงานแก่คนงาน เคลื่อนไหวเรียกร้องการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ยกเลิกระบบเหมาช่วง ส่งเสริมการรวมตัวของคนงาน การจัดตั้งสหภาพ ฯลฯ
เขาเป็นคนหนึ่งที่มีบทบาทโดดเด่นในทศวรรษ 2530 ที่แรงงานและนักศึกษาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้เกิด “ระบบประกันสังคม” ซึ่งเราใช้กันในทุกวันนี้
อ่านประวัติสมยศ

2.จุดเปลี่ยนสู่การเคลื่อนไหวทางการเมือง

หลังการรัฐประหาร 2549 บทบาทด้านการเมืองเด่นชัดขึ้น โดยเขาเริ่มออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ต่อต้านการรัฐประหาร เคยเป็นแกนนำ นปช.รุ่น 2 ในช่วงปลายปี 2552 หลังแกนนำรุ่นแรกถูกจำคุกอันมาจากเหตุของการชุมนุมของคนเสื้อแดงในเดือนเมษายนปีเดียวกัน
หลังจากนั้นไม่นาน เขาก่อตั้งกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ที่มักทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย

3. เคยรณรงค์ล่ารายชื่อยกเลิกมาตรา 112 ก่อนโดนจับ

ในปี 2554 หลังการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตเกือบร้อยราย ข้อถกเถียงของสังคมร้อนแรงและเกี่ยวพันกับบทบาทของสถาบันหลักต่างๆ ในสังคม สมยศและกลุ่มของเขาริเริ่มการรณรงค์ล่ารายชื่อ 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอยกเลิกกฎหมาอาญามาตรา 112  ซึ่งเป็นช่องทางตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นว่ามันเป็นกฎหมายที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในช่วงที่ความขัดแย้งทางการเมืองพุ่งสูง
นับเป็นกลุ่มเดียวที่รณรงค์ถึงขั้น “ยกเลิก” หลังจากนั้น 5  วัน หรือวันที่ 30 เมษายน 2554 เขาถูกจับกุมและแจ้งข้อหามาตรา 112 เหตุจากการตีพิมพ์บทความ 2 ชิ้นในนิตยสารเมื่อปีที่แล้ว

4.เคยถูกคุมขังในค่ายทหารนานนับเดือน

หลังสลายการชุมนุมใหญ่ นปช.ในปี 2553 สมยศ และ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เป็น 2 คนที่ถูกนำตัวไปควบคุมตัวยังค่ายอดิศร จังหวัดสระบุรี โดยไม่ได้ให้ติดต่อกับผู้ใด รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในสมัยนั้นอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุมตัวเพื่อซักถามข้อมูล เขาถูกคุมตัวตั้งแต่ 24 พฤษภาคม 2553 จนถึงประมาณ 23 มิถุนายน ขณะที่สุธาชัยนั้นถูกปล่อยตัวก่อนในวันที่ 31 พฤษภาคม

5. แชมป์ “นก” (หรือชวด) ประกันตัว

เขาถูกคุมขังตั้งแต่วันถูกจับกุมตัว ในชั้นพนักงานสอบสวน ชั้นอัยการ ชั้นศาล และระหว่างต่อสู้คดี รวมแล้วญาติและทนายความยื่นประกันตัวราว 15 ครั้ง ด้วยหลักทรัพย์ตั้งแต่ 4 แสน ถึง 2 ล้านบาท

6. คดีแรกในรอบทศวรรษ สู้ “เนื้อหา” ถึงศาลฎีกา (ใช้เวลา 6 ปี)

ในทศวรรษที่ผ่านมา คดีนี้ถือเป็นคดีแรกที่ต่อสู้ในทาง "เนื้อหา" แล้วมีการพิจารณาจนถึงศาลสูงสุด ก่อนหน้านี้ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล อดีตผู้ต้องขังคดี 112 เคยระบุว่าตั้งใจจะสู้คดีถึงศาลฏีกาแต่สุดท้ายก็ตัดสินใจสู้เพียงชั้นศาลอุทธรณ์เนื่องจากถูกคุมขังในเรือนจำยาวนานและมีสุขภาพที่ย่ำแย่ ส่วนอีกคดีหนึ่งที่สู้ถึงศาลฎีกาคือ คดีของ บัณฑิต อานียา ถูกจับกุมดำเนินคดีเมื่อปี 2546 ต่อสู้คดีว่าเป็นจิตเภท ในที่สุดศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำคุกแต่ให้รอลงอาญา 

7. ข้อกล่าวหา และ ข้อต่อสู้ในคดี

ตามคำฟ้องของโจทก์ กล่าวหาว่าเขาหมิ่นสถาบันด้วยการจัดพิมพ์ จัดจำหน่ายและเผยแพร่บทความ 2 ชิ้นในนิตยสารเสียงทักษิณ (Voice of Taksin) ฉบับเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2553 ชื่อว่า ‘แผนนองเลือด ยิงข้ามรุ่น’ และ ‘6 ตุลาแห่งพ.ศ.2553’ ตามลำดับ โดยผู้เขียนใช้นามแฝงว่า ‘จิตร พลจันทร์’
สมยศต่อสู้ใน 4 ประเด็นหลักคือ
       1.เขาไม่ใช่ผู้เขียน นามแฝงดังกล่าวเป็นของ จักรภพ เพ็ญแข ซึ่งบก.คนก่อนได้ทาบทามให้เขาเขียนมาก่อนแล้วก่อนที่สมยศจะเข้าไปทำงาน
       2.เขาไม่ใช่บรรณาธิการ Voice of Taksin เพียงแต่เป็นพนักงานคนหนึ่งซึ่งได้รับเงินเดือนเหมือนพนักงานคนอื่นๆ แต่ทำหน้าที่แตกต่างกันไป หน้าที่และตำแหน่งตามที่ตีพิมพ์ไว้ในปกหนังสือในทางพฤตินัยก็ไม่ตรงกับความเป็นจริง
แต่หากศาลจะฟังว่าจำเลยกระทำตัวเป็นบรรณาธิการต้องรับผิดชอบเนื้อความที่นำลงพิมพ์โฆษณาตามคำกล่าวหาของโจทก์ ตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ซึ่งแก้ไขใหม่ก็ไม่ได้บัญญัติให้บรรณาธิการเป็นเป็นรับผิดชอบในข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือที่ตนเป็นบรรณาธิการ โดยมีแนวคำพิพากษาฎีกาที่ 6268/2550  ตัดสินวางบรรทัดฐานไว้        
       3.เขาไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่นสถาบัน การลงบทความดังกล่าวเป็นไปตามระบบงาน มิใช่เป็นการกระทำโดยจงใจของจำเลย
       4.บทความทั้ง 2 ชิ้นไม่เป็นบทความที่ดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์  เพราะแม้แต่พยานที่อ่านบทความก็ให้ความเห็นในแต่ละบทความไม่ตรงกัน
เนื้อหาที่ปรากฏในบทความที่นำมาฟ้องผู้เขียนยกตัวอย่างตุ๊กตา เป็นตัวละครล้อเลียนไม่ใช่เรื่องจริงและผู้อ่านไม่อาจรู้แน่ชัดได้ว่าผู้เขียนหมายถึงใคร  ซึ่งในประเด็นนี้พยานจำเลยเมื่อได้อ่านบทความต่างก็ให้การไปในทำนองเดียวกันว่าผู้เขียนสื่อถึงพวกอำมาตย์ไม่ได้สื่อถึงกษัตริย์ 

8. การต่อสู้คดี ที่ต้องเดินทาง 4 จังหวัด

ระหว่างสืบพยานโจทก์ พยานมิได้อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ หลายคนทำให้ต้องมีการสืบพยานในจังหวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพยานและต้องมีการส่งตัวเขาไปคุมขังยังเรือนจำในจังหวัด สระแก้ว นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ สงขลา

สมยศเคยเล่าถึงตอนไปเรือนจำสระแก้วว่า ความเป็นอยู่ที่เรือนจำจังหวัดสระแก้วนั้นดีกว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในเรื่องอาหารและสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม เรือนจำที่นี่ยังคงมีสภาพแออัด ผู้ต้องขังล้นเกิน จากปกติรองรับได้ 800 คน ปัจจุบันเพิ่มเป็นเกือบ 2,000 คน โดยในจำนวนนี้เป็นการย้ายหนีน้ำท่วมมาเกือบ 300 คน ทำให้ต้องนอนเบียดเสียดอย่างมาก
สมยศยังเล่าถึงการเดินทางมายังเรือนจำสระแก้วว่า ระหว่างที่มีการเคลื่อนเขาพร้อมผู้ต้องขังจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ที่หนีน้ำท่วมมายังเรือนจำสระแก้ว เมื่อต้นเดือน พ.ย. นั้นรถแน่นมากและเขาต้องยืนตั้งแต่กรุงเทพฯ ถึงสระแก้ว

9. คำให้การของพยานโจทก์-จำเลย (บางส่วน)

กอ.รมน.- นักศึกษานิติ มธ. เบิกความสืบพยานโจทก์ คดี ‘สมยศ’
เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเบิกความถึงที่มาที่ไปของการเข้าแจ้งความดำเนินคดี โดยมีการระบุด้วยว่า “ผังล้มเจ้า” ของพ.อ.สรรเสริญ ก็เป็น “เครื่องช่วยในการวางแผนและวิเคราะห์ข้อมูล” โดยเจ้าหน้าที่ผู้เบิกความไม่ทราบว่าผังดังกล่าวมีการยอมรับจากพ.อ.สรรเสริญแล้วว่าไม่ได้มีข้อมูลรองรับเพียงพอ
ขณะที่นักศึกษา นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเคยฝึกงานที่ดีเอสไอในช่วงเวลาดังกล่าว เบิกความว่า ระหว่างฝึกงาน ผู้ดูแลซึ่งก็คือพนักงานสอบสวนในคดีนี้ได้นำนิตยสาร Voice of Taksin ฉบับที่ใช้ฟ้องร้องมาให้อ่าน รวมทั้งบทความที่เข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูงดังกล่าว ซึ่งเมื่ออ่านข้อความดังกล่าวแล้วก็ทำให้เข้าใจได้ตามฟ้อง 
คำเบิกความ ธงทอง จันทรางศุ
เขาเบิกความว่า บทความชิ้นหนึ่งนั้นผู้เขียนจงใจเท้าความไปถึงประวัติศาสตร์ช่วงรอยต่อระหว่างธนบุรีและรัตนโกสินทร์ โดยพยานทราบว่าเป็นการหมิ่นประมาทเพราะอาศัยการเทียบเคียงกับความรู้ด้านประวัติศาสตร์ที่มีอยู่ ส่วนอีกชิ้นหนึ่ง ไม่สามารถบอกได้ว่า “หลวงนฤบาล” ผู้เขียนตั้งใจหมายถึงใคร
เขายังเบิกความอีกว่า มาตรานี้โทษจำคุก 3-15 ปีรุนแรงเกินไปและไม่ได้สัดส่วนกับสาระของการกระทำความผิด คำว่า “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น” ในมาตรา112 ควรจะมีความหมายเช่นเดียวการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นบุคคลธรรมดาในมาตรา 326  ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกันแล้วถือว่าโทษหนักเบาแตกต่างกันมาก นอกจากนี้ยังไม่ให้จำเลยพิสูจน์เหตุยกเว้นโทษหรือยกเว้นความผิดได้ตามมาตรา 329 

10.คำพิพากษา ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา

ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 2 กรรรม กรรมละ 5 ปีรวม 10 ปี อ่านคำพิพากษาฉบับย่อในล้อมกรอบ

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาพิพากษาแก้ ลดโทษเหลือ 2 กรรม 6 ปี

หมายเหตุ โทษจำคุกในทุกชั้นศาลจะบวกอีก 1 ปี เพราะรวมกับคดีเก่าในคดีหมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร

11. เพราะสู้คดี พลาดลดโทษในการพระราชทานอภัยโทษทั่วไปหลายครั้ง

การยืนยันที่จะต่อสู้คดีของสมยศ ทำให้คดีของเขายังไม่มีสถานะ “ถึงที่สุด”  จำเลยจึงยังไม่มีสถานะเป็น “นักโทษชาย” เต็มขั้นแม้จะอยู่ในเรือนจำมาหลายปีแล้วก็ตาม นั่นส่งผลให้ไม่ได้รับ “ชั้น” หรือสถานะของนักโทษที่จะได้ ชั้นกลาง เมื่อคดีถึงที่สุด ก่อนที่จะค่อยๆ เลื่อน เป็นชั้นดี ชั้นดีมาก และชั้นเยี่ยม ตามลำดับหากไม่ทำผิดกฎเรือนจำหรือทะเลาะวิวาท ชั้นของนักโทษเกี่ยวพันกับ “สัดส่วน” ที่จะได้รับการลดโทษจากการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปที่เกิดขึ้นในวาระโอกาสสำคัญที่ และการลดโทษจะลดหลั่นกันตามชั้นที่นักโทษได้ เช่น ในปี 2555 มีพ.ร.ฎ.อภัยโทษเนื่องในวาระเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ, ปี 2558 เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบของสมเด็จพระเทพฯ, ปี 2559เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ของรัชกาลที่ 9 เป็นต้น
หากเขารับสารภาพแต่ต้น เขามีโอกาสที่จะได้รับการลดโทษลงกึ่งหนึ่งตามกฎหมาย เหลือ จำคุก 5 ปี มีโอกาสจะได้รับการลดโทษในการอภัยโทษทั่วไป แล้วสามารถทำเรื่องพักโทษได้โดยจะอยู่ในเรือนเพียงไม่เกิน 3 ปี อีกกรณีหนึ่งคือ รับสารภาพแล้วยื่นขอพระราชทานอภัยโทษส่วนบุคคลดังเช่น สุรชัย แซ่ด่าน ซึ่งถูกจับในช่วงต้นปี 2554 เช่นกัน สุรชัยรับสารภาพในคดี 112 ที่ทยอยฟ้องรวม 5 คดีโทษจำคุก 12 ปีครึ่ง เมื่อเขายื่นขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการส่วนตัวร่วมกับนักโทษ 112 อีกจำนวนหนึ่งก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณฯ เขาจึงอยู่ในเรือนจำเพียง 2 ปี 7 เดือน

12. เคยยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ มาตรา 112  ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

มี 2555 ระหว่างต่อสู้คดี เขาและเอกชัย หงส์กังวาน จำเลยคดี 112 อีกคนยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
“ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว เห็นว่า หลักการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สอดคล้องกับการให้ความคุ้มครองพระมหากษัตริย์ที่เป็นสถาบันและประมุขของประเทศไทย การกำหนดบทลงโทษผู้กระทำความผิดจึงเป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตามหลักนิติธรรมที่เป็นศีลธรรมหรือจริยธรรมของกฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงมิได้ขัดหรือแย้งต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสอง” และอื่นๆ อ่านที่นี่

13. มีแถลงการณ์ - กิจกรรมรณรงค์เกี่ยวกับเขามากมาย

FREE SOMYOS โผล่งานบอลประเพณี
สมยศ โผล่งานหนังสือแห่งชาติ
บรรณาธิการร่วมออกแถลงการณ์
ลูกชายสมยศ ‘ไท’ อดอาหารประท้วง
ยูเอ็นผิดหวังศาลอุทธรณ์ไทยพิพากษายืนจำคุกสมยศ
ท่าทีจากอียู-ฮิวแมนไรท์วอชท์-เอไอ-องค์กรแรงงาน ต่อ 'คำพิพากษาสมยศ'
ทูต 'อียู' แจงไม่ได้ 'แทรกแซง' ไทยกรณี 'สมยศ' แต่ 'ปฏิสัมพันธ์' ด้วยหลักสิทธิฯ
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ UN เรียกร้องปล่อยสมยศ ชี้โทษยังแรงไปหลังพิพากษาฎีกา
ฯลฯ

ศาลฎีกาลดโทษ เหลือจำคุก 6 ปี คดี 112 สมยศ พฤกษาเกษมสุข



           23 ก.พ.2560 เวลา 9.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 911 ศาลอาญา ถนนรัชดาฯ มีกำหนดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดี112 ของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin วัย 56 ปี โดยก่อนหน้านี้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ พิพากษาจำคุก 10 ปีจากการกระทำผิด 2 กรรม (กรรมละ 5 ปี)


         เวลาประมาณ 9.45 น. ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา พิพากษาแก้ให้ลงโทษจำคุกลดลง เหลือเพียง 6 ปี (กรรมละ 3 ปี) เมื่อรวมกับโทษจำคุกคดีหมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร อีก 1 ปี รวมเป็น 7 ปี ภายหลังเสร็จสิ้นการอ่านคำพิพากษา ภรรยาของสมยศได้เข้าไปกอดสมยศ และประชาชนผู้มาให้กำลังใจเขาจำนวนหนึ่งต่างแสดงความดีใจที่เขาได้รับการลดโทษ ทั้งนี้ วันนี้มีเจ้าหน้าที่จากองค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย อาทิ องค์การสหประชาชาติ (UN) สถานทูตสวีเดน สถานทูตฝรั่งเศส สถานทูตสหรัฐอเมริกา สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย
         ศาลฎีการะบุเหตุผลว่า ที่จำเลยฎีกาต่อสู้ว่า มิได้มีเจตนากระทำผิด และข้อความในบทความหมายถึงอำมาตย์นั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งในขั้นฎีกาไม่อาจต่อสู้ในข้อเท็จจริงได้อีก อย่างไรก็ตาม ตามที่จำเลยได้ต่อสู้มารับฟังได้ว่า จำเลยเป็นเพียงบรรณาธิการ มิใช่ผู้เขียนและยังให้ข้อมูลว่าใครเป็นผู้เขียน จำเลยยืนยันว่ามีความจงรักภักดี อีกทั้งเมื่อพิจารณาประกอบกับอาชีพ อายุและประวัติของจำเลย ทั้งจำเลยก็ต้องโทษมาเป็นระยะเวลาพอควรแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นควรแก้โทษจำคุก เหลือกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง 6 ปี
         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ญาติและทนายความจำเลยไม่ได้รับแจ้งการนัดหมายอ่านคำพิพากษาในวันนี้จากศาล และจำเลยเองก็เพิ่งทราบเมื่อเช้านี้ตอนเจ้าหน้าที่นำตัวออกจากเรือนจำ เมื่อครั้งอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ทนายและญาติก็ไม่ทราบเช่นกัน มีเพียงจำเลยที่ได้เข้าฟังคำพิพากษาในครั้งนั้น
         ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมอีกว่า ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา คดีนี้ถือเป็นคดีแรกที่ต่อสู้ในทาง "เนื้อหา" แล้วมีการพิจารณาจนถึงศาลสูงสุด โดยสมยศต่อสู้ในประเด็นหลักว่าไม่ใช่ผู้เขียน เป็นเพียงบรรณาธิการ และเนื้อหานั้นมิได้หมายความถึงสถาบันกษัตริย์ ก่อนหน้านี้ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล อดีตผู้ต้องขังคดี 112 เคยระบุว่าตั้งใจจะสู้คดีถึงศาลฏีกาแต่สุดท้ายก็ตัดสินใจสู้เพียงชั้นศาลอุทธรณ์เนื่องจากถูกคุมขังในเรือนจำยาวนานและมีสุขภาพที่ย่ำแย่ ส่วนอีกคดีหนึ่งที่สู้ถึงศาลฎีกาคือ คดีของ บัณฑิต อานียา ถูกจับกุมดำเนินคดีเมื่อปี 2546 ต่อสู้คดีว่าเป็นจิตเภท ในที่สุดศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำคุกแต่ให้รอลงอาญา 
         ทั้งนี้ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ปัจจุบันถูกคุมขังมา 5 ปี 10 เดือนในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เขาเป็นผู้ต้องหาไม่กี่คนที่ต่อสู้คดี 112 สมยศจับกุมวันที่ 30 เม.ย.2554 หลังการรณรงค์ล่า 10,000 ชื่อเพื่อยกเลิกมาตรา 112 เพียง 5 วัน เขายังเป็นผู้ต้องหาคดี 112 ที่ทำสถิติยื่นประกันตัวมากที่สุด ราว 15-16 ครั้ง ใช้หลักทรัพย์ตั้งแต่ 4 แสน จนถึง 2 ล้านบาท เขาถูกฟ้องว่าเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ซึ่งเผยแพร่บทความ 2 ชิ้นเขียนโดย “จิตร พลจันทร์” ที่มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ บทความดังกล่าวปรากฏในนิตยสารฉบับเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2553 ชื่อว่า ‘แผนนองเลือด ยิงข้ามรุ่น’ และ ‘6 ตุลาแห่งพ.ศ.2553’ ตามลำดับ ระหว่างสู้คดี เขาถูกนำตัวไปขึ้นศาลยังจังหวัดต่างๆ ถึง 4 แห่งตามที่อยู่ของพยานโจทก์ ไม่ว่า นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ สระแก้ว สงขลา ซึ่งทำให้ครอบครัวเพื่อนมิตรติดตามคดีและไปเยี่ยมเขาอย่างยากลำบาก เพราะต้องมีการย้ายตัวจำเลยไปก่อน 2-4 สัปดาห์ ก่อนขึ้นศาล
       ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 10 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

งัดม.44 ปลด 'บอร์ดรฟท.' ยกชุด ตั้งรองอธิบดีกรมทางหลวง รักษาการผู้ว่าการฯ


 
ประยุทธ์ ใช้ ม.44 ปลดคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทยยกชุด พร้อมตั้งใหม่ และให้รองอธิบดีกรมทางหลวง รักษาการผู้ว่าการฯ จนกว่านายกรัฐมนตรีจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น ระบุเพื่อมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปประเทศ 
23 ก.พ.2560 ผู้สื่อข่าวรายงานวาเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 10/2560 เรื่อง การปรับปรุงการบริหารงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดย อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันก่อนวันที่คําสั่งนี้ มีผลใช้บังคับพ้นจากตําแหน่ง และให้งดการใช้บังคับบทบัญญัติมาตรา 24 มาตรา 26 มาตรา 27 มาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 และให้คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทยประกอบด้วยบุคคลตามข้อ 2 ของคําสั่งนี้ จนกว่านายกรัฐมนตรีหรือหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น
ข้อ 2 ให้บุคคลดังต่อไปนี้เป็นกรรมการคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย
  • (1) นายวรวิทย์ จําปีรัตน์ เป็นประธานกรรมการ
  • (2) นางสาวชุณหจิต สังข์ใหม่ เป็นกรรมการ
  • (3) นายบวร วงศ์สินอุดม เป็นกรรมการ
  • (4) นายปิติ ตัณฑเกษม เป็นกรรมการ
  • (5) พลเรือเอก ทวีชัย บุญอนันต์ เป็นกรรมการ
  • (6) นาวาอากาศเอก ธนากร พีระพันธุ์ เป็นกรรมการ
  • (7) นางอัญชลี เต็งประทีป เป็นกรรมการ
  • (8) นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ เป็นกรรมการ
  • (9) นายอํานวย ปรีมนวงศ์ เป็นกรรมการ

ข้อ 3 ให้ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันก่อนอนวันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับพ้นจากตําแหน่ง และให้ไปดํารงตําแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 68/2559 เรื่อง มาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานอื่นของรัฐและการกําหนดกรอบอัตรากําลังชั่วคราว ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2559 จนกว่านายกรัฐมนตรีจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น
ข้อ 4 ให้นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง รักษาการในตําแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย อีกตําแหน่งหนึ่ง จนกว่านายกรัฐมนตรีจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น
ข้อ 5 ในกรณีเห็นสมควรนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามคําสั่งนี้ได้