วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ทักษิณยันไม่เคยเจรจาทางลับกับรัฐบาลทหาร ประยุทธ์ ฝากถึงรอยเตอร์ พูดให้ดีด้วย


 
 
หลังจาก บทสัมภาษณ์ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เผยแพร่ในสื่อต่างประเทศ 2 สำนักคือ ไฟแนนเชียลไทม์ และ วอลสตรีทเจอร์นัล ซึ่งมีการวิจารณ์ร่าง รธน. ใหม่ว่าเหมือนหลอกชาวโลกว่ากำลังจะกลับคืนประชาธิปไตย แต่ที่แท้เหมือนพม่ายุคก่อนเปิดประเทศ ระวังเศรษฐกิจอยู่ในภาวะอันตราย รวมทั้ง ทักษิณ ยังเสนอการเจรจาทุกรูปแบบกับผู้มีอำนาจไม่ว่าจะเป็นการสนทนาหรือพูดคุย เพียงแต่ต้องการเห็นประเทศเดินหน้าและคืนประชาธิปไตยให้ประชาชน (อ่านรายละเอียด)
 
ล่าสุดวานนี้ (23 ก.พ.59) BBC Thai รายงานว่า ทักษิณ  ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ที่ประเทศ­สิงคโปร์ กรณีที่ทางการไทยปฏิเสธที่จะเจรจาทางการเม­ืองด้วยว่า รัฐบาลทหารของไทยปฏิเสธการเจรจากับตน โดยอ้างถึงคดีความที่ยังติดตัวอยู่ แต่ที่จริงแล้ว การก่อรัฐประหารนั้นเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแ­รงยิ่งกว่า แต่ตนก็ยังหวังว่าสักวันหนึ่งจะได้เดินทาง­กลับประเทศไทย แต่ไม่ใช่การกลับไปถูกดำเนินคดี หรือถูกคุมขังในบ้านพักเพื่อป้องกันการลอบ­สังหารเช่นที่เคยเกิดขึ้น เพราะเขาไม่ใช่คนเลวอย่างที่ถูกกล่าวหา
 
ทักษิณ ยังกล่าวว่า ตนไม่เคยติดต่อเจรจาในทางลับกับรัฐบาลทหาร­ของไทยแต่อย่างใด รวมทั้งไม่เคยทำข้อตกลงถอนตัวจากการเมือง เพื่อแลกกับการไม่ถูกยึดทรัพย์สินด้วย “ผมไม่เคยโทรศัพท์ไปหาใคร และไม่รู้ว่าจะติดต่อพวกเขาไปทำไม และไม่มีความจำเป็นจะต้องติดต่อด้วย”
 
นอกจากนี้ อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณยังเตือนว่า การที่ คสช. ต้องการจะอยู่ในอำนาจให้ยาวนานออกไปอีก จะยิ่งทำให้สภาพเศรษฐกิจของไทยที่ย่ำแย่อย­ู่แล้ว ประสบความยากลำบากยาวนานขึ้น เนื่องจากรัฐบาลทหารไม่มีวิสัยทัศน์และควา­มสามารถที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้
 
ประยุทธ์ ฝากถึงรอยเตอร์ พูดให้ดีด้วย
 
ขณะที่วันนี้ (24 ก.พ. 59) มติชนออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีตอบคำถามผู้สื่อข่าวสำนักข่าวต่างประเทศ โดยผู้สื่อข่าวได้แนะนำตัวและสังกัดตามที่ทีมโฆษกรัฐบาลขอความร่วมมือ ซึ่งได้ถามถึงตัวเลขความเสียหายของโครงการรับจำนำข้าวในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดย พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า ยังไม่มีการสรุป ซึ่งคณะกรรมการจะเป็นผู้สรุปเอง “ทำไม มันต้องเอาให้ได้ใช่ไหม คุณไปบอกรอยเตอร์ เมื่อวานนี้พูดให้ดีด้วย” จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้จบการสัมภาษณ์ด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว แล้วเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าทันที
 
รมว.ต่างประเทศยันไทยปล่อยให้สื่อมีอิสระเสรีภาพมากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย
 
ขณะที่วานนี้ มติชนออนไลน์ รายงานไว้ด้วยว่า ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กล่าวกรณีกต. กำลังคิดที่จะทบทวนการต่อวีซ่าให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ว่า ตามปกติจะมีหลักสากลสำหรับนักข่าวที่เข้ามาประเทศนั้นๆ ว่ามีขอบเขตทำงานเพียงใด ที่ผ่านมาประเทศเราไม่ได้เอาใจใส่เรื่องดังกล่าว ไม่ใช้ระบบหรือระเบียบที่เรามีอยู่แต่อะลุ่มอล่วยไปเรื่อยๆ แต่ขณะนี้พิจารณาแล้วเห็นว่าควรมีการจัดระบบ ระเบียบให้เรียบร้อย ซึ่งกรมสารนิเทศ กต.กำลังดำเนินการอยู่ ผู้สื่อข่าวต่างประเทศโดยไม่น้อยที่อยู่ในต่างประเทศไม่ได้เป็นผู้สื่อข่าวที่ถูกต้อง ไม่มีสังกัด บางครั้งมีการนำเสนอข้อมูลไม่ตรงตามข้อเท็จจริง ส่งผลกระทบต่อประเทศชาติให้เกิดความเสียหาย จึงขอให้พาดหัวข่าวให้ตรงตามข้อมูลที่ได้ไป
 
“เชื่อว่าการจำกัดเช่นนี้ต่างประเทศจะไม่มองว่าเราไปจำกัดสิทธิสื่อต่างชาติ แต่ตรงกันข้ามไทยเป็นประเทศที่ปล่อยให้สื่อมีอิสระ เสรีภาพมากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย เพราะคนไทยเป็นคนอะลุ่มอล่วย มีจิตใจเมตตา เราไม่เข้มงวดเท่าอินโดนีเซียหรือเวียดนาม แต่ขณะนี้เพื่อให้ทุกอย่างเป็นระเบียบมากขึ้นจึงจำเป็นต้องจำกัด และเท่าที่ทราบสื่อต่างประเทศในไทยจำนวน 500 คน มีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ที่มีปัญหา แต่ไม่ได้หมายความว่าต่อวีซ่าไม่ได้ทั้งหมด ทั้งนี้หาก 10 เปอร์เซ็นต์ที่มีปัญหาสามารถชี้แจงต้นสังกัดได้ ก็สามารถต่อวีซ่าได้” ดอน กล่าว

'ชวลิต' จี้คสช.สละอำนาจ ให้กก.กลางจากภาคส่วนต่างๆ สานต่อ จัดเลือกตั้งภายในปีนี้


25 ก.พ. 2559 ไทยรัฐออนไลน์ มติชนออนไลน์ และเดลินิวส์ รายงานตรงกันว่า พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดบ้านในซอยปิ่นประภาคม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเพื่อเสนอแนะสถานการณ์บ้านเมืองแก่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. และประชาชน  พร้อมทำจดหมายเปิดผนึกถึงประชาชนชาวไทยผู้รักชาติ โดยจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว ระบุว่านับแต่ คสช. อาสาเข้ามาแก้ไขปัญหาของชาติและความขัดแย้งของบ้านเมืองตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 57 ซึ่งสามารถระงับยับยั้งความขัดแย้งได้ในระดับหนึ่ง แต่จากการบริหารงานมาครบ 2 ปี ปรากฏว่าแนวทางที่รัฐบาล คสช. กำลังดำเนินการกลับมีแนวโน้มนำไปสู่ความขัดแย้งในบ้านเมืองยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องปัญหาเศรษฐกิจที่ประชาชนเดือดร้อน เศรษฐกิจเข้าสู่ยุคเงินฝืด ประชาชนขาดกำลังซื้อ การส่งออกลดลงอย่างรุนแรง
และ คสช.ได้ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการฯ ได้รับการต่อต้าน เพราะเห็นว่ามีโครงสร้างและเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นประชาธิปไตย จึงได้รับการต่อต้านจากหลายภาคส่วนมากยิ่งขึ้น
จดหมายเปิดผนึก พล.อ.ชวลิต ยังระบุด้วยว่า ตนจึงเรียกร้องให้ คสช. หาทางแก้ปัญหาประเทศด้วยทางสายกลาง ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาชาติบ้านเมือง ซึ่ง คสช. จะต้องเสียสละอำนาจ ส่งต่อภาระหน้าที่ให้กับคณะกรรมการกลางที่จะมาจากภาคส่วนต่างๆ ร่วมกันบริหารจัดการให้มีการเลือกตั้งภายในปี 2559 เพื่อให้ได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาประเทศ ส่วนทหารให้ดูแลความมั่นคงร่วมกับรัฐบาล
แนะแก้ความยากจน ชะลอการซื้ออาวุธ 
พล.อ.ชวลิต กล่าวว่า คสช.ต้องรีบแก้ปัญหาความยากจนในประเทศ โดยเฉพาะความเดือดร้อนของพี่น้องชาวนา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภัยแล้งและราคาข้าว พร้อมแนะนำให้รัฐบาลวางแผนการบริหารจัดการน้ำ และส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้น ขณะที่การดูแลความมั่นคงของประเทศ กองทัพควรปรับองค์กรภายในให้เข้มแข็ง และชะลอการซื้ออาวุธ 
 
ชี้ขออยู่ต่ออีก 5 ปีได้อย่างไร แค่ 5 เดือนก็ไม่ไหว ชี้ทักษิณพูดเพราะห่วงบ้านเมือง
 
เมื่อถามถึงกรณีที่รัฐบาล คสช. จะอยู่ต่อช่วงเปลี่ยนผ่านไปอีก 5 ปี พล.อ.ชวลิต กล่าวว่า จะเป็นไปได้อย่างไร บอกหลายทีแล้วว่า คสช. มีภาระหน้าที่แค่ไหน ท่านเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเท่านั้น มีหน้าที่เท่านี้ จะขออยู่ต่ออีก 5 ปีได้อย่างไร แค่ 5 เดือนก็ไม่ไหว เพราะตลอด 2 ปีที่บริหารประเทศก็เห็นแล้วว่าเป็นอย่างไร ยิ่งมีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ยิ่งเป็นไปไม่ได้ ถ้า คสช. อยู่ต่อแล้วอาจจะเหมือนอดีตรัฐบาลที่ผ่านมาที่เข้ามาได้รับดอกไม้ พอออกไปได้รับก้อนอิฐ
 
เมื่อถามว่ามองอย่างไรกับการเคลื่อนไหวและการให้สัมภาษณ์ของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในช่วงนี้ พล.อ.ชวลิต ท่านคงพูดด้วยความเป็นห่วงบ้านเมือง
 
เมื่อถามว่าอยากฝากอะไรถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต กล่าวว่า อยากให้คนไทยมีงานทำ เอาของไปขายต่างประเทศ ทำเป็นรถเข็นใช้ชื่อ "รถจันทร์โอชา" ตามเมืองต่างๆ ที่บริโภคข้าวไทย ซึ่งจะทำให้คนรู้จักประเทศไทยมากขึ้น โดยนำสินค้าโอทอปไปขายด้วย คนไทยจะได้ไม่ตกงาน นอกจากนี้ พล.อ.ชวลิต ยังห่วงสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ที่มีกลุ่มก่อการร้ายเข้ามามีอิทธิพลในอาเซียน โดยระบุว่า ขณะนี้ในพื้นที่ภาคใต้มีองค์กรชื่อว่า "แบล็กสวอน" หรือ "เหยี่ยวดำ" เกิดขึ้น ทราบว่าเป็นของกลุ่มไอซิส ไม่รู้ว่ารัฐบาลทราบหรือยัง แต่อยากให้รัฐบาลดูแลการข่าวให้เข้มกว่านี้ เพราะว่าขณะนี้รูปแบบการขัดแย้งในภาคใต้มีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น รัฐบาลก็ต้องเปลี่ยนวิธีรับมือด้วย
 
วางแผน 'นำคนกลับบ้าน' ให้คนเห็นต่างได้เจรจาสันติภาพ 
 
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานในประเด็นที่แตกต่างจากสำนักข่าวอื่นด้วยว่า ในการแถลงของ พล.อ.ชวลิต ระบุด้วยว่า ยังได้วางแผนการดำเนินงาน “นำคนกลับบ้าน” เพื่อให้คนไทยที่คิดเห็นแตกต่างหรือมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน ได้เจรจากันจนเกิดสันติภาพ สันติสุขขึ้นในบ้านเมือง เหมือนที่เคยทำสำเร็จแล้วในอดีต เพื่อยุติความขัดแย้ง

เปิดใจปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ เมื่อครอบครัวถูกคุกคาม “ถ้าปวินหยุดพูด เรื่องนี้ก็จบ”

ภาพจากเฟซบุ๊กปวิน

<--break- />
ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการผู้ปฏิเสธเข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช.หลังการรัฐประหาร เขาถูกทางการยึดพาสปอร์ต และตัดสินใจใช้ชีวิตในต่างแดน ก่อนหน้านี้ในปี 2555 เขาเป็นรองศาสตราจารย์ที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ขณะเดียวกันก็ไปสอนยังประเทศอื่นเป็นช่วงๆ ไม่ว่า University of Freiburg, University of Stockholm, University of Tallinn, Stanford University และขณะนี้สอนการเมืองการปกครองของเอเชียตะวันออดเฉียงใต้อยู่ที่ University of Cambridge
กลางดึกของวันที่ 24 ก.พ.2559 เฟซบุ๊กของปวินขึ้นข้อความหลายข้อความระบุถึงข่าวที่เขาได้รับทราบจากครอบครัวในเมืองไทย เมื่อทหารได้ไปพูดคุยที่บ้าน และมีการโทรศัพท์ข่มขู่ญาติ ประชาไทสัมภาษณ์เขาเบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องนี้
อยากให้อาจารย์ช่วยเล่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเพิ่มเติม ใครเป็นคนไปพบที่บ้านและติดต่อญาติของอาจารย์ เจ้าหน้าที่ทหารแน่ใช่ไหม มีการแจ้งหรือไม่ว่ามาจากหน่วยไหน การพูดคุยเป็นอย่างไร
ผมจะเล่าในส่วนที่ได้ยินมานะครับ วันนี้ (24 ก.พ.) ได้รับข้อความจากทางบ้านให้โทรกลับด่วน ผมโทรไปทันที ได้คุยกับพี่สาวสองคน คนแรกบอกว่า มีทหารนอกเครื่องแบบมาที่บ้าน 4 คน แต่ไม่ทราบว่าหน่วยงานไหน มาเพื่อพูดเรื่องผม และขอร้องว่าให้เตือนผมว่าอย่าเอ่ยถึงเรื่องสถาบันกษัตริย์อีก ในส่วนนี้ผมไม่มีข้อมูลเพิ่ม
ที่น่าสนใจกว่าก็คือ มีบุคคลโทรไปหาพี่สาวผมที่ที่ทำงาน บอกว่าได้รับคำสั่งจากเจ้านายให้มาพูดกับพี่ผม เพื่อขอให้พี่ผมเตือนให้เลิกพูดเรื่องสถาบัน ณ บัดนี้ วันนี้ หากไม่หยุด คนในครอบครัวผมจะต้องเดือดร้อน จึงขอเตือนไว้ล่วงหน้า พี่สาวบอกว่าจะเตือนผมได้อย่างไร เราเป็นคนละคน แล้วทางบ้านก็ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับกิจกรรมของผมทั้งสิ้น บุคคลผู้นั้นตอบว่ายังไงทางบ้านผมก็ต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน ย้ำว่าถ้าปวินหยุดพูด เรื่องนี้ก็จบ
ที่สำคัญเช่นกันคือ ผู้ที่โทรมาจะขอให้คนทั้งบ้านผมไปรายงานตัว (จำสถานที่ไม่ได้ แต่เป็นหนึ่งในค่ายทหารแน่ๆ) ขอให้มาทั้งบ้าน เพราะทุกคนต้องร่วมรับผิดชอบ หากฝ่าฝืนไม่มาจะส่งคนมาที่บ้านแทน หากต้องการให้เป็นเรื่องที่ใหญ่กว่านั้น นอกจากนี้ยังขู่ด้วยว่าหากผมไม่หยุด ทางตำรวจสอบสวนกลางจะออกหมายข้อหา 112 ต่อผม
คนในครอบครัวอาจารย์มีความวิตกกังวลระดับไหน รวมถึงตัวอาจารย์เองด้วย
ก็ต้องวิตกเป็นธรรมดา เพราะภายใต้สถานการณ์แบบนี้ เราไม่มีที่พึ่งทางด้านกฎหมายหรือการปกป้องใดๆ จากรัฐ เพราะทุกหน่วยงานล้วนแต่เป็นเครื่องมือ คสช. ส่วนตัวผมนั้นอยู่นอกประเทศก็คงไม่กังวลใจเท่าไร คำนึงถึงความปลอดภัยของคนที่เมืองไทยมากกว่า โดยเฉพาะมันมีหลายกรณีที่ชี้ว่า ผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐอาจถึงแก่ชีวิตได้ (หมอหยอง ฯลฯ)
ก่อนหน้านี้เคยเกิดกรณีนี้เช่นนี้ไหม
ทหารมาที่บ้าน 2-3 ครั้งเมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อกดดัน แต่ผมตัดสินใจไม่โวยวายหรือทำเป็นข่าว เพราะมาไม่นาน แต่ครั้งนี้ ทหารอุกอาจมาก ผมจึงจำเป็นต้อง reach out ไปสู่องค์การระหว่างประเทศ ทูตต่างๆ ในไทย สื่อไทยและสื่อต่างประเทศ เพื่อให้รู้ถึงพฤติกรรมและการเคลื่อนไหวของทหารต่อครอบครัวผม
 คิดว่ามีเหตุเฉพาะอะไรหรือไม่ทำให้ทหารไปกดดันครอบครัว เพราะปกติทหารก็ใช้วิธีตอบโต้เองโดยตรงผ่านสื่อ  
คงเป็นเพราะการที่ผมยังเล็คเชอร์อย่างต่อเนื่องเรื่องสถาบันกษัตริย์และผ่านงานเขียน หรือการแสดงความห็นทางเฟซบุ๊กวันที่เกิดเหตุก็เกิดวันเดียวกับวันที่ผมมีเล็คเชอร์ที่ oxford university เรื่องอนาคตของสถาบันกษัตริย์ไทย
อาจารย์ได้ดำเนินการอย่างไรบ้างแล้ว และจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
อย่างที่บอก ผมได้แจ้งผู้เกี่ยวข้องแล้วทั้งหมด องค์การระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน United nations, Human Rights Watch, ทูตานุทูตหลายคนในไทย สื่อไทยและสื่อต่างประเทศ รวมถึง New York Times ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป คงต้องดูท่าที คสช. ด้วย แต่ผมต้องการให้เรื่องการคุกคามครอบครัวผมได้รับรู้ในระดับระหว่างประเทศอย่างกว้างขวางที่สุด
ตัวอาจารย์เองกังวลเรื่องความปลอดภัยของตัวเองเพิ่มขึ้นไหม
ไม่ครับ ผมอยู่ในโลกที่พัฒนาแล้ว และเป็นประชาธิปไตย ได้รับความคุ้มครองจากทางการของประเทศเหล่านี้อย่างเต็มที่
ข้อเรียกร้องของอาจารย์ต่อ คสช.
ขอให้ยุติการคุกคามครอบครัว
ดีลที่เขาเสนอมา อาจารย์คิดอย่างไร
ดีลอะไรครับ คือหยุดพูด เรื่องจบ? ผมขอตอบสั้นๆ ผมเป็นนักวิชาการ ยังมีหน้าที่ที่ต้องทำต่อไปด้วยความสุจริต

iLaw: เปิดร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ เป็น คปป. ซ่อนรูปหรือไม่?


ร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากร่างกฎหมายฉบับนี้เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 ก่อนหน้านี้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และได้ส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณามาครั้งหนึ่งแล้ว ต่อมา สปท. นำกลับมาทบทวนและปรับปรุงใหม่ ขณะนี้กำลังจะส่งให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในเดือนมีนาคม-เมษายน หลังจากนั้นก็จะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเพื่อออกเป็นกฎหมายในช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม และถ้าทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนที่วางไว้ช่วงปลายปีจะมีการสรรหาคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
"แผนยุทธศาสตร์ชาติ" ถูกบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับของมีชัย ฤชุพันธุ์ ในมาตรา 61 ระบุว่า รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศและเป็นกรอบในการจัดทำแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกันเพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าว
และในมาตรา 263 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีจัดให้มีกฎหมายตามมาตรา 61 ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ และดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
แนวทางของร่างรัฐธรรมนูญใหม่สอดคล้องกับจังหวะที่ สปท. เสนอร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ขึ้นเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวถึง 20 ปี เพื่อเป็นแม่บทหลักและเป็นกรอบนโยบายในการพัฒนาประเทศ โดยในร่าง พ.ร.บ.นี้ระบุเหตุผลไว้ว่า การพัฒนาประเทศไทยที่ผ่านมาขาดความต่อเนื่อง แผนพัฒนากระจัดกระจายตามรายกระทรวง ขณะที่ประเทศพัฒนาและกำลังพัฒนากว่า 60 ประเทศทั่วโลกต่างก็มียุทธศาสตร์ชาติ
 
   


ยุทธศาสตร์ชาติผูกพันรัฐสภา - ครม. นาน 20 ปี วางกรอบพัฒนาครอบจักรวาล

ร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ มีทั้งหมด 5 หมวด 61 มาตรา มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 20 ปี และอาจพิจารณาทบทวนทุก 5 ปี หรือเมื่อมีสถานการณ์กระทบต่อวัตถุประสงค์ของยุทธศาสตร์ชาติอย่างเป็นนัยสำคัญ ซึ่งนโยบายและแผนงานต่างๆ ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี รวมทั้งหน่วยงานรัฐต้องอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ โดยมีผลผูกพันรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีทุกสมัยแม้จะไม่ใช่รัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรีที่ให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์ชาติก็ตาม

การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญในด้านต่างๆ ดังนี้ ความมั่นคงทางทหาร การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การปกครองท้องถิ่น การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เศรษฐกิจ การเกษตร การบริหาร การเงิน การคลัง และงบประมาณ พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การผังเมือง สาธารณสุข การคมนาคมและเทคโนโลยีการสื่อสาร สังคม ศิลปะ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม


ไม่ทำตามยุทธศาสตร์ชาติและส่อทุจริต ต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.

ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ กำหนดให้มีคณะกรรมการ 2 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ชาติ โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จำนวน 25 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี มีนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ส่วนกรรมการอีก 22 คน มาจากการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ
อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าว ได้แก่ กำหนดแนวทางจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ กำหนดแนวทางการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากร  รวมไปถึงตรวจสอบการไม่ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ และเปิดเผยผลการตรวจสอบต่อสาธารณะ โดยแบ่งออกเป็น 4 กรณี

1. กรณีไม่ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ แต่ยังไม่เกิดความเสียหาย ให้คณะกรรมการแจ้งหน่วยงานนั้นให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
2. กรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งทำให้ประเทศชาติเกิดความเสียหายร้ายแรง แต่ไม่พบการทุจริต ให้คณะกรรมการเสนอวุฒิสภาเพื่อดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ
3. กรณีผู้ใดไม่ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งทำให้ประเทศชาติเกิดความเสียหายร้ายแรง แต่ไม่พบการทุจริต ให้คณะกรรมการเสนอคณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป
4. กรณีไม่ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ส่อไปในทางทุจริตหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ให้คณะกรรมการส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการตามกฎหมาย
คณะกรรมการอีกชุดหนึ่งคือ คณะกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ชาติ มีจำนวนไม่เกิน 29 คน เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง 17 คน ซึ่งมาจากหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ เช่น เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ อัยการสูงสุด เสนาธิการทหาร ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนประชาชนที่เสนอโดยสภาองค์กรชุมชนจำนวน 2 คน เป็นต้น ส่วนที่เหลือเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ 12 คน
คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่กำกับดูแล ผลักดันให้มีการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ ติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล และดำเนินการตามมติของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ รวบรวมข้อมูลความเห็น วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาทิศทางยุทธศาสตร์ชาติ


ประธาน สนช. - สปท. -ประยุทธ์ นั่งกรรมการยุทธศาตร์ชาติชุดแรก

ที่น่าสนใจคือในระยะเริ่มแรก กำหนดให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจำนวน 25 คน ประกอบด้วย ประธาน สนช. ประธาน สปท. และนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ส่วนอีก 22 คนที่เหลือ มาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่ สนช. สรรหาและคัดเลือก ซึ่งการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้
อย่างไรก็ตาม เมื่อพ้น 4 ปีนับจากวันที่คณะกรรมการชุดแรกได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 11 คน พ้นจากตำแหน่งโดยวิธีการจับสลาก และให้ดำเนินการสรรหากรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้
ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังกำหนดให้นำข้อมูลวาระการปฏิรูปและวาระการพัฒนาของ สปช. และ สปท. ซี่งยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ และข้อมูลที่ได้จากการสอบถามความเห็นประชาชนมาประกอบการทำยุทธศาสตร์ชาติ


อยู่เหนือทุกกลไกในประเทศเหมือน ‘คปป.’ ?

มีการเปรียบเทียบว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์ไม่แตกต่างจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ที่เคยปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และถูกหลายฝ่ายออกมาคัดค้าน เนื่องจากคณะกรรมการทั้งสองชุด มีอำนาจอยู่เหนือทุกกลไกในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล รัฐสภา
โดย คปป. มีจำนวนไม่เกิน 22 คน กรรมการโดยตำแหน่งประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  ที่เหลือเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา  และผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิรูปด้านต่างๆ และการสร้างความปรองดอง
คปป.มีหน้าที่ขับเคลื่อนการปฏิรูปโดยการเสนอแนะนโยบาย ดำเนินการเพื่อสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ระหว่างคู่ขัดแย้ง และระหว่างประชาชน ที่สำคัญคือ มีหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการสร้างความปรองดองโดยให้คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานรัฐปฏิบัติตาม
คปป.มีวาระ 5 ปี ต่ออายุได้หากผ่านการทำประชามติให้อยู่ต่อ หรือ รัฐสภามีมติเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดให้อยู่ต่อ แต่ต้องไม่เกิน 5 ปี นับจากวันที่มีมติ


‘คำนูณ’ แย้ง คกก.ยุทธศาสตร์ชาติไม่เหมือน คปป. ด้าน ‘อภิสิทธิ์’ หวั่นร่าง กม.นี้ จุดชนวนขัดแย้ง

คำนูณ สิทธิสมาน โฆษก วิป สปท. ให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นเพียงขั้นต้น ยังต้องปรับปรุงอีก และปฏิเสธว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติแตกต่างจาก คปป. เพราะ คปป. มีอายุ 5 ปี และต่อได้อีกไม่เกิน 5 ปีโดยการทำประชามติ มีหน้าที่หลักคือ ขับเคลื่อนการปฏิรูป การปรองดองและยับยั้งวิกฤติต่างๆ ในสังคม ไม่เกี่ยวกับการทำยุทธศาสตร์ชาติ แต่คณะกรรมการยุทธศาสตร์นี้ จะคงอยู่ตลอดไป ตราบใดที่ พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติยังคงใช้อยู่ โดยกรรมการเปลี่ยนแปลงไปตามวาระ
นอกจากนี้ คปป.ยังประกอบไปด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ในขณะที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์มีเพียงเสนาธิการทหารเป็นกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ชาติเพียงคนเดียว ที่เหลือเป็นระดับปลัดกระทรวง อัยการสูงสุด และหัวหน้าส่วนราชการ
ด้านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รู้สึกแปลกใจที่มีการเร่งออกกฎหมายฉบับนี้ และเห็นว่าการวางยุทธศาสตร์เอาไว้ล่วงหน้า 20 ปี ทั้งที่สังคมโลกเปลี่ยนแปลงไป จะเกิดอะไรขึ้น การแก้ปัญหาบ้านเมืองที่ไร้ทิศทางควรกำหนดเป้าหมายซึ่งสะท้อนอยู่ในหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐในรัฐธรรมนูญ
อภิสิทธ์ให้ความเห็นอีกว่า แนวคิดแบบนี้เป็นลักษณะของระบบราชการ และยุทธศาสตร์ที่เขียนในร่างกฎหมายนี้ก็ก่อให้เกิดหน้าที่ ซึ่งอาจถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นทางการเมืองอีกว่าคนนั้นทำตามยุทธศาสตร์หรือไม่ หรือเป็นการไม่ทำตามรัฐธรรมนูญ จึงเห็นว่าเรื่องนี้สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดความขัดแย้งขึ้นอีก
กษิต ภิรมย์ สมาชิก สปท. อภิปรายในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมีอำนาจเหนือกว่าฝ่ายบริหาร ที่จะมาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นการบอกว่าคณะกรรมการชุดนี้ไม่ใช่ คปป. ซ่อนรูปนั้น เป็นการหลอกตัวเองหรือเปล่า อีกทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติไม่มีอะไรที่เป็นส่วนร่วมของประชาชนเลย หากแต่เป็นการเสริมอาณาจักรของข้าราชการเท่านั้น และหากบอกว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติเป็นเพียงกรอบการทำงาน สรุปเป็นแผนหรือกรอบกันแน่ เพราะถ้าเป็นเพียงกรอบคิดว่าไม่ต้องมีก็ได้เพราะโลกเปลี่ยนไปทุกวัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 สปท. แถลงว่า ได้ปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวโดย แก้ไขข้อความว่า "ไม่ปฏิบัติตาม" เป็น "ปฏิบัติไม่สอดคล้อง" และมีการตัดมาตรา 10 วรรคสองออก ที่ระบุว่า "ยุทธศาสตร์มีผลผูกพันรัฐสภา และคณะรัฐมนตรีทุกสมัย แม้จะมิใช่รัฐสภา หรือคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบ หรือถือว่าได้ให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์ชาติ" และกำหนดวาระของผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติให้ชัดเจนว่าดำรงตำแหน่งเพียงวาระเดียว ส่วนของคณะกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ชาติไม่เกิน 2 วาระ

‘ศรีวราห์’ เล็งฟ้อง 112 ‘สมศักดิ์ เจียม’-รายการตอบโจทย์ อีก 15 วันประชุมพนักงานสอบสวน


25 ก.พ.2559 เว็บไซต์มติชน รายงานว่า ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) เป็นประธานการประชุมคณะพนักงานสอบสวนตามคำสั่งตร.ที่ 37/2559 ในคดีที่นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กับพวก เป็นผู้ต้องหาในความผิดฐานหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีพูดในรายการตอบโจทย์ประเทศไทย ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 11-14 มี.ค.2556 และวันที่ 18 มี.ค.2556 โดยมีนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เป็นพิธีกร และผู้เข้าร่วมรายการประกอบด้วยนายสุรเกียรติ เสถียรไทย พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร และนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ทั้งนี้ สำหรับคดีนี้ที่ผ่านมามีผู้มาแจ้งความให้ดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการออกอากาศรายการดังกล่าว แต่ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหากับใคร
พล.ต.อ.ศรีวราห์ กล่าวว่า เขาเพิ่งเข้ามารับผิดชอบสำนวนการสอบสวนยังไม่ได้พิจารณาเนื้อหาของรายการดังกล่าวว่าเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายหรือไม่ แต่หากพบว่าเนื้อหาของรายการเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นสถาบันฯ ผู้ที่อยู่ในข่ายที่จะถูกดำเนินคดีนอกจากผู้ร่วมรายการแล้ว ยังมีผู้บริหารรวมถึงสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสก็ต้องถูกดำเนินคดีด้วย อย่างไรก็ตามอีก 15 วัน จะมีการเรียกประชุมคณะพนักงานสอบสวนในคดีนี้อีกครั้ง