ทวีศักดิ์ เกิดโภคา เรียบเรียง
นับตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 เรื่อยมาจนถึงวันนี้เป็นเวลาทั้งสิ้น 17 เดือน ประเทศไทยอยู่ภายใต้การบริหารของของ คสช. ทหารมีบทบาทมากขึ้นในหลายๆ ด้าน แน่ชัดที่สุดคือ ทำหน้าที่บริหารแผ่นดิน แทนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างง่ายดาย ไม่จำเป็นต้องมีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญให้เสียเวลา เพราะ คสช. เป็นผู้กำหนดเองอย่างรวดเร็วทันใจ
นอกเหนือไปจากเรื่องใหญ่ๆ โตๆ ดังกล่าวที่ทหารรับอาสาขอเข้ามาทำแทน ยังมีอีกหลากหลายหน้าที่ ซึ่งเป็นภาระที่เสริมเข้ามาจากงานเดิม ประชาไท ชวนทบทวน 20 งานใหม่ของรั้วของชาติ หลังรัฐประหาร 2557 หน้าที่ซึ่งไม่เห็นในสถานการณ์ปกติ จากเข้าฟังงานเสวนา ถึงการสอนค่านิยม จากเหมาโรงหนังชมพระนเรศวร ถึงจัดเวทีประชาพิจารณ์ในค่ายทหาร และจากลอกสติ๊กเกอร์ร้านปลาหมึกทอด ถึงจัดตั้งกองสงครามไซเบอร์ และจากชวนประชาชนไปดื่มกาแฟ ถึงเปิดศาลทหารนอกเวลาราชการ
1.ให้การอนุมัติงานเสวนาวิชาการ เข้าฟัง พร้อมถ่ายภาพวิดีโอ
หลายคนที่ชอบเข้าฟังงานเสวนาวิชาการ คงรับรู้และรู้สึกได้เป็นอย่างดี ภายหลังการรัฐประหาร บ่อยครั้งที่เราเห็นเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบ เข้ามาฟังงานเสวนาวิชาการ พร้อมกับบันทึกวิดีโอไว้ตลอดงาน อย่างไรก็ตามก่อนการรัฐประหาร การที่เจ้าหน้าที่เข้าฟังงานเสวนาเป็นเรื่องที่ทำอยู่แล้ว โดยเฉพาะการเสวนาวิชาการในประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องกับ สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือประเด็นอื่นๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่เห็นว่ามีความเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ
แต่สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาใหม่คือ ภาระในการพิจารณาอนุมัติ ให้ผู้จัดสามารถจัดงานได้ หรือไม่ได้ งานเสวนาวิชาการในประเทศไทยมีอยู่จำนวนไม่ใช่น้อย คสช. และเจ้าหน้าที่ทหารต้องเสียเวลามาพิจารณาเรื่องเหล่านี้ด้วย ซึ่งผลที่ตอบรับกลับมาทางผู้จัดคือ หลายงานเสวนาไม่สามารถจัดได้ เพราะไม่ได้ขออนุญาตก่อน หรือขออนุญาติแล้วแต่ไม่ผ่านการอนุญาต หลายงานเสวนาจำเป็นต้องเปลี่ยนตัววิทยากร บางงานเสวนาล่มกลางคัน และวิทยากรถูกเชิญตัวไปที่สถานนีตำรวจ (
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง1,
2,
3,
4)
2.ชวนประชาชนไปดื่มกาแฟ
การทำงานตามหน้าที่โดยปกติก็มากมายอยู่แล้ว แต่ทหารยังบริการประชาชนด้วยการแบ่งเวลามาพบปะพูดคุยทำความเข้าใจ โดยการชวนไปดื่มกาแฟ เพื่อขอความร่วมมือในเรื่องต่างๆ ขอให้ทำ หรือไม่ทำอะไรตามที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าอาจจะส่งผลให้เกิดความไม่สบายใจ และนำไปสู่ความขัดแย้ง (
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
3.ผลักดันชาวบ้านออกจากพื้นที่
อีกหนึ่งภาระหน้าที่หนึ่งซึ่งโดดเด่นขึ้นมาภายหลังจากการรัฐประหารได้ไม่นานนัก อันเป็นผลมาจากคำสั่งคสช. ที่ 64/2557 เรื่องการปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ทหารต้องไปร่วมดำเนินการจับกุมผู้บุกรุกป่าไม้
จากคำสั่งดังกล่าว เจ้าหน้าที่ทหารต้องเข้าไปผลักดันชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่พิพาท ซึ่งหลายพื้นที่มีกระบวนการดำเนินการแก้ไขกับรัฐบาลก่อนหน้ามาอย่างต่อเนื่อง ทหารต้องเข้าไปบอกกับชาวบ้านว่าให้อยู่ในพื้นที่ได้อีกไม่เกิน 7 วัน บางพื้นที่ให้เวลามากหน่อยคือ 15 วัน แต่บางพื้นที่ก็ให้เวลาเพียงแค่วันเดียว ทั่วทั้งประเทศเท่าที่ประชาไทมีข้อมูลพบว่าทหารต้องเข้าไปผลักดันชาวบ้านในลักษณะนี้ไม่ต่ำกว่า 20 พื้นที่ (
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง1,
2)
4.คุมประตูระบายน้ำ
การคุมประตูระบายน้ำ แต่เดิมเป็นหน้าที่หลักของสำนักการระบาย แต่เจ้าหน้าที่ทหารก็ต้องเข้ามาดูแลงานในส่วนนี้ด้วย เรื่องเกิดจาก การที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายปิติพงศ์ ณ อยุธยา ได้ประเมินปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่ทั่วประเทศ เมื่อเดือน มิ.ย ที่ผ่านมา พบว่าปริมาณน้ำยังเพียงพอให้เกษตรกรใช้ได้ถึงช่วงเก็บเกี่ยว แต่สำหรับเนื้อที่อีกกว่า 4 ล้านไร่ ที่ยังไม่ได้มีการเพาะปลูกปริมาณน้ำอาจจะยังไม่เพียงพอ จึงมีความจำเป็นต้องให้เกษตรกรชะลอการปลูกข้าวเอาไว้ก่อน พร้อมทั้งได้มีการประสานให้เจ้าหน้าที่ทหาร เข้ามาช่วยควบคุมการหมุนเวียนรอบส่งน้ำ ให้เป็นไปตามแผน (
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
5.เยี่ยมเยือนประชาชน
ไม่บ่อยนักที่ประชาชนอย่างเราๆ จะได้มีโอกาสใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ทหาร นอกเสียจากว่ามีคนในครอบครัวรับราชการทหาร หรือไม่ก็มีบ้านอยู่ใกล้กับกรมกอง แต่หลังจากรัฐประหารไม่นานนักเจ้าหน้าที่ทหารก็เริ่มออกพบปะประชาชนอย่างต่อเนื่อง หลายคนมีเจ้าหน้าที่ค่อยเฝ้าติดตามอยู่เป็นระยะ บางคนเจ้าหน้าที่ไปเยียมถึงที่บ้าน บางครั้งเจ้าหน้าที่ยังมีน้ำจิตน้ำใจ ไปหาพ่อแม่ของประชาชนอีกทีด้วย ตามที่เห็นเป็นข่าวก็มีการเข้าไปคุยกับแม่ของนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารด้วยความใส่ใจ โดยเจ้าหน้าที่ได้ถามว่า “สอนลูกอย่างไร ถึงออกมาต้านรัฐประหาร” (
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง1,
2)
6.จัดการอบรมปรับทัศนคติ-ทัวร์ค่ายทหาร
การจัดอบรมปรับทัศนะคติ และพาประชาชนทัวร์ค่ายทหาร หน้าที่นี้เห็นจะเป็นหน้าที่เสริมแรกๆ หลังจาก คสช. ทำรัฐประหาร
ILaw ได้รวบรวมข้อมูลจำนวนผู้ที่ถูกเรียกไปปรับทัศนคติตั้งแต่ 22 พ.ค. 2557 จนถึงวันที่ 14 ก.ค. 2558 พบว่ามีผู้ที่ถูกเรียกให้ไปรายงานตัวไม่ต่ำกว่า 666 คน
ตัวเลข 666 ถือเป็นตัวเลขที่มากพอสมควร และทั้งหมดในนั้นไม่ใช่เพียงแต่เป็นการเรียกแกนนำทางการเมืองเข้าไปเท่านั้น ทว่ามีคนธรรมดาๆ รวมอยู่ในนั้นด้วย หรืออย่างกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นกับ
ประวิตร โรจนพฤกษ์ สื่อมวชน ซึ่งถูกเรียกเข้าไปปรับทัศน์คติรอบที่สอง กรณีของ
เซีย ไทยรัฐ นักวาดการ์ตูนเสียดสีการเมือง สิ่งเหล่านี้ยังคงพิจสูจน์ให้เห็นว่า หน้าที่ใหม่ของทหารยังคงดำเนินต่อไป
7.จับตาดูชาวบ้านรวมตัวพูดเรื่องสิทธิชุมชน
การให้ความใส่ใจประชาชน หรือกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ หรือกลุ่มชาวบ้านที่มีปัญหาข้อพิพาทกับรัฐและทุน ก็เป็นอีกหนึ่งหน้าที่สำคัญสำหรับเจ้าหน้าที่ทหาร กรณีตัวอย่างเช่น กลุ่มสมัชชาคนจนมีการจัดประชุมกันที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ต.หนองยายโต๊ะ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี ก็ยังมีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปถึง 6 นาย พร้อมทั้งเสนอความคิดเห็นว่า การแก้ไขปัญหาของชาวบ้านที่ใช้เวลามานานถึง 20 ปีนั้นเป็นเพราะชาวบ้านไม่มี เซลล์สมอง แก้ไปจนตายก็ไม่อาจแก้ไขได้ จำเป็นต้องหาคนที่มีเซลล์สมองที่ดีกว่ามาช่วยแก้ พร้อมทั้งแจ้งกับชาวบ้านว่า การประชุมดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. (
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง1,
2)
8.อำนวยความสะดวก ในการขนย้ายอุปกรณ์ขุดเจาะปิโตรเลียม
การลงบัญชาการกองกำลังตำรวจ ทหาร และ อส. ของ พ.อ.จตุรพงศ์ บกบน รอง ผอ.รมน.จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2558 ก็ถือว่าเป็นภาระหน้าที่สำคัญไม่แพ้กัน เพราะในพื้นที่บ้านนามูล-ดูนสาด อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูลได้ออกมาแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับการขุดเจาะปิโตรเลียม เพราะเห็นว่ามีการดำเนินการตามกระบวนการ EIA ไม่ชอบธรรม เนื่องจากรายชื่อชาวบ้านที่แนบไปกับใบอนุญาตขอขนย้ายอุปกรณ์ขุดเจาะได้มาจากการนำเสื้อไปแจก เพื่อแลกกับลายเซ็นต์ของชาวบ้าน โดยไม่มีการให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงกับชาวบ้าน
ทั้งนี้ชาวบ้านได้มีการดำเนินการร้องเรียนความไม่เป็นธรรมไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และมีมติออกมาว่า ให้มีการเลื่อนการดำเนินใดๆ ออกไปก่อนจนกว่าจะมีการพูดคุยทำความเข้าใจร่วมกัน
แต่เจ้าหน้าที่ทหารได้ทำให้การขนย้ายอุปกรณ์ปิโตรเลี่ยมดำเนินต่อไปได้โดยสงบด้วยการนำกองกำลังไม่ต่ำกว่า 2 กองร้อย เข้าดูแลกระบวนการขนย้ายให้เป็นไปได้โดยปกติ (
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง1,
2,
3)
9.จัดตั้งกองสงครามไซเบอร์
เรียกได้ว่าเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ของกองทัพไทย กับการจัดตั้งกองสงครามไซเบอร์ เพื่อที่จะจัดการกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ โดยมีการวางภาระกิจหลักคือ การเฝ้าระวังการคุกคามความมั่นคงของชาติผ่านระบบออนไลน์ การจัดตั้งครั้งนี้เป็นการเสนอของ พล.อ.สมหมาย เกาฏีระ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2558
อย่างไรก็ตาม การทำงานในลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ของทหาร แต่มีการทำงานก่อนอยู่แล้ว ทว่ามีชื่อเรียกที่ต่างออกไป เช่น กองสารสนเทศ (
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง1,
2)
10.ขอให้แม่ค้าปลาหมึกทอดถอดสติ๊กเกอร์พรรคเพื่อไทย
การถอดสติ๊กเกอร์พรรคเพื่อไทยที่ร้านขายปลาหมึกทอดก็เป็นอีกหน้าที่สำคัญที่เพิ่มเติมเข้ามาเช่นกัน มีรายงานข่าวว่า มีเจ้าหน้าที่ทหาร 5 นาย ได้ขับรถฮัมวี่ ไปที่ร้านปลาหมึกทอด ริมถนนทิพเนตร อ.เมือง เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และเข้าพูดคุยทำคามเข้าใจว่าไม่ต้องการให้มีการแสดงสัญลักษณ์ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง โดยขอร้องให้ร้านค้าถอดสติ๊กเกอร์ที่มีสัญลักษณ์ของพรรคเพื่อไทยออกจากถังน้ำแข็ง
ขณะที่ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ทหาร ใช้กฎอัยการศึกขอให้เจ้าของร้านค้าปลาหมึกทอดแห่งเดียวกันถอดเสื้อสีแดงออก ซึ่งเสื้อสีแดงตัวดังกล่าวมีลายเสื้อ คลายใบหน้าของ จตุพร พรหมพันธ์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยผู้พบเห็นเหตุการณ์ระบุว่า มีการโต้เถียงอยู่เป็นระยะเวลาหนึ่ง แต่สุดท้ายเจ้าของร้านปลาหมึกทอดยินยอมถอดเสื้อออกโดยไม่มีเสื้อเปลี่ยน และเจ้าหน้าทหารได้ยึดเสื้อยึดสีแดงตัวดังกล่าวไปทันที (
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
11.ยึดสตรอว์เบอร์รีหวั่นกระทบความมั่นคง
นอกจากสติ๊กเกอร์พรรคเพื่อไทยแล้ว ยังมีการเข้าบุกยึดสตรอว์เบอร์รีด้วย เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2557 มีรายงานข่าวว่า เจ้าหน้าที่ทหารที่อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เข้ารื้อเต้นท์และยึดสินค้าจากร้านขายผลิตภัณฑ์สตรอว์เบอร์รีชื่อ “@ PAI” ที่มีเจ้าของเป็นแกนนำเสื้อแดงเชียงใหม่ คาดเหตุจากร้านได้ทำโลโก้เป็นรูปการ์ตูนคนหน้าเหลี่ยม คล้ายภาพ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยในวันต่อมา เจ้าหน้าที่ทหาร ร.7 พัน 5 อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ได้หารือกับเจ้าของร้านแล้ว พร้อมขอโทษเนื่องจากเข้าใจผิดและคืนผลิตภัณฑ์สตรอว์เบอร์รี่แล้ว (
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
12.จัดเวทีประชาพิจารณ์ ในค่ายทหาร
การเอื้อเฟื้อสถานที่ในค่ายทหาร สำหรับการจัดเวทีประชาพิจารณ์การดำเนินโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ เองก็เป็นอีกหนึ่งการทำหน้าที่ในช่วงหลังรัฐประหาร ตัวอย่างเช่น การจัดประชุมเพื่อรับฟังการชี้แจงการดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซคอร์ปอเรชั่น จำกัด แต่น่าเสียดายที่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ไม่เห็นด้วยและออกมายื่นหนังสื่อคัดค้าน ท่ามกลางการติดตามการเคลื่อนไหวจากเจ้าหน้าที่ทหารอย่างใกล้ชิด
หรือในกรณีของการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อทบทวนร่างรายงานผล กระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพครั้งสุดท้าย (ค3) โครงการโรงไฟฟ้าเทพา ขนาด 2,200 เมกะวัตต์ ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้จัด ก็เป็นเรื่องที่สะท้อนความใส่ใจในเรื่องการดูแลความสงบเรียบร้อย โดยมีการจัดขึ้น ท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัยเข้มงวด บริเวณโดยรอบ อบต.ปากบาง มีการกั้นลวดหนามหนาแน่นป้องกันไม่ให้ชาวบ้านที่คัดค้านโรงไฟฟ้าเข้ามา ในพื้นที่ และมีการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกว่า 1,500 นาย ดูแลความสงบเรียบร้อย และมีรถหุ้มเกราะล้อยางวิ่งวนอยู่ตลอดเวลา (
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง1,
2)
13.เปิดศาลทหารนอกเวลาทำการ กรณี 14 ประชาธิปไตยใหม่
หลังจากครบรอบหนึ่งปีรัฐประหาร 22 พ.ค. ที่ผ่านมา เกิดกระแสต่อต้านรัฐประหารขึ้นอีกครั้ง จนที่สุดแล้วนำไปสู่การเกิดขึ้นของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ และก็เป็นดังที่หลายคนทราบดีนักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ทั้ง 14 คนถูกจับกุมและถูกฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯเป็นเวลา 12 วัน
ทั้งนี้ในวันที่พวกเขาถูกจับกุมคือวันที่ 26 มิ.ย. 2558 ซึ่งพวกเขาถูกจับกุมที่สวนเงินมีมา ในเวลา 17.35 น. ซึ่งเป็นเวลานอกราชการ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวทั้ง 14 คน ไปขออนุญาตฝากขังที่ศาลทหาร และการพิจารณาฝากขังเสร็จสิ้นในเวลา 00.30 ของวันที่ 27 มิ.ย. 2558 ซึ่งเป็นการเปิดทำการของศาลทหารในเวลานอกเวลานอกราชการ(
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
14.เยี่ยมร้านขายข้าวลายจุด จนปิดร้าน
การเยี่ยมเยือนของเจ้าหน้าที่ทหารไม่ได้จำกัดวงเฉพาะ กลุ่มพ่อแม่นักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหาร หรือแกนนำกลุ่มทางการเมืองแต่เพียงเท่านั้น ร้านขายข้าวลายจุดเองก็ได้รับการเยี่ยมเยือนเช่นกัน เหตุเกิดที่ซอยลาดพร้าว 1 ซึ่งเป็นร้านค้าที่ บก.ลายจุด หรือ สมบัติ บุญงามอนงค์ นำข้าวฝากขาย โดย บก.ลายจุดเคยให้สัมภาษณ์ว่า
“ขายได้อยู่ 20 วัน จากนั้นเริ่มถูกคุมคาม ตั้งแต่การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไปค้นร้านค้าที่เอาข้าวไปขาย ที่จริงมันมีข้าวอยู่ 20 ถุงที่นั่น วันแรกมีการไปคุย ครั้งที่สองไปอีก เจ้าของบ้านตกใจว่าข้าว 20 ถุงนี้มันมีอะไร เขาเริ่มกลัว ไม่กล้าขาย ยกเลิกหมดเลย” บก.ลายจุดกล่าว (
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง1,
2)
15.เรียก บก. สื่อเข้าพบ
เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2557 ถือเป็นครั้งแรก ที่ คสช. เรียกบรรณาธิการสื่อสิ่งพิมพ์ทุกสำนักเข้าพูดคุยอย่างเป็นทางการ เพื่อขอความร่วมมือในการนำเสนอข่าว โดยพล.ท.สุชาติ ผ่องพุฒิ เจ้ากรมการทหารสื่อสารในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการเพื่อติดตามการเผยแพร่ข่าวสารต่อสาธารณะ กล่าวว่า การพบปะในวันนี้ไม่ได้จำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อแต่อย่างใดเป็นการเชิญมาพูดคุย เพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้ด้วยความเรียบร้อย เพราะสื่อมีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางการรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ที่ผ่านมาไม่ได้ตำหนิสื่อ ซึ่งต้องขอขอบคุณที่ให้ความร่วมมือ ทั้งนี้ทางคสช.มีคณะทำงานติดตามและรายงานผลหากสื่อใดไม่ได้ดำเนินการตามที่ร้องขออาจจะต้องมีการโทรศัพท์พูดคุยทำความเข้าใจกัน การพูดคุยในวันนี้ไม่มีวาระแต่ขอให้กรอบการทำงานของสื่อในการนำเสนอข่าวสารที่ถูกต้องคสช.ไม่ได้ จำกัดเสรีภาพสื่อ แต่จะทำอย่างไรให้ประเทศชาติมีความเข้มแข็ง โดยบุคลากร คือ คนในชาติต้องเข้มแข็ง ซึ่งขอให้สื่อช่วยขยายความเรื่องค่านิยมหลัก 12 ประการ ให้เป็นรูปธรรม ขอความร่วมมือการเผยแพร่สื่อสิ่งพิมพ์ให้อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงอย่าง ตรงไปตรงมาไม่มีคำที่กำกวมสองแง่สองง่าม อย่านำตัวเองเป็นตัวตั้ง เขียนลงไปในบทความหรือข่าวขอให้บรรณาธิการช่วยกลั่นกรองความถูกต้อง ใช้ดุลยพินิจในการนำเสนอโดยไม่พาดพิงบุคคลที่ 3 ตนไม่อยากให้เกิดความแตกแยกเพราะจะทำให้เกิดความไม่ปรองดองทำให้ประเทศกลับเข้าสู่วังวนเดิม (
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
16.ห้ามสหภาพแรงงานชุมนุม
ภาระหน้าที่สำคัญอีกประหารหนึ่งของเจ้าหน้าที่คือ การเข้าควบคุมสถานการณ์การชุมนุมประท้วงของกลุ่มสหภาพแรงงานกลุ่มต่างๆ เช่น กรณีของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย ซึ่งได้ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อปรับรุงสภาพการจ้างงาน โดยในวันที่ 28 ต.ค. 2557 มีการนัดเจรจา 3 ฝ่าย ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สมุทรปราการ ถนนเทพารักษ์ และเวลา 17.00 น. สมาชิกสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ประมาณ 60 คน เดินทางจากบริษัท พื่อรอฟังคำชี้แจงความคืบหน้าและผลการเจรจา จากตัวแทนสหภาพฯ ที่บริเวณลานจอดรถ สนง.สวัสดิการฯ แต่ปรากฎว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบประมาณ 10 นาย ได้เข้าชี้แจงต่อสมาชิกสหภาพฯ ที่รอฟังคำชี้แจงว่าเป็นการกระทำผิดกฏอัยการศึก เนื่องจากเป็นการชุมนุมเกิน 5 คน โดยมีตัวแทนสหภาพฯ เข้าทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ทหาร ก่อนทหารจะอนุญาตให้ตัวแทนสหภาพฯ ชี้แจงความคืบหน้าผลการเจรจา
อีกหนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กรณีเจ้าหน้าที่ทหารสั่งห้ามสหภาพแรงงานจังหวัดเชียงใหม่เดินรณรงค์ในวันแรงงาน เมื่อวันที่ 1พ.ค. 2558 กลุ่มแรงงานสามัคคี (WSA) สหพันธ์คนงานข้ามชาติ (MWF) เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์ สหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ สหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ ต้องเปลี่ยนกำหนดการจากที่วางไว้ว่าจะนำคนจำนวน 100 กว่าคนเดินรณรงค์ประเด็นแรงงานตั้งแต่บริเวณหน้าสวนหลวง ร. 9 จนถึงหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่เพื่อยื่นหนังสือต่อผู้ว่าฯ เป็นส่งตัวแทนจำนวน 30 คน ยื่นหนังสือเท่านั้น เนื่องจากทหารไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมเพราะมองว่าเป็นการชุมนุมเกินห้าคน และประเด็นที่รณรงค์เป็นประเด็นอ่อนไหว กลัวกลุ่มอื่นทำตาม (
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง1,
2)
17.จัดคอนเสิร์ต ที่อนุสาวรีย์ชัยฯ
“เราจะทำตามสัญญาของเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา”
เสียงเพลง “คืนความสุขให้ประเทศไทย” ดังกังวาลเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2557 ภายในงานฟรีคอนเสิร์ต ซึ่งร่วมจัดโดย กรุงเทพมหานคร กองพลทหารม้าที่ 2 และกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 ในชื่องาน"คืนความสุขสู่ประชาชน" บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ด้านภัตตาคารพงหลี เขตราชเทวี ซึ่งงานครั้งนี้ถือเป็นกิจกรรมคืนความสุขครั้งแรก หลังจากมีการรัฐประหารได้เพียง 13 วัน (
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
18.เหมาโรงหนัง ฉายพระนเรศวรให้คนดูฟรี
เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2557 ภาระหน้าที่หนึ่งของเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการคืนความสุขให้กับประชาชนคือ การเปิดโรงหนังให้ประชาชนได้เข้าชมภาพยนตร์ พระนเรศวร ภาค 5 ตอนยุทธหัตถี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมของกองทัพในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ลดความตึงเครียดจากสถานการณ์ทางการเมืองรวมทั้งปลุกจิตสำนึกให้เกิดความรัก ความสามัคคี และเทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ผ่านการชมภาพยนตร์
ซึ่งบางพื้นที่มีการเพิ่มรอบเนื่องจากมีประชาชนมารอมากกว่าจำนวนที่นั่ง บางพื้นที่เจ้าหน้าที่ทหารลงแรงจัดระเบียบแถวให้กับประชาชนที่มารอ อย่างไรก็ตามในหลายพื้นที่ยังขาดการบริหารจัดการที่ ประชาชนหลายคนที่ไปรอกลับไม่ได้ดูหนัง เพราะมีการจำกัดจำนวนที่นั่ง โดยไม่มีการแจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้า เช่นที่โรงหนังอีจีวีโคราช มีประชาชนมารอชมภาพยนตร์นับพันคน แต่มีจำนวนตั๋วฟรีเพียงแค่ 200 ที่นั่งเท่านั้น (
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง1,
2,
3)
19.ห้ามญาติรวมตัวทำบุญอุทิศส่วนกุศลในวันที่ 10 เมษา
ดูเหมือนว่าการตัดสินให้กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 จัดงานทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิต ก็กลายเป็นภาระหน้าที่หลักที่ทหารต้องตัดสินใจว่าจะให้มีการจัดได้หรือไม่ด้วย
เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2558 ที่วัดเกิดการอุดม ได้มีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง นำกำลังเข้ามาเพื่อขอให้ยุติการทำบุญที่วัด ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 10 เม.ย. พร้อมกับได้พูดคุยกับตัวแทนญาติผู้เสียชีวิต โดยให้เหตุผลในการสั่งห้ามทำบุญว่า ไม่ต้องการให้เกิดการรวมตัวทางการเมือง ทั้งนี้ด้านตัวแทนญาติผู้เสียชีวิตเองก็ได้ต่อรองว่า จะย้ายไปจัดงานที่บ้านแทน แต่ทางเจ้าหน้าที่ก็ไม่ยินยอม โดยขอให้แยกย้ายกันไปทำบุญเป็นส่วนตัวแทน (
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
20.สอนค่านิยม 12 ประการ
หลังจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กำหนดค่านิยม 12 ประการ สำหรับคนในชาติ และมอบหมายให้องค์กรหน่วยการต่างๆ นำไปถือปฏิบัติ หน่วยงานที่เรียกว่าเป็นพื้นที่หลักในการตอบสนองต่อค่านิยมดังกล่าวเห็นจะเป็นสถาบันการศึกษาทุกระดับ มีการดัดแปลงค่านิยม 12 ประการ เป็นบทอ่านอาขยาน หรือมีการดัดแปลงเป็นเพลง พร้อมมีท่าเต้นประกอบ อย่างไรก็ตามได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ทหารไปยังโรงเรียนต่างๆ เพื่อสอนค่านิยม 12 ประการให้กับนักเรียนโดยตรงด้วย (
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง1,
2)