วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

กม.คุมการชุมนุมบังคับใช้ - ห้ามเดินขบวนหลัง 18.00 น. ห้ามปราศรัยหลังเที่ยงคืน

การชุมนุมของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ ขปส. (P-move) หน้าทำเนียบรัฐบาลวันสุดท้าย เมื่อ 23 พ.ค. 2556 (แฟ้มภาพ/ประชาไท) (ชมภาพทั้งหมด)

        ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ชุมนุมต้องแจ้ง จนท. ล่วงหน้า 24 ชม. ห้ามชุมนุมใกล้พระราชวัง ห้ามชุมนุมในสภา ทำเนียบ ศาล ยกเว้นจัดสถานที่ให้ - ห้ามเดินขบวนยามวิกาล ห้ามปราศรัยหลังเที่ยงคืนถึง 6 โมงเช้า - ฝ่าฝืนคำสั่งห้ามชุมนุมคุก 6 เดือน - กีดขวางทางเข้าออก คุก 6 เดือน - ตัดน้ำตัดไฟ ปิดระบบขนส่งสื่อสาร ผู้จัดชุมนุมคุกไม่เกิน 10 ปี
         14 ก.ค. 2558 - ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 132 ตอนที่ 63 ก ฉบับวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 ได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ซึ่งผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
         โดยสาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าว หมวด 1 บททั่วไป "มาตรา 6 การชุมนุมสาธารณะต้องเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธการใช้สิทธิและเสรีภาพของผู้ชุมนุมในระหว่างการชุมนุมสาธารณะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย"
      "มาตรา 7 การจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมีหนึ่งร้อยห้าสิบเมตรจากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วังของพระรัชทายาทหรือของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป พระราชนิเวศน์ พระตําหนักหรือจากที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ประทับหรือพำนัก หรือสถานที่พํานักของพระราชอาคันตุกะ จะกระทํามิได้"
        "การจัดการชุมนุมสาธารณะภายในพื้นที่ของรัฐสภา ทําเนียบรัฐบาล และศาลจะกระทํามิได้ เว้นแต่มีการจัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สําหรับการชุมนุมสาธารณะภายในพื้นที่นั้น"
       "ศาลตามวรรคสองหมายความถึง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร และศาลอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาล"
        "ในกรณีจําเป็นเพื่อประโยชน์แห่งการรักษาความปลอดภัยสาธารณะและความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายมีอํานาจประกาศห้ามชุมนุมในรัศมีไม่เกินห้าสิบเมตรรอบสถานที่ตามวรรคสอง ทั้งนี้ ให้คํานึงถึงจํานวนของผู้เข้าร่วมชุมนุมและพฤติการณ์ในการชุมนุมด้วย"
"มาตรา 8 การชุมนุมสาธารณะต้องไม่กีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่ ดังต่อไปนี้ 
  • (1) สถานที่ทําการหน่วยงานของรัฐ
  • (2) ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ หรือสถานีขนส่งสาธารณะ
  • (3) โรงพยาบาล สถานศึกษา และศาสนสถาน
  • (4) สถานทูตหรือสถานกงสุลของรัฐต่างประเทศ หรือสถานที่ทําการองค์การระหว่างประเทศ
  • (5) สถานที่อื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด"

      "มาตรา 9 หน่วยงานของรัฐอาจจัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สําหรับการชุมนุมสาธารณะก็ได้
       การจัดให้มีสถานที่เพื่อการชุมนุมสาธารณะตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อเสรีภาพของประชาชน ที่จะจัดการชุมนุมสาธารณะในที่สาธารณะอื่น
       มิให้นําความในหมวด 2 การแจ้งการชุมนุมสาธารณะ มาใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะที่จัดขึ้นภายในสถานที่ตามวรรคหนึ่ง"
       ในหมวด 2 การแจ้งการชุมนุมสาธารณะ "มาตรา 10 ผู้ใดประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ ให้แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง
       ให้ถือว่าผู้เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมในวัน เวลา และสถานที่ที่กําหนดไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ รวมทั้งผู้ขออนุญาตใช้สถานที่หรือเครื่องขยายเสียงหรือขอให้ทางราชการอํานวยความสะดวกในการชุมนุมเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะตามวรรคหนึ่ง"
หมวด 3 หน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุม
"มาตรา 15 ผู้จัดการชุมนุมมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
  • (1) ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะให้เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
  • (2) ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ ตลอดจนดูแลและรับผิดชอบให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามมาตรา 16
  • (3) แจ้งให้ผู้ชุมนุมทราบถึงหน้าที่ของผู้ชุมนุมตามมาตรา 16 และเงื่อนไขหรือคําสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ
  • (4) ให้ความร่วมมือแก่เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะในการดูแลการชุมนุมสาธารณะให้เป็นไปตาม (1) และ (2)
  • (5) ไม่ยุยงส่งเสริมหรือชักจูงผู้ชุมนุมเพื่อให้ผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามมาตรา 16
  • (6) ไม่ปราศรัยหรือจัดกิจกรรมในการชุมนุมโดยใช้เครื่องขยายเสียงในระหว่างเวลา 24.00 นาฬิกา ถึงเวลา 06.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น
  • (7) ไม่ใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าที่มีขนาดหรือระดับเสียงตามที่ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติประกาศกําหนด"

"มาตรา 16 ผู้ชุมนุมมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
  • (1) ไม่ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะอันเป็นที่ชุมนุมหรือทําให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนเกินที่พึงคาดหมายได้ว่าเป็นไปตามเหตุอันควร
  • (2) ไม่ปิดบังหรืออําพรางตนโดยจงใจมิให้มีการระบุตัวบุคคลได้ถูกต้อง เว้นแต่เป็นการแต่งกายตามปกติประเพณี
  • (3) ไม่พาอาวุธ ดอกไม้เพลิง สิ่งเทียมอาวุธปืน หรือสิ่งที่อาจนํามาใช้ได้อย่างอาวุธ เข้าไปในที่ชุมนุมไม่ว่าจะได้รับอนุญาตให้มีสิ่งนั้นติดตัวหรือไม่
  • (4) ไม่บุกรุกหรือทําให้เสียหาย ทําลาย หรือทําด้วยประการใด ๆ ให้ใช้การไม่ได้ตามปกติซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่น
  • (5) ไม่ทําให้ผู้อื่นกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน หรือเสรีภาพ
  • (6) ไม่ใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้ายผู้เข้าร่วมชุมนุมหรือผู้อื่น
  • (7) ไม่ขัดขวางหรือกระทําการใดๆ อันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะในการคุ้มครองความสะดวกของประชาชนในการใช้ที่สาธารณะ และการดูแลการชุมนุมสาธารณะนั้น
  • (8) ไม่เดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมระหว่างเวลา 18.00 นาฬิกา ถึงเวลา 06.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ
  • (9) ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคําสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ"
  • ในส่วนของ หมวด 5 บทกําหนดโทษ มาตรา 27 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 7 ชุมนุมในสถานที่ซึ่งห้ามไว้ หรือ มาตรา 8 ชุมนุมกีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงานของหน่วยงานบางแห่ง "ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ"

มาตรา 28 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 10 มาตรา 12 มาตรา 17 หรือมาตรา 18 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท"
มาตรา 29 ผู้ใดฝ่าฝืนคําสั่งห้ามชุมนุมหรือจัดการชุมนุมระหว่างมีคําสั่งห้ามชุมนุม ตามมาตรา 11 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ"
มาตรา 30 ผู้จัดการชุมนุมผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 15 (1) (2) หรือ (3) หรือผู้ชุมนุมผู้ใด ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 16 (1) หรือ (2) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท"
มาตรา 31 ผู้จัดการชุมนุมผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 15 (4) (5) (6) หรือ (7) หรือ ผู้ชุมนุมผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 16 (3) (4) (5) (6) (7) หรือ (8) ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
"ถ้าการกระทําตามวรรคหนึ่งทําให้ระบบการขนส่งสาธารณะ ระบบการสื่อสารหรือโทรคมนาคม ระบบผลิตหรือส่งกระแสไฟฟ้าหรือประปา หรือระบบสาธารณูปโภคอื่นใดใช้การไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นการชั่วคราวหรือถาวร ผู้จัดการชุมนุมต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ"
"มาตรา 32 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคําสั่งหรือประกาศของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ตามมาตรา 19 (5) หรือมาตรา 23 ถ้าผู้นั้นเป็นผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ชุมนุม ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ แต่ถ้าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ภายในสถานที่ชุมนุม ต้องระวางโทษ ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท"
"มาตรา 33 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของผู้ควบคุมสถานการณ์หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจาก ผู้ควบคุมสถานการณ์ตามมาตรา 24 หรือมาตรา 25 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ"
"มาตรา 34 ผู้ใดไม่ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ หรือผู้ควบคุม สถานการณ์หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ควบคุมสถานการณ์ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ พาอาวุธเข้าไปในที่ชุมนุม ไม่ว่าจะได้รับอนุญาตให้มีอาวุธนั้นติดตัวหรือไม่ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ"
"ถ้าอาวุธตามวรรคหนึ่งเป็นอาวุธปืน วัตถุระเบิด หรือวัตถุอื่นใดอันมีสภาพคล้ายคลึงกัน ผู้กระทําความผิดต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ"
"มาตรา 35 บรรดาทรัพย์สินที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการชุมนุมสาธารณะที่ยึดได้จาก การชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือที่ไม่เลิกการชุมนุมตามคําสั่งศาล ให้ศาลมีอํานาจสั่งริบ เสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคําพิพากษาหรือไม่"

‘ปวิน’ โวยกงสุลไทยในเยอรมัน อ้างตัดทุนมหาวิทยาลัย บล็อคบรรยายการเมือง


15 ก.ค.2558  ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ รองศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเกียวโต และนักวิจัยรับเชิญมหาวิทยาลัย Freiburg เยอรมนี โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุสถานทูตไทยในเยอรมนีแทรกแซงมหาวิทยาลัยในเยอรมนีให้งดจัดกิจกรรมทางวิชาการหลังปวินเข้าร่วม
สำหรับรายละเอียดในเรื่องนี้ ปวินเล่าถึงสองกรณีที่เกิดขึ้น กรณีหนึ่งคือการที่สถานทูตไทยติดต่อมหาวิทยาลัยเพื่อส่งคนเข้าร่วมงานวิชาการเรื่องสถานการณ์การเมืองไทยที่เขาบรรยาย ส่วนอีกกรณีเป็นเรื่องที่ทำให้เขาไม่พอใจอย่างมากคือ กรณีที่กงสุลไทยสั่งให้มหาวิทยาลัยยกเลิกงานที่เชิญเขาไปบรรยายโดยขู่จะตัดเงินสนับสนุนและทางมหาวิทยาลัยก็ยินยอม
ปวินเท้าความว่า เขากำลังอยู่ในระหว่างการเป็นนักวิจัยรับเชิญ ณ มหาวิทยาลัย Freiburg ของเยอรมนี เริ่มต้นการรับตำแหน่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา หน้าที่สำคัญคือการได้รับเชิญไปบรรยายหัวข้อที่เขากำลังทำวิจัยอยู่คือเรื่องสถานการณ์การเมืองปัจจุบันของไทย
เขากล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน ได้พยายามแทรกแซงกิจกรรมทางวิชาการที่เขาเกี่ยวข้อง เมื่อครั้งที่ได้รับเชิญให้เล็คเชอร์ ณ มหาวิทยาลัย Freiburg เมื่อวันที่ 6 ก.ค. นางนงนุช เพ็ชรรัตน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ได้ขอให้เจ้าหน้าโทรศัพท์มาสอบถามมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการบรรยายและขอส่งเจ้าหน้าที่มาเข้าร่วม ทางมหาวิทยาลัยได้ตอบปฏิเสธไปทันที เนื่องจากเป็นกิจกรรมทางวิชาการที่ไม่ควรมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง จากนั้นทางมหาวิทยาลัยได้แจ้งเรื่องดังกล่าวแก่เขา ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นความพยายามของสถานเอกอัครราขทูตในการข่มขู่การประกอบวิชาชีพของเขา
“หากใครตามเฟซบุ๊คผมก็จะทราบว่า ผมได้เขียนเรื่องความอึดอัดนี้โดยทันที โดยย้ำว่า คสช ลงโทษผมทางกฏหมายอย่างไม่ชอบธรรมแล้ว ผมจะไม่ยอมอย่างเด็ดขาดที่จะให้สถานเอกอัครราขทูต ณ กรุงเบอร์ลิน มาสร้างความกดดันต่อผม ผมขอสู้ตาย” ปวินกล่าว
เขากล่าวต่อว่า เขาตอบโต้โดยการเดินทางไปยังสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลินวันรุ่งขึ้น (7 ก.ค.) เพื่อร่วมประท้วงกับกลุ่มส่งเสริมประชาธิปไตยเรียกร้องให้ คสช. ปล่อยตัวนักศึกษาทั้ง 14 คนซึ่งขณะนั้นยังถูกจำคุกอยู่ และเขายังเรียกร้องขอพบนงนุชแต่ไม่มีตัวแทนจากสถานเอกอัครราชทูตคนใดออกมาพบ
“ผมเห็นว่า เป็นความขลาดของคนจากสถานเอกอัครราชทูตที่จะออกมาเผชิญหน้าผมอย่างตรงไปตรงมา” ปวินกล่าว
ปวินกล่าวต่อว่า หลายวันต่อมาเขาได้รับการติดต่อจากนักศึกษาของมหาวิทยาลัย Goethe-Universität Frankfurt am Main เพื่อเชิญบรรยายเกี่ยวกับพัฒนาการทางการเมืองของไทย ในอีเมลเชิญนักศึกษาที่เป็นผู้ติดต่อได้เขียนอย่างตรงไปตรงมาว่าไม่อาจเชิญปวินอย่างเป็นทางการได้ เพราะเกรงว่าอาจทำให้สถานกงสุลไทย ณ นครแฟรงค์เฟิรต์ขุ่นเคือง และอาจนำไปสู่การตัดเงินช่วยเหลือแก่สถาบันได้ เขาตอบรับการบรรยายอย่างไม่เป็นทางการที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 ก.ค.
“ผมเดินทางออกจาก Freiburg ไปยังแฟรงค์เฟิรต์แต่เช้า แต่เพียงไม่กี่นาทีก่อนที่เล็คเชอร์จะมีขึ้น ผมได้รับแจ้งว่า ทางผู้จัดขอยกเลิกงานเล็คเชอร์ของผม เพราะสถานกงสุลฯ ได้โทรศัพท์มาขอให้ยกเลิก และได้มีการพูดถึงการขู่ว่าจะมีการตัดเงินช่วยเหลือจากสถานกงสุลฯ หากผู้จัดยังดื้อที่จะให้มีเล็คเชอร์ของผมต่อไป”
“เมื่อผมทราบข่าว ผมรู้สึกไม่พอใจอย่างมาก เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่หน่วยงานราชการของไทยในเยอรมนีพยายามแทรกแซงงานวิชาการ และในส่วนตัว มันยังเป็นความพยายามสร้างแรงกดดันต่อผม ปฏิกิริยาตอบโต้จากผมคือการกล่าวตำหนิผู้จัดอย่างรุนแรงที่ยอมให้เงินบริจาคของสถานกงสุลฯ เข้ามามีอิทธิพลเหนือชุมชนวิชาการในเยอรมนี จากนั้น ผมได้เรียกร้องให้นักศึกษาที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้จัด ได้ช่วยผมในการรักษาพื้นที่ทางวิชาการ โดยขอให้ช่วยสนับสนุนให้งานเล็คเชอร์ผมมีต่อไป แม้ว่าจะถูกทางมหาวิทยาลัยสั่งยกเลิกไปแล้ว ซึ่งนักศึกษาจำนวนหนึ่งเห็นด้วย และยังกล่าวต่อว่า จะไม่ยอมให้หน่วยงานของไทยมามีอิทธิพลต่อมหาวิทยาลัย และพร้อมส่งเสริมเสรีภาพทางวิชาการ จนในที่สุด เล็คเชอร์ของผมก็มีขึ้น และได้จบลงไปด้วยดี”
ปวินกล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นปรากฏให้เห็นชัดว่าตัวแทนทางการทูตของไทยยินดีทำตามนโยบายของ คสช ในการกำจัดพื้นที่แสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองของไทย โดยใช้อิทธิพลทางการเงินเป็นเครื่องมือต่อรองสถาบันการศึกษาต่างๆ ในเยอรมนี
“นางนงนุชแม้ว่าจะเป็นที่รู้กันดีในกระทรวงการต่างประเทศถึงความใกล้ชิดที่เคยมีกับอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ท่าทีล่าสุดของนางนงนุชชี้ถึงความพร้อมที่จะสนองต่อนโยบายของ คสช แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักปฏิบัติทั่วไปที่ประเทศอื่นๆ มีต่อแวดวงวิชาการ สถานกงสุลใหญ่ที่แฟรงค์เฟิรต์ ก็ดำเนินนโยบายใกล้เคียงกัน โดยใช้วิธีการปิดกั้นผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง แทนที่จะใช้วิธีการเดินทางมาเข้าร่วมงานเล็คเชอร์และแสดงความเห็นที่ต่างไป หรืออธิบายจุดยืนของสถานกงสุลฯ ในวิถีทางที่ไม่สกปรกและซิวิไลซ์” ปวินกล่าว
นอกจากนี้ปวินยังแสดงความไม่พอใจต่อท่าทีของมหาวิทยาลัย Goethe-Universität Frankfurt am Main โดยระบุว่าคณาจารย์ต่างปฏิเสธการปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ และไปให้ความชอบธรรมต่อท่าทีของสถานกงสุลฯ ไม่มีอาจารย์คนใดของมหาวิทยาลัยออกมาอธิบายถึงเรื่องที่เกิดขึ้น ต่างกลับพร้อมใจที่จะไม่ปรากฏตัวในระหว่างเล็คเชอร์ของเขา เพื่อแสดงให้สถานกงสุลฯ เห็นว่าตัวเองไม่มีส่วนรู้เห็นการการเชิญปวินมาบรรยาย
“เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ประเทศอย่างเยอรมนี ที่มีความเป็นเลิศด้านการศึกษา ได้ผลิตนักวิชาการที่มีอิทธิพลในสาขาต่างๆ จำนวนมากตั้งแต่อดีต แต่วันนี้ กลับตกเป็นทาสทางการเงินของหน่วยงานไทย จนทำให้ละทิ้งหน้าที่การส่งเสริมเสรีภาพทางวิชาการ พวกคุณควรต้องละอายใจต่อตัวเองเป็นอย่างยิ่ง” ปวินกล่าว

คสช. ใช้อำนาจ ม.44 ยุติการสรรหา คปก. ชี้ตอนนี้ก็ ร่าง รธน. ปฏิรูปอยู่แล้ว


          ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งของหัวหน้า คสช. โดย ม.44 สั่งระงับการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ชี้ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปประเทศอยู่แล้ว
15 ก.ค. 2558 คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกคำสั่ง ที่ 20 / 2558 เรื่อง ระงับการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อเสนอชื่อเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมาย สืบเนื่องจากการประกาศรับสมัครบุคคลเข้ารับการสรรหาและคัดเลือกเพื่อเสนอชื่อเป็น คปก. แทนกรรมการชุดเดิมที่หมดวาระตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภภาคมที่ผ่านมา

        โดยในคำสั่งระบุว่าในปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปประเทศและหลักการสำคัญส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมอยู่แล้ว ซึ่งหลักเกณฑ์หรือกลไกที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมอาจจะมีการวางหลักเกณฑ์ที่แตกต่างไปจากปัจจุบัน และยังระบุต่อไปว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2558 ก็มีองค์กรที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆรวมถึงด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมด้วย ดังนั้นเมื่อคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้หมดวาระลงไปแล้วจึงควรว่าควรระงับการสรรหาและคัดเลือกกรรมการปฏิรูปกฎหมายชุดใหม่ไว้ก่อน

     โดยการอาศัยตามอำนาจกฎหมายมาตรา 44 จึ่งมีคำสั่งดังต่อไปนี้


  • 1.ให้ระงับการคัดเลือกเสนอชื่อเป็น คปก. ตาม พรบ.คปก. 2553 จนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
  • 2.ให้ คปก.ที่พ้นตำแหน่งไปแล้วแต่ยังทำหน้าที่ตาม ม. 12 ของ พรบ. คปก. ให้พ้นจากตำแหน่งตั้งแต่คำสั่งนี้บังคับใช้
  • 3.ในระหว่างที่ยังไม่มี คปก. ให้สำนักงาน คปก. สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือ ปฎิบัติหน้าที่อื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย โดยอาศับภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี
  • 4. คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
    ทั้งนี้ ปัจจุบันกระบวนการสรรหา คปก. ชุดใหม่ อยู่ในขั้นตอนสุดท้าย โดยมีผู้เข้ารอบการคัดเลือกจำนวน 22 คน และในวันที่ 19 ก.ค. 2558 จะมีการสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกให้เหลือ 11 คน
โดยรายชื่อ 22 คนที่ผ่านการคัดเลือกได้แก่

  • 1.นายไพโรจน์ พลเพชร
  • 2.นางสุนี ไชยรส
  • 3.ศ.ดร.เสาวนีย์ อัศวโรจน์
  •  4.นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ
  • 5.ศ.ดร.กำชัย จงจักรพันธ์
  • 6.นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์
  • 7.นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์
  • 8.นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์
  • 9.นางสุภัทรา นาคะผิว 
  • 10.ศ.ดร.ศุภลักษณ์ พินิจภูวดล 
  • 11.นายคมสัน โพธิ์คง
  • 12.ศ.ธงทอง จันทรางศุ
  • 13.ศ.พิเศษวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ 
  • 14.นายวินัย ลู่วิโรจน์
  • 15.นายอรรณพ ลิขิตจิตถะ
  • 16.นายวสันต์ พานิช
  • 17.นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ
  • 18.พลตำรวจเอก วันชัย ศรีนวลนัด
  • 19.ผศ.เมธี วงศ์สุวรรณ
  • 20.นายพาณิชย์ เจริญเผ่า
  • 21.นายวิชัย โถสุวรรณจินดา
  • 22.นายอนุรักษ์ นิยมเวช

ส่งออกร่วงหนักสุดรอบ 6 ปี ขณะที่ 6 เดือน บริษัทปิดกิจการแล้ว 6,898 ราย


เมื่อวันที 14 ก.ค.ที่ผ่านมา อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ทิศทางการส่งออกไทยช่วงครึ่งปีหลังนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 218,896 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือลดลง 3.8%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการติดลบติดต่อกัน 3 ปี และหนักสุดในรอบ 6 ปีนับตั้งแต่ปี53 จากปัจจัยลบคือ เศรษฐกิจโลกชะลอตัว, ปัญหาประมงผิดกฎหมาย,ภัยแล้ง และราคาสินค้าเกษตรอยู่ในระดับต่ำ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ส่งออกไทย ยังสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับประเทศในกลุ่มซีแอลเอ็มวีในตลาดโลกมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดหลักของไทยเช่นสหรัฐอเมริกาจีนญี่ปุ่นและหากเวียดนาม เจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (ทีพีพี) สำเร็จก็จะยิ่งส่งผลให้ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในตลาดสหรัฐฯ มากขึ้น โดยปัจจุบันพบว่าเวียดนาม มีส่วนแบ่งการส่งออกของตลาดโลกเพิ่มจาก 0.83% ในปี 56 เป็น 0.9% ในปี 57 ขณะที่ไทยมีสัดส่วนลดลงจาก 1.36% เหลือ 1.33%
“สำหรับปัญหาหนี้กรีซนั้น น่าจะไม่มีปัญหามากนัก เพราะกรีชเป็นตลาดเล็ก ที่สำคัญปัญหาดังกล่าวนั้น ขณะนี้มีแนวโน้มการแก้ไขในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ที่ยังห่วงอีกตลาดคือ เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว ซึ่งกระทบต่อผู้ส่งออกไทยในกลุ่ม เคมีภัณฑ์ยางพาราชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชิ้นส่วนยานยนต์เป็นต้น ซึ่งไทยส่งออกไปจีนมีสัดส่วน11%ของการส่งออกทั้งหมด”
อย่างไรก็ดี ปัจจัยบวกที่มีผลต่อการส่งออกไทย ก็ยังมีอยู่บ้างเช่นเงินบาทที่อ่อนค่าลง ซึ่งขณะนี้อยู่ที่34บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ แต่รับว่าไม่ได้ส่งผลบวกมากนักเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งเพราะไทยค่าเงินอ่อนเป็นอันดับ 3เมื่อเทียบกับอินโดนีเซียและมาเลเซีย รวมถึงผลจากการที่ไทยได้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี) จากสหรัฐฯ ถึงปี 60 และ แนวโน้มของราคาน้ำมัน ลดลงที่ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตการขนส่งลดลง
ส่วนครึ่งปีหลังนี้ คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออก 106,561 - 115,658 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 7.5% ถึงบวก 0.4% โดยความน่าจะเป็นมากที่สุดคือ - 3.6% หรือมูลค่าส่งออก 111,098 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยคาดว่าไทยส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ 12,576 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 1.1%, ตลาดญี่ปุ่น 10,520 ล้านดอลลาร์ฯ ติดลบ 2.4%, ตลาดสหภาพยุโรป 10,230 ล้านดอลลาร์ฯ ติดลบ2.2%, ตลาดอาเซียนเดิม ประกอบด้วยบรูไน, อินโนนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์,สิงคโปร์ มูลค่า 16,902 ล้านดอลลาร์ฯ ติดลบ 14.7% , ตะวันออกกลาง 5,461 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 0.1% , อินเดีย 2,778 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 1.6% และจีน 11,813 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 7.1% เป็นต้น
(ที่มา : เดลินิวส์, 14 ก.ค.58)
ครม.ผ่อนปรนสัญญาสัมปทานหวังดึงเอกชนเข้าร่วมลงทุน
14 ก.ค.58 พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลเห็นว่า เมื่อเกิดข้อขัดแย้งและฟ้องร้องระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน ภาครัฐมักจะเป็นผู้จ่ายค่าเสียหายเกือบทั้งหมด เมื่อมีการตั้งอนุญาโตตุลาการ  ที่ประชุม ครม. จึงมติให้มีการแก้ไขในปี 2552 โดยกำหนดให้ทุกสัญญาทั้งในและต่างประเทศซึ่งทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ไม่ให้ใช้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาด ด้วยการเสนอ ครม.พิจารณาเป็นรายกรณี
จากมติดังกล่าว จึงทำให้เอกชนไทยทั้งในและต่างประเทศไม่กล้าเข้าร่วมลงทุน เพราะเกิดความไม่มั่นใจ และเกิดความไม่แน่นอน ที่ประชุม ครม.วันนี้จึงเห็นชอบให้ใช้อนุญาโตตุลาการได้เพียง 2 กรณี เพื่อเกิดข้อพิพาทขัดแย้ง ประกอบด้วย สัญญาของเอกชนกับภาครัฐในโครงการร่วมลงทุน (PPP) และสัญญาสัมปทานของหน่วยงานรัฐกับเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ส่วนข้อขัดแย้งด้านอื่นให้พิจารณาใช้แนวทางไกล่เกลี่ย หรือ การฟ้องร้องต่อศาล
(ที่มา : สำนักข่าวไทย, 14 ก.ค.58)
6 เดือน บริษัทปิดกิจการแล้ว 6,898 ราย
ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ยอดจดทะเบียนเดือนมิถุนายน 2558  จำนวน 5,161 ราย เพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบจากเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และลดลง 0.7% เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายนปีก่อน และจดทะเบียนเลิก 1,322 ราย เพิ่มขึ้น 35% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2558 และเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายนปีก่อน ทำให้ยอดรวมบริษัทตั้งใหม่ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558  มีจำนวนรวม 31,557 ราย เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และจดทะเบียนเลิก 6,898 ราย เพิ่มขึ้น 18% โดยกรมฯ มั่นใจว่ายอดจดตั้งใหม่ทั้งปี 2558 จะเป็นไปตามเป้าที่คาดไว้ 6-6.5 หมื่นราย ทั้งยอดจดทะเบียนเพิ่มน้อย เป็นเพราะกรมฯได้เข้มงวดเรื่องเงินทุนจัดตั้ง และการจัดตั้งบริษัทท่องเที่ยว จึงเหลือคนที่ทำธุรกิจจริง และที่เลิกกิจการเพิ่มขึ้น เพราะเข้มงวดกับบริษัทที่ไม่ทำธุรกิจจริงและบริษัทค้าสลากที่มีการจดเลิกเพิ่มขึ้น  นอกจากนี้  กรมฯให้เข้มงวดกับผู้ค้าขายออนไลน์และทำการฉ้อโกงประชาชนในรูปแบบต่างๆ หากเป็นผู้ประกอบการที่ไม่จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ให้ถูกต้องตามกฎหมาย จะถูกปรับ 2,000 บาท และปรับอีกวันละ 200 บาท และส่งดำเนินคดีตามกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)  ซึ่งมีโทษปรับเป็นแสนบาท
(ที่มา : มติชนออนไลน์, 15 ก.ค.58)
6 เดือน เอสเอ็มอีแบงก์มีกำไรสุทธิ 604 ล้านบาท ด้าน NPLs ลด
15 ก.ค. 58 สาลินี วังตาล ประธานกรรมการ และสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยผลการดำเนินงานของธนาคารว่า เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีกำไรสุทธิ 101 ล้านบาท และผลกำไรสุทธิรวม 6 เดือนแรกปีนี้ อยู่ที่ 604 ล้านบาท ดีกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูที่นำส่งซุปเปอร์บอร์ด และธนาคารปล่อยกู้ใหม่ได้แล้ว 16,925 ล้านบาท ให้กับลูกค้า 7,376 ราย ทั้งหมดเป็น SMEs รายย่อย วงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท ขณะที่ เปรียบเทียบคุณภาพสินเชื่อและผลการดำเนินงานปีก่อนหน้า คณะกรรมการชุดปัจจุบันได้เข้ามารับหน้าที่ในเดือนสิงหาคม 2557 ได้พยายามปรับปรุงกิจการของเอสเอ็มอีแบงก์ในทุก ด้านโดยเฉพาะในเรื่องการแก้หนี้เสียและการพยายามปล่อยเงินกู้ใหม่ที่มีคุณภาพดีเพื่อเพิ่มรายได้ของธนาคาร และเป็นการช่วยสภาพคล่องให้แก่ SMEs รายย่อย ซึ่งเป็นพันธกิจหลักของธนาคารด้วย
ทั้งนี้ สินเชื่อของเอสเอ็มอีแบงก์มีคุณภาพดีขึ้นมาก ดังจะเห็นได้จากลูกหนี้ที่จ่ายชำระดอกเบี้ย (Performing Loan) เพิ่มขึ้นจาก 52,928 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 เป็น 59,186  ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 ขณะที่ NPLs ลดลงจาก 35,167 ล้านบาท หรือร้อยละ 39.92 ของสินเชื่อรวม เหลือ 27,184 ล้านบาทหรือร้อยละ 31.47% ของสินเชื่อรวม  ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558  สินเชื่อรวมของเอสเอ็มอีแบงก์ที่ลดลงจาก 88,095 ล้านบาท เหลือ 86,370 ล้านบาท เพราะมีการขายลูกหนี้ที่เป็น NPLs ออกไป นอกจากนั้น ลูกหนี้ที่มีคุณภาพดีได้จ่ายชำระเงินต้น  ประกอบกับลูกหนี้ขนาดกลางที่ไม่สามารถเพิ่มวงเงินกู้กับเอสเอ็มอีแบงก์  ได้ขอ Refinance ไปส่วนหนึ่งด้วย
(ที่มา : สำนักข่าวไทย, 15 ก.ค.58)
พาณิชย์สั่งติดตามราคาน้ำดื่มบรรจุขวด หลังขาดตลาด
15 ก.ค.58 พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมการค้าภายใน ตรวจสอบบริษัทผู้ผลิตน้ำดื่มรายใหญ่ อาทิ ไทยเบฟ เสริมสุข เนสท์เล่ ไทยน้ำทิพย์ เเละสิงห์ ซึ่งทั้งหมดนี้มีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 60 ของผู้ผลิตน้ำดื่มทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าปัญหาภัยแล้งไม่มีผลกระทบต่อการผลิตน้ำดื่ม ซึ่งยังสามารถผลิตน้ำดื่มได้ตามปกติ เนื่องจากมีการใช้น้ำใต้ดินผลิต ส่วนกระแสข่าวน้ำดื่มบางยี่ห้อขาดแคลน เนื่องจากประชาชนตื่นตระหนกทำให้มีการซื้อน้ำกักตุนจำนวนมาก ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามสถานอย่างใกล้ชิด และออกประกาศราคาแนะนำน้ำดื่มขวดพลาสติกใสขนาด 500-600 มิลลิลิตร ไม่แช่เย็นจำหน่ายไม่เกินขวดละ 7 บาท และแช่เย็นจำหน่ายไม่เกินขวดละ 10 บาท ขนาดบรรจุ 1500 มิลลิลิตร ต้องไม่เกินขวดละ 14 บาท หากพบว่าร้านค้าจำหน่ายเกินราคาแนะนำกระทรวงพาณิชย์จะออกมาตราการเข้มงวดมากขึ้น โดยประกาศเป็นราคาควบคุม ซึ่งหากกระทำผิดจะมีโทษตามกฎหมายจำคุก 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือประชาชนพบเห็นสามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1569

พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ‘ประยุทธ์’ เผยจัด ‘โซนนิ่ง’ แยกพื้นที่ปลูกพืชน้ำมาก-น้ำน้อย


15 ก.ค.2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่มีฝนตกลงมาหลายพื้นที่เมื่อวานนี้ (14 ก.ค.)  ส่วนตัวได้สวดมนต์ขอพระพิรุณให้มีฝนตกลงมา และขอให้ประเทศชาติปลอดภัย สงบสุข ขอให้สื่อมวลชนน่ารัก และเรื่องอื่น ๆ โดยตนได้ขอพรเป็นประจำทุกวัน ทั้งนี้ได้ส่งทหารไปช่วยในการขุดบ่อบาดาลทุกจุดแล้ว ซึ่งเป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ โดยการดำเนินงานคำนึงถึงเครื่องมือและงบประมาณ รวมทั้งพิจารณาพื้นที่ที่เดือดร้อนเร่งด่วนก่อน
เมื่อถามว่า ได้มีการส่งกำลังทหารไปช่วยในพื้นที่แล้งในการขุดคลองอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารไปนานแล้ว มีแผนงานอยู่แล้ว ที่ไปเจาะบ่อบาดาลก็มีเจ้าหน้าที่ทหารไปด้วย ส่วนที่บางพื้นที่ที่ไม่ได้ลงไปทำเพราะว่า บางพื้นที่ขุดลอกคูคลองได้ บางพื้นที่เก็บกักน้ำไม่ได้ ไม่ใช่ตรงไหนก็ทำได้ และงบประมาณมีหรือไม่ และเครื่องไม้เครื่องมือเรามีเพียงพอหรือไม่ มีเครื่องมือขุดเจาะกี่ตัว อยู่ที่ไหนบ้าง ก็รวบรวมมากำหนดเป้าหมาย 500 บ่อ ใครจะรับผิดชอบตรงไหนบ้าง เขาทำกันแบบนี้
“เพราะฉะนั้นการเกษตร ผมก็อยากบอกว่า ผมไม่ได้ไปรังเกียจรังงอน ผมสงสารท่านมากกว่า แต่มันจนใจจริงๆ ถ้าท่านจะทำก็ต้องรอน้ำฝน ไม่เช่นนั้นท่านลงทุนไปแล้วมันก็เสียหาย มันไม่ได้ประโยชน์ เดี๋ยวก็ไปหากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีใครเดือดร้อนก็บอกมา ท่านต้องเป็นกลุ่มให้ได้ว่าตรงนี้เดือดร้อน ไม่ใช่คนหนึ่งมาร้อง แล้วมาอีกคนหนึ่ง ไม่รู้จะช่วยตรงไหน เอาคนละบ่อหรือ รวมแปลงนา รวมพื้นที่ สิ่งที่เราจัดนี่คือการโซนนิ่งไง เราก็จะรู้แล้วว่าตรงไหนควรปลูกพืชน้ำมาก น้ำน้อย นี่คือเวลาพลิกวิกฤติเป็นโอกาส สร้างการรับรู้ ให้เขารู้ว่าต่อไปทำนาไม่ได้แล้วนะ มันนอกเขตชลประทาน ถ้าในเขตก็ทำไร่ แต่ถ้าน้ำไม่มาก็ไม่มีเหมือนกัน คนทุกจะได้ปรับเปลี่ยน ไม่เช่นนั้นทุกคนก็บอกว่าไปห้ามเขาทำนาแล้วเขาจะทำอะไร พูดอย่างนี้มันไม่จบ มันเสียหายหมด สรุปคือชาวนายังทำงานต่อไป ถึงมันจะทำปีละสามครั้ง ได้ผลประโยชน์ครั้งเดียว ท่านก็เชียร์เขาทำต่อไปก็แล้วกัน ผมรับผิดชอบให้ไม่ได้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้รัฐบาลก็เตรียมแผนงานในเรื่องของการลดต้นทุนการผลิต เตรียมพื้นที่ให้ปลูก เตรียมข้อมูลว่าพื้นที่ไหนควรปลูกพืชอะไร ถ้าเป็นพืชป้อนโรงงานจะเป็นตรงไหน ให้เกิดธุรกิจในชุมชน ชาวไร่ชาวนามีเงิน สหกรณ์มีเงินไปซื้อของมาเก็บ มาแปรรูป ประชาชนจะได้เข้มแข็ง เขาเรียกว่าให้เบ็ดแล้วให้วิธีการตกปลาด้วย แต่วันนี้ปลาไม่มีตกเพราะฝนแล้ง ก็ต้องหาปลามาแจก คือต้องช่วยเหลือคนเดือดร้อน คิดแบบนี้จะได้ไปด้วยกันได้ ถ้าตนทำอะไรไม่ดีก็บอกมา ถ้าบอกแล้วยังไม่แก้ ก็ค่อยด่าตน นี่พอแตะปั๊บก็ด่าหมด ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ทำไม่ได้ อย่าว่าตนเลย ถึงมีอำนาจเต็มก็ทำไม่ได้ เพราะความขัดแย้งมันสูง ใครจะอยากให้ขัดแย้งเพิ่มขึ้น ไม่ใช่มาบอกว่าไม่กล้าทำ ถ้าไม่กล้ามาไม่มายืนตรงนี้
“หากผมทำอะไรที่ผิด หรือสิ่งที่ไม่ดี ก็สามารถแจ้งมาได้ หากบอกแล้วไม่แก้ไข สามารถตำหนิได้ แต่ไม่ใช่ว่าเมื่อเริ่มดำเนินการเรื่องใด ก็ตำหนิหมดทุกอย่าง หากเป็นเช่นนี้ ไม่ว่ารัฐบาลใดก็ไม่สามารถทำได้ เพราะแม้ว่าจะมีอำนาจเต็ม แต่ก็มีความขัดแย้งสูง แต่อย่าบอกว่าผมไม่กล้าทำ เพราะถ้าไม่กล้าไม่มายืนตรงนี้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1 - เพิ่มขั้นตอนทำประชามติ


ราชกิจจานุเบกษาตีพิมพ์รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เพิ่มขั้นตอนหลังยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้ทำประชามติ - ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติสิ้นสุดลงหากพิจารณาร่าง รธน.ไม่ทันเวลาที่กำหนด หรือ พิจารณาร่าง รธน.แล้วเสร็จ ไม่ว่าจะมีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่าง รธน. - หลังจากนั้นจะต่อด้วย "สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ" ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง
15 ก.ค. 2558 - ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132 ตอนที่ 64 ก ลงวันที่15 กรกฎาคม 2558 มีการเผยแพร่ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1)" โดยระบุเหตุผลในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แก้ไขเพิมเติม คือ "เพื่อกำหนดวิธีการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญและบทบัญญัติอื่นให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตรารัฐธรรมนูญนี้"
โดยเนื้อหาที่มีการเพิ่มเติมมีเรื่องของการทำประชามติ อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญชอบด้วยผลการออกเสียงประชามติหรือไม่ การสิ้นสุดลงของ "สภาปฏิรูปแห่งชาติ" และการมี "สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ" ทำงานต่อเนื่องโดยมาจากนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง จำนวน 200 คน โดยรายละเอียดตามที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษามีดังนี้
000
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
(ฉบับชั่วคราว)
พุทธศักราช 2557
แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1)
พุทธศักราช 2558
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
เป็นปีที่ 70 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 รัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2558”
มาตรา 2 รัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยกเลิกความใน (4) ของมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(4) ไม่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง”
มาตรา 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคหกของมาตรา 19 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
“การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย พระมหากษัตริย์ จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กระทำต่อพระรัชทายาทซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือต่อผู้แทนพระองค์ก็ได้”
มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 37 ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จ ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 36 วรรคสอง ในการนี้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอาจแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญได้ตามที่เห็นสมควร ในกรณีที่คำขอแก้ไขเพิ่มเติมมีประเด็นที่ต้องพิจารณาเป็นจำ นวนมากหรืออาจมีผลกระทบต่อโครงสร้างของร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่าไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จได้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะมีมติให้ขยายระยะเวลาพิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติมออกไปได้อีกครั้งหนึ่งซึ่งต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาพิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว และให้แจ้งมติขยายระยะเวลาพร้อมเหตุผลให้สภาปฏิรูปแห่งชาติทราบก่อนครบกำหนดเวลานั้นด้วย
เมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้แก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้เสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ แล้วให้สภาปฏิรูปแห่งชาติรอไว้สิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับ ร่างรัฐธรรมนูญจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้ว ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ ประชุมเพื่อลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนั้นทั้งฉบับภายในสามวันนับแต่วันที่ครบกำหนดดังกล่าว ในการนี้จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมใด ๆ มิได้ เว้นแต่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นผู้แก้ไขเฉพาะในกรณีพบเห็นข้อผิดพลาดที่มิใช่สาระสำคัญและจำเป็นต้องแก้ไขให้ถูกต้องครบถ้วน
เมื่อสภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญตามวรรคสอง ให้แจ้งคณะรัฐมนตรีทราบ และให้คณะรัฐมนตรีแจ้งคณะกรรมการการเลือกตั้งทราบโดยเร็ว โดยให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในการดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ ให้นำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 ในส่วนที่เกี่ยวกับ ความผิดและบทกำหนดโทษมาใช้บังคับแก่การดำเนินการออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญนี้ด้วย
การจัดให้มีการออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ออกเสียงประชามติว่าจะให้ความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนั้นทั้งฉบับ โดยต้องกระทำในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ในการนี้ สภาปฏิรูปแห่งชาติหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะมีมติเสนอประเด็นอื่นใดที่สมควรให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง จัดให้มีการออกเสียงประชามติเพิ่มเติมพร้อมไปในคราวเดียวกันด้วย สภาละไม่เกินหนึ่งประเด็น ก็ได้ ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติหรือประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสนอประเด็นดังกล่าว ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา หากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยกับประเด็นใด ให้แจ้งคณะกรรมการการเลือกตั้งทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับมติของสภาปฏิรูปแห่งชาติหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติสำหรับประเด็นนั้นในคราวเดียวกันกับ การจัดให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยในกรณีดังกล่าวนี้ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์
การมีมติเสนอประเด็นตามวรรคสี่ ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติกระทำในวันเดียวกับการมีมติให้ความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ และให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติภายในสามวันนับแต่วันที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ มีมติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดวันออกเสียงประชามติตามวรรคสี่ซึ่งต้องไม่เร็วกว่าสามสิบวันแต่ไม่ช้ากว่าสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งส่งร่างรัฐธรรมนูญให้แก่ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติได้ไม่น้อยกว่าร้อยละแปดสิบของครัวเรือนทั้งหมดที่ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
ในการออกเสียงประชามติ ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม เช่นเดียวกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งสุดท้ายก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ และภายใต้บังคับมาตรา 37/1 ถ้าผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมากเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในสามสิบวันนับแต่วันประกาศผลการออกเสียงประชามติ และเมื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับได้โดยให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญและพระราชทานคืนมา หรือเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป”
มาตรา 6 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 37/1 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
“มาตรา 37/1 ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้มีการออกเสียงประชามติในประเด็นเพิ่มเติม ตามมาตรา 37 วรรคสี่ และเสียงข้างมากของผู้ออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับประเด็นดังกล่าว และมีผลให้บทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติ ให้คณะกรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันประกาศผลการออกเสียงประชามติ แล้วส่ง ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าเป็นการชอบด้วยกับผลการออกเสียงประชามติแล้วหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าได้มีการแก้ไขให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติแล้วหรือในกรณีที่ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าบทบัญญัติใดยังไม่สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติและได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญ คืนให้แก่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการแก้ไข ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วซึ่งต้องทำให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายต่อไปตามมาตรา 37 วรรคเจ็ด โดยให้นับแต่วันที่นายกรัฐมนตรีได้รับร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมสมบูรณ์แล้ว”
มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 38 และมาตรา 39 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 38 ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นอันสิ้นสุดลงในกรณีดังต่อไปนี้
(1) สภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด
(2) สภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จตามมาตรา 37 ไม่ว่าจะมีมติเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญก็ตาม
เมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยกร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาตามมาตรา 34 หรือเมื่อมีกรณีตาม (1) หรือเมื่อสภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันสิ้นสุดลงด้วย แต่มิให้นำมาตรา 33 วรรคสอง มาใช้บังคับแก่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุดังกล่าว
มาตรา 39 ในกรณีที่สภาปฏิรูปแห่งชาติสิ้นสุดลงโดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยังไม่สิ้นสุดลง ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเว้นแต่จะมีประชามติไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ในกรณีเช่นนั้น ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงนับแต่วันประกาศผลการออกเสียงประชามติ แต่ในกรณีที่มีประชามติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเพื่อจัดทำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นที่จำเป็นเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้นั้น
ในกรณีที่สภาปฏิรูปแห่งชาติสิ้นสุดลงโดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยังไม่สิ้นสุดลง หากกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่งในระหว่างนั้นไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ โดยให้ถือว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเท่าที่เหลืออยู่ และให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแทนตำแหน่งที่ว่างโดยเร็ว โดยมิให้นำมาตรา 32 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสามมาใช้บังคับ”
มาตรา 8 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 39/1 มาตรา 39/2 และมาตรา 39/3 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
“มาตรา 39/1 ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่สภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง หรือนับแต่วันที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงตามมาตรา 39 หรือนับแต่วันที่ร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไปตามมาตรา 37 วรรคแปด แล้วแต่กรณี ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีกไม่เกินยี่สิบคน เพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง โดยให้นำมาตรา 33 และมาตรา 35 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในระหว่างการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญรับฟังความคิดเห็นของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประชาชน ประกอบด้วย ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และภายในกำหนดเวลาที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกำหนด
เมื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้แจ้งคณะรัฐมนตรีทราบ และให้คณะรัฐมนตรีแจ้งคณะกรรมการการเลือกตั้งทราบโดยเร็ว โดยให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้นำมาตรา 37 วรรคสี่ วรรคห้า วรรคหก วรรคเจ็ด และวรรคแปด มาตรา 37/1 และมาตรา 39 วรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
มาตรา 39/2 เมื่อสภาปฏิรูปแห่งชาติสิ้นสุดลงตามมาตรา 38 มิให้มีสภาปฏิรูปแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญนี้อีก และให้มีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศขึ้นแทนสภาปฏิรูปแห่งชาติเพื่อดำเนินการให้เกิดการปฏิรูปด้านต่าง ๆ ตามมาตรา 27 สืบต่อจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยให้คำนึงถึงความสำคัญเร่งด่วนและความสัมฤทธิผลของการปฏิรูปในระยะเวลาที่เหลืออยู่ และให้นำมาตรา 31 วรรคหนึ่ง (1) และวรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่เกินสองร้อยคนซึ่งนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดและมีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปี โดยให้แต่งตั้งให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่สภาปฏิรูปแห่งชาติสิ้นสุดลง
ให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเป็นประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศคนหนึ่งและเป็นรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไม่เกินสองคน ทั้งนี้ตามมติของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
ให้นำมาตรา 13 มาตรา 18 และมาตรา 29 มาใช้บังคับแก่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศโดยอนุโลม แต่การวินิจฉัยตามมาตรา 9 วรรคสอง ให้เป็นอำนาจ ของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
มาตรา 39/3 ให้นำมาตรา 40 และมาตรา 41 มาใช้บังคับแก่ประธาน รองประธานและสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และประธานและกรรมการร่างรัฐธรรมนูญด้วยโดยอนุโลม”
มาตรา 9 ให้ยกเลิกความในวรรคห้าของมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ โดยให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และให้นำมาตรา 37 วรรคแปด มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี