ศาลอาญานัดฟังคำสั่ง หลังอัยการร้องถอนประกันตัว 5 แกนนำ นปช. เหตุพูดพาดพิงประเด็นทางการเมือง สั่งถอนประกัน จุตพร พรหมพันธุ์ นำตัวเข้าเรือนจำทันที ที่เหลือรอด ด้านณัฐวุฒิระบุ ขอวางชีวิตกับอิสระภาพเอาไว้บนเส้นทางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
11 ต.ค. 2559 ที่ศาลอาญา รัชดา เมื่อเวลา 11.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลอาญามีคำสั่งถอนประกันคดีก่อการร้าย ตู่ จตุพร แกนนำนปช. เหตุออกทีวีวิจารณ์บุคคลอื่นจนเกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียง และมีถ้อยคำที่ค่อนข้างรุนแรงกระทบความรู้สึกของประชาชน
การคำสั่งถอนประกันตัวชั่วคราวดังกล่าวเป็นไป การร้องขอของพนักงานอัยการโจทก์ ในคดีก่อการร้าย เลขดำ อ.2542/2553 ซึ่งคดีอยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์ในศาลอาญา โดยอัยการได้ยื่นขอให้เพิกถอนคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวของ วีระ หรือ วีระกานต์ มุสิกพงษ์ จตุพร พรหมพันธุ์ ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ เหวง โตจิราการ และ นิสิต สินธุไพร จำเลยที่ 1-4 และ จำเลยที่ 8 ตามลำดับ
โดยอัยการกล่าวอ้างในคำร้องว่า จำเลยที่ 2 พูดในทางเสียดสี ประชดชัน ตำหนิการทำงานของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ บิดเบือนการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี กล่าวหาหน่วยงานของรัฐกระทำโดยมิชอบ คุกคาม และกดดันการทำหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ พูดโจมตีบุคคลต่างๆ ในลักษณะดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท พูดยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดมเพื่อให้เกิดความปั่นปวนในบ้านเมือง และจำเลยทั้ง 5 โต้แย้งคัดค้านเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญผ่านรายการโทรทัศน์ทางสถานนีโทรทัศน์ Peace TV และสื่อสาธารณะอื่นๆ ซึ่งถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลที่กำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว
ศาลได้วินิจฉัยแล้วว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีการออกรายการทางโทรทัศน์ และมีการเผยแพร่ทางสื่อสาธารณะอื่น โดยพูดกล่าวพาดพิงบุคคลอื่นในอันที่จะส่อให้เกิดความเสียหายต่อเกียรติยศ และชื่อเสียง และมีข้อความค่อนข้างรุนแรง หรืออาจกระทบต่อกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชนที่ได้รับทราบข้อความดังกล่าว ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลที่ถูกพาดพิง ถือว่าจำเลยที่ 2 กระทำผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวตามที่ศาลกำหนดไว้ ส่วนการกระทำของจำเลยที่ 1 , 3 , 4 และ 5 เป็นการแสดงความคิดเห็นติชมโดยสุจริต และความเป็นธรรมตามวิสัยของประชาชนทั่วไปยังไม่ถึงกับเป็นการดูหมิ่น หรืออาจกระทบต่อสิทธิ เกียรติยศ หรือชื่อเสียง และความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น
ที่มาภาพจาก : เพจ Banrasdr Photo
ด้าน ณัฐวุฒิ ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า เคารพในคำวินิจฉัยของศาล แต่อย่างไรก็ตามเชื่อมั้นว่าการแสดงความคิดเห็นเรื่องประชาธิปไตย เรื่องสิทธิเสรีภาพ เป็นสิ่งที่กระทำได้ และยืนยันจะทำหน้าที่ต่อไป สำหรับเรื่องเงือนไขการประกันตัวเป็นสิ่งที่เคารพมาโดยตลอด และไม่จะทำให้ผิดเงื่อนไขการประกันตัว พร้อมทั้งฝากไปยังประชาชนที่ต่อสู้ร่วมกันมาว่า วันนี้คือความสูญเสียครั้งสำคัญของ นปช. แม้จะไม่ใช่การสูญเสียชีวิต แต่การสูญเสียอิสระภาพ สูญเสียเสรีภาพในการแสดงออก ก็ถือว่าเป็นเรื่องหนักหนา
“อย่างไรก็ตาม ตัวคุณจตุพร ยังคงเข้มแข็ง และให้กำลังใจพวกเราข้างนอกให้สู้ต่อไปตลอดเวลา ตอนระยะเวลาที่ผ่านมาใน
ฐานะประธาน นปช. คุณจุตพร พรหมพันธุ์ ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างกล้าหาญ และสง่างามมาโดยตลอด พวกผมภูมิใจที่มีประธาน นปช. ชื่อจตุพร พรหมพันธุ์” ณัฐวุฒิ กล่าว
ณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า ขอให้ประชาชนอดทน และตั้งสติให้มั่น ความสูญเสียและความเจ็บปวด จะต้องแปรเปลี่ยนให้เป็นพลังเพื่อที่จะเดินหน้าต่อไปให้ได้ โดยวันนี้เป็นอีกบททดสอบหนึ่งของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่เดินหน้ามากว่า 10 ปี ว่าเราจะแข็งแรงพอที่จะเดินต่อไปหรือไม่
“วันนี้เป็นคิวของ จุตพร พรหมพันธุ์ ผมก็ไม่แน่ใจว่าวันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นกับใครอีกบ้าง แต่ก็ขอวางชีวิตกับอิสระภาพเอาไว้บนเส้นทางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เราจะยืนอยู่ที่เดิมจนกว่าคนชื่อจตุพร พรหมพันธุ์ จะได้รับอิสระภาพ และกลับมาต่อสู้ร่วมกันอีกครั้ง” ณัฐวุฒิ กล่าว
โดยในช่วงบ่ายวันนี้ ณัฐวุฒิ เผยว่า จะเดินทางไปเยียม จตุพร ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ และเตรียมแนวทางการต่อสู้ด้านคดีความต่อไป โดยเบื้องต้นจะยื่นหลักฐานเพื่อขอประกันตัวอีกครั้ง
ที่มาภาพจาก : เพจ Banrasdr Photo
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า หลังจากศาลวินิจฉัยเสร็จ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่เรือนจำได้ควบคุมตัว จตุพร ไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพทันที โดยไม่อนุญาตให้แกนนำ และประชาชนที่มารอให้กำลังใจได้เข้าเยียมจตุพร
ด้าน วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความจากสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนี้ว่า จตุพรจะถูกขังยาวหรือไม่เพียงไรอยู่ที่ศาลจะพิจารณาว่ารับผลจากเหตุที่ถูกถอนประกันพอประมาณหรือยัง ทีมทนายคาดว่าหลังจาก 2 สัปดาห์ผ่านไปจะร่วมกันพิจารณาอีกครั้งถึงการยื่นประกันตัว จตุพร
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2559 ก่อนขึ้นห้องพิจารณาคดี จตุพร ให้สัมภาษณ์ว่า การที่ถูกยื่นเพิกถอนประกันตัว ครั้งนี้ เริ่มต้นจากการที่พระพุทธอิสระ ยื่นหนังสือขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ดำเนินการ ยื่นหนังสือขอให้อัยการยื่นเพิกถอนการประกันตัว รวมถึงตั้งข้อสังเกตถึงการดำเนินการครั้งนี้