วันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2558

‘อลงกรณ์’ เผยใช้ รธน.ใหม่ ก.ย.นี้ เลือกตั้งปีหน้า


12 มี.ค.2558 ค่ำวานนี้ (11 มี.ค.) ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สนช.) และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่าข้อสรุปเบื้องต้นจากการประชุมแม่น้ำ 5 สาย ให้มีการเลือกตั้งในปีหน้า และจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้นเดือนกันยายนที่จะถึงนี้
นายอลงกรณ์ ซึ่งได้รับเชิญมาอภิปรายร่วมกับนายจาตุรนต์ ฉายแสง นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา และนายกษิต ภิรมย์ ในการเสวนาหัวข้อ ‘The Future of Politics in Thailand’ ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย กล่าวตอนหนึ่งในการอภิปรายว่า จากการประชุมแม่น้ำ 5 สายในวันนี้ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า จะมีการเลือกตั้งในปี 2559 และจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญในวันที่ 4 กันยายน 2558 หลังจากนั้นจะมีการยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญใน 60 วัน และจะมีการเลือกตั้งภายใน 90 วัน
นายอลงกรณ์กล่าวว่า เงื่อนไขประการเดียวที่จะทำให้การเลือกตั้งล่าช้าออกไป 3 หรือ 4 เดือน ก็คือการจะลงประชามติ ซึ่งภายใต้พระราชบัญญัติการออกเสียงประชามติที่เป็นแนวปฏิบัติเดิมนั้น จะต้องให้ประชาชนได้รับรู้รายละเอียดอย่างน้อย 90 วัน นายอลงกรณ์กล่าวว่า ในความเห็นส่วนตัวเขาเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรต้องทำประชามติ เพื่อให้เกิดความชอบธรรม
นอกจากนี้ นายอลงกรณ์กล่าวถึงความคืบหน้าของการปฏิรูปประเทศด้วยว่า ขณะนี้สภาปฏิรูปแห่งชาติได้เสนอรายงานล่าสุด ซึ่งจะมีวาระการปฏิรูปทั้งหมด 36 วาระ และเชื่อว่าการปฏิรูปครั้งนี้จะเป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่ เพื่อรีเอ็นจิเนียริ่งประเทศไทย ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และอื่นๆ

แอมเนสตี้ ประเทศไทย ห่วงร่างพ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะไม่สอดคล้องพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน

11 มีนาคม 2558 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลออกแถลงการณ์เรียกร้องสมาชิกสภานิติบัญญัติของไทยให้แก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย และคุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ

ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านการพิจารณาในวาระแรกอย่างเอกฉันท์ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558 และต้องมีการพิจารณาอีกสองวาระก่อนจะประกาศใช้เป็นกฎหมาย
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ส่งจดหมายถึงทางการไทยแล้ว เพื่อแสดงความกังวลที่มีต่อข้อบทหลายมาตราของร่างพ.ร.บ.ฉบับก่อน และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีการนำข้อเสนอแนะเหล่านั้นไปปรับใช้ในเนื้อหา
แต่ทางหน่วยงานยังคงกังวลกับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ตามเนื้อหาที่เป็นอยู่ ซึ่งยังคงไม่อนุญาตให้มีการชุมนุมอย่างสงบเกิดขึ้นอย่างถูกกฎหมาย สิทธิดังกล่าวได้รับการคุ้มครองตามข้อ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งไทยเป็นภาคีของสนธิสัญญาดังกล่าว ในขณะที่สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก (ข้อ 19 ของกติกา ICCPR) และการสมาคม (ข้อ 22 ของกติกา ICCPR) ยังคงถูกคุกคาม
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกังวลอย่างยิ่งกับการเพิ่มบทลงโทษทางอาญาตามมาตรา 27-35 ของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ กรณีที่บุคคลไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการจัดการชุมนุม รวมทั้งการต้องขออนุญาตล่วงหน้าตามข้อกำหนดในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ การเอาผิดทางอาญากับผู้จัดการชุมนุมและผู้เข้าร่วมการชุมนุมอย่างสงบ ส่งผลกระทบในทางลบต่อสิทธิมนุษยชนที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และเสรีภาพในการแสดงออกและการสมาคม
ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและการสมาคม (UN Special Rapporteur on the rights to freedom of peaceful assembly and of association) ได้ระบุว่า เราควรสันนิษฐานเป็นเบื้องต้นว่า ผู้ชุมนุมมีเจตนาในการชุมนุมอย่างสงบ[1] ผู้รายงานพิเศษย้ำว่า ไม่ควรกำหนดให้ต้องขออนุญาตเพื่อจัดการชุมนุมโดยสงบ[2] อย่างมากที่สุด กรอบกำกับดูแลการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและการสมาคม ควรมีลักษณะการให้แจ้งล่วงหน้า โดยไม่ทำให้เป็นภาระ ทั้งนี้โดยมีเหตุผลเพื่อให้หน่วยงานของรัฐสามารถอำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิดังกล่าว และสามารถใช้มาตรการเพื่อประกันความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ รวมทั้งสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ๆ[3] ผู้รายงานพิเศษมีข้อเสนอแนะว่า การแจ้งล่วงหน้าควรได้รับการพิจารณาอย่างมีสัดส่วนเหมาะสม และควรเป็นข้อกำหนดให้ต้องทำเฉพาะกรณีที่เป็นการชุมนุมขนาดใหญ่ หรือเฉพาะกรณีที่คาดว่าจะทำให้เกิดเหตุวุ่นวายระดับหนึ่งเท่านั้น[4]
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังคงกังวลกับการใช้ถ้อยคำที่คลุมเครือ รวมทั้งที่ปรากฏในมาตรา 16 ของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เกี่ยวกับหน้าที่ของผู้ชุมนุมซึ่งจะต้องไม่ก่อให้เกิด “ความไม่สะดวก” และต้องไม่ชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาตระหว่างเวลา 18.00 น.-06.00 น. ซึ่งเป็นการกำหนดมาตรการจำกัดการชุมนุมอย่างสงบมากเกินกว่าที่จะกระทำได้ตามกติกา ICCPR ทั้งกฎหมายยังให้อำนาจตำรวจในการห้ามการชุมนุม หากเชื่อว่าจะมีการขัดขวางบริการของภาครัฐ หรือการปิดกั้นการเข้าไปยังสถานที่ตามที่กำหนดโดยนายกรัฐมนตรี
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้ทางการตัดข้อบัญญัติใด ๆ ที่กำหนดบทลงโทษทางอาญาหรือปกครอง รวมทั้งโทษจำคุกหรือค่าปรับ กรณีที่ผู้จัดการชุมนุมไม่ได้แจ้งว่าจะมีการชุมนุม และให้ตัดข้อบัญญัติใด ๆ ที่เอาผิดกับการกระทำอันเป็นผลมาจากการชุมนุมอย่างสงบทั้งของผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ประท้วง ทั้งนี้โดยคำนึงว่ากรณีที่มีการกระทำความผิดทางอาญาที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายระหว่างประเทศ ควรมีการนำกฎหมายอาญาทั่วไปมาใช้กับผู้ชุมนุมเช่นเดียวกับพลเรือนคนอื่น ๆ
ทางองค์การเสนอแนะให้แก้ไขเพิ่มเติมร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อลดข้อจำกัดต่าง ๆ ในการกำหนดให้ผู้จัดการชุมนุมต้องแจ้งล่วงหน้า โดยให้เหลือเพียงการแจ้งล่วงหน้าในกรณีที่เป็นการจัดการชุมนุมขนาดใหญ่ หรือกรณีที่คาดว่าจะเกิดความวุ่นวายในระดับหนึ่ง
แม้ในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะอ้างถึงหลักประกันและข้อบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับปัจจุบันไม่ได้ให้หลักประกันเกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบแต่อย่างใด
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้ทางการไทยฟื้นคืนหลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญ และให้ขจัดอุปสรรคใด ๆ ที่ขัดขวางการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการชุมนุมโดยสงบและการสมาคม ทั้งนี้รวมถึงถอนการประกาศเลี่ยงสิทธิ์ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และยกเลิกคำสั่งของกองทัพและกฎอัยการศึก อันเป็นเหตุให้ไม่สามารถจัดการชุมนุมที่เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างสงบได้ตามกฎหมาย และถึงแม้จะมีการผ่านร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฉบับนี้ ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้

คำนูณ ยัน ไม่มีการสืบทอดอำนาจ อยู่ 5 ปี แค่สานต่อการปฏิรูปประเทศเท่านั้น

โฆษก กมธ.ยกร่างฯ ยัน ไม่มีการสืบทอดอำนาจ แค่สานต่อการปฏิรูปประเทศเท่านั้น ชี้เนื้อหาเรื่องการการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง มีอายุ 5 ปี แต่ต่ออายุได้อีก 5 ปี ผ่านประชามติ
12 มี.ค. 2558 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยก่อนเข้าสู่วาระ นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) ได้ชี้แจงความคืบหน้าการยกร่าง รธน. ต่อที่ประชุม สนช. เกี่ยวกับภาพรวมหลักประกันของการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ว่า ประเด็นนี้สำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นเนื้อหาที่ไม่เคยมีใน รธน.ฉบับใดมาก่อน  ซึ่งใน รธน.ฉบับใหม่นี้ ได้บัญญัติไว้ในภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง รวมทั้งสิ้น 21 มาตรา
ถือเป็น  2 ใน 4 ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้คือ หนุนสังคมที่เป็นธรรม นำชาติสู่สันติสุข เพราะสาเหตุที่แท้จริงที่ของความขัดแย้งในประเทศที่ผ่านมาเกิดจากความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม และการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมกัน  ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปประเทศ อย่างไรก็ตามเนื้อหาการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองนี้จะมีอายุการบังคับ ใช้อยู่ชั่วคราวเพียง 5 ปีเท่านั้น โดยหากมีการบังคับใช้ต่อไปต้องมีการทำประชามติ โดยประชาชนทั้งประเทศ และสามารถต่ออายุได้อีกไม่เกิน 5 ปี ทั้งนี้ได้มีการจัดตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติขึ้นมาดำเนินการเกี่ยวกับการ ปฏิรูปประเทศเป็นการเฉพาะ พร้อมย้ำว่า ไม่มีอำนาจเหนือคณะรัฐมนตรีตามปกติแต่อย่างใด เป็นเพียงการเสนอแนะนโยบายต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในการปฏิรูปประเทศ ที่ไม่สามารถดำเนินการผ่านระบบรัฐสภาในสถานการณ์ปกติได้เท่านั้น เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
คำนูณ กล่าวด้วยว่า หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้อย่างเป็นทางการ สนช.จะมีภารกิจที่หนักมากในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ( พ.ร.บ.) ประกอบ รธน. และร่าง พ.ร.บ.ที่จำเป็น รวมทั้งสิ้น 27 ฉบับ พร้อมยืนยันว่าสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สนช. และ กมธ.ยกร่าง รธน. ไม่มีการอยู่ต่อเพื่อสืบทอดอำนาจแต่อย่างใด แต่เป็นการอยู่เพื่อทำงานหนักอย่างยิ่ง เพื่อให้การบังคับใช้ รธน.บรรลุผลตามเจตนารมณ์เท่านั้น
จากนั้นที่ประชุมได้เข้าสู่วาระการลงมติกระบวนการถอดถอนอดีตสมาชิกวุฒิสภา  (ส.ว.) จำนวน 38 คน ออกจากตำแหน่ง จากกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ประเด็นที่มาของ ส.ว.โดยมิชอบ ซึ่งขั้นตอนการลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนดังกล่าวเป็นไปตามข้อบังคับ ข้อ 157 สำหรับรูปแบบการลงมติจะใช้วิธีเข้าคูหาลงคะแนนลับ โดยสมาชิก สนช. จะได้รับบัตรคนละ 4 ใบ แบ่งออกเป็น 4 สี คือ สีส้ม สีเขียว สีขาว และฟ้า เพื่อออกเสียงตามฐานความผิดที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่ง ชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลอดีต ส.ว.ทั้ง 38 คน ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มฐานความผิด แต่ละฐานความผิดประกอบด้วยอดีต ส.ว. จำนวนกลุ่มละ 22 คน 13 คน 2 คน และ 1 คน ทั้งนี้จะมีการขานชื่อให้สมาชิกมารับบัตรทีละคน คนละ 4 ใบ โดยสมาชิก สนช. จะลงคะแนนกาบัตรในคราวเดียวกัน 4 ใบ และหย่อนบัตรลงในกล่องตามสีของบัตร คาดกระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ทั้งนี้ผู้ที่ถูกถอดถอนจะต้องใช้เสียง 3 ใน 5 ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ คือ 132 เสียง โดยผู้ที่ถูกถอดถอนจะถูกตัดสิทธิ์การเมือง  5  ปี และหากเป็นสมาชิก สนช. หรือสมาชิก สปช.จะต้องสิ้นสภาพการดำรงตำแหน่งดังกล่าวทันที

38 อดีต ส.ว. รอดถอดถอน กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ


สนช. ลงมติไม่ถอดถอน 38 อดีต ส.ว. กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมระบุข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. ยังไม่ชัดเจนในการเอาผิด
 
12 มี.ค. 2558 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในช่วงบ่ายเป็นการลงคะแนนลับถอดถอนหรือไม่ถอดถอนอดีต ส.ว. จำนวน 38 คน ออกจากตำแหน่ง ตามข้อบังคับการประชุม ข้อ 157 จากกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ประเด็นที่มาของ ส.ว.โดยมิชอบ ผลปรากฏว่า คะแนนเสียงถอดถอนไม่ถึง 3 ใน 5 หรือ 132 เสียงขอจำนวนของสมาชิกสนช. ที่มีอยู่จำนวน 220 คน  ดังนั้น จึงถือว่าที่ประชุมสนช. ลงมติไม่ถอดถอนบุคคลดังกล่าวออกจากตำแหน่ง
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ลงคะแนนถอดถอนเป็นรายบุคคล ที่ได้จำแนกความผิดออกเป็น 4 กลุ่ม ตามข้อกล่าวหา คือ กลุ่มแรก ผู้ที่ลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 จำนวน 2 คน / กลุ่ม 2 ผู้ที่ลงมติในวาระ 1 2 และ 3 จำนวน 22 คน / กลุ่ม 3 ผู้ที่ลงมติวาระ 1 และวาระ 3 จำนวน 13 คน และกลุ่ม 4 ลงมติในวาระ 1 และ 2  จำนวน 1 คน  โดยผลการลงคะแนนปรากฏว่า
  • กลุ่มแรก ภารดี จงสุขธนามณี ได้คะแนนเสียงถอดถอน 35 ไม่ถอดถอน 166 งดออกเสียง 7 พล.ท.พงศ์เอก อภิรักษ์โยธิน ได้คะแนนเสียงถอดถอน 35 ไม่ถอดถอน 164 งดออกเสียง 9   
  • กลุ่มที่ 2 ผู้ที่มีคะแนนถอดถอนมากที่สุดคือ ประสิทธิ์ โพธสุธน ได้คะแนนเสียงถอดถอน 77 ไม่ถอดถอน 123 งดออกเสียง 8 และผู้ที่มีคะแนนเสียงถอดถอนน้อยสุดของกลุ่มนี้มี 3 คน ได้แก่ สุรศักดิ์ ยนต์ตระกูล  สุรชัย ชัยตระกูลทอง  และจตุรงค์ ธีระกนก โดยทั้ง3คนได้คะแนนเสียง ถอดถอน 63  ไม่ถอดถอน 119 งดออกเสียง 26    
  • กลุ่มที่ 3 ผู้ที่มีคะแนนถอดถอนมากที่สุดคือ ประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์ ได้คะแนนเสียงถอดถอน 50 ไม่ถอดถอน 149 งดออกเสียง 8 ขณะที่ผู้ที่ได้คะแนนเสียงถอดถอนน้อยสุดคือ วรวิทย์ บารู ได้คะแนนเสียงถอดถอน 47 ไม่ถอดถอน 157 งดออกเสียง 9
  • กลุ่มที่4 วิทยา อินาลา ได้คะแนนเสียงถอดถอน 66  ไม่ถอดถอน 139 งดออกเสียง 3  

ทั้งนี้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะส่งมติดังกล่าวไปยัง ป.ป.ช. ผู้กล่าวหา และอดีต 38 ส.ว. ผู้ถูกกล่าวหา เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อรับทราบต่อไป
อย่างไรก็ตามจากการลงมติดังกล่าวสมาชิก สนช.ส่วนใหญ่เห็นไปในทางเดียวกันว่า ไม่สามารถเอาผิดถอดถอนอดีต ส.ว.ทั้ง 38 คนได้ เนื่องจากเห็นว่า ข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. ที่ระบุว่า อดีต ส.ว.ทั้ง 38 คน ลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญในสามวาระ ทั้งที่ทราบอยู่แล้วว่า เป็นร่างรัฐธรรมนูญคนละฉบับกับที่เข้าชื่อเสนอแก้ไขนั้น ยังไม่ชัดเจนในการเอาผิดได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 50 ได้สิ้นสภาพการบังคับใช้ไปแล้ว อีกทั้งขั้นตอนการพิจารณากฎหมายที่ผ่านมา ก็เคยมีการขอเปลี่ยนร่างกฎหมายใหม่ แทนฉบับเดิมก่อนที่จะมีการบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม ตลอดจนการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดโอกาสให้ ส.ว. ลงสมัคร ส.ว.ได้อีกสมัย โดยไม่ต้องเว้นวรรคนั้น ยังไม่สามารถพิสูจน์เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนได้อย่างชัดเจน เนื่องจากไม่รู้ว่า อดีต ส.ว.เหล่านี้จะลงสมัคร ส.ว.อีกรอบหรือไม่ และถ้าลงสมัครแล้วจะได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามาหรือไม่

พลเมืองโต้กลับออกคลิป ‘ฉันก้าวเดินฉันจึงยังเป็นฉัน’ เตรียมรณรงค์พลเมืองต้องไม่ขึ้นศาลทหาร 14-16มี.ค.นี้

12 มี.ค.2558 เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘พลเมืองโต้กลับ Resistant Citizen’ เผยแพร่วีดีโอคลิป ‘I Walk Therefore I Am’ รณรงค์ ‘พลเมืองต้องไม่ขึ้นศาลทหาร’ โดยจะมีการจัดกิจกรรม เดินเท้าเรียกร้องยุติใช้ศาลทหารกับพลเรือน 14-16 มี.ค.นี้ จากบางบัวทอง-สน.ปทุมวัน พร้อมบทกวีประกอบความว่า
“ฉันก้าวเดินฉันจึงยังเป็นฉัน
ฉันวาดฝันรุกมั่นสู่จุดหมาย
แม้ดาวดับลับเลือนไม่พรั่งพราย
หากในกายยังคงรุมสุมเชื้อไฟ
ฉันจึงสู้เพื่อให้ฉันยังรู้สึก
ในสำนึกที่ฉันยังต้องเรียกหา
คนเท่ากัน ฉันและเธอ มวลประชา
สิทธิสัญญาว่ารวยจนทุกคนมี
จะกู่ก้องร้องตะโกนด้วยตัวฉัน
ตะโกนลั่นร้องหาสิทธิถูกริดปล้น
เสียงจะดังด้วยพร้อมเพรียงเสียงมวลชน
เสียงของคนใช่ทาสหากเป็นไท
ฉันก้าวเดินฉันจึงยังคงอยู่
จงรับรู้ว่าฉันจะมิอาจเชื่อง
ประชาชนจะนำแสงเป็นฟันเฟือง
พลเมืองจะโต้กลับรุกเอาคืน
I walk, therefore i am
Crossing through injustice sand
Pathway holds no light
But together we will fight
I fight, therefore i am
Seeking for a justice land
Where people are all equal
Where rights promise to all individual
I shout, therefore i am
Calling for the rights of man
Voices will be heard on streets
the people will be taking the lead
I walk, therefore i am
Crossing through injustice sand
In the end there will be lights
Of the Resistant citizen who will rise.”
นอกจากนี้ยังออกแถลงการณ์ "แถลงการณ์พลเมืองโต้กลับ" ขอเรียกร้องให้ศาลยุติธรรมธำรงไว้ซึ่งอำนาจตุลาการตามระบอบประชาธิปไตย หลักนิติรัฐและนิติธรรม ยุติการนำพลเรือนขึ้นสู่การพิจารณาคดีในศาลทหาร และอริยะขัดขืนต่อประกาศคำสั่งของคณะรัฐประหาร ความว่า
 
กราบเรียน ท่านประธานศาลฎีกา (ผ่านท่านอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา)
อ้างถึง คดีระหว่าง พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้กล่าวหา กับนายอานนท์ นำภา กับพวก ผู้ต้องหา ในความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ ๗/๒๕๕๗ และ ฉบับที่ ๔๐/๒๕๕๘ รวมทั้งคดีอื่นๆ ที่จะเป็นการนำพลเรือนขึ้นสู่ศาลทหาร
สืบเนื่องจากวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ได้ลงนามประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ฉบับที่ ๑/๒๕๕๗ โดยอ้างสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองหลายกลุ่ม หลายพื้นที่ของประเทศ และมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดเหตุการณ์จลาจล และความไม่สงบเรียบร้อยอย่างรุนแรง เพื่อให้การรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และนำความสงบสุขกลับคืนสู่ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายโดยเร็ว แต่กลับกลายเป็นการปูทางไปสู่การรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอีก ๒ วันถัดมา ในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. อันมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ หลังจากนั้น คณะรัฐประหารได้มีประกาศอีกหลายฉบับตามมา รวมทั้งประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ ซึ่งกำหนดให้ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๐๗ ถึงมาตรา ๑๑๒ และความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา ๑๑๓ ถึงมาตรา ๑๑๘ รวมถึงความผิดตามประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อยู่ในอำนาจพิจารณาคดีพิพากษาของศาลทหาร ซึ่งผิดธรรมเนียมปฏิบัติของกระบวนการยุติธรรมสากลทั่วไป
ศาลทหารในประเทศไทย นอกจากจะไม่ได้มาตรฐานสากลตามกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศแล้ว ยังเป็นแบบระบบศาลทหารแยกออกมาต่างหาก โดยมีทหารเป็นผู้พิพากษาทั้งหมด และศาลทหารดำรงอยู่ตลอดเวลาเคียงคู่กับศาลพลเรือน ซึ่งระบบศาลทหารแบบนี้แทบจะไม่มีประเทศไหนใช้แล้ว หากเรายอมรับว่าเหตุผลความจำเป็นของการมีศาลทหารประการหนึ่งซึ่งมักถูกหยิบยกขึ้นอ้างเสมอ คือ ข้าราชการทหารและวินัยทหารมีลักษณะพิเศษ จึงจำเป็นต้องมีศาลทหารโดยเฉพาะเพื่อตัดสินคดีของทหาร ก็หมายความว่า ศาลทหารต้องมีเขตอำนาจเฉพาะกรณีคดีของทหาร มีทหารเป็นคู่ความเท่านั้น จึงไม่มีความจำเป็นใดๆที่พลเรือนต้องอยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร ศาลทหารที่ขยายเขตอำนาจของตนออกไปครอบคลุมถึงคดีที่พลเรือนเป็นจำเลยด้วย ในขณะที่วิธีพิจารณาความในศาลทหารนั้นไม่ได้ให้หลักประกันแก่จำเลยที่เป็นพลเรือนเพียงพอ และสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (Right to a fair trial) ซึ่งศาลทหารนั้น มีกระบวนการและหลักปฏิบัติในหลายประการที่ไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐาน เช่น กระบวนพิจารณาที่ไม่รับรองสิทธิในการโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานไว้เพียงพอ หรือคู่ความไม่มีสิทธิในการอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษา เป็นต้น
เมื่อกระบวนการยุติธรรมในศาลทหารไม่ยุติธรรมเพียงพอ แต่ก็มาในนามของ “กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม” เช่นนี้ ทำให้ระบอบเผด็จการทหารอาจกำหนดให้ศาลทหารมีเขตอำนาจเหนือพลเรือน เพื่อให้ “กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม” ของศาลทหารเป็นเครื่องมือในการกำจัดพลเรือนที่ต่อต้านระบอบเผด็จการทหารนั่นเอง
หากพิจารณาจากที่มาและพฤติกรรมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติแล้ว เราจะพบว่าการกระทำรัฐประหาร ๒๕๕๗ เกี่ยวพันกับกรณีการสังหารหมู่ประชาชนจนนำไปสู่การสั่งสลายการชุมนุม เมื่อปี ๒๕๕๓ สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะอย่างลึกซึ้ง นั่นคือ หลังการสังหารหมู่ประชาชนจนนำไปสู่การสั่งสลายการชุมนุม เมื่อปี ๒๕๕๓ สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผ่านศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณเป็นผู้อำนวยการ และมีนายทหารจำนวนมากในคณะรักษาความสงบแห่งชาติเกี่ยวข้องในระดับสั่งการและปฏิบัติการ แม้นายอภิสิทธิ์ - สุเทพ ถูกฟ้องอาญาและได้รับการยกฟ้องกรณีการออกคำสั่ง ก่อนจะถูกฟ้องอีกครั้งจากกลุ่มญาติผู้สูญเสียฯที่นำเรื่องไปที่ ปปช.
แต่นายทหารที่เกี่ยวข้องใน ศอฉ. รวมถึง พล.อ.ประยุทธ ยังไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมใดใด แม้ว่าศาลอาญาจะได้มีคำสั่งจากคำพิพากษาไต่สวนการตายในหลายคดี เช่น กรณีนายพัน คำกอง, นายชาญณรงค์ พลศรีลา, นายชาติชาย ซาเหลา, ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ รวมถึงกรณี 6 ศพ วัดปทุมฯ ว่าเหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือถูกลูกกระสุนปืนซึ่งยิงจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหาร นี่ยังไม่นับอีกหลายสิบสำนวนที่รอนำสู่การพิจารณา หากไม่เกิดการกระทำรัฐประหาร ๒๕๕๗ ขึ้นมาเสียก่อน ทั้งนี้โดยไม่อาจกล่าวข้ามความผิดพลาดเชิงนโยบายของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่พยายามผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯแบบเหมาเข่งด้วยเช่นกัน
และคำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ว่า "ขอถามข้อเท็จจริงว่ามีคนใช้อาวุธในประชาชนหรือเปล่า มีหรือเปล่า ขอให้พูดดังๆ มีชายชุดดำอยู่ในกลุ่มคนเสื้อแดงหรือเปล่า และมีคนยิงใส่ทหารหรือเปล่า ถ้ามีก็จบ” นั้น เป็นการพูดแบบเอาสีข้างเข้าถู เพราะผู้เสียชีวิตที่ศาลได้มีการพิจารณาและมีคำสั่งไต่สวนการตายว่าเหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือถูกลูกกระสุนปืนซึ่งยิงจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารนั้น ล้วนแต่เป็นผู้เสียชีวิตในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ ทั้งสิ้น โดยเฉพาะกรณีการเสียชีวิตของ ๖ ศพวัดปทุมฯ นั้นเกิดขึ้นหลังจากที่ทหารได้เข้าควบคุมพื้นที่จนทุกอย่างบริเวณพื้นที่ชุมนุมอยู่ในความสงบแล้ว
ดังนั้น คำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์จึงเป็นคำกล่าวที่เลื่อนเปื้อน เป็นการโยนความชั่วออกจากตัว โดยยกเหตุการณ์ที่ต่างกรรมต่างวาระกันมาโยงเข้าด้วยกัน เพื่อจะเอาตัวให้พ้นผิดจากกรณีการมีส่วนร่วมในการสั่งสังหารประชาชนและสั่งสลายการชุมนุมใน ปี ๒๕๕๓ ผ่านการกระทำรัฐประหาร ๒๕๕๗ นั่นเอง หากพิจารณาจากพลเมืองทั้งสี่ที่ถูกตั้งข้อหา และจะต้องถูกส่งขึ้นพิจารณาคดีที่ศาลทหารนั้น ล้วนแต่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับกรณีการสั่งสังหารประชาชนและสั่งสลายการชุมนุมใน ปี ๒๕๕๓ และการกระทำรัฐประหาร ๒๕๕๗ ทั้งสิ้น เช่น นักศึกษาและนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย, ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ดูแลคดีการชุมนุมทางการเมือง ๒๕๕๓ คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คดีละเมิดกฎอัยการศึก ฯลฯ และญาติผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม ปี ๒๕๕๓ เป็นต้น
การแสดงความเห็น การตั้งคำถาม การปฏิเสธให้ความร่วมมือ การประท้วง ดื้อแพ่งอย่างสันติวิธี เป็นสิ่งที่พลเมืองกระทำได้ตามกฎหมาย ประการสำคัญ มันยังเป็นส่วนสำคัญที่แยกไม่ออกจากศักดิ์ศรีแห่งการเป็นพลเมือง ที่ย่อมมีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบอำนาจรัฐที่มีอำนาจมหาศาล การดำเนินคดีต่อพลเรือนที่ดื้อแพ่งต่อการปกครองของทหารโดยศาลทหาร จึงเสมือนการบังคับข่มเหงต่อสิทธิและเสรีภาพของพลเมือง ให้ต้องสยบยอมต่อระบบอำนาจนิยมของทหารนั่นเอง
ด้วยความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมตามหลักสากล และอาศัยสิทธิของผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓๑ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) เหล่าพลเมืองโต้กลับทั้งสี่ จึงขอเรียกร้องมายังท่านและข้าราชการฝ่ายตุลาการทุกท่านดังนี้
๑) ขอท่านได้โปรดยืนยันอำนาจตามรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รวมทั้งอำนาจนิติบัญญัติอันมีอยู่แต่เดิมโดยชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย ธำรงไว้ซึ่งหลักการที่เสมือนเสาหลักในการอำนวยความยุติธรรม ไม่ยินยอมให้คดีของพลเรือนตกอยู่ในกระบวนการยุติธรรมที่กระท่อนกระแท่นของศาลทหาร
๒) แสดงความกล้าหาญตามศักดิ์ของตุลาการ อริยะขัดขืนต่อประกาศและคำสั่งอันป่าเถื่อนของคณะรัฐประหาร ยืนยันหลักการแห่งกฎหมายว่า คณะรัฐประหารเป็นคณะกบฎ กฎ ประกาศ หรือคำสั่งใดๆของคระรัฐประหารหาได้มีผลเป็นกฎหมาย รวมทั้งร่วมต่อสู้เพื่อคืนความยุติธรรมแก่ประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยให้ถึงที่สุด
ทั้งนี้ หากคณะรัฐประหารได้บังอาจใช้อำนาจใดมาแทรกแซงในการปฏิบัติหน้าที่ของท่านให้บิดเบี้ยวไปจากกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม ขอท่านได้โปรดดำรงไว้ซึ่งเกียรติแห่งข้าราชการฝ่ายตุลาการ อย่าได้หวั่นหวาดไปตามอำนาจอันป่าเถื่อนนั้น และทำหน้าที่ของท่านด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมเพื่อดำรงไว้ซึ่งกระบวนการยุติธรรมและจรรยาบรรณในวิชาชีพ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายสืบต่อไป.
ด้วยความเคารพอย่างสูง,
นายอานนท์ นำภา พลเมืองที่ ๑,
นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ พลเมืองที่ ๒,
นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ พลเมืองที่ ๓ และ
นายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ พลเมืองที่ ๔