วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ฟัง สปท.แจงเรื่องขอความร่วมมือไลน์ แง้มใช้มาตรการภาษีกดดัน


พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ให้สัมภาษณ์รายการ "เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand" ตอบคำถามกรณีรัฐบาลจะขอความร่วมมือไลน์เซ็นเซอร์เนื้อหา ระบุกลุ่มสองคนขึ้นไปนับเป็นสาธารณะ แง้มใช้มาตรการทางภาษีต่อรอง

รายการ เจาะลึกทั่วไทย 1/2/59 : แฉรัฐบาลล็อบบี้ "เฟซบุ๊ค-ไลน์" เซ็นเซอร์โซเชียล
1 ก.พ. 2559 พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในฐานะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อสารมวลชน และประธานอนุกรรมการฯ ปฏิรูปสื่อออนไลน์ ให้สัมภาษณ์ ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ และ อมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ ผู้ดำเนินรายการ "เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand" ออกอากาศเมื่อวันที่ 1 ก.พ. เวลา 07.30 น. ทางช่องสปริงนิวส์ฯ กรณีมีข่าวว่า รัฐบาลจะขอความร่วมมือไลน์และเฟซบุ๊กให้เซ็นเซอร์เนื้อหาที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย 
พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวว่า ประเด็นเรื่องที่มีการใช้สื่อออนไลน์กระทบความเสียหายต่อประเทศชาติ เศรษฐกิจ สังคม และสถาบันหลัก หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และ สตช. แต่ สปท.โดย กมธ. ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ลงไปเชื่อม กระชับให้เร็วขึ้น เอาหน่วยงานรัฐและหน่วยงานในต่างประเทศ มาคุยกันว่า จะกระชับความร่วมมืออย่างไร ที่ผ่านมาคุยกับกูเกิลแล้ว และได้รับการตอบสนองในทิศทางที่ดีขึ้น โดยสื่อสังคมออนไลน์ต่อมาที่ประชาชนคนไทยใช้มากอันดับต่อๆ มา คือ เฟซบุ๊ก กับไลน์ ก็คงต้องเชิญมาคุยและขอความร่วมมือในลักษณะเดียวกัน 
เขากล่าวว่า กรณีมีข้อมูลข่าวสารที่ผิดกฎหมาย กระทบบุคคลอื่น กระทบประเทศชาติ เราอยู่บนพื้นฐานของสากล รัฐบาลโดยกระทรวงไอซีทีหรือตำรวจ ต้องร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งปิดกั้น จากนั้นจะส่งไปยังผู้ให้บริการ เพื่อดำเนินการปิดกั้นหรือถอดออก ก่อนหน้านี้ กูเกิลมีการตอบสนองไม่ถึง 10% หลังจากพูดคุยในเดือนที่ผ่านๆ มา พบว่า ความร่วมมือในการปิดกั้นหรือถอดมากขึ้นเป็น 30%
เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า เรื่องแบบไหนที่กูเกิลตอบสนองหรือไม่ตอบสนอง เขาตอบว่า กรณีเป็นความผิดรัฐเดียว ถ้าเรื่องไหนกระทบความมั่นคง กระทบสถาบันหลัก จะต้องร้องขอเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งมองว่าจากเดิมที่ตอบสนองบ้าง หลังพูดคุยกูเกิลเข้าใจแล้วว่าสังคมไทยค่อนข้างจะซีเรียสกับเรื่องแบบนี้ ก็ตอบสนองดีขึ้น จากเดิมมี 100 คลิป ถอดไม่ถึง 10 คลิป ตอนนี้เริ่มเป็น 30 คลิปแล้ว และยังเร็วขึ้นอีก
เมื่อถามว่า การจะตอบสนองหรือไม่จะดูจากอะไร เขาตอบว่า ดูที่คำสั่งศาลและการร้องขอของฝ่ายไทยเป็นหลัก
กรณีที่จะพูดคุยกับผู้บริหารไลน์และเฟซบุ๊ก ผู้ดำเนินรายการถามว่า ไลน์เป็นกรุ๊ปปิดกึ่งส่วนตัว การขอความร่วมมือจะต่างกับเฟซบุ๊กที่เป็นกลุ่มเปิดหรือไม่ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ตอบว่า ใช้หลักการเดียวกัน เพียงแต่รายละเอียดอาจจะแล้วแต่ผู้ให้บริการแต่ละรายอย่างเช่น ไลน์ เป็นกลุ่มปิด แต่กลุ่มปิดที่มีคน 100 คน ก็ถือว่าเป็นสาธารณะ
เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า กลุ่มขนาดไหนจึงนับเป็นสาธารณะ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ตอบว่า เริ่มจาก 2 คนขึ้นไป  โดยอธิบายว่า เมื่อมี 2 คนขึ้นไป แต่ละคนอาจจะมีกลุ่มของเขาอีก ไปต่อคนอื่นๆ ได้อีกเรื่อยๆ
"เมื่อไหร่ถ้าเป็นเรื่องของคนระหว่างคนสองคนก็อาจจะเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล แต่เมื่อไหร่ ในกลุ่มคุณมี 2 มี 3 มันไปต่อได้แน่นอน" พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าว
เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า คิดว่าไลน์จะยอมหรือไม่ เพราะจุดขาย-จุดแข็งคือเรื่องความเป็นพื้นที่ส่วนตัว พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวว่า เขาจะยอมหรือไม่อยู่ที่ดุลพินิจของเขา แต่เราก็จะมีอำนาจการต่อรองที่จะไปคุยกับเขา
"แย้มนิดๆ แล้วกัน คือคุณจะเห็นนะฮะ ในไลน์ ในเฟซบุ๊ก มันมีการโฆษณา การโฆษณาเขาสามารถโฟกัสได้ว่าอันนี้คลิปนี้จะโฆษณาในประเทศไทย และสามารถระบุกลุ่มอาชีพ กลุ่มอายุได้ อันนี้เราจะใช้มาตรการทางภาษีคุยกับเขา"
เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า เป็นการไปเก็บภาษีจากโฆษณาในไลน์ใช่หรือไม่ เขาตอบว่า ถูกต้อง
"นี่เป็นแนวคิดนะครับ การโฆษณาในไลน์ กูเกิล หรือเฟซบุ๊ก ผู้จ้างโฆษณาที่อยู่ในประเทศไทย จ้างตรงไปที่บริษัทแม่ที่อยู่ในต่างประเทศ ชำระเงินตรง รัฐไทยขาดภาษีตรงนี้ปีหนึ่งหลายพันล้านนะครับ เรากำลังพิจารณาว่าทำอย่างไรตรงนี้ที่สูญหายไปจะกลับเข้ามาในระบบภาษีของไทย เพื่อเอาเงินมาพัฒนาประเทศ" พล.ต.ต.พิสิษฐ์กล่าว
เมื่อถามว่า สมมติว่าถ้าเขาให้ความร่วมมือเราจะไม่เก็บภาษีหรือ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ตอบว่า เก็บ แต่จัดให้เป็นระบบขึ้น
เขากล่าวต่อว่า เชื่อว่าการคุยกันไม่ว่าเรื่องรัฐบาลต่อรัฐบาล อยู่ที่ผลประโยชน์ของชาติแต่ละชาติ เพราะฉะนั้นในการไปคุยไปขอร้อง ก็ต้องมีมาตรการที่จะไปคุย ต้องมีอำนาจต่อรอง ซึ่งกำลังคิดหลายๆ รูปแบบว่าทำอย่างไรให้การพูดคุยมีประสิทธิภาพ
เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า จะเสนอรัฐบาลรื้อฟื้นติดตั้งระบบซิงเกิลเกตเวย์หรือไม่ เขาตอบว่า ไม่ถึงขนาดนั้น หลักการของ สปท.การกำกับดูแลการใช้สื่อออนไลน์ ต้องคู่ขนานไปกับสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ถ้าจะมุ่งเน้นเรื่องการกำกับโดยไม่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพ ก็ทำไม่ได้ เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญ คงต้องใช้วิธีผลักดันเรื่องความร่วมมือ ใช้เครื่องมือต่างๆ ของรัฐที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์
เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า สปท.จะเซ็นเซอร์ข้อความตามคำสั่งศาลเท่านั้น เขาตอบว่า ถูกต้อง
ผู้ดำเนินรายการถามว่า จะไม่ขอสิทธิพิเศษจากไลน์และเฟซบุ๊ก ในการเข้าไปเซ็นเซอร์ เข้าไปตรวจสอบตั้งแต่ต้นทางใช่หรือไม่ เขาตอบว่า " สิทธิในการทำแบบนั้น ผมเชื่อว่าเขาก็ไม่ยอมเหมือนกัน"

สภาประชาชนฯ สับ ‘ร่างรธน.มีชัย’ เรื่องสิทธิถอยหลังหนัก ขู่ไม่แก้เตรียมคว่ำ


1 ก.พ.2559  ตัวแทนสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป (สชป.) ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายต่างๆ 78 เครือข่าย ร่วมกันประชุมระดมสมองและกำหนดท่าทีการเคลื่อนไหวต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมราว 20 คนและสื่อมวลชนที่สนใจ
ไพโรจน์ พลเพชร อดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายสรุปว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้ควรได้ชื่อว่า “ฉบับเพิ่มอำนาจรัฐ ลดอำนาจประชาชน ริบคืนเสรีภาพ” โดยโจทย์ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่เคยประกาศไว้หลายเรื่องเหลือเพียงเรื่องเดียวคือ การปราบคอร์รัปชัน
“เขาชูมาตลอดว่ารัฐธรรมนูญนี้จะปราคนโกง นี่เป็นจุดขายหรือจุดแข็งที่สุด แต่เขาไม่สนเรื่องอื่นๆ ผมคิดว่ายังไงมันก็ไม่ใช่คำตอบนั้น เอาข้าราชการ องค์กรอิสระมาปราบโกง ไม่มีทางสำเร็จ การปราบปรามคอร์รัปชันควรขยายบทบาทภาคประชาชนมากกว่านี้ ถ้าอำนาจถูกกระจาย ไม่รวมศูนย์ที่ส่วนกลาง การคอร์รัปชันก็จะลดลงโดยตัวโครงสร้างเอง” ไพโรจน์กล่าวและว่าในบทเฉพาะกาลยังคงมีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) อยู่ต่อไป ซึ่งเท่ากับว่าทิศทางการปฏิรูปประเทศอยู่ในมือข้าราชการเป็นหลัก
บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ อดีตกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ เรียกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าฉบับ “แช่แข็ง” โดยผู้ร่างไม่มองความเปลี่ยนแปลงในโลกและในสังคมเลย โดยวิเคราะห์ปัญหาถูกส่วนหนึ่งแต่ก็ละเลยปัญหาอีกมากมาย เรื่องสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 รับรองไว้ไม่เห็นในร่างนี้ ขณะที่การเมืองภาคพลเมืองหายไปแทบทุกมิติ มุ่งเน้นการจัดการทุจริตคอร์รัปชัน โดยเพิ่มอำนาจให้องค์กรอิสระและไม่มีระบบตรวจสอบอำนาจนั้นอีกที
“เราต้องตั้งโจทย์ถึงที่มาอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระ และการกำกับตรวจสอบองค์กรที่มีอำนาจมากขนาดนี้ก็ไม่มีปรากฏ มันอาจกลับไปเหมือนปัญหาตอนรัฐธรรมนูญปี 40” บัณฑูรกล่าว
สุนี ไชยรส อดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายกล่าวว่า คอนเซ็ปท์ใหญ่ในการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ผิด มีการย้ายหมวดสิทธิทั้งหมดไปอยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐ ซึ่งจะแก้ไขไม่ได้ และไม่เดินไปสู่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ภาคประชาชนร่วมต่อสู้กันมา ขณะที่เครือข่ายผู้หญิงก็มีการพูดกันมากว่าไม่มีกันพูดถึงความผูกพันในกติกาที่ไทยไปลงนามในกฎหมายระหว่างประเทศไว้ทั้งกฎหมายเกี่ยวกับผู้หญิง เด็ก แรงงาน เมื่อไม่ระบุถึงก็จะทำให้โยงกับมาตรฐานสากลได้ยาก ผ่านกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องได้ยาก
นอกจากนี้ตัวแทน สปช.ยังแถลงร่วมกันว่า ระหว่างนี้จะจัดเวทีทำความเข้าใจเนื้อหารัฐธรรมนูญกับประชาชนในภาคต่างๆ  พร้อมๆ กับเสนอข้อเสนอให้ กรธ.แก้ไขปรับปรุงร่างนี้ภายในกำหนดเวลาที่ กรธ.กำหนดไว้คือ 15 ก.พ.โดยคาดหวังว่าจะมีการปรับปรุงเนื้อหาตามที่ภาคประชาชนเสนอ หากไม่มีการแก้ไขทางเครือข่ายก็จะต้องดำเนินรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนี้ แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้นคงต้องรอปฏิกริยาที่ชัดเจนจาก กรธ.ก่อน ระหว่างนี้ขอนำเสนอให้มีการจัดดีเบตระหว่าง กรธ.และภาคประชาชนในเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากท้วงติงเนื้อหาหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ภาคประชาชนมีความกังวลว่าจะมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกหรือไม่ ภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ กล่าวว่า เรายืนยันว่าเลือกตั้งต้องเป็นไปตามกำหนด ต้องเป็นไปตามโรดแม็พ เพราะว่าระยะเวลาผ่านมานานมากแล้ว ขณะที่สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.พอช.) กล่าวว่า ประชาชนไม่ควรถูกบีบให้เลือกว่าจะรับรัฐธรรมนูญหรือจะเอาเลือกตั้ง
“เราเอาทั้งสองอย่าง เราจะเอารัฐธรรมนูญที่ดีและจะเอาการเลือกตั้งด้วย เราจะไม่อยู่ในเกมที่ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง” สุนทรีกล่าว
“เราไม่กลัวคำขู่ว่าจะผ่านไม่ผ่าน (ประชามติ) ผมเข้าใจว่าตอนนี้มีการข่มขู่ว่าถ้าไม่ผ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็จะเล่นโหดกว่านี้ซึ่งผมคิดว่าเราไม่ควรจะเลือกแบบนั้น สังคมไทยควรจะเลือกได้ว่าเราสามารถกำหนดกติกาบ้านเมือง เลือกตั้งก็ควรจะเดินตามขั้นตอนเดิม เพราะการเลือกตั้งอาจจะทำให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญไปได้ดีกว่านี้ เรายืนยันว่าต้องมีการเลือกตั้ง” ไพโรจน์กล่าว
สำหรับรายละเอียดประเด็นต่างๆ ที่มีการระดมความเห็นกันนั้น ไพโรจน์ สรุปดังนี้
1.       ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนเลย โดยเฉพาะละเลยการบัญญัติหลักการขั้นพื้นฐานที่ควรกำหนดในรัฐธรรมนูญ
2.       ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่กำหนดหลักประกันที่สำคัญในการที่รัฐต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
3.       ร่างรัฐธรรมนูญนี้ลดทอนสิทธิเสรีภาพด้านต่างๆ ที่เคยกำหนดไว้ในรัฐธรรนูญ 2540 และ 2550
4.       การมีส่วนร่วมที่เคยกำหนดชัดเจนในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 โดยเฉพาะสิทธิในการตรวจสอบโครงการของรัฐ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกลับไม่ถูกกำหนดไว้
5.       การกระจายอำนาจถูกตัดทอนลงอย่างมาก ไม่มีการกำหนดสัดส่วนอำนาจหน้าที่ งบประมาณที่จะกระจายไปยังท้องถิ่นอย่างชัดเจน ที่สำคัญยังตัดส่วนที่สำคัญที่สุดในหลักการประชาธิปไตยออกด้วย คือ การให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมทางตรงในการลงประชามติในการจัดการท้องถิ่น
6.       การได้มาซึ่งองค์กรอิสระ ไม่ว่า กกต. ปปช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ฯลฯ ตัวแทนจากศาลยุติธรรมมีบทบาทสำคัญในการคัดเลือก ซึ่งจะทำให้ขัดกับหลักการสำคัญในการแบ่งแยกอำนาจ ทำให้สถาบันตุลาการเข้ามาเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจรัฐในทางบริหาร เห็นได้จากกระบวนการคัดเลือกองค์กรอิสระที่ผ่านมาศาลมีบทบาทอย่างสำคัญและถูกตั้งคำถามอย่างมากมาโดยตลอดอยู่แล้ว
7.       คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในร่างมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับหลักการปารีสในเรื่องที่ว่าการสรรหาต้องมีองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนร่วมด้วย แต่ก็มีส่วนที่ลดทอน คือ ไม่เขียนอำนาจในการฟ้องคดี และกำหนดหน้าที่ให้ต้องชี้แจงเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อองค์กรต่างๆ และต่างประเทศแทนรัฐบาล นับเป็นนวตกรรมใหม่ที่ทำให้เข้าใจได้ว่า กสม.เป็นเครื่องมือของรัฐ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ยังมีประเด็นเพิ่มเติมอื่นๆ  เช่น มาตราว่าด้วยการทำสัญญาระหว่างประเทศ (มาตรา 190 ตามรัฐธรรมนูญ 2550) ควรต้องชัดเจนเหมือนเดิม ไม่ใช่กำหนดให้ไประบุรายละเอียดในกฎหมายลูก, ต้องระบุเรื่ององค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ชัดเจน แม้รัฐธรรมนูญ 2550 ระบุชัดเจนยังไม่สามารถจัดตั้งได้ การระบุกลไกคุ้มครองผู้บริโภคเพียงหลวมๆ ในร่างนี้จะยิ่งเป็นการตัดสิทธิผู้บริโภค, ประเด็นสัดส่วนผู้หญิงในการดำรงตำแหน่งต่างๆ ที่มีส่วนในการตัดสินใจเชิงนโยบายควรต้องกำหนดชัดเจน  เป็นต้น
สำหรับประเด็นระบบเลือกตั้ง ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เครือข่ายจากภาคเหนือตอนล่างนำเสนอในวงว่าภาคประชาชนควรต้องเสนอความคิดเห็นเรื่องระบบเลือกตั้งด้วยนอกเหนือจากประเด็นสิทธิชุมชน สิทธิด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการออกแบบระบบการใช้อำนาจจากประชาชนก็มีความสำคัญ หากด้านอื่นๆ บัญญัติไว้ดีแต่ได้นายกฯ มาจากดาวอังคารก็คงไม่เวิร์ค ไพโรจน์ตอบในประเด็นนี้ว่า สชป.เคยเสนอมาแล้วก่อนหน้านี้และยืนยันว่านายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง การสมัคร ส.ส.ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรค และประชาชนควรใช้สิทธิเลือกตั้งในที่ทำงานได้ ไม่ต้องกลับภูมิลำเนา ส่วนการเลือกตั้งที่มีการกำหนดให้ใช้บัตรใบเดียว เรากังวลว่าเท่ากับเป็นการบังคับให้เลือกพรรคเดียว เป็นการจำกัดเจตนารมณ์ประชาชนที่จะมีทางเลือก คงเห็นควรให้คงการเลือก ส.ส.เขต และระบบบัญชีรายชื่อของพรรค ส่วน ส.ว.นั้น สนับสนุนให้มาจากการเลือกตั้ง 2 ทางคือ เลือกตั้งระดับจังหวัด และเลือกจากกลุ่มอาชีพ ซึ่งต้องเป็นการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมดไม่ใช่องค์กรวิชาชีพเป็นผู้เลือก

11 ก.พ.ศาลนัดไต่สวนแพทย์ คดี ‘บัณฑิต อานียา’ หลังทนายขอส่งตรวจจิตเภท

บัณฑิต อานียา และปีเตอร์ โคเร็ท เพื่อนชาวต่างชาติ
2 ก.พ.2559 ที่ศาลทหาร มีนัดไต่สวนแพทย์จากสถาบันกัลยาราชนครินทร์ ผู้ทำการรักษา นายบัณฑิต อานียา จำเลยในคดี 112 เมื่อถึงเวลานัดผู้พิพากษาขึ้นบัลลังก์และแจ้งว่ามีจดหมายจากสถาบันกัลยาฯ แจ้งว่าแพทย์ติดราชการไม่สามารถมาให้การได้ จึงได้เลื่อนนัดหมายเป็นวันที่ 11 ก.พ.นี้ เวลา 14.00 น.
ทั้งนี้ คดีของบัณฑิตมีการสืบพยานโจทก์แล้ว 1 นัด โดยทนายจำเลยยังไม่ได้ซักค้าน จากนั้นทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องของส่งตัวจำเลยไปตรวจอาการจิตเภท เนื่องจากจำเลยมีประวัติป่วยเป็นจิตเภทต่อเนื่อง และคดี 112 ก่อนหน้านี้ศาลฎีกาก็ได้พิพากษาไว้ว่าจำเลยมีอาการดังกล่าวและให้รอการลงโทษ ศาลทหารจึงได้มีคำสั่งให้ออกหมายเรียกแพทย์ที่ทำการรักษาจำเลยมาให้ความเห็นว่าจำเลยมีอาการจริงหรือไม่และได้สามารถต่อสู้คดีได้หรือไม่
คดีนี้เป็นคดีที่ 2 ของนักเขียนวัย 73 ปี โดยเขาเป็นหนึ่งในจำเลยคดี 112 จำนวนน้อยมากที่ได้รับการประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี เหตุเกิดจากการที่เขาไปแสดงความคิดเห็นในงานเสวนาที่จัดโดยพรรคนวัตกรรม เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2557

ม.เที่ยงคืน ขอสังคมไม่เห็นชอบ ร่างรธน.มีชัย ชี้เป็นฉบับ “อภิชนเป็นใหญ่”


2 ก.พ. 2559 มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแถลงการต่อร่างรัฐธรรมนูญ โดยใช้ชื่อแถลงการณ์ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “อภิชนเป็นใหญ่”
โดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนระบุว่า ร่างฯ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ลดทอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมากยิ่งกว่าฉบับใดๆ ทำให้ระบบการเมืองไทยมีจุดยึดโยงกับประชาชนน้อยลง ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระตามบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขาดความยึดโยงกับประชาชนโดยสิ้นเชิง แต่กลับมีอำนาจในการกำกับการทำงานของรัฐบาลสูงมาก  
วุฒิสภาที่บทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้อำนาจไว้มากและกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจในการให้ความเห็นชอบต่อการแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ แต่วุฒิสมาชิกปราศจากการยึดโยงกับประชาชนทั้งหมดในสังคมเกือบสิ้นเชิงเพราะวุฒิสมาชิกมาจากการเลือกกันเอง 
 
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เรียกร้องให้สังคมร่วมกันพิจารณา วิพากษ์วิจารณ์ และออกเสียงประชามติ “ไม่ให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้”           
 
แถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เรื่อง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “อภิชนเป็นใหญ่”
ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมานานกว่าทศวรรษ สังคมไทยได้สูญเสียโอกาสที่จะก้าวหน้า และกลับล้าหลังลงไปในหลายๆ ด้าน โดยที่คณะรัฐประหารไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงความหวังที่จะหลุดพ้นจากสภาพดังกล่าวได้เลย การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งควรจะเป็นส่วนหนึ่งของทางออกจากวังวนแห่งปัญหา กลับปรากฏปัญหาในเชิงหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตยหลายประการด้วยกัน ที่สำคัญมีดังต่อไปนี้
ประการแรก ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ลดทอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมากยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญฉบับใดๆ ในอดีต กล่าวคือ สิทธิเสรีภาพหลายชนิดซึ่งเคยได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ได้ถูกลดทอนลงหรือแม้แต่ถูกตัดออกไป เช่น บทบัญญัติว่าด้วยสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บทบัญญัติที่ให้ความสำคัญแก่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการจำกัดเสรีภาพทางวิชาการด้วยบทบัญญัติเรื่องหน้าที่ของชนชาวไทยและศีลธรรมอันดี  และการปฏิเสธพันธกรณีระหว่างประเทศในด้านต่างๆ ที่ประเทศไทยได้เคยให้การรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าอีกด้วย
ประการที่สอง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้ระบบการเมืองไทยมีจุดยึดโยงกับประชาชนน้อยลง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบระบบการเลือกตั้งซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่เกิดขึ้นไม่ได้เลย ความอ่อนแอของพรรคการเมืองนี้ย่อมจะส่งผลให้การแทรกแซงของอำนาจนอกระบบอื่นๆ เกิดขึ้นได้ง่ายดังเช่นที่ได้เคยเกิดขึ้นแล้วในสังคมการเมืองไทย
ประการที่สาม ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระตามบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขาดความยึดโยงกับประชาชนโดยสิ้นเชิง แต่กลับมีอำนาจในการกำกับการทำงานของรัฐบาลสูงมาก  เช่น การมีอำนาจในการตีความรัฐธรรมนูญ การพิจารณากฎหมายต่างๆ ว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่  และการวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ที่ตั้งขึ้นตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
ประการที่สี่ ในส่วนของวุฒิสภาที่บทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้อำนาจไว้มากและกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจในการให้ความเห็นชอบต่อการแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ แต่วุฒิสมาชิกปราศจากการยึดโยงกับประชาชนทั้งหมดในสังคมเกือบสิ้นเชิงเพราะวุฒิสมาชิกมาจากการเลือกกันเอง  ซึ่งทำให้มีปัญหาในเรื่องความชอบธรรมของวุฒิสภา ทั้งปัญหาในแง่ที่มาของวุฒิสมาชิกและในแง่ของอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา ซึ่งปัญหาความชอบธรรมนี้จะกลายเป็นอุปสรรคในการทำงานของวุฒิสภาอย่างแน่นอน
ด้วยปัญหาทั้งสี่ประการดังกล่าวข้างต้นนี้ ย่อมเห็นได้ชัดเจนว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อลดทอนอำนาจของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม ในขณะเดียวกันก็พยายามสถาปนาอำนาจให้กับชนชั้นนำเพียงบางกลุ่ม  จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “อภิชนเป็นใหญ่” ที่จงใจทำให้รัฐไทยและรัฐธรรมนูญไทยกลายเป็นสมบัติของคนเพียงหยิบมือเดียว มิใช่ของประชาชาชนทั้งหมด ซึ่งถ้าหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ก็จะนำพาสังคมไทยจมดิ่งลึกลงไปในความขัดแย้งที่สลับซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้น
อนึ่ง จากการออกแบบโครงสร้างและสถาบันการเมืองให้มีลักษณะดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ย่อมทำให้กลายเป็นเรื่องสุดวิสัยที่จะปรับแก้เนื้อหาเพียงบางส่วนในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะถ้าหากมีการแก้ไขในสี่ประเด็นสำคัญที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตยเหล่านี้แล้ว ก็ย่อมเท่ากับการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับนั่นเอง  
ด้วยความเชื่อมั่นในพลังแห่งสติปัญญาของสังคมไทยที่จะผลักดันกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย เพื่อเป็นแสงสว่างให้สังคมไทยได้ก้าวพ้นปัญหาที่ต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนใคร่ขอเรียกร้องให้สังคมร่วมกันพิจารณา วิพากษ์วิจารณ์ และออกเสียงประชามติ “ไม่ให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้”           
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
2 กุมภาพันธ์ 2559
 
                                      

สืบคดีทหารฟ้อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ชาวลาหู่-หลังโพสต์หาว่าทหารตบชาวบ้าน

ศาลเชียงใหม่นัดสืบพยานโจทก์และจำเลย 2-4 ก.พ. คดีทหารที่ฐานบ้านอรุโณทัย ฟ้องชาวลาหู่ด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หลังชาวบ้านเผยแพร่คลิปในเฟซบุ๊ค ชาวบ้านโต้เถียงกับทหารว่ามีเหตุทหารตบเด็กและผู้ใหญ่ในคืนวันส่งท้ายปีเก่า 2557 โดยจำเลยให้การปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี ยืนยันว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง
2 ก.พ. 2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 2-4 กุมภาพันธ์ นี้ ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ มีการนัดสืบพยานโจทก์และจำเลย ในคดีหมายเลขดำที่ อ.1676/58 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ กับนายไมตรี เจริญสืบสกุล ในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 โดยคดีนี้ มีเจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้กล่าวหาว่าจำเลยได้นำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทหาร
การเข้าแจ้งความในคดีนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 58 โดย ร.อ.พนมศักดิ์ กันแต่ง เจ้าหน้าที่ทหารจากฐานปฏิบัติการบ้านอรุโณทัย ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เป็นผู้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับนายไมตรี เจริญสืบสกุล ชาวลาหู่ ที่สถานีตำรวจภูธรนาหวาย โดยระบุว่านายไมตรีได้เผยแพร่ข้อความในเฟซบุ๊ก กล่าวถึงทหารจากฐานปฏิบัติการบ้านอรุโณทัยว่าได้ทำร้ายเด็กและผู้ใหญ่หลายคนขณะนั่งผิงไฟอยู่ที่บ้านกองผักปิ้ง อำเภอเชียงดาว ในช่วงคืนวันที่ 31 ธ.ค.57 และยังได้นำคลิปวีดีโอเป็นภาพตัดต่อทหารโต้เถียงกับประชาชนมาเผยแพร่ โดยเจ้าหน้าที่ทหารระบุว่าเหตุการณ์การทำร้ายดังกล่าวเป็นข้อความเท็จทั้งสิ้น
เจ้าหน้าที่ทหารยังระบุว่าโดยข้อเท็จจริง ตามวันเวลาดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่ทหารประจำฐานปฏิบัติการบ้านอรุโณทัย เข้าไปช่วยระงับเหตุการณ์ที่มีชาวบ้านมาแจ้งว่ามีกลุ่มวัยรุ่นบ้านเมืองนะกลาง และวัยรุ่นบ้านกองผักปิ้งก่อเหตุทะเลาะวิวาทกัน อันเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ จึงเห็นว่านายไมตรีได้นำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหน้าที่ทหาร
ภายหลังมีการแจ้งความ ร.ต.อ.สงวน มีกลิ่น พนักงานสอบสวน สภ.นาหวาย อำเภอเชียงดาว ได้เรียกตัวนายไมตรีไปรับทราบข้อกล่าวหาและสอบคำปากคำเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 58 โดยพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 คือนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น ซึ่งตามกฎหมายกำหนดโทษจำคุกไว้ไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ไมตรีได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

พื้นที่เกิดเหตุเป็นหมู่บ้านชาวลาหู่ ใน อ.เชียงดาว ผู้ถูกฟ้องเป็นนักสื่อสารของชุมชน
พื้นที่เกิดเหตุในคดีนี้ คือบ้านกองผักปิ้ง ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ มีประชากรราว 80 หลังคาเรือน โดยบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ใกล้ชายแดนไทย-พม่า ไกลจากตัวอำเภอเชียงดาวไปราว 50 กิโลเมตร มีหมู่บ้านของหลายกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ไม่ไกลจากกัน และยังมีหน่วยของเจ้าหน้าที่ทหารพรานประจำอยู่ คือฐานปฏิบัติการบ้านอรุโณทัย
จากข้อมูลของ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้ต้องหาในคดีนี้คือนายไมตรี เจริญสืบสกุล อายุ 31 ปี เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ ไมตรีเป็นผู้มีบทบาทในการทำกิจกรรมภายในชุมชน เช่น  ร่วมกับกลุ่มดินสอสี ทำโครงการ "พื้นที่นี้ดีจัง" ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมสุขภาวะให้กับเด็กและเยาวชนในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ โดยไมตรีเป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการนี้ในพื้นที่ชุมชนของตนเอง นอกจากนี้ไมตรียังเคยเข้าร่วมโครงการอบรมการทำภาพยนตร์ของมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน เคยเข้าร่วมการอบรมโครงการผู้สื่อข่าวพลเมืองกับทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส "เขาจึงมีบทบาทในการส่งรายงานข่าวจากพื้นที่ ทั้งปัญหาเรื่องสัญชาติ หรือบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ให้สังคมได้รับรู้ ไมตรีจึงมีบทบาทเป็น “ปากเสียง” ให้กับผู้คนในพื้นที่มาจนถึงปัจจุบัน"
จากบทบาททางสังคมดังกล่าว ทำให้ไมตรีเข้าไปทำหน้าที่เป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านกองผักปิ้ง และนำไปสู่การถูกดำเนินคดีนี้

เหตุทำร้ายชาวบ้านในคืนวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ข้อมูลจากชาวบ้านในบ้านกองผักปิ้ง ยืนยันว่ามีเหตุการณ์การทำร้ายร่างกายชาวบ้านเกิดขึ้นจริง โดยในคืนวันส่งท้ายปีเก่า 31 ธ.ค.57 เวลาราว 20.30 น. ระหว่างที่กลุ่มชาวบ้านกว่า 10 คน กำลังนั่งล้อมวงผิงไฟอยู่บริเวณมุมของลานสนามกีฬาราดปูนเล็กๆ ภายในหมู่บ้าน ได้มีรถกระบะยี่ห้อเชฟโรเลตสีดำ พร้อมกับรถจักรยานยนต์อีก 1 คัน ขับเข้ามาจอดบริเวณถนนติดกับลานสนามกีฬา พร้อมมีการส่องไฟหน้ารถเข้ามาทางกลุ่มชาวบ้านที่กำลังผิงไฟอยู่
จากนั้น ชาวบ้านระบุว่าได้มีกลุ่มบุคคลเป็นชายแปลกหน้าประมาณ 5 คน ในชุดนอกเครื่องแบบ แต่บางรายใส่กางเกงทหาร และมีคนหนึ่งถือปืนยาวในมือ ขณะที่หลายคนพกปืนสั้น ทั้งบางรายยังใส่เสื้อเกราะกันกระสุน ทั้งหมดได้เดินเข้ามาหากลุ่มชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านบางส่วนตกใจกลัว วิ่งหนีออกไปก่อน ขณะที่ยังมีชาวบ้านอีกราว 7 คน นั่งล้อมวงอยู่ ไม่ได้ลุกหนีไปไหน ในจำนวนนี้มีหญิงสูงอายุ 1 ราย และเด็กชายอายุช่วงสิบปีต้นๆ จำนวน 3 คน
ชายกลุ่มดังกล่าวเข้ามาถึง ก็มีการสั่งให้ชาวบ้านก้มหน้าลง ไม่ให้เงยหน้าขึ้น พร้อมกับมีการนำปืนมาจี้ ก่อนที่ชายคนหนึ่งในกลุ่มจะใช้ฝ่ามือตบที่ใบหน้าชาวบ้านทีละคน จนเด็กชายคนหนึ่งที่ถูกตบถึงกับร้องไห้ ชายคนดังกล่าวไม่ได้มีการกล่าวชี้แจงใดๆ ทำให้ชาวบ้านไม่มีใครทราบสาเหตุการทำร้ายนี้ และชายคนดังกล่าว ก็ได้เดินหลบหายตัวไปทันที โดยขณะนั้นยังมีไฟจากรถกระบะส่องมาที่กลุ่มชาวบ้าน ทำให้เห็นใบหน้าของชายคนดังกล่าวไม่ชัด
สักพักหนึ่ง ชาวบ้านในหมู่บ้านทยอยกันออกมาดูว่าเกิดเหตุอะไรขึ้น รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบอีกชุดหนึ่ง ราว 5 นาย ขับรถเดินทางตามมา ส่วนชายนอกเครื่องแบบที่เหลือก็ยังอยู่ในบริเวณนั้น เจ้าหน้าที่รายหนึ่งระบุว่าได้เกิดเหตุที่วัยรุ่นชาวไทใหญ่และชาวลาหู่ทะเลาะกัน เจ้าหน้าที่จึงขึ้นมาติดตาม
ส่วนชาวบ้านที่ตามมาถึง เมื่อทราบว่าคนที่ถูกตบหน้า มีคนแก่และเด็กด้วย ทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้น และต้องการให้เจ้าหน้าที่ขอโทษ ทำให้เกิดการโต้เถียงกันกับเจ้าหน้าที่ ก่อนจะมีการนัดหมายไปทำความเข้าใจกันที่บ้านผู้ใหญ่บ้านในวันรุ่งขึ้น
จากเหตุการณ์ขณะนั้น ชาวบ้านเชื่อว่ากลุ่มชายนอกเครื่องแบบดังกล่าวเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร เพราะมีทั้งการพกพาอาวุธปืน และมีท่าทางสนิทสนมกับเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบอีกชุดที่ติดตามขึ้นมา ไมตรีแม้ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุในคืนนั้น แต่ได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้าน จึงได้ช่วยสื่อสารเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเฟซบุ๊กส่วนตัว เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม

ชาวบ้านเข้าไปสอบถามทหารในวันปีใหม่ เป็นที่มาของคลิปโต้เถียง และฟ้องด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
ส่วนหนึ่งจากคลิปเหตุการณ์ชาวบ้านหลายสิบคน รวมทั้งไมตรี เจริญสืบสกุล เข้าไปสอบถามเจ้าหน้าที่เมื่อ 1 ม.ค. 2558 หลังคืนเกิดเหตุทำร้ายชาวบ้าน และมีการโต้เถียงกันโดยเจ้าหน้าที่ปฏิเสธว่าไม่ทราบว่าใครเป็นคนทำร้ายชาวบ้าน ต่อมามีการโพสต์คลิปดังกล่าว และมีเพจอื่นนำไปโพสต์ต่อโดยเพิ่มข้อความในลักษณะโจมตีทางการเมือง ทำให้เจ้าหน้าที่ได้ฟ้องดำเนินคดีต่อไมตรี ด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
ต่อมาในเช้าวันที่ 1 ม.ค.58 ชาวบ้านหลายสิบคนได้เดินทางไปขอความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่ โดยไมตรีก็ร่วมไปกับชาวบ้านด้วย การพูดคุยเกิดขึ้นที่หน้าที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านได้เรียกร้องให้ทหารหาคนที่ทำร้ายชาวบ้านมากล่าวขอโทษ โดยยืนยันว่าทหารน่าจะทราบเรื่อง เพราะเป็นคนที่มาด้วยกัน แต่ทหารที่พูดคุยกับชาวบ้าน ยังคงปฏิเสธไม่รู้ว่าใครเป็นคนตบ จึงมีการโต้เถียงกันอีกครั้ง ก่อนทางผู้นำชุมชนจะพยายามเข้ามาพูดคุยทำความเข้าใจ แต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจของชาวบ้าน
หลังจากการพูดคุย ชาวบ้านเห็นร่วมกับไมตรีในการโพสต์คลิปวีดีโอการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ขึ้นในเฟซบุ๊กส่วนตัว ก่อนที่ข้อความและคลิปดังกล่าวจะถูกคัดลอกและนำไปเผยแพร่ต่อจำนวนมาก โดยไมตรีระบุว่าได้มีเพจเฟซบุ๊กที่เกี่ยวข้องกับการเมือง นำโพสต์ของเขาไปเพิ่มเติมข้อความเอาเองในลักษณะโจมตีทางการเมือง ซึ่งไม่ใช่ความตั้งใจของเขาและชาวบ้าน รวมทั้งในวันถัดมา เจ้าหน้าที่ทหารยังได้ติดต่อมาที่ผู้นำชุมชน ขอให้มีการลบโพสต์ออก ทำให้เขาตัดสินใจลบข้อความและคลิปในหน้าเฟซบุ๊กของตนเองออก แต่ก็พบว่าในเพจอื่นๆ ที่ได้มีการคัดลอกไปแล้ว ยังคงมีข้อมูลปรากฏอยู่
ไม่กี่วันจากนั้น ไมตรีได้ทราบว่าเมื่อวันที่ 4 ม.ค. เจ้าหน้าที่ทหารมีการเข้าแจ้งความเอาผิดเขาจากการโพสต์ข้อความและคลิปดังกล่าว
สำหรับขั้นตอนดำเนินคดี ข้อมูลจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ภายหลังไมตรีเข้ารับทราบข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนให้อัยการ ก่อนที่วันที่ 7 พ.ค. 58 พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ ฝ่ายจำเลยได้ซื้อหลักทรัพย์เพื่อยื่นขอประกันตัวในชั้นศาล โดยรวมเงินประกันตัวจำนวน 50,000 บาท และศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว
จากนั้นศาลได้มีการนัดสอบคำให้การ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 58 โดยจำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พร้อมแถลงข้อต่อสู้คดีว่าจะต่อสู้ว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง และการกระทำของจำเลยเป็นไปโดยสุจริตในส่วนได้ส่วนเสียของตนและชาวบ้านทีเกี่ยวข้อง ขณะที่ทางฝ่ายโจทก์ได้ขอนัดสมานฉันท์คดี ศาลจึงให้ส่งคดีเข้าสู่ศูนย์สมานฉันท์และสันติวิธีก่อน ถ้าหากตกลงกันไม่ได้ ค่อยกำหนดวันนัดพิจารณาต่อไป
ในการสมานฉันท์คดีเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 58 ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารผู้แจ้งความ และเจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายกฎหมายเข้าร่วมพูดคุยด้วย โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่ากรณีนี้ ผู้บังคับบัญชาได้สั่งการให้มีการดำเนินคดีตามขั้นตอน เพราะทำให้กองทัพเสื่อมเสีย เจ้าหน้าที่ทหารที่มาพูดคุยด้วยจึงไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจจะแถลงไม่ติดใจจำเลย หรืออำนาจจะขอถอนคดี ขณะที่ทางจำเลยเองก็ยืนยันจะต่อสู้คดีต่อไป เนื่องจากเชื่อว่าตนไม่ได้กระทำความผิด ทั้งเรื่องนี้ ไม่ใช่เพียงเรื่องส่วนตัวของจำเลยผู้เดียว แต่เกี่ยวข้องกับชาวบ้านในพื้นที่ด้วย
เมื่อคู่ความตกลงกันไม่ได้ จึงได้มีการนัดหมายสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยต่อเนื่องกันสามนัด ในวันที่ 2-4 ก.พ.59 ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ โดยเป็นการสืบพยานโจทก์หนึ่งนัดครึ่ง และสืบพยานจำเลยอีกหนึ่งนัดครึ่ง

ทนาย '14 ประชาธิปไตยใหม่' ถูกหมายเรียกข้อหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน-แจ้งความเท็จ

สภาพของรถยนต์ทีมทนายความผู้ต้องหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จอดอยู่ที่ศาลทหาร เช้า 27 มิ.ย.58 โดยเมื่อคืน 26 มิ.ย.58 ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนำแผงกั้นมาล้อมรถ และใช้กระดาษติดเทปกาวแปะรอบประตูรถ อ้างว่าจะค้นรถยนต์หาหลักฐานของผู้ต้องหาเพิ่มเติม และจะค้นรถเมื่อไปขอหมายค้นจากศาลมาแล้ว ล่าสุดทีมทนายความไปแจ้งความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ระบุว่าตำรวจไม่มีอำนาจยึดรถ (ที่มาของภาพ: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)

2 ก.พ. 2559  ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและหนึ่งในคณะทำงานคดี 14 ขบวนประชาธิปไตยใหม่ได้รับหมายเรียก 2 ฉบับ จากพนักงานสอบสวนสน.ชนะสงคราม เพื่อให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งหมายแรกเป็นข้อหา ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจหน้าที่ ทีมีกฎหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร และหมายที่สองแจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวนในวันที่ 9 ก.พ. นี้ เวลา 10.00 น. ณ สน.ชนะสงคราม โดยมีพ.ต.อ.สุริยา จำนงโชค พนักงานสอบสวนในคดี 14 ขบวนประชาธิปไตยใหม่เป็นผู้กล่าวหา
 
ทั้งนี้กรณีดังกล่าวเกิดจากเหตุการณ์การชุมนุมของ 14 ขบวนประชาธิปไตยใหม่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 58 ซึ่งนำมาสู่การจับกุมทั้ง 14 คนในวันถัดมาที่สวนเงินมีมา ถนนเจริญกรุง โดย ศิริกาญจน์ อยู่ร่วมสังเกตการณ์ขณะที่ทั้ง 14 คนถูกจับกุมและได้ติดตามไปยังสน.พระราชวังและศาลทหารเพื่อทำหน้าที่ทนายความ กระบวนการฝากขังในศาลทหารเริ่มต้นเมื่อประมาณ 22.00 น. จนถึงเวลาประมาณ 00.30 น.โดยไม่มีบุคคลภายนอกสามารถเข้าไปในศาลทหารได้ ผู้ต้องหาทั้ง 14 รายจึงจำเป็นต้องฝากสิ่งของไว้กับทนายความเนื่องจากทั้งหมดถูกส่งเข้าเรือนจำในคืนนั้น ทีมทนายความจึงได้นำสิ่งของทั้งหมดของผู้ต้องหาไปเก็บรักษาไว้ภายในรถของ ศิริกาญจน์
ภายหลังการฝากขังเสร็จสิ้นแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจนำโดยพล.ต.ท.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผบก.น.6 ได้ขอเข้าตรวจค้นรถของน ศิริกาญจน์ เพื่อขอตรวจค้นโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหาทั้ง 14 ราย แต่เนื่องจากทีมทนายความเห็นว่าพนักงานสอบสวนได้อยู่ร่วมกับผู้ต้องหามาตั้งแต่เวลา 17.00 น.จนถึง 00.30 น.โดยมิได้ขอตรวจยึดโทรศัพท์มือถือจากผู้ต้องหาและพล.ต.ท.ชยพล ฉัตรชัยเดช ไม่สามารถตอบได้ว่าต้องการสิ่งใดในโทรศัพท์มือถือ จึงไม่อนุญาตให้ทำการตรวจค้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการยึดรถและผนึกรถด้วยกระดาษ A 4 ทำให้ทนายความจากจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ต้องนอนเฝ้ารถคันดังกล่าวบริเวณหน้าศาลทหารตลอดทั้งคืน
ต่อมาในวันที่ 27 มิ.ย.58 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำหมายค้นมาแสดง ศิริกาญจน์  จึงยินยอมให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจค้นและยึดโทรศัพท์มือถือไปทั้งหมด 5 เครื่อง โดยก่อนที่เจ้าหน้าที่จากกองพิสูจน์พยานหลักฐานกลางจะได้ทำการปิดผนึกโทรศัพท์มือถือเพื่อส่งมอบให้พนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ได้นำมือถือเครื่องดังกล่าวไปจากสถานที่เกิดเหตุและเจ้าหน้าที่จากกองพิสูจน์พยานหลักฐานกลาง โดยไม่มีผู้ใดรู้เห็นเป็นพยานกว่าสิบนาที่ เมื่อมีการทักท้วงว่าเป็นการกระทำผิดขั้นตอนเจ้าหน้าที่รายดังกล่าวจึงนำโทรศัพท์มือถือกลับมาเพื่อปิดผนึก
ในวันเดียวกันหลังจากการทำบันทึกตรวจยึดสิ่งของที่สถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามแล้ว ศิริกาญจน์ ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสน.ชนะสงครามว่าพล.ต.ท.ชยพล ฉัตรชัยเดชและพวกกระทำความผิดตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จากเหตุการณ์ยึดรถข้ามคืน ซึ่งนำมาสู่เหตุการออกหมายเรียกผู้ต้องหาในวันนี้
ประมวลกฎหมายอาญา
 
มาตรา 172 ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา แก่พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มี อำนาจสืบสวนคดีอาญา ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา 368 ผู้ใดทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจ ที่มีกฎหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบวัน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 

ทหารเรียก จตุพร เข้ากองทัพภาคที่ 1 คาดปมอัดร่าง รธน.มีชัย


2 ก.พ.2559 สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นและเดลินิวส์ รายงานตรงกันว่า นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า เจ้าหน้าที่ทหาร ได้โทรศัพท์มาหาตน โดยระบุว่าขอเชิญตนมาพูดคุยร่วมกับ พล.ท.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ แม่ทัพภาคที่ 1 แต่ไม่ได้บอกรายละเอียดว่าเป็นเรื่องใด ขณะนี้ตนกำลังเดินทางเข้าไปกองทัพภาคที่ 1 และจะเปิดเผยรายละเอียดหลังการพูดคุยกับสื่อมวลชนอีกครั้งภายหลัง
โดยทางเจ้าหน้าที่ทหารได้ห้ามไม่ได้สื่อมวลชนเข้าไปทำข่าวในกองทัพภาคที่ 1 ท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด โดยมีสื่อมวลชนบางส่วนเฝ้าสังเกตการณ์อยู่บริเวณด้านหน้ากองทัพภาคที่ 1 เท่านั้น
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ นายจตุพร ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ พร้อมประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ นายมีชัย ฤทธิ์ชุพันธ์ อย่างเข้มข้น อีกทั้งจะมีการจัดกิจกรรมล่องเรือแม่น้ำเจ้าพระยาครั้งที่ 2 ที่ท่าน้ำสี่พระยาด้วย

คดีแรก! อัยการทหารสั่งไม่ฟ้อง ‘จารุวรรณ’ คดี 112 เฟซบุ๊กบัญชีปลอมโพสต์หมิ่น

เฟซบุ๊กชื่อจารุวรรณที่ถูกระบุว่าโพสต์หมิ่นฯ

2 ก.พ.2559 ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนแจ้งว่า เจ้าหน้าที่ศาลทหารได้แจ้งกับทนายในวันนี้อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีของจารุวรรณและพวกรวม 2 คนในคดี 112 จากกรณีโพสต์หมิ่นสถาบันกษัตริย์ จำเลยทั้ง 3 คนให้การปฏิเสธและระบุว่าถูกกลั่นแกล้ง ทั้งหมดถูกคุมขังในเรือนจำ โดยจารุวรรณถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ส่วน “ชาติ” แฟนจารุวรรณ และ “บอล” เพื่อนของชาติ ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จนกระทั่งครบกำหนดฝากขัง 7 ผัด (84 วัน) ทั้งหมดจึงได้รับการปล่อยตัวในเดือนกุมภาพันธ์ 2558  (อ่านรายละเอียดที่นี่)

"ตั้งแต่หลังรัฐประหารเป็นต้นมา คดีนี้นับเป็นคดี 112 คดีแรกที่อัยการทหารสั่งไม่ฟ้อง" ทนายความกล่าว
อย่างไรก็ตาม ศศินันท์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ศาลทหารแจ้งด้วยว่าได้ทำการส่งคำสั่งไม่ฟ้องให้ทนายแล้ว แต่เธอยังไม่ได้รับเอกสารดังกล่าว

เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน อธิบายเพิ่มเติมว่า หลังทราบข่าวนี้ได้สอบถามอัยการทหารว่าจะต้องส่งเรื่องให้ ผบ.ตร.ชี้ขาดอีกครั้งเช่นเดียวกับคดีอาญาปกติหรือไม่ อัยการทหารยืนยันว่าไม่ต้องส่งเรื่องไปตามขั้นตอนดังกล่าว คดีถือเป็นที่สุดแล้ว 
ทั้งนี้ จารุวรรณ อายุ 26 ปี มีบุตร 2 คน พื้นเพเป็นชาวเพชรบูรณ์ จบชั้น ป.4 ทำงานโรงงาน อานนท์ อายุ 22 ปี จบชั้น ป.6 มีอาชีพช่างเชื่อม และไม่สามารถอ่านหนังสือได้ ส่วนชาติ อายุ 20 ปี จบป.6 เช่นกัน อาชีพทำประมง ผู้ต้องหาทั้ง 3 มีบุตรในการดูแล ครอบครัวมีฐานะยากจนและไม่มีเงินประกันตัว