วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2558

สถานการณ์ที่ UN 26 ก.ย. เมื่อฝ่ายหนุนประยุทธ์ขยายวันมาจัดชนฝ่ายต้าน

ภาพจาก Chutiphong Pipoppinyo

จากกรณีเมื่อวันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 11.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา กลุ่มคนไทยในสหรัฐฯ รวมตัวกันที่มุมถนน 47 ตัดกับถนนหมายเลขหนึ่งที่หน้าสำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น) เพื่อสนับสนุนและต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ที่อยู่ระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็น ในนิวยอร์ก
ผู้สื่อข่าว ‘ประชาไท’ ได้สัมภาษณ์ ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ นักศึกษาไทย ซึ่งศึกษาอยู่ที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ ซึ่งนั่เครืองบินจากซานฟรานซิสโก กว่า 6 ชม. มาที่นิวยอร์ก เพื่อร่วมชุมนุมประท้วงที่หน้ายูเอ็นด้วย เริ่มต้น ชุติพงศ์ เล่าว่า การชุมนุมครั้งนี้เป็นการจัดพื้นที่ให้โดยยูเอ็น ซึ่งหากใครหรือกลุ่มใดต้องการประท้วงต้องขอใบอนุญาตในการชุมนุม และจะมีการจัดพื้นที่ให้บริเวณหน้าสำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ ที่นิวยอร์ก
ฝ่ายหนุนประยุทธ์ขยายวันจัดมาวันเดียวกับฝ่ายต้าน
ทั้งนี้ ในการขออนุญาต ชุติพงศ์ กล่าวว่า ครั้งแรกฝ่ายผู้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ขออนุญาตจัดชุมนุมในวันที่ 27 ก.ย.58 แต่เมื่อทราบข่าวว่าฝ่าย ประท้วง พล.อ.ประยุทธ์ จะจัดวันที่ 26 ก.ย.58 เพียงวันเดียว ทำให้ฝ่ายที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ขอขยายวันจัดชุมนุมวันที่ 26 ก.ย. ถึงวันที่ 28 ก.ย. ด้วย (โดยคาดว่าวันที่ 27 จะเป็นวันชุมนุมใหญ่) สำหรับช่องทางที่ฝ่ายนี่ติดต่อสื่อสารกันนั้นคาดว่าจะเป็นเฟซบุ๊กของกลุ่มคนไทยในนิวยอร์ก สำหรับจำนวนคนของทั้ง 2 ฝั่งนั้น มีจำนวนเท่าๆ กันคือประมาณ 60 คน การชุมนุมเริ่มตั้งแต่ 11.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) สำหรับฝ่ายต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ นั้นอยู่ถึง 18.00 น. ซึ่งช่วงท้ายเป็นช่วงที่ ปวิน ชัชวาลพงศ์ มาจึงมีคนรออยู่ ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนนั้นยุติการชุมนุมไปก่อน
ยูเอ็นจัดพื้นที่ให้ชุมนุม มีหลายกลุ่ม
สำหรับคนที่มาจัดกิจกรรมชุมนุมประท้วงในพื้นที่ดังกล่าวนั้น ชุติพงศ์ กล่าวว่า ไม่ได้มีเพียงคนไทย ที่ขออนุญาตเข้ามาประท้วงกลุ่มใหญ่ที่สุดน่าจะเป็นฟาหลุนกง โดยล็อคที่ 1 เป็นกลุ่ม กปปส. และผู้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ล็อคที่ 2 ถัดมาเป็นฝ่าหลุนกง จัดไว้ประมาณ 5 ล็อค ต่อมาเป็นล็อคของซูดาน ล็อคถัดมาเป็นกัมพูชา ที่มาประท้วงฮุนเซน
การจัดพื้นที่ชุมนุมนั้น ชุติพงศ์ กล่าวว่าเป็นทั้งการควบคุมและการอำนวยความสะดวกในการชุมนุม ด้วยโดยมีเจ้าหน้าที่คอยบอกทางไปห้องน้ำให้ผู้ชุมนุม เนื่องจากหลายคนที่มาชุมนุมนั้นก็มีที่มาและเดินทางมาจากหลายที่ ชุติพงศ์ กล่าวถึงพื้นที่ที่ยูเอ็นจัดให้เป็นที่ชุมนุมด้วยว่า จุดดังกล่าวเป็นจุดที่ผู้นำประเทศต้องขับรถผ่าน ดังนั้นผู้นำประเทศที่มาจะต้องเห็นผู้ที่ชุมนุมประท้วง โดยทราบจากผู้ที่ร่วมชุมนุมประท้วงยืนยันว่าในช่วงหนึ่งที่ผู้นำประเทศเดินเข้าและเดินออกมาจากที่ประชุมนั้น เวลาประมาณเที่ยงเป็นช่วงเข้านั้น มีคนยืนยันว่าเป็น พล.อ.ประยุทธ์ ส่งผลให้คนทั้งฝ่ายประท้วงและฝ่ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แห่กันเข้าไป แต่ก็ไม่สามารถเข้าใกล้ได้ ใกล้สุดได้เพียงประมาณ 50 เมตร หางกันประมาณ 1 ช่วงถนน 2 เลน บวกกับทางเท้า 2 ฝั่ง
ชุติพงศ์ ยืนยันด้วยว่าไม่มีคนถูกดำเนินคดีเนื่องจากทุกคนเคารพกติกาที่ขออนุญาตไว้ โดยมีเพียงซูดานที่ใช้เครื่องเสียง ซึ่งมีคนเพียง 8-9 คน โดยช่วงที่คาดว่า พล.อ.ประยุทธ์ ผ่านมานั้น ฝ่ายต่อต้านก็มีการไปขอให้ซูดานช่วยตะโกนประท้วงให้ ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนก็ให้ช่วยเป่านกหวีดให้
ระยะห่างจากฝ่ายต่อต้านกับฝ่ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ นั้น ชุติพงศ์ กล่าว่า ไม่ห่างกันมาก สามารถได้ยินเสียงของกันและกัน ฝ่ายต้านมีการโบกมือชู 3 นิ้วให้ ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนก็มีการชูสัญลักษณ์ 3 นิ้วแบบ I love You กลับมาบ้าง ฝ่ายสนับสนุนส่งคนมาถ่ายรูปฝ่ายต่อต้าน และมีการพูดคุยแลกเปลี่ยน บางคนก็แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับฝ่ายต่อต้าน แต่ก็ชี้แจงว่าพวกเขาอยู่ที่นิวยอร์กมาก่อนที่จะมีสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง บางคนที่บอกกับตนว่าไม่ทราบสถานการณ์ของไทยเป็นอย่างไร แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผู้นำไทยมีประชุมนุมที่นิวยอร์กจึงอยากมาดู ส่วนจะจริงหรือไม่ตามที่เขาเรานั้นตนก็ไม่ทราบ
เขาอยากใช้สิทธิของเขาเข้ามาฟังเราก็ให้เขาฟัง
ชุติพงศ์ กล่าวด้วยว่าฝ่ายต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ นั้น ตอนประชุมเตรียมก่อนที่จะไปชุมนุม ก็มีความเครียดเนื่องจากเกรงว่าจะมีการปะทะกันระหว่างฝ่ายสนับสนุนกับฝ่ายต่อต้านหรือไม่ พยายามหลีกเลี่ยงโดยการจัดต่างวันแล้ว แต่ฝ่ายสนับสนุนก็ขอขยายเวลามาชนวันอีก แต่เมื่อชุมนุมจริงๆ บรรยากาศก็โอเค มีการถ่ายรูปกันและกัน ขณะที่คนที่ไม่พร้อมคุยก็ไม่คุยเท่านั้น
“คนที่โอเคหน่อยก็บอกว่าก็ไม่เป็นไรก็เป็นสิทธิของเขา เขาอยากใช้สิทธิของเขาเข้ามาฟังเราก็ให้เขาฟัง ก็ให้เขาถ่ายรูปไป ฝั่งเราก็ไปถ่ายรูปในฝั่งเขา ตอนแรกก็กลัวว่าฝั่งนั้นจะทำอะไรเปล่า ก็ไม่ครับ ได้ธงชาติดกลับมาอันหนึ่ง” ชุติพงศ์ กล่าวถึงเหตุการณ์ที่ฝ่ายสนับสนุนและต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิสัมพันธ์กันระหว่างชุมนุมหน้ายูเอ็น
ฝ่ายประท้วงประยุทธ์ประเด็นรวมมิตร-ฝ่ายหนุนหวังสงบสุขปราบคอรัปชั่น
สำหรับประเด็นฝ่ายต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ นั้น ชุติพงศ์ กล่าวว่า มีประเด็นความไม่ชอบธรรมทางกระบวนการในการขึ้นสู่อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ การการบริหารงานไม่ได้เป็นไปตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาคม และละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะเรื่องการเอาประชาชนขึ้นศาลทหาร โดย มีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ประกอบด้วย หนึ่ง คืนอำนาจให้ประชาชนคนไทยโดยเร็ว โดยนำรัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งเป็นของประชาชนกลับมาใช้ แล้วมีการเลือกตั้งโดยเร็ว สอง หยุดลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยให้เคารพสิทธิมนุษยชนของพลเมืองไทย สาม ทหารกินเงินเดือนจากภาษีประชาชนต้องเป็นองประชาชนเพื่อประชาชนเท่านั้น
ภาพจาก Chutiphong Pipoppinyo
ชุติพงศ์ กล่าวด้วยว่า คนที่มาประท้วงพล.อ.ประยุทธ์ นั้น มีความหลากหลาย ส่วนหลักเป็นส่วนที่เคยเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่ม นปช. โดยจะมีคนที่เข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มย่อยเวทีอิสระอย่างกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย กลุ่มนักศึกษาทั้งที่เคยเคลื่อนไหวกับ สนนท. นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มที่ไม่ได้มาจากสายการเมืองมาก โดยจะมีป้ายของตนเองมาทำให้ประเด็นมีความหลากหลาย ทั้งประเด็นละเมิดสิทธิอย่างกรณีประเด็นสื่อประเด็นประวิตร โรจนพฤกษ์ ป้ายประเด็นของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ป้าย NO 112 ป้ายไม่เอา ม.44  และประเด็นสิทธิมนุษยชน โดยหากเป็นกลุ่มที่เป็นการเมืองมากๆ ก็จะชูประเด็นไม่เอาประยุทธ์ รวมไปถึงประเด็นโครงการพัฒนาของรัฐตางๆ เช่นประเด็นเรื่องเหมืองทอง เหมืองแร่เมืองเลย ประเด็นเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ การเวนคืนที่ดิน ฯลฯ เป็นประเด็นค่อนข้างรวมมิตรมาก
ขณะที่ฝ่ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ นั้น ชุติพงศ์ ระบุว่า จะเน้นการให้กำลังใจและเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะทำให้ประเทศกลับสู่ภาวะสงบสุขได้ และใช้อำนาจที่มีทำให้จัดการปัญหาคอรัปชั่น เป็นต้น รวมทั้งมีการประท้วงยิ่งลักษณ์และทักษิณด้วย
สภาพจริงชุมนุมต่างจากในเฟซบุ๊ก-ชี้ประชาธิปไตยทำให้เราฟังกัน
ชุติพงศ์ กล่าวถึงสภาพการถกเถียงในเฟซบุ๊กกับสภาพชุมนุมจริงว่า คนที่มาคอมเมนต์ก็คอมเมนต์โดยความสัมพันธ์เชิงปัจเจคมันอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ทางการเมืองมันยังมีพลังอยู่อย่างที่ผมก็คิดไม่ถึง เพราะอย่างที่ซานฟรานซิสโกนั้นคุยไม่ได้เลย แต่ว่าที่นี่(นิวยอร์ก)เขาค่อนข้างจะเปิดมากๆ เดินมาถ่ายรูปคู่ก็มี
ดารุณี กฤตบุญญาลัย ถ่ายคู่กับผู้ชุมนุมสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ภาพจาก Chutiphong Pipoppinyo
“เหมือนเด็กจบจากสถาบันที่เคยทะเลาะกันแล้ว แล้วมาเจอหน้ากันตอนโตแล้ว” ชุติพงศ์ กล่าวถึงสภาพการชุมนุมระหว่าง 2 กลุ่ม
“มีบล็อกเฟซบุ๊กของคนที่มาคอมเมนต์ในเฟซบุ๊กก็จริง แต่พอมาเจอกันจริงๆ ก็ผิดคาด แต่ก็มีคนที่บอกว่า ‘รักเผด็จการก็กลับไทยไปสิ’ มีคนตะโกนแบบนี้ แต่ก็มีคนตะโกนบอกว่า ‘เฮ้ย เขาก็ใช้สิทธิของเขาไง เพราะว่าประชาธิปไตยทำให้คนมีสิทธิ’ ผมก็พูดเหมือนกันว่าเขาอยากรู้ว่าเราพูดอะไรก็ให้เขามาฟัง” ชุติพงศ์ เล่าบรรยากาศการชุมนุมดังกล่าวเพิ่มเติม พร้อมระบุด้วยว่าหลังจากที่มีการแลกเปลี่ยนกันภายในฝ่ายต่อต้านพล.อ.ประยุทธ์ ก็เปิดโอกาสให้ฝ่ายสนับสนุนเข้ามาถ่ายรูปและฟังสิ่งที่ฝ่ายต่อต้านนำเสนอข้อมูลได้ 

หนุนประยุทธ์หน้ายูเอ็นวันที่ 2 คลีนคนชั่วออกแผ่นดินไทย-ตัดคอพวกคดโกง



 

เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘กปปส นิวยอร์ค PDRC NY’ โพสต์วิดีโอคลิปสัมภาษณ์ผู้ชุมนุมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่บริเวณหน้า สำนักงานองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) วันที่ 27 ก.ย. 2558 ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของการชุมนุมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์
“มาสนับสนุนท่านนายกฯ เพื่อให้ท่านคลีนพวกชาติชั่วออกไปจากแผ่นดินไทยให้หมด ตัดคอมันเลย คนไหนคดโกงแผ่นดิน” ผู้ชุมนุมสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ท่านหนึ่งกล่าว พร้อมระบุว่าจะมาชุมนุมทั้ง 3 วัน

 

เลขาฯยูเอ็นกังวลพื้นที่ปชต.ไทยแคบลง ประยุทธ์คุยประกาศเลือกตั้งกลางปี60


28 ก.ย. 2558 กรุงเทพธุรกิจเดลินิวส์โพสต์ทูเดย์และข่าวสดออนไลน์ รายงานตรงกันว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา เวลา 18.20 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. หารือทวิภาคีกับ บัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ
พล.ต. วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ทั้งสองฝ่ายกล่าวยินดีที่ได้พบหารือกันอีกครั้งหลังจากได้พบกันที่เมืองเซนได ญี่ปุ่น เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณเลขาธิการสหประชาชาติที่เชิญให้มาเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ และรู้สึกยินดีกับการครบรอบการก่อตั้งสหประชาชาติเป็นปีที่ 70 ในปีนี้
สำหรับสถานการณ์การเมืองไทย พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า การดำเนินการต่างๆ ตามกรอบระยะเวลา (Roadmap) นั้นเป็นกระบวนการสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมไทย และเพื่อให้ไทยได้ทำหน้าที่สมาชิกสหประชาชาติได้อย่างเต็มศักยภาพยิ่งขึ้น และจากการที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ คสช. จะตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นคณะหนึ่ง ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ สปช. ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ภายใน 180 วัน และจัดให้มีการลงประชามติ ซึ่งหากประชาชนเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดังกล่าว ก็จะดำเนินการยกร่างกฎหมายลูกประกอบการเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศการเลือกตั้งทั่วไปได้ภายในกลางปี 2560
เดลินิวส์ รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า บัน คี มูน ได้กล่าวต่อ พล.อ.ประยุทธ์ แสดงความกังวลถึงการที่พื้นที่แห่งประชาธิปไตยในไทยแคบลง โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นการในการรักษาเสรีภาพแห่งการแสดงออกและการชุมนุม นอกจากนี้ เลขาธิการยูเอ็นกล่าวแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ระเบิดบริเวณศาลท้าวมหาพรหมในกรุงเทพฯ รวมถึงขอบคุณประเทศไทยที่ได้แสดงบทบาทนำในการประสานการแก้วิกฤติผู้อพยพที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมกับส่งเสริมชาติสมาชิกประชาคมอาเซียนให้ร่วมกันหามาตรการป้องกันปัญหาดังกล่าวด้วย อีกทั้งแสดงความยินดีที่ไทยได้เป็นประธานกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา หรือจี 77 สำหรับวาระปี 2559
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่าก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา ระหว่างการเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ  พล.อ.ประยุทธ์ เคยเปิดเผยกับต่างประเทศเรื่องจัดเลือกตั้ง โดยว่าคาดว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งได้ในช่วงต้นปี 2559

ม.เที่ยงคืน เรียกร้องสังคมร่วมกดดันกระบวนการร่าง 'รัฐธรรมนูญ' เปิดกว้าง-โปร่งใส


ม.เที่ยงคืนประกาศ 10 ชื่อสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในฝันที่ได้รับการเสนอมากที่สุด ระบุคงไม่ถูกเลือกไปร่างเหมือนคนที่รับใช้รัฐประหาร พร้อมเรียกร้องให้สังคมร่วมกันเรียกร้องและกดดันเพื่อทำให้กระบวนการในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญต้องกลับมาอยู่ในมือของประชาชน โปร่งใส เปิดกว้างและรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย
28 ก.ย. 2558 หลังมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนชวนประชาชนเสนอชื่อ “สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในฝัน” ตั้งแต่วันที่ 14 - 21 กันยายน 2558 ทางเพจเฟซบุ๊ก รัฐธรรมนูญในฝัน ล่าสุด มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนประกาศชื่อผู้ได้รับการเสนอมากที่สุด 10 ราย พร้อมเรียกร้องให้สังคมร่วมกันเรียกร้องและกดดันเพื่อทำให้กระบวนการในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญต้องกลับมาอยู่ในมือของประชาชน รวมทั้งทำให้กระบวนการดังกล่าวต้องดำเนินการไปอย่างโปร่งใส เปิดกว้างและรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายในสังคมไทย ไม่ว่าจะมีความคิดที่แตกต่างกันมากหรือน้อยเพียงใดก็ตาม

ประกาศมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เรื่อง รายชื่อสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในฝัน
ตามที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้เชิญชวนให้มีการเสนอรายชื่อบุคคลที่แต่ละท่านมีความเห็นว่าสมควรที่จะเข้ามาทำหน้าที่ “สภาร่างรัฐธรรมนูญในฝัน” มายังมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนนั้น ปรากฏว่าได้มีการเสนอรายชื่อบุคคลเข้ามาและทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ดำเนินการรวบรวมรายชื่อบุคคลจำนวน 10 คน ที่ได้มีการเสนอเข้ามาเป็นจำนวนมากที่สุดและมีคุณสมบัติครบถ้วน ซึ่งประกอบไปด้วยรายชื่อดังต่อไปนี้
  • 1. เกษียร เตชะพีระ
  • 2. คณิน บุญสุวรรณ
  • 3. จาตุรนต์ ฉายแสง
  • 4. นิธิ เอียวศรีวงศ์
  • 5. พนัส ทัศนียานนท์
  • 6. วรเจตน์ ภาคีรัตน์
  • 7. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
  • 8. สุขุม นวลสกุล
  • 9. สุลักษณ์ ศิวรักษ์
  • 10. สมบัติ บุญงามอนงค์
ซึ่งหากพิจารณาจากรายชื่อที่ได้มีการเสนอเข้ามา ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมีความเห็นดังต่อไปนี้
ประการแรก รายชื่อของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในฝันจะประกอบไปด้วยกลุ่มคน 3 กลุ่ม คือ นักวิชาการ นักการเมือง และนักกิจกรรมทางสังคม โดยบุคคลทั้งหมดที่ได้มีการเสนอชื่อเข้ามาล้วนแต่เป็นผู้ที่ได้แสดงให้เห็นมาอย่างชัดเจนว่าเป็นผู้ที่ยึดมั่นในหลักการของระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งเป็นผู้ที่ได้แสดงความเห็นต่อสาธารณะด้วยการใช้เหตุผลและปัญญามาอย่างต่อเนื่อง จึงนับว่าเป็นบุคคลที่สามารถจะมีบทบาทในการร่างรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตาม
ประการที่สอง เป็นที่ชัดเจนว่าบุคคลทั้ง 10 คน ที่ได้ถูกเสนอชื่อผ่านมายังมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะไม่ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ หากเปรียบเทียบกับรายชื่อที่ทางผู้มีอำนาจได้เสนอชื่อออกมาต่อสาธารณชนก็จะพบเห็นถึงความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ไม่เพียงเฉพาะในด้านของความรอบรู้ การยึดมั่นต่อหลักการระบอบประชาธิปไตย หากยังรวมไปถึงภูมิหลังและเกียรติประวัติในการทำงาน ซึ่งเห็นได้อย่างประจักษ์ว่าคณะบุคคลที่กำลังถูกคัดเลือกโดยผู้มีอำนาจนั้น มีคุณสมบัติสำคัญประการหนึ่งก็คือการรับใช้ต่อผู้ที่ได้กระทำการรัฐประหารเป็นสำคัญ
ประการที่สาม ในท่ามกลางที่สังคมไทยมีความขัดแย้งที่สลับซับซ้อนและดำรงอยู่มาอย่างยาวนานเกินกว่าทศวรรษ กระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่อยู่ในมือของกลุ่มคนอันคับแคบย่อมไม่สามารถนำพาสังคมไทยให้หลุดพ้นไปจากสถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างแน่นอน การร่างและการจัดทำรัฐธรรมนูญที่เป็นไปเพื่อตอบสนองต่ออุดมการณ์และผลประโยชน์ทางการเมืองเฉพาะกลุ่มเฉพาะฝ่ายด้วยการใช้อำนาจ มีแต่จะทำให้สังคมไทยต้องจมดิ่งลงไปสู่ความเลวร้ายมากยิ่งขึ้น
ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนก็ไม่ได้ยืนยันว่าบุคคลทั้ง 10 คนนี้จะต้องเป็นตัวแทนในการมีบทบาทต่อการร่างรัฐธรรมนูญ หากการแสดงความเห็นที่ปรากฏขึ้นก็เพียงต้องการสะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินการนับตั้งแต่ภายหลังการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ก็ล้วนแต่เป็นการดำเนินการในระหว่างผู้มีอำนาจโดยมิได้สัมพันธ์กับความปรารถนาของประชาชนแต่อย่างใด
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอเรียกร้องให้สังคมร่วมกันเรียกร้องและกดดันเพื่อทำให้กระบวนการในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญต้องกลับมาอยู่ในมือของประชาชน รวมทั้งทำให้กระบวนการดังกล่าวต้องดำเนินการไปอย่างโปร่งใส เปิดกว้างและรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายในสังคมไทย ไม่ว่าจะมีความคิดที่แตกต่างกันมากหรือน้อยเพียงใดก็ตาม
ประกาศ ณ วันที่ 28 กันยายน พุทธศักราช 2558
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

เผยส่งออกส.ค. 58 ลบต่อเนื่อง 8 เดือน - หุ้นร่วง 24.70 จุด รับข่าว


28 ก.ย. 2558 สมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยยอดการส่งออกของไทยในเดือนสิงหาคม 2558 พบว่ามีมูลค่า 17,669 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 6.69 ส่งผลให้ยอดการส่งออกในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.- ส.ค.58) มีมูลค่า 142,747 ล้านเหรียญสหรัฐ  ลดลงร้อยละ 4.92 ซึ่งยอดส่งออกในเดือนสิงหาคมที่ติดลบดังกล่าว ถือเป็นตัวเลขติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 แล้ว
ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 16,948 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 4.77 ทำให้ยอดการนำเข้าในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.58) มีมูลค่า 137,783 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 8.18 ส่งผลให้ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ไทยยังคงเกินดุลการค้าอยู่ 4,964 ล้านเหรียญสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่มีผลกระทบให้การส่งออกของไทยหดตัวต่อเนื่อง ได้แก่ภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักในปัจจุบันยังคงชะลอตัว โดยเฉพาะสหรัฐ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและจีน ส่งผลให้การนำเข้าของเกือบทุกประเทศทั่วโลกยังคงหดตัว นอกจากนี้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงชะลอตัวต่อเนื่องโดยในระยะ 8 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ราคาน้ำมันดิบลดลงถึงร้อยละ 46.9 แล้ว รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรโลกปรับตัวลดลงมากโดยราคาข้าวลดลงร้อยละ 8.5 ยางพาราลดลงร้อยละ 19.7 และน้ำตาลลดลงร้อยละ 8.6 ส่งผลให้ไทยแม้ว่าส่งออกในปริมาณไม่ต่ำกว่าเดิมแต่มูลค่าส่งออกลดลงมาก
หุ้นไทยร่วง 24.70 จุด รับข่าวลบส่งออกเดือนส.ค.ลดลงแรงกว่าคาด
ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยวันนี้ (28 ก.ย.) ปิดที่ระดับ 1,352.13 จุด ลดลง 24.70 จุด หรือร้อยละ 1.79 มูลค่าการซื้อขาย 28,591.40 ล้านบาทตลาดหุ้นไทยปรับลงแรงในภาคบ่าย มีแรงขายออกมาในหุ้นขนาดใหญ่กลุ่มแบงก์ พลังงาน และสื่อสาร
กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทย เป็นไปตาม บรรยากาศจากต่างประเทศที่ปรับลดลง รวมทั้งตัวเลขการส่งออกเดือนส.ค.ของไทยก็ออกมาไม่ดีด้วย ติดลบร้อยละ 6.7 มากกว่าที่ตลาดคาดไว้ จึงทำให้ดัชนีฯแกว่งตัวลง ซึ่งก็ลงมาใกล้เคียงกับตลาดในกลุ่ม TIP โดยตลาดฟิลิปปินส์ติดลบร้อยละ 1.47 ตลาดหุ้นไทยติดลบ ร้อยละ1.44 และตลาดอินโดนีเซียติดลบกว่า ร้อยละ 2