17 พ.ค. 2557 สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) จัดงานเสวนา "เลือกตั้ง=ทางออก นายกฯเถื่อนคือทางตัน" ณ อาคารบรรยายรวม 4 (บร.4) ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ช่วง “วิพากษ์นักสร้างสุญญากาศ" ถาม-ตอบประเด็นกฎหมาย โดย วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และ ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติราษฎร์ ตอบคำถามว่าด้วยพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง บทบาทประธานวุฒิฯ ในการเสนอนายกฯใหม่ ประเด็นอย่าใช้กฎหมายเคร่งครัด และทำไมต้องเลือกตั้งต่อ
ปิยบุตร: ระยะหลังคนพยายามอธิบายกฎหมายเพื่อนำสู่สุญญากาศทางการเมืองนำสู่การได้นายกฯเถื่อน หากย้อนดูคนกลุ่มนี้วาดแผนทางเดินสู่สุญญากาศมานานแล้ว และปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หากสำเร็จจะเกิดรัฐประหารที่แปลกที่สุดในไทย คือ มีการสมคบคิดกันระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญบางองค์กรและกปปส. จนเกิดนายกฯเถื่อน
ตั้งแต่การเสนอร่าง พ.รบ. ชุมนุมจนรัฐบาลถอยสุดซอย จนมีแรงกดดันให้ยุบสภาฯ เมื่อยุบสภาฯ ในวันที่ 9 ธ.ค.56 และกำหนดเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 นักสร้างสุญญากาศจึงสร้างแผนทางเดินขึ้นใหม่ เปลี่ยนไปกดดันไม่เอาการเลือกตั้ง
สปป.เองเกิดขึ้นเพื่อรณรงค์การเลือกตั้ง แต่ที่ผ่านมาก็จะพบความพยายาม กกต.ขอเลื่อนเลือกตั้ง ชุมนุมกดดัน ล้อมคูหา จนเมื่อเลือกตั้งสำเร็จ ต่อมาเกมถูกผลักไป กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งจนจบเพื่อให้ได้ ส.ส. และเปิดสภาฯ มุกใหม่ต่อมาคือการร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ จนศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ขั้นต่อไป มีคำวินิจฉัยให้นายกฯรักษาการออกจากตำแหน่งไปด้วย หรือที่สื่อตั้งฉายา "รัฐบาลหัวขาด" ต่อด้วยการอธิบายว่าหัวขาดเป็นปัญหา วิกฤตเศรษฐกิจรุมเร้า ต้องการรัฐบาลอำนาจเต็ม เกิดการอธิบายให้ประธานวุฒิสภาเสนอบุคคลภายนอก เป็นรัฐบาลรักษาการ
ที่น่าแปลกใจคือ บอกว่า รัฐบาลไม่มีอำนาจเต็ม เศรษฐกิจรุมเร้า แต่กลับจะเลือกรัฐบาลอำนาจเต็มโดยไม่มาจากการเลือกตั้ง ปัญหาคือ สิ่งที่ทำให้รัฐบาลไม่มีอำนาจเต็มก็เพราะการกระทำของพวกเขา
จริงๆ แล้วสิ่งที่เขาแสวงหาสุญญากาศ แก่นของเรื่องอาจไม่ใช่เรื่องกฎหมาย แต่เอากฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อบอกว่าทำตามกฎหมาย แต่เมื่อกฎหมายไม่เข้าทางก็บอกว่าอย่าไปถือมันมาก
ดังนั้นวันนี้ต้องวิจารณ์กลับว่าสิ่งที่บรรดานักกฎหมาย ส.ว.บางท่านพยายามเสนอเอาเข้าจริงปฏิบัติได้หรือไม่ รัฐธรรมนูญอนุญาตแค่ไหนเพียงใด
พระราชกฤษฎีกายุบสภาฯ ส่วนกำหนดวันเลือกตั้ง
ในการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ อำนาจเสนอ พ.ร.ฎ.ให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย เป็นอำนาจฝ่ายบริหาร ครม. หรือ กกต.?
วรเจตน์: ตามกฎหมาย คนที่ลงนามสนองพระราชโองการคือนายกฯ หรือรมต.คนใดคนหนึ่ง นั่นคืออำนาจในการกำหนดอยู่ที่ฝ่ายบริหารไม่ใช่ กกต. เพียงแต่เพื่อความสะดวก ครม. อาจหารือกับ กกต. หาวันที่เหมาะสมในการจัดการเลือกตั้ง ในที่สุดหากตกลงกันไม่ได้ อำนาจจะอยู่ที่ฝ่ายบริหาร โดยรักษาการนายกฯ หรือปฏิบัติราชการแทนนายกฯ สามารถนำร่าง พ.ร.ฎ.ทูลเกล้าพระมหากษัตริย์ให้ทรงลงพระปรมาภิไธยได้ แล้ว กกต. จัดการเลือกตั้ง ตามวันที่กำหนดไว้
ประเด็นนี้ รักษาการนายกฯ คือยิ่งลักษณ์ พ้นจากตำแหน่งรักษาการนายกฯ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ขึ้นมาเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ จะทูลเกล้าฯ ได้ไหม?
วรเจตน์: การยุบสภาต้องเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งหมายความว่าต้องมีการลงนามสนองพระบรมราชโองการ ในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ในมาตรา 195 ว่าบทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น แปลว่ารัฐมนตรีต้องลงนามรับสนองฯ รัฐธรรมนูญไม่ได้บอกว่า ถ้าเป็น พ.ร.ฎ.ยุบสภาฯ ต้องมี กกต.หรือประธาน กกต. ร่วมลงนามรับสนองพระบรมราชโองการด้วย เพราะพ.ร.ฎ.ฉบับนี้อาจจะกำหนดให้นายกฯกับประธาน กกต. รักษาการตามกฎหมายร่วมกัน แต่ตำแหน่งที่ลงนามนั้นมีตำแหน่งเดียวคือ นายกฯ หรือหากไม่มีนายกฯ ก็อาจเป็นรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งที่อยู่ในคณะรัฐมนตรีนั้น ไม่มีตรงไหนบอกเลยว่า กกต. นำขึ้นทูลเกล้าได้เอง ชัดเจนว่าเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร หาก กกต.มั่นใจว่ามีอำนาจจริงให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ จะได้รู้ว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
กกต.พยายามอธิบายว่าก่อนที่รักษาการนายกฯ จะเสนอให้ทรงลงพระปรมาภิไธย ต้องผ่านความเห็นชอบ ขอความเห็น กกต.ก่อน?
วรเจตน์: ถ้าจะเป็นเช่นนั้น ต้องมีบทกฎหมายบัญญัติว่าก่อนจะนำ พ.ร.ฎ.ขึ้นทูลเกล้าฯ ต้องได้รับความเห็นชอบจาก กกต. หากเปรียบเทียบกัน กรณีรักษานายกฯ จะโยกย้ายข้าราชการ รัฐธรรมนูญจะเขียนไว้ว่าต้องขอความเห็นชอบ กกต. ก่อน แต่กรณี พ.ร.ฎ.ยุบสภาไม่มี เมื่อไม่มี จะอ้างว่าต้องขอความเห็นชอบจาก กกต.ก่อนเป็นไปไม่ได้ ในทางปฏิบัติคือแค่หารือ แต่เมื่อหารือแล้วไม่จบ ต้องมีการตัดสินใจให้เรื่องจบ คือต้องกำหนดวันเลือกตั้งขึ้นมาใหม่ให้ได้ กรณีนี้ฝ่ายบริหารก็ต้องทำไป
ปิยบุตร: การกำหนดวันเลือกตั้ง 20 ก.ค. ไม่มีที่ไหนกำหนดว่าต้องเป็นวันนี้ วันที่ 20 เป็นวันที่ กกต.เสนอ จริงๆ แล้วรัฐบาลเสนอก่อนหน้านั้นอีก แต่ กกต.ยืนยันว่าไม่ทัน แต่วันนี้ กกต.ก็บอกอีกว่า ไม่ได้แล้ว ดังนั้น ความเห็นอาจารย์คือ ถ้ารัฐบาลยืนยันว่าจะเลือก 20 ก็เสนอได้เลย? แล้วถ้า กกต.ท้วงติงว่าวันหนึ่งข้างหน้าจะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ต้องล้มเลือกตั้งอีก จะทำอย่างไร
วรเจตน์: ประเทศไทยมาถึงจุดที่โต้แย้งกันทางกฎหมาย และเราไม่สามารถคาดเดาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ เป็นไปได้ที่จะส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ แล้วศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าต้องไปขอความเห็นชอบจาก กกต.ก่อน ซึ่งก็จะเป็นการวินิจฉัยที่ขัดรัฐธรรมนูญอีกกรณีหนึ่ง แต่นั่นเป็นการวินิจฉัยที่เกิดขึ้นข้างหน้า แต่เราต้องยืนยันว่าหลักที่ถูกต้องเป็นอย่างไร
เมื่อศาลวินิจฉัยให้ยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่งนายกฯ เกิดคำถามว่า รองนายกฯ มีอำนาจเสนอร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยและเป็นผู้ลงนามรับสนองฯ ไหม
วรเจตน์: ในทางรัฐธรรมนูญ พอยุบสภาฯ ครม.จะกลายเป็น ครม.รักษาการ คือพ้นจากตำแหน่งพร้อมกันทั้งคณะ แต่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ ครม.ที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมี ครม.ชุดใหม่ เรื่องที่เกิดขึ้นคือ มีการเอารักษาการนายกฯ ออกจากตำแหน่งระหว่างเป็นนายกฯ รักษาการ ซึ่งว่าไปแล้วกฎหมายไทยไม่ได้เขียนรองรับไว้ชัดเจน ในมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 บัญญัติว่าในระหว่างที่ ครม.ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่า นายกฯชุดใหม่จะรับหน้าที่ เนื่องจากนายกฯตาย ขาดคุณสมบัติ ต้องคำพิพากษาให้จำคุก สภาผู้แทนฯ มีมติไม่ไว้วางใจ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ สิ้นุสดลง (กรณีปัจจุบัน) หรือวุฒิสภามีมติให้ออกจากตำแหน่ง ให้ ครม.มอบหมายให้รองนายกฯ คนใดคนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองนายกฯ หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการแทนได้ ให้ ครม.มอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน จะเห็นว่าสภาวะที่เกิดขึ้นแบบนี้ ซึ่งเกิดขึ้นได้ เมื่อ ครม.ยังอยู่ ก็จะมีคนปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกฯ อำนาจหน้าที่ของนายกฯ ก็จะอยู่ที่คนปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ ตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน เพราะฉะนั้น จะไม่เกิดการบอกว่านิวัฒน์ธำรงไม่มีอำนาจเสนอร่าง พ.ร.ฎ.
หากตีความแบบที่ฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยพยายามอธิบายเพื่อสร้างสุญญากาศ จะพบว่าเป็นการตีความที่ประหลาด คิดดูว่าหากนายกฯตายไปสักคน ประเทศจะทำอะไรต่อไปไม่ได้เลย ไม่มีการตีความกฎหมายแบบไหนที่จะทำให้เกิดผลประหลาดเช่นนั้นได้
ให้นิวัฒน์ธำรงจัดการเรื่องอื่นได้ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว แต่ทูลเกล้าฯ พ.ร.ฎ.ไม่ได้?
ปิยบุตร: มาตรา 195 ระบุว่า ตัวบทกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ไม่ได้เขียนว่าต้องเป็นนายกฯ หรือรัฐมนตรีคนใด ขอเพียงให้อยู่ในชุดนั้น กรณีล่าสุดคือ เมื่อพรรคพลังประชาชนถูกยุบ กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิ์การเมือง 5 ปี ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ตัวนายกฯ คือสมชาย ไม่อยู่แล้ว ชวรัตน์ในฐานะรองนายกฯ เป็นผู้ลงนามรับสนองใน พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ จะเห็นว่ามีธรรมเนียมปฏิบัติและตัวบทกฎหมายชัดเจน
พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ สามารถเพิ่มบทกำหนดให้ กกต.เลื่อนการเลือกตั้ง?
วรเจตน์: ถ้าพูดให้ถูกต้องคือ ไม่มี พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้ง ที่พูดกัน ที่จริงคือ พ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ฎ.การยุบสภาผู้แทนราษฎร ในส่วนที่กำหนดวันเลือกตั้ง โดยในรัฐธรรมนูญเขียนชัดเจนว่ากรณียุบสภา ให้ออกเป็น พ.ร.ฎ. และกำหนดวันเลือกตั้งทั่วราชอาณาจักร กำหนดเท่านี้ ไม่เคยมีข้อความอื่นเพิ่มเติม เพราะในทางกฎหมาย คือคำสั่งของประมุขของรัฐสั่งให้สมาชิกภาพของสภาฯ สิ้นสุดลงพร้อม ครม. และตั้งวันเลือกตั้งขึ้นใหม่
ส่วนกรณีเกิดเหตุไม่สามารถลงคะแนนได้ จะอยู่ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่จะกำหนดให้ กกต.เลื่อนการออกเสียงลงคะแนนออกไป เช่นเดียวกับที่ กกต.ใช้เมื่อ 2 ก.พ. เพราะฉะนั้นการเลื่อนออกเสียงลงคะแนนเพราะเหตุสุดวิสัยมีบัญญัติไว้แล้ว การที่ กกต.ต้องการกำหนดมาตรานี้ในพ.ร.ฎ.เพราะ กกต.ต้องการได้อำนาจเลื่อนการเลือกตั้งออกไปไม่รู้จบ
การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในโลกหลายแห่ง ประเทศที่มีความขัดแย้งพยายามไปสู่การเลือกตั้งและพยายามจัดการเลือกตั้งให้ได้ จัดส่วนที่ทำได้ไปก่อน แล้วค่อยเติมเต็มส่วนที่จัดไปแล้ว มีเพียงไทยที่วิปริตพิสดาร เอาส่วนน้อยไปทำลายส่วนใหญ่
กรณีนี้ล้อมาจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่าถ้าเลือกพร้อมกันไม่ได้ ต้องเลื่อนหมด เป็นการเพิ่มเติมเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์แบบเดิมเกิดขึ้นอีก เป็นความหวังดี?
วรเจตน์: จะใช้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นหลักไม่ได้ ถ้าเอามาเป็นเกณฑ์ต่อไปจะทำให้การทำเรื่องนี้เป็นเรื่องง่าย เราต้องเพิ่มความพยายามในการทำลาย ต้องให้เขาส่งศาลรัฐธรรมนูญ ให้ศาลรัฐธรรมนูญเปิดเผยความคิดต่อชาวโลก
ถ้าเขาจะล้มการเลือกตั้งอีก ต้องให้เขาใช้ความพยายามอีก ให้เปิดเผยตัวตนออกมา
บทบาท "ประธาน" วุฒิสภา
การลงมติเลือกประธานวุฒิสภาในการประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 9 พ.ค.2557 ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญหรือไม่
วรเจตน์: ไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐสภาประกอบด้วยสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา เวลารัฐสภาประชุม จะประชุมร่วมกัน หรือแยกกันจะเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เช่น แก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องใหญ่ ต้องประชุมร่วมกัน บางกิจการประชุมแยกกัน เช่น การตรา พ.ร.บ. เริ่มจากที่ประชุมสภาผ้แทนราษฎรก่อน ตามด้วยที่ประชุมวุฒิสภา
วุฒิสภาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสภา รัฐธรรมนูญ มาตรา 132 ระบุว่า ระหว่างที่อายุของสภาผู้แทนฯ สิ้นสุดลงหรือถูกยุบ จะประชุมวุฒิสภาไม่ได้ เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้ ...
ดังนั้น หากสภาผู้แทนฯ ไม่อยู่แล้วจะประชุมวุฒิสภาไม่ได้ ยกเว้นกิจการบางเรื่อง กรณีการประชุมวุฒิที่ผ่านมาจะเห็นว่า พ.ร.ฎ.เรียกประชุมสมัยวิสามัญ กำหนดกิจการที่จะทำไว้ชัดเจน กรณีนี้ ระบุให้ประชุมระหว่างไม่สภา โดยให้เรียกประชุม เพื่อทำหน้าที่พิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการตุลาการศาลปกครอง และกรรมการ ป.ป.ช. แต่วุฒิสภากลับทำเรื่องอื่นคือเลือกประธานวุฒิสภา
การเลือกสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย นอกเหนือจากการประชุมฯ ที่กำหนด จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
เมื่อกระบวนการเลือกตั้งประธานวุฒิสภา ขัดกับกฎหมาย นิวัฒน์ธำรงจึงไม่สามารถนำขึ้นทูลเกล้าได้ ไม่ใช่เพราะนิวัฒน์ธำรงไม่ใช่นายกฯตัวจริง แต่เพราะกระบวนการเลือกประธานวุฒิสภา ขัดรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง หากคุณสุรชัยหรือ ส.ว.สงสัยก็ให้หาช่องทางร้องศาลให้ชี้มา
สิ่งที่ทำอยู่นี้จึงไม่ใช่ในนามวุฒิสภา แต่เป็นคณะบุคคล เป็นการประชุมนอกรอบเท่านั้น
ประธานวุฒิสภามีอำนาจแต่งตั้งนายกฯหรือไม่/ เป็นไปได้หรือไม่ ที่นายกฯ จะมาจากบุคคลที่ไม่ได้เป็น ส.ส.และไม่ได้มาจากความเห็นชอบของ ส.ส.
วรเจตน์ : รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้ประธานวุฒิสภาลงนามสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกฯ ประธานวุฒิสภาจึงไม่มีอำนาจเสนอ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็กำหนดชัดเจนให้นายกฯต้องแต่งตั้งจาก ส.ส. ตอนนี้เมื่อไม่มี ส.ส. ก็แก้ด้วยการทำให้มี ส.ส. เสีย
ปิยบุตร: เป็นเรื่องน่าแปลก ที่บอกว่าคนเสนอร่าง พ.ร.ฎ.เลือกตั้งใหม่ต้องเป็นนายกฯเท่านั้น แต่พอจะเสนอคนเป็นนายกฯ กลับเป็นเรื่องอนุโลม
ตอนนี้กระแสมาตรา 7 เริ่มตก ล่าสุด มีการอธิบายว่า พอ ครม.ไป นายกฯไป ไม่มีสภา ถึงเวลาที่วุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่แทนสภาฯ เข้ามาเลือกนายกฯ โดยอนุโลม โดยที่ประชุม ทปอ.อ้างมาตรา 180 รมต.ทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งเมื่อนายกฯพ้นไป ซึ่งตอนนี้เกิดขึ้นแล้ว และบอกว่าในกรณีที่ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ สิ้นสุดลงให้ดำเนินการตามมาตรา 172 และ 173 "โดยอนุโลม" คือให้สภาเลือก ส.ส.คนอื่นเป็นนายกฯ และให้ประธานสภาฯ เสนอชื่อนายกฯ ไป ดังนั้นโดยอนุโลม เมื่อไม่มี ส.ส. ประธานสภาฯ แล้ว ก็ให้วุฒิสภาเลือกโดยอนุโลม?
วรเจตน์: อนุโลมได้มั่วมาก เพราะจริงๆ แล้ว เมื่อพูดเรื่องแต่งตั้งนายกฯ รัฐธรรมนูญปัจจุบันระบุการได้มาซึ่ง นายกฯ ชัดเจน สืบเนื่องจากเหตุการณ์ พ.ค.35 เพราะก่อนหน้านั้นกระบวนการได้มาซึ่งนายกฯ ไม่ได้เขียนไว้ชัดเจน ประธานสภาฯ ไปซาวน์เสียงเอาและกระทำกันอย่างไม่เป็นทางการ และไม่ได้กำหนดว่านายกฯต้องมาจาก ส.ส. ทำให้ก่อนหน้านั้น มีนายกฯที่ดำรงตำแหน่ง 8 ปีครึ่งโดยไม่ต้องลงสมัครรับเลือกตั้งเลยและไม่เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจเลย
หลังพ.ค.35 ทำให้เห็นว่าต้องเขียนกระบวนการได้มาของนายกฯให้ชัดเจน จึงระบุขั้นตอนไว้ ในมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญ ระบุให้สภาฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งนายกฯ ให้แล้วเสร็จใน 30 วันหลังการเรียกประชุมสภาฯ ครั้งแรก นั่นคือกรณีปกติที่มีการเลือกตั้ง ได้ ส.ส. เปิดประชุมสภา สภาฯ ก็ต้องหานายกฯ แปลว่า กฎหมายกำหนดไว้ว่า การเลือกนายกฯ ต้องกระทำโดยเปิดเผยในสภาผู้แทนฯ มีการเสนอชื่อและเลือกนายกฯ กรณีอื่นๆ เช่น มีนายกฯ อยู่แล้ว แล้วต่อมานายกฯ ลาออก ตาย หรือเกิดกรณีให้ ครม.พ้นไป เช่น นายกฯ ขาดคุณสมบัติ
กรณีนี้ ครม.ไปหมดทั้งคณะ แต่ไม่ใช่เพราะการยุบสภา สภาผู้แทนฯ ยังมีอยู่ เมื่อสภาผู้แทนฯยังมีอยู่ต้องหานายกฯคนใหม่จากสภาฯนั้นเอง ทีนี้ ตัวบทไม่ได้เขียนให้ฟุ่มเฟือยว่าถ้าเกิดกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นให้เรียกประชุมสภาใน 30 วันนับจากมีเหตุการณ์ จึงเขียนว่าถ้าเกิดกรณีดังกล่าวขึ้นให้เอาบทบัญญัติมาตรา 172 และ 173 มาใช้บังคับโดยอนุโลม หมายความว่า สภาผู้แทนฯ ที่มีอยู่เป็นคนเลือกนายกฯ ไม่ใช่อนุโลมมั่วซั่ว แบบเอาวุฒิสภาที่ไม่เกี่ยวข้องมาเลือกนายกฯ
ทปอ. บอกว่า เมื่อไม่มีสภาผู้แทนฯ แต่วุฒิสภาประชุมได้ โดยอ้างมาตรา 132 (2) ให้วุฒิสภาพิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ?
วรเจตน์: การประชุมที่ให้วุฒิสภาพิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ หมายความว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติว่าอำนาจการพิจารณาตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญใดๆ เป็นอำนาจวุฒิสภา เช่น ตั้งคนเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. เป็นอำนาจของวุฒิฯ คือ เมื่อสภาถูกยุบ และต้องตั้งคนเข้าสู่ตำแหน่งเหล่านี้ก็เป็นหน้าที่ปกติของวุฒิฯ อยู่แล้ว
ปิยบุตร: รัฐธรรมนูญนี้มีหลักการอยู่ง่ายๆ คือ หนึ่ง นายกฯต้องเป็นส.ส. สภาผู้แทนฯ เป็นผู้เลือกนายก เมื่อยุบสภา ต้องเลือกตั้ง ส.ส.เข้ามาใหม่เพื่อเลือกนายกฯ
การเลือกตั้ง 2 ก.พ.และวิกฤตการเมือง
การเลือกตั้ง 2 ก.พ.2557 เป็นโมฆะแล้วหรือไม่
วรเจตน์: ในทางกฎหมาย คะแนนเสียงเมื่อ 2 ก.พ.57 ยังไม่เสีย เพราะยังไม่มีองค์กรของรัฐ องค์กรใดเลยที่ประกาศให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพียงว่า พ.ร.ฎ.ผิดกฎหมาย ไม่ได้พูดถึงสถานะของการเลือกตั้ง
ในทางกฎหมาย การเลือกตั้งยังอยู่ เพียงแต่ผลคำวินิจฉัย บีบให้รัฐบาลประกาศการเลือกตั้งใหม่ เมื่อเลือกตั้งใหม่ จะทับการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว การวินิจฉัยเช่นนี้ ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญ และ กกต.ไม่ต้องรับผิดชอบ
กรณีให้รัฐบาลรับผิดชอบค่าเสียหาย เป็นเกมทางการเมือง เพราะกกต.เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง ที่ภาคใต้ ที่จัดไม่ได้เพราะมีการปิดเขตรับสมัคร กกต.ให้ไปแจ้งความ แทนการขยายเวลารับสมัคร กกต.ให้ไปฟ้องศาลฎีกา และศาลฎีกาบอกไม่มีอำนาจ จนระยะเวลาเลยไป สุดท้าย ศาลรัฐธรรมนูญใช้เหตุนี้ทำลายการเลือกตั้ง
คนรับผิดชอบอันดับแรกน่าจะเป็น กกต.ที่ไม่ได้ขยายวันรับสมัครฯ ที่ใต้ และเป็นเหตุเรื่องการเลือกตั้งวันเดียวกัน
การใช้กฎหมายเคร่งครัดตายตัวเกินไป นำไปสู่วิกฤตจริงหรือ
วรเจตน์: บ้านเมืองถึงทางตัน เพราะไม่ใช้กฎหมายให้ถูกต้องตามหลักการต่างหาก มีนักกฎหมายท่านหนึ่งไม่รักษากฎหมาย เพราะรักษาประเทศ นี่คือทัศนะของคนที่มีอำนาจชี้ขาดปัญหากฎหมาย บ้านเมืองเวลานี้ หากรักษาประเทศ ต้องใช้กฎหมายเป็นฐาน การใช้กฎหมายถูกต้องตามหลักการต่างหากคือการรักษาประเทศ
รัฐธรรมนูญลงเสียงประชามติมาร่วมกันไม่ใช่หรือ แม้ตัวเองจะอยากแก้อยากเลิกรัฐธรรมนูญ แต่ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ลงประชามติมา มีคุณค่าพื้นฐานบางอย่าง ที่ไม่ต้องฆ่ากัน จะเรียกร้องให้คนอื่นยอมตามความต้องการอย่างไร
คนเหล่านี้ควรละอายตัวเองเสียบ้างว่า เมื่อคำตอบกฎหมายไม่ได้ตามต้องการ เอาตัวเองใหญ่กว่ากฎหมาย เพราะถูกต้องแต่ไม่ใช่อย่างที่ต้องการ วิธีคิดแบบนี้ต่างหากที่นำสู่วิกฤต
ปิยบุตร: การใช้กฎหมาย ตามเกณฑ์สำคัญ เพราะกฎหมายเป็นสิ่งที่ถูกประกาศไว้ล่วงหน้า ทุกคนรู้กันหมดว่ามีเกณฑ์อย่างไร ที่สำคัญรัฐธรรมนูญนี้เขียนกันมาเอง ไม่ได้ดั่งใจ จะไม่ใช้เกณฑ์นี้ คนที่พูดเช่นนี้คือคนที่พาวิกฤตมาเอง
การยืนยันการเลือกตั้งตั้งแต่ 2 ก.พ. และผลักดันการเลือกตั้ง ตัดสินใจถูกไหม และจะพาสู่วิกฤตการเมืองที่เลวร้ายมากกว่าเดิมหรือไม่
วรเจตน์: เห็นด้วยว่า การร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมและกระบวนการผ่านกฎหมายผิดจริง ไม่ว่ารัฐบาลจะขอโทษหรือไม่ แต่อย่างน้อย ได้ยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนว่ายังจะเลือกต่อไปไหม
พรรคเพื่อไทย ไม่ว่าผิดถูกอย่างไรก็ได้คืนการตัดสินใจกลับมา เป็นหน้าที่พรรคอื่นแล้วที่จะรณรงค์เรื่องนี้ เรื่องความรับผิดชอบทางการเมืองเป็นเรื่องที่ต้องรณรงค์ต่อไป แต่ไม่ควรขวางทางกฎหมาย ถ้าฝ่ายค้านฉลาดมากพอ ต้องใช้กรณีนี้ชี้ให้เห็นปัญหาของรัฐบาลเสียงข้างมาก จูงใจให้รับผิดชอบไม่ใช่ขวางการเลือกตั้ง
การขวางการเลือกตั้ง การหานายกฯ คนกลาง ทำให้เกิดวิกฤตทางการเมือง
การเลือกตั้งแก้ปัญหาและทำให้วิกฤตจบลง?
วรเจตน์: การยุบสภาฯ เป็นการทำลายความชอบธรรมเสียงข้างมาก แต่ไม่ใช่ใช้ไม่ได้เลย การเลือกตั้งแก้ปัญหาระดับหนึ่ง แม้มีการเลือกตั้ง วิกฤตไม่ได้จบ แต่ไม่เกิดการปะทะกันเสียเลือดเนื้อ เป็นการต่อสู้ทางนโยบาย การขัดแย้งทางความคิดคงเดินต่อไป แต่ระบบต้องเดินต่อ
การเอาอำนาจนอกระบบเข้าแทรก ความรุนแรงจะเข้ามา และเกิดอะไรตามมา ไม่สามารถบอกได้ ถ้าเลือกตั้งแล้วต้องโมฆะก็สั่งมา เลือกไปเรื่อยๆ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเหนื่อย แล้วบอกว่ายอมแล้ว