วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ประยุทธ์แนะคนไทยต้องภูมิใจที่มีความสุขแบบเบิร์ดเบิร์ด พี่ไทยตามใจตัวเอง

ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

23 พ.ค. 2559  เมื่อเวลา 14.35 น. ณ ห้องประชุมวายุภักดิ์ แกรนด์บอลรูม โรงแรมเซ็นทารา ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวมอบนโยบาย “การบูรณาการเพื่อนำประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ในการประชุมสัมมนาการขับเคลื่อนและปฏิรูปประเทศไทยแบบบูรณาการ โดยผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วยคณะรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้นำเหล่าทัพ ผู้บริหารภาครัฐ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน ธนาคารของรัฐ และสื่อมวลชน

เน้นสร้างความเข้าใจ ไม่เน้นอำนาจ

โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวมอบนโยบาย สรุปสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า รัฐบาลพยายามบูรณาการการทำงาน แก้ไขปัญหาของประเทศ ซึ่งหลายคนยังไม่เข้าใจ ต้องการให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามมาตรา 44 แก้ไขปัญหาทั้งหมดในเวลาเดียวกัน เพราะเห็นในสิ่งที่บกพร่อง แต่สิ่งที่นายกรัฐมนตรีต้องการคือความเข้าใจ ความร่วมมือมองไปข้างหน้า โดยต้องไม่ลืมนำปัญหาที่ทับซ้อนอยู่ข้างหลังให้เดินไปข้างหน้าด้วย เพื่อไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ฉะนั้น จึงเกิดการบูรณาการ ทำใหม่ คิดใหม่ แก้ไขวิธีการกระบวนการในการบริหารจัดการ ปรับในเชิงโครงสร้าง ปรับกิจกรรมให้มีการบูรณาการข้ามกระทรวงข้ามหน่วยงานในงานเดียวกัน บูรณาการรัฐ ข้าราชการกับประชาชน กับธุรกิจเอกชน และบูรณาการในส่วนของประชาชนด้วยกันให้มีส่วนร่วมสร้างความเข้มแข็งของตัวเองด้วยตัวเอง ไม่ใช่พึ่งรัฐแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความมุ่งหมายในการบูรณาการ เพื่อปฏิรูปประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 ให้สอดคล้องกับโลกในอนาคตที่มีการเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน รวมทั้งเดินหน้าวางกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีข้างหน้าที่เป็นการตีกรอบกว้าง ๆ ใน 6 ยุทธศาสตร์ เพื่อเป็นแนวทางให้รัฐบาลต่อไปดูแลคนทุกหมู่เหล่าให้เกิดความทั่วถึงเป็นธรรม ซึ่งความท้าทายวันนี้คือการเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งเราต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมของโลก โดยจะต้องปฏิรูปประเทศเพื่อไม่ให้ถูกกดดันจากโลกภายนอก พัฒนาประเทศไทยไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างภาคภูมิใจ เป็นสังคมประชาธิปไตยที่มีธรรมาภิบาลไม่มีความขัดแย้ง ประเทศมีเสถียรภาพ ไม่ใช่ประชาธิปไตยเทียม
“วันนี้ผมไม่ใช่เป็นนักการเมือง แต่เข้ามาทำงานการเมืองร่วมกับทุกคน แม้แต่ข้าราชการที่นั่งอยู่ที่นี่ก็ทำงานการเมืองด้วย อย่าลืมว่าผลงานที่ผ่านมา ข้าราชการทุกระดับต่างก็ทำงานการเมืองทั้งสิ้น รัฐบาลมีเพียงหน้าที่ดำเนินนโยบายเท่านั้น ประเทศไทยได้ผ่านประสบการณ์มามากพอสมควร ตั้งแต่โชติช่วงชัชวาลย์มาจนถึงวันนี้ ความท้าทายของเรามีอยู่มากมาย ที่ผ่านมาเราไม่มียุทธศาสตร์ชาติที่ชัดเจน การทำงานของกระทรวง ทบวง กรม ก็ต่างคนต่างทำ ทำงานแบบรูทีน รัฐบาลไม่ได้มองภาพในเชิงบูรณาการหรืออนาคต ก็ต้องตุปัดตุเป๋ไปมา ความเข้มแข็งจึงไม่เกิดขึ้น ยิ่งเมื่อเติมด้วยความขัดแย้งเข้าไปอีก ก็ทำให้ปัญหามีมากขึ้น ดังนั้นการที่รัฐบาลวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นเพียงการตีกรอบกว้าง ๆ และได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นเข็มทิศนำทางนำพาประเทศชาติไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

บอกขณะนี้กำลังปฏิรูปครั้งที่ 2 หลังจากครั้งแรกเกิดสมัย ร.5

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า จะต้องขับเคลื่อนปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ปฏิรูปการวิจัยและพัฒนา และปฏิรูปการศึกษาไปพร้อมกันเพื่อเตรียมคนสู่อนาคตในศตวรรษที่ 21 และศตวรรษต่อ ๆ ไป ดังนั้น จึงต้องผนึกกำลังกันทุกภาคส่วนภายใต้แนวคิดประชารัฐ ซึ่งวันนี้เรากำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายในศตวรรษที่ 21 ที่เราต้องปรับตัวให้สอดคล้องเข้ากับอารยธรรมของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งต้องปรับตัวกับภัยคุกคามจากภายใน ภายนอก โดยในเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมของเราในปัจจุบัน จะต้องเปลี่ยนจากสังคมที่พึ่งการเกษตร พึ่งตนเอง พึ่งการส่งออกสินค้าเกษตร ไปสู่การเป็นสังคมเกษตรและอุตสาหกรรมเพิ่มมูลค่าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมสีเขียว และปรับเปลี่ยนสู่สังคมฐานความรู้เศรษฐกิจสร้างมูลค่า แต่การปกครองระบอบประชาธิปไตยของเรายังมีความขัดแย้งกันในเรื่องที่ไม่ได้เริ่มต้นจากระเบียบ ไม่ได้เริ่มจากกฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกันในสังคมที่เป็นปกติสุขมาก่อน พูดกันแต่เรื่องสิทธิเสรีภาพ จนลืมคำว่าหน้าที่ ดังนั้น การทำงานของพวกเราจึงยาก แต่ก็ยังสู้ได้ด้วยความเอาใจใส่ความจริงใจของพวกเรา เพื่อลูกหลานประเทศชาติในอนาคต พร้อมกับต้องมองตำแหน่งของไทยในเชิงยุทธศาสตร์ในเวทีโลกให้ประเทศไทยมีที่ยืนที่มั่นคงด้วย โดยจะต้องสร้างความเชื่อมั่นทำให้ประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ แก้ไขประเด็นที่เปราะบาง อ่อนไหว ไร้เสถียรภาพในทุกมิติ ไม่ให้เกิดความแตกแยกวุ่นวาย เป็นสังคมประชาธิปไตยที่มีการเมืองที่มีธรรมาภิบาลและมีเสถียรภาพ
พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้เรากำลังปฏิรูปประเทศในครั้งที่ 2 ซึ่งการปฏิรูปประเทศครั้งแรกเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยวันนี้หากไม่มีการปฏิรูปเราจะถูกกดดันจากภายนอกในทุกมิติรวมทั้งจะมีแรงปะทุจากภายในของเรา ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานมีหน้าที่ตามความรับผิดชอบ ขอให้ทุกหน่วยงานทำหน้าที่อย่างเต็มที่ สิ่งใดที่เป็นปัญหา รัฐบาลพร้อมจะแก้ไขปัญหาให้ แต่จะต้องมีการบูรณาการกันข้ามหน่วยงานในกิจกรรมเดียวกัน เพราะรัฐบาลไม่สามารถจะทำทุกอย่างในเวลาเพียง 2 ปีหรือเวลาที่เหลืออยู่ตามโรดแมป จึงต้องนำกิจกรรมหลักขึ้นมาวางพื้นฐานให้ได้ก่อน ส่วนที่เหลือก็ทำคู่ขนานกันไป รวมทั้งต้องทำให้ไทยหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และในเรื่องคุณภาพของคน ต้องคิดถึงสังคมผู้สูงวัยที่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะมีมากขึ้นถึงครึ่งหนึ่งของประชากรไทย รวมทั้งเรื่องการขาดแรงงานวัยฉกรรจ์ที่เป็นปัญหาระยะยาว

แม้ส่งออกลด แต่มวลความสุขสูงขึ้น ต้องภูมิใจที่มีความสุขแบบเบิร์ดเบิร์ด

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อดีตรัฐมนตรีเศรษฐกิจบางคน ออกมาพูดว่าเศรษฐกิจตกต่ำคนจะตายกันหมดแล้ว มันตายตรงไหน เขาไม่ตายกันหรอก เขามีการปรับตัวเสมอ ตนไปภาคอีสานเขาก็บอกว่าปรับตัวได้เอง เพราะปีนี้แล้งมาก แต่กลับมีคนไปยุแหย่ตลอดเวลา ว่ามันแย่แล้วถ้ามันแย่ตัวเลขเศรษฐกิจมันจะขึ้นไหม จาก0.8 ตอนนี้ขึ้นมา 3.2 ก็ยังมาบอกว่าเป็นตัวเลขปลอมอีก ตนไม่เข้าใจ ทั้งโลกและประเทศรอบบ้าน ประเทศรวยๆติดลบตัวแดงเถือกหมด เรามีเรื่องการส่งออกที่ลดลง แต่เราก็มีมวลความสุขสูงขึ้น เราต้องภูมิใจที่มีความสุขแบบเบิร์ดเบิร์ด แบบพี่ไทยตามใจตัวเอง ขณะที่ประเทศอื่นกฎหมายเขาแรงทำอะไรมากไม่ได้ แต่มาบ้านเราสบาย แม้แต่การขับรถ เหมือนกับไทยเป็นสนามขับรถมากันเต็มที่เชียงใหม่ เกิดความวุ่นวายกันหมดแล้วก็จะมาให้รัฐบาลไล่กลับ ถ้าไล่เขาแล้วเราจะอยู่ยังไงในเมื่อรายได้หลักของประเทศอยู่ที่การท่องเที่ยว

เพิ่มบทบาทไทยในเวทีโลก 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า วันนี้ต้องเพิ่มบทบาทของไทยในเวทีโลก ต้องมองวิกฤตให้เป็นโอกาส ไม่ใช่ทำโอกาสให้เป็นวิกฤตเพิ่มขึ้น ต้องเดินหน้าไปสู่อนาคตโดยต้องดูว่าจะเดินให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียนอย่างไร ซึ่งก่อนหน้าที่นายกรัฐมนตรีจะเข้ามาทำหน้าที่ก็ไม่โทษใคร แต่โทษตัวเองด้วย เรากำลังเป็นรัฐที่จะล้มเหลว และจะล้มเหลวทันทีถ้าไม่ได้ปฏิรูปโดยเริ่มจากตัวเอง ภาครัฐ และประชาชน อย่าคิดแต่เพียงอำนาจ ผลประโยชน์ ทุกวันนี้ถ้ามีทุจริตจะโดนหมด เราต้องสะอาดและโปร่งใส เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น ดังนั้นการปฏิรูปจึงต้องมีโรดแมปยุทธศาสตร์ 20 ปี ซึ่งรัฐบาลได้เริ่มปฏิรูปมาแล้ว สำหรับเรื่องการค้าการลงทุน เราเปิดทั้งหมดทำให้มีการแข่งขัน ทำให้สร้างความเชื่อมั่นและลดการรั่วไหล ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้บอกกับทุกประเทศว่าไทยจะต้องไม่มีการทุจริตและคอร์รัปชั่นโดยเด็ดขาด ถ้าหน่วยงานไหนบอกว่าต้องเสียเงินขอให้มาบอกแล้วจะลงโทษเดี๋ยวนั้น แต่ส่วนตัวนายกรัฐมนตรีก็ไม่คิดว่าใครจะทำ ถ้ารักประเทศต้องไม่ทำ

เลิก ม.44 ก็ใช้ กม.ปกติ ไม่ละเว้น มีรธน.เพื่อสากลยอมรับ มีประชามติเพื่อให้ทุกคนรับทราบ

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวถึงเรื่องการเมืองด้วยว่า ขอให้ทุกฝ่ายหนักแน่นเชื่อมั่นในนายกรัฐมนตรี ซึ่งส่วนตัวไม่เคยหมดกำลังใจ ขอให้ไว้วางใจซึ่งกันและกัน อย่าเชื่อการบิดเบือน พร้อมกับชี้แจงถึงการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ว่าเพื่อให้เกิดความมั่นคง เพื่อให้สามารถผ่อนปรน ผ่อนผันได้ แต่หากมีการเรียกร้องให้ยกเลิก มาตรา 44 ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายปกติ โดยไม่ละเว้น ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญ เป็นหลักประกันที่ให้ประเทศไทยมีหลักการที่สากลยอมรับ ขณะที่เรื่องประชามติก็เพื่อให้ทุกคนรับรู้รับทราบ

สัมภาษณ์: ‘พวงทอง ภวัครพันธุ์’ (ตอนที่ 2) “เราต้องไม่ดูแคลนความจริง”


การดำรงอยู่ของความรุนแรงที่รัฐทำกับประชาชน การใช้อำนาจตามอำเภอใจ ไม่ใช่เพียงเพราะแค่ ‘วัฒนธรรมการพ้นผิดลอยนวล’ (Impunity) เท่านั้น นี่มันแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง สิ่งที่หล่อเลี้ยงมันเอาไว้คือความอ่อนแอด้านสิทธิมนุษยชนของไทย องคาพยพต่างๆ ในโครงสร้างอำนาจที่ต่างก็อุ้มชูกันและกัน รวมไปถึงสื่อมวลชนที่เพิกเฉยเพราะเลือกข้าง
รศ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ จากภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายกาารชุมนุม เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) สารภาพจากใจว่า อาจจะไม่มีความหวังกับการนำผู้สั่งการให้เกิดการสังหารหมู่ประชาชนมาลงโทษในระยะเวลาอันใกล้นี้ แต่เธอเชื่อว่าการค้นหา ‘ความจริง’ ในวันนี้จะเป็นหลักฐานสำคัญในอนาคต ในวันที่ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและโครงสร้างอำนาจอันบิดเบี้ยวนี้ถูกแก้ไขแล้ว
เธอบอกว่าไม่มีใครให้ฝากความหวัง มีก็แต่ตัวเราเองเท่านั้น
“ฝากความหวังกับตัวเราเอง โดยที่ไม่มีความหวังว่ามันจะเกิดขึ้นสักเท่าไหร่ แต่ถ้ายังมีแรงก็ทำต่อไป”
มีกรณีในต่างประเทศใดบ้างที่จะเป็นตัวแบบให้เราเดินไปสู่จุดนั้น จุดที่จะดำเนินคดีกับผู้สั่งการ
พวงทอง: ดิฉันคิดว่าเป็นไปไม่ได้ แม้กระทั่งข้อเสนอของนิติราษฎร์ อย่างที่บอกว่ากระบวนการที่จะทำให้การพ้นผิดลอยนวลยุติลงได้ จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการเปลี่ยนผ่านทางอำนาจจริง แต่สังคมไทยไม่ได้อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน เรากำลังถอยหลังกลับไปสู่อดีตด้วยซ้ำไปภายใต้การนำของทหาร เราไม่ได้กำลังจะเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น
แม้กระทั่งช่วงของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เราก็ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนผ่านใดๆ ทั้งสิ้น รัฐบาลยิ่งลักษณ์มีอำนาจแค่ควบคุมรัฐบาลของตนเองเท่านั้น แต่กลไกอำนาจรัฐอื่นๆ กองทัพ ศาล องค์กรอิสระทั้งหลายแหล่ ทำงานต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ทั้งนั้น ซึ่งคนเหล่านี้มีส่วนในการอุปถัมภ์วัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล การที่ความรุนแรงระดับกว้างขวางต่อประชาชนเกิดขึ้นได้ไม่ใช่แค่เรื่องของผู้นำไม่กี่คน มันเกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางอำนาจที่เขามองว่า กรณี 2553 คนเสื้อแดงคือศัตรูทางอำนาจของเขา รวมถึงคุณทักษิณ ชินวัตรด้วย จึงต้องการกดปราบขบวนการเหล่านี้ให้หมดฤทธิ์ไป ถ้าคนที่ควบคุมกลไกอำนาจรัฐทั้งหลายยังมีจุดยืน มีอุดมการณ์ต่อต้านประชาธิปไตยอยู่ คุณไม่มีทางทำให้สังคมเป็นประชาธิปไตยได้ แล้วก็ไม่มีทางจะเอาคนทำผิดมารับผิดได้
“คุณระดมพลทหารออกมา 67,000 กว่านาย อนุมัติให้มีการเบิกกระสุนออกมาเกือบ 4 แสนนัด มันคืออะไร กระสุนจริงนะคะ กระสุนสไนเปอร์อีก 2,000 นัด เวลาคุณเซ็นคำสั่งเหล่านี้ คุณจะบอกว่ามันจะไม่ถูกใช้เลยอย่างนั้นเหรอ เป็นไปไม่ได้ที่เขาจะไม่รู้ว่าผลที่ออกมาจะเป็นยังไง”
คุณจะเห็นว่าการที่เราไม่สามารถเอาผิดกับคุณอภิสิทธิ์และคุณสุเทพได้ เพราะกลไกอำนาจรัฐที่มีอยู่ต่างช่วยกันปกป้อง ดังนั้น ยังไม่ต้องพูดถึงตัวแบบว่าจะเกิดขึ้นมั้ย จะแบบไหน ยังไง คือตัวแบบก็ต้องดีไซน์ตามบริบทของสังคมนั้นด้วย เราอาจจะเรียนรู้จากประเทศอื่นๆ แต่ในที่สุด ถ้าวันหนึ่งเรามีโอกาสที่จะพูดถึงตัวแบบ มันจะต้องปรึกษาหารือกันอย่างจริงจังยิ่งขึ้น ทั้งคนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ญาติคนที่สูญเสีย ก็จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ต้องให้ความสำคัญกับผู้ที่สูญเสียมากกว่านี้ ไม่ใช่ตัดสินกันตามอำเภอใจโดยคนที่มีอำนาจไม่กี่คนหรือคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นนักสิทธิมนุษยชนหรือนักสันติวิธีในสังคมนี้ ซึ่งดิฉันคิดว่าคนเหล่านี้มีปัญหาในการมองการคืนความยุติธรรม
มีปัญหายังไง
พวงทอง: เท่าที่ดิฉันฟังคนบางคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นนักสิทธิมนุษยชน กลับมองการปรองดองในลักษณะที่ให้ยอมๆ กันไปมากกว่า
พออาจารย์บอกว่าเป็นไปไม่ได้ ก็เลยไม่รู้จะถามอะไรต่อ
พวงทอง: คือถ้าการเมืองเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยจริง กระบวนการยุติธรรมของไทย ซึ่งดิฉันคิดว่ามันคืออุปสรรคสำคัญของความยุติธรรม ก็อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้วย การเปลี่ยนแปลงลักษณะที่หนึ่ง คนพวกนี้อาจจะลู่ตามลม เริ่มเห็นแล้วว่ากระแสทางการเมืองเปลี่ยน การพิจารณาคดีก็จะเปลี่ยน สอง-ถูกสังคมกดดัน กระแสสังคมมีผลต่อการตัดสินอยู่เยอะ สาม-เราอาจจะได้นักกฎหมายรุ่นใหม่ที่มีแนวความคิดที่ให้ความสำคัญต่อสิทธิมนุษยชน สิทธิในชีวิตของประชาชนมากยิ่งขึ้นก็ได้ อันจะนำไปสู่การตีความกฎหมายใหม่
เช่นในหลายประเทศการที่สามารถนำผู้ที่กระทำรุนแรงต่อประชาชนเมื่อสามสี่สิบปีก่อนมาลงโทษได้ ทั้งๆ ที่มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมไปแล้ว เพราะมันเกิดการตีความใหม่ของผู้พิพากษารุ่นใหม่ บอกว่ากฎหมายนิรโทษกรรมที่ออกมานั้นขัดกับรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุด ดังนั้น กฎหมายนิรโทษกรรมไม่มีผลบังคับใช้ สามารถไปเอาผิดกับคนเหล่านั้น ถามว่าในปัจจุบันเป็นไปได้มั้ยในสังคมไทย เป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดการตีความในลักษณะนั้น สังคมต้องเปลี่ยนทัศนะในเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิในชีวิต ทัศนะต่อการที่บอกว่ารัฐจะทำอะไรตามอำเภอใจต่อไปไม่ได้ แต่สังคมไทยยังไม่ได้มองเรื่องนี้
สิ่งที่อาจารย์กล่าวมาจะเกิดขึ้นได้ เมื่อโครงสร้างอำนาจเปลี่ยนและอยู่ในระบอบประชาธิปไตยจริงๆ เท่านั้น
พวงทอง: ใช่ มันต้องเป็นประชาธิปไตย ภายใต้ระบอบที่เป็นอยู่นี้เป็นไปไม่ได้เลย
แต่สถาบันตุลาการไทยคือสถาบันหนึ่งที่แทบไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5
พวงทอง: ไม่เปลี่ยน ทัศนะคติก็ไม่เปลี่ยน ดิฉันคิดว่าศาลไทย ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนอ่อนแอมาก แล้วก็ให้ความสำคัญกับความมั่นคงของรัฐสูง มีแนวโน้มที่จะตีความในลักษณะที่การใช้อำนาจของรัฐนั้นมีความถูกต้องมากกว่า
ที่อาจารย์พูดมาทั้งหมด ดูเหมือนไม่มีอะไรที่ประชาชนจะทำได้เลย ไม่มีอะไรที่เราพอจะทำได้เลยจริงๆ เหรอ ในสถานการณ์แบบนี้ เช่น การค้นหาข้อเท็จจริง เพราะสิ่งนี้ก็มีผลต่อการรับรู้และความรู้สึก เป็นต้น
พวงทอง: สิ่งที่กลุ่ม ศปช. พยายามทำตั้งแต่ปี 2553 คือการเก็บรวบรวมข้อมูลหลักฐานให้ได้มากที่สุด ตอนที่ทำรายงานนี้ดิฉันไม่ได้หวังว่าจะนำผู้ทำผิดมาลงโทษได้ในเวลาอันรวดเร็ว ดิฉันคิดว่ามันจะเป็นหลักฐานในอีกสิบปียี่สิบปีข้างหน้าที่จะเอามาใช้ แต่ถ้าคุณไม่เก็บ มันก็หายไป
สอง-เรายังต้องพยายามพูดเรื่องนี้กันอยู่อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งก็มีคนไม่มากหรอกที่สนใจ ที่จะพูด และสนใจที่จะฟัง ติดตาม แต่คนที่ยังเห็นความสำคัญเรื่องนี้ก็ต้องทำงานสม่ำเสมอ ดิฉันเชื่อว่าผลกระทบที่จะได้ไม่เยอะหรอก คนที่สนใจเรื่องนี้มีแค่กระจุกเดียวในสังคมนี้ สื่อส่วนใหญ่ก็ไม่สนใจเรื่องพวกนี้ เมื่อสื่อไม่สนใจเพราะสื่อต่อต้านเสื้อแดง ผู้บริโภคของเขาก็ต่อต้านเสื้อแดง ดิฉันคิดว่าอาจไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของประชากรในประเทศนี้ที่ยังสนใจติดตามเหตุการณ์ปี 2553 อยู่
คนเสื้อแดงที่เกี่ยวข้องในการชุมนุมปี 2553 ดิฉันเชื่อว่าเขาอาจยังมีความคับแค้นอยู่ แต่คนเหล่านั้นก็มีชีวิตประจำวันที่จะต้องทำมาหากิน เขาก็ไม่มีเวลามาทำสิ่งเหล่านี้ จึงเป็นหน้าที่ของคนที่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ต้องพูดต่อไปเรื่อยๆ ถึงแม้ปัจจุบันจะมีคนฟังน้อย ไม่สนใจ แต่สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นบันทึก เป็นหลักฐานที่จะเอาไปใช้ในวันข้างหน้า นี่ก็เป็นกำลังใจอันหนึ่งให้แก่ครอบครัวของคนที่สูญเสียด้วย ที่ว่ายังมีคนที่ไม่ลืมเหตุการณ์เหล่านี้อยู่
“กลไกอำนาจรัฐอื่นๆ กองทัพ ศาล องค์กรอิสระทั้งหลายแหล่ ทำงานต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ทั้งนั้น ซึ่งคนเหล่านี้มีส่วนในการอุปถัมภ์วัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล”
เป็นไปได้หรือเปล่าที่กระบวนการเอาคนผิดมาลงโทษจะถอยไปถึง 6 ตุลา 19
พวงทอง: กว่าจะถึงวันนั้นที่จะเอาผิดกับคนที่เกี่ยวข้องกับ 6 ตุลา 19 หรือพฤษภา 35 คนที่เกี่ยวข้องก็อาจเสียชีวิตไปแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ยังทำได้คือการพูดความจริง ความจริงเกี่ยวกับสองกรณีนี้ ดิฉันคิดว่ามีการพูดถึงน้อยมาก ใครเป็นคนสั่งการ ใครเป็นคนระดมทหารเข้ามา ไม่ใช่แค่ผู้บังคับบัญชาระดับสูงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงนายทหารระดับปฏิบัติการหรือแกนนำผู้ชุมนุม ข้อมูลเหล่านี้ยังคลุมเครือมาก ต้องทำให้มันชัดเจนว่าใครเกี่ยวข้อง ดิฉันคิดว่าเราต้องไม่ดูแคลนความจริง ความจริงจะทำให้คนเห็นสังคมของตนเองมากขึ้นว่ามันมีกลไกเยอะแยะที่สามารถถูกระดมเพื่อเอามาใช้ทำร้ายประชาชนตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว
เหมือนที่อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เคยยกคำพูดขึ้นว่า ในสถานการณ์ความรุนแรง ความจริงจะเป็นสิ่งแรกที่ถูกสังหาร
พวงทอง: แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะค้นหา ตรวจสอบมันไม่ได้ ในสงครามหรือความรุนแรง ทุกฝ่ายต่างก็พยายามโฆษณาชวนเชื่อ พยายามนำเสนอภาพว่าตัวเองถูกอย่างไร อีกฝ่ายเลวร้ายอย่างไร แต่คนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งโดยตรง มันมีหลักฐานจำนวนมากที่ฟ้องโดยตัวมันเอง เช่นกรณีคลิปของนายทหารสไนเปอร์ที่ยิง คลิปอันนี้บอกอะไร มันก็บอกว่าเขาล้มลงแล้ว คุณก็ยังยิงซ้ำ และมันมีการใช้สไนเปอร์ในการสลายการชุมนุม ซึ่งมันไม่มีที่ไหนในโลกทำกันแบบนี้ ข้อมูลเหล่านี้มีอยู่เยอะแยะในกรณีปี 2553
ปี 2519 มันหายไปเยอะมากแล้ว แต่คนที่ยังมีชีวิตอยู่ ยังมี บางคนยังเป็นเด็กอยู่ในตอนนั้น เราไม่เคยสามารถติดตามได้ว่าคนเหล่านั้นเป็นใคร ถ้าเรามีกระบวนการในการเรียกเอาคนเหล่านั้นมาให้บันทึกประวัติศาสตร์ เราก็อาจจะเห็นข้อมูลบางด้านของสังคมไทยที่น่ารังเกียจหรือที่เป็นปัญหา แล้วก็หาป้องกันได้ในอนาคต
การค้นหาความจริงหรือการนำคนผิดมาลงโทษอาจก็ต้องการความเห็นพ้องต้องกันในระดับหนึ่ง แต่ในสภาพที่เกิดความขัดแย้ง แบ่งขั้ว แตกแยกขนาดนี้ อีกฝ่ายทำอะไร ผิดเสมอ ฝ่ายฉันทำอะไรถูกเสมอ คือมันคงไม่ใช่แค่โครงสร้างเปลี่ยน แต่ว่าความขัดแย้งร้าวลึกของคนที่ยังคงอยู่ จะเป็นอุปสรรคใหญ่สำหรับเรื่องนี้
พวงทอง: ใช่ นี่เป็นอุปสรรค หลายปีที่ผ่านมามันมีความชิงชังกันอยู่เยอะมาก คนกลุ่มหนึ่งจะปฏิเสธข้อมูลของคนอีกกลุ่มหนึ่งโดยสิ้นเชิงและไม่อยากรับฟัง ไม่อยากสนใจ แล้วก็รู้สึกว่ายิ่งขจัดคนอีกกลุ่มหนึ่งออกไปได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี นี่ก็เป็นอุปสรรคสำคัญของการแสวงหาความจริง การแก้ไขความขัดแย้ง การแสวงหาความยุติธรรม
แต่ถามว่ามันเป็นลักษณะเฉพาะของสังคมไทยจริงหรือเปล่า มันก็ไม่ใช่ ในหลายสังคมที่เอาผิดกับผู้ทำความผิดได้ มันก็ผ่านสถานการณ์แบบนี้มาแล้ว ในกรณีของอาร์เจนตินาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1979 คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รู้สึกมีปัญหา แม้กระทั่งตอนที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนิรโทษกรรมให้กับทหาร คนส่วนใหญ่ก็รู้สึกว่าทหารทำหน้าที่ปกป้องประเทศจากภัยคอมมิวนิสต์ เพราะคนที่ถูกอุ้มหายไป 30,000 คนก็ถูกมองว่าเป็นภัยต่อประเทศอาร์เจนตินา คนส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจที่จะคืนความยุติธรรมให้กับบรรดาญาติ
แต่เมื่อเวลาเปลี่ยน สังคมได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนมากขึ้นว่ารัฐจะทำอะไรตามอำเภอใจไม่ได้ ต่อให้คุณมองว่าคนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ ก็ไม่ใช่ว่าคุณจะใช้วิธีการอะไรในการกำจัดอีกฝ่ายหนึ่งได้โดยไม่ต้องเคารพกฎหมาย เพราะในที่สุดแล้วมันจะลามปามไปสู่คนจำนวนมากที่อาจจะไม่ใช่คอมมิวนิสต์จริงๆ แต่เป็นเพียงแค่เพื่อน ญาติ เป็นพ่อแม่ ก็ถูกอุ้มหายไปด้วย มันมีกรณีที่แม่ออกมาเรียกร้องตามหาลูกที่ถูกอุ้มหายไป 2 คน แล้วในที่สุดแม่ก็ถูกอุ้มหายไปด้วย
“เราต้องไม่ดูแคลนความจริง ความจริงจะทำให้คนเห็นสังคมของตนเองมากขึ้นว่ามันมีกลไกเยอะแยะที่สามารถถูกระดมเพื่อเอามาใช้ทำร้ายประชาชนตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว”
ดิฉันเชื่อว่ามนุษย์มีพัฒนาการที่จะพัฒนาไปสู่การเชื่อในเรื่องสิทธิเสรีภาพมากยิ่งขึ้น เรายอมรับแน่ว่านี่เป็นอุปสรรคที่จะทำให้การคืนความยุติธรรมยืดเยื้อยาวนานออกไปอีก ซึ่งเราก็เห็นมาแล้วในกรณีชิลี อาร์เจนตินา บราซิล และรวมถึงประเทศไทยด้วย ดิฉันจึงวางอยู่บนความเป็นจริงว่าการคืนความยุติธรรมจะไม่เกิดขึ้น ตราบที่โครงสร้างอำนาจไม่เปลี่ยน ซึ่งโครงสร้างก็เกี่ยวข้องกับความแตกแยกของประชาชนด้วย เพราะฝ่ายที่มีอำนาจเองก็มีกลไกเครื่องมือในการที่จะโฆษณาประชาสัมพันธ์ความคิดความเชื่อของเขาในอีกฝ่ายหนึ่งด้วย
แล้วจะก้าวข้ามไปได้อย่างไร ตอบอย่างนี้แล้วกัน เรื่องของความขัดแย้ง แบ่งสี แบ่งฝ่าย ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ หลายสังคมผ่านภาวะอย่างนี้มาแล้ว แต่ปัญหาในกรณีสังคมไทยปัจจุบัน คนทุกกลุ่มเชื่อว่าตัวเองยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีใครบอกหรอกว่าตัวเองชอบเผด็จการทหาร รวมถึงคนที่ไปเป่านกหวีดเรียกทหาร เขาก็จะบอกว่าเขาชอบประชาธิปไตย แต่ถ้าคุณยอมรับว่าเขาชอบประชาธิปไตยจริงๆ ในระบอบประชาธิปไตย มันมีกลไกในการแก้ไขความขัดแย้ง มันจะต้องเคารพกฎหมาย เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน เคารพในกระบวนการยุติธรรมที่จะต้องมีความยุติธรรม เคารพในความคิดเห็นและการแสดงออกที่แตกต่าง ซึ่งหมายความว่าการเคารพนี้ไม่ใช่การจัดการอีกฝ่ายหนึ่งด้วยวิธีนอกกฎหมายหรือวิธีที่รุนแรง
ปัญหาในกรณีของไทย เรายังตกลงกันไม่ได้เลยว่าเวลามีความขัดแย้งเกิดขึ้นคุณจะแก้ไขมันได้ยังไง ตกลงไม่ได้ เพราะว่าเวลาที่เกิดความขัดแย้งขึ้นมา ประชาชนของอีกฝ่ายก็จะเรียกร้องให้รัฐบาลใช้ความรุนแรงเข้าจัดการอีกฝ่ายหนึ่งเลย โดยไม่ต้องสนใจสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนด้วยกันเอง ถ้าคุณเป็นประชาธิปไตยจริง การแก้ไขความขัดแย้งจะต้องมีเซ็ตของหลักการจำนวหนึ่งที่คุณต้องยึดไว้ให้ได้ แต่สังคมไทยไม่มีหลักการแบบนี้ ไม่มีหลักการเรื่องสิทธิมนุษยชน หลักการว่าศาลทหารเป็นสิ่งที่ผิด คุณเอาพลเรือนขึ้นศาลทหารไม่ได้ หรือหลักการที่จะตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์กรณีที่หลักฐานมีปัญหา เราไม่กล้าวิจารณ์กระบวนการยุติธรรม จะเห็นว่าอุปสรรคมันเยอะมากๆ ทุกด้าน
นอกจากความรุนแรงจากเหตุการณ์ทางการเมืองแล้ว ยังมีกรณีสงครามยาเสพติด กรือเซะ ตากใบ ซึ่งก็จำเป็นต้องหาคนผิดมาลงโทษและเปิดเผยข้อเท็จจริง
พวงทอง: ใช่ ในกรณีภาคใต้ ซึ่งการซ้อมทรมาน การใช้ความรุนแรงของรัฐ เกิดขึ้นกว้างขวางกว่ากรณีปี 2553 ซะอีก สังคมไทยก็ไม่ได้สนใจกับมันเท่าไหร่ และตราบใดที่คุณไม่แก้ไขปัญหานี้ ปัญหาภาคใต้ก็จะแก้ไขยากมาก ต่อให้วันหนึ่งจะสามารถเจรจากันได้ในระดับแกนนำของฝ่ายรัฐและฝ่ายผู้ก่อการ แต่ถ้าคุณไม่คืนความยุติธรรมให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจรัฐตามอำเภอใจ ความคับแค้นก็ยังอยู่ แล้วจะเป็นหน่ออ่อนที่อาจจะสร้างคนที่ต้องการจะเป็นกบฏต่อรัฐไทยในรุ่นต่อไปอีกก็ได้
“ถ้าคุณเป็นประชาธิปไตยจริง การแก้ไขความขัดแย้งจะต้องมีเซ็ตของหลักการจำนวหนึ่งที่คุณต้องยึดไว้ให้ได้ แต่สังคมไทยไม่มีหลักการแบบนี้ ไม่มีหลักการเรื่องสิทธิมนุษยชน”
อาจารย์ยังมีข้อสังเกตอื่นๆ ต่อเรื่องนี้อีกหรือเปล่า
พวงทอง: ในกรณีปี 2553 การปกป้องผู้ที่กระทำผิดแตกต่างจากในอดีตพอสมควร ในอดีต คนที่เป็นเหยื่อถูกมองว่าเป็นเหยื่อจริงๆ อย่างกรณี 6 ตุลา 2519 เราเห็นชัดเจน นักศึกษาคือคนที่เป็นเหยื่อ ทั้งที่ถูกปราบปรามและถูกขังคุก การพยายามที่จะเอาผิดกับคนที่สั่งการเป็นไปไม่ได้ เพราะคนเหล่านั้นยังมีอำนาจอยู่ ฉะนั้น เราจะเห็นว่าคนที่มีบทบาทในการปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างเอ็นจีโอก็จะยืนอยู่ข้างเหยื่ออย่างชัดเจน
แต่ในกรณีปี 2553 คนที่มีบทบาทเรื่องสันติภาพ เรื่องสิทธิมนุษยชน กลับมีความคลุมเครือ ลังเล แล้วก็มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนรัฐบาลอภิสิทธิ์มากกว่าที่จะปกป้องสิทธิของผู้ที่ถูกกระทำ รายงานของ คอป. (คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดิฉันคิดว่าเป็นตัวอย่างสำคัญ ซึ่งบทบาทของสององค์กรนี้มีผลต่อทัศนคติของประชาชนที่ต่อต้านเสื้อแดงมาก และกลายเป็นข้ออ้างในการสนับสนุนการใช้ความรุนแรงของรัฐต่อคนเสื้อแดง จะเห็นว่าในกรณีปี 2553 คนที่ควรจะมีหน้าที่ปกป้องสิทธิของประชาชนที่เป็นเหยื่อความรุนแรงกลับไม่ได้ทำหน้าที่นี้ ฉะนั้น ถ้าเราดูกรณีปี 2553 การที่ไม่สามารถเอาผิดได้ มันเป็นความร่วมมือของคนหลายกลุ่ม หลายองค์กร เป็นความร่วมมือโดยไม่ตั้งใจก็ได้ อย่างไม่เป็นทางการ
อาจารย์ตั้งคำถามหรือเปล่าว่าเป็นเพราะอะไร
พวงทอง: คือเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของการแตกเป็นสีเป็นฝ่าย คนเหล่านี้ไม่ได้เป็นกลางทางการเมืองจริงๆ เขาเลือกสีอยู่แล้วโดยที่ไม่ได้บอก เขาก็อาจจะบอกว่าดิฉันไม่เป็นกลาง เป็นแดงก็ได้ ดิฉันก็ไม่ปฏิเสธ ถ้าการเป็นแดงหมายถึงการต่อต้านรัฐที่ไม่แฟร์กับประชาชน แต่สิ่งที่ดิฉันท้าทายทาง คอป. มาตลอดก็คือเอาตัวรายงาน เอาข้อมูล มาดีเบตกัน ให้ตัวข้อมูลเป็นตัวตัดสินเอามั้ย แต่เขาก็ไม่เคยรับที่จะดีเบต
เป็นเพราะภาพลักษณ์ของเสื้อแดงดูเหมือนจะมีความรุนแรงแฝงอยู่ รวมถึงการโหมประโคมจากสื่อเรื่องการเผาบ้านเผาเมืองหรือเปล่า
พวงทอง: เราไม่คิดว่าคนเสื้อแดงใช้ความรุนแรงมากไปกว่าการชุมนุมของพวกเสื้อเหลืองและ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ทั้งนี้ เราต้องเข้าใจว่าในบรรดาผู้ชุมนุมของทั้งสองฝ่าย มีคนส่วนน้อยนิดเท่านั้นที่ใช้ความรุนแรงและมีอาวุธ คนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง แต่ภาพลักษณ์คนเสื้อเหลืองกับไม่ได้ถูกนำเสนอขึ้นมา เพราะอะไร เพราะว่าสื่อส่วนใหญ่ยืนอยู่อีกสีหนึ่ง มันมีสองส่วน การใช้อาวุธที่อาจจะทำขึ้นมาเอง การมีการ์ดพกอาวุธ มีทั้งสองสี แล้วก็ระดับการใช้ความรุนแรงไม่ต่างกัน กปปส. ด้วย คุณปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการใช้ความรุนแรงสูงมากๆ อาจจะมากกว่าเสื้อแดง เสื้อแดงยังไม่สามารถขนอาวุธขนาดหนักมายิงกันกลางถนนได้ แล้วป่านนี้จับได้แค่คนเดียว เป็นไปได้ยังไง
แต่คนส่วนใหญ่ซึ่งเสพสื่อที่สนับสนุนเสื้อเหลืองต่อต้านเสื้อแดงก็จะไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ หรือถูกนำเสนอใหม่อย่างในกรณีมือปืนป็อปคอร์น กลับกลายเป็นผู้ที่มาช่วยพวกเขา คุณมีวิธีบิดข้อเท็จจริงสร้างคำอธิบายแบบใหม่ได้ จากคนที่ใช้ความรุนแรงกลายเป็นฮีโร่ไป
คนเสื้อแดงเองเขาก็มีส่วนด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าไม่มี อีกประการหนึ่ง บุคลิกของคนเสื้อแดงที่ดูเป็นชาวบ้านทั่วไป มันเป็นบุคลิกที่ไม่ถูกใจคนชั้นกลางในเมือง อะไรที่ไม่ถูกใจก็ถูกมองเป็นความป่าเถื่อน ความดิบ แต่ถามว่าคนชั้นกลางในเมืองไม่ใช้ความรุนแรงต่อกันอย่างนั้นหรือ ใช้ตลอดเวลา แม้กระทั่ง กปปส. ที่มองว่าเป็นม็อบปัญญาชน ม็อบมีการศึกษา ก็มีความรุนแรง แต่กลับมองไม่เห็น อันนี้เป็นปัญหาของสื่อที่พยายามลดความรุนแรงของฝ่ายหนึ่ง แล้วไปขยายภาพความรุนแรงของอีกฝ่ายหนึ่ง บางทีการพูดเสียงดัง โวยวาย มันไม่ใช่ความรุนแรงของคนกลุ่มหนึ่ง มันเป็นบุคลิกปกติของพวกเขา แต่มันถูกตีความว่าเป็นความรุนแรง
แม้ว่าเสื้อแดงจะไม่ได้รวมตัวเป็นกลุ่มก้อนเดียวที่มีความคิดเหมือนๆ กัน แต่แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก็พอจะเรียกได้ว่าเป็นแกนของคนเสื้อแดง คำถามคือในการเรียกร้องการเอาผิดกับผู้สั่งการให้ใช้ความรุนแรงกับประชาชน แกนนำ นปช. ควรจะต้องแสดงบทบาทอะไรมากกว่านี้หรือเปล่า แต่ขณะเดียวกัน แกนนำ นปช. ก็แอบอิงกับเพื่อไทยและคุณทักษิณ ซึ่งตัวคุณทักษิณก็เกี่ยวพันกับกรณีสงครามยาเสพติด กรือเซะ ตากใบด้วย ที่ญาติเหยื่อก็ต้องการความเป็นธรรมเช่นกัน
พวงทอง: ดิฉันคิดว่าคงไปฝากความหวังอะไรกับ นปช. ไม่ได้มาก เพราะแกนนำ นปช. หลายคนก็โหวตเอาด้วยกับ พ.ร.บ.เหมาเข่ง และไม่ยอมออกมาขอโทษ เราก็เห็นอยู่ว่าเขาไม่ได้มีความอิสระจากคุณทักษิณมากพอ ซึ่งตรงนี้มันทำให้เขาสูญเสียการสนับสนุนของมวลชนจำนวนมาก ดิฉันไม่คิดว่าเราจะฝากความหวังเรื่องนี้กับ นปช. ได้ เขากลับจะกลายเป็นภาระที่เราจะต้องวิพากวิจารณ์มากขึ้นด้วย
เราควรฝากความหวังไว้กับตัวเราเอง?
พวงทอง: ฝากความหวังกับตัวเราเองโดยที่ไม่มีความหวังว่ามันจะเกิดขึ้นสักเท่าไหร่ แต่ถ้ายังมีแรงก็ทำต่

ศาลทหารจำคุกลุงมอบดอกไม้ 3 เดือน รอลงอาญา 1 ปี ปรับสี่พัน


ศาลสั่งจำคุกชายวัย 78 ปี สามเดือน แต่ให้รอลงอาญา 1 ปี  เหตุมอบดอกไม้ให้พ่อน้องเฌอ ในกิจกรรม 'พลเมืองรุกเดิน' รณรงค์ไม่ให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร และนั่งอยู่ในวงพูดคุยของนักกิจกรรม  
23 พฤษภาคม 2559  ศาลทหารกรุงเทพ ได้มีการอ่านคำพิพากษาในคดีของนายปรีชา‬ แก้วบ้านแพ้ว วัย 78 ปี ว่ามีความผิดตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 ซึ่งมีอัตราโทษสำหรับความผิดที่ห้ามชุมนุมทางการเมือง ต่างจากในประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 7/2557 จึงอาศัย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ให้ใช้กฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลย พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 6 เดือน ปรับ 8,000 บาท ลดโทษกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษจำคุก 3 เดือน ปรับ 4,000 บาท
แต่เนื่องจากจำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนประกอบกับพฤติการณ์แห่งคดียังไม่ร้ายแรง จึงสมควรให้โอกาสจำเลยปรับตัวเป็นคนดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนดเวลา 1 ปี
นายปรีชา‬ ได้เล่าว่า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2558  ตนได้ไปดู นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ หรือพ่อน้องเฌอ ทำกิจกรรม‘พลเมืองรุกเดิน’ เพื่อเรียกร้องให้ คสช.ยุติการนำพลเรือนขึ้นดำเนินคดีในศาลทหาร โดยขณะที่พันธ์ศักดิ์ ได้เดินมาถึงบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยระหว่างนั้นมีคนนำดอกไม้มามอบให้นายพันศักดิ์ พร้อมกับนำมาแจก และเชิญชวนให้นายปรีชาที่ยืนดูอยู่ นำดอกไม้ให้นายพันศักดิ์ด้วย นายปรีชาจึงได้นำดอกไม้ที่ได้รับแจกไปยื่นให้หนึ่งดอก จากนั้นได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบเข้ามาพูดคุยด้วย ตนจึงพูดคุยด้วยดีเนื่องจากไม่คิดว่าเป็นการกระทำความผิดแต่อย่างใด เมื่อเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบขอเบอร์โทรศัพท์ นายปรีชาจึงได้ให้ไปโดยไม่ได้คิดอะไร 
จากนั้นกลุ่มของนายพันธ์ศักดิ์ได้เดินต่อไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ลานปรีดี พนมยงค์ ปรีชาจึงเดินตาม เข้าไป แต่ได้แยกไปกินข้าวเมื่อเดินกลับออกมาพบกลุ่มนายพันธ์ศักดิ์ประมาณยี่สิบคนนั่งคุยกันอยู่โดยไม่ได้มีการกล่าวปราศัย ไฮด์ปาร์ก แต่อย่างใด ตนจึงได้เข้าไปนั่งฟังเฉยๆ จึงเป็นเหตุให้ถูกระบุว่ามีพฤติกรรมอยู่ในที่ชุมนุม
จากพฤติกรรมดังกล่าวนายปรีชาได้ถูกนำมาตั้งข้อกล่าวหาว่ามีการกระทำความผิดยุยงปลุกปั่นตาม  ป.อ.ม.116 (3) และร่วมกันฝ่าฝืนประกาศฯ ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557
หลังทราบผลการพิจารณาคดี วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความได้กล่าวว่า เหตุที่จำเลยตัดสินใจไม่ได้สู้คดีเนื่องจาก เมื่อศาลทหารได้อ่านคำฟ้องให้จำเลยฟัง โดยในคำฟ้องไม่มีความผิดฐาน ยุยงปลุกปั่น ตาม ป.อ. มาตรา 116 (3)   แต่ฟ้องในข้อหา ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ตามประกาศที่ 7/2557 เพียงข้อหาเดียว เมื่อปรึกษากับลูกความแล้ว มีความเห็นตรงกันว่า การสู้คดีเป็นภาระหนักสำหรับลูกความที่เป็นคนชรา มีปัญหาสุขภาพ ประกอบกับประเมินว่าข้อหาที่ฟ้องน่าจะได้รับการปราณีจากศาลลงโทษไม่หนักนักจึงตัดสินใจยอมรับสารภาพตามข้อกล่าวหา
วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ ได้แสดงความรู้สึกเป็นกังวลใจ ว่าหากมีการใช้การตัดสินคดีข้างต้นมาเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินคดีในลักษณะเดียวกันต่อไป 

อ่านแล้วชอบใจ สุเทพรับประกันร่างรธน.มีชัย ตอบโจทย์ปฏิรูปของ กปปส.


สุเทพ บอกเอาร่าง รธน.มีชัยมาดูแล้ว รู้สึกถูกใจ พอใจ ชอบใจ ยันส่วนใหญ่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของมวลมหาประชาชน ส่วนใครจะเลือกอย่างไรลงคะแนนรับไม่รับ เป็นเรื่องของแต่ละคน
ที่มาภาพ เฟซบุ๊ก Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)
เมื่อวันที่ 23 พ.ค. ที่ผ่านมา ที่เกาะสมุย สุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย พร้อมคณะ ประกอบด้วย ถาวร เสนเนียม วิทยา แก้วภราดัย อิสระ สมชัย สาทิตย์ วงศ์หนองเตย และชุมพล จุลใส ลงพื้นที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์วิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ และทอดผ้าป่าสามัคคี โดยมีหน่วยงานราชการ เอกชน และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมกว่า 500 คน
ซึ่ง สุเทพ ได้กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ว่าได้ศึกษาในรายละเอียดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พบว่าในเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญนั้นส่วนใหญ่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของมวลมหาประชาชนทุกประเด็น พร้อมยืนยันว่าการออกมาพูดในครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการรณรงค์ให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด เนื่องจากจะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ร่างรัฐธรรมนูญนำข้อเรียกร้องของ กปปส.ไปพิจารณา ประกอบไปด้วย การปฏิรูปการเมืองให้เข้าสู่การปกครองตามหลักประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การปฏิรูปกฎหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตและคอร์รัปชั่น การปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินให้ถึงมือประชาชน การลดความเหลื่อมล้ำ ทางการเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และสาธารณสุข
 
“ในภาพรวมของเราแล้วและในฐานะที่เป็นเลขาธิการ กปปส. เมื่อเอาเจตนารมณ์ของประชาชนเรื่อการปฏิรูปประเทศเป็นที่ตั้งแล้วเอาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาดูแล้วรู้สึกถูกใจ พอใจ ชอบใจ ส่วนใครจะเลือกอย่างไรลงคะแนนรับไม่รับ เป็นเรื่องของแต่ละคน ผมเขียนได้เป็นข้อๆ เอามาเปรียบเทียบได้ บางเรื่องไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญฉบับเก่าไม่เคยมี และเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศมานาน อย่างเรื่องนายกฯ เฉพาะกิจในรัฐธรรมนูญเขาเขียนไว้เลยว่า หากเกิดกรณีเช่นนั้นบุคคลที่มวลมหาประชาชนเรียกร้องไว้ก็ต้องออกมาทำเลยไม่ต้องปฏิวัติแล้ว ถ้ามีรัฐธรรมนูญแบบนี้ พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ต้องไปปฏิวัติ ผมถึงเห็นว่าตรงนี้เป็นการหาทางออกให้ประเทศ เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม ในฐานะศิษย์สวนโมกข์ อาจารย์พุทธทาสบอกว่า คนที่มาเป็นผู้นำ มาอย่างไรไม่สำคัญเท่ากับคนมีธรรมะ มีศีลธรรม ให้ได้คนดีก็แล้วกัน ไม่ได้อยู่ที่วิธีการมา แต่อยู่ที่คน” สุเทพ กล่าว
 

ประยุทธ์ เผยเตรียมฟ้องคนกล่าวหา 'ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ'


เมื่อวันที่ 23 พ.ค. ที่ผ่านมา ในการกล่าวมอบนโยบาย “การบูรณาการเพื่อนำประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระหว่างการประชุมสัมมนาการขับเคลื่อนและปฏิรูปประเทศไทยแบบบูรณาการ โดยผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วยคณะรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้นำเหล่าทัพ ผู้บริหารภาครัฐ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน ธนาคารของรัฐ และสื่อมวลชน
สำนักข่าวไทย และไทยรัฐออนไลน์ รายงานตอนหนึ่ง ที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ เรียกได้ว่าเป็นศตวรรษแห่งความว่างเปล่า เพราะไม่มีการสร้างความเข้มแข็งให้คนทั้งประเทศ และประเทศมีความอ่อนแอ การขับเคลื่อนต้องเดินหน้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีเศรษฐกิจอย่างเสรี ค้าขายกับทุกประเทศ ไม่เลือกข้าง
พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวว่า เรื่องการเมืองขอให้หนักแน่น อดทน เชื่อมั่นตน และเชื่อมั่นว่า ทุกคนเข้ามา ไม่ได้เพื่อหวังผลประโยชน์ และเตรียมที่จะฟ้องร้องคนที่กล่าวหา ว่ามีการเรียกรับเงินในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ เพราะแต่งตั้งตามปกติ ไม่ได้กลั่นแกล้งใคร รวมถึง กรณีที่การกล่าวหาว่า ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ ก็เตรียมที่จะฟ้องร้องเช่นเดียวกัน
 
"ขออย่าเชื่อเรื่องที่บิดเบือนว่าเศรษฐกิจตกต่ำ ผมจะให้สภาพัฒน์ไปฟ้อง เพราะมีการบิดเบือนตัวเลข และอย่าว่าทหารโกง หากมีหลักฐานก็ไปฟ้องมา หากกรรมการสอบสวน วันนี้บอกตำรวจไม่ดี งั้นต้องยุบหมดตำรวจ โรงเรียนนายร้อยก็ต้องยุบ สร้างใหม่ตั้งแต่ ป.1 ซึ่งมันไม่ได้ ต้องให้ความเป็นธรรมกับเขาด้วย สิ่งที่ผมพูดวันนี้ผมรับฟังจากทุกคนให้อภัยผมบ้างเวลาหงุดหงิดเพราะผมรับเยอะ วันนี้ทำงานตาม 6 ป. แต่วันนี้จะเอาแค่ป.เดียว ประชามติ ผมละเบื่อ วันนี้รัฐมนตรีกลาโหมบอกไม่ไหว 70 ปี แล้วจะลาออก ถ้าท่านลาออก ผมก็ใช้มาตรา 44 ตั้งท่านกลับมาใหม่ เราใช้กันเองอยู่แล้ว ถือว่าเรารักกัน ใครเป็นคนปล่อยข่าว ปลัดกระทรวงหรือเปล่า เราทำงานมาด้วยกัน รู้อยู่แล้วใครเป็นอย่างไร และคนที่ถูกปรับออกไม่ใช่ว่าไม่ดี เราร่วมชะตากรรมมาตั้งแต่ 22 พ.ค.2557 ผมไม่ทิ้งท่านอยู่แล้ว ท่านก็อย่าทิ้งผม" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
"การใช้อำนาจตามมาตรา 44 เป็นการทำเพื่อความมั่นคง ให้มีการผ่อนปรน ผ่อนผันได้  ขออย่าเชื่อข้อมูลที่บิดเบือน และยังมีกำลังใจในการทำงาน ไม่กลัว เพราะผมยิ่งตียิ่งร้อน ขอทุกคนมีกำลังใจซึ่งกันและกัน ทำงานร่วมกันเพื่อประเทศชาติ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว