วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2558

ตั๊น จิตภัสร์ขอถอนตัวจากการสมัครเป็นรองสารวัตรตำรวจ 191

แฟ้มภาพจิตภัสร์ กฤดากร ลงพื้นที่โรงเรียนในสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งโพสต์ในเพจเอกนัฏ พร้อมพันธุ์

จิตภัสร์ กฤดากร แถลงข่าวที่ดุสิตธานี ขอถอนตัวไม่สมัครรับราชการตำรวจ ตำแหน่งรองสารวัตร 191 บช.น. แล้ว เพราะไม่ต้องการสร้างความขัดแย้งในวงการตำรวจ และสร้างความแตกแยกในสังคม ยืนยันเป็นการตัดสินใจด้วยตัวเอง
กรณีมีข่าว จิตภัสร์ กฤดากร หรือ ตั๊น ทายาทนักธุรกิจซึ่งมีชื่อเสียง และอดีตแกนนำ กปปส. สมัครเพื่อเข้ารับการบรรจุเป็นข้าราชการเป็นตำรวจตำแหน่ง รองสารวัตร ฝ่ายอำนวยการ กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ หรือ 191 สังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) และตามมาด้วยการวิจารณ์หลายแง่มุม รวมทั้งข่าวตำรวจผูกริบบิ้นดำเพื่อคัดค้านนั้น (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)
ล่าสุดเมื่อเวลา 10.00 น. จิตภัสร์ ได้แถลงข่าวที่โรงแรมดุสิตธานี โดยมีผู้สื่อข่าวมาติดตามทำข่าวจำนวนมาก รวมทั้งมีการรายงานสดทางโทรทัศน์ โดย น.ส.จิตภัสร์ กล่าวว่า สาเหตุที่สมัครเนื่องจากทราบว่าขาดกำลังพล และพร้อมจะเข้าไปเรียนรู้และศึกษาการทำงานของตำรวจ หากคราวหน้ามีการประกาศรับสมัครจะไม่พลาดการสมัครอย่างแน่นอน
ส่วนการการสมัครเพื่อรับการบรรจุตำแหน่งรองสารวัตร สายตรวจ 191 สังกัด บช.น. นั้น ได้ดำเนินการตามปกติทุกขั้นตอนตามกฎหมาย และยังไม่ได้รับการบรรจุเพื่อรับราชการ ทั้งนี้หากทำให้เกิดความขัดแย้งในวงการตำรวจและสร้างความแตกแยกทางสังคม ก็ขอตัดสินใจไม่รับราชการตำรวจ โดยยืนยันว่าเป็นการตัดสินใจด้วยตัวเอง
ทั้งนี้ จิตภัสร์ แถลงว่าหวังให้คนไทยรักกัน และงานที่ทำอยู่ในเวลานี้คือเป็นกรรมการในมูลนิธิมวลมหาประชาชน พร้อมยืนยันว่าไม่ใช่หญิงในภาพที่ไปทำลายป้ายหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติในช่วงการชุมนุมปี 2556 โดยรายละเอียดการแถลงข่าว ตามที่เผยแพร่ในเพจ ตั๊น จิตภัสร์ กฤดากร มีดังนี้
000
"สวัสดี พ่อ แม่ พี่ น้อง ประชาชน และสื่อมวลชนทุกท่านค่ะ
วันนี้ตั๊นขอถือโอกาสในการชี้แจงและทำความเข้าใจข้อเท็จจริง จากกรณีที่หลายภาคส่วนในสังคม ตั้งข้อสงสัย ในการสมัครเข้ารับราชการตำรวจของตั๊น ซึ่งตั้งแต่ต้น ตัวตั๊นเองมีเจตนารมณ์ และความมุ่งมั่นตั้งใจ ที่จะเข้ามาทำงานเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคม และประเทศชาติ โดยภาระหน้าที่ดังกล่าว เป็นสิ่งที่ตั๊นได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2551 จวบจนทุกวันนี้ อย่างที่ทุกคนทราบกันดี ไม่ว่าจะเป็นการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เข้ามาทำงานการเมือง เพื่อรับใช้พี่น้องประชาชนที่ผ่านมา ถึงแม้ไม่ได้รับเลือกตั้ง แต่ตั๊นก็ยังคงทำงานในลักษณะจิตอาสามาตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด จะมีตำแหน่งหรือไม่มีตำแหน่งใดๆ ก็ตาม
จากกรณีการเข้าสมัครรับราชการตำรวจของตั๊น จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างกว้างขวาง ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากความบริสุทธิ์ใจของตั๊นเอง ที่ต้องการอยากจะเข้ามา มีส่วนร่วมทำงานในบทบาทหน้าที่ของข้าราชตำรวจ หรือที่เรียกว่า ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลบำบัดทุกข์ บำรุงสุข รับใช้ใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนอีกทางหนึ่ง ซึ่งอาชีพตำรวจนั้นถือเป็นอาชีพที่ทรงเกียรติ และเป็นกลไกสำคัญที่จะคงความยุติธรรมให้กับประชาชน และตั๊นก็คิดอยู่เสมอว่า ตำรวจเป็นอาชีพที่ต้องเสียสละทำงานหนัก เสี่ยงภัยอันตรายนานัปการ อีกทั้งเป็นผู้รักษากฎหมาย เพื่อผดุงความยุติธรรม ในฐานะเป็นที่พึ่งพาของประชาชน
ในห้วงเวลาที่ผ่านมา ตั๊นได้มีโอกาสทำงานร่วมกับพี่น้องตำรวจบางส่วนมาบ้าง ในบางสถานการณ์ ได้มีเวลาพูดคุยรับรู้ถึงความทุกข์ยาก และอุปสรรคปัญหาของการดำรงชีพของพี่น้องตำรวจ โดยเฉพาะชั้นประทวน ตั๊นเองมีความปรารถนาดีที่จะเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งในการศึกษา และทำงาน เรียนรู้กระบวนการทำงานผ่านชีวิตการเป็นตำรวจ เพื่อที่จะเข้าใจและเข้าถึงความยากลำบากในการเป็นตำรวจ ซึ่งในเบื้องต้นปัญหาของตำรวจนั้นคือการขาดแคลนทั้งกำลังพลและงบประมาณ ซึ่งในภายหน้า ถ้ามีโอกาสตั๊นจะไม่ลังเลที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ในการขับเคลื่อนพัฒนาและแก้ปัญหาขององค์กรตำรวจให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
สำหรับการเปิดรับสมัครเข้ารับราชการตำรวจดังกล่าว จะมีเป็นประจำทุกปี มีการเปิดรับสมัครบุคคลภายนอก โดยจะมีขั้นตอนกระบวนการในการสรรหา ซึ่งจะต้องผ่านการคัดเลือก การตรวจสอบ ตามระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งตัวตั๊นเองก็ได้ดำเนินการไปตามปกติทุกขั้นตอนตามกฎหมายและระเบียบที่ เกี่ยวข้องทุกประการ และในกรณีของตั๊นนั้น ยังไม่ได้มีการบรรจุเป็นร.ต.ต.ตามที่มีข่าวปรากฎตามสื่อต่างๆแต่อย่างใด ซึ่งจนถึงตอนนี้ตั๊นเองยังไม่ทราบเลยด้วยซ้ำว่าจะผ่านการสอบคัดเลือกหรือไม่ ก็ไม่รู้
ทึ่สำคัญจากการเชื่อมโยง กรณีของการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองของตั๊นที่ผ่านมา ตั๊นขอเรียนว่าบทบาทความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมานั้น เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมการชุมนุมมาจากหลากหลายกลุ่ม ซึ่งอาจมีแนวความคิดที่แตกต่างกันได้ แต่ตั๊นไม่มีเจตนาหรือพฤติกรรมใดที่จะไปดูถูก เหยียบย้ำศักดิ์ศรีของพี่น้องตำรวจ เพียงแต่แสดงออกโดยการเรียกร้องอยากเห็นตำรวจเป็นที่พึ่งที่แท้จริงของ ประชาชน แม้ในสถานการณ์การชุมนุม ที่ต้องได้เจอกับพี่น้องตำรวจ เราต่างมีน้ำจิตน้ำใจไมตรีที่ดี ซึ่งกันและกันเสมอ เพราะเข้าใจว่าต่างคนต่างดำเนินการไปตามหน้าที่ ส่วนกรณีภาพผู้หญิงท่านหนึ่งที่ไปทำลายป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และต่อมามีการนำมาตัดต่อภาพว่าเป็นตัวตั๊น ตั๊นขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริงค่ะ และคำให้สัมภาษณ์ในช่วงการชุมนุมที่เป็นภาษาอังกฤษที่มีการนำไปบิดเบือนนั้น ตั๊นได้ชี้แจงไปก่อนหน้านี้แล้วว่าไม่เป็นความจริงเช่นเดียวกัน
ทุกวันนี้น่าเป็นห่วงมาก ที่ยังคงมีการทำสงครามข้อมูลข่าวสารกัน โดยไม่ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงของแต่ละเหตุการณ์ สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยปัจจุบัน ยังคงจมอยู่กับความขัดแย้งและความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน ดังนั้นเพื่อไม่ให้กรณีของตั๊น ต้องเป็นชนวนเหตุที่ทำให้พ่อแม่พี่น้องในสังคม เกิดความไม่สบายใจ เป็นประเด็นที่ต้องมาถกเถียงกัน โดยเฉพาะในแวดวงพี่น้องข้าราชการตำรวจ ทุกระดับชั้น อันจะนำมาซึ่งความไม่สงบสุขในองค์กรตำรวจ หรืออาจขยายผลกลายเป็นไปเพิ่มความขัดแย้งในสังคม “ตั๊นจึงตัดสินใจที่จะไม่เดินหน้าดำเนินการต่อไปตามขั้นตอนของกระบวนการคัดเลือกเป็นข้าราชการตำรวจดังกล่าว” ค่ะ
ท้ายที่สุดนี้ ตั๊นขอกราบขอบพระคุณทุกๆกำลังใจ และคงต้องแสดงความเสียดายอย่างสุดซึ้ง ที่คงไม่มีวาสนาพอที่จะได้เข้าไปทำงานในองค์กรตำรวจ สวมเครื่องแบบตำรวจ ในฐานะเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ แต่ตั๊นจะขอนำคำติชมของทุกท่าน นำมาปรับปรุง และพัฒนาตัวเอง เพื่อสานต่อในการทำงานรับใช้พ่อแม่พี่น้อง ในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง ที่มุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานเพื่อทำประโยชน์ให้กับประชาชนทุกคนต่อไป อย่างไม่ย่อท้อ ตั้นยังคงมุ่งหวังอยากจะเห็นคนไทยด้วยกัน หันมามอบความรักให้แก่กันและกัน แทนความเกลียดชังบนความขัดแย้งแตกแยก เพื่อสร้างโอกาสที่จะจับมือเดินหน้าประเทศไทยไปอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนต่อไป"

ฎีกายืนสนธิปราศรัยปี 49 หมิ่นตระกูลดามาพงศ์-จำคุก 6 เดือน รอลงอาญา


ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษา คดีที่ พล.ร.ท.เกียรติศักดิ์ ดามาพงศ์ฟ้องว่าสนธิ ลิ้มทองกุลปราศรัยหมิ่นประมาทตระกูลดามาพงศ์เมื่อปี 49 - ศาลฎีกาพิพากษาว่าจำเลยทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตระกูลชินวัตร-ดามาพงศ์-วงศ์สวัสดิ์โกง ไม่ใช่การใส่ความทักษิณ ชินวัตรตามที่อ้าง ศาลฎีกาจึงพิพากษายืนจำคุก 6 เดือน รอลงอาญา พร้อมปรับ 5 หมื่น และให้ยกฟ้องผู้ทำเว็บเมเนเจอร์
24 ก.ย. 2558 - คดีที่ พล.ร.ท.เกียรติศักดิ์ ดามาพงศ์ ที่ปรึกษากองทัพเรือในขณะนั้น ญาติของคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภรรยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน และพวกเป็นจำเลยรวม 10 คน ในความผิดร่วมกันดูหมิ่นและหมิ่นประมาท ใส่ร้ายตระกูลดามาพงศ์ และบุคคลในตระกูลดามาพงศ์ของโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย ด้วยการโฆษณากล่าวหาบุคคลในตระกูลดามาพงศ์เรื่องการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป และถ่ายทอดสดผ่านช่องเอเอสทีวี โดยกล่าวหาว่า "ชินวัตร-ดามาพงศ์ โกงทั้งโคตร ขายชาติเลี่ยงภาษี" โดยฟ้องตั้งแต่ปี 2549 ช่วงการชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ส่วนจำเลยอีก 9 รายเป็นจำเลยที่ 2-10 ได้แก่ จำเลยที่ 2 น.ส.สโรชา พรอุดมศักดิ์ ผู้ดำเนินรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร, จำเลยที่ 3 บริษัท แมเนเจอร์ มีเดียกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน, จำเลยที่ 4 น.ส.เสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของบ.แมเนเจอร์ฯ, จำเลยที่ 5 นายขุนทอง ลอเสรีวานิช เจ้าของและผู้จัดทำเว็บไซต์ ww.manager.co.th, จำเลยที่ 6 บริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัด ผู้ผลิตรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร, จำเลยที่ 7 นายศุภชัย วงศ์วรเศรษฐ์ (โจทก์ถอนฟ้อง), จำเลยที่ 8-10 นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล, นายพชร สมุทรวณิช ซึ่งเป็นกรรมการบริหาร บ.ไทยเดย์ฯ และนายปัญจภัทร์ อังคสุวรรณ ผู้ควบคุมดูแลเว็บไซต์ www.manager.co.th เป็นจำเลยที่ 1-10
โดยโจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานร่วมกันดูหมิ่น และหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 332, 393 เหตุเกิดเมื่อวันที่ 24 ม.ค.- 4 ก.พ.49 ซึ่งคดีนี้ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ครั้งแรกตั้งแต่ 10 เม.ย. 2549 นั้น
ล่าสุด ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษาคดีดังกล่าว โดย มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.550/2549 หมายเลขแดง 2381/2550 โดยคดีนี้ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.50 ว่า ข้อเท็จจริงที่ได้จากคำเบิกความพยานโจทก์ยังคลาดเคลื่อนในทางนำสืบโจทก์จึงมีน้ำหนักไม่มั่นคงให้รับฟังได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยจึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาทฯ จึงพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 10
ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่าเมื่อพิจารณาจากข้อความตามฟ้องโจทก์เช่น “ชินวัตร...ดามาพงศ์ โกงทั้งโคตร ขายชาติเลี่ยงภาษี” แม้ไม่มีชื่อโจทก์แต่การที่ลงชื่อตระกูลทำให้ผู้อ่านย่อมเข้าใจไปได้ว่าหมายถึงทั้งตระกูลโจทก์ จึงเป็นผู้เสียหายอีกทั้งข้อความดังกล่าว ยังเป็นความหมายในทางลบทำให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกว่า การกระทำของตระกูลโจทก์กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่จะดำเนินการไม่ใช่หน้าที่จำเลยมาตัดสินข้อความตามฟ้องของจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่การเสนอข้อเท็จจริงโดยสุจริต
ส่วนจำเลยที่ 2, 3, 5, 6 และ 10 มีความผิดฐานเป็นตัวการร่วม ขณะที่จำเลยที่ 4 เป็นเพียงผู้บริหารแผนของจำเลยที่ 3 ย่อมไม่มีส่วนกระทำผิด ส่วนจำเลยที่ 8 และ 9 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 5 โจทก์ไม่มีได้นำสืบให้เห็นว่ามีส่วนร่วมกระทำผิดอย่างไร
โดยศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้อง ด้วยพิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 1, 2, 3, 5, 6 และ 10 กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, ประกอบมาตรา 83 ให้จำคุกจำเลยที่ 1, 2, 5 และ 10 คนละ 6 เดือน ปรับคนละ 5 หมื่นบาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 3 ปี
ให้ปรับจำเลยที่ 3 และ 6 ซึ่งเป็นนิติบุคคล คนละ 5 หมื่นบาท และให้ร่วมกันลงตีพิมพ์คำพิพากษาลงใน นสพ.ผู้จัดการรายวัน และเว็บไซต์ www.manager.co.th เป็นเวลา 7 วันต่อเนื่องกัน
ทั้งนี้ ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ โดยพิจารณาจากข้อความปราศรัยของนายสนธิ แล้วย่อมทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่า ตระกูลชินวัตร, ดามาพงศ์ และวงศ์สวัสดิ์ ซึ่งเกี่ยวข้องเป็นญาติกันมีพฤติกรรมโกง ไม่ใช่การใส่ความการทำงานของอดีตนายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร ตามที่จำเลยกล่าวอ้าง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืนจำคุก 6 เดือน นายสนธิ จำเลยที่ 1 นางสาวสโรชา จำเลยที่ 2 และนายปัญจภัทร์ จำเลยที่ 10 พร้อมปรับ 5 หมื่นบาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา 3 ปี ส่วนบริษัทไทยเดย์ จำเลยที่ 6 คงโทษปรับ 5 หมื่นบาท และพิพากษาแก้ให้ยกฟ้องบริษัทแมเนเจอร์ จำเลยที่ 3 และ นายขุนทอง จำเลยที่ 5
มติชนรายงานว่า ภายหลังศาลมีคำพิพากษานายสนธิได้เดินทางกลับทันที โดยไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ ต่อสื่อมวลชน

สืบพยานคดี ‘บัณฑิต อานียา’ ไม่พิจารณาลับ ทนายจำเลยขอส่งตรวจจิตเภท


ศาลทหารสืบพยานนัดแรก อัยการขอให้พิจารณาลับ ศาลเห็นว่าข้อความไม่แรง พิจารณาเปิดเผยได้ ด้านทนายยื่นขอส่งจำเลยวัย 73 ตรวจอาการจิตเภท ฟังคำสั่ง 9 ต.ค.
เมื่อวันที่ 23 ก.ย.2558  ที่ศาลทหาร มีการสืบพยานนัดแรกในคดีที่ บัณฑิต อานียา นักเขียนวัย 73 ปี ตกเป็นจำเลยในคดีมาตรา 112 จากกรณีแสดงความเห็นในงานระดมความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปของพรรคการเมืองเล็กๆ พรรคหนึ่งหลังการรัฐประหารไม่นาน
เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า อัยการได้แถลงต่อศาลว่าโจทก์จะนำสืบเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ที่ร่วมจับกุมโดยเป็นพยานคู่ จำนวน 4 ปาก มีความประสงค์ขอซักถามพยานให้เสร็จสิ้นก่อนทั้ง 4 ปากจึงให้ทนายจำเลยถามค้าน ดังนั้น ในการสืบพยานนัดแรกนี้ซึ่งเป็นตำรวจ 2 นายที่เข้าจับกุมจำเลย จึงยังไม่มีการถามค้านจากทนายจำเลย
อย่างไรก็ตาม การนัดหมายสืบพยานในนัดหน้ายังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้นำตัวจำเลยไปตรวจสภาพจิตยังสถาบันกัลยาราชคริรนทร์ เนื่องจากจำเลยมีประวัติป่วยเป็นจิตเภท และคดี 112 ก่อนหน้านี้ศาลฎีกาก็พิพากษาให้รอการลงโทษจำเลยเนื่องจากจำเลยเป็นจิตเภท ศาลรับคำร้องและนัดฟังคำสั่งเรื่องการส่งตัวไปตรวจอีกครั้งในวันที่ 9 ต.ค.นี้ จากนั้นจึงนัดสืบพยานในส่วนที่เหลือ
ทนายจำเลยกล่าวด้วยว่า ก่อนการสืบพยาน อัยการได้ร้องต่อศาลขอให้พิจารณาคดีลับ เช่นเดียวกับคดี 112 อื่นๆ ที่พิจารณาในศาลทหาร ทนายจำเลยได้คัดค้าน และท้ายที่สุดศาลสั่งให้พิจารณาโดยเปิดเผย เนื่องจากเห็นว่าข้อความตามฟ้องไม่ได้มีความรุนแรงหรือหยาบคายและยังมีเจ้าหน้าที่ผู้สังเกตการณ์คดีจากองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าร่วมด้วย
ทั้งนี้ บัณฑิต ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 27 พ.ย.57 หลังจากไปร่วมงานเสวนาที่จัดขึ้นโดยพรรคนวัตกรรม ซึ่งเป็นพรรคตั้งใหม่ยังไม่ได้จดทะเบียน การเสวนานี้เป็นการระดมความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปในประเด็นต่างๆ เช่น อำนาจ กกต., ที่มา ส.ส., สถาบันกษัตริย์ ฯลฯ เพื่อรวบรวมความเห็นส่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีผู้เข้าร่วมประมาณ 15 คน โดยขณะที่บัณฑิตกำลังแสดงความคิดเห็นอยู่ก็โดนรวบตัวทันทีโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สังเกตการณ์อยู่ในงานโดยที่ยังพูดไม่จบประโยค หลังจากนำตัวมาสอบปากคำที่ สน.สุทธิสารและถูกควบคุมตัวไว้หนึ่งคืน วันที่ 28 พ.ย. ตำรวจนำตัวเขาไปขออำนาจฝากขังต่อศาลทหาร ศาลอนุญาตให้บัณฑิตประกันตัวโดยมี 'วาด รวี' เพื่อนร่วมอาชีพเป็นนายประกัน ใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 400,000 บาท ขณะที่ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเขียนคำร้องประกอบระบุถึงปัญหาสุขภาพที่ผู้ต้องหาเหลือไตเพียงข้างเดียวและต้องมีถุงปัสสาวะติดลำตัวมาตลอดหลายปี จากนั้นบัณฑิตเข้ารายงานตัวต่อศาลในทุกนัดฝากขังจนครบ 7 ผลัด และมีการสั่งฟ้องในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 โดยในคำฟ้องระบุคำพูดของจำเลยเพียง 2 ประโยค ประโยคแรกกล่าวถึงความแตกแยกของสังคมไทยและสถานะของสถาบันกษัตริย์กับกฎหมาย ประโยคที่สองกล่าวถึงระบอบการปกครองว่าจะเลือกแบบใด
คดีนี้นับเป็นคดีที่ 2 ที่เขาตกเป็นจำเลยหมิ่นประมาทกษัตริย์ ในครั้งแรกนั้นเขาถูกขังในเรือนจำอยู่นาน 98 วัน รวมทั้งถูกส่งตัวไปรักษอาการจิตเภทด้วยก่อนได้รับการประกันตัว ต่อมาศาลอาญาลงโทษจำคุก 4 ปีแต่ให้รอการลงโทษไว้เนื่องจากจำเลยป่วยเป็นโรคจิตเภท จากนั้นศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี 8 เดือนโดยไม่รอการลงโทษเพราะเห็นว่าจำเลยควบคุมตนเองได้ กระทั่งเมื่อต้นปี 2557 ศาลฏีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

EU ขอไทยร่างรธน.ใหม่ โดยเคารพเสรีภาพในการพูด-ชุมนุม ฟังเสียงวิพากษ์

24 ก.ย. 2558 เฟซบุ๊กแฟนเพจ European Union in Thailand เผยแพร่แถลงการณ์จากสำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย โดยระบุว่า สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยออกแถลงการณ์ฉบับนี้โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะเอกอัครราชทูตของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย
สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยขอยืนยันในความมุ่งมั่นของสหภาพยุโรปต่อประชาชนชาวไทย ผู้ซึ่งสหภาพยุโรปมีความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งและยาวนานทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรม และการติดต่อเชื่อมโยงระดับประชาชน (people to people contacts) ในฐานะมิตรและหุ้นส่วนของประเทศไทยสหภาพยุโรปได้เรียกร้องอย่างต่อเนื่องให้มีการกลับเข้าสู่กระบวนการทางประชาธิปไตย
ในช่วงเวลาที่ได้เริ่มมีกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทางสำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเคารพเสรีภาพในการพูดและการชุมนุมอีกครั้ง การอภิปรายสาธารณะที่ทำได้อย่างเต็มรูปแบบและเสรีเท่านั้น ที่เสียงวิพากษ์วิจารณ์จะสามารถได้ยินได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการปฏิรูปและความสมานฉันท์ที่แท้จริง
สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยเชื่อว่าหลักนิติธรรม การปกป้องและการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญแก่ความมั่นคงและความก้าวหน้า และขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทางการไทยปฏิบัติตามข้อผูกพันของประเทศไทยภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง

 

บูร์กินาฟาโซเลิกทำรัฐประหาร มุ่งเลือกตั้ง 11 ต.ค.-สหประชาชาติแสดงความยินดี

เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ บัน คีมุน (ขวา) พบกับประธานาธิบดีมิแชล กาฟังโด ประธานาธิบดีบูร์กินาฟาโซ (ซ้าย) ที่กรุงแอดดิส อาบาบา ประเทศเอธิโอเปีย เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2558 (ที่มา: UN Photo/Eskinder Debebe/แฟ้มภาพ)

ผ่านไปได้เพียงสัปดาห์เดียว คณะรัฐประหารที่บูร์กินาฟาโซได้ขอยกเลิกทำรัฐประหาร ยอมปล่อย ปธน. หลังชาติแอฟริกาเข้ากดดันและเจรจา ด้านเลขาธิการยูเอ็น 'บัน คีมุน' ร่วมแสดงความยินดีกับ ปธน.บูร์กินาโฟโซที่กลับมารับตำแหน่งอีกครั้ง และชื่นชมที่ชาติแอฟริการ่วมกันหาทางออกวิกฤตการเมือง ยืนยันยูเอ็นจะทำงานใกล้ชิดเพื่อให้จัดการเลือกตั้งอย่างสันติ-โปร่งใส
24 ก.ย. 2558 เมื่อวานนี้ (23 ก.ย.) เลขาธิการสหประชาชาติ บัน คีมุน ได้แสดงความยินดีที่ประธานาธิบดีมิแชล กาฟังโด กลับมารับตำแหน่งในรัฐบาลเฉพาะกาลของบูร์กินาฟาโซ อีกครั้งหนึ่ง โดยในคำแถลงของ บัน คีมุน ได้กล่าวถึงความพยายามของ ประชาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐแอฟริกาตะวันตก (Economic Community Of West African States - ECOWAS) ประมุขของรัฐและรัฐบาล รวมถึงทีมเจรจาของ ECOWAS ที่สามารถหาทางออกต่อวิกฤตการเมืองได้แต่เนิ่นๆ
โดยที่ประธานาธิบดีกาฟังโด นายกรัฐมนตรียาคูบา ไอแซค ซิดา และรัฐมนตรีในรัฐบาลหลายคนถูกหน่วยพิทักษ์ประธานาธิบดี (RSP) ซึ่งภักดีต่อประธานาธิบดีคนก่อน ทำรัฐประหาร และควมคุมตัวเมื่อสัปดาห์ก่อน และต่อมาคณะรัฐประหารได้ล้มเลิกการทำรัฐประหาร และยอมปล่อยตัวประธานาธิบดี
ทั้งนี้เลขาธิการองค์การสหประชาชาติได้ชื่นชมความร่วมมือที่ดียิ่งระหว่าง สหประชาชาติ สหภาพแอฟริกัน และ ECOWAS และหน่วยงานนานาชาติต่างๆ ที่สร้างหลักประกันเพื่อทำให้รัฐธรรมนูญกลับคืนมายังประเทศแห่งนี้อีก
บัน คีมุน กล่าวด้วยว่า การเริ่มต้นใหม่ของกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง รวมไปถึงรัฐธรรมนูญและบทเฉพาะกาล จะช่วยให้บูร์กินาฟาโซ สามารถจัดการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาและประธานาธิบดี นอกจากนี้ บัน คีมุน ยังเรียกร้องต่อผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในบูร์กินาฟาโซ อดทนอดกลั้น และเคารพต่อสิทธิในบูรณภาพแห่งร่างกายและสิทธิมนุษยชนแห่งพลเมืองบูร์กินาฟาโซ
ในขณะที่ ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติด้านแอฟริกาตะวันตก โมฮัมหมัด อิบราฮิม แชมบาส จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้เกี่ยวข้องในระดับระหว่างประเทศและภูมิภาคเพื่อสนับสนุนเจ้าหน้าที่ในบูร์กินาฟาโซ เพื่อที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งที่สันติและโปร่งใส
ทั้งนี้เมื่อพุธที่ 16 ก.ย. หน่วยพิทักษ์ประธานาธิบดี (RSP) ซึ่งภักดีต่ออดีตประธานาธิบดีเบลส์ คอมปาโอเร ที่ถูกประชาชนขับไล่เมื่อตุลาคมปีก่อน ได้ทำรัฐประหาร โดยเข้าจับกุมประธานาธิบดีเฉพาะกาล มิแชล กาฟังโด นายกรัฐมนตรียาคูบา อีซัค ซีดา และรัฐมนตรีสองคน โดยอ้างว่าการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งห้ามผู้สนับสนุนคอมปาโอเรลงสมัครรับเลือกตั้งในวันที่ 11 ต.ค. นี้ ได้สร้างความแตกแยกและไม่พอใจให้แก่ประชาชน
อย่างไรก็ตามช่วงเช้าวานนี้ (23 ก.ย.) คณะรัฐประหารได้ยกเลิกการทำรัฐประหาร ยอมตกลงถอนกำลังกลับสู่กองทัพ ตามข้อตกลงที่มีขึ้นหลังการเจรจากับผู้นำชาติแอฟริกาโดยมีประธานาธิบดีจากเซเนกัล, โตโก, เบนิน และไนจีเรียเข้าร่วมการต่อรอง
หัวหน้าหน่วยอารักขาประธานาธิบดีซึ่งทำรัฐประหาร พล.อ.กิลเบิร์ต ดิอองแดร์ ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่าการทำรัฐประหารของเขานั้น "เป็นความผิดพลาดครั้งยิ่งใหญ่" "เราทราบว่าประชาชนไม่ได้สนับสนุนสิ่งนี้ นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมเราถึงล้มเลิกการทำรัฐประหาร" ทั้งนี้ตามรายงานของบีบีซี
โดยในช่วงที่มีการทำรัฐประหาร มีประชาชนออกมาปะทะกับคณะรัฐประหารทำให้ประชาชนอย่างน้อย 10 คนเสียชีวิต และมีผู้บาดเจ็บ 100 ราย

ว่าที่ทูตสหรัฐเริ่มงานเมื่อมาถึง กทม. และยื่นสาส์นตราตั้งต่ออธิบดีกรมพิธีการทูต

กลิน เดวีส์ ว่าที่ทูตสหรัฐฯ เริ่มภารกิจเมื่อมาถึงกรุงเทพฯ โดยร่วมในพิธีต้อนรับของสถานทูต สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิภายในสถานทูต ขณะที่วันนี้เข้าพบอธิบดีกรมพิธีการทูต กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อยื่นอักษรสาน์สตราตั้ง และไปพระบรมมหาราชวังเพื่อลงนามถวายพระพรแด่พระเจ้าอยู่หัวฯ
24 ก.ย. 2558 กลิน เดวีส์ ว่าที่เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เดินทางมาถึงแล้วเมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยเพจสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย U.S. Embassy Bangkok ได้เผยแพร่ภาพวิดีโอแสดงภาพจากมุมมองบุคคลที่ 1 เมื่อทูตสหรัฐเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ด้วย
บรรยากาศการทำงานวันแรกที่สถานทูตสหรัฐอเมริกา ของกลิน เดวีส์ ว่าที่เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย (ที่มา: เพจสถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย)
ว่าที่ทูตสหรัฐอเมริกาเข้าพบนายจักรี ศรีชวนะ อธิบดีกรมพิธีการทูต เพื่อยื่นอักษรสาส์นตราตั้ง (ที่มา:เพจสถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย)
ว่าที่ทูตสหรัฐอเมริกา เดินทางไปลงนามถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่พระบรมมหาราชวัง (ที่มา: เพจสถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย)
นอกจากนี้ในเพจของสถานทูตสหรัฐ มีการเผยแพร่ภาพการทำงานวันแรกของทูตกลิน เดวีส์ ส่วนกิจกรรมวันนี้ (24 ก.ย.) ว่าที่เอกอัครราชทูต เดินทางไปกระทรวงการต่างประเทศเพื่อยื่นอักษรสาส์นตราตั้งเป็นว่าที่เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยคนใหม่ต่อนายจักรี ศรีชวนะ อธิบดีกรมพิธีการทูต
โดยธรรมเนียมและพิธีการทูตกำหนดให้เอกอัครราชทูตต่างประเทศที่เพิ่งเดินทางมาประจำประเทศไทยดำเนินการผ่านกระทรวงการต่างประเทศเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสาส์นหรืออักษรสาส์นตราตั้งต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงอนุมัติเห็นชอบอย่างเป็นทางการให้เริ่มปฏิบัติหน้าที่เอกอัครราชทูต และเดินทางไปยังพระบรมมหาราชวังในนามของประชาชนชาวอเมริกันเพื่อลงนามถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ขอให้พระองค์ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์และมีพระชนมายุยิ่งยืนนาน
อนึ่ง ในเว็บไซต์ของสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ระบุว่า นายกลิน เดวีส์ เป็นนักการทูตอาชีพลำดับชั้นอัครราชทูตที่ปรึกษา ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโสฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน
ก่อนหน้านั้น นายเดวีส์เคยเป็นผู้แทนพิเศษด้านนโยบายเกาหลีเหนือระหว่างพ.ศ. 2555–2557 และปฏิบัติราชการในตำแหน่งผู้แทนสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา และทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency—IAEA) ระหว่างปีพ.ศ. 2552–2555
นายเดวีส์เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มรองผู้ช่วยรัฐมนตรี และเป็นรองผู้ช่วยรัฐมนตรีฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างพ.ศ. 2549–2552 ทั้งยังเป็นที่ปรึกษาอาวุโสประจำ Leadership and Management School แห่ง Foreign Service Institute (FSI) เมื่อพ.ศ. 2548–2549 รักษาการผู้ช่วยรัฐมนตรีฝ่ายประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาในปีพ.ศ. 2548 รองผู้ช่วยรัฐมนตรีฝ่ายกิจการยุโรประหว่างปีพ.ศ. 2547–2548 และผู้อำนวยการฝ่ายการเมืองในวาระที่สหรัฐอเมริกาเป็นประธานกลุ่ม G-8 ระหว่างปีพ.ศ. 2546–2547
และช่วงปี พ.ศ. 2542–2546 นายเดวีส์รับตำแหน่งอัครราชทูตที่ปรึกษาของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ณ กรุงลอนดอน นอกจากนี้ ยังเคยเป็นผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Council – NSC) ระหว่างปีพ.ศ. 2540–2542 รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาและรองผู้ช่วยรัฐมนตรีฝ่ายกิจการสาธารณะระหว่างพ.ศ. 2538–2540 และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ (Operations Center) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างพ.ศ. 2535–2537 โดยก่อนหน้านั้น เคยไปปฏิบัติราชการในหลายประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และซาอีร์
นายเดวีส์จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขา Foreign Service จาก Georgetown University และปริญญาโทจาก National Defense University