วันจันทร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2560

กรุงเทพโพลล์เผยประชาชน 45.3% เชื่อทำ 'พ.ร.บ.ประกอบ รธน.' เสร็จไม่ทัน-ต้องเลื่อนเลือกตั้ง





             กรุงเทพโพลล์เผยผลสำรวจประชาชนร้อยละ 53.0 เห็นการเมืองไทยขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ มาครบ 1 ปี ทั้งนี้ร้อยละ 45.3 เห็นว่า กรธ. ไม่น่าจะจัดทำ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญเสร็จทัน ทำให้ต้องขยายระยะเวลาการเลือกตั้งออกไป ขณะที่ประชาชนร้อยละ 95.9 พร้อมออกไปใช้สิทธิ์แน่นอนหากการเลือกตั้งมาถึง



             13 ส.ค. 2560 กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ทิศทางการเมืองไทยหลังครบ 1 ปีประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,217คน พบว่า จากการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ มาครบ 1 ปี ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 53.0 มีความเห็นว่า การเมืองไทยขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆรองลงมาร้อยละ 20.3 มีความเห็นว่า ยังไม่เห็นการขับเคลื่อนใดๆ และร้อยละ 19.2 มีความเห็นว่าการเมืองไทยถอยกลับสู่จุดความขัดแย้งเดิม ๆ

            ทั้งนี้เมื่อถามความเห็นว่าคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญจะสามารถจัดทำ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จตามโรดแมปที่กำหนดไว้หรือไม่นั้น ประชาชนร้อยละ 45.3 ระบุว่าไม่น่าจะทันทำให้ต้องขยายระยะเวลาการเลือกตั้งออกไปขณะที่ร้อยละ 34.1 ระบุว่าน่าจะทันและจัดเลือกตั้งได้ตามกำหนดที่เหลือร้อยละ 20.6 ระบุว่าไม่แน่ใจ

          สุดท้ายหากจัดทำ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จและมีการจัดการเลือกตั้ง จะออกไปใช้สิทธิ์หรือไม่ประชาชนร้อยละ 95.9 ระบุว่าจะออกไปใช้สิทธิ์แน่นอนมีเพียงร้อยละ 0.8 เท่านั้นที่ระบุว่าจะไม่ออกไปใช้สิทธิ์ที่เหลือร้อยละ 3.3ระบุว่าไม่แน่ใจขอดูก่อน

พรรคการเมืองขอ คสช.ปลดล็อก โพลล์ระบุประชาชนไม่เห็นด้วยยกเลิกพรรคเดียวเบอร์เดียว



             พรรคชาติไทยพัฒนา หวัง คสช. ปลดล็อกพรรคการเมือง เลิกระแวงขอให้พรรคกลับไปปรับปรุงระบบตามกฎหมาย-เปิดให้ประชุมกันได้ 'สวนดุสิตโพลล์' เผยผลสำรวจ ปชช. 41.91% ไม่เห็นด้วยยกเลิกผู้สมัครพรรคเดียวเบอร์เดียว


              เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2560  นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงการปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองหลัง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้ว่า ความจริง คสช.ควรปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้เป็นต้นมาแล้ว แต่ก็ยื้อเวลามาจนกระทั่งร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองใกล้จะประกาศใช้ วันนี้แม้แต่ กกต.ในฐานะผู้ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวก็ยังออกมาสนับสนุนให้มีการปลดล็อกให้พรรคการเมืองเตรียมตัว จึงอยากให้ คสช.ไว้วางใจ เพราะต้องยอมรับว่าตามเนื้อหาของร่างดังกล่าวมีขั้นตอนมาก มีกำหนดวันเวลาให้พรรคการเมืองต่างๆ กลับไปปรับปรุงระบบพรรคตามกรอบที่กฎหมายกำหนด ทั้งระบบสมาชิก ข้อบังคับพรรค รวมไปถึงกระบวนการคัดเลือกผู้สมัครแบบไพรมารีโหวตด้วย

           “ที่ผ่านมาทุกฝ่ายให้ความไว้วางใจและเชื่อมั่นรัฐบาล คสช.มาโดยตลอดว่าสิ่งที่ คสช.ได้ดำเนินการมาตลอด 3 ปีกว่านั้นมันไม่เสียของ และมีผลงานบรรลุเป้าหมาย วันนี้ต้องเลิกหวาดระแวง เพราะจะดูเสมือนว่า สิ่งที่ตนเองทำมามันล้มเหลวไม่ประสบความสำเร็จใช่หรือไม่ ในเมื่อวันนี้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นในสิ่งที่คสช.ประกาศแล้ว ผมก็อยากให้ คสช.เชื่อมั่นทุกฝ่ายเหมือนกัน เพราะวันนี้รัฐธรรมนูญก็ประกาศใช้แล้ว อีกไม่นาน ร่าง พ.ร.ป.ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับแรกก็ใกล้มีผลจะบังคับใช้ก็ควรเปิดให้พรรคการเมืองประชุมหารือกันได้เพื่อเตรียมตัวเดินไปตามที่กฎหมายกำหนดสำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น” นายสมศักดิ์กล่าว

'สวนดุสิตโพลล์' เผยผลสำรวจ ปชช. 41.91% ไม่เห็นด้วยยกเลิกผู้สมัครพรรคเดียวเบอร์เดียว

         รายงานเมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่าสวนดุสิตโพลล์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "ประชาชนคิดอย่างไร? กับ การจะยกเลิกระบบผู้สมัครเลือกตั้งแบบพรรคเดียวเบอร์เดียว" โดยสวนดุสิตโพลล์ ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,119 คน ระหว่างวันที่ 8-11 ส.ค. 2560 สรุปผลได้ดังนี้

1.ประชาชนคิดอย่างไร กับ กรณีที่ กรธ. จะยกเลิกระบบผู้สมัครเลือกตั้งแบบพรรคเดียวเบอร์เดียว
  • อันดับ 1 ควรรับฟังความเห็นทั้งประชาชนและนักการเมือง 60.86%
  • อันดับ 2 ไม่ว่าจะเลือกตั้งแบบไหนก็มีทั้งข้อดี-ข้อเสีย ที่แตกต่างกัน 58.27%
  • อันดับ 3 อยู่ในขั้นตอนการเสนอร่างฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ 50.04%
  • อันดับ 4 ยังไม่รู้รายละเอียดที่ชัดเจน ไม่แน่ใจว่าจะเป็นรูปแบบใด 48.88%
  • อันดับ 5 เป็นแนวทางใหม่ ๆ อาจทำให้การเลือกตั้งดีขึ้น 43.14%

2. “ข้อดี-ข้อเสีย” ของการใช้เบอร์เดียวกันของพรรคเดียวกันทั้งประเทศ
ข้อดี 
  • อันดับ 1 จดจำง่าย เข้าใจง่าย 74.80%
  • อันดับ 2 เป็นวิธีที่ใช้มานาน ประชาชนคุ้นเคย 64.97%
  • อันดับ 3 พรรคการเมืองหาเสียงง่าย 63.99%

ข้อเสีย 
  • อันดับ 1 เกิดการทุจริต ซื้อเสียงได้ง่าย 73.28%
  • อันดับ 2 คนเลือกพรรคมากกว่าตัวบุคคล 68.54%
  • อันดับ 3 คนจำแต่ตัวเลข ไม่สนใจนโยบาย 54.60%

นปช.ลงพื้นที่ช่วยน้ำท่วมภาคอีสาน-ทหารเฝ้าสังเกตการณ์




นปช.ลงพื้นที่ภาคอีสาน มอบเงินช่วยเหลือโรงเรียนผู้ประสบอุทกภัย ในภาคอีสาน และมอบข้าวสาร อาหารแห้ง ให้กับผู้ประสบภัยด้วย ท่ามกลางการสังเกตการณ์จากทหารและเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด

เว็บไซต์บ้านเมือง รายงานเมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมานายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เปิดเผยว่าการลงพื้นที่มอบทุนช่วยเหลือโรงเรียนที่ประสบภัยน้ำท่วมในภาคอีสานของพวกตน ในวันนี้เป็นวันแรก โดยเริ่มต้นวันนี้ด้วยการ ไปที่วัดสว่างสันติธรรม จังหวัดอุดรธานี เพื่อพบปะพี่น้อง และรับเงิน สิ่งของที่ได้จากการเปิดรับบริจาค ในพื้นที่ภาคอีสานส่วนที่น้ำไม่ท่วม และร่วมขบวนกัน เดินทางไปมอบเงินบริจาคให้กับโรงเรียนผู้ประสบอุทกภัย

จากนั้น ขบวนก็ได้เดินทางไปที่ วัดโนนจำปา อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร แกนนำ นปช.ได้ร่วมทอดผ้าป่ากับทางวัด ซึ่งประสบอุทกภัยเช่นเดียวกัน และได้มอบเงินช่วยเหลือให้กับโรงเรียนผู้ประสบอุทกภัย จำนวน 10 โรงเรียน และได้เดินทางมาที่โรงเรียนบ้านไฮหย่อง อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร มอบเงินช่วยเหลือ โรงเรียนอีกเกือบ 60 โรงเรียน โดยได้มอบให้โรงเรียนละสองหมื่นบาท

นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า ถือได้ว่าภารกิจตลอดทั้งวัน บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการธารน้ำใจไทย ไหลสู่อีสาน ยามมีภัย เราไม่ทิ้งกัน ได้มีการมอบข้าวสาร อาหารแห้ง จำนวนหนึ่ง รวมถึงเงินบริจาค ให้กับผู้ประสบอุทกภัยในภาคอีสาน อีกทั้งในวันพรุ่งนี้ ก็จะเดินทางไปในจังหวัดร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์

ขอขอบคุณ พี่น้องประชาชน ทุกคน ทุกท่าน ที่สละเงินทอง สิ่งของร่วมบริจาคมา รวมถึงเพื่อนมิตรศิลปินที่มาช่วยกัน ทำให้เห็นว่า ยามมีภัย เราคนไทยไม่ทิ้งกัน ธารน้ำใจไทย เคยไหลสู่ปักษ์ใต้ ในวันนี้ก็ไหลสู่ภาคอีสาน ในเหตุอุทกภัยเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เราจะเดินหน้าปฏิบัติภารกิจเช่นนี้ต่อไป

นางพิสมัย บาลลา ผู้อำนวยการโรงเรียนช้างมิ่งพิทยานุกุล อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร กล่าวว่า โรงเรียนของตนเป็นโรงเรียนสุดท้ายที่น้ำยังลงไม่หมด ความเดือดร้อนที่ได้รับจากเหตุอุทกภัย ในครั้งนี้คือ ไม่สามารถเปิดทำการเรียนการสอนได้ แม้จะยกของขึ้นที่สูงทัน แต่ก็ยังคงมีสิ่งของบางอย่างที่เสียหาย รวมถึงทัศนียภาพ ภูมิทัศน์ของโรงเรียน เมื่อได้รับเงินช่วยเหลือก้อนนี้ไป ถือว่าเป็นประโยชน์มาก เบื้องต้นจะนำไปปรับปรุง ซ่อมแซมถนนทางเข้าโรงเรียน รวมถึงใช้เป็นทุนค่าอาหารนักเรียนด้วย

การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เป็นไปอย่างเรียบร้อย ท่ามกลางการอำนวยความสะดวกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขับรถนำขบวน รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ทหาร ทั้งในและนอกเครื่องแบบ คอยเฝ้าสังเกตการณ์การทำกิจกรรมทั้งวันด้วย

ถก 1 ปีประชามติ (1): ผิดหลักการ โหวตแล้วไม่ได้ใช้ เปิดเงื่อนไขเลือกตั้ง-วิธีแก้ รธน. แบบไม่ต้องฉีก



            ผ่านมา 1 ปีอนาคตชาติ เลือกตั้ง ปรองดองยังรางเลือน จะคานอำนาจเลือกตั้งต้องมาจากเจตจำนงประชาชน ฝากคนไทยคิดถึงเงื่อนไขการเลือกตั้ง 4 ประการ คสช. ฝืนโลกแต่คนรับกรรมคือสังคมไทย ม.44 ยังใช้ได้แม้ยกเลิก รธน. ชั่วคราว เสนอแผนแก้รัฐธรรมนูญ 3 ระยะด้วยพลังประชาชน อัดประชามติผิดหลักการ โดนแก้ไขหลังโหวต ถ้าเปิดเสรีคนไทยคงไม่โง่ถอยหลังเข้าคลอง 1 ปีผ่านไปเหมือนสูญเปล่า รธน. คนละฉบับกับที่โหวต มีก็เหมือนไม่มีเพราะทหารยังกดขี่ มรดกรัฐประหารจะอยู่ต่อไป วอน เลิกวัฒนธรรมรัฐประหาร ลอยนวลพ้นผิดต้องเอา คสช. เข้าคุกให้ได้


            13 ส.ค. 2560 กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) จัดงานเสวนา “เหลียวหลังแลหน้าประเทศไทย: 1 ปีหลังประชามติ” ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ อาคารเอนกประสงค์ ชั้น 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) โดยเชิญวิทยากรมาร่วมเสวนา ได้แก่ ผศ.ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิมันต์ โรม สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อารีฟีน โสะ สมาชิกสหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียน และเยาวชนปาตานีหรือ PerMAS กรรณิกา กิจติเวชกุล สมาชิกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และสุนทร บุญยอด สมาชิกสภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย ดำเนินรายการโดย ปกรณ์ อารีกุล
ผ่านมา 1 ปีอนาคตชาติ เลือกตั้ง ปรองดองยังรางเลือน จะคานอำนาจเลือกตั้งต้องมาจากเจตจำนงประชาชน



            พิชญ์ กล่าวว่า ประเด็นแรกอยากจะพูดว่า โรมติดต่อมาให้พูดเรื่อง 1 ปีประชามติ ผมลืมไปแล้วว่ามันมีประชามติไปแล้ว และมีอะไรเกิดขึ้นหลังจากนั้น เวลามันยาวนานเหลือเกิน และผลจากประชามติตอบอะไรบ้าง ก็ตอบว่า 
  • สิ่งที่พลังประชาธิปไตยคาดหวังร้อยแปดว่าถล่มทลายแน่ ตัวชี้วัดสำคัญคือฝ่ายก้าวหน้าไม่เอากระบวนการประชามติ ข้อสอง พรรคการเมืองก็รวมตัวกันไม่เอาประชามติ เว้นแต่พวกนักการเมืองกลายพันธุ์แบบคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือ กปปส. ในเชิงสถาบันการเมือง อย่างน้อยคู่ขัดแย้งสำคัญคือพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ประกาศไม่เอาประชามติทั้งคู่ ดังนั้นสิ่งที่ตอบได้มีสองประการ 
    • ประการที่หนึ่ง เราต้องประเมินตัวเองด้วยว่าสิ่งที่เรามโนกันมันสัมพันธ์กับความเป็นจริงทางสังคมมากน้อยแค่ไหน ทำไมมันถึงค้านกับสิ่งที่เราคิดและฝัน ซึ่งนั่นคือบทเรียน ไม่ได้หมายความว่าต้องมาตำหนิกัน 
    •  ประการที่สอง การทำประชามติในครั้งที่ผ่านมาสะท้อนจริงๆ ว่ารัฐไทยมีความสามารถในการปราบปรามและกดบังคับประชาชนถ้ากลไกรัฐทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงการสกัดยั้บยั้งไม่ให้องค์การระหว่างประเทศเข้ามาตรวจสอบ ในประเด็นการแพ้ประชามตินั้นขอดัดจริตวางตัวเป็นกลางว่า มันก็พอๆ กับการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ฝ่ายที่เลือกตั้งแล้วแพ้รู้สึกว่าการเลือกตั้งไม่เป็นธรรมฉันใด ฝ่ายที่แพ้ประชามติก็คงรู้สึกเช่นนั้น เพราะผู้ชนะคือผู้กุมอำนาจ ดังนั้นฝ่ายที่แพ้ก็ต้องกลับมาคิดว่าได้บทเรียนอะไรร่วมกันในการต่อสู้ภายใต้ข้อจำกัดหลายประการ

            ผมคิดว่าสิ่งซึ่งนับถอยหลังไปก่อนประชามติ ย้อนไปนับแต่รัฐประหารจนถึงวันนี้ก็สามปี แล้วเราก็ยังมองเห็นเพียงแต่ความเลือนรางมากๆ ว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นเมื่อไหร่ คำตอบของรัฐบาลก็มักตอบว่าให้เป็นไปตามโรดแมปที่เป็นรุ่นแบบเกิน 200 ปีที่แล้ว ไม่ใช่โรดแมปที่เข้าใจกันในวันนี้ที่ในมือถือมีแอพที่ชื่อว่ากูเกิลแมป ที่บอกระยะทาง มีรถติดตรงไหน ที่สำคัญคือมันบอกเงื่อนเวลาว่าท่าจะไปถึงกี่นาที แต่โรดแมปของรัฐบาลบอกเพียงว่ามีโรด และแมป แต่ไม่บอกเวลา สิ่งน่ากังวลก็คือ 
            
            ท่ามกลางความแตกต่างของการทำรัฐประหารรอบนี้ที่บอกว่าอย่าให้เสียของ เพราะบรรดาเนติบริกรที่กระเหี้ยนกระหือรือออกมาทำให้บ้านเมืองเป็นแบบที่พวกเขาต้องการ ช่างต่างจากการรัฐประหารที่เราคุ้นเคยในช่วงปี 2520 ที่รัฐประหารแล้วรีบจัดให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งในแง่หนึ่งคือการปรับความสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดการต่อรองในหลายๆ ฝ่าย ถ้าไม่มองแบบฝ่ายประชาธิปไตยสุดโต่ง อย่างน้อยปรากฏการณ์ดังกล่าวแสดงทิศทางของการแบ่งปันอำนาจไม่มากก็น้อย แต่รัฐประหารรอบนี้ไม่ใช่การแบ่งแล้ว มันเป็นการสถาปนาโครงสร้างที่ไม่มีการแบ่ง ถึงจะให้บ้างก็เป็นการโยนเศษๆ ให้ สมัยก่อนมีการแบ่งแล้วใช้อิทธิพลครอบงำ แต่สมัยนี้ใช้อภินิหารทางกฎหมายเป็นเครื่องมือในการไม่แบ่ง ในโครงสร้างเก่า การแบ่งอำนาจไม่ได้แปลว่าแบ่งอย่างเท่าเทียม สมัยนี้ผู้มีอำนาจพยายามทำทุกอย่างให้เป็นกฎหมาย มันไม่ได้หมายความว่าจะยุติธรรม ลักษณะดังกล่าวสะท้อนถึงการจัดสรรบรรยากาศทางสังคม การปรับตัวเชิงสถาบันต่างๆ ที่ทำให้การปรองดองและการยอมรับให้กฎหมายชุดใหม่เดินไปได้ กฎหมายไม่ได้ทำงานบนความเป็นจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่วางอยู่บนการยอมรับของทุกฝ่าย ความถูกต้องตามกฎหมายจึงไม่เท่ากับการยอมรับการสถาปนาตัวกฎหมายเป็นสถาบัน (legal ไม่เท่ากับ institutional) กฎหมายเท่ากับคำสั่งของผู้ปกครองในสังคมที่ผู้ปกครองไม่ได้มาจากประชาชน การเคารพกฎหมายเกิดขึ้นได้เมื่อประชาชนรู้สึกยึดโยงกับอำนาจ ยอมรับความชอบธรรมของผู้ออกกฎหมาย ในที่นี้ประชาชนอาจจะยอมรับเพราะพูดไม่ได้

            ในเรื่องการสร้างความปรองดอง ความพยายามในการสร้างความปรองดองไม่ชัดเจน ก้ำกึ่งระหว่างให้ความขัดแย้งคงอยู่เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปกครองต่อ หรือความชอบธรรมในการมีอำนาจปกครองต่อคือการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ทำให้การแก้ปัญหาความขัดแย้งไม่เข้มข้นเท่าที่ควรเพราะมีคนกลุ่มหนึ่งที่คิดว่าปล่อยให้เป็นแบบนี้ก็ยังอยู่ได้ ไม่ได้พูดถึงคณะรัฐประหารอย่างเดียวแต่พรรคการเมืองก็มีเหมือนกัน

            ประการสุดท้าย ในสังคมไทยมีการมองการเลือกตั้งแบ่งตัวเองออกเป็นสองกลุ่ม 
  • กลุ่มแรกมองว่าการเลือกตั้งคือยาแก้สารพัดโรค ประชาธิปไตยเท่ากับการเลือกตั้ง ซึ่งไม่ใช่ไม่จริง แต่ก็ยังมีเงื่อนไขที่เรายังไม่พูด ส่วนตัวก็อยากให้มีการเลือกตั้ง 
  • ประการที่สอง กลุ่มที่ไม่เอาการเลือกตั้ง ไม่เอาประชาธิปไตยเพราะเขารู้ว่าถ้ามีดังกล่าวแล้วจะเสียอำนาจ ก็จะต้องทำทุกวิถีทางให้การเลือกตั้งไม่เกิดขึ้นได้ ซึ่งจะพัฒนาตัวไปเป็นโครงสร้างหรือวิธีการที่จะสกัดขัดขวาง คานอำนาจจากการเลือกตั้ง ซึ่งไม่ใช่การคานอำนาจในแบบก้าวหน้า ในสังคมประชาธิปไตยมีการคานเลือกตั้งมี แต่อาจมาจากสถาบันที่ยึดโยงกับประชาชน มันก็ต้องมีตัวแทนประชาชนจากแบบอื่นที่จะมาคานการเลือกตั้ง เช่น การรวมตัวของประชาชนเพื่อเริ่มต้นกระบวนการกฎหมายมากมาย มันหมายถึงว่าเราไม่ได้บอกว่าการเลือกตั้งถูกทุกอย่าง แต่สถาบันอื่นที่จะมาคานอำนาจการเลือกตั้งก็ต้องยึดโยงตัวเองกับประชาชนกลุ่มอื่น ไม่ใช่สถาบันคนดีอย่างเดียว แต่การเลือกตั้งที่มาล่าช้าอย่างที่เราเห็นเกิดจากการพยายามร่างกฎหมายให้สถาบันการจัดการเลือกตั้งมีอำนาจน้อยลงเรื่อยๆ มันคนละเรื่องกัน การคานอำนาจสถาบันการเลือกตั้งทำได้ แต่ต้องทำผ่านการริเริ่ม ก่อร่างสร้างสถาบันอื่นๆ ที่มาจากประชาชนด้วยกัน ไม่ใช่การทำให้สถาบันการเลือกตั้งยึดโยงกับประชาชนน้อยลงเรื่อยๆ 


            ฝากคนไทยคิดถึงเงื่อนไขการเลือกตั้ง 4 ประการ คสช. ฝืนโลกแต่คนรับกรรมคือสังคมไทย
อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ผมดูข่าวต่างประเทศหลายวัน พบว่าคนที่ทำเรื่องการเลือกตั้งเมืองไทยชอบสอนว่าเราต้องออกแบบประชาธิปไตย ออกแบบระบบการเลือกตั้งที่เทพมากๆ สังคมก็จะไม่มีปัญหาเรื่องความขัดแย้ง คิดอะไรซับซ้อน ยกตัวแบบฝรั่งเศส เยอรมนี สหรัฐฯ แต่สิ่งที่ควรดูจริงๆ คือทวีปแอฟริกา ในไทยยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญการเมืองแอฟริกา ที่ผ่านมามีการเลือกตั้งที่เคนยา เป็นตัวแบบที่น่าสนใจในระดับองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เพราะมีประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างชนเผ่า ทำให้นักวิชาการและนักรัฐศาสตร์ในแอฟริการมากมายวิเคราะห์วิธีการเลือกตั้ง หาสัญญาณเตือนว่าการเลือกตั้งจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่มากขึ้นกว่าเดิมหรือจะทำให้เกิดการปรองดอง มันต้องออกแบบหรือตั้งคำถามภาวะทางสังคมที่นำไปสู่การเลือกตั้งด้วย สิ่งที่กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กังวลเป็นเรื่องจริงที่ว่าถ้าเลือกตั้งต่อไปแล้วจะเป็นปัญหา แต่มันไม่ใช่หน้าที่ของ กกต. ที่จะไม่ให้มีการเลือกตั้ง แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า ถ้าจะพูดเรื่องการเลือกตั้งก็ต้องคิดด้วยว่าการเลือกตั้งจะนำไปสู่ปัญหาหรือเปล่า ก็ต้องมีการตั้งคำถามกับสัญญาณเตือนว่า 
  • หนึ่ง อำนาจรัฐกระจุกตัวอยู่กับใคร ต้องดูโครงสร้างใหญ่ 
  • สอง ระบบราชการที่ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งมันเป็นอิสระพอที่จะจัดการเลือกตั้งและมันมีทัศนคติอย่างไรกับการเลือกตั้ง 
  • สาม ต้องมีสื่อมวลชนที่อิสระและศรัทธากับระบบการเลือกตั้ง ไม่งั้นก็จะมาเล่นแต่ข่าวการเลือกตั้งเลว ระบบอื่นไม่เป็นไร 
  • สี่ ต้องมีความเข้าใจของประชาชนและองค์กรอิสระต่างๆ ที่คิดว่าฉันต้องไปแบ่งอำนาจกับนักการเมือง ไม่ใช่คิดว่านักการเมืองเลว ต้องเอาอำนาจมาที่ฉันทั้งหมด 
        การถกเถียงในสังคมปัจจุบันไปสนใจแต่เรื่องที่ ว่าเราจะมีระบบการเลือกตั้งที่เทพที่สุด เอามาจัดการคนเลวในระบบการเลือกตั้งอย่างไร แต่ไม่ได้เอื้อให้คนรู้สึกว่าการเลือกตั้งจะดำเนินไปได้ แล้วก็ยังมีดีเบทในรัฐศาสตร์ที่ค้านกับคนจำนวนหนึ่งที่บอกว่า สังคมต้องสงบก่อนประชาธิปไตยจึงบังเกิด แต่งานวิจัยในเมืองนอกบอกว่า มันเกิดจากตอนไม่สงบนี่แหละ เพราะมันทำให้คนต้องต่อรอง ออกแบบสังคมที่มันพอจะไปกันได้ นี่คือที่มาของการแบ่งอำนาจ ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งเขียนกติกาให้กับทุกฝ่าย มันต้องแบ่งกัน ทุกฝ่ายก็ต้องยอมว่าพอแบ่งๆ กันบ้าง ไม่ได้หมายความว่าจะต้องปรองดอง มีความสุขกันทั้งหมด

            เรื่องการเลือกตั้ง ตอนนี้เราเห็นความพยายามให้การเลือกตั้งเกิดช้าที่สุดตามกรอบรัฐธรรมนูญ แต่ก็อาจจะมีอภินิหารบางอย่างที่ทำให้กรอบตามรัฐธรรมนูญขยับออกไป ฉะนั้นมีหลายเกม เกมที่หนึ่ง เขาคำนวณมาแล้วตามกรอบรัฐธรรมนูญ ทีนี้เรื่องใหญ่ในเงื่อนไขที่จะทำให้รัฐธรรมนูญขยายไปหรือล้มลง มันก็ต้องคิดเป็นเงื่อนไขไป ไม่ใช่ตีไปกว้างๆ ว่ามันจะไม่เกิดขึ้น แต่มันจะเกิดขึ้นในแบบไหนและที่สำคัญ มันอาจจะเกิดตามเวลาเป๊ะ แต่มันไม่ใช่กติกาที่นำไปสู่ความเสมอภาคทางการเมืองใดๆ และจะถูกทำให้ไร้ความหมายหรือเปล่า

            พิชญ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนหนักใจว่าปัจจุบันรัฐยังมีประสิทธิภาพสูงในการครอบงำ สกัดกั้นการต่อต้าน แต่ไม่ใช่เรื่องเดียวกันกับการทำให้สังคมนั้นดำเนินไปในสภาวะที่ควรจะเป็น ความสามารถในการฝืนโลกมี แต่เมื่อสิ่งนั้นมันระเหิดหายไปสักวัน สิ่งที่เหลืออยู่มันอาจจะแย่และลำบาก คุณปิดโลกได้แต่จะฝืนโลกไปได้สักเท่าไหร่ ก็เป็นเรื่องที่น่าหนักใจร่วมกัน เพราะวันหนึ่งที่ทุกอย่างพังทลายลง สังคมก็ต้องถามว่าจะเหลืออะไรสักเท่าไหร่

ม.44 ยังใช้ได้แม้ยกเลิก รธน. ชั่วคราว เสนอแผนแก้รัฐธรรมนูญ 3 ระยะด้วยพลังประชาชน



            ปิยบุตรกล่าวว่า ในเรื่องเนื้อหา เรามีรัฐธรรมนูญปี 2560 และมาตรา 44 ใช้ควบคู่กันไปแม้รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 จะยกเลิกไปแล้ว เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีรัฐธรรมนูญถาวรแล้วแต่อำนาจของคณะรัฐประหารและกฎหมายชั่วคราวยังมาหลอนเราต่อ ผมเข้าใจว่าตอนรณรงค์ประชามติก็พยายามพูดเรื่องนี้แล้ว แต่ว่าถูกกดเอาไว้ ถ้าเปิดให้รณรงค์กันเสรีคนก็คงจะรู้มากกว่านี้ บางคนที่โหวตรับก็บอกว่า นึกว่าถ้ามีร่างใหม่แล้ว พล.อ.ประยุทธ์จะไปเสียอีก แล้วในทางกฎหมายระหว่างรัฐธรรมนูญกับ ม.44 ใครใหญ่กว่ากัน ในทางปฏิบัตินั้นมาตรา 44 ใหญ่กว่า เพราะเวลาใช้มาตรา 44 รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่าคำสั่งของหัวหน้า คสช. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเสมอ แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ประกันสิทธิเสรีภาพไว้เยอะมากอย่างที่อารยประเทศอื่นมี แต่ถ้ากฎหมายมาตรา 44 มาลิดรอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แล้วเราไปฟ้องศาล ศาลก็จะบอกว่าคำสั่งตามมาตรา 44 ไม่ผิดเพราะชอบด้วยกฎหมาย มาตรา 44 จึงขัดกับรัฐธรรมนูญทุกมาตรา จนถึงที่สุดแล้ว มาตรา 44 ยกเลิก รัฐธรรมนูญ 2560 เลยก็ยังได้ ไม่ต้องใช้กองทัพ

            ในเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ทางเดียวคือต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ แล้วจะทำอย่างไรในเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 เขียนวิธีแก้รัฐธรรมนูญเอาไว้ซึ่งแก้ยากมากถือเป็นระดับท็อปของโลก ในทางปฏิบัติแทบทำไม่ได้เลย เพราะการแก้รัฐธรรมนูญจะต้องให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีส่วนร่วม แต่ ส.ว. ชุดแรกนั้นมีที่มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาล คสช. แล้วประชาชนจะแก้รัฐธรรมนูญได้อย่างไร ถ้าเอากองทัพมาเป็นพวก กองทัพก็คงเข้ามารัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญเพื่อทำประชาธิปไตยก็ไม่ได้ ผมคิดว่าต้องอธิบายแบบนี้รัฐธรรมนูญเวลาเกิดขึ้นแล้วหนึ่งฉบับ ประชาชนยังมีตัวตนอยู่ ไม่ล้มหายตายจากไป ถ้าเราไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับนี้เราก็ต้องออกเสียงให้เปลี่ยนตามสิทธิตามธรรมชาติของสังคมการเมือง ถ้าคุณ(ประชาชน) ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญได้คุณก็ยกเลิกรัฐธรรมนูญได้ ต่อให้รัฐธรรมนูญจะเขียนว่าทำไม่ได้ แต่ในเมื่อประชาชนเป็นฐานของการเกิดรัฐธรรมนูญ คุณให้รัฐธรรมนูญได้คุณก็ยกเลิกรัฐธรรมนูญได้ ถ้าตามขั้นตอนในรัฐธรรมนูญระบุการแก้ไขกฎหมายอย่างไรก็ต้องไปตามนั้น แต่ถ้าวันหนึ่งมันถึงทางตัน ก็ต้องเป็นประชาชนที่เป็นผู้ทรงสิทธิธรรมที่มีอำนาจสูงสุดให้จัดทำ ยกเลิกหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ก็ในเมื่อประเทศนี้ยังอนุญาตให้ทหารทำรัฐประหารตลอดเลย แล้วจะอนุญาตให้ประชาชนยกเลิกรัฐธรรมนูญไม่ได้เหรอ ในเมื่อบ้านหลังนี้มันผุพังเต็มที่แล้ว แล้วเจ้าของบ้านบอกว่าต้องเปลี่ยนมันก็ต้องเปลี่ยน แม้คนเขียนแบบบ้านจะบอกไว้ว่าห้ามเปลี่ยน ก็เจ้าของบ้านมันอยากเปลี่ยน ก็ต้องไปหาสถาปนิกคนใหม่มาทำบ้านใหม่ มันเป็นสิทธิ์ตามธรรมชาติที่มนุษย์มีอยู่ ผมสรุปว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ 2 วิธี คือหนึ่ง แก้ไขตามขั้นตอนในรัฐธรรมนูญตามปกติ และวิธีที่สองซึ่งไม่มีการเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่มันติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิด ในฐานะมนุษย์ที่รวมตัวกันเป็นสังคมการเมืองก็ควรมีการปกครอง แล้วถ้ามนุษย์ตกลงกันว่าไม่ไหวแล้ว มันก็ต้องทำได้เพราะมันเป็นสิทธิ์ติดตัวกับมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิด ในเชิงนามธรรม ท่านจะทำอย่างไรให้คนไทยจำนวนมากเห็นพ้องว่ารัฐธรรมนูญ 60 มันไปไม่ได้แล้ว ต้องเลิกสถานเดียว มันต้องมีขั้นตอน ซึ่งในที่นี้มีสามขั้นตอนในข้อเสนอแบ่งเป็นระยะสั้น กลางและยาว

            ระยะสั้น ในเมื่อ รัฐธรรมนูญ 60 มันเกิดแล้ว เราจะทำยังไงให้คนจำนวนมากเห็นอัปลักษณะของ รัฐธรรมนูญ 60 เพราะคนจำนวนมากอาจจะยังไม่เห็น ต้องช่วยกันรณรงค์ เบื้องต้น รัฐธรรมนูญ 60 มีเนื้อหาดีๆ เยอะเลย โดยเฉพาในช่วงต้น ๆ เราก็ทดลองว่าบทรับรองสิทธิ เสรีภาพมันใช้ได้จริงหรือไม่ ก็ต้องลองทดสอบดูว่าคำสั่งต่างๆของ คสช. ขัดรัฐธรรมนูญ แน่นอนที่สุด พอถึงมือศาลรัฐธรรมนูญก็คงเดินตามแนวเดิม แต่ก็ถือเป็นการโฆษณาว่า รัฐธรรมนูญ ที่พวกคุณโฆษณา พอเอาเข้าจริงมันใช้ไม่ได้ มันจะเป็นการบังคับให้ศาลรัฐธรรมนูญเขียนคำวินิจฉัยให้เป็นแบบนั้น ตอนนี้จึงมีความพยายามเข้าชื่อให้ยกเลิก กฎหมายมาตรา 265 ทิ้งเพราะมันเป็นมาตราที่ทำให้มีมาตรา 44 และยกเลิกมาตรา 279 ที่ทำให้การกระทำของคณะรัฐประหารชอบธรรมทุกอย่าง ทั้งหมดนี้คงไม่สำเร็จ แต่ก็เป็นการรณรงค์

            ในระยะกลาง ถ้าการเลือกตั้งมาถึง เรียกร้องไปทุกพรรคการเมืองให้เลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ทำรัฐธรรมนูญใหม่ พอได้รับเสียงข้างมากแล้วก็ลองทำ แต่แน่นอนว่าจะไม่สำเร็จ เพราะกลไกแก้รัฐธรรมนูญยากมาก แต่ควรจะทำซ้ำๆ ให้คนเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปติดที่ตรงไหนบ้าง

            สุดท้าย เมื่อคนเห็นพ้องต้องกันว่ารัฐธรรมนูญมันแตะต้องไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ ก็ต้องกลับไปที่พื้นฐาน ให้ประชาชนทำรัญธรรมนูญเอง จัดให้มีการออกเสียงประชามติให้ประชาชนยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 แล้วทำรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ แน่นอนว่าองค์กรต่างๆ ก็คงออกมาขัดขวางว่ารัฐธรรมนูญ 250 ไม่ได้อนุญาตให้มีการทำประชามติ ก็ต้องเถียงกลับไปว่ามันเป็นสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์

            วิธีที่พูดออกมาคือสันติที่สุดเพราะไม่ได้ต้องไปยึดสภา สนามบิน ทำเนียบ จตุรัสกลางเมืองหรือต้องไปตั้งกองกำลังติดอาวุธ แต่ต้องรณรงค์ให้คนเห็นส่วนที่ไม่ดีของรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาเราใช้ทหารเลิกรัฐธรรมนูญตลอดเวลา ต้องถึงเวลาที่ประชาชนยกเลิกรัฐธรรมนูญให้ได้ ถ้าประชามติแล้วไม่ผ่าน ก็ต้องอยู่กันต่อไป แล้วค่อยทำใหม่ มันก็เป็นแบบนี้ ไม่มีรัฐธรรมนูญใดอยู่ไปตลอด มันก็ต้องเปลี่ยนตามพลวัตของโลก

            อัดประชามติผิดหลักการ โดนแก้ไขหลังโหวต ถ้าเปิดเสรีคนไทยคงไม่โง่ถอยหลังเข้าคลอง
อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวในประเด็นแรกต่อคำถามที่ว่า รัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้ด้วยวิธีใดบ้าง แบ่งได้เป็นสองประเภท หนึ่ง คนๆ เดียวให้รัฐธรรมนูญคือกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือผู้นำเผด็จการ คือคนๆ เดียวตัดสินใจ เรียกแบบนี้ว่าไม่เป็นประชาธิปไตย แบบที่สองคือให้ประชาชนมอบรัฐธรรมนูญให้กันเอง คือผ่านระบบตัวแทนในสภา หรือทำประชามติซึ่งเป็นประชาธิปไตยทางตรง ถ้าเรามองย้อนไปทางรากศัพท์ รัฐธรรมนูญ หรือ Constitution รากศัพท์ในภาษาละตินคือ Co+ Institute คือการทำอะไรร่วมๆกัน รวมกับคำว่า ก่อตั้ง รัฐธรรมนูญจึงแปลว่าเอกสารทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากคนทุกๆ คนมาตกลงร่วมกันทั้งหมด ถ้าพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวพระราชทานรัฐธรรมนูญเช่นที่ฝรั่งเศสหรือสเปนจะเรียกกันว่ากฎบัตรหรือ Charter มากกว่า

            ประชามติในตัวรัฐธรรมนูญมีไว้เพื่อแสดงให้เห็นว่าประชาชนทรงอำนาจสูงสุดในการก่อตั้งรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ทำคลอดรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่พระเจ้า ทีนี้ประชามติแบบไหนถึงจะทำให้เห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญเกิดจากประชาชนอย่างแท้จริงมาจากปัจจัยสองประการ หนึ่ง เป็นอิสระและยุติธรรม อิสระในที่นี้หมายถึงแต่ละคนที่ตัดสินใจเอาหรือไม่เอารัฐธรรมนูญมีสิทธิ์ตัดสินใจ มีสิทธิรณรงค์ได้อย่างเต็มที่ จะได้เกิดการถกเถียงและคนจะได้สิ่งที่ต้องการจริงๆ ส่วนความยุติธรรมหมายถึงความเสมอภาคกัน ไม่ใช่ฝ่ายรับได้เปรียบฝ่ายไม่รับ หรือฝ่ายไม่รับได้เปรียบฝ่ายรับ ประชามติที่ฟรีและแฟร์เราเรียกว่าระบอบประชาธิปไตยแบบเปิด เปิดพื้นที่ถกเถียง รณรงค์และใช้เหตุผลเต็มที่ทั้งสองฝ่าย

            ด้วยกลไกประชามติฟรีและแฟร์ ท่านคิดไหมว่าคนไทยทั้งประเทศเจ็ดสิบล้านคนจะโง่บัดซับเลือกรัฐธรรมนูญของรัฐบาลเผด็จการ ถ้ามีการรณรงค์กันให้ถึงที่สุด มันก็เป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดขึ้น ถ้ามนุษย์มีสติสัมปชัญญะ มีเหตุผล ได้โอภาปราศรัยกันอย่างเต็มที่ มันไม่มีมนุษย์อยากกลับไปเป็นทาสแบบเดิม มนุษย์อยากเดินไปสู่สิ่งที่ดีกว่าทั้งนั้น แล้วทำไมในโลกใบนี้มันถึงมีการได้ผลประชามติที่ไม่ดีออกมา ก็ต้องตั้งคำถามว่าประชามตินั้นไม่มีมาตรฐาน ไม่ฟรีและไม่แฟร์ ประชาชนถูกเรียกออกไปเพื่อเป็นเครื่องประดับตกแต่งให้การทำรัฐธรรมนูญของเผด็จการ ผลลัพธ์ที่ออกมาก็สะท้อนกระบวนการเหมือนกัน

สอง รัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้วจะต้องถูกนำไปใช้ทันที จะไม่มีองค์กรอื่นใดมาขัดขวางการใช้อีกแล้ว เพราะประชาชนตัดสินแล้วว่าจะเอารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถ้าองค์กรผู้มีอำนาจสามารถขัดขวางได้ก็แปลว่าคนที่มีอำนาจเลือกใช้รัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่ประชาชน องค์กรผู้มีอำนาจก็จะเป็นผู้ทำรัฐธรรมนูญเอง ตามหลักการแล้วถ้าประชามติผ่าน จะไม่มีใครมาขวางการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับนั้นไม่ได้ แม้แต่ศาลหรือประมุขก็ขวางไม่ได้ กลับมาดูที่ไทย รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2557 เขียนไว้ว่ารัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติมาแล้วจะยังไม่มีผลบังคับใช้ ต้องรอพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย แต่มีพระราชอำนาจไม่ให้บังคับใช้ก็ได้ ในทางปฏิบัติจะเห็นว่า รัฐธรรมนูญ ประกาศใช้วันที่ 6 เม.ย. 2560 มีการแก้รัฐธรรมนูญปี 2557 เพื่อเปิดทางให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมาธิการต่างๆ เข้าไปแก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติไปแล้ว ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับที่ประกาศใช้จึงเป็นคนละฉบับกับที่เราลงประชามติไปเมื่อเดือน ส.ค. 2559

            ประชามติครั้งนี้ไม่ฟรีและไม่แฟร์ กกต. ที่เป็นฝ่ายจัดประชามติแจกเอกสารโฆษณาสรรพคุณของร่าง รัฐธรรมนูญ แต่ฝ่ายไม่รับพอไปออกรณรงค์ก็โดนคดีความกัน รัฐธรรมนูญจึงไม่ผ่านประชามติในความหมายที่บอกว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจการคลอดรัฐธรรมนูญ มันจึงไม่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยอยู่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านทั้งด้านความชอบธรรม เพราะเชื่อมโยงกับรัฐประหารปี 2557 เนื้อหาและกระบวนการที่ล็อคสเป็คการเขียนตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ไม่ได้เขียนอย่างอิสระ การทำประชามติก็ไม่ฟรีและไม่แฟร์ และเนื้อหาที่ไม่ได้มาตรฐานอยู่หลายเรื่อง
1 ปีผ่านไปเหมือนสูญเปล่า รธน. คนละฉบับกับที่โหวต มีก็เหมือนไม่มีเพราะทหารยังกดขี่



            รังสิมันต์ กล่าวว่า ตลอดสี่เดือนที่ผ่านมาหลังบังคับใช้รัฐธรรมนูญ มีสัญญาณบอกว่าอนาคตประเทศนี้จะไม่ได้ดีขึ้นเลย ขอพูดเรื่องคดี พ.ร.บ. ประชามติก่อน ล่าสุดก็ถูกฟ้องหลังจากเดินทางไปขอข้อมูลเรื่องรถไฟความเร็วสูงกับทางรัฐบาลแม้ประชามติจบไปปีกว่าแล้วด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่คงอยู่คือคดีความ หลายคนได้ติดตาม ร่วมกิจกรรมกับผมบ่อยๆ จะเห็นว่าหลายครั้งที่เรารณรงค์นอกพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นถูกจับทันที แม้กระทั่งผู้มีอำนาจและการใช้อำนาจจึงมีลักษณะของการลุแก่อำนาจสูงมาก ผมแจกเอกสารเดียวกันคนละพื้นที่แต่ได้รับการรับมือไม่เหมือนกัน ผมคิดผิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 6 เม.ย. เป็นรัฐธรรมนูญคนละฉบับกับการลงประชามติ ฝ่ายรับและไม่รับที่มุ่งต่อผลให้คนตัดสินใจอนาคตของตัวเองถูกทำลายลง การรับหรือไม่รับเมื่อ ส.ค. 2559 เป็นการรับหรือไม่รับทั้งฉบับ การแก้ไขอะไรก็แล้วแต่แม้เพียงเล็กน้อยคือการทำลายเจตจำนงของประชาชนอย่างสิ้นเชิง เราเสียเงินไปกว่า 3 พันล้านบาท แต่สิ่งที่ได้คือความว่างเปล่า รัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นจึงเกิดขึ้นจากรัฐบาล คสช. โดยแท้

            สอง กระบวนการประชามติมีปัญหาจริงๆ ในอนาคต ถ้าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมาแก้ไขไม่ได้เลยว่าต้องผ่านประชามติก่อนเพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติ ซึ่งไม่จริง เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดการดัดแปลงจากฉบับประชามติ วันที่ 6 เม.ย. ถึงวันนี้เราประกาศใช้รัฐธรรมนูญไปแล้ว 4 เดือน หลายคนไม่รู้สึกว่าประเทศนี้มีรัฐธรรมนูญบังคับใช้อยู่จริง เพราะยังมีการจับกุม ดำเนินคดีโดยเจ้าหน้าที่ทหาร ผมก็โดนหมายอะไรก็ไม่รู้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแน่ๆ กับการมาดำเนินคดีประชามติย้อนหลังเมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงไม่มีความหมายใดๆ ในสายตาเจ้าหน้าที่ แต่อำนาจที่เจ้าหน้าที่ให้ความสำคัญคือม. 44 ผมทำกิจกรรมมา 3 ปี ผมพูดแทนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารได้ด้วยซ้ำว่า สิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญที่สุดคือพวกเขาจะโดนย้ายหรือเปล่าถ้าไม่ทำตามคำสั่งนาย
มรดกรัฐประหารจะอยู่ต่อไป วอน เลิกวัฒนธรรมรัฐประหาร ลอยนวลพ้นผิดต้องเอา คสช. เข้าคุกให้ได้
รังสิมันต์กล่าวต่ออีกว่า เนื้อหาของรัฐธรรมนูญมีปัญหามาก ในวันที่ 7 ส.ค. มีคนรับร่างรัฐธรรมนูญ 16 ล้าน คนไม่รับร่าง 10 ล้าน คนที่รับร่างจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าจะได้มีการเลือกตั้งเร็วๆ จะได้มีรัฐบาลมาแก้ไขวิกฤติการณ์เหล่านี้เสียที แต่ความเป็นจริงทำไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดสิ่งที่เรียกว่ายุทธศาสตร์ชาติ หลังจากนี้จะมีการแต่งตั้งบอร์ดที่ทำหน้าที่ออกข้อกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทำตาม ถ้าพูดแบบลูกทุ่ง ยุทธศาสตร์ชาติก็คือนโยบายของ คสช. ถ้ารัฐบาลแถลงนโยบายไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ รัฐบาลที่พวกเราเลือกก็อาจถูกดำเนินคดีได้ ปัญหาที่สอง การปฏิรูปประเทศชาติ ในความคิดของ คสช. การปฏิรูปคือการแก้ไขสิ่งที่แล้วมาให้ดีขึ้น ถ้าอ่านอย่างละเอียดแล้ว ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศชาติคือการก้าวถอยหลังทั้งคู่ องค์กรที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. จะมาบีบรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องปฏิรูปประเทศตามแนวทางที่ คสช. กำหนดไว้ ตกลงว่าเราจะมีนโยบายจากพรรคการเมืองไหม และจะทำตามนโยบายที่หาเสียงได้ไหม ในเมื่อมีพันธะกรณีที่ต้องรับผิดชอบต่อนโยบายของ คสช. ที่วางไว้แล้ว ด้วยกลไกต่างๆ และพันธะดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตเอาชนะ คสช. ได้ ถึงจะอยากเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างไรก็ทำไม่ได้ หลายคนในที่นี้คงไปให้กำลังใจยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่คดีของยิ่งลักษณ์เป็นความผิดทางนโยบายไม่ใช่ใครผิดใครถูก แต่บังเอิญไม่ถูกใจ คสช. ก็เลยต้องโดนดำเนินคดี ต่อไปในอนาคตก็คงมีคนถูกดำเนินคดีในลักษณะเดียวกันอีกมากมาย

            นอกจากนั้น มาตรฐานจริยธรรมที่จะใช้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นขาดการมีส่วนร่วมจากรัฐบาล ถ้ารัฐบาลไม่ทำตามคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ก็จะเข้ามา หลังจากนั้นจะต้องดูกรณีการทำผิด ทุกวันนี้ที่พูดถึงกันบ่อยก็คือเรื่องการคอร์รัปชันที่ พล.อ. ปรีชาไม่เคยโดนสักที ดังนั้น มาตรฐานจริยธรรมที่เรายังไม่รู้ว่าคืออะไรจะไปควบคุมรัฐบาลเลือกตั้งตามที่ คสช. วางเอาไว้ สิ่งสุดท้ายที่อยากให้ประชาชนทดเอาไว้ในใจคือ ที่ผ่านมาประเทศนี้เป็นประเทศที่คนทำผิดไม่ติดคุกจนเป็นวัฒนธรรม ดังนั้นปัญหาที่ใหญ่ไม่หย่อนไปกว่าเรื่องอื่นๆ เลยคือ รัฐธรรมนูญ ฉบับนี้เป็นเครื่องมือการสนับสนุนวัฒนธรรมการทำผิดแล้วไม่ต้องรับโทษ ที่พูดอย่างนี้เพราะคณะรัฐประหารเมื่อปี 2557 ที่มายุติการใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 และสิทธิเสรีภาพของประชาชน และยึดอำนาจเป็นของตนเอง ซึ่งโทษตามกฎหมายคือประหารชีวิต สิ่งที่ต้องทำต่อจากนี้คือการยกเลิกกฎหมายที่ทำให้การยึดอำนาจนั้นชอบธรรม หนทางเดียวที่จะทำให้การรัฐประหารครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายคือทำให้การรัฐประหารครั้งนี้ล้มเหลว เอาคนเหล่านี้ไปเข้าคุก การต่อสู้ของประชาชนไม่เคยจบ วันนี้ถ้าเราบอกว่าอายุเฉลี่ยคนไทยคือ 60-70 ปี เราก็ควรคิดว่าจะทำวันนี้เพื่อลูกหลานของเรา ตัวผมเองอายุ 25 ปี ยังมีเวลาอีกมากที่ต้องรับกรรมในประเทศนี้ จึงต้องออกมาต่อสู้เพราะอยากเห็นอะไรที่ดีกว่านี้ แต่ที่ผ่านมา ประชาชนอย่างเราๆ ไม่มีโอกาสกำหนดวาระของตัวเองได้เลย การเรียกร้องที่ผ่านมานั้นเกิดจากวาระที่ คสช. ตั้งขึ้น วันนี้เป็นไปได้ไหมที่ประชาชนจะรณรงค์เข้าชื่อ 5 หมื่นรายชื่อเข้าแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง แล้วกำหนดอนาคตที่เราอยากมีเสียที การเข้าชื่อเป็นการทำตามกระบวนการที่ควรจะทำได้ แต่ความสำคัญอีกอย่างคือ นักการเมืองที่จะหาเสียงเลือกตั้งเมื่อถึงวาระที่มีการเลือกตั้ง จะต้องกำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับการเข้าชื่อที่เป็นชบวนการของประชาชนให้สอดคล้องกัน เพื่อนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ และการเอา คสช. ไปเข้าคุกเพื่อไม่ให้เกิดการรัฐประหารอีก

            สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยทิ้งท้ายว่า อยากให้ช่วยกัันทดลองกำหนดวาระของประชาชนบ้าง สิ่งที่เคยทำแล้วแต่ยังไม่สำเร็จคือ ทำอย่างไรให้สิ่งที่ประชาชนต้องการเป็นวาระสำคัญของประเทศ ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การทำอย่า่งไรให้ผู้แทนประชาชนในอนาคตเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์จากประชาชน ให้เสียงจากประชาชนดันขึ้นไปผ่านนักการเมืองจะทำได้อย่างไร ซึ่งการกำหนดวาระของประชาชนไม่ง่าย ต้องอาศัยคนจำนวนมากที่จะปกป้องเอาไว้ จะทำอย่างไรให้เป็นเรื่องของการรวมตัวของประชาชนจำนวนมากที่ต้องทำ แม้จะไม่เกิดขึ้นได้ในเร็วๆ นี้

กองทัพตั้งกรรมการสอบทหารเอี่ยวอุ้มนักธุรกิจจีน




Published on Mon, 2017-08-14 15:56
ผู้บัญชาการทหารสูงสุดตั้งคณะกรรมการสอบวินัย พล.ต.จรูญ- 4 จ่าสารวัตรทหารกองทัพไทย หลังพัวพันแก๊งเรียกค่าไถ่นักธุรกิจชาวจีน ยืนยันหากผิดจริงไม่ปกป้อง

14 ธ.ค. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวถึงกรณี เจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายจับ พล.ต.จรูญ อำภา ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติงานศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและความมั่นคง กองบัญชาการกองทัพไทย และทหารยศจ่า สังกัดกรมสารวัตรทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย จำนวน 4 นาย หลังพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีอุ้มนักธุรกิจเรียกค่าไถ่ ว่าได้สั่งการผู้เกี่ยวข้องว่าหากตำรวจร้องขอรายละเอียดเรื่องใดต้องให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่



“ยืนยันว่าจะไม่ปกป้องกำลังพลที่กระทำความผิด ในส่วนของกองบัญชาการกองทัพไทยเองได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนทางวินัยด้วยเช่นกัน โดยจะดำเนินการเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตามจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และระหว่างที่ตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ ได้มีคำสั่งให้ พล.ต.จรูญ มาปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักงานผู้บังคับบัญชา เพื่อควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด” ผู้บัญชาการทหารสูงสุด

ส่วนกรณีตำรวจขยายผลว่าแก๊งค์ทหารดังกล่าวเป็นแก๊งค์ปล่อยเงินกู้นอกระบบรายใหญ่ย่านดอนเมือง พล.อ.สุรพงษ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนสอบสวน

ภูมิธรรมแจง 7 ประเด็น อนาคต พท.หลังคดียิ่งลักษณ์-เลือกตั้งครั้งหน้า



Published on Mon, 2017-08-14 18:59


ยังไม่สรุปใครเป็นผู้นำพรรคต่อไป ระบบไพรมารีโหวตต้องรับฟังความเห็นมากกว่านี้ กรธ.ยกเลิกระบบพรรคเดียวเบอร์เดียวสร้างความยุ่งยาก ส่อเจตนาทำพรรคการเมืองอ่อนแอ โครงการจำนำข้าว ยืนยันทำเพื่อคนส่วนใหญ่ ส่วนการปรองดองต้องเริ่มจากการไม่สองมาตรฐาน

14 ส.ค.2560 เว็บไซต์มติชน รายงานว่า ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) แสดงทัศนะทางการเมือง 7 ประเด็น ได้แก่

1. การเปลี่ยนแปลงในพรรค การมีหัวหน้าพรรคคนใหม่ และความขัดแย้งภายในพรรค โดยระบุว่า เป็นเรื่องปกติของพรรคการเมืองที่มีความเห็นแตกต่างกันได้ แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งใหญ่โตใดๆ พรรคเพื่อไทยเป็นสถาบันทางการเมือง ความเป็นพรรคการเมืองนั้นสมาชิกต้องปฏิบัติตามข้อบังคับพรรค ไม่ใช่ตามการชี้นำของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และแน่นอน การเลือกผู้นำพรรคก็ต้องเป็นไปตามข้อบังคับพรรค ที่สำคัญมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ส่วนกรณีที่มีคำถามให้ยืนยันว่าพรรคจะไม่มีผู้นำที่มาจากตระกูลชินวัตรนั้น ต้องเรียนว่าพรรคมีบุคลากรที่มีศักยภาพ มีประสบการณ์บริหารประเทศ และมีความรู้ความสามารถที่หลากหลายจำนวนมาก ดังนั้นจึงเร็วเกินไปที่จะบอกว่าพรรคจะเลือกใครมาเป็นผู้นำพรรค เรายังมีเวลาเพียงพอที่ไม่ต้องรีบตัดสินใจใดๆ เพราะสถานการณ์ต่างๆ ในบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

2. พรรคไม่ได้กังวลต่อกระบวนการไพรมารีโหวต เพราะเราเป็นพรรคการเมืองลำดับต้นๆ ของประเทศที่ริเริ่มคิดเรื่องนี้มาก่อนเป็นสิบกว่าปีที่แล้ว ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยมีความเข้าใจในเรื่องไพรมารีโหวตและการเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการช่วยคิดและตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในพรรคอย่างเต็มที่ ไม่ใช่การดำเนินการอย่างที่ผู้ออกกฎหมายปัจจุบันกำลังคิดและจัดทำอยู่ ซึ่งเชื่อได้ว่ากลุ่มผู้มีอำนาจในปัจจุบันบันไม่ได้คิดอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจแบบลงลึก และยังขาดรายละเอียดอีกมาก ซึ่งการผลักดันเรื่องไพรมารีโหวตโดยขาดความเข้าใจเช่นนี้จะกลายเป็นเหตุที่ทำให้สังคมเกิดความแตกแยกและสถาบันการเมืองเกิดความอ่อนแอ และอยากเสนอให้ผู้มีอำนาจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกฝ่ายอย่าเร่งรีบจนไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดความเสียหายแก่ประเทศ และไม่ควรคำนึงถึงแต่ความต้องการของตนแต่ฝ่ายเดียว หากท่านปรารถนาจะให้ระบบไพรมารีโหวตมาใช้ในการเมืองไทย ควรเพิ่มความอดทนและให้โอกาสผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายรวมทั้งประชาชนได้เรียนรู้เพื่อจะใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยคำนึงถึงพัฒนาการและความเป็นจริงของสังคมไทยด้วย

3. ระบบเลือกตั้งตามแนวทางของ กรธ. โดยเฉพาะความพยายามผลักดันให้เกิดการยกเลิกระบบพรรคเดียวเบอร์เดียว ดูเหมือนจะเป็นหนึ่งในความพยายามให้เกิดความสับสนวุ่นวายในการเลือกตั้งเพื่อให้พรรคการเมืองและสถาบันทางการเมืองอ่อนแอ ถอดถอย ยากต่อการบริหาร ยากต่อการทำงานแก้ไขปัญหาของประชาชน และส่งผลให้เกิดความสับสนในการเลือกนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ตนเองชื่นชอบ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าคณะผู้ร่างมีเจตนาเพื่อเปิดช่องทางสู่การมีนายกฯ คนนอกเข้ามาเป็นรัฐบาล และสะท้อนให้เห็นความพยายามที่จะสืบทอดอำนาจต่อไปใช่หรือไม่

“ผมเห็นว่าผู้มีอำนาจควรจะสร้างกฎกติกาการเลือกตั้งให้ง่ายต่อการปฏิบัติให้มาที่สุด เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน มิใช่เพื่อทำให้เกิดข้อยุ่งยาก และสร้างความสับสนให้เกิดขึ้นกับประชาชนเช่นที่กำลังเกิดในปัจจุบัน กติกาที่เขียนมา เช่น บัตรเลือกตั้งใบเดียว ระบบจัดสรรปันส่วน ค่าสมาชิกพรรค ไพรมารีโหวต และการยกเลิกระบบพรรคเดียวเบอร์เดียว ถือเป็นการส่อเจตนาอย่างชัดเจนเพื่อให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ และมุ่งสืบทอดอำนาจทางการเมืองของกลุ่มตนเท่านั้น”

4. ความท้าทายในการเลือกตั้งครั้งหน้า นโยบายที่เคยใช้หาเสียงจะยังสามารถนำมาใช้ได้เช่นในอดีตหรือไม่ การเมืองที่จะเกิดขึ้นควรจะต้องมุ่งเดินหน้าไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นแม้ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ แต่ก็ต้องเป็นสิ่งที่สะท้อนเจตนารมณ์และการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนให้มากที่สุด และให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ที่สุด และที่สำคัญจะต้องมีส่วนเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ของพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ พรรคเพื่อไทยขอยืนยันว่า เราจะใช้ความพยายามอย่างที่สุดที่จะมุ่งเดินหน้า สร้างงานการเมืองที่สร้างสรรค์เพื่อทำหน้าที่สำคัญคือ การรับฟังและแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ซึ่งถือเป็นบทบาทสำคัญที่พรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยพึงกระทำ ทั้งนี้หากกฎกติกาที่คณะผู้มีอำนาจในปัจจุบันได้ออกแบบไว้นั้นเกิดสร้างปัญหาและเป็นอุปสรรคสำคัญ ก็ถือเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกๆ คนที่จะต้องร่วมมือกันแก้ไขเพื่อมิให้ประเทศติดอยู่ในวิกฤตและกับดักที่ถูกสร้างขึ้น

5. อนาคตของพรรคเพื่อไทยภายหลังวันตัดสินคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เรามั่นใจว่าสิ่งที่ผู้นำพรรคเพื่อไทยได้ดำเนินการมาตลอดในเรื่องนโยบายจำนำข้าว ล้วนเป็นไปด้วยความสุจริตและเป็นการดำเนินการด้วยความระมัดระวังอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดและเป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อสภา และถือเป็นการดำเนินการตามแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2555-2558 ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และที่สำคัญกฎหมายมีสภาพบังคับและกำหนดให้ท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์และครม.ต้องปฏิบัติตามอย่างไม่มีเงื่อนไข น.ส.ยิ่งลักษณ์และครม.ทั้งคณะก็ได้ใช้ความพยายามและความระมัดระวังอย่างเต็มที่ในการดูแลเพื่อให้โครงการรับจำนำข้าวเกิดประโยชน์สูงสุดต่อครอบครัวเกษตรกร และผลประโยชน์โดยรวมของประเทศ

“พรรคกล้ายืนยันและเชื่อมั่นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มิได้ทำสิ่งใดผิดตามที่ถูกกล่าวหา เรามั่นใจในความบริสุทธิ์และความตั้งใจจริงของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงเชื่อว่าผลแห่งความมุ่งมั่นทำงาน และคุณงามความดีที่ท่านได้ทำสั่งสมมาจะปกปักรักษาให้ท่านพ้นภัยในครั้งนี้ พรรคมีความเป็นสถาบันการเมือง มีประวัติศาสตร์ และผ่านการทำงานปฏิรูปและพัฒนาเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยมานานนับสิบๆ ปี หากผลจากการทำงานที่มุ่งมั่นให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศจะทำให้พรรคเราได้รับความเสียหาย เราก็ยังเชื่อมั่นว่าประชาชนส่วนใหญ่จะเห็นใจเรา จะโอบอุ้มคุ้มครองเรา และจะให้โอกาสพรรคการเมืองของเราอยู่เคียงข้างพวกเขาตลอดไป”

6. การออกแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยล่าสุด ที่ขอให้รัฐบาลยุติการคุกคามและการละเมิดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน การละเมิดสิทธิมนุษยชน จะไม่ส่งผลดีต่อการปรองดองและจะยิ่งส่งผลเสียต่อภาพพจน์ของประเทศ และยังอาจนำไปสู่การไม่ได้รับความสนับสนุนและไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาคมโลกอีกด้วย

7. พรรคเพื่อไทยเชื่อว่า การปรองดองจะเกิดขึ้นได้ต้องมีความยุติธรรมเป็นพื้นฐาน ตราบใดที่คนในสังคมยังรู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรมหรือยังมีลักษณะความเป็นสองมาตรฐาน การปรองดองก็ยากจะประสบความสำเร็จ หน้าที่ของผู้นำโดยเฉพาะรัฐบาลต้องเป็นแบบอย่างในการอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นและต้องสร้างความมั่นใจให้ประชาชนทุกฝ่ายสามารถได้รับความยุติธรรมต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน พรรคเพื่อไทยได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่ากระบวนการปรองดองที่จะเกิดขึ้นต้องไม่เป็นเพียงพิธีกรรม หากแต่ต้องมุ่งมั่นไปสู่กระบวนการที่จะอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นแก่ทุกฝ่ายอย่างเสมอภาค

‘วินธัย’ รับแค่ “ขอความร่วมมือ” ไม่ให้มาคดียิ่งลักษณ์ หลัง นปช. โวยโดนบล็อคทุกทาง



Published on Mon, 2017-08-14 20:14


14 ส.ค.2560 พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานที่ปรึกษาแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระบุว่าแกนนำ นปช.ต่างจังหวัดถูกเจ้าหน้าที่สกัดทุกช่องทาง เพื่อไม่ให้สามารถไปให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในวันพิพากษาคดีโครงการรับจำนำข้าว วันที่ 25 ส.ค.นี้ ว่า ขอชี้แจงว่าเป็นเรื่องของการขอความร่วมมือ เพราะในกิจกรรมบางลักษณะอาจทำให้สังคมมองออกไปได้ในหลายแง่มุม ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาบรรยากาศโดยทั่วไปให้มีความเรียบร้อยมากที่สุด การจะดำเนินกิจกรรมอะไรต้องใช้ความระมัดระวัง เพื่อหลีกเลี่ยงไปเกี่ยวโยงทางการเมือง

พ.อ.วินธัย กล่าวต่อว่า ส่วนการที่อ้างว่าเจ้าหน้าที่ไปสกัดมวลชนนั้นก็จำเป็นต้องเข้มงวดต่อการเดินทางในบางลักษณะ บางกลุ่ม และบางกรณี เพื่อไม่ต้องการให้บางบุคคลอาศัยสถานการณ์หยิบไปใช้ให้มีผลในมุมทางการเมืองได้ โดยเฉพาะข้อกังวลเกี่ยวกับกรณีการขนการเกณฑ์คนไปทำกิจกรรมใดๆ ดังนั้นขอให้เชื่อเจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจอย่างมีเหตุมีผล พร้อมยืนยันว่า เราก็ไม่ได้ห้ามการให้กำลังใจแต่อย่างใด แต่ไม่อยากให้มีการขยับหรือเคลื่อนไหวอะไรผิดไปจากความเป็นธรรมชาติที่ควรเป็นมากกว่า

เมื่อวานนี้ (13 ส.ค.) นางธิดากล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลสั่งตรวจสอบองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หลังจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ยื่นให้ตรวจสอบว่าบางพื้นที่อาจใช้งบนำประชาชนมาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ในวันพิพากษาคดีจำนำข้าวว่า คิดว่าเป็นข้อสังเกตจาก สตง.มากกว่า เพราะก่อนหน้านี้ สตง.ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้งบประมาณที่อาจผิดวัตถุประสงค์ เช่น การขนคนไปเชียร์ฟุตบอล เป็นต้น

"ขณะนี้รัฐบาลได้บล็อกทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรถตู้ รถบัส รถรับจ้างต่างถูกควบคุมหมด ขณะที่แกนนำ นปช.ในพื้นที่เองก็ถูกบล็อกเช่นกัน ใครจะไปให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทางที่ดีคงต้องซื้อตั๋วโดยสารเอง ต่างคนต่างไป เพราะขณะนี้เหมือนว่าได้มีการบล็อกการสนับสนุน ทั้งจากอดีต ส.ส.และอดีตแกนนำ แม้จะใช้เงินของตัวเองก็ตาม" นางธิดา กล่าว

นางธิดา กล่าวอีกว่า เท่าที่พูดคุยกับมวลชนที่สนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่างระบุว่า เมื่อมีการสกัดกั้นมากขนาดนี้ เห็นทีจะต้องนั่งรถโดยสารหรือรถทัวร์ไปกันเอง อย่างไรก็ตาม หากฝ่ายความมั่นคงบอกว่าสามารถเหมารถไปได้ แต่ต้องทำสัญญารับจ้างเป็นกิจจะลักษณะ มวลชนก็พร้อมปฏิบัติตาม ยืนยันว่าการไปให้กำลังใจเป็นสิทธิของประชาชน และถามว่าการขัดขวางนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ขอให้ทุกคนทำสิ่งที่ตัวเองเห็นว่าจะไม่เสียใจภายหลัง การแสดงออกของผู้รักประชาธิปไตยจะต้องหลุดพ้นจากการกลัวตัวเองเดือดร้อน เพื่อสนับสนุนผู้ที่เห็นว่าไม่ได้มีความผิดแต่จะถูกจำคุก และประเทศไทยจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้ก็ต้อง "Let it be"

ยุกติ มุกดาวิจิตร ประณามการกระทำรุนแรงต่อนิสิตจุฬาฯ

ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผมไม่อาจยอมรับการกระทำของอาจารย์ต่อนิสิตด้วยความรุนแรงดังที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งได้ 
ยิ่งจากคำชี้แจงอย่างเป็นทางการของมหาวิทยาลัยเองแล้ว (ดู http://www.chula.ac.th/th/archive/63023) ยิ่งชี้ว่า ระบบการศึกษาไทยไม่เพียงจะยังไม่ก้าวหน้าทางวิชาการ แต่ยังยิ่งกลับถดถอยเสื่อมทรามในทางคุณธรรม ไม่ว่าจะวัดกันด้วยหลักจริยธรรมแบบไทย หรือหลักจริยธรรมสากลคือหลักสิทธิมนุษยชน 
จากคำชี้แจงของมหาวิทยาลัย กลับกลายเป็นว่ามหาวิทยาลัยเรียกร้องให้สังคมเห็นใจอาจารย์ที่กระทำความผิด ไม่ได้แสดงความเห็นใจต่อนิสิตที่ถูกทำร้าย แล้วนิสิตที่ถูกทำร้ายเขาเป็นอย่างไรบ้าง สภาพจิตใจเขาจะยิ่งเลวร้ายกว่าอาจารย์ไหม ไม่มีการกล่าวถึง 
ความแตกต่างทางความคิดจะต้องลงเอยด้วยความรุนแรงแบบนี้หรือ แล้วถ้าบรรดาอาจารย์ (จากคลิปคุณฟ้ารุ่ง ไม่ใช่คนเดียวที่ไร้วุฒิภาวะ) ประพฤติตนอย่างนี้ จะยังเป็นครูอยู่ได้อย่างไร จะมาเรียกร้องเอาจริยธรรมจากนิสิตได้อย่างไร  
มหาวิทยาลัยจะกลบเกลื่อนความผิดนี้ด้วยการขอความเห็นใจจากสังคมไม่ได้ การกระทำรุนแรงแบบนี้เกินกว่าเหตุแน่นอน มีความผิดอาญา เกินกว่าจะอาศัยความเห็นใจมาบดบังความผิด ไม่สมควรที่จะเพิกเฉยและปล่อยให้การกระทำผิดลอยนวลจนเป็นเหตุให้อาจเกิดความรุนแรงขึ้นอีก และอาจเลวร้ายกว่าเดิมยิ่งขึ้นไปอีก 
ในระดับของมหาวิทยาลัยเอง สภาอาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัยควรออกมาแสดงความรับผิดชอบไต่สวนวินัยอาจารย์เรื่องนี้ โดยให้ความเป็นธรรมแก่นิสิตเป็นหลัก ถึงอย่างไร คนที่สมควรมีวุฒิภาวะมากกว่าก็คืออาจารย์ไม่ใช่หรือ ซึ่งนั่นหมายความว่าอาจารย์ต้องมีความรับผิดชอบสูงกว่า คือหากอาจารย์ผิดก็ควรต้องถือว่าผิดมากกว่านิสิต ร้ายแรงกว่าความผิดของนิสิต เพราะต้องรู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควรมากกว่า ต้องรู้จักยับยั้งชั่งใจมากกว่า 
มหาวิทยาลัยและสาธารณชนต้องแยกการให้ความเห็นใจต่อสภาวะจิตใจปัจจุบันของอาจารย์คนนั้น ออกจากกรรมที่ที่เขาได้ก่อไปแล้ว อย่างน้อยระหว่างก่อกรรมนั้น คนคนนี้ก็ไม่ได้อยู่ในภาวะวิปลาสไม่ใช่หรือ หรือหากเป็นเช่นนั้นอยู่ก่อนแล้ว ก็น่าสงสัยว่ามหาวิทยาลัยจะปล่อยให้เขามีสภาวะจิตที่ไม่สามารถดำเนินการเรียนการสอนอยู่ได้อย่างไร  
สาธารณชนย่อมสงสัยได้ว่า แล้วอาจารย์คนนี้จะถูกสอบสวนทางวินัยไหม อยู่ในสภาพที่ยังสามารถสอนหนังสือได้ไหม ยังมีวุฒิภาวะ มีสภาวะจิตใจที่ยังเป็นครูได้ไหม หากยังไม่พร้อม สมควรพิจารณาพักงานเขาไหม 
ถึงที่สุดแล้ว ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยด้วยกัน ผมเสียใจที่ได้เห็นว่าความเป็นครูจะบ่นปี้กันไปขนาดไหน ความมั่นใจของนิสิตต่อครูบาอาจารย์จะเป็นอย่างไร และยิ่งน่าสงสัยว่า ในระบบการศึกษาปัจจุบันที่เน้นการแข่งขันมุ่งเน้นกันแต่คะแนนประกันคุณภาพสูงๆ แข่งกันไต่อันดับในเวทีมหาวิทยาลัยดีเด่นของโลก จะดำเนินไปโดยไม่ใส่ใจต่อระบบอำนาจนิยม หรือเลวร้ายกว่านั้นคือความไร้จริยธรรมของอาจารย์ ความขาดสติยั้งคิดของอาจารย์อย่างนั้นหรือ