วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559

แซะนโยบายรถคันแรก ประยุทธ์ ชี้แก้ปัญหารถติดต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชน

ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

30 ส.ค. 2559 เมื่อเวลา 14.00 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงการแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า ในต่างประเทศแก้ไขปัญหาการจราจรด้วยการจัดวงจรการเดินรถใหม่ และกำหนดหมายเลขทะเบียนเลขคู่ และเลขคี่ในการวิ่งบนถนน ซึ่งประเทศไทยไม่สามารถดำเนินการเรื่องดังกล่าวได้ จึงทำให้การแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานครไม่สามารถทำได้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหามาตลอด แต่เนื่องจากการจราจรในกรุงเทพมหานครมีความแออัดมากขึ้นทุกวัน จนกลายเป็นปัญหาความเจริญเติบโตที่ไม่มีคุณภาพ จึงจำเป็นต้องหาวิธีการใหม่ๆ และเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนยอมรับถึงกฎ กติกาใหม่ ๆ เพื่อแก้ไขปัญหา พร้อมกับวางพื้นฐานการพัฒนาผังเมืองใหม่ และแก้ไขปัญหาระบบขนส่งมวลชนต่อไป
"เมืองนอกจะซื้อรถต้องมีที่จอดรถ เมืองเราได้ไหมล่ะ ได้ไหมตอบสิ ทุกคนอยากซื้อรถหมดล่ะ อยากมีรถ จำเป็นไม่ใช่ไม่จำเป็น แต่เขาเชื่อในกฏหมายไง ดูประเทศที่เจริญๆ แล้วสิ ซื้อรถต้องหาที่จอดรถให้ได้ก่อน ไอ้นี่ไม่มีเดี๋ยวก็จอดข้างถนนเอา บางคนขับรถยังไม่เป็นเลย ซื้อรถแล้ว นโยบายรถคันแรกไง โน้นย้อนกลับไปดูโน้นถึงจะแก้ได้ ถ้าทุกคนไม่รู้ปัญหาก็แก้ไม่ได้หรอก เพราะจะให้รัฐบาลออกกฏหมายบังคับใช้ก็โดนด่าทั้งวัน  ตำรวจก็โดนรัฐบาลก็โดน แต่อะไรที่มันเป็นต้องทำผมก็ต้องทำแค่นั้นเอง เพราะผมไม่ใช่มาจากการเลือกตั้ง" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ประยุทธ์ยัน 'เปรม' ไม่เกี่ยวโผทหาร ประวิตรปัดเปิดอัตราจอมพลรับบิ๊กทหารพลาดเก้าอี้ผู้นำเหล่าทัพ

ภาพ 3 ป. พล.อ.ประยุทธ์นำคณะรัฐมนตรีเข้าอวยพร พล.อ.เปรม เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิด ณ บ้านสี่เสาเทเวศน์ เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา (ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล)

พล.อ.ประยุทธ์ยัน 'พล.อ.เปรม' ไม่เกี่ยวโผแต่งตั้ง "บิ๊กทหาร" ในกองทัพ ขณะที่ พล.อ.ประวิตร ปัดเปิดอัตราจอมพลรับบิ๊กทหารพลาดเก้าอี้ผู้นำเหล่าทัพ 
31 ส.ค. 2559 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงกลาโหมได้เสนอขอเปิดตำแหน่งประธานที่ปรึกษากระทรวงกลาโหม (อัตราจอมพล) เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า ไม่มีอะไร เป็นของเก่า ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง เพราะของเดิมมีอยู่แล้ว พอเกษียณอายุราชการพร้อมกับตำแหน่ง  ก็ต้องแต่งตั้งคนใหม่ เพียงแต่ว่าถ้าจะแต่งตั้งตำแหน่งดังกล่าวต้องเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ยืนยันว่าไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อผูกมัดกับใครคนใดคนหนึ่ง
ต่อกรณีคำถามมีข่าวว่าตำแหน่งนี้ที่แต่งตั้งขึ้นมาก็เพื่อให้ไปผูกมัดกับใครคนใดคนหนึ่ง เวลาเกษียณก็หมดไป พล.อ.ประวิตร  กล่าวว่า ก็ถูกแล้ว พอเกษียณอายุ ก็หมดไป เราขอเปิดมา 1 ตำแหน่งให้กับคนคนนี้ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งพล.อ. พล.อ.อ. และพล.ร.อ. เมื่ออายุราชการหมดไปก็ต้องแต่งตั้งใหม่
ต่อข้อถามที่ว่า ใช่บุคคลที่ก่อนหน้านี้เป็นแคนดิเดตชิงตำแหน่งผู้บัญชาการเหล่าทัพแล้วพลาดหวังใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวปฏิเสธว่า ไม่ใช่  ไม่มี อย่าไปคิดมาก คิดมาก็ผิดทั้งหมด
 

ประยุทธ์ยัน 'เปรม' ไม่เกี่ยวโผทหาร

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ประชุม ครม. มีมติแต่งตั้งประธานที่ปรึกษากระทรวงกลาโหมในอัตราจอมพล เพื่อรองรับบุคคลมาดำรงตำแหน่งในอัตราดังกล่าว โดยถูกมองว่าเพื่อให้พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร เสนาธิการทหารบก (เสธ.ทบ) เป็นตำแหน่งปลอบใจ หลังพลาดผู้บัญชาการทหารบก ว่า ตำแหน่งประธานที่ปรึกษา ซึ่งมันไม่มี แต่เดิมเคยมี แต่ถูกปรับลดไป ซึ่งความจริงไม่ควรถูกปรับลด แต่ด้วยวิธีต่างๆ ที่ผ่านมา ในทุกๆ ปี เราจะต้องให้คนที่เขาทำงาน อย่าไปคิดว่าเป็นการตอบแทนให้คิดว่าเขาทำงานมาทั้งชีวิต แล้วประสบความสำเร็จทั้งหมด แต่ตำแหน่งมีจำกัด แต่ขอให้คิดว่าเขาทำงานเพื่อประเทศชาติ ก็ต้องให้เขามีความสุขในบันปลายชีวิต รวมถึงครอบครัวได้ภูมิใจ ทำไมสื่อไม่คิดแบบนั้น

"ขอถามว่า ถ้าคนห่วยๆ จะเป็นได้หรือเปล่า ก็เป็นไม่ได้ ทุกคนต้องเข้าใจว่ามันไม่ได้มากมายอะไร ส่วนข้างบนเขาก็ทำงานจริงๆ ข้างล่างลงมาก็มีตำแหน่งจำกัด ส่วนที่เกินมาก็ตั้งคนมาช่วยเป็นคณะทำงาน เพราะกองบกมีถึง 6 สาย ไม่ว่าจะกำลังพล การข่าว ยุทธการ การศึกษา กำลังบำรุง เขามีกลุ่มงานของเขา มีคณะกรรมการต่างๆ คนเหล่านี้จะมาช่วยกันทำงานทั้งหมด ไม่ใช่แค่ผู้บัญชาการทหารบกอย่างเดียว ต้องมีการมอบนโยบายลงไปให้ 5 เสือไปพิจารณาทั้งหมด รวมถึงให้คณะทำงานไปทำงานในแต่ละสายงาน ถึงจะสรุปข้อมูลทั้งหมดมาให้ผบ.ทบ. โดยผ่านกระบวนการของ 5 เสือ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ ระบุกองทัพมีการทำงานแบบนี้ทุกเหล่าทัพ ยืนยันว่าการแต่งตั้งทั้งหมด มีการประชุมกัน ซึ่งตนจะแต่งใครก็ต้องมีการประชุม 5 เสือ จากนั้นก็เสนอให้ที่ประชุมกลาโหม หากจะตั้งนายทหารพันเอกพิเศษ ผบ.ทบ.เป็นคนตัดสินใจ แต่ตนต้องประชุม 5 เสืออีก โดยเอาคำสั่งการปรับย้าย ที่ทุกกองทัพและหน่วยงานเสนอเข้ามาพิจารณาในที่ประชุมว่า คนในตำแหน่งดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่ เพราะเราก็รู้ดีว่าใครดี ไม่ดีอย่างไร แต่ถ้าเขาโอเคอยู่แล้ว ก็ไม่แตะต้อง แทบจะส่วนน้อยมากที่ไปยุ่ง ส่วนการปรับย้ายครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีการบีบบังคับใครทั้งสิ้น ยืนยันว่าก่อนจะมีการออกคำสั่งได้มีการประชุมเรียบร้อยแล้ว และไม่ได้เป็นอย่างที่หลายคนวิเคราะห์กันมาว่าจะอยู่ข้างใคร รวมถึงการไปเข้าบ้าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ มันเป็นคนละเรื่องกัน จะเอามาโยงกันได้อย่างไร ตนก็ตั้งของผมเอง กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม รวมกับการพิจารณาของผบ.เหล่าทัพเท่านั้น ทุกอย่างกลั่นกรองมาแล้ว ไม่มีใครเกี่ยวข้องทั้งสิ้น

"ผมขอยืนยัน ผมบอกแล้วไง ไม่มีใครมาสั่งผม เพราะเป็นหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคง และผมเป็นผู้นำเสนอและพิจารณา ขั้นสุดท้ายก่อนจะลงนามกราบบังคมทูล เราทำงานกันแบบนี้ อย่าไปคิดว่าจะต้องตั้งคนโน้น คนนี้ ข้างของคนนู้น คนนี้ มันต้องคนเดียว ยิ่งทำอะไรไม่ได้ เพราะจะเกิดความไม่เป็นธรรมในกองทัพสุดท้ายแตกแยก แต่ทหารไม่มีเรื่องเหล่านี้ ไม่มีแน่นอน คนส่วนใหญ่เขายอมรับ ส่วนคนผิดหวังก็เป็นคนส่วนน้อย เป็นคนธรรมดาเขาทำอะไรไม่ได้ เพราะตัวเองไม่ทำให้เขายอมรับ การทำงานต้องไต่เต้ามาตั้งแต่เล็กจนโต และระมัดระวังไม่ให้ผิดพลาด พอถึงเเวลาที่เหมาะสมก็เอาเรื่องเหล่านี้มาพิจารณา ทั้งหน้าบ้าน หลังบ้านพิจารณาหมด ไม่ใช่จะพิจารณาส่งเดช รักผม หรือไม่รักผม มันไม่ใช่ เพราะถึงไม่รักผม ผมก็รักเขา นึกถึงเขาสิ เพราะฉะนั้นอย่าเอา พล.อ.เปรม มาเกี่ยว ต้องให้เกียรติท่าน  อย่าเอาท่านมาเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง เพราะท่านเป็นที่เคารพนับถือของกองทัพ และท่านเองก็บอกว่าไม่ได้ยุ่งเกี่ยวอะไรทั้งสิ้น แต่สื่อก็เขียนอยู่ได้ เอาท่านมาเกี่ยวทำไม เอามาเกี่ยวให้ทะเลาะเบาะแว้ง ผมยืนยันว่าผู้ใหญ่ทุกคนไม่มีอะไรซึ่งกันและกัน ฉะนั้นอย่าไปเขียนให้ปัญหามันมากขึ้น เพราะปัญหามันเยอะอยู่แล้ว ขอให้ผมได้ทำงานแก้ปัญหา เดินตามอนาคต วันนี้ถามว่าผมทำเพื่อพวกพ้องหรือ” พล.องประยุทธ์ กล่าว

ประยุทธ์สั่งทบทวนค่าเสียหาย โครงการจำนำข้าวใหม่ ยันไม่ยอมให้คดีหมดอายุความ

ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้ (30 ส.ค.)  ว่า ได้ให้คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งไปทบทวนตัวเลข หลังมีรายงานว่าคณะกรรมการฯ ได้สรุปตัวเลขค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว เหลือ 1.78 แสนล้านบาท จากก่อนหน้านี้ 2.8 แสนล้านบาท โดย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุด รับผิดชอบ 20% ของยอดเสียหาย คือ 3.5 หมื่นล้านบาท ที่เหลือเป็นข้าราชการที่ต้องรับผิดชอบ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การประเมินตัวเลขแต่ละครั้งไม่ตรงกัน แต่ทุกอย่างไม่ใช่ปัญหา เพราะสุดท้ายต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม  ผู้ต้องหาต้องไปสู้ในศาล  หากเห็นว่าเรียกค่าเสียหายมาก ไม่เป็นธรรม ก็สามารถไปสู้ขอลดลงได้ หรือ หากเรียกน้อยเกินไป และศาลพิจารณาว่าสมควรเรียกเพิ่ม ก็ปรับขึ้นได้ ทุกอย่างอยู่ที่ศาล อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กังวลคือ ข้าราชการที่ต้องมาร่วมรับผิดชอบด้วย ไม่ต้องการให้ข้าราชการมาเดือดร้อน ทั้งที่ผู้สั่งการคือระดับหัว
“ตัวเลข 2.8 แสนล้าน เป็นตัวเลขหน้าคลังในช่วงแรก ตอนนี้มีตัวเลขในบัญชี ตัวเลขราคาขาย ตัวเลขที่ค้าง ซึ่งเป็นหน้าที่ศาลที่จะสรุปเรื่อง  เรื่องนี้จะหมดอายุความในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ผมคงไม่ยอมให้คดีหมดอายุความ ผมรับผิดชอบ ผมจะทำให้ดีที่สุด ผมเข้ามาก็เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งรัฐและผู้ต้องหา” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว    

6 ผู้ต้องหาคดี'พูดเพื่อเสรีภาพ' รับทราบข้อหา แอมเนสตี้เรียกร้องยุติสอบสวนทางอาญา

ผู้ต้องหาและทนายความถ่ายรูปร่วมกันภายหลังรับทราบข้อกล่าวหา

นักศึกษา นักกิจกรรม เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายฯ รวม 6 คนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ตำรวจแจ้งข้อหาแล้วปล่อยตัว ระบุสงสัยทำไม "กทม.จัดได้ ขอนแก่นโดนคดี" ผู้ต้องหาออกแถลงการณ์ ยกเลิกคำสั่งลิดรอนเสรีภาพ 3/2558, ยกเลิกใช้ศาลทหารกับประชาชน, ยกเลิกดำเนินคดีกับผู้เห็นต่าง

เวลาประมาณ 10.15 น. ที่จังหวัดขอนแก่น ผู้ต้องหา 6 คน ชาวบ้านนามูล-ดูนสาดประมาณ 20 คน ผู้สังเกตการณ์อีกจำนวนหนึ่ง รวมแล้วประมาณ 50 คน ร่วมกันเดินเพื่อไปเพื่อทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ในความผิดขัดคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 มั่วสุมชุมนุมเกิน 5 คนขึ้นไปกรณีจัดเวทีเสวนาเรื่องประชามติร่างรัฐธรรมนูญ "พูดเพื่อเสรีภาพ" ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เมื่อวันที่ 31 ก.ค.2559 จัดโดยกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ ร่วมกับขบวนการประชาธิปไตยใหม่อีสาน (NDM)
คดีนี้พนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่นได้ส่งหมายเรียกผู้ต้องหาไปยัง จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ นักศึกษามข. เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2559 ที่ผ่านมา และมีหมายเรียกอีก 5 คนเพิ่มเติม เพื่อให้มารับทราบข้อกล่าวหา ได้แก่ ฉัตรมงคล เจนเชี่ยวชาญ สมาชิกกลุ่มดาวดิน ผู้ต้องหาที่2, ณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์ กลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ ผู้ต้องหาที่3, ณัฐพร อาจหาญ ขบวนการอีสานใหม่ ผู้ต้องหาที่4, ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้ต้องหาที่5 และ นีรนุช เนียมทรัพย์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้ต้องหาที่6
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นครั้งแรกที่มีการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้สังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนด้วย โดยในกรณีนี้มีเจ้าหน้าที่ส่วนข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 2 คนที่สังเกตการณ์กิจกรรมต่างๆ เพื่อบันทึกข้อมูลการละเมิดสิทธิและร่วมสังเกตการณ์ในวันจัดเสวนานั้นถูกแจ้งข้อหาเช่นเดียวกับผู้จัดกิจกรรม
ณัฐพร อาจหาญ หรือ บี จากกลุ่มอีสานใหม่ กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าประหลาดใจเมื่อใน กทม. จัดเวทีลักษณะเดียวกันนี้ได้แต่การจัดที่อีสานกลับถูกจับและดำเนินคดี
"เรามีสิทธิแสดงออกอย่างสันติ มีสิทธิพูดมีสิทธิเดิน เราจะไปเพื่อยืนยันสิทธิ โดยจะเดินจากอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่นไป สภ.เมืองขอนแก่น" ณัฐพรกล่าว

อาจารย์ มข.ให้กำลังใจ 6 ผู้ต้องหา ย้ำเป็นสิทธิ เป็นสันติวิธี

เวลาประมาณ 11.00 น. เมื่อผู้ต้องหา 6 คนเดินทางมาถึง สภ.ขอนแก่น เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก มีประชาชน อาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) มารอให้กำลังใจ จากนั้นผู้ต้องหาทั้งหมดเข้าทำประวัติ พิมพ์ลายนิ้วมือและให้การกับพนักงานสอบสวน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบอยู่ในบริเวณ สภ.จำนวนหลายนาย รวมถึง พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี รักษาการหัวหน้ากองกิจการพลเรือนมณฑลทหารบกที่ 23 ค่ายศรีพัชรินทร จ.ขอนแก่น ซึ่งระบุว่ามาดูแลความเรียบร้อยในวันนี้ว่ามีการชุมนุมทางการเมืองหรือไม่ เท่าที่ดูเป็นเพียงการมาให้กำลังใจ แต่หากผู้มาให้กำลังใจแสดงสัญลักษณ์อะไรก็อาจมีความผิด

อาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่นมาให้กำลังใจ
ดร.ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์ ประธานหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิตสาขาพัฒนาสังคม คณะมานุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มข.อาจารย์ที่มารอให้กำลังที่ สภ.กล่าวว่า คิดว่าลูกศิษย์ไม่ได้ทำผิดอะไรและทำเพื่อบ้านเมือง วันนี้อยากจะมาเตรียมช่วยเหลือประกันตัวหากถูกควบคุมตัวหรือคุมขัง โดยเตรียมประกันตัวนักศึกษา ในฐานะพลเมืองคิดว่าเรื่องแบบนี้ไม่ใช่ความผิด การพูดเป็นสิทธิ การพูดเพื่อเสรีภาพเป็นการกระทำอย่างสันติวิธีซึ่งทั่วโลกทำกัน ดังนั้นเราควรจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้พูด ได้แสดงออก ประเทศไม่ได้มีแค่โทนสีเดียว กลุ่มเดียว แต่มีหลายสี หลายกลุ่ม เราต้องคิดว่าจะทำให้ทุกคนฟังกันและเคารพในความเป็นมนุษย์กันอย่างไรต่างหาก สิ่งที่นักศึกษาถูกกระทำในวันนี้ไม่เหมาะสม จึงมาให้กำลังใจ
ร.ศ.ดร.สุกัญญา เอมอิ่มธรรม หัวหน้าสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มข. กล่าวว่า ในฐานะอาจารย์ผู้สอนและหัวหน้าสาขารัฐประศาสนศาสตร์ ถือว่าเป็นหน้าที่โดยตรงที่ต้องมาดูแลลูกศิษย์ จากที่เห็นสำเนาที่ถูกส่งมาให้ดู พวกเขาถูกกล่าวหาขัดคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ผ่านมาก็ติดตามพฤติกรรมของเด็กกิจกรรมกลุ่มนี้มานานพอสมควร จึงมาเพื่อให้กำลังใจ แต่ส่วนหนึ่งอยากให้เห็นในเชิงสัญลักษณ์ว่ากรณีแบบนี้ก็เป็นไปตามสิทธิพลเมืองที่เด็กๆ เหล่านี้ไม่ได้ใช้ความรุนแรงเลยและการดำเนินคดีเช่นนี้ไม่เป็นผลดีต่อผู้ออกคำสั่งออกประกาศ ไม่เป็นผลดีต่อผู้บริหารบ้านเมือง อยากสะท้อนต่อสาธารณะว่า 1.เป็นหน้าที่โดยตรงของประชาชนในการใช้สิทธิ 2.อยากให้สาธารณะได้เห็นจุดยืนว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพและไม่ได้กระทำความรุนแรงตามรัฐธรรมนูญที่เราร่างกันอยู่นี้ อย่างน้อยเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่เราต้องติดตามต่อว่ามันใช้ได้เรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน การพูดการแสดงออก การเขียน
เวลาประมาณ 13.00 น. ผู้ต้องหาเสร็จสิ้นการให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน เบื้องต้นผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธ และเตรียมส่งคำให้การโดยละเอียดอีกครั้งเป็นเอกสาร พนักงานสอบสวนนัดหมายยื่นเอกสารดังกล่าวในวันที่ 4 ต.ค.นี้ จากนั้นทั้งหมดได้ออกมาอ่านแถลงการณ์ รายละเอียดมีดังนี้

แถลงการณ์ 6 ผู้ต้องหาคดีพูดเพื่อเสรีภาพ

แถลงการณ์ 6 ผู้ต้องหาคดีพูดเพื่อเสรีภาพ
ในวันที่ 30 และ 31 สิงหาคมม 2559 เพียงแค่จัดเวที พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน สำหรับคนในยุคสมัยนี้นั้น ทำให้เราต้องกลายเป็นผู้ต้องหา รัฐธรรมนูญซึ่งสำคัญกับชีวิตของเรา เพียงแค่เราเห็นต่างจากรัฐเผด็จการก็มีการกีดกันการมีส่วนร่วม เสรีภาพในการแสดงออกในปัจจุบันถ้าไม่ใช้เพื่อสนับสนุนรัฐเผด็จการแล้ว เราก็จะถูกกกักขัง โดยกระบวนการ (อ) ยุติธรรม
ในทีนี้เรายืนยันเจตนารมณ์เช่นเดิมว่ามนุษย์ทุกผู้ทุกนามต่างมีเสรีภาพ เสรีภาพที่จะกำหนดชีวิตตน เสรีภาพที่จะกำหนดวิถีทางทางการเมืองที่เขาต้องการ ไม่ใช่ใครที่จะบังคับให้เขาเดินบนทางที่วางไว้ แต่เป็นหนทางที่เขาเลือกเอง
ในที่นี้วนเวียนมาอีกครั้งที่ความมืดมิดปกคลุมยุคสมัย อำนาจเถื่อนท้าทายความกล้าหาญของผู้ถูกกดขี่ ในภาวการณ์เช่นนี้หลายพื้นที่ในสังคม มีผู้คนที่เชื่อในสิทธิธรรมชาติ เขาถูกเผด็จการกดหัวให้ก้มลง ประชาชนที่ต่อสู้เพื่อบ้านเกิดของตัวเอง ถูกรัฐและทุนเถื่อนคุกคาม เสรีภาพที่ในการกำหนดชะตากรรมของชีวิต และการกำหนดทิศทางการพัฒนาถูกพรากไป พื้นที่เสรีภาพในการแสดงออกถูกสงวนไว้ให้แต่ผู้ที่สนับสนุนรัฐเผด็จการเท่านั้น ผู้เห็นต่างจากเขา กลายเป็นผู้ต้องหา หลายคนต้องหนีไปหรือไม่ก็ถูกกักขัง
เหตุนี้เราขอเรียกร้องต่อผู้คนในสังคม จะไม่เรียกร้องต่อเผด็จการ เพื่อให้ทุกคนมาสรรค์สร้างสังคมไทยที่มีพื้นที่การแสดงออกอย่างเสรี ดังนี้
1) ยกเลิกคำสั่งที่ลิดรอนเสรีภาพที่ 3/58
2) การใช้อำนาจศาลทหารกับประชาชน
3) ยกเลิกการดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างทางการเมือง
ผู้ถูกกดขี่จงใคร่ครวญและพากันลุกขึ้นเถิด ใช้ความกล้าหาญของท่านต่อต้านและต่อสู้กับอำนาจเลวนั้น ปลดปล่อยนักโทษทางความคิด ให้บรราดาเราและชนรุ่นหลังได้พบสังคมใหม่ที่เราสามารถใช้สิทธิในการกำหนดเจตจำนงเสรีของเราเองได้
31 สิงหาคม 2559

แอมเนสตี้เรียกร้องยกเลิกสอบสวนทางอาญาต่อผู้จัดกิจกรรม “พูดเพื่อเสรีภาพ”  

เว็บไซต์แอมเนสตี้รายงานว่า สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วนเชิญชวนผู้สนับสนุนมากกว่าเจ็ดล้านคนทั่วโลก ส่งจดหมายเรียกร้องทางการไทยให้ยุติการสอบสวนทางอาญาต่อนักศึกษา นักกิจกรรม และเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรวมหกคน จากกรณีการเข้าร่วมกิจกรรม “พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน?” ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา
บุคคลทั้งหกประกอบด้วย จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ฉัตรมงคล เจนเชี่ยวชาญ และณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์ นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นและเป็นสมาชิกกลุ่มที่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มดาวดิน ณัฐพร อาจหาญ นักกิจกรรมด้านสิทธิที่ดิน ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ และนีรนุช เนียมทรัพย์ เจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยนักกิจกรรมทั้งหกมีกำหนดเข้ารายงานตัวที่ สภ.เมืองขอนแก่นในวันที่ 31 สิงหาคมนี้
ทั้งนี้ ตำรวจแจ้งว่าเป็นการสอบสวนการละเมิดคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 ซึ่งห้ามการรวมตัวทางการเมืองห้าคนหรือมากกว่านั้น แม้ว่าสองเจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจะระบุว่าเข้าร่วมงานในฐานะผู้สังเกตการณ์เท่านั้น หากถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง ทั้งหมดอาจต้องโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนและปรับไม่เกิน 10,000 บาท 
แอมเนสตี้และผู้สนับสนุนทั่วโลกเรียกร้องให้ทางการไทยยุติการสอบสวนทางอาญาโดยทันทีต่อบุคคลกลุ่มดังกล่าว ตลอดจนยกเลิกกฎหมายและคำสั่งใดๆ ที่เอาผิดทางอาญาต่อการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ

ผอ.ฝ่ายข่าววอยซ์ทีวี 'จำยอมน้อมรับ' พักเวคอัพนิวส์ 7 วัน ตามมติ กสท. 5-13 ก.ย.


กรณีที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มีมติ 3:1 เมื่อวันที่ 29 ส.ค. ให้ บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด ระงับการออกอากาศรายการ Wake Up News เป็นเวลา 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งมติ เนื่องจากการออกอากาศรายการดังกล่าว เมื่อวันที่ 15-16 สิงหาคม 2559 มีลักษณะเป็นการต้องห้ามมิให้ออกอากาศ ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 และประกาศ คสช. ฉบับที่ 103/2557 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 อีกทั้งเป็นการขัดต่อข้อกำหนดในบันทึกข้อตกลง ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2558  ระหว่าง สำนักงาน กสทช. และบริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ช่องรายการ วอยซ์ทีวี ซึ่งเป็นการปฏิบัติผิดเงื่อนไขหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ ข้อ 19 ของประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555
โดยการออกอากาศรายการ Wake Up News เมื่อวันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม 2559 เป็นการสัมภาษณ์ ร.ต.อ.จอมเดช ตรีเมฆ “ วิเคราะห์เหตุระเบิด 7จังหวัดใต้” และเมื่อวันอังคารที่ 16 สิงหาคม 2559 นำเสนอและวิเคราะห์เหตุการณ์ระเบิดในภาคใต้ และนำเสนอในหัวข้อ “ไผ่ ดาวดิน อดอาหารวันที่ 9 อาการทรุดหนัก” “มีชัยชี้ สว. เลือกนายกฯ ได้ 5 ปี แต่เสนอได้ชื่อเดียว”
ล่าสุด (31 ส.ค.) ประทีป คงสิทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวสถานีโทรทัศน์ วอยซ์ทีวี ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า แม้จะไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว แต่ด้วยสถานการณ์พิเศษก็จำยอมน้อมรับ โดยจะมีการระงับการออกอากาศรายการดังกล่าว 7 วันตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.นี้ พร้อมมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างรายการบางส่วนตามคำแนะนำของ กสท.
"แม้จะไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว เพราะเรามั่นใจว่า ข้อมูลและมุมมองที่เรานำเสนอทั้ง 3 ประเด็นได้นำเสนออย่างรอบด้าน ไม่บิดเบือน ไม่ใส่ร้าย เพียงแต่บางมุมมอง 'เห็นต่าง' จากที่ฝ่ายรัฐอยากให้สังคมเชื่อ แต่ในฐานะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลจากท่าน เมื่อเราพยายามชี้แจงแล้ว เสียงส่วนใหญ่ของ กสท. (3:1) เห็นว่าเราผิด ในสถานการณ์พิเศษเช่นทุกวันนี้ เราก็จำยอมน้อมรับ"
ทั้งนี้ เดิม ประทีป ระบุว่า Wake up news จะหยุดออกอากาศชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1-7 ก.ย. นี้ แต่ต่อมา มีการแจ้งว่า เมื่อเวลา 17.00 น. ได้รับการประสานจาก กสทช.ว่า ขอให้พักรายการวันที่ 5-13 ก.ย. โดยในส่วนโครงสร้างรายการจะมีการปรับเปลี่ยนบ้าง ตามคำแนะนำจาก กสท.
เขาระบุด้วยว่า สำหรับรายการที่จะมาทดแทนชั่วคราว คือ Wake up world ซึ่งโครงสร้างรายการจะต่างจากเวคอัพ นิวส์ พอสมควร โดยประเด็นทางการเมืองจำเป็นต้องลดลงบ้าง แต่จะทดแทนด้วยประเด็นสังคม เศรษฐกิจ และต่างประเทศ ส่วนทีมผู้ดำเนินรายการก็ต้องปรับเปลี่ยน ผู้ดำเนินรายการและนักวิเคราะห์รุ่นใหม่จะเข้ามาทำหน้าที่ โดยยังมีนักวิเคราะห์รุ่นใหญ่จากทีมเวคอัพ นิวส์ มาเสริมวันละคน
"นี่คือความเปลี่ยนแปลงในช่วง 7 วันจากนี้ไป แต่ที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือ เรายังยืนยันการเป็น "สถานีข่าวปลุกความคิด" ที่นำเสนอ "ข่าว/ความคิดเห็น/ความรู้" ที่สร้างสรรค์ ทันสมัย ให้สติปัญญา ด้วยหวังว่า จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้คนไทยและประเทศไทยแข่งขันได้บนเวทีโลก" ประทีป ระบุ

วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559

'เปรมโมเดล' จตุพร ชี้ที่มาอำนาจต่างกัน ระวังจบสิ้นอำนาจแบบเผด็จการทรราชย์


28 ส.ค. 2559 จากกรณีวานนี้  (27 ส.ค.59) วันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)  กล่าวว่า อย่าไปกังวลตกอกตกใจกับคำเสี้ยมเหน็บแนมตามสันดานนักการเมือง อย่าไปหลงลมคำพูดนักการเมือง ไม่เคยจริงใจกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯอยู่แล้ว ถามว่าวันนี้จำเป็นหรือไม่ที่ พล.อ.ประยุทธ์จะมาตั้งพรรคการเมืองลงเลือกตั้งเองนั้น ตนคิดว่า ถ้ารัฐสภา ส.ส. ส.ว.สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ท่านก็ควรจะรับ อย่าปฏิเสธ เป็นความสง่างาม ในรัฐสภา ส.ส. หรือ ส.ว.มีทั้งตัวเเทนประชาชน จากสาขาอาชีพ ต้องใช้เสียงข้างมากของคนเหล่านี้ ไม่ใช่เลือกกันส่งเดช พล.อ.ประยุทธ์ไม่จำเป็นต้องตั้งพรรค หากท่านตั้งก็เท่ากับว่ากำลังจะเดินไปหลุมพลางทางการเมือง อาจไปไม่ถึงดวงดาวได้ อาจจะถูกโจมตีกล่าวหาต่างๆ นานา โดยสะดุดขาตัวเองเปล่าๆ นอกจากนี้ยังมีอดีตให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า คนที่ทำปฏิวัติแล้วตั้งพรรคลงเล่นการเมือง ไม่เคยไปรอด ล้มกลางคันเเทบทุกราย
“หรือ พล.อ.ประยุทธ์จะดูตัวอย่างสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษก็ได้ ที่ไม่จำเป็นต้องลงเลือกตั้ง แต่ก็อยู่เป็นนายกฯถึง 8 ปี ขอให้บริหารจัดการประนีประนอมอำนาจทั้งในและนอกสภาให้ได้ทุกฝ่ายก็น่าจะเดินได้ เห็นได้จากผลประชามติที่ประชาชนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์กลายๆ อยู่แล้ว หากนับจากวันนี้ยิ่งสร้างผลงานไปเรื่อยๆ ถึงเวลาเลือกตั้งจะมีเสียงเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯสานต่อภารกิจต่อไปอีก 4 ปีแน่ๆ” วันชัย กล่าว

จตุพร เตือนประยุทธ์อย่าฟังแต่กองเชียร์ ชี้ที่มาต่างจากเปรม

ล่าสุดวันนี้ (28 ส.ค.59) จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ต่อข้อเสนอ "เปรมโมเดล" ว่า ที่มาอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ แตกต่างจาก “เปรมโมเดล” อย่างชัดเจน และถ้าคล้อยตามเสียงเชียร์ให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกแล้ว มีโอกาสจบสิ้นอำนาจแบบเผด็จการทรราชย์ได้
จตุพร กล่าวว่า เปรมโมเดลเป็นรูปแบบที่มาอำนาจของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองค์มนตรี และรัฐบุรุษ เมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกตั้งแต่ปี 2523 แล้วอยู่ยาวนานต่อเนื่องถึง 8 ปี จนประกาศวางมือทางการเมือง โดยเปล่งคำพูดว่า “ผมพอแล้ว” ดังนั้น จึงมีความแตกต่างจากประยุทธ์โมเดลตามเสียงเชียร์ของที่ วันชัย สอนศิริ ที่สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ สืบทอดอำนาจ
จตุพร ตนเห็นว่า ที่มาอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ มีความแตกต่างที่เด่นชัดจากเปรมโมเดล เพราะพล.อ.เปรม ไม่ได้ก้าวขึ้นไปเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก โดยมาจากการยึดอำนาจ ไม่ได้แต่งตั้ง ส.ว. เพื่อปูทางไปสู่อำนาจ แต่พล.อ.เปรม ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองด้วยเสียงข้างมากในสภา หลังจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลาออกจากนายกรัฐมนตรีคนนอกแล้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยการยึดอำนาจจากรัฐบาล ธานินทร์ กรัยวิเชียร เมื่อ 20 ตุลาคม 2520 แล้วร่างรัฐธรรมนูญ 2521 ซึ่งเป็นต้นกำเนิดการปกครองแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ ด้วยการแต่งตั้ง ส.ว. มาปูทางให้นายกรัฐมนตรียึดอำนาจได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกภายหลังการเลือกตั้งเมื่อ 22 เมษายน 2522 กระทั่งถูกพรรคการเมืองเสียงข้างมากอภิปรายไม่ไว้วางใจ จึงลาออกจากนายกรัฐมนตรีก่อนถูกอภิปรายฯ เมื่อกุมภาพันธ์ 2523
จากนั้น พล.อ.เปรม ได้รับการสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกติดต่อกันนานถึง 8 ปี สะสมบารมีมากมายจนมีความน่าเชื่อถือ ได้รับความเคารพทั้งจากฝ่ายทหารและพรรคการเมือง สิ่งสำคัญรู้จักพอทางการเมือง แม้ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติไทย ชนะเลือกตั้งเมื่อปี 2531 ไปเชิญให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกอีกครั้ง แต่ปฏิเสธ ด้วยการเปล่งวาจาว่า “ผมพอแล้ว”
จตุพร กล่าวต่อว่า ในช่วงปลายอำนาจการเมืองของพล.อ.เปรมนั้น กระแสประชาธิปไตยสูงมาก นักวิชาการ 99 คน ลงชื่อให้ พล.อ.เปรม วางมือทางการเมือง เพราะต้องการให้นายกรัฐมนตรีมาจาก ส.ส. และไม่ต้องการให้ทหารแทรกแซงทางการเมือง เมื่อพรรคชาติไทยชนะเลือกตั้งปี 2531 มาเป็นอันดับหนึ่ง ไปเชิญ เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก พล.อ.เปรม จึงปฏิเสธ แล้ววางมือทางการเมือง
จตุพร กล่าวว่า การวางมือทางการเมืองนั้น พล.อ.เปรม ถูกวิจารณ์จากนักวิชาการ 99 คน เรียกร้องไม่ให้ทหารเข้ามายุ่งการเมือง และกระแสนายกรัฐมนตรีจาก ส.ส. มาแรงอีกครั้งในช่วงปี 2535 สมัย พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่ยึดอำนาจจาก พล.อ.ชาติชาย แล้วต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกภายหลังการเลือกตั้งปี 2535 แต่ถูกชุมนุมต่อต้านในเหตุการณ์พฤษภา 2535 ดังนั้น ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก คงเป็นประยุทธ์โมเดล ไม่ใช่เปรมโมเดล เพราะภาพลักษณ์ สถานการณ์บ้านเมืองคนละเรื่องกับสมัยพล.อ.เปรม อีกทั้งพล.อ.ประยุทธ์ คงไม่ได้เปล่งวาจา ผมพอแล้ว แต่จะเปล่งวาจาว่า ผมพังแล้ว
“พล.อ.ประยุทธ์ จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม แต่ผมขอพยากรณ์ท่านว่า ท่านจบไม่สวย แต่จะจบลงด้วยเผด็จการทรราชย์ ท่านต้องคิดให้มากกับเสียงเชียร์ของพวกแวดล้อมอำนาจ เมื่อถึงวันนั้นพวกเชียร์ท่านจะหนีไปหมด เมื่อท่านไม่ได้มาจากประชาชน ย่อมไม่มีความสง่างาม เพราะท่านมาจากกระบอกปืน หากเดินตามวิถีกองเชียร์แล้วสุดท้ายท่านจะได้เปล่งวาจาว่า ผมพังแล้ว" จตุพร กล่าว

อัยการสั่งฟ้อง 'ประเด็นสติ๊กเกอร์โหวตโน' 4 นักกิจกรรม 1 นักข่าว กรณีราชบุรี


อัยการสั่งฟ้องคดี 4 นักกิจกรรมและ 1 นักข่าว ผิด ม.61 พ.ร.บ.ประชามติ จากประเด็นสติ๊กเกอร์โหวตโน ที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ทั้งหมดยื่นประกันด้วยหลักทรัพย์เดิมที่ใช้ในชั้นสอบสวนคนละ 1.4 แสนบาท ศาลราชบุรีให้ประกันตัว นัดสมานฉันท์ 21 ก.ย.นี้ 

 

ปกรณ์ อารีกุล พร้อมนักกิจกรรม-นักข่าวและทนายความ ให้สัมภาษณ์หลังได้รับการประกันตัวในชั้นศาล
 
29 ส.ค.2559 ที่ศาลจังหวัดราชบุรี อัยการสั่งฟ้องนักกิจกรรม-นักข่าว 5 คนในความผิดมาตรา 61 วรรคสองของพ.ร.บ.ประชามติ โดยทั้ง 5 คนเดินทางมารายงานตัวกับศาลจังหวัดราชบุรีและทั้งหมดให้การปฎิเสธข้อกล่าวหา จากนั้นยื่นประกันตัวด้วยหลักทรัพย์เดิมในชั้นตำรวจ คือ เงินสด คนละ 1.4 แสนบาท ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวและนัดสมานฉันท์วันที่ 21 ก.ย.2559 นัดพร้อมตรวจพยานหลักฐาน 17 ต.ค.2559 เวลา 8.30 น.ที่ศาลจังหวัดราชบุรี
ทนายความจำเลยอธิบายว่า นัดสมานฉันท์เป็นนโยบายบริหารจัดการคดีของศาลยุติธรรมเพื่อให้คดีเสร็จรวดเร็ว กระบวนการก็คือจะถามอีกครั้งหลังสอบคำให้การไปแล้วว่า จำเลยจะรับสารภาพหรือปฏิเสธ
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ภายหลังได้รับการประกันตัว ศาลเรียกทนายจำเลยทั้งหมดพูดคุยราว 15 นาที ภายหลังเสร็จสิ้นการพูดคุย ทนายระบุว่า เป็นการชี้แจงระเบียบปฏิบัติของการนัดสมานฉันท์ และทำความเข้าใจการดำเนินคดีในศาลราชบุรี
5 คนประกอบด้วย นักกิจกรรม 4 คน และนักข่าว 1 คน ได้แก่ ปกรณ์ อารีกุล, อนุชา รุ่งมรกต, อนันต์ โลเกตุ สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ และทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวประชาไท เหตุเกิดสืบเนื่องจากนักกิจกรรม 4 คนเดินทางเดินทางไปให้กำลังใจชาวบ้าน 23 คนที่ถูกเรียกรายงานตัวฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. จากกรณีการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ ส่วนผู้สื่อข่าวได้ติดรถไปทำข่าวดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา จากนั้นตำรวจได้ตรวจค้นรถที่ทั้งหมดโดยสารมาและพบเอกสารความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญ และรณรงค์โหวตโนหลายรายการในรถดังกล่าวจึงจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาโดยระบุว่ามีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าจะแจกจ่ายเอกสารดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตามในคำสั่งฟ้องของอัยการระบุถึงสติ๊กเกอร์โหวตโนเพียงรายการเดียว โดยเขียนว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำความผิดโดยการแจกจ่ายสติ๊กเกอร์ข้อความ "7 สิงหา Vote No ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก" ซึ่งเป็นการเผยแพร่ข้อความในช่องทางอื่นใดที่ผิดจากข้อเท็จจริง มีลักษณะปลุกระดม โดยมุ่งให้ไม่ไปใช้สิทธิ ออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นการร่วมกันกระทำความผิดของคณะบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ในการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย มาตรา 61 วรรคสอง พ.ร.บ.ประชามติ โดยอัยการขอให้ลงโทษเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปีและริบของกลางทั้งหมด
ส่วนในบันทึกการจับกุมของตำรวจก่อนหน้านี้ระบุถึงของกลางที่ตรวจพบบนรถว่า พบของกลาง คือ แผ่นไวนิลข้อความ "นายกไทยใครๆ ก็โดนล้อ" 1  แผ่น ไมโครโฟน ลำโพง ที่่คั่นหนังสือ "โหวตโน", จุลสาร การออกเสียง จำนวน 66 ฉบับ, แผ่นเอกสาร ปล่อย 7 นักโทษประชามติโดยไม่มีเงื่อนไข 21 แผ่น, แผ่นเอกสาร ความเห็นแย้ง 2 ฉบับ, เอกสารแถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ ฉบับลงประชามติ 9 ฉบับ, เอกสารจะใช้สิทธิลงประชามตินอกเขตจังหวัดทำอย่างไร 70 ฉบับ และสติ๊กเกอร์โหวตโนจำนวนมาก
ภายหลังได้รับการประกันตัวในชั้นศาล อนันต์ โลเกตุ หนึ่งในจำเลยคดีให้สัมภาษณ์ว่า ดูจากสำนวนแล้ว ไม่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะตนเองไม่ได้ทำตั้งแต่แรก วันดังกล่าวมีเจตนามาเยี่ยมผู้ต้องการคดีศูนย์ปราบโกง ที่บ้านโป่ง ซึ่งถูกกล่าวหาว่าผิดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/25583/58 เช่นเดียวกับตนเอง (คดีที่สภ.บางเสาธง)
"ประชามติน่าจะอิสระกว่านี้ ในทางสากลเขาก็รณรงค์ได้ เราไม่สามารถบังคับให้ใครออกเสียงเหมือนเราได้" อนันต์กล่าว

ปกรณ์ อารีกุล หรือแมน หนึ่งในจำเลยคดีนี้ให้สัมภาษณ์ว่า เห็นคำฟ้องอัยการแล้วรู้สึกแปลกใจที่ระบุว่าจำเลยแจกสติ๊กเกอร์ ขัด พ.ร.บ.ประชามติ ไม่ใช่เรื่องเนื้อหา แผ่นพับ หรือเอกสารความเห็นแย้งเลย จึงคิดว่าสำนวนค่อนข้างอ่อน เพราะข้อความในสติ๊กเกอร์คือ “7 สิงหา Vote No ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก” ไม่ใช่ข้อความเท็จ เมื่ออ่านร่างรัฐธรรมนูญย่อมเห็นว่าถ้าร่างนี้ผ่าน จากทั้งประเด็นเรื่อง ส.ว.สรรหา และยุทธศาสตร์ชาติ จะทำให้เกิดรัฐซ้อนรัฐ ส่วนการมองว่าเป็นการปลุกระดม การปลุกระดมตามที่อัยการตีความนั้นจะสำเร็จต่อเมื่อประชาชนเขารับสติ๊กเกอร์แล้วไปโหวตโน คำถามคือจะพิสูจน์อย่างไรถ้าฟ้องเช่นนี้ ตอนนี้จำเลยทุกคนปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดเพราะคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นความผิด แม้ประชามติจบแล้วแต่คดียังเดินหน้า วันนี้ศาลรับฟ้องแต่มีนัดไกล่เกลี่ยศูนย์สมานฉันท์ซึ่งจะไกล่เกลี่ยได้ก็ต้องรับสารภาพก่อนแต่ทุกคนยืนยันจะปฏิเสธ ที่ตกใจคือ ท้ายคำฟ้องอัยการขอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งสิบปีด้วยถือว่ารุนแรงมาก
“คนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองแบบเรา การตัดสิทธิทางการเมืองสิบปี รุนแรงกว่าการติดคุกสิบปี เพราะเราเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนคือการที่เรามีสิทธิทางการเมืองในการกำหนดอนาคตตัวเอง และอนาคตประเทศด้วยการมีสิทธิเลือกตั้ง” ปกรณ์กล่าว

วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ประยุทธ์ขอนักศึกษาอย่าคิดแต่เรื่องประชามติ-ประชาธิปไตย ถามมันกินได้หรือไม่?


24 ส.ค. 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการลงพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อติดตามการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ว่าเมื่อเวลา 08.30 น. นายกรัฐมนตรีเดินทางถึงโรงแรมราชภัฏกรีนวิว มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด เพื่อเป็นประธานการประชุมและติดตามการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลกับหัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
“ที่ผ่านมาบ้านเมืองวิกฤต เพราะฉะนั้นไม่ใช่อะไรๆ ก็จะต้องประชาธิปไตยหรือประชามติอย่างเดียว และถ้ามันไม่เลวร้ายผมคงไม่เข้ามา อย่าคิดแต่เรื่องประชามติ ประชาธิปไตยอย่างเดียว มันกินได้หรือไม่ ประชาธิปไตยคือความเห็นต่างโดยไม่เอาปืนมาไล่ยิงคน ถามว่าใครยิงคน ทหารยิงหรือ ไปถามไอ้ลูกหมาโน่น ต้องขอโทษนะที่พูดไม่เพราะ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวทักทายและพูดคุยกับคณาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ดที่มารอต้อนรับ ก่อนการประชุม
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ได้ทักทายและพูดกับนักศึกษาอีกว่า “วันนี้ให้ช่วยกันอย่าไปคิดเรื่องเดิมๆ โดยเฉพาะเรื่องของความขัดแย้ง บ้านเมืองต้องแก้ไขโดยพวกเรา เข้าใจกันนะ ผมไม่ได้คาดหวังอะไรซักอย่าง กฎหมายมันละเว้นไม่ได้ขอให้ไปบอกเพื่อนๆ ด้วย จะให้ปล่อยตัวมันจะปล่อยได้อย่างไร เพราะกฎหมายก็ต้องเป็นกฎหมาย ทุกอย่างมีขั้นตอนและกระบวนการ”
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่ง ก่อนการประชุมว่า วันนี้ที่มาจังหวัดร้อยเอ็ด อยากเรียนว่า ความจริงตนพร้อมที่จะไปในทุกจังหวัดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดใด จะชอบหรือไม่ชอบ ตนก็จะไป เพราะมีความตั้งใจและมีความปรารถนาดีกับทุกคน วันนี้เราพยายาม ที่จะร่วมมือกันทำอย่างไร ที่จะให้ร้อยเอ็ดมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นระบบ รวมทั้งการสร้างความเข้าใจกับพวกเราทุกคนและประชาชนในทุกมิติว่า วันนี้เรากำลังเดินหน้าประเทศกันอย่างไรและร้อยเอ็ดจะมีส่วนร่วมได้อย่างไร
      
“ผมไม่ต้องการให้ประชาชน เข้าใจอะไรที่ผิดหรือถูกบิดเบือน เราต้องสร้างคนของเราให้รู้จักคิด เข้าใจเหตุผลและเข้าใจถึงหลักการของเรา ในการที่จะพัฒนาประเทศและการใช้จ่ายงบประมาณ จะต้องสร้างการรับรู้และความเข้าใจกับทุกคนว่า ประเทศไทยนั้นเป็นหนึ่งเดียว มี 77 จังหวัด เพราะฉะนั้นจะต้องนึกถึงคนอื่นด้วย แล้วรัฐบาลเองก็ไม่สามารถที่จะหางบประมาณเพิ่มเติมได้เลยในช่วงที่ผ่านมา เพราะช่วงที่ผ่านมานั้น ไม่อยากจะใช้คำว่ามันล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะแม้จะมีความเจริญอย่างไร แต่ก็เป็นความเจริญท่ามกลางพยัญอันตรายระยะยาว ซึ่งเกิดจากความล้มเหลวทั้งหมด เพราะฉะนั้นการที่ต้องเข้ามาวันนี้ใช้เวลามา 2 ปี เพื่อแก้ปัญหา เพื่อที่จะเดินหน้าประเทศและสร้างความเข้าใจในทุกภาคส่วน ทั้งภาคราชการ ภูมิภาคและท้องถิ่น ทุกคนก็ต้องร่วมมือกันและเข้าใจตรงกัน ไม่เช่นนั้นเราก็เดินหน้าต่อไปไม่ได้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

โมเดล "ร้อยเอ็ด 4.101" 

สำหรับการประชุมดังกล่าว อนุสรณ์ แก้วกังวาล ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด นำเสนอยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเศรษฐกิจของจังหวัดให้สามารถนำไปสู่ภาวะที่เอื้อต่อการสร้างรายได้ สร้างโอกาส และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชน ทั้งนี้ สถานะทางเศรษฐกิจของจังหวัดร้อยเอ็ดในปัจจุบันขาดพลังในการขับเคลื่อน ซึ่งภาคการเกษตรที่เป็นรายได้หลักของประชาชนไม่แข็งแรงเพราะเป็นระบบการผลิตแบบดั้งเดิม และมีความเสี่ยงต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทางจังหวัดจึงกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาด้วยโมเดล "ร้อยเอ็ด 4.101" เพื่อใช้คุณค่าจากศักยภาพของจังหวัดที่มีอยู่ขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดตามโมเดล ดังนี้ 1. พัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา 2. พัฒนาจังหวัดร้อยเอ็ดให้เป็นพื้นที่เป้าหมายทางการท่องเที่ยวตามแผนสามเหลี่ยมการท่องเที่ยวสาเกตนคร 3. พัฒนาการเชื่อมโยงเครือข่ายการคมนาคมขนส่งสนับสนุนให้จังหวัดร้อยเอ็ดเป็นพื้นที่น่าสนใจการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง และ 4. การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำเพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งซ้ำซากในพื้นที่อำเภอจังหาร ทุ่งเขาหลวง และเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อลดพื้นที่การเกษตรที่ประสบอุทกภัย และลดพื้นที่ภัยแล้ง
ภายหลังการรับฟังการนำเสนอยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาจังหวัดร้อยเอ็ดจากผู้ว่าราชการจังหวัด นายกรัฐมนตรีกล่าวมอบแนวทางการพัฒนาว่า การพัฒนาจะต้องสร้างความเข้มแข็งในทุกระดับ และพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน ตามหลักความมั่นคง มั่นคั่ง และยั่งยืน โดยโครงการพัฒนาที่จังหวัดเสนอมานั้น นายกรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการและให้หน่วยงานไปร่วมกันพิจารณาดำเนินการ โดยเฉพาะในส่วนที่เชื่อมโยงกัน ส่วนโครงการใดที่อยู่ในแผนงานของส่วนราชการอยู่แล้วให้เร่งรัดดำเนินการให้ได้ในปีงบประมาณ 2560 เพื่อประชาชนจะได้รับประโยชน์และบรรเทาความเดือดร้อน ได้ผลอย่างชัดเจน นอกจากนี้ แผนการพัฒนาต่าง ๆ ต้องให้ความสำคัญเรื่องการเชื่อมโยง เช่น การท่องเที่ยวจะต้องเชื่อมโยงกลุ่มจังหวัด และจัดเป็นแพคเก็ตการท่องเที่ยวในภูมิภาค หรือการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานจะต้องเชื่อมโยงในแต่ละระดับทั้งถนน รถไฟ ท่าเรือ สนามบินรวมถึงการเชื่อมโยงไปประเทศเพื่อนบ้าน
 
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ส่วนราชการต่าง ๆ เร่งทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาประเทศของรัฐบาล เช่น ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อให้นโยบายสามารถนำไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ และได้รับการสนับสนุนและตอบรับจากประชาชน

‘ประจักษ์ชัย’ ผู้ป่วยจิตเภทและคดี 112 ภาคพิศดาร ขึ้นศาลทหารนัดสืบพยาน 1 ธ.ค.



24 ธ.ค.2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้ประจักษ์ชัย(สงวนนามสกุล) พร้อมพี่สาวและทนายความเดินทางมาศาลทหารตามนัดตรวจพยานหลักฐาน ในคดีที่เขาตกเป็นจำเลยจากการเขียนและยื่นคำร้องถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เมื่อวันที่ 19 ก.พ.2558 จนถูกดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112
การพิจารณาเริ่มในเวลา 9.45 น. ก่อนเริ่มการตรวจพยานหลักฐาน ทนายความของประจักษ์ชัยได้แถลงว่าเอกสารการรักษาโรคของประจักษ์ชัยที่ได้ส่งหมายขอไปทางสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ยังไม่ได้ส่งมาเนื่องจากทางสถาบันกำลังรวบรวมอยู่ จึงไม่สามรถนำมาในนัดนี้ได้ ซึ่งตุลาการศาลทหารเห็นว่าเอกสารดังกล่าวสามารถนำมาสืบในการสืบพยานได้อยู่แล้วจึงไม่เลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานออกไป
จากนั้นอัยการศาลทหารกรุงเทพซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้ได้ยื่นบัญชีระบุพยานเป็นพยานบุคคล10 ปาก ได้แก่ นายทหารผู้กล่าวหา นายทหารผู้จับกุม นายทหารที่อยู่ในเหตุการณ์ นายทหารผู้นำตัวประจักษ์ชัยไปซักถามในชั้นกฎอัยการศึก พยานลำดับที่ 5-8 เป็นผู้ที่ออกความเห็นจากการอ่านข้อความของประจักษ์ชัย พยานผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา พนักงานสอบสวนในคดี นอกจากนั้นยังมีพยานเอกสารอีก 13 ลำดับ
ทางฝ่ายจำเลยทนายความได้ยื่นบัญชีระบุพยานเป็นพยานบุคคลจำนวน 9 ปาก ได้แก่ ตัวประจักษ์ชัยเอง น้องสาวและแม่ของประจักษ์ชัย ซึ่งจะเบิกความถึงช่วงที่ได้ดูแลรักษาประจักษ์ชัยตั้งแต่เด็กและช่วงหลังเกิดเหตุ จิตแพทย์ที่ทำการรักษา พยานที่จะเบิกความเรื่องโรคและสิทธิในการรักษาของผู้ที่ป่วยเป็นโรคจิตเภท และพยานที่จะเบิกความถึงสิทธิของผู้ป่วยโรคจิตเภทก่อนถูกนำเข้าสู่การดำเนินคดี นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ที่จะเบิกความในประเด็นของการพิจารณาคดีและเจตนารมณ์ของมาตรา 112 พี่สาวของประจักษ์ชัย และพยานปากสุดท้ายเป็นอดีตนายจ้างของประจักษ์ชัยที่จะเบิกความถึงช่วงที่ได้รับประจักษ์ชัยเข้าทำงานในโรงขัดเหล็ก
ตุลาการศาลทหารได้อนุญาตให้คู่ความทั้งสองฝ่ายตรวจดูพยานหลักฐานที่จะใช้ในการสืบพยาน โดยพักการพิจารณาเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้มีเวลาในการดูพยานหลักฐานของอีกฝ่าย จากนั้นภายหลังคู่ความทั้งสองฝ่ายตรวจดูพยานหลักฐานเสร็จสิ้นได้แถลงไม่รับพยานหลักฐานของอีกฝ่าย
ทั้งนี้ทนายความได้แถลงคัดค้านการตรวจพยานหลักฐานเนื่องจากฝ่ายโจทก์ไม่นำพยานเอกสารลำดับที่ 22-23 ซึ่งเป็นคำให้การพยานในชั้นสอบสวนมาแสดงต่อศาลในนัดนี้จึงไม่สามารถตรวจได้
ภายหลังการตรวจพยานเสร็จสิ้นศาลได้นัดสืบพยานโจทก์ปากแรกนายทหารผู้กล่าวหาในคดีนี้มาเบิกความต่อศาลในวันที่ 1 ธ.ค.2559
คดีนี้จิตแพทย์ได้เคยมีความเห็นสรุปได้ว่าประจักษ์ชัยวิกลจริตจริง ศาลจึงสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราวจนกว่าจะสู้คดีได้และให้ประกันตัวด้วยเงินหนึ่งแสนบาท จากนั้นเมื่อวันที่ 29 มี.ค.2559 จิตแพทย์ได้ให้การต่อศาลในนัดประเมินความสามารถในการต่อสู้คดีของจำเลยว่าอาการดีขึ้นแล้วสามารถสู้คดีได้
สำหรับประวัติของประจักษ์ชัย ศูนย์ทนายฯ รายงานไว้ว่า คดีนี้เริ่มขึ้นจากเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 ประมาณ 10.00น. จากคำบอกเล่าของประจักษ์ชัย เขาเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาลเพียงคนเดียว เพื่อร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยติดต่อตำรวจที่ป้อมยามหน้าประตูทำเนียบ ตำรวจให้เขาข้ามถนนไปร้องเรียนที่ศูนย์ร้องเรียนในสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(กพ.) ทหารที่อยู่หน้าทางเข้าได้ยื่นกระดาษให้ 1 แผ่นพร้อมปากกา เขาได้เขียนข้อความร้องเรียนของเขาลงไปในกระดาษแผ่นนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ได้อ่านข้อความ ตำรวจ 10 กว่านายกรูเข้าล้อมตัวเขาและนำตัวไป สน.ดุสิต
เมื่อถึงที่หมายประจักษ์ชัยถูกพาขึ้น “ห้องสายสืบ” ราว 20 นาที แล้วเจ้าหน้าที่ก็ปล่อยตัวไป เขาจึงไปเที่ยวงานตรุษจีนที่ลาดพร้าวแล้วจึงเดินทางไปทำงานต่อที่ย่านบางบอนตอนเวลาประมาณทุ่มสองทุ่ม แต่ในขณะเดินทางด้วยรถสองแถวเข้าที่ทำงานแถววัดหัวกระบือก็มีตำรวจมาดักรอจับและเรียกให้ลงจากรถแล้วควบคุมตัวไปที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 1
ที่เขาถูกถ่ายภาพทำประวัติพิมพ์ลายนิ้วมือและสอบสวนและเขาได้ให้การว่าเป็นคนทำในการสอบสวน สารวัตรสอบสวนยศพันตำรวจตรี พูดว่า “ไม่เกิน 2 เดือนยกฟ้อง” และตำรวจได้ถามว่า “ได้ความคิดนี้มาจากไหน” แต่ ประจักษ์ชัยเพียงแค่บอกว่า “เพราะกระดาษแผ่นเดียว” ระหว่างการสอบสวนเขาไม่มีทนายความร่วมฟังการสอบสวนจนเวลาประมาณ 23.00น. เขาถูกส่งตัวไปขังที่สน.ดุสิต เบ็ดเสร็จในวันเดียวเขาถูกจับถึงสองครั้ง
ประจักษ์ชัยเล่าว่าเคยมาร้องเรียนแบบนี้ตั้งแต่ปี 2537 รวมแล้วน่าจะเกิน 10 ครั้ง แต่ทุกครั้งก็จะร้องเรียนปากเปล่าไม่เคยเขียนลงกระดาษมีครั้งนี้ที่เขียน ที่ผ่านมาไม่เคยถูกจับดำเนินคดี ที่ทำแบบนี้เพราะอยากพบนายกรัฐมนตรีเพื่อขอความเป็นธรรม เขาเห็นว่า “สมบัติทุกอย่างเป็นของประชาชน” เขาไม่เคยทำความผิดอาญา และไม่มีสีทั้งเหลืองทั้งแดง
แม่ซึ่งเป็นผู้ดูแลประจักษ์ชัยมาตลอดเล่าว่าตอนประจักษ์ชัยอายุ 18-19 ปี แสดงออกถึงอาการทางจิตและเสพยาเสพติดทำให้อาการของโรคหนักขึ้น จึงส่งตัวตรวจที่โรงพยาบาลศรีสะเกษด้วย แต่ว่าทางโรงพยาบาลได้ขอยาจากทางโรงพยาบาลจิตเวชในจังหวัดอุบลราชธานี แต่ประจักษ์ชัยกินยาได้เพียงครั้งเดียวแล้วก็ไม่ได้กินอีกเลย
น้องสาวของประจักษ์ชัยเล่าว่าตั้งแต่เธอเริ่มรู้ความ พี่ชายก็มีอาการทางจิตแล้วตั้งแต่ในวัยเด็กแต่เริ่มสงบขึ้นเมื่อตอนอายุ 20 ปลายๆ อาการที่เธอเคยเห็นมีทั้ง ตะโกนเสียงดังด้วยคำที่ไม่มีความหมาย หัวเราะหรือพูดคนเดียว แต่ปกติไม่เคยทำร้ายใครและสามารถทำงานได้ก่อนถูกจับก็เป็นช่างเจียร์ในโรงงานแห่งหนึ่งย่านบางขุนเทียนและคำนวนเลขได้เพราะเคยเรียนจนถึงชั้นประถม6
นอกจากอาการทางจิตแล้วประจักษ์ชัยยังมีอาการท้องบวมจากโรคตับแข็งจากการดื่มสุราและตับอักเสบเป็นมา 3 ปีแล้ว แต่เรื่องนี้เจ้าตัวไม่ยอมรับว่าติดเหล้าแค่ “กินเหล้าขาวเยอะ”
ระหว่างที่ประจักษ์ชัยถูกคุมขังในเรือนจำเมื่อการฝากขังมาถึงผัดที่4 ทนายความได้ยื่นคำร้องคัดค้านฝากขังของพนักงานสอบสวนต่อศาลทหารโดยให้เหตุผลเกี่ยวกับอาการป่วยไข้ของประจักษ์ชัยซึ่งมีทั้งโรคตับที่อาการขอโรคปรากฎให้เห็นทั้งท้องบวมจากน้ำคั่งในท้องและมีเนื้องอกที่สะดือ ตัวเหลืองตาเหลือง
นอกจากนั้นยังมีอาการทางจิต ซึ่งจำเป็นต้องตรวจรักษาประจักษ์ชัย หากยังควบคุมตัวต่อจะกระทบสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลอาการป่วยทางกายและทางจิตของประจักษ์ชัยได้ ซึ่งศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัว เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วทางครอบครัวของประจักษ์ชัยเองก็ไม่สามารถจะยื่นหลักทรัพย์เพื่อประกันตัวเขาออกมาได้เนื่องจากมีฐานะยากจน เขาจึงอยู่ในเรือนจำมาตลอด
ในระหว่างที่การสอบสวนของตำรวจยังไม่เสร็จสิ้นทนายความได้ดำเนินการยื่นคำร้องต่อพนักงานสอบสวนให้มีการรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับอาการป่วยทางจิตและให้พนักงานสอบสวนทำการส่งตัวประจักษ์ชัยได้รับการตรวจความผิดปกติทางจิต ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 14 แต่พนักงานสอบสวนอ้างว่าตนเองไม่มีอำนาจให้ยื่นคำร้องต่อศาล และทนายความก็ได้ยื่นถึงผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพแต่ก็ได้รับคำตอบแบบเดียวกัน
เมื่อเป็นดังนี้เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ภายหลังอัยการทหารสั่งฟ้องคดีของประจักษ์ชัยและคดีเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาลทหาร ทนายความจึงดำเนินการยื่นคำร้องถึงศาลทหารเรื่อง ขอให้ส่งตัวประจักษ์ชัยตรวจรักษาอาการทางจิตตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 14 โดยให้เหตุผลว่าจากการที่ทนายได้เข้าพบประจักษ์ชัยและข้อเท็จจริงจากญาติพบว่าประจักษ์ชัยมีอาการทางจิตที่สามารถเห็นจากอาการภายนอกได้และ ญาติได้ให้ข้อมูลว่าเขามีอาการตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น ซึ่งศาลได้พิจารณาส่งตัวประจักษ์ชัยตรวจที่สถาบันกัลยาณ์ฯ และได้รับการตรวจครั้งแรกเมื่อ 6 ก.ค. ซึ่งนำมาสู่การไต่สวนรายงานในครั้งนี้
หลังจากที่ประจักษ์ชัยได้รับการปล่อยตัวแล้วระหว่างนี้เขายังต้องอยู่ในการดูแลของญาติให้ได้รับการรักษาอาการทางจิตไปพร้อมโรคตับแข็ง และแพทย์ของสถาบันกัลยาณ์ฯ จะต้องรายงานผลทุก 180 วัน ต่อศาลตั้งแต่วันที่รับตัวรักษาจนกว่าประจักษ์ชัยมีอาการทางจิตดีขึ้นจนสามารถต่อสู้คดีได้ ศาลทหารจึงนำคดีกลับมาพิจารณาอีกครั้ง