วันอังคารที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2559

ทหารรวบชาวประมงระยองเข้าค่าย อ้างสอบปมผู้มีอิทธิพล พบเคยร้องกสม.ถูกทหารไล่รื้อ

อนุฯ กสม. เผยทหารรวบตัวลุงละม่อม พร้อมพวก 2 คน ชาวประมงระยองเข้าค่าย อ้างสอบปมผู้มีอิทธิพล พบเคยร้องกสม.ถูกทหารไล่รื้อบ้านเรือนและที่ทำประมงบริเวณริมชายหาด อ.เมืองระยอง
29 มี.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา ส.รัตนมณี พลกล้า อนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Sor Rattanamanee Goergoraon' ในลักษณะสาธารณะวันนี้(29 มี.ค.59) เมื่อเวลา 10.13 น.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า เมื่อเวลาประมาณ 05.00 น. (29 มี.ค.59) เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าควบคุมตัว นายละม่อม บุญยงค์ ชาวบ้านประมง จ.ระยอง พร้อมพวกอีก 2 ราย ไปปรับทัศนคติ ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบความชัดเจน
 ส.รัตนมณี ระบุด้วยว่า นายละม่อม อายุ 65 ปี เป็นชาวประมงในอำเภอเมืองระยอง เป็นผู้ร้องเรียนกรณีที่ทหารร่วมกับเทศบาลระยองจะดำเนินการไล่รื้อบ้านเรือนและที่ทำประมงต่อเนื่องบริเวณริมชายหาด อ.เมืองระยอง ต่อคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยกรณีดังกล่าวนี้จะทำให้ชุมชนประมงพื้นบ้านบริเวณดังกล่าวต้องรื้อถอนบ้านเรือนและที่ทำการแปรรูปอาการทะเล อละที่จอกเรือออกจากพื้นที่ มีผู้เดือดร้อนกว่าสิบครอบครัว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิฯ และอยู่ระหว่างการหาทางแก้ไขปัญหา
นอกจากนี้ นายละม่อมยังเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีน้ำมันรั่วที่ทะเลระยองปี 2556 ได้ร่วมกับกับผู้ได้รับความเดือดร้อนจากกรณีดังกล่าวฟ้องร้องหน่วยงานรัฐและบ.ปิโตรเลียมไทยโดลบอลเคมีคอล เมื่อปี 2557 โดยคดีดังกลาวกำหนดสืบพยานในวันที่ 20 เม.ย.นี้
เช่นเดียวกับ อาภา หวังเกียรติ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้โพสต์บันทึกการเชิญตัวนายละม่อม ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Arpa Wangkiat' ในลักษณะสาธารณะ โดยบันทึกดังกล่าว ระบุสถานที่บันทึกเป็นกองพันทหารราบที่ 6 กรมทหารราบที่ 2 กองพลนาวิกโยธิน ลงวันที่ 29 มี.ค.2559 ระบุด้วยว่า เวลาประมาณ 06.10 น. เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง อาศัยอำนาจตามคำสั่ง คสช.ได้ร่วมกันเชิญตัวนายละม่อม อายุ 65 ปี ชาว ต.ปากน้ำ อ.เมืองระยอง จ.ระยอง จากบ้านพัก เพื่อมาสอบถามข้อเท็จจริงตามแนวทางการปฏิบัติในการปราบปรามผู้มีอิทธิพลในพื้นที่รับผิดชอบ และได้ส่งตัวไปยัง มทบ.14 เพื่อพิจารณาต่อไป
โดยท้ายของหนังสือยังระบุว่า การเชิญตัวบุคคลดังกล่าว เจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ได้กระทำการไปตามอำนาจหน้าที่ด้วยความละมุนละม่อม มิได้กระทำการใดๆ อันเป็นการบังคับ ขู่เข็ญ ทำร้ายร่างกาย หรือหลอกลวงให้คำมั่นสัญญาด้วยประการใดๆ มิได้ทำให้ทรัพย์สินของผู้ใดได้รับความเสียหาย สูญหายไร้ค่า และมิได้กระทำการใดอันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการแต่อย่างใด


เพนกวิน อัดร่างรธน.มีชัย ตัดตอนสวัสดิการเรียนฟรีช่วง ม.ปลาย - อาชีวะ อย่างโหดเหี้ยม


เพนกวิน ม.5 เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ชี้ร่างรธน.มีชัย ฉบับลงประชามติ ตัดตอนสวัสดิการเรียนฟรีช่วง ม.ปลาย - อาชีวะ อย่างโหดเหี้ยม นิยามเป็น 'เรียนฟรี 12 ปี เสิ่นเจิ้น'
29 มี.ค. 2559 ภายหลังจากที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติออกมา พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ซึ่งวานนี้ (28 มี.ค.59) เขาได้ออกจดหมายเชิญชวนให้จับตาประเด็นเรื่อง การลดทอนสวัสดิการเรียนฟรี นั้น
ล่าสุดวันนี้ พริษฐ์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ดังกล่าว ซึ่งระบุไว้ใน ม.54 ว่า ต่อไปนี้ ใครประสงค์จะเรียน ม.ปลาย หรือ อาชีวะ ต้องจ่ายค่าเรียนกันเอง ระบุว่าเรียนฟรีเวอร์ชั่นใหม่ที่กำลังรอวันประชามตินั้นเป็นการฆ่าตัดตอนสวัสดิการเรียนฟรีช่วง ม.ปลาย - อาชีวะ อย่างโหดเหี้ยม
โดยมีรายละเอียดดังนี้

ต่อไปนี้ ใครประสงค์จะเรียน ม.ปลาย หรือ อาชีวะ ท่านก็จ่ายค่าเรียนกันเองนะครับ
 
"เรียนฟรี 12 ปี" เวอร์ชั่นคุณมีชัยที่เพิ่งออกมาใหม่นี้ เป็น "12ปีเสิ่นเจิ้น" เรียนฟรีเวอร์ชั่นใหม่ที่กำลังรอวันประชามตินั้น เรียกได้ว่าฆ่าตัดตอนสวัสดิการเรียนฟรีช่วง ม.ปลาย - อาชีวะ อย่างโหดเหี้ยม ไม่เหลือแม้แต่ซาก โดยให้เหตุผลว่าจะนำเงินส่วนดังกล่าวไปเป็นสวัสดิการเรียนฟรีให้ "การศึกษาก่อนวัยเรียน" และจะให้การศึกษาฟรีนี้ถึงจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) เท่านั้น
 
คำถามคือ เมื่อรัฐคุ้มครองการศึกษาฟรีถึงแค่ ม.3 จะต้องมีผู้ที่เดินไปตามระบบการศึกษาต่อไม่ไหวและจะมีระดับการศึกษาเพียงแค่การศึกษาภาคบังคับเท่านั้น เท่ากับว่ารัฐอยากให้ประชาชนเรียนจบกันเพียงแค่ ม.3 ก็ได้ แต่รัฐได้สร้างหลักประกันแล้วหรือยังว่าประชาชนที่มีระดับการศึกษากันเพียงแค่การศึกษาภาคบังคับจะสามารถจบไปมีอาชีพและสร้างประโยชน์ให้สังคมได้
 
เมื่อยกเลิกภาระของรัฐในการจัดสวัสดิการในส่วนของ ม.ปลาย รัฐบาลชุดต่อ ๆ ไปก็อาจผลักภาระค่าใช้จ่ายให้นักเรียนและผู้ปกครองได้มากที่สุดถึง 22 รายการ (ค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือเรียน ค่าทัศนศึกษา ฯลฯ) และที่หนักหน่วงกว่าคือสายอาชีพที่นอกจากจะมีค่าเล่าเรียนสูงแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอุปกรณ์การศึกษาที่แพงลิบลิ่วแยกต่างหากอีก
ในที่สุด ก็จะมีคนที่ไม่สามารถจ่ายเงินเพื่อการศึกษาเองได้และจะต้องกู้เงินตามกองทุนที่รฐธรรมนูญให้จัดตั้งขึ้นมา และเชื่อว่าสุดท้ายก็จะต้องมีคนที่ไม่สามารถกู้ยืมได้อีก และกับคนทั่วไปก็เป็นการเอาภาระอันหนักหน่วงไปยัดเยียดใส่ การเพิ่มภาระทางการศึกษาให้กับประชาชนทั่วไปนั้น เป็นสิ่งที่รัฐควรจะทำแล้วหรือ
 
ดังนั้น หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติไปได้ ขอเรียนให้ทราบล่วงหน้าว่าต่อไปนี้การเรียน ม.ปลาย และ อาชีวะ ซึ่งปกติก็ฟรีเก๊อยู่แล้ว ต่อไปนี้จะไม่ฟรีอย่างเป็นทางการ
 
R.I.P.

สำหรับมาตรา 54 ตาม ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ นั้นระบุว่า 

พล.อ.ประวิตร เชื่อดำเนินคดีโพสต์ขันแดงไม่บานปลาย เผยไม่กังวล ร่างรธน.จะผ่านหรือไม่


29 มี.ค.2559 กรณีการดำเนินคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามมาตรา 116 กับผู้มีขันแดงและโพสต์ภาพถ่ายของ นายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่จังหวัดเชียงใหม่ และศาลทหารเชียงใหม่อนุญาตให้ประกันตัวด้วยเงินประกัน 1 แสนบาทในวันนี้นั้น (อ่านรายละเอียด
ล่าสุด สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึง กรณีดังกล่าวว่า เรื่องนี้เจ้าหน้าที่ดูแลอยู่ โดยจะต้องพิจารณาดูว่า เป็นเรื่องที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือว่ามีเจตนาที่จะยั่วยุปลุกปั่นหรือไม่ด้วย
“เรื่องใดที่ผิดกฎหมาย ก็ต้องว่ากันไปตามกระบวนการอยู่แล้ว เชื่อว่าเรื่องนี้จะไม่บานปลาย เพราะเจ้าหน้าที่ได้ดูแลความเรียบร้อยทุกวัน และขอให้ดูว่า อีกไม่นานร่างรัฐธรรมนูญก็ใกล้ที่จะเสร็จสิ้น และจะได้ทำประชามติแล้ว ก็ไปแสดงความคิดเห็นกัน ขอย้ำว่ารัฐบาลและคสช.ยังคงยืนยันว่า ทุกอย่างยังเป็นไปตามโรดแมปที่วางไว้” พล.อ.ประวิตร กล่าว
เมื่อถามว่า จะเปิดโอกาสให้กลุ่มต่างๆ ได้แสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนทำประชามติหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องไปถามกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่าได้เตรียมการไว้อย่างไรบ้าง  เชื่อว่า กรธ.คงมีการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็น หรืออาจมีการเดินสายรับฟัง ซึ่งกรธ.คงจะได้ชีแจงในรายละเอียดต่อไป
“ผมคิดว่าการจัดเวทีให้แสดงความคิดเห็นในหลายๆ เวที  อาจหาที่ยุติไม่ได้ เพราะจะมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบร่างรัฐธรรมนูญนี้ ก็จะเถียงกันไปมาไม่จบ คงดีกว่าหากทุกคนไปแสดงความเห็นด้วยการทำประชามติทีเดียวเลย จะชอบหรือไม่ชอบอย่างไร ก็ไปโหวตกันเลย” พล.อ.ประวิตร กล่าว
ต่อกรณีคำถามว่า ที่ประชุม ครม.ได้หารือประเด็นที่กังวลในร่างรัฐธรรมนูญ ว่าจะไม่ผ่านประชามติหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่ได้มีการพูดคุยกันเรื่องนี้ และไม่รู้สึกกังวล เพราะผ่านก็ผ่าน ไม่ผ่านก็คือไม่ผ่าน
สำหรับหลักเกณฑ์หลักสูตรอบรมนักการเมืองนั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า คสช.มีการกำหนดขั้นตอนดำเนินการไว้แล้ว ไม่ต้องห่วงทุกอย่างไม่มีอะไรน่ากังวล

ทหารจัดส่ง 'วรชัย' ถึงบ้าน หลังคุม 3 วัน ประวิตรขออย่าห่วงเรื่องอัพหลักสูตรปรับทัศนคติ


29 มี.ค. 2559 จากกรณีเมื่อวันที่ 26 มี.ค. ที่ผ่านมา ทหารได้นำตัว นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย จากบ้านที่ จ.สมุทรปราการ เพื่อไปควบคุมตัวหรือปรับทัศนคติหลังจากออกมาเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คสช. แสดงความรับผิดชอบหาก ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามตินั้น 
ล่าสุดวันนี้ (29 มี.ค.59) มติชนออนไลน์ รายงานว่า เจ้าหน้าที่ทหารกำลังนำตัวนายวรชัยไปส่งที่บ้านพัก หมู่บ้านเลอร์นีโอ 2 ถนนศรีนครินทร์ ต.บางเมือง อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
มติชนออนไลน์ยังรายงานด้วยว่า นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.) กล่าวถึงกรณีที่ในวันนี้ ภรรยา ลูกชาย นายวรชัย จะเดินทางยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่ง ปล่อยตัวนายวรชัย หลังจากที่ทหารได้นำตัวนายนายวรชัย ไปควบคุมตัวหรือปรับทัศนคติ ว่าเดิมตามที่ได้นัดหมายกับญาติของนายวรชัยจะเดินทางมาศาลอาญาเวลา 13.30 น. และจะมีการยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกทหารมาเพื่อขอให้ไต่สวนเพื่อปล่อยตัวนายวรชัย ทางครอบครัวของนายวรชัยก็ได้รับการประสานงานจากทางเจ้าหน้าที่ทหารว่าช่วงเวลาเที่ยงเศษ จะมีการส่งตัวนายวรชัยกลับถึงบ้าน เบื้องต้นตนได้รับการยืนยันและรูปถ่ายจากทางครอบครัวของนายวรชัยแล้วว่า นายวรชัยปลอดภัยแล้ว การยื่นคำร้องเลยจะต้องระงับไว้ก่อน ซึ่งทหารได้กำหนดเงื่อนไขให้กับนายวรชัยไว้เหมือนเดิมคือ ห้ามแสดงความคิดเห็นใดๆ ที่จะขัดต่อความสงบเรียบร้อยและห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต
“การที่วันนี้ญาติของนายวรชัย เหมะ ซึ่งประกอบด้วยภรรยาและลูกชาย จะเดินทางมายื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกเจ้าหน้าที่ทหารที่ควบคุมและคุมขังมาไต่สวน ตาม ป วิอาญามาตรา 90 เนื่องจากศาลเป็นสถาบันและองค์กรยุติธรรมที่มีอำนาจเต็มในการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ เพราะประเทศนี้เป็นระบบนิติรัฐ การที่ คสช.เข้ามาโดยอาศัยกฎหมายและออกกฎหมายประกาศต่างๆ นั่นคือ นิติรัฐ และเรามาขอให้ศาลอาญาตรวจสอบการบังคับใช้เป็นตามหลักนิติธรรมหรือไม่ ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงที่เข้าข่ายการคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงต้องขอบารมีศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนได้ “ นายวิญญัติกล่าว
 
ยังไม่ปล่อยวัฒนา ลูกสาวนำเสื้อผ้า-ยา มาให้ที่ มทบ.11
 
วันเดียวกัน เมื่อเวลา 10.00 น. นางสาววีรดา เมืองสุข บุตรสาว ของ นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย พร้อมทนายความ เดินทางมายังมณฑลทหารบกที่ 11 เพื่อนำเสื้อผ้า ของใช้ รวมถึง ยาเวชภัณฑ์ มาให้กับบิดา หลังจาก ที่นายวัฒนา ถูกทหารคุมตัวเมื่อวานนี้ โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารมารับไป
วีรดา เมืองสุข บุตรสาว ของ วัฒนา
 
ประวิตรขออย่าห่วงเรื่องอัพหลักสูตรปรับทัศนคติ
 
จากกรณีที่วานนี้ (28 มี.ค.59) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่าจะมีการปรับปรุงหลักสูตรการปรับทัศนคติเป็น 3-7 วัน  กับผู้ที่เคยถูกคุมตัวมาหลายครั้งนั้น ล่าสุดวันนี้ (29 มี.ค.59) สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า พล.อ.ประวิตร กล่าวเพิ่มเติมถึงหลักสูตรดังกล่าวว่า คสช.มีการกำหนดขั้นตอนดำเนินการไว้แล้ว ไม่ต้องห่วงทุกอย่างไม่มีอะไรน่ากังวล

โหลด 279 มาตรา ร่าง รธน.ฉบับลงประชามติ กรธ.ส่งมอบ ครม.วันนี้

ภาพกิจกรรมการประชุมนอกสถานที่ของ กรธ. ณ โรงแรมอิมพีเรียล หัวหิน บีช รีสอร์ท จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 23 - 26 มี.ค. 2559

29 มี.ค. 2559 สำนักข่าวไทย รายงานว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ กระทรวงการคลังจะเสนอให้ที่ประชุมเห็นชอบเพิ่มเงินค่าครองชีพให้กับข้าราชการที่ยังไม่ถึงระดับซี 7 รวมถึงลูกจ้างประจำ พนักงานข้าราชการ และลูกจ้างชั่วคราวคนละ 1,000 บาท โดยใช้งบประมาณปี 2559 จำนวน 1,570 ล้านบาท ซึ่งจะจ่ายเงินได้ภายในเดือนเมษายนนี้ เพื่อให้ข้าราชการได้ใช้จ่ายทันในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์
โดยเวลาประมาณ 13.39 น. กรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะส่งมอบร่างรัฐธรรมนูญให้กับ ครม. โดยสำนักข่าวไทยคาดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะได้ชี้แจงต่อที่ประชุมถึงรายละเอียดต่างๆ ก่อนจะส่งมอบให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการกับทำประชามติต่อไป
สำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ สามารถอ่านได้ที่ http://www.parliament.go.th/ewtcommittee/ewt/draftconstitution2/ewt_dl_link.php?nid=429&filename=index

ร่างรัฐธรรมนูญ 59 หนุนเผยแผ่พุทธเถรวาท-เพิ่มกลไกปกป้องการบ่อนทำลายพุทธศาสนา

(จากซ้ายไปขวา) พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เจ้าแม่กวนอิม พระพิฆเนศ พระเยซู มัฟติสมัยอาณาจักรออตโตมาน พระถังซัมจั๋ง (ที่มา: วิกิพีเดีย)
Tue, 2016-03-29 16:24

เปิดเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ระบุให้รัฐอุปถัมภ์/คุ้มครองพุทธศาสนาและศาสนาอื่น แต่เพิ่มข้อความให้รัฐส่งเสริม-สนับสนุนการศึกษาและเผยแผ่หลักธรรม "พระพุทธศาสนาเถรวาท" เพิ่มกลไก "ป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา" ขณะที่เมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ให้รัฐส่งเสริมความเข้าใจอันดีและความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา นำหลักธรรมศาสนามาใช้สร้างคุณธรรม-พัฒนาคุณภาพชีวิต
ดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญนั้น ในมาตรา 67 หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ได้บัญญัติเนื้อหาเกี่ยวข้องกับหน้าที่ของรัฐต่อพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ดังนี้
ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 (หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ)
"มาตรา 67 รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น
ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย"
อนึ่งในช่วงที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2559 มีความพยายามผลักดันของกลุ่มพระสงฆ์เสนอให้บัญญัติว่า "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" ลงไปในรัฐธรรมนูญด้วย
ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2559 พบว่ามีการเพิ่มเนื้อหาระบุให้รัฐส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเฉพาะนิกายเถรวาทเท่านั้น โดยระบุว่า "เพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา" และมีการเพิ่มมาตราการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา ซึ่งไม่เคยปรากฏเนื้อหาในรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้มาก่อน ในขณะที่ตามรัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐว่า รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ส่งเสริมความเข้าใจอันดีและความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา นอกจากนี้สนับสนุนให้ "นำหลักธรรมของศาสนา" มาใช้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยไม่ได้กำหนดตายตัวว่าต้องเป็นพระพุทธศาสนานิกายใดนิกายหนึ่ง โดยเนื้อหาในรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ได้แก่
รัฐธรรมนูญ 2540 (หมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ)
มาตรา 73 รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์ และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ส่งเสริมความเข้าใจอันดีและความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา รวมทั้งสนับสนุนการนําหลักธรรมของศาสนามาใช้ เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต
รัฐธรรมนูญ 2550 (หมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ)
มาตรา 79 รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านานและศาสนาอื่น ทั้งต้องส่งเสริมความเข้าใจอันดีและความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา รวมทั้งสนับสนุนการนำหลักธรรมของศาสนามาใช้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต